ปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินกับพื้นฐานกฎหมายมหาชนของประเทศไทย โดย ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ |
|
|
|
ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ |
|
|
|
|
|
|
|
|
1
|
2
|
|
|
|
ปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
กับ
พื้นฐานกฎหมายมหาชนของประเทศไทย
โดย ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์
**********************************************
บทความนี้ แบ่งออกเป็น 6 ส่วน ดังนี้
(1) บทนำ (ทำไม ผู้เขียนจึงเขียนบทความนี้)
(2) สรุปสาระสำคัญของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 47/2547
(3) สรุปสาระสำคัญของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 60/2548
(4) ข้อวิเคราะห์และความเห็นของผู้เขียน (เพราะเหตุใด ผู้เขียนจึงเห็นว่า คุณหญิงจารุวรรณ
จึงยังเป็น ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน)
4.1 ตอนที่ 1 หลักกฎหมายสารบัญญัติ ว่าด้วยนิติกรรม
ก. หลักกฎหมายว่าด้วย นิติกรรม
- นิติกรรมทางแพ่ง (ป.พ.พ. บรรพ 1-2 , พ.ศ.2468)
- นิติกรรมมหาชน (พรบ.วิธีปฏิบัติราชการฯ พ.ศ.2539 และพรบ.จัดตั้ง ศาลปกครองฯ พ.ศ.2542)
ข. การวิเคราะห์และการประเมิน คำวินิจฉัยศาล รธน.ที่ 47/2547
(1) ข้อยุติโดยย่อ(สำหรับผู้อ่านที่ไม่ใช่นักกฎหมาย)
(2) บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยศาล รธน.ที่ 47/2547
2.1 ประเด็นที่ 1 ทำไมศาล รธน.จึงตั้งประเด็นและวินิจฉัยเฉพาะเรื่อง กระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
2.2 ประเด็นที่ 2 คำวินิจฉัยศาล รธน.ที่ 47/2547 ทำให้ คำสั่งแต่งตั้ง คุณหญิงจารุวรรณ (นิติกรรมฯ) ต้องเสียไปหรือไม่
(2.2.1) กระบวนการฯ (ที่ศาล รธน.วินิจฉัยว่า มีการใช้อำนาจ หน้าที่ ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ) คือ กระบวนการอะไร
(2.2.2) กระบวนการฯ (ที่ศาล รธน. วินิจฉัยว่า มีการใช้อำนาจหน้าที่ ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ) มีผลกระทบต่อคำสั่งแต่งตั้ง(นิติ กรรมฯ)ได้อย่างไร
(2.2.3) กระบวนการดังกล่าว มีความสำคัญพอจะทำให้ มติของวุฒิสภา (ในการถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อทรงฯ แต่งตั้งคุณหญิงจารุวรรณ) ต้องเสียไปหรือไม่
2.3 ประเด็นที่ 3 สำนักงานศาล รธน.(คำแถลงการณ์ลงวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2547) ได้ตีความเพิ่มเติม สาระของคำวินิจฉัยของ ศาลรธน.อย่างไร และจะมีผลตามกฎหมาย อย่างไร
ค. สรุป (การวิเคราะห์ในหลักกฎหมายสารบัญญัติ นิติกรรม)
4.2 ตอนที่ 2 หลักกฎหมายวิธีสบัญญัติ (วิธีพิจารณาความ)
(5) หลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพระราชอำนาจตามประเพณี prerogative ของ พระมหากษัตริย์
5.1 ที่มาของหลักการ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง(แบบไทยๆ) โดย คณะราษฎร พ.ศ.2475
5.2 ระบบเผด็จการ(ในระบบรัฐสภา) โดยพรรคการเมืองของนักธุรกิจนายทุน ตาม รธน.ปัจจุบัน เกิดขึ้นได้อย่างไร
5.3 ทางออกของคนไทย ไปสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ(การ ปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ 2)
(6) บทสุดท้าย พื้นฐานกฎหมายมหาชนของวงการวิชาการไทย(กฎหมายปกครองและ กฎหมายรัฐธรรมนูญ)
[หมายเหตุ :- บทความนี้ ผู้เขียนได้เขียนถึงข้อ 4.1 เท่านั้น ส่วนที่เหลือ คือ ข้อ 4.2 และส่วนที่ (5) (6) ผู้เขียนจะได้เขียนต่อไป ; และในตอนท้ายของบทความส่วนนี้ ผู้เขียนได้เพิ่มเติมบทความสั้นๆ เป็นภาคผนวก เพื่อให้ความเห็น(ของผู้เขียน)ในกรณีที่ประธานรัฐสภาได้มีหนังสือส่วนตัวถึงประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2548]
(1) บทนำ (เพราะเหตุใด ผู้เขียนจึงเขียนบทความนี้)
ในการเขียนบทความขนาดยาวของผู้เขียน ผู้เขียนมักจะให้สารบัญแก่ท่านผู้อ่านไว้ล่วงหน้าดังปรากฏตามข้อความข้างต้น และเพื่อความเข้าใจแก่ท่านผู้อ่าน ผู้เขียนจะบอกกล่าวแนวการเขียนบทความในแต่ละหัวข้อของสารบัญไว้ด้วย ; ในบทความนี้ ผู้เขียนก็จะปฏิบัติเช่นเดียวกับที่เคยปฏิบัติมาแล้ว
ในส่วนที่(1) จะเป็นส่วนที่ผู้เขียนอธิบายว่า เพราะเหตุใด ผู้เขียนจึงเขียนบทความนี้ ;
ในส่วนที่ (2) และ (3) จะเป็นส่วนที่ผู้เขียนสรุปสาระสำคัญของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 47/2547 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2547 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 60/2548 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 ตามลำดับ ; โดยในส่วนนี้ จะเป็นส่วนที่ผู้เขียนศึกษาและทำความเข้าใจกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในสาระของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ และผู้เขียนจะทำการสรุปไว้สำหรับอ้างอิง ทั้งนี้โดยจะไม่มีความเห็นของผู้เขียนปะปนอยู่ด้วยแต่อย่างใด ;
การที่ผู้เขียนทำเช่นนี้ ก็ด้วยเหตุผล 2-3 ประการ กล่าวคือ ประการแรก ผู้เขียนเห็นว่า ก่อนที่ ผู้วิเคราะห์จะทำการวิเคราะห์หรือให้ความเห็นในคำวินิจฉัย (หรือคำพิพากษา)ของศาลใดๆ ก็ตาม
ผู้วิเคราะห์ควรจะต้องรู้ถึงสาระของคำวินิจฉัยโดยถ่องแท้ในทุกประเด็น จนสามารถมองเห็นแนวความคิดและวิธีคิดของตุลาการผู้ที่เขียนคำวินิจฉัยได้เสียก่อน ;
ประการที่สอง การสรุปข้อเท็จจริงในคำวินิจฉัยของศาล รธน.ก่อนทำการวิเคราะห์นี้ จะเป็นประโยชน์แก่การศึกษากฎหมายต่อไปในอนาคต เพราะบทความนี้จะมีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง โดยไม่ต้องให้นักศึกษาไปติดตามหาอ่านต้นฉบับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง ; และ ประการที่สาม เพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้ที่อ่านบทความนี้เอง เพราะทำให้ท่านผู้อ่านสามารถตรวจสอบ ข้อคิดเห็นของผู้เขียน ในบทความนี้ได้ว่าถูกต้องหรือครบถ้วนเพียงใด (ไม่ว่าท่านผู้อ่านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับผู้เขียน) โดยย้อนกลับไปตรวจดูคำวินิจฉัยของศาล รธน.ได้
อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอแนะนำว่า เพื่อความสมบูรณ์ในความเข้าใจของท่านผู้อ่านเอง ขอให้ท่านผู้อ่านได้โปรดทบทวนได้จากต้นฉบับเต็มของคำวินิจฉัยของศาล รธน.ทั้ง 2 ฉบับด้วย
แต่สำหรับท่านผู้อ่านที่คิดว่าตัวท่านเองได้ทราบข้อเท็จจริงและสาระของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับดีอยู่แล้ว และประสงค์จะทราบเฉพาะแต่ความเห็นของผู้เขียนโดยตรง ท่านผู้อ่านก็คงจะข้ามการอ่านในส่วนที่ 2 และส่วนที่ 3 ของบทความนี้และไปอ่านความเห็นของผู้เขียนในส่วนที่ 4 ส่วนที่ 5 และส่วนที่ 6 ได้โดยตรง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท่านผู้อ่านจะต้องระลึกถึงในชั้นนี้ ก็คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้ง
2 ฉบับนี้ จะมีช่วงห่างกันประมาณปีเศษ (16 เดือน) โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับที่สอง (ที่ 60/2548) เป็นคำวินิจฉัยที่มีขึ้นหลังจากที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงใช้ พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญทางประเพณี - conventional constitution ยับยั้ง โดยไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (คนใหม่) ที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยประธานวุฒิสภาตามคำแนะนำวุฒิสภา เป็นเวลานานเกินกว่า 90 วันแล้ว [หมายเหตุ :- ระยะเวลา 90 วัน ที่อ้างอิงนี้ ได้ถือตามระยะเวลาการใช้สิทธิยับยั้งร่าง พรบ.โดยพระมหากษัตริย์ตาม รธน.มาตรา 94 ; และตามข้อเท็จจริงกรณีนี้ ระยะเวลาที่มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยจะอยู่ประมาณ 110 วันนับแต่วันที่ประธานวุฒิสภานำชื่อทูลเกล้าถวายเพื่อทรงแต่งตั้ง จนถึงวันที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว นายวิสุทธิ์ มนตริวัติ ขอถอนความยินยอมด้วยความสมัครใจ]
ในส่วนที่ 4 จะเป็นส่วนที่เป็นข้อวิเคราะห์และเป็นความเห็น(ส่วนตัว) ของผู้เขียน ที่นำเสนอต่อท่านผู้อ่านเพื่อพิจารณา ซึ่งท่านผู้อ่านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็แล้วแต่ดุลยพินิจของท่านผู้อ่าน
ในส่วนที่ 5 เป็นส่วนที่ผู้เขียนกล่าวถึงพระราชอำนาจตามประเพณีของพระมหากษัตริย์ไทย และ
ในส่วนที่ 6 เป็นการกล่าวโดยทั่วๆ ไปถึงสภาพพื้นฐานกฎหมายมหาชนของวงการวิชาการไทย (ตามความเห็นของผู้เขียน)
อันที่จริง ผู้เขียนสนใจปัญหานี้มาตั้งแต่ต้นและติดตามตลอดมา และผู้เขียนก็มีความเห็นมาตั้งแต่ต้นว่า เมื่อพิจารณาตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 47/2547 แล้ว คุณหญิงจารุวรรณย่อมยังอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินด้วยเหตุด้วยผลตาม หลักกฎหมาย ไม่ว่าจะพิจารณาจากหลักกฎหมายเอกชนหรือหลักกฎหมายมหาชน(ดังจะได้กล่าวต่อไป) แต่ที่ผู้เขียนยังไม่ได้เขียนบทความนี้ขึ้น ก็เพราะผู้เขียนคิดว่า ในที่สุดเรื่องนี้น่าจะยุติลงด้วยการที่คุณหญิงจารุวรรณ ยังคงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
แต่ความคาดหมายของผู้เขียนผิดพลาด เพราะแม้ว่าหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(คนใหม่) นายวิสุทธิ์ มนตริวัต ตามที่ประธานวุฒิสภากราบทูลเสนอฯ แล้ว และแม้ว่าขณะนี้ ได้มีบุคคลบางกลุ่มได้กล่าวถึงการคืนตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้แก่คุณหญิงจารุวรรณ แต่ความเห็นนี้ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากหลายวงการ รวมทั้งวุฒิสภาและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ; และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ชุดใหม่) ก็กำลังดำเนินการสรรหาบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนี้ครั้งใหม่อีกครั้งหนึ่ง ; ผู้เขียนจึงคิดว่า อาจเป็นเวลาสมควรที่ผู้เขียนจะได้เขียนบทความนี้ขึ้น
เหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนต้องเขียนบทความนี้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่สำคัญกว่าการที่คุณหญิงจารุวรรณจะได้กลับมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือไม่ ; เหตุผลนั้นก็คือ ความผิดปกติในพฤติกรรมของกลุ่มชนชั้นนำ(elite) ที่ดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่มีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองอยู่ในขณะนี้ ; ความผิดปกตินี้ จะเห็นได้ชัดจากการวิเคราะห์ความเห็นทางกฎหมายของชนชั้นนำที่เกี่ยวข้อง เพราะความเห็นทางกฎหมายที่ชนชั้นนำดังกล่าวแสดงออก ย่อมเป็นการเปิดเผยที่ทำให้บุคคลภายนอกสามารถคาดคะเนเห็นเจตนาที่(ซ่อน)อยู่ในใจได้ ; ในปัจจุบันนี้ผู้เขียนรู้สึกว่า ความผิดปกติในพฤติกรรมของชนชั้นนำเหล่านี้ดูจะเกิดบ่อยครั้งมากมาย ; ดังนั้น บทความนี้ แม้จะเป็นบทความที่ผู้เขียนตั้งใจจะให้เป็นบทความทางวิชาการ(กฎหมาย) แต่ผู้เขียนก็จะให้ข้อสังเกตถึงความผิดปกติในพฤติกรรมชนชั้นนำดังกล่าว ไว้ในบทความนี้ในบางโอกาสด้วย
ผู้เขียนไม่ได้คิดว่า ความเห็นของผู้เขียนจะถูกต้องหรือดีกว่าความเห็นของผู้อื่น และความเห็นของผู้เขียนก็เป็นเพียงความเห็นอีกความเห็นหนึ่งในบรรดาความเห็นทั้งหลายจำนวนมากที่ผู้รู้ทั้งหลายได้พูดกันอยู่ขณะนี้ ; และนอกจากนั้น ความเห็นของผู้เขียน ก็คงเป็นความเห็นที่ไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย(เช่นเดียวกับความเห็นอื่นๆ) เพราะความเห็นที่จะมีสภาพบังคับทางกฎหมายเด็ดขาดในเรื่องนี้ ก็คงจะมีแต่ความเห็นของบุคคลที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรของรัฐประเภทศาล ที่มี อำนาจทางตุลาการ pouvoir judiciaire ที่เกิดจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาปีเศษ นักการเมือง / นักกฎหมาย /นักรัฐศาสตร์ /และนักวิชาการต่างก็ได้ให้ความเห็นในปัญหากฎหมาย เรื่องนี้อย่างหลากหลาย ดังนั้น ปัญหาเรื่อง ความสมบูรณ์หรือความชอบด้วยกฎหมายของการแต่งตั้งคุณหญิงจารุวรรณ จึงได้กลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ไม่ใช่สำคัญเพราะเหตุที่ว่าตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งสำคัญที่มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้แนวความคิดทางกฎหมายของวงการวิชาการและวงการนิติศาสตร์เปิดเผยตัวเอง expose ออกมาอย่างเต็มที่และชัดแจ้ง ซึ่งทำให้ผู้เขียนและนักวิเคราะห์อื่นๆ ได้มีโอกาสรับรู้และตรวจสอบ พื้นฐานความรู้และความเห็นทางกฎหมาย ของชนชั้นนำ กลุ่มต่างๆ ของสังคมไทย อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสประเมินเปรียบเทียบ(ตามความเห็นของผู้เขียน)ได้ว่า ชนชั้นนำของสังคมไทยที่กำลัง ปกครองบ้านเมือง อยู่ในขณะนี้ มีความเข้าใจกฎหมายมหาชน (กฎหมายปกครอง และกฎหมายรัฐธรรมนูญ) อย่างไร แตกต่างกับพื้นฐานความรู้ในประเทศที่พัฒนาแล้วเพียงใด รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการติดตามความคิดเห็นที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ อีกด้วย
จริงอยู่ แม้ว่าคนไทย(และคนทั้งโลก)จะได้ประจักษ์ถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยที่ได้ทรงยับยั้งวิกฤติการณ์ทางการเมืองให้แก่คนไทยมาแล้วหลายครั้ง และแม้ว่าคนไทยจะเคยได้ยินและได้รับทราบการใช้พระราชอำนาจในการยับยั้งการแต่งตั้งข้าราชการประจำบางคนบางตำแหน่งในบางโอกาสมาบ้างในเวลาที่ผ่านมา แต่การที่พระองค์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยในการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตาม คำแนะนำของวุฒิสภา(ซึ่งมีจำนวนถึง 200 คน)ในครั้งนี้ มีความสำคัญมากกว่าครั้งก่อนๆ เพราะวุฒิสภาเป็นสถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญที่สมาชิกได้รับเลือกตั้งมา
ปัญหานี้ จึงมิใช่เป็นเพียงปัญหาเรื่องการแต่งตั้งให้คนใดคนหนึ่งเป็น ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือไม่เท่านั้น แต่ปัญหาการแต่งตั้งนี้เป็นปัญหาที่อยู่บนยอดน้ำแข็งของก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่จมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งได้แก่ สภาพความเสื่อมของการบริหารประเทศที่เต็มไปด้วยการทุจริตคอรัปชั่น
และการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมือง (ภายใต้ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปัจจุบัน พ.ศ.2540 ที่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคและต้องปฏิบัติตามมติของพรรคฯ );
ปัญหาข้อกฎหมาย ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเพียง ปัญหาบังหน้า ของปัญหาที่แท้จริง ; ในการให้ความเห็นทางกฎหมายไม่ว่าเรื่องใดๆ ผู้ให้ความเห็นฯ ย่อมมีความเป็นอิสระในการให้เหตุผล โดยผู้ให้ความเห็นฯ จะอธิบายอย่างใด หรือจะใช้คารมทางกฎหมายอย่างใด โดยมีตรรก คือ มีเหตุผลที่สมเหตุสมผลเพียงใด หรือไม่มีตรรก แต่เป็นเพียงการอธิบายให้เหตุผลแบบศรีธนญชัย ก็ย่อมเป็นเรื่องแล้วแต่บุคคล ; แต่สังคมต้องการการวิพากษ์วิจารณ์และต้องการความเห็นที่แตกต่างกัน สังคมจึงจะทราบได้ว่า ผู้ที่ให้ความเห็นทางกฎหมายนั้นมีความรอบรู้หรือไม่ และมีความสุจริตหรือไม่สุจริตเพียงใด
ข้อเท็จจริงที่ว่า คุณหญิงจารุวรรณ จะได้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกหรือไม่ ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ ที่ทุกคนเฝ้ามอง เป็นสัญลักษณ์ของความแตกต่างระหว่าง 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่ง คือ ฝ่ายที่ต้องการให้มีการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น และอีกฝ่ายหนึ่ง คือ ฝ่ายที่ยอมรับ(yield) อำนาจของผู้ที่มีอำนาจทางการเมือง ; เหตุการณ์ในกรณีของคุณหญิงจารุวรรณ ได้กลายเป็นดรรชนีชี้วัด (KPI)พฤติกรรมและความรับผิดชอบของกลุ่มชนชั้นนำของสังคมไทยที่กำลัง ปกครองบ้านเมือง อยู่ในขณะนี้
อย่างไรก็ดี บทความนี้เป็นบทความวิชาการทางกฎหมาย(มหาชน) เท่านั้น ไม่ใช่เป็นบทความที่มีความมุ่งหมายจะวิเคราะห์สภาพสังคมวิทยาการเมือง(พฤติกรรม)ของสังคมไทย ของชนชั้นนำ ซึ่งควรเป็นหน้าที่ของคนไทยทั้งประเทศ(มิใช่ผู้เขียน) ; และบทความนี้อาจเป็นบทความทางกฎหมายที่ค่อนข้างยาวสำหรับผู้อ่านทั่วๆไป ทั้งนี้ เพื่อให้มีความครบถ้วนตามสมควรที่จะอยู่ในบทความเดียวตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
(2) สรุป สาระสำคัญของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 47/2547
ต่อไปนี้ ผู้เขียนจะขอสรุปสาระสำคัญของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 47/2547 ลงวันที่ 6กรกฎาคม 2547 โดยผู้เขียนขอสรุปข้อความตามที่เป็นอยู่จริงในคำวินิจฉัยฯ
สำหรับในกรณีที่มี ข้อเท็จจริง ที่ท่านผู้อ่าน(และผู้เขียน)ควรจะต้องทราบ แต่บังเอิญในคำวินิจฉัยของศาลฯ ไม่ได้เขียนไว้ ผู้เขียนจะให้หมายเหตุ (N.B.)ไว้โดยเขียนเป็นอักษรตัวเอียงไว้ในวงเล็บท้ายข้อความ และผู้เขียนจะได้ไปแสวงหาและนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเขียนเพิ่มเติมไว้ในตอนท้ายของการสรุปคำวินิจฉัยฯ นี้ ทั้งนี้เพื่อความครบถ้วนของข้อเท็จจริงเพื่อการตรวจการสอบและนำไปวิเคราะห์ต่อไปในอนาคต
คำวินิจฉัยที่ 47/2547 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญใช้ชื่อเรื่องว่า ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 กรณีการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภา ในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่ง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน [N.B. ชื่อเรื่องในคำวิ.นี้แตกต่างจาก ชื่อเรื่อง ตามที่ปรากฏในหนังสือของประธานรัฐสภาที่มาถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพราะในหนังสือของประธานรัฐสภาดังกล่าว ไม่มีคำว่า กระบวนการ และคำว่ากระบวนการนี้เป็นคำสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญนำไปเป็นประเด็นในการวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งก่อให้เกิดการโต้แย้งจากวงการวิชาการ] ได้วินิจฉัยโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวม 13 ท่าน (ได้แก่ นายกระมล ทองธรรมชาติ ประธาน, นายจิระ บุญพจนสุนทร, นายจุมพล ณ สงขลา, นายปรีชา เฉลิมวณิชย์, นายผัน จันทรปาน, นายมงคล สระฎัน, นายมานิต วิทยาเต็ม, นายสุจิต บุญบงการ, นายสุธี สุทธิสมบูรณ์ , นายสุวรรณ สุวรรณเวโช, นายสุวิทย์ ธีรพงษ์, นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์, และนายอุระ หวังอ้อมกลาง)
คำวินิจฉัยได้วินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก 11 ท่าน โดยมีตุลาการจำนวน 2 ท่าน(นายจุมพล ณ สงขลา และนายปรีชา เฉลิมวณิชย์) เห็นควรให้ยกคำร้อง เพราะเห็นว่าคำร้องของประธานรัฐสภา (นายอุทัย พิมพ์ใจชน) นี้ไม่ได้เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และเห็นว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภาต่างไม่มีข้อโต้แย้งในเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 266 (คำวิ.หน้า 18-19)
คำวินิจฉัยที่ 47/2547 มีความยาว 19 หน้าครึ่ง แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก เป็นส่วนที่ศาล รธน.สรุปข้อเท็จจริงตามที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา [N.B. - คำวิ.ไม่ได้ระบุเลขที่และวันที่ของหนังสือของประธานรัฐสภา ซึ่งมีความยาวประมาณ 4 หน้าครึ่ง] ส่วนที่ 2 เป็นส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณารับคำร้องไว้พิจารณา และการรับฟังข้อเท็จจริง โดยศาลรัฐธรรมนูญตลอดจนคำชี้แจงของผู้ที่เกี่ยวข้อง ยาวประมาณ 4 หน้า (คำวิ.หน้า 5 ถึง 9) ส่วนที่ 3 เป็นส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้อง มีความยาวประมาณ 10 หน้า (คำวิ.หน้า 9 ถึงหน้า 19) โดยเป็นส่วนที่คัดลอกตัวบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและระเบียบฯ รวม 4 หน้า (คำวิ.หน้า 9 ถึง 13) ซึ่งผู้เขียนขอสรุปไว้ ดังต่อไปนี้
