กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดย ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ |
|
|
|
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ |
|
|
|
|
|
|
|
|
บทที่ 5
บทวิเคราะห์กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในประเทศไทย
การศึกษาถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในประเทศไทยที่ผ่านมา ทำให้ทราบถึงปัญหา อุปสรรค และข้อบกพร่องของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในประเทศไทยว่า ยังไม่อยู่ในระดับที่เทียบเท่าได้กับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในต่างประเทศ มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในประเทศไทยตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 ไม่สามารถดำเนินการไปได้ด้วยดีเท่าที่ควร เช่น การขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน หน่วยงานของรัฐที่พยายาม หลีกเลี่ยง ไม่ใช้กระบวนการพิจารณ์ตามระเบียบดังกล่าวเนื่องจากเกรงว่าจะถูกคัดค้านจนไม่สามารถดำเนินการจัดให้มีหรือจัดทำโครงการของตนได้ หรือแม้กระทั่งฝ่ายประชาชนที่ไม่ค่อยได้ให้ความสนใจในการเสนอความเห็นของตนเท่าที่ควร คงมีเพียง บางกลุ่ม เท่านั้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการประชาพิจารณ์ เป็นต้น
แม้จะมีความพยายามในการ ร่างกฎหมาย เกี่ยวกับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 59 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2543 ก็ตาม แต่ในที่สุดแล้วในปี พ.ศ.2548 เราก็ได้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับใหม่ คือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 มาแทนที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 และที่สำคัญก็คือมาแทนที่ร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. ... ด้วย
คงเป็นการยากที่จะคาดเดาหรืออธิบายได้ว่า เพราะเหตุใด ภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีผลใช้บังคับไปแล้วเกือบ 8 ปี บทบัญญัติต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญจึงยัง เกิดขึ้น ไม่ครบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ รับรอง สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ในต่างประเทศนั้น รับรู้ สิทธิดังกล่าวมากว่า 200 ปีแล้ว!
ไม่ว่าจะด้วย เหตุผล ใดก็ตาม ในวันนี้เรามี ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ใช้สำหรับเป็นช่องทางให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นของตนต่อการดำเนินการในโครงการของรัฐแล้ว แต่จากการศึกษาถึงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับดังกล่าวในบทที่ผ่านมาทำให้ทราบถึงรายละเอียดต่าง ๆ ที่ อาจจะ เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในอนาคตได้ในหลายประการด้วยกัน จึงขอนำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้ โดยสามารถสรุปเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ ๆ ได้ 2 ประเด็น คือ
1.รูปแบบที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เดิมในปี พ.ศ.2539 ก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะมีผลใช้บังคับ เรามี ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 เป็นเครื่องมือในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการดำเนินโครงการของรัฐ แต่ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้บังคับในปี พ.ศ.2540 มาตรา 59 แห่งรัฐธรรมนูญ ก็ได้บัญญัติให้สิทธิจำนวนหนึ่งแก่ประชาชนโดยกำหนดไว้ในตอนท้ายของมาตราดังกล่าวว่า ...ทั้งนี้ ตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่กฎหมายบัญญัติ
จากการพิจารณาข้อความดังกล่าว ทำให้เข้าใจได้ว่าจะต้องมีกฎหมาย(1) ระดับพระราชบัญญัติมากำหนดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเอาไว้ ดังนั้น การออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของมาตรา 59 แห่งรัฐธรรมนูญ
2.สาระที่น่าจะมีปัญหา เมื่อพิจารณาถึงสาระของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 แล้ว พบว่า หากนำไปใช้อาจเกิดปัญหาตามมาหลายประการ คือ
2.1 ปัญหาที่เกิดจากการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ข้อ 5 วรรคสองแห่งระเบียบฯ กำหนดถึงลักษณะบังคับของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ในกรณีเดียวคือ สำหรับโครงการของรัฐที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนเป็นส่วนรวม ส่วนในกรณีอื่น ๆ นั้นไม่บังคับ
