หน้าแรก บทความสาระ
อัลตระ รอแยลลิสต์(Ultra Royalist) โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
5 กุมภาพันธ์ 2549 23:44 น.
 
อัลตระ รอแยลลิสต์(Ultra Royalist) โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง
       
       กระแสการถวายคืนพระราชอำนาจถูกปลุกเร้าขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งภายหลังที่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงหลัง พ.ศ.๒๕๐๐ ภายใต้การยึดครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และมักใช้กันประจำในหมู่ผู้ที่คัดค้านต่อต้านรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารหรือมาจากการเลือกตั้ง เพราะเป็นวิธีป้องกันตนเองจากภัยของอำนาจรัฐได้ดีที่สุด รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยเราที่เรียกว่า “ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕” ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เปรียบเสมือนพินัยกรรมที่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงอำนาจอธิปไตยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชได้ทรงมอบอำนาจที่พระองค์ทรงอยู่ ให้แก่ปวงชนชาวสยามดังปรากฏอยู่ในมาตรา ๑ ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าอำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลายและเป็นรัฐธรรมนนูญฉบับเดียวของไทยที่ไม่ต้องมีผู้ใดลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เพราะในขณะที่พระองค์ทรงลงพระนามมอบอำนาจสูงสุดของประเทศให้เป็นของราษฎรนั้น พระองค์ยังทรงพระราชอำนาจสมบูรณ์ โดยพระองค์ยังทรงรับผิดชอบการกระทำ ทั้งหลายด้วยพระองค์เอง
       
       แต่หลังจากที่ทรงลงพระนามในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ แล้ว การใช้อำนาจอธิปไตยก็เป็นไปตามครรลองของระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมี ผู้รับสนองพระบรมราชโองการหรือรับผิดชอบแทนพระองค์ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา ๓ ก็ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" และมาตรา ๗ ก็ได้บัญญัติไว้ว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
       

       เป็นที่ตระหนักแก่ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าว่าพระราชอำนาจในความเป็นจริงที่เป็นทางพระราชอำนาจทางประเพณี ทางวัฒนธรรม ทางสังคม หรือทางเศรษฐกิจ นั้น พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจมากมาย แต่ถ้าว่ากันตามกฎหมายแล้วสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจเท่าที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น และกฎหมายที่ว่านี้ก็คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั่นเอง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือ มีผู้คนพยายามนำพระราชอำนาจตามกฎหมาย พระราชอำนาจทางประเพณี ทางวัฒนธรรม ทางสังคม หรือทางเศรษฐกิจ และพระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบันและในฐานะส่วนบุคคลมาปะปนกัน
       
       ความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น มีอยู่ในสายเลือดของชาวไทยทุกผู้ทุกคน แต่การแสดงความจงรักภักดีอย่างที่ได้ชื่อว่า Ultra Royalist ที่แปลว่า ผู้ที่เกินกว่าพระราชาหรือโดยนัยก็คือพวกที่ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีนั้น แทนที่จะเป็นผลดีต่อพระมหากษัตริย์กลับจะเป็นการทำร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์เสียด้วยซ้ำ
       
       การที่เราเชิดชูหรือยกย่องเทิดทูนพระมหากษัตริย์ให้ทรงอยู่เหนือการเมืองนั้นคือการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ของเรา เพราะการเมืองมีทั้งพระเดชและพระคุณ การเมืองเป็นเรื่องของความขัดแย้งจึงมีทั้งคนรักและคนเกลียด เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมืองจึงมีแต่พระคุณ มีแต่คนรักคนบูชาดังที่พระองค์ทรงได้รับอยู่ในขณะนี้
       