ส่วนที่หนึ่ง (4 หน้าครึ่ง) ศาล รธน.ได้สรุปข้อเท็จจริงจากคำร้องของประธานรัฐสภา (โดยไม่ได้ระบุเลขที่และวันที่ของคำร้อง) ซึ่งอาจย่อสาระสำคัญได้ดังนี้
พันตำรวจเอก สุรพงศ์ ไผ่นวล สมาชิกวุฒิสภาและคณะได้มีหนังสือ [N.B.คำวิ.ไม่ได้ระบุวันที่ของหนังสือ และไม่ได้ระบุจำนวนของ ส.ว.ที่เป็นคณะของ พ.ต.อ.สุรพงษ์] ขอให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็น(ของประธานรัฐสภา) ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยกรณีการใช้อำนาจของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภาโดยมีรายละเอียดว่า
คณะกรรมการ คตง.ได้เสนอรายชื่อผู้ได้รับการสรรหา จำนวน 3 คนไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภาเลือก 1 คนเป็น ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ; ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ จำนวน 11 คน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและความประพฤติของผู้ได้รับการเสนอชื่อฯ ทั้งนี้ตามบทบัญญัติ รธน.มาตรา 135
ในการประชุมของวุฒิสภา มีประเด็นอภิปรายโต้แย้งกันว่า วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ในการลงมติเลือกบุคคล 1 คนจากบัญชีรายชื่อจำนวน 3 คนหรือไม่ หรือวุฒิสภามีอำนาจเพียงให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ(บุคคลเพียงคนเดียว)ที่จะต้องเสนอเข้ามาตาม พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน มาตรา 31 เท่านั้น ; วุฒิสภาได้มีมติให้เลือกบุคคล 1 คนจากจำนวน 3 คน ด้วยคะแนนเสียง 91 ต่อ 70 เสียง ; หลังจากนั้น วุฒิสภาได้ลงคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด [N.B. คำวิ.ไม่ได้ระบุจำนวนคะแนนเสียงของวุฒิสภา] เลือกนางจารุวรรณ เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และจากนั้นประธานวุฒิสภาได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้ง ฯลฯ
พันตำรวจเอกสุรพงศ์ และคณะเห็นว่า รธน.มาตรา 333 ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน มาตรา 15 กำหนดชัดว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่เลือก ผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเสนอชื่อ ผู้ที่สมควรได้รับการพิจารณาแต่งตั้งต่อวุฒิสภา ; โดยมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุไว้ชัดเจนว่า วุฒิสภามีหน้าที่ให้ความเห็นชอบเท่านั้น หากวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ ก็ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินคัดเลือกใหม่จนกว่าวุฒิสภาจะให้ความเห็นชอบ ดังนั้น การที่วุฒิสภาทำการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเสียเอง จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วย รธน.มาตรา 333 และ พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ฯ มาตรา 31
ประธานรัฐสภา (นายอุทัย พิมพ์ใจชน) มีความเห็นว่า รธน.มาตรา 333 ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ฯ มาตรา 15 มาตรา 30 มาตร 31 และมาตรา 33 ระบุไว้ชัดเจนและเป็นที่เข้าใจได้ว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมฯ เสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ ความเห็นชอบ ฯลฯ และประกอบกับระเบียบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ข้อ 6(5) ก็กำหนดวิธีการเลือกไว้อย่างชัดเจนว่า การลงมติของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในเรื่องนี้ ให้ใช้วิธีลงคะแนนลับ และให้ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุด(จาก คตง.) เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อฯ ดังนั้น การที่วุฒิสภามีมติคัดเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งฯ มา 1 คนจากจำนวน 3 คน จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่น่าจะไม่ชอบด้วย รธน.และ พ.ร.บ.ประกอบ รธน.
นอกจากนั้น ยังได้มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า กรณีที่นายปัญญา ตันติยวรงศ์ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการฯ โดยได้เสนอบัญชีรายชื่อบุคคลที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมิได้พิจารณาคัดเลือก ไปให้วุฒิสภาพิจารณาด้วย อันเป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 และระเบียบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยเรื่องนี้ พ.ศ.2543 ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีความเห็นว่า การกระทำการดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนระเบียบของ คตง. และ พรบ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน [N.B. คำวิ.ไม่ได้ระบุว่า คำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ได้มาจากเอกสารใดและ ป.ป.ช.ได้วินิจฉัยว่า นายปัญญา ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ และผู้ใดเป็นผู้กล่าวหา] ; ซึ่ง(ประธานรัฐสภาเห็นว่า)ความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นการสนับสนุนความเห็นที่ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของ คตง.และวุฒิสภาน่าจะไม่ชอบด้วย รธน.และ พรบ.ประกอบ รธน. และเป็นการโต้แย้งการปฏิบัติหน้าที่ของ คตง.และวุฒิสภาแล้ว(คำวิ.หน้า 4 ข้อ 2.3)
และดังนั้น แม้ว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภา จะมิได้โต้แย้งการปฏิบัติหน้าที่ของอีกผ่ายหนึ่ง แต่หากการได้มาซึ่งบุคคลที่จะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรตาม รธน.(คตง.) เป็นไปโดยไม่ชอบด้วย รธน.แล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรดังกล่าวด้วย ดังนั้น ประธานรัฐสภาจึงอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 เสนอเรื่องมาให้ศาล รธน.วินิจฉัยว่า การที่ คตง.เสนอชื่อฯ มาจำนวน 3 คน และการที่วุฒิสภามีมติเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 1 คน จากจำนวน 3 คนที่ คตง.เสนอมานั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
ส่วนที่สอง (4 หน้า) ในการรับคำร้องไว้พิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ศาลฯ รับคำร้องของประธานรัฐสภาตาม รธน.266 ได้ เพราะ (1) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็น องค์กรตาม รธน.ตามนัยของ รธน.มาตรา 312 และมาตรา 333 และวุฒิสภาก็เป็น องค์กรตาม รธน. ตามนัยของ รธน.มาตรา 121 , มาตรา 175 , มาตรา 182 และมาตรา 183 เป็นต้น ; (2) การใช้อำนาจหน้าที่ของ คตง.ในการเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และการใช้อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาตาม รธน.มาตรา 312 ที่บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามคำแนะนำของวุฒิสภา และตาม พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินที่ได้ตราขึ้นตาม รธน.มาตรา 333(1) เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ; (3) เมื่อประธานรัฐสภาซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเสนอเรื่องตาม รธน.เห็นว่าการดำเนินการสรรหาฯ โดย คตง.และวุฒิสภาเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วย รธน.ฯ และ พรบ.ประกอบ รธน. จึงเป็นการเสนอเรื่องพร้อมความเห็นฯ ตาม รธน.มาตรา 266 ; และ (4) กรณีนี้เป็นปัญหาที่ได้เกิดขึ้นจริง(คำวิ.หน้า 6)
ในการพิจารณาคำร้อง ศาลรัฐธรรมนูญได้เปิดโอกาสให้ คตง.และวุฒิสภา ซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงแล้ว แต่ วุฒิสภามิได้มีคำชี้แจงหรือแสดงความเห็นแต่อย่างใด
ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (นายปัญญาฯ ) มีหนังสือชี้แจงต่อศาล รธน.สอง ฉบับ ฉบับแรก ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2546 และต่อมามีหนังสือชี้แจงเพิ่มเติม ลงวันที่ 23 มกราคม 2547
หนังสือฉบับแรกของประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2546) อาจสรุปได้ดังนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีความคิดเห็นโดยสุจริตว่า เมื่อพิจารณาตามเจตนารมณ์ของ รธน.มาตรา 312 และของ พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน มาตรา 15 30 32 33 34 35 และ 36 แล้ว เห็นว่า กฎหมายต้องการให้วุฒิสภาทำหน้าที่ เลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินโดยให้ ความเห็นชอบตามบัญชีรายชื่อ ที่ คตง.สรรหาและเสนอต่อประธานวุฒิสภา และนอกจากนั้น เห็นว่า ระเบียบของ คตง.ฯ พ.ศ.2543 (ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจของ พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ดังกล่าว) ข้อ 6(1) ที่กำหนดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการ เพื่อดำเนินการสรรหา เป็นการมอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการดำเนินการสรรหาแทน คตง.และเสนอให้ คตง.พิจารณาลงคะแนนให้น้ำหนักแก่ผู้ผ่านการสรรหา ฯลฯ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเห็นชอบจากวุฒิสภา ; แต่อย่างไรก็ตาม (คตง.)จะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลผู้ผ่านการสรรหาเสนอต่อประธานวุฒิสภาตาม พ.ร.บ.ประกอบ รธน. พ.ศ.2542 มาตรา 30 ด้วย แม้แต่ นายนนทพล ซึ่งไม่ได้คะแนนเลยก็ต้องส่งรายชื่อไปด้วย เนื่องจากเป็นบุคคลหนึ่งที่ผ่านการสรรหา