2.1.1 การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีผลเป็นการบังคับ จริงอยู่ แม้ระเบียบฯ จะ บังคับ ให้หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการของรัฐที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนเป็นส่วนรวมต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนเริ่มดำเนินการ แต่ก็อาจมีปัญหาเกิดขึ้นได้ เพราะคำว่า มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนเป็นส่วนรวม นั้นเป็นคำที่กว้างและไม่มีคำนิยามที่กำหนดไว้เป็นแนวทาง ดังนั้น บทบัญญัติดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเพียงข้อความที่ให้ดุลพินิจแก่ฝ่ายปกครองที่จะพิจารณาว่าโครงการใดมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนเป็นส่วนรวม และนอกจากนี้ ในระเบียบฯก็มิได้กำหนดถึง ทางออก" ของกรณีดังกล่าวเอาไว้ด้วยว่า หากหน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการที่เห็นว่าโครงการดังกล่าวไม่เป็นโครงการที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนเป็นส่วนรวม แต่ฝ่ายประชาชนกลับเห็นไปในทางตรงกันข้าม ประชาชนจะทำอย่างไรต่อไป จะอุทธรณ์ต่อนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้รักษาการระเบียบฯนี้ได้ไหม หรือจะไปฟ้องศาลปกครองต่อไป
2.1.2 การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ไม่เป็นการบังคับ เกิดขึ้นได้ใน 2 กรณีคือ กรณีแรกในข้อ 5 วรรคแรกที่กล่าวว่าก่อนเริ่มดำเนินการโครงการของรัฐ หน่วยงานของรัฐจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และในกรณีที่สองคือในข้อ 6 ที่กล่าวว่า ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐมิได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนเริ่มดำเนินการโครงการของรัฐตามข้อ 5 วรรคแรก เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ผู้มีอำนาจจะสั่งหน่วยงานของรัฐให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนก็ได้
เมื่อพิจารณาทั้ง 2 กรณีดังกล่าวข้างต้น จะพบว่า แม้ระเบียบฯฉบับปัจจุบันจะมีข้อดีคือ กำหนดไว้อย่างชัดเจนให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนเริ่มดำเนินการโครงการของรัฐ แต่ระเบียบฯดังกล่าวก็ไม่ได้ยืนยันหรือรับรองอย่างชัดเจนถึงการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ว่าโครงการของรัฐประเภทใดบ้างที่จำเป็นที่จะต้องนำมาให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นดังเช่นที่กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. ... มาตรา 14 และมาตรา 15 ที่ได้กำหนดไว้ถึง กรอบ และการมีผลเป็นการบังคับของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในโครงการของรัฐที่มีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับบุคคลหรือชุมชนท้องถิ่นว่า หน่วยงานของรัฐต้องปรึกษาหารือร่วมกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นก่อนที่จะตัดสินใจพิจารณาอนุญาตหรือดำเนินโครงการนั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาดูระเบียบฯ ฉบับปัจจุบันในข้อ 5 และข้อ 6 เปรียบเทียบกับมาตรา 14 และมาตรา 15 แห่งร่างพระราชบัญญัติฯ แล้วจะพบว่า บทบัญญัติในร่างพระราชบัญญัตินั้นให้การคุ้มครองสิทธิของประชาชนด้วยการให้โอกาสกับประชาชนที่จะได้แสดงความคิดเห็นต่อโครงการของรัฐมากกว่าระเบียบฯ ฉบับปัจจุบัน
2.2 ปัญหาที่เกิดจากรูปแบบอันหลากหลายของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ข้อ 9 แห่งระเบียบฯ ได้กำหนดถึงรูปแบบต่าง ๆ ของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเอาไว้ใน 2 กรณีหลักคือ การสำรวจความคิดเห็น อันได้แก่ การสัมภาษณ์รายบุคคล การเปิดให้แสดงความคิดเห็นทางอื่น ๆ เช่น ไปรษณีย์ เป็นต้น กับการประชุมปรึกษาหารือ อันได้แก่ การประชาพิจารณ์ การอภิปรายสาธารณะ การประชุมเชิงปฏิบัติการ ฯลฯ และนอกจากนี้ใน (3) ของระเบียบฯ ข้อ 9 ยังให้อำนาจสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่จะกำหนดวิธีการอื่น ๆ ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้อีกด้วย รวมไปถึงระเบียบฯข้อ 10 ที่ให้อำนาจหน่วยงานของรัฐที่จะกำหนดวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยไม่ต้องทำตามวิธีที่กำหนดไว้ในระเบียบฯหรือที่กำหนดโดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีก็ได้
