บทที่ 3
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) กับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 59 ถึงเรื่องการเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยกำหนดให้ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงได้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.
. ขึ้นแต่ก็ยังมิได้นำเสนอต่อรัฐสภา ต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2548 ที่ผ่านมาก็ได้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ขึ้นใช