หนังสือฉบับที่สองของประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ลงวันที่ 23 มกราคม 2547)ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การที่ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือลงวันที่ 2 ตุลาคม 2548 ไปถึง ประธานคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติและความประพฤติฯ ของวุฒิสภา เพื่อยืนยันว่า มีผู้ผ่านการสรรหาฯ จำนวน 3 คน (มิใช่ผ่านการสรรหาเพียงคนเดียว) และการที่คณะกรรมการ คตง. เสนอชื่อนายประธาน ดาบเพ็ชร เพื่อประกอบการพิจารณาเลือกของวุฒิสภา (ตามหนังสือลับมาก ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2547 ถึงประธานวุฒิสภา) มิได้เป็นการชี้นำหรือก้าวล่วงในการใช้ดุลพินิจหรือกระบวนการตัดสินใจเลือกโดยความเห็นชอบของวุฒิสภาแต่อย่างใด เพราะ(ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน) มีความนึกคิดว่า หากวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบบุคคลทั้ง 3 คน และส่งเรื่องคืนมา คณะกรรมการ คตง. ก็จะดำเนินการสรรหาใหม่ และการที่วุฒิสภาจะเลือกบุคคล 1 คนในจำนวน 3 คน ก็เป็นอำนาจของวุฒิสภา ซึ่งคณะกรรมการ คตง. มิอาจก้าวล่วงได้ ฯลฯ
ส่วนที่สาม (การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ - 10 หน้า) ในส่วนนี้ ศาล รธน.ได้กำหนด ประเด็น ที่จะวินิจฉัยว่า การดำเนินการสรรหาบุคคลฯ โดยคณะกรรมการ คตง. และการลงมติเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินโดยวุฒิสภา เป็น กระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ชอบด้วย รธน.หรือไม่ (คำวิ.หน้า 9)
ศาล รธน.ได้เริ่มต้นด้วยการอ้างอิงและคัดบทบัญญัติ รธน.มาตรา 312 และมาตรา 333 และบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 15 มาตรา 30 และมาตรา 31 และระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการสรรหาฯ พ.ศ.2543 ข้อ(5) (หน้า 9 ถึง 13)
ต่อจากนั้น ศาล รธน. ให้ความเห็นว่า รธน. มาตรา 312 บัญญัติว่า องค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินก่อนที่จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ จะมีอยู่ 2 องค์กร คือ คณะกรรมการ คตง. และวุฒิสภา โดย รธน.กำหนดให้รายละเอียดเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งจะต้องมีสาระสำคัญตามที่ รธน.มาตรา 333 (1) กำหนด ; และ พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ดังกล่าว ได้มีบทบัญญัติมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (6) มาตรา 30 และมาตรา 31 กำหนดให้คณะกรรมการ คตง. มีหน้าที่สรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา ฯลฯ ; และมาตรา 30 วรรคสามบัญญัติให้หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคล ฯลฯ เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ(คตง.)กำหนด ; โดยระเบียบดังกล่าว ข้อ 6 (5) กำหนดไว้ว่า การเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม ถือตามมติคณะกรรมการโดยวิธีลงคะแนนลับ ในการนี้ ให้ผู้ซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดและมีคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน....
ศาล รธน.วินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญ(มาตรา 312 และมาตรา 313 (1) ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน และระเบียบคณะกรรมการ คตง.ฯ แล้ว เห็นว่า เจตนารมณ์ของ รธน.ในการสรรหาและการเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้องการให้คณะกรรมการ คตง. เป็น องค์กรสรรหาและเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดยให้วุฒิสภาเป็นองค์กรกลั่นกรอง โดยมอบหมายอำนาจหน้าที่ในการถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์เพื่อทรงแต่งตั้ง ฯลฯ (คำวิ.หน้า 14)
ศาล รธน. มีความเห็นว่า หน้าที่ของวุฒิสภาใน การถวายคำแนะนำนั้น ก่อนถวายคำแนะนำ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาในการพิจารณาตัวบุคคลไว้ ทั้งโดยวิธีการให้ ความเห็นชอบบุคคลและ การเลือกบุคคล; ซึ่ง การให้ความเห็นชอบบุคคล และ เลือกบุคคลนี้จะแตกต่างกันโดยในกรณีที่วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ใน การเลือก ตัวบุคคล รัฐธรรมนูญจะต้องบัญญัติให้มีกระบวนการของการสรรหาให้มาซึ่งบุคคลให้มีจำนวนมากกว่าที่วุฒิสภาจะต้องเลือก แต่ถ้ารัฐธรรมนูญบัญญัติให้วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ใน การให้ความเห็นชอบ ก็จะไม่มีบทบัญญัติของกระบวนการสรรหาให้ได้บุคคลที่มีจำนวนมากกว่าที่ต้องการให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ(คำวิ.หน้า 15)
ศาล รธน.เห็นว่า เมื่อ รธน.กำหนดให้การสรรหาและการเลือกเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินและเมื่อ พรบ.ดังกล่าวตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (6) มาตรา 30 และมาตรา 31 โดยมาตรา 31 บัญญัติว่า คณะกรรมการ คตง. เป็นองค์กรสรรหาและเลือก ; การที่ให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ (!) จึงย่อมต้องมีความหมายในลักษณะเดียวกับ ถ้อยคำตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาใน การให้ความเห็นชอบ บุคคล คือ วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่เพียงให้ความเห็นชอบเฉพาะบุคคลที่คณะกรรมการ(คตง.) มีมติเลือกด้วยคะแนนสูงสุด(และมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทั้งหมด) เท่านั้น ไม่อาจที่จะใช้อำนาจหน้าที่เลือกบุคคลอื่นนอกจากนี้ได้ ; และหากวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบแล้ว พรบ.ประกอบ รธน.มาตรา 31 ก็บัญญัติให้คณะกรรมการ คตง.คัดเลือกบุคคลใหม่เสนอวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป จนกว่าวุฒิสภาจะให้ความเห็นชอบ(คำวิ.หน้า 15-16)
ศาล รธน.ได้พิจารณาข้อเท็จจริง โดยอ้าง ข้อความ ในหนังสือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ด่วนมาก ที่ ตผ(คตง.) 001/265 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 ที่ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในนามของ คตง.มีถึงประธานวุฒิสภา ที่มีความว่า (quote) คตง.ได้สรรหาและคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว ผลปรากฏว่า มีรายชื่อผู้ที่ได้รับการสรรหา 3 ราย มีผู้ได้รับคะแนนเสียง 2 ราย และนายประธาน ดาบเพชร ได้รับคะแนนเสียงอันดับ 1 รายละเอียดปรากฏตามบัญชีรายชื่อ และเอกสารที่ส่งมาพร้อมนี้ จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดนำเสนอให้วุฒิสภาเลือกฯ และดำเนินการต่อไป ตาม พรบ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 31 และมาตรา 32
ศาล รธน.พิจารณาแล้ว เห็นว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ดำเนินการสรรหาและเลือกที่เป็นไปตาม รธน.มาตรา 312 และ 313 , พรบ.ประกอบ รธน. มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (6) มาตรา 30 และระเบียบ คตง.ฯ ข้อ 6 (5) แล้ว
ส่วนประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่มีหนังสือในนามของ คตง.เสนอรายชื่อให้วุฒิสภาเลือกจำนวน 3 คน และวุฒิสภามีมติเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 1 คนจากจำนวน 3 คนนั้น
เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ คตง.มีอำนาจหน้าที่ในการ เลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งฯ และให้วุฒิสภาเป็นองค์กรถวายคำแนะนำ โดย พรบ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน มาตรา 15-30-31 บัญญัติให้ คตง.เป็นองค์กรสรรหาและ เลือกแล้วเสนอให้วุฒิสภาให้ ความเห็นชอบ ศาล รธน.เห็นว่า การให้ ความเห็นชอบของวุฒิสภา จึงย่อมต้องมีความหมายเพียง การให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบเฉพาะบุคคลที่ คตง.มีมติเลือกด้วยคะแนนสูงสุด และมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเท่านั้น ; จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่เป็นไปตาม รธน./พรบ.ประกอบ รธน.ฯ / ระเบียบ คตง.(คำวิ.หน้า 17)
ศาล รธน. โดยเสียงข้างมากจำนวน 11 คนจึงวินิจฉัย(คำวิ.หน้า 18) ว่า การที่ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีหนังสือในนามคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเสนอรายชื่อบุคคลจำนวน 3 คนให้วุฒิสภาพิจารณาเลือก และวุฒิสภามีมติเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจำนวน 1 คน จากจำนวน 3 คน ตามที่ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีหนังสือในนามคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเสนอมานั้น เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วย รัฐธรรมนูญ เพราะมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตาม รธน. มาตรา ..... และ พรบ.ประกอบ รธน. พ.ศ.2542 มาตรา ..... ประกอบด้วยระเบียบ คตง. ...... และมาตรา ..... ; ส่วนตุลาการศาล รธน.จำนวน 2 ท่าน เห็นควรให้ยกคำร้อง ด้วยเหตุผลว่า เพราะคำร้องของประธานวุฒิสภาไม่ได้เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตาม รธน.และเพราะ คตง.และวุฒิสภาต่างไม่มีข้อโต้แย้งในปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตาม รธน. ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาตามมาตรา 266
และศาลรัฐธรรมนูญสรุปเป็นข้อยุติในหน้าต่อมา (คำวิ.หน้า 19)ว่า กรณีตามคำร้องของประธานรัฐสภาที่เกี่ยวกับปัญหาการใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภา ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตาม รธน.มาตรา 312 มาตรา 313(1) และ พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (6) และมาตรา 30 ประกอบด้วยระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วย หลักเกณฑ์ และวิธีสรรหาผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็น ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2543 ข้อ 6(5) และมาตรา 31 [N.B. ในการสรุปเป็นข้อยุติ เป็นคำวินิจฉัย ในหน้า 19 นี้ จะมีข้อความแตกต่างกันกับข้อความในคำวิ.หน้า 18 ซึ่งเป็นการวินิจฉัยของตุลาการศาล รธน. เท่านั้น คือ ศาล รธน.ได้เพิ่มคำว่า กระบวนการ ขึ้นมา และ ศาล รธน.มิได้กล่าวถึง หนังสือของประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่เสนอรายชื่อในนามของ คตง.]
ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิเคราะห์ของผู้ที่สนใจปัญหานี้ในอนาคต ผู้เขียนขอให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่เป็นสาระสำคัญในเรื่องนี้ที่ไม่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่ 47/2547(เท่าที่จะหามาได้) และนำมารวมไว้ ดังนี้ต่อไปนี้
(1) ประธานรัฐสภา ได้แก่ ประธานสภาผู้แทนราษฎรโดยตำแหน่ง (รธน.ม.91) ซึ่ง
ได้แก่ นายอุทัย พิมพ์ใจชน ส.ส.พรรคไทยรักไทย
(2) คณะของ พ.ต.อ.สุรพงศ์ ไผ่นวล (ส.ว.จังหวัดบุรีรัมย์) มีจำนวนอีก 7 ท่าน (รวม
ทั้งหมด 8 ท่าน) ได้แก่ นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ (ส.ว.จังหวัดสิงห์บุรี) ; นายไสว พราหมณี (ส.ว.จังหวัดนครราชสีมา) ; นายบุญเลิศ ไพรินทร์ (ส.ว.จังหวัดฉะเชิงเทรา) ; นายเกษม ชัยสิทธิ์ (ส.ว.จังหวัดเพชรบูรณ์) ; นายสุนทร จินดาอินทร์ (ส.ว.จังหวัดกำแพงเพชร) ; นายอุบล เชื้อศรี (ส.ว.จังหวัดนครราชสีมา) ; และนายอำนาจ ไทยานนท์ (ส.ว.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)
(3) หนังสือของ พ.ต.อ.สุรพงศ์ฯ กับคณะที่ยื่นต่อประธานรัฐสภา ได้แก่ หนังสือลงวันที่24 มิถุนายน 2546 เรื่อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการใช้อำนาจของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภา ; หนังสือฉบับนี้มีความยาวประมาณ 4 หน้า (โดย 3 หน้าแรก ส่วนใหญ่เป็นการคัดลอกตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง) และมีคำขอขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย รวม 3 ข้อ ดังนี้
1. การที่ คตง.และประธาน คตง.ไปเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจ
เงินแผ่นดิน โดยเสนอรายชื่อ 3 คน ให้วุฒิสภาเลือก 1 คนในจำนวน 3 คน เป็นการชอบ ด้วย รธน.มาตรา 333 และ พรบ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 15 และมาตรา 30 หรือไม่
2. การที่วุฒิสภาลงมติเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินโดย
เลือกจากรายชื่อ 1 คนใน 3 คน คือ ลงมติเลือกนางจารุวรรณ เมณฑกา เป็นผู้ว่าการตรวจ เงินแผ่นดิน เป็นการชอบด้วย รธน. มาตรา 333 และ พรบ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการตรวจ เงินแผ่นดิน มาตรา 31 หรือไม่
3. การที่นางจารุวรรณ เมณฑกา ได้รับเลือกจากวุฒิสภา และได้รับโปรดเกล้าฯ
แต่งตั้งเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จะมีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจ เงินแผ่นดิน อย่างไร
(4) หนังสือ(คำร้องต่อศาล รธน.) ของประธานรัฐสภา ได้แก่ หนังสือลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2546
เรื่อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการใช้อำนาจของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภา มีความยาวประมาณ 4 หน้า (ข้อเท็จจริงส่วนใหญ่ สรุปอยู่ในคำวิ.ของศาล รธน. แล้ว) โดยมีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เพียงประเด็นเดียว(จากจำนวนคำขอ 3 ข้อในหนังสือของ พ.ต.อ.สุรพงศ์ฯ ที่ยื่นต่อประธานรัฐสภา) คือ ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามบทบัญญัติของ รธน.มาตรา 266 ว่า การที่ คตง.เสนอชื่อผู้สมควรเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อวุฒิสภา จำนวน 3 คน และการที่วุฒิสภามีมติเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 1 คนจากจำนวน 3 คน ที่ คตง.เสนอมานั้น ชอบด้วย รธน.หรือไม่
(5) คะแนนเสียงของ ส.ว.ที่ลงคะแนนเสียงเลือก คุณหญิงจารุวรรณ มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด (ตามที่ปรากฏอยู่ในคำวิ. หน้า 2) ได้แก่ จำนวนคะแนนเสียง 136 (โดยเป็นการลงคะแนนลับ ในจำนวน ส.ว.ทั้งหมด 200 คน) โดยมีนายประธาน ดาบเพ็ชร ได้ 11 เสียง และนายนนทพล นิ่มสมบุญ ได้ 5 เสียง (รวมเสียงทั้งหมด 152 เสียง) ; การลงมติของ ส.ว.ได้กระทำในการประชุมวุฒิสภา ในวันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2544 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ ส.ว.ได้ลงมติเห็นควรเลือกบุคคล 1 คนจากรายชื่อทั้งหมดจำนวน 3 คน ด้วยคะแนนเสียง 91 เสียงต่อ 70 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง
(6) คำวินิจฉัย คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ประธานรัฐสภาอ้างถึงในคำร้อง (คำวิ.หน้า 4) ว่า นายปัญญาฯ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ฯ ได้แก่ ข่าวการประชุม คณะกรรมการ ป.ป.ช. ข่าวที่ 13/2546 วันที่ 17 เดือนมิถุนายน พ.ศ.2546 โดยมีเนื้อข่าวสรุปได้ว่า ในวันที่ 17 มิถุนายน ได้มีการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.โดยมีนายโอภาส อรุณินท์ เป็นประธาน มีเรื่องสำคัญที่ควรแถลงให้สื่อมวลชนทราบ คือ เรื่องที่มีผู้กล่าวหานายปัญญา ตันติยวรงค์ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการ .....โดยเสนอชื่อบุคคลที่ คตง.มิได้พิจารณาคัดเลือกให้วุฒิสภาพิจารณาด้วย อันไม่ชอบด้วย พรบ.ประกอบ รธน.ฯ / ระเบียบ คตง. / มติ คตง. ทั้งนี้โดยเจตนาทุจริตช่วยเหลือบุคคลที่ คตง. มิได้พิจารณาคัดเลือก ฯลฯ ; ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของ ผู้ถูกกล่าวหา เป็นการฝ่าฝืนระเบียบ คตง. ข้อ 6(5) และ พรบ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการตรวจเงิน จึงมีมูลเป็นความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมติให้ส่งรายงานฯ ไปยังอัยการสูงสุด สำหรับความผิดทางวินัย เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหา ไม่มีฐานะเป็นข้าราชการฯ จึงไม่มีกรณีที่จะต้องดำเนินการทางวินัย [หมายเหตุ : ข่าวการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มิได้ระบุว่า ผู้ใดเป็นผู้กล่าวหา และได้กล่าวหาตั้งแต่วันที่เท่าใด ; และเป็นที่สังเกตว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ประชุมมีมติและสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ทำการแถลงข่าวในวันเดียวกัน คือ วันที่ 17 มิถุนายน 2546 ซึ่งเป็นวันก่อนที่ ส.ว.ทั้ง 8 ท่านได้ส่งหนังสือต่อประธานรัฐสภาเป็นเวลา 7 วัน โดยหนังสือของ ส.ว.ทั้ง 8 ท่าน ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2546]
(3) สรุป สาระสำคัญ ของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 60/2548
ทุกท่านอาจทราบดีแล้วว่า หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 47/2547 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2547 แล้ว สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้ส่งสำเนาคำวินิจฉัยดังกล่าวไปให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทราบเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2547 ; คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ชุดเดิม)ได้มีมติแต่งตั้ง ผู้รักษาราชการแทนฯ และได้หนังสือแจ้งให้คุณหญิงจารุวรรณ พ้นจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2547 [หมายเหตุ -: ปรากฏตาม คำแถลงการณ์ของ คตง.ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2547 ; โดยในคำแถลงการณ์ดังกล่าว คตง.ได้กล่าวไว้ด้วยว่า ผลของคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่ 47/2547 ถือได้ว่า ไม่เคยมีผู้ใดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมาก่อน ดังนั้น จึงไม่มีกรณีการพ้นจากตำแหน่งตาม พรบ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ตามมาตรา 33 และมาตรา 34]
อันที่จริง หลังจากที่มีคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่ 47/2547 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม แล้วก็ปรากฏว่าได้มีการวิพากษ์วิจารณ์จากคณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในทันทีเช่นเดียวกัน (ทัศนะต่อคำวินิจฉัยศาล รธน. ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2547) และต่อจากนั้นมา ก็ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับ ผลของคำวินิจฉัยของศาล รธน. ที่ 47/2547 จากวงการอื่นๆ มากพอสมควร ; ดังนั้น สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (โดยเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น) จึงได้มีคำแถลงการณ์ ลงวันที่ 30 กรกฎาคม ชี้แจงว่า ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 47/2547 ย่อมผูกพันองค์กรที่เกี่ยวข้องฯ และสำนักงานศาล รธน.ได้ให้ความเห็นไว้ในตอนท้ายของคำแถลงการณ์ว่า ดังนั้น เมื่อกระบวนการให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่ชอบด้วย รธน.และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเสียแล้ว คุณหญิงจารุวรรณจึงไม่สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อไปได้ นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เนื่องจากถือว่ามิได้รับเลือกจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และถือว่ามิได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาตามกระบวนการให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตั้งแต่ต้น
ปัญหาเรื่องการดำรงตำแหน่งของคุณหญิงจารุวรรณ ได้เป็นประเด็นค้างคาและขัดแย้งกันอยู่ตั้งแต่มีคำวินิจฉัยครั้งแรก ที่ 47/2547 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2547 เป็นเวลาประมาณ 1 ปี 4 เดือนว่า ตามคำวินิจฉัยที่ 47/2547 คุณหญิงจารุวรรณ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แล้วหรือยัง จนกระทั่ง คตง.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นครั้งที่สอง และศาลรัฐธรรมนูญมีการวินิจฉัยเรื่องเดียวกันนี้ อีกครั้งหนึ่ง
คำวินิจฉัยที่ 60/2548 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 ใช้ชื่อเรื่องว่า กรณีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 47/2547 วินิจฉัยโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 13 ท่าน(ในจำนวนทั้งหมด 14 ท่าน) คือ นายผัน จันทรปาน (ปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ประชุม) นายจีระ บุญพจนสุนทร นายจุมพล ณ สงขลา นายนพดล เฮงเจริญ นายมงคล สระฎัน นายมานิต วิทยาเต็ม นายศักดิ์ เตชาชาญ นายสุธี สุทธิสมบูรณ์ พล.ต.อ.สุวรรณ สุวรรณเวโช นายสุวิทย์ ธีรพงษ์ นางเสาวณีย์ อัศวโรจน์ นายอภัย จันทนจุลกะ และนายอุระ หวังอ้อมกลาง ทั้งนี้โดยมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 1 ท่าน คือ นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ ได้ขอถอนตัว