       ฉะนั้น การพยายามที่จะดำเนินการ “ถวายคืนพระราชอำนาจ” นั้นอาจจะต้องตอบคำถามที่ว่าเราต้องการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองกระนั้นหรือ ถ้าเราจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์จริงก็ให้พระองค์ท่านทรงปกเกล้าแต่อย่างเดียวอย่าให้พระองค์ท่านทรงปกครองเลย กษัตริย์ที่ ปกครองแต่มิได้ปกเกล้าไม่ช้าก็ล่วงลับดังเช่นกรณีชาห์ เรซา ปาเลวี ของอิหร่าน ถ้าพระเจ้าชาห์ไม่ปกครองเสียเอง อยาโตลาห์ โคไมนี ก็ล้มท่านไม่ได้ เพราะจุดอ่อนของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นั้นไม่มีหลักประกันอันใดว่าผู้ที่จะครองตำแหน่งกษัตริย์จะเป็นคนดีหรือเหมาะสมทุกพระองค์ ตัวอย่างของเหตุการณ์ร่วมสมัยก็คือการจับกุมและทรมานผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองของกษัตริย์จียาเนนทราแห่งเนปาล นั่นเอง
       
       ในหนังสือของสุพจน์ ด่านตระกูล (๒๕๔๘)ได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสที่ ปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนตำหนิพวกที่ทำตัวเป็น Ultra Royalist ไว้พอที่จะสรุปได้ว่า นับแต่นโปเลียนที่ ๓ ได้สละราชสมบัติแล้ว รัฐสภาก็ได้จัดให้มีการลงมติว่าฝรั่งเศสจะปกครองโดยระบบ สาธารณรัฐหรือระบบราชาธิปไตยต่อไปโดยอัญเชิญรัชทายาทแห่งราชวงศ์บูร์บองขึ้นครองราชย์ เสียงราษฎรส่วนมากขณะนั้นปรารถนาตามวิธีหลังนี้ แต่พวกที่ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีนั้นได้อ้างพระราชหฤทัยรัชทายาทที่จะได้รับอัญเชิญขึ้นครองราชย์และเรียกร้องเกินเลยไปแม้เรื่องธงชาติก็จะให้เปลี่ยนจากธงสามสีมาใช้ธงสีขาว ประกอบด้วยรูปดอกไม้สามแฉก ที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “Fleurs De Lis” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เฉพาะราชวงศ์บูร์บอง ก่อนที่รัฐสภาฝรั่งเศสจะลงมติดังกล่าวแล้ว สมเด็จเจ้าแห่งมาจองตา (Due De Magenta) ได้มีรับสั่งเตือนผู้ที่ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดี และอ้างว่ารู้พระราชหฤทัย แต่พวกนั้นก็หัวรั้นไม่ยอมฟังคำเตือนของสมเด็จเจ้าฯ จึงเป็นเหตุให้เสียงในรัฐสภาที่เดิมมีส่วนมาก ปรารถนาสถาปนาราชวงศ์บูร์บองขึ้นมาอีกนั้นต้องลดน้อยลงไป เมื่อถึงเวลาลงมติ ฝ่ายที่นิยมสาธารณรัฐจึงกลับมาชนะเพียง ๑ เสียงเท่านั้น ถ้าหากผู้ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีไม่อวดอ้างเอาดีเอาเด่นใส่ตนแล้ว ราชวงศ์บูร์บองก็จะได้กลับขึ้นครองราชย์อีก ดังนั้น พวกที่เป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่า องค์พระราชาธิบดีจึงมิเพียงแต่เป็นพวกที่ทำให้ราชบัลลังก์ฝรั่งเศสต้องสะเทือนเท่านั้น หากยังทำให้ราชวงศ์บูร์บองสลายไปตั่งแต่ครั้งนั้นจนถึงบัดนี้
       
       ใครชอบใครเชียร์ใครก็เชียร์ไป ใครจะคัดค้านต่อต้านใครก็ต่อต้านไป เพราะการชุมนุมโดยสงบและสันติเป็นสิทธิพื้นฐานของพลเมืองอยู่แล้ว แต่จงใคร่ครวญกันให้ถ้วนถี่ว่าการพยายาม “ถวายคืนพระราชอำนาจ”ของคนบางกลุ่มไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองบางคน นักวิชาการบางกลุ่ม หรือสื่อมวลชนบางส่วน นั้น จะเป็นการเชิดชูสถาบัน พระมหากษัตริย์ หรือเป็นการทำร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์กันแน่
       
------------------------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544