รูปแบบที่หลากหลายของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในระเบียบฯ ฉบับปัจจุบันดูจะไม่แตกต่างจากรูปแบบในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่บัญญัติไว้ในมาตรา 17 แห่งร่างพระราชบัญญัติฯ เท่าใดนัก ซึ่งกรณีดังกล่าวแตกต่างจากกระบวนการในการจัดทำประชาพิจารณ์อย่างละเอียดที่กำหนดไว้ในข้อ 12 ถึงข้อ 16 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 และนอกจากนี้ ในระเบียบฯ ฉบับปัจจุบันที่ได้กำหนดวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้หลายรูปแบบ แต่ก็มิได้กำหนดถึงหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานของรัฐใช้เป็นแนวทางในการ เลือก รูปแบบของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเอาไว้ กรณีดังกล่าวจึงเป็นอีกกรณีหนึ่งที่อาจเป็นปัญหาในวันข้างหน้าหากหน่วยงานของรัฐ เลือก รูปแบบของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่สะดวกสำหรับตนเองแต่เป็นวิธีที่ประชาชนไม่ต้องการ
อนึ่ง ในข้อ 9 (2) (ก) แห่งระเบียบฯ ฉบับปัจจุบันได้กำหนดให้การประชาพิจารณ์เป็นรูปแบบหนึ่งของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่ในระเบียบฯดังกล่าวก็ไม่ได้มีการกำหนดถึงกระบวนการในการจัดทำประชาพิจารณ์ไว้ กรณีดังกล่าวอาจก่อให้เกิดปัญหาในการดำเนินการเพราะแม้ระเบียบฯฉบับเก่าคือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 ได้กำหนดขั้นตอนของการทำประชาพิจารณ์ไว้อย่างละเอียดก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติก็เกิดปัญหาขึ้นทุกครั้งที่มีการจัดทำประชาพิจารณ์
2.3 ปัญหาที่เกิดจากการให้อำนาจหน่วยงานของรัฐในการกำหนดวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ดังได้กล่าวไปแล้วในหัวข้อ 2.2 ก่อนหน้านี้ว่านอกจากระเบียบฯ ฉบับปัจจุบันได้กำหนดวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้หลายวิธีแล้ว ก็ยังให้อำนาจสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่จะกำหนดวิธีการอื่นนอกเหนือไปจากที่ระเบียบฯได้กำหนดไว้ได้อีก ซึ่งก็อาจทำให้มีวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกิดขึ้นจำนวนมากนั้น เมื่อพิจารณาระเบียบฯ ข้อ 10 จะพบว่า ระเบียบฯ ยังได้ให้อำนาจหน่วยงานของรัฐที่จะกำหนดวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนวิธีการอื่น ๆ นอกเหนือไปจากวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่กำหนดไว้ในระเบียบฯและนอกเหนือไปจากที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดเพิ่มขึ้นมาได้อีกด้วย โดยระเบียบฯ ได้ให้อำนาจหน่วยงานของรัฐที่จะกำหนดวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเองและใช้วิธีการดังกล่าวได้ทันทีโดยไม่ต้อง ขออนุญาต จากหน่วยงานใด ๆ เลย การกำหนดอำนาจของหน่วยงานดังกล่าวจึงเป็นการให้ดุลพินิจแก่หน่วยงานของรัฐอย่างมากจนอาจทำให้เกิดการไม่ เคารพ และ ปฏิบัติตาม กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้กำหนดไว้ได้
2.4 ปัญหาที่เกิดจากขั้นตอนในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ระเบียบฯ ไม่ได้กำหนดรายละเอียดต่าง ๆ อันเกี่ยวกับขั้นตอนของการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเอาไว้ เพียงแต่กำหนดกรอบอย่างกว้าง ๆ ของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ในข้อ 11 ว่า หน่วยงานของรัฐต้องประกาศให้ประชาชนทราบถึงวิธีการรับฟังความคิดเห็น ระยะเวลา สถานที่ และรายละเอียดอื่น ที่เพียงพอแก่การที่ประชาชนจะเข้าใจและสามารถแสดงความคิดเห็นได้ โดยให้มีการปิดประกาศไว้โดยเปิดเผยที่หน่วยงานของรัฐและสถานที่ที่จะดำเนินโครงการของรัฐไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนเริ่มดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และประกาศในระบบเครือข่ายสารสนเทศของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย
ปัญหาอาจเกิดขึ้นได้จากระยะเวลาที่กำหนดไว้เพียง 15 วัน ที่จะให้หน่วยงานของรัฐประกาศให้ประชาชนทราบถึงวิธีการรับฟังความคิดเห็น ระยะเวลา สถานที่ และรายละเอียดอื่น ที่ดูแล้วน่าจะเป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 คือ ต้องประชาสัมพันธ์การจัดทำประชาพิจารณ์ให้ผู้มีส่วนได้เสียและผู้เกี่ยวข้องทราบข้อมูลในเรื่องที่จะทำประชาพิจารณ์โดยการปิดประกาศล่วงหน้าก่อนวันลงทะเบียนไม่น้อยกว่า 30 วัน หรือที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2518 ให้จัดประชุมรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมืองครั้งแรกภายใน 30 วัน นับแต่วันปิดประกาศ เป็นต้น ด้วยระยะเวลาที่สั้นเกินไปนี้เองที่อาจทำให้ประชาชนทราบข้อมูลไม่ครบถ้วนและอาจนำไปสู่ข้อขัดแย้งในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้
2.5 ปัญหาที่เกิดจากผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ระเบียบฯ กำหนดถึงเรื่องผลของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ใน 2 เรื่องด้วยกัน คือ
2.5.1 การเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เป็นไปตามระเบียบฯ ข้อ 12 คือ เมื่อดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและประกาศให้ประชาชนทราบ