ตามคำวินิจฉัยที่ 60/2548 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไม่รับคำร้องของ คตง.ไว้พิจารณาตาม รธน. มาตรา 266 โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ (13 ท่าน) ; คำวินิจฉัยนี้มีความยาว 23 หน้า แบ่ง สาระได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง ได้แก่ ส่วนที่อ้างอิงถึงข้อความใน คำร้องที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(ชุดใหม่) มีไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอคำวินิจฉัยฯ (หน้า 1 ถึงหน้า 14) และส่วนที่สอง เป็นส่วนที่เป็นการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (หน้า 14 ถึงหน้า 23 รวม 10 หน้า)
ส่วนที่หนึ่ง (ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างอิงโดยสรุปสาระในคำร้องของ คตง. หน้าที่ 1 ถึง 14 )
ในส่วนนี้ เป็นส่วนที่ท่านผู้อ่านควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะในส่วนนี้เป็นสาระในคำร้องของ คตง. ซึ่ง นอกจาก คตง.จะได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่ได้ผ่านมาแล้ว คตง.ยังได้ให้ความเห็นที่เป็น เหตุผลในการดำเนินการของ คตง.ที่แล้วมาด้วย [ N.B.ในคำร้องของ คตง.ไม่ได้ระบุว่า เป็นความเห็นของ คตง.ชุดเดิมหรือชุดใหม่] ซึ่งเป็นความเห็นที่โต้แย้งคำวิพากษ์วิจารณ์ของวงการวิชาการภายนอกที่มีต่อคำวินิจฉัยของศาล รธน. ฉบับแรก ที่ 47/2547 และปรากฏว่า ในคำวินิจฉัยของศาล รธน.ครั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้เหตุผลของ คตง.เอง ในการวินิจฉัยไม่รับคำร้องของ คตง. ; ดังนั้น ในส่วนที่หนึ่งนี้ ผู้เขียนจะสรุปแยกเป็น 2 ตอน คือ ตอนแรกกล่าวถึงข้อเท็จจริงที่ผ่านมา ของปัญหาเรื่องนี้ตามที่ คตง.กล่าวไว้ในคำร้อง (คำวิ.หน้า 1 ถึง 4) และ ตอนที่สอง เป็นตอนที่ คตง.ได้ให้ความเห็นของตนโต้แย้งคำวิพากษ์วิจารณ์ของบุคคลภายนอก (คำวิ.หน้าที่ 5 ถึง 13)
ตอนที่ 1 (คตง.สรุปข้อเท็จจริงที่ผ่านมา คำวิ.หน้า 1-6 ข้อ 1 ถึงข้อ 7) คำร้องของ คตง.ได้สรุปข้อเท็จจริงไว้ โดยเริ่มต้นว่า หลังจากมีคำวินิจฉัยที่ 47/2547 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2547 แล้ว ประธานศาล รธน.ได้ส่งสำเนาคำวินิจฉัยดังกล่าวมาให้ คตง.ทราบเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2547 และ คตง.ได้สรุปผลคำวินิจฉัยดังกล่าวไว้ว่า การที่ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีหนังสือในนาม คตง.เสนอรายชื่อบุคคลจำนวน 3 คน ให้วุฒิสภาเลือก และวุฒิสภามีมติเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จำนวน 1 คน จากจำนวน 3 คน เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วย รธน. เพราะมิได้ดำเนินการตาม รธน. (มาตรา 312, มาตรา 333 (1)) และ พรบ.ประกอบ รธน. (ม.15 วรรคหนึ่ง (6) , มาตรา 30 ประกอบด้วยระเบียบ คตง. ข้อ 6(5) และมาตรา 31)
คตง.[N.B. ในหนังสือของ คตง.ไม่ได้ระบุว่า เป็น คตง.ชุดเดิมหรือชุดใหม่) มีความเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันรัฐสภา ฯลฯ ตาม รธน.ม.268 ประกอบกับคำแถลงการณ์ของสำนักงานศาล รธน.ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 ที่ว่าผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมผูกพันฯ ดังนั้น เมื่อกระบวนการให้ได้มาฯ ไม่ชอบด้วย รธน.และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเสียแล้ว คุณหญิงจารุวรรณ จึงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้นับตั้งแต่วันที่ศาล รธน. มีคำวินิจฉัย เนื่องจากถือว่ามิได้รับเลือกจาก คตง.และถือว่ามิได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาฯ มาตั้งแต่ต้น
ต่อมานายประธาน ดาบเพ็ชร ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับเลือกจาก คตง. ด้วยคะแนนสูงสุด ฯลฯ ได้แจ้งต่อประธาน คตง.ขอยกเลิกความยินยอมรับการเสนอชื่อฯ ตามหนังสือลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 ; ดังนั้น คตง.จึงได้เริ่มดำเนินการสรรหาใหม่ ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2547 และต่อมาได้เลือกนายวิสุทธิ์ มนตริวัติ เป็นผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อ โดยประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือเสนอชื่อนายวิสุทธิ์ ไปยังวุฒิสภา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2547 ซึ่งวุฒิสภาได้มีมติเห็นชอบในวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 และประธานวุฒิสภาได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2548 (คำวิ.หน้า 4)
ต่อจากนั้น คตง.ได้สรุปเหตุการณ์หลังจากเวลาได้ผ่านไปประมาณ 100 วันนับตั้งแต่วันที่ประธานวุฒิสภาได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ (คำวิ.หน้า 4-5 ข้อ 6 และข้อ 7)ว่า การใช้อำนาจหน้าที่ของ คตง. ในการสรรหาใหม่ ได้เกิดปัญหาที่ทำให้การพิจารณาเลือกบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (คนใหม่) ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยผู้ได้รับการเสนอเชื่อคือ(นายวิสุทธิ์ มนตริวัติ)ได้ขอถอนตัว เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2548 และประธานวุฒิสภาได้มีหนังสือเรียนราชเลขาธิการเพื่อขอให้นำความกราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานถอนเรื่อง [N.B. คำวิ.ไม่ได้ระบุเลขที่และวันที่ของหนังสือของวุฒิสภา] ; และคุณหญิงจารุวรรณได้โต้แย้งการปฏิบัติหน้าที่ของ คตง. ในการดำเนินการสรรหาและชี้แจงยืนยันสถานภาพการดำรงตำแหน่งของตนมาโดยตลอดว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2547 ไม่มีข้อความใดให้ตนต้องพ้นจากตำแหน่ง
นอกจากนั้น ตลอดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 47/2547 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากกลุ่ม ส.ว. / ส.ส. / ข้าราชการใน สตง. / นักวิชาการ ฯลฯ โดย (คตง.) ได้สรุปประเด็น ข้อวิพากษ์วิจารณ์ ไว้ 2 ประเด็น คือ (1) คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีผลลบล้างมติวุฒิสภาที่ให้ความเห็นชอบ คุณหญิงจารุวรรณ และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้ว ; และ (2) การดำเนินการสรรหา และเลือกนายวิสุทธิ์ในขณะที่คุณหญิงจารุวรรณฯ ยังไม่พ้นจากตำแหน่ง เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วย รธน.และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (คำวิ.หน้า 5-6 , 5 ข้อ 7.1 และข้อ 7.2 )
ตอนที่ 2 (คตง.ให้ความเห็นโต้แย้งคำวิพากษ์วิจารณ์ของวงการภายนอก ; คำวิ.หน้า 6 ถึง 13,
ข้อ 8 และข้อ 9 ; ผู้เขียนขอเรียนว่า ข้อความในตอนนี้ น่าจะได้รับความสนใจจากท่านผู้อ่านเป็นพิเศษ เพราะเป็นข้อความที่ คตง.โต้แย้งคำวิพากษ์วิจารณ์ฯ ที่มีต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 47/2547 โดยยืนยันว่า คตง.เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว และได้ปฏิบัติการไปตามคำวินิจฉัยนั้น ; ซึ่งเพราะเหตุนี้เอง ศาลรัฐธรรมนูญจึงได้วินิจฉัยไม่รับคำร้องของ คตง.เอง โดยอ้างเหตุผลว่า คตง.ไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ คตง.เกิดขึ้น
คตง. ได้อธิบายความเห็น(ของ คตง.) ต่อข้อโต้แย้งวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยแรก (ที่ 47/2547) โดยอ้างว่า คตง.ได้ใช้หลักนิติวิธีทางกฎหมายมหาชน (คำวิ.หน้า 6) และได้แยกชี้แจงออกเป็น 3 ประเด็น คือ (1) ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ; (2) ปัญหาการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ ; และ (3) ปัญหาการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งผู้เขียนขอสรุปความเห็นของ คตง.โดยย่อ ดังนี้
(1) ประการแรก (ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน) คตง.เห็นว่า รธน.มาตรา 312 และมาตรา 313(1) ที่บัญญัติให้การตรวจสอบการกระทำทางปกครองที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน เป็นหน้าที่ขององค์กรพิเศษที่ต้องมีลักษณะเป็นอิสระ และ รธน.บัญญัติให้กำหนดรายละเอียดของโครงสร้างและการจัดองค์กร(ขององค์กรพิเศษ)ไว้ใน พรบ.ประกอบ รธน. ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ฯลฯ และมาตรา 31 แห่ง พรบ.ดังกล่าวได้วางหลักการให้ คตง.เป็นผู้ เลือก ผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แล้วเสนอรายชื่อผู้นั้นให้วุฒิสภาให้ ความเห็นชอบ ถ้าวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ ก็ให้ คตง.คัดเลือกบุคคลใหม่ จนกว่าวุฒิสภาจะให้ความเห็นชอบ ; ซึ่งเป็นหลักการที่สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นอิสระและเป็นกลางมากที่สุด
ดังนั้น เมื่อ คตง.ได้เลือกตัวบุคคลตาม ระเบียบของ คตง.(ที่ออกตาม พ.ร.บ.มาตรา 30) เป็นการถูกต้องแล้ว แต่กลับเสนอบัญชีรายชื่อ ที่ไม่ได้รับเลือกไปให้วุฒิสภาเลือกด้วย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเสนอเพื่อให้ ความเห็นชอบ เพราะมีรายชื่อมากกว่าหนึ่งคน แต่เป็นกรณีที่วุฒิสภาได้ เลือกบุคคลนั้นเอง ดังนั้น การกระทำดังกล่าวของ คตง.(ชุดเดิม) และวุฒิสภา จึงขัดต่อ รธน.และ พรบ.ประกอบ รธน. (คำวิ.หน้า 7-8)
(2) ประการที่สอง (ปัญหาการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของศาล รธน.) คตง.เห็นว่า รธน.ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งกำหนดให้การใช้อำนาจอธิปไตยแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย และศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ ที่จำเป็นต้องจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยปัญหาหรือข้อโต้แย้งทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับ รธน.ฯลฯ และคำวินิจฉัยที่ 47/2547 เป็นการวินิจฉัยที่ชอบด้วย รธน.ตามหลักการดังกล่าวข้างต้น และตาม รธน.มาตรา 268 บัญญัติให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล ฯลฯ
ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่ 47/2547 ย่อมมีผลให้คุณหญิงจารุวรรณฯ ซึ่งได้ตำแหน่งมาจากกระบวนการฯ ที่ไม่ชอบด้วย รธน. ไม่สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อไปได้ ตามหลักนิติรัฐของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประเทศไทยได้ยึดถือ ; หลักความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และหลักการควบคุมตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการนี้ ไม่จำต้องเขียนไว้ในกฎหมาย เพราะ ตามหลักนิติรัฐและการใดที่ขัดต่อกฎหมายการนี้ย่อมเสียไปไม่อาจบังคับได้ ; มติของวุฒิสภาที่เลือกคุณหญิงจารุวรรณ เมื่อถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าเป็นการไม่ชอบด้วย รธน. ย่อมไม่อาจคงอยู่ต่อไปได้ ; แม้แต่กฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติหากขัดหรือแย้งต่อ รธน. ก็เป็นอันใช้ไม่ได้โดยการควบคุมชอบด้วยรัฐธรรมนูญของศาล รธน.
คตง.ให้ความเห็นว่า การที่ศาล รธน.มิได้วินิจฉัยถึงการพ้นจากตำแหน่งด้วย ก็เพราะคำร้องของประธานรัฐสภามิได้กล่าวไว้แต่ประการใด (คำวิ. หน้า 10) ; และ คตง.เห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญจะมิได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า คำวินิจฉัยของศาล รธน.เริ่มมีผลผูกพันตั้งแต่เมื่อใด ฯลฯ แต่ตามหลักทั่วไป กำหนดเวลาเริ่มต้นของการมีผลผูกพันของคำพิพากษาฯ ต้องถือเอาวันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือวันที่ศาลอ่านคำพิพากษา
ประการที่สาม (ปัญหาการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน)ในข้อนี้ เป็นการสรุปความเห็นของ คตง. โดย คตง.มีความเห็นดังต่อไปนี้
(1) เมื่อมีคำวินิจฉัยของศาล รธน. เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา ฯลฯ ตามมาตรา 268 แล้ว จึงต้องถือว่า คุณหญิงจารุวรรณ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินโดยไม่ชอบด้วย รธน.และกฎหมายทีเกี่ยวข้อง และต้องถือว่าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ต้น
(2) คุณหญิงจารุวรรณ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้นับแต่วันที่ศาล รธน.มีคำวินิจฉัย เนื่องจากถือว่ามิได้รับเลือกจาก คตง.และถือว่ามิได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาตามกระบวนการฯ มาตั้งแต่ต้น ;และไม่มีบทบัญญัติใน รธน. ให้ต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งในกรณีดังกล่าว
โดยในท้ายที่สุด คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินชุดปัจจุบัน สรุปความเห็น (เพื่อขอให้ศาล รธน. วินิจฉัย) ว่า การดำเนินการสรรหาบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามที่ คตง.ชุดก่อนได้ดำเนินไปแล้ว ได้เกิดข้อโต้แย้งวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง และเกิดความสับสนเป็นอย่างมาก และนายวิสุทธิ์ มนตริวัต ผู้ที่ได้รับความเห็นชอบตามมติของวุฒิสภาได้ถอนตัวไป
ขณะนี้ ก็มีข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งจากคุณหญิงจารุวรรณเอง (ซึ่งอาจถือได้ว่ามีฐานะที่เป็นองค์กรหนึ่งประเภทองค์กรเดี่ยว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 312 และมาตรา 333) และจากองค์กรภายนอกต่างๆ ตามที่ปรากฏในสื่อมวลชน ฯลฯ กลายเป็นวิกฤตขององค์กรตาม รธน. เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ สาธารณะ ; คตง. จึงขอเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยให้เป็นบรรทัดฐานต่อไป โดยมีคำขอให้ศาล รธน.วินิจฉัยรวม 2 ข้อ(คำวิ.หน้า 13) คือ
ข้อ 1 ภายหลังคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่ 47/2547 แล้ว การดำเนินการของ คตง. (ชุดเดิม)ที่ได้ดำเนินการสรรหาและเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ (ตามผลของคำวินิจฉัยของศาล รธน.) โดยถือว่า คุณหญิงจารุวรรณ มิได้รับเลือกจาก คตง.และมิได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภามาตั้งแต่ต้น คุณหญิงจารุวรรณจึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้นับแต่วันที่ศาล รธน.มีคำวินิจฉัย เป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่
ข้อ 2 การดำเนินการสรรหาฯ ของ คตง. (ชุดเดิม)โดยมิได้มีพระบรมราชโองการให้คุณหญิง จารุวรรณพ้นจากตำแหน่งเพราะมิใช่ตำแหน่งตามที่ รธน.บัญญัติไว้ เป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
ส่วนที่สอง (การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ) ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคำขอตามคำร้อง ศาล รธน. ได้วินิจฉัยกรณีที่มีตุลาการบางท่านขอถอนตัวและตุลาการบางท่านถูกคัดค้านรวม 3 ท่าน [N.B. ศาล รธน.มิได้ระบุว่า หนังสือคัดค้านลงวันที่เท่าใด ผู้ใดเป็นผู้คัดค้านและคัดค้านด้วยเหตุผลอย่างใด, คำวิ.หน้า 14]
ในกรณีนายปรีชา เฉลิมวณิชย์ได้ขอถอนตัว โดยอ้าง เหตุที่อาจถูกคัดค้านตามข้อกำหนดศาล รธน.ว่าด้วยวิธีพิจารณา 2546 ข้อ 8(3)) เนื่องจากตนเองได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนเป็นการล่วงหน้า ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นสมควรให้ถอนตัวได้โดยถือเป็นกรณีมี เหตุอื่นอันสมควรตามข้อ 10 ของข้อกำหนดดังกล่าว [N.B.คำวิ.มิได้กล่าวว่า ข้อ 8(3) และข้อ 10 ของ ข้อกำหนดศาล รธน.ว่ด้วยวิธีพิจารณาฯ พ.ศ.2546 มีความว่าอย่างไร];
ในกรณีที่มีผู้คัดค้านนายนพดล เฮงเจริญ และนายจุมพล ณ สงขลาว่าทั้งสองท่านได้ออกมาแสดงความคิดเห็นล่วงหน้าเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่ 47/2547 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า เหตุดังกล่าวไม่ได้เป็นเหตุอันอาจถูกคัดค้านที่ต้องถอนตัวทั้ง 2 ท่าน โดยให้เหตุผลว่า กรณีของนายนพดล เฮงเจริญที่ได้มีคำแถลงการณ์ของ สนง.ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม เพื่ออธิบายทำความเข้าใจต่อคำวินิจฉัยที่ 47/2547 เป็นการดำเนินการในฐานะ หน่วยธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ดำเนินการในฐานะส่วนตัว และกรณีของนายจุมพล ณ สงขลา ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลสั้นๆ ว่า .....และกรณีของนายจุมพล ณ สงขลา ก็ไม่มีเหตุที่จะถูกคัดค้าน ให้ต้องถอนตัวจากการพิจารณาคำร้องนี้แต่อย่างใด เช่นเดียวกัน [N.B. ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่า นายจุมพล ณ สงขลา ได้ออกมาแสดงความเห็นล่วงหน้า ณ ที่ใด อย่างใด และมิได้พิจารณาถึง เหตุอื่น ตามข้อ 10 ของข้อกำหนดฯ ]
ในการพิจารณาคำขอตามคำร้องของ คตง. ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดประเด็นเบื้องต้นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาตาม รธน.มาตรา 266 หรือไม่
ในประเด็นเบื้องต้นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้แยกวินิจฉัยเป็น 2 ประการ คือ ประการแรก ศาล รธน.เห็นว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็น องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาล รธน. ตาม รธน.มาตรา 266 เพราะเป็นองค์กรที่มีขึ้น และมีอำนาจหน้าที่ตาม รธน.มาตรา 312 และมาตรา 333 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวางหลักไว้แล้วในคำวินิจฉัยที่ 2/2541, 6/2543, 58-62/2543 รวมทั้งคำวินิจฉัยที่ 47/2547 (คำวิ.หน้า 15)
ประการที่สองที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คือ ประเด็นว่า คำร้องที่ศาล รธน.จะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้ จะต้องเป็นกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินฯ เกิดขึ้นจริง ; ในการตั้งประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้อ้างคำวินิจฉัยที่ 54/2542 (และคำวินิจฉัยอื่น) ซึ่งสรุปแนวทางไว้ว่า คำร้องที่ศาล รธน.จะรับวินิจฉัยได้ จะต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ(ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเดียวหรือหลายองค์กรมีปัญหาโต้แย้งกัน)ที่เกิดขึ้นจริงจากการใช้อำนาจหน้าที่ มิใช่เป็นเพียงกรณีมีข้อสงสัยหรือเป็นข้อหารือ
ในประเด็นข้อนี้(ปัญหาประการที่สองว่า กรณีนี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่) ศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มวินิจฉัยโดยอ้างอิงสาระคำร้อง ที่ คตง.ขอให้ศาล รธน.วินิจฉัยไว้ 2 ข้อ ดังกล่าวข้างต้น(คำวิ.หน้า 17) ดังต่อไปนี้
ตามคำขอของ คตง.ข้อ 1 (การที่ คตง. ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ที่ รธน.และ พรบ.ประกอบ รธน.ฯ บัญญัติไว้ ฯลฯ โดยถือว่าคุณหญิงจารุวรรณ มิได้รับเลือกจาก คตง.และมิได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภามาตั้งแต่ต้น ชอบด้วย รธน.หรือไม่) (คำวิ.หน้า 18 )
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ผลของคำวินิจฉัย ที่ 47/2547 นั้น ย่อมเป็นเด็ดขาด และมีผลผูกพันองค์กรที่เกี่ยวข้องตาม รธน.มาตรา 268 ; และผลของคำวินิจฉัยที่ว่า(quote) คตง.ได้ดำเนินการสรรหาและเลือกผู้สมัครดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด ...เป็นไปตาม รธน. มาตรา.......... และ พรบ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน .........มาตรา 30 ประกอบด้วยระเบียบ คตง.ข้อ 6(5) ส่วนการที่ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีหนังสือในนาม คตง.เสนอรายชื่อบุคคล จำนวน 3 คน ให้วุฒิสภาพิจารณาเลือก ....เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วย รธน.... ย่อมเป็นเด็ดขาดและผูกพันให้องค์กรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตาม รธน. [N.B. ข้อความในระหว่างเครื่องหมายคำพูด เป็นข้อความในคำวินิจฉัยที่ 60/2548 ที่ศาล รธน.ได้ใส่เครื่องหมายคำพูดไว้เอง แต่ศาลไม่ได้ระบุไว้ว่า เป็นข้อความที่ศาล quote มานั้น มาจากที่ใด คำวิ.หน้า 18]