ในกรณีนี้เองที่อาจก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้เพราะโดยทั่วไปแล้ว การให้ข้อมูลกับประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการโครงการของรัฐเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เมื่อได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปแล้ว จึงควรแจ้งรายละเอียดทั้งหมดที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้ประชาชนทราบเพื่อประโยชน์ของประชาชนที่จะดำเนินการอื่น ๆ ต่อไป
2.5.2 การดำเนินการของหน่วยงานของรัฐภายหลังการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เช่นเดียวกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 และร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. .... รวมทั้งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับปัจจุบันได้ให้อำนาจหน่วยงานเจ้าของโครงการที่จะดำเนินโครงการของตนต่อไปแม้ปรากฏผลจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้วว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนมากกว่าข้อมูลที่ได้เผยแพร่ให้แก่ประชาชน โดยระเบียบฯ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบดังกล่าว
ในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นจากการทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับเก่านั้น เมื่อประชาชนไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการโครงการของรัฐก็จะเป็น อุปสรรค สำคัญต่อการดำเนินโครงการซึ่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับปัจจุบันก็ไม่ได้แก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อให้ สิทธิ กับประชาชนมากขึ้นและเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งทางแก้ปัญหาดังกล่าวที่น่าจะ เหมาะสม ที่สุด คือ หน่วยงานของรัฐจะต้องหามาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมและจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายนั้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในบางกรณีอาจต้องทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหลายครั้งหากผลออกมายังไม่เป็นที่ตกลงกันได้ เมื่อได้ข้อยุติที่ไม่สร้างข้อขัดแย้งระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนแล้ว จึงค่อยเริ่มดำเนินโครงการต่อไป
เส้นทางของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนซึ่งเป็น สิทธิ ขั้นพื้นฐานของประชาชนประการหนึ่งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ยังอยู่อีกยาวไกล แม้เราจะเห็นความ พยายาม ในการ ก่อตั้ง สิทธิดังกล่าว แต่ความพยายามที่เกิดขึ้นก็ดูเหมือนเป็น การปิดกั้น การก่อตั้งสิทธินั้นไปในตัว เพราะจากการที่เรามีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 อันเป็นระเบียบฯที่กำหนดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้เพียงรูปแบบเดียวคือการทำประชาพิจารณ์ แต่ระเบียบฯดังกล่าวก็มีการกำหนดวิธีการและขั้นตอนในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้อย่างละเอียดและมีหลักประกันให้กับประชาชนพอสมควร ในขณะที่ระเบียบฯฉบับใหม่คือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 นั้น แม้จะสร้างความ หลากหลาย ให้กับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่จะทำ อย่างไรก็ได้ แต่ระเบียบฯฉบับปัจจุบันก็ ขาด รายละเอียดที่ควรมีเกี่ยวกับรูปแบบ วิธีการ และขั้นตอนในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเอาไว้ ซึ่งก็หมายความว่าระเบียบฯฉบับปัจจุบันให้ ดุลพินิจ กับหน่วยงานของรัฐในหลาย ๆ เรื่องเป็นอย่างมากในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสนใจและติดตามกันต่อไปว่าเมื่อมีการนำเอาระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ไปใช้กับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว ระเบียบฯดังกล่าวจะให้ อะไร กับประชาชนได้บ้าง และจะ ตอบสนอง เจตนารมณ์ของมาตรา 59 แห่งรัฐธรรมนูญได้มากน้อยเพียงใด
เชิงอรรถ
(1) ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 27/2544 เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2544 ให้ความเห็นของคำว่า กฎหมายเอาไว้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ ประเภทที่หนึ่ง ได้แก่กฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น พระราชบัญญัติ เป็นต้น และประเภทที่สอง ได้แก่ กฎ ข้อบังคับ ที่ฝ่ายบริหารออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแม่บท
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|