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ชุดเดิม) ได้ดำเนินการสรรหาบุคคลใหม่ภายหลังคำวินิจฉัยที่ 47/2547 เป็นกรณีที่ คตง.ได้ใช้ดุลยพินิจพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตาม รธน.และกฎหมายที่เกี่ยวข้องจนได้รายชื่อนายวิสุทธิ์ มนตริวัต ซึ่งวุฒิสภาได้มีมติเห็นชอบและประธานวุฒิสภาก็ได้นำความขึ้นถวายบังคมทูลตามขั้นตอนของ รธน.มาตรา 312 แล้ว ; การที่นายวิสุทธิ์ มนตรีวัต แสดงเจตนาขอถอนตัว(จากการเป็นผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา) ไม่ได้เป็นการโต้แย้งการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ คตง.ตาม รธน. และกฎหมายเกี่ยวข้อง และไม่ได้ทำให้การดำเนินการของ คตง.ที่ได้ดำเนินการไปแล้วต้องเสียไปแต่อย่างใด ; ฉะนั้น 0 คตง.ไม่มีปัญหาใดๆ จากการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ฯ (คำวิ.หน้า 19)
ในส่วนที่ คตง.อ้างว่า มีการโต้แย้งจากคุณหญิงจารุวรรณ นั้น ; ศาล รธน.เห็นว่า คุณหญิงจารุวรรณไม่ใช่ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่จะเป็นผู้โต้แย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ตรวจเงินแผ่นดินในการสรรหาคนใหม่ (คำวิ.หน้า 20)
ในส่วนที่ คตง.อ้างว่า ถูกโต้แย้งจากองค์กรภายนอกต่างๆ ศาล รธน.เห็นว่า องค์กรภายนอกไม่ได้มีฐานะเป็น องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหาผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน อีกทั้งการโต้แย้งดังกล่าวก็ไม่ได้ก่อให้เกิดผลทางกฎหมายที่ทำให้การดำเนินการสรรหาฯ ที่ คตง.ได้ดำเนินการไปแล้ว ไม่บรรลุวัตถุประสงค์แต่อย่างใด
ฉะนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่า คำร้องของ คตง.ตามข้อ 1 ไม่ได้เป็นกรณีที่ คตง.มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ คตง. เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ คตง.มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ คตง. ตาม รธน.เอง หรือ เป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งจากองค์กรอื่น ดังนั้น คำขอข้อ 1. ของ คตง.จึงไม่เป็นคำร้องที่ศาล รธน.จะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยตาม รธน.มาตรา 266 (คำวิ.หน้า 19-21)
ตามคำขอของ คตง.ข้อที่ 2 (การดำเนินการสรรหา และเลือกผู้ดำรงตำแหน่งใหม่ โดยยังไม่มีพระบรมราชโองการให้คุณหญิงจารุวรรณ พ้นจากตำแหน่ง ชอบด้วย รธน.หรือไม่ ; คำวิ.หน้า 21)
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การดำเนินการสรรหาฯ ดังกล่าว เป็น ส่วนหนึ่ง ของกระบวนการสรรหาและเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งฯ คนใหม่ จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ คตง. และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตาม รธน.และกฎหมาย ; คำขอดังกล่าว ไม่ได้เป็นกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ คตง. ที่ศาล รธน.จะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยตาม รธน.มาตรา 266 ได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาล รธน.โดยมติเอกฉันท์ (13 ท่าน) จึงวินิจฉัยไม่รับคำร้องของ คตง. ทั้ง 2 ข้อ ไว้พิจารณาวินิจฉัย ตาม รธน.มาตรา 266
ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
ผู้เขียนขอให้ข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญที่ไม่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่ 60/2548 (เท่าที่จะหามาได้) ดังต่อไปนี้
(1) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ชุดเดิม) 10 ท่าน ได้รับโปรดเกล้าเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2543 ได้แก่ 1. นายปัญญา ตันติยวรงค์ ประธาน ; (2. นางจารุวรรณ เมณฑกา) ; 3. นางจิระพรรณ นิรัติศัย ; 4. พลโทฉัตรชัย อุเทนสุต ; 5. นายชัยเขต สุนทรพิพิธ ; 6.คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี ; 7.นายปรัชญา สูตะบุตร ; 8. นายปัญญา สติฐิต ; 9.นางรวีพร คูหิรัญ ; และ 10 นางศุลีมาศ สุทธิสัมพัทน์
โดยนางจารุวรรณ เมณฑกา ได้ลาออกตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2544 เพื่อมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ; และก่อนและหลังจากวันที่ 24 มิถุนายน 2546 ที่ ส.ว. 8 ท่าน ได้มีหนังสือถึงประธานรัฐสภา ก็ได้มีกรรมการบางท่าน (จำนวนหนึ่ง) ได้ลาออกหรือพ้นจากตำแหน่งไป
(2) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ชุดใหม่) จำนวน 10 ท่าน ได้รับโปรดเกล้าเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2547 ได้แก่ 1. นายนรชัย ศรีพิมล ประธาน ; 2.นางรวีพร คูหิรัญ ; 3. นายบุญรอด โบว์เสรีวงศ์ ; 4. นางศศิพัฒน์ เศวตวัฒนา ; 5. นายเกรียงศักดิ์ วัฒนวรางกูร ; 6. พลโทสมชาย วิรุฬหผล ; 7.นายชาญยุทธ ปทุมารักษ์ ; 8. พลเอกยอดชาย เทพยสุวรรณ ; 9. นายสำราญ ภูอนันตานนท์ ; และ 10. นายสิทธพันธ ศรีเพ็ญ
(3) ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2546 (ออกตามความใน รธน.มาตรา 269 วรรคหนึ่งซึ่งบัญญัติว่า วิธีพิจารณาของศาล รธน.ให้เป็นไปตามที่ศาล รธน.กำหนด ซึ่งต้องกระทำโดยมติเอกฉันท์ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ .....) มีทั้งหมด 37 ข้อ ; ในข้อ 8(3) มีความว่า ตุลาการอาจถูกคัดค้านได้ในเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ..... (3) เคยถูกอ้างเป็นพยานโดยได้รู้เห็นเหตุการณ์ เว้นแต่เคยมีส่วนร่วมในวิธีพิจารณาตามกระบวนการทางนิติบัญญัติหรือเคยแสดงความเห็นในฐานะผู้เชี่ยวชาญมีความรู้เป็นพิเศษในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวข้องกับคำร้องนั้น ; ข้อ 10 มีความว่า ข้อ 10 ตุลาการจะถอนตัวจากการพิจารณาคดีใดหรือทำคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง มิได้ เว้นแต่มีเหตุที่ถูกคัดค้านตามข้อกำหนดนี้ / เหตุสุดวิสัย / เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ / หรือเหตุอื่นตามที่ศาลเห็นสมควร
(4) การคัดค้านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านที่จะพิจารณาวินิจฉัยคำร้อง(ตามคำวินิจฉันที่ 60/2547 หน้า 14 ) มาจากเครือข่ายองค์กรประชาธิปไตยและองค์กรประชาชน โดยหนังสือที่ ครป.14/2548 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2548 ลงนามโดย นายสุริยะใส กะตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และบัญชีรายชื่อ มีความสรุปว่า ได้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 3 ท่านคือ 1. นายนพดล เฮงเจริญ ; 2. นายจุมพล ณ สงขลา และ 3. นายปรีชา เฉลิมวาณิชย์ ได้เคยแสดงความเห็นและจุดยืนต่อคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่ 47/2547 มาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายนพดล เฮงเจริญในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการศาล รธน. ได้เคยออกแถลงการณ์ส่วนตัวในวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 ว่า คุณหญิงจารุวรรณ ต้องพ้นจากสถานะภาพฯ ; และนายจุมพล ณ สงขลา ได้เคยแสดงความเห็นว่า คำวินิจฉัยที่ 47/2547 ถือว่าคุณหญิงจารุวรรณ ไม่เคยได้รับเลือกเป็นผู้ว่า สตง.; ส่วนนายปรีชา เฉลิมวาณิชย์ได้ประกาศขอถอนตัวจากการร่วมประชุมไปแล้ว ดังนั้น จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการพิจารณาการถอนตัวในกรณีปัญหาที่ตุลาการ 2 ท่านมีส่วนได้เสียตาม ข้อกำหนดว่าด้วยวิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญด้วย
(5) ระยะเวลาที่ มิได้ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(คนใหม่) นับจากวันที่ประธานวุฒิสภานำความขึ้นกราบบังคมทูล ในวันที่ 10 มิถุนายน 2548 จนถึงวันที่นายวิสุทธิ์ มนตริวัต ขอถอนตัวในวันที่ 19 กันยายน 2548 รวม 111 วัน
|
|
|
1
|
2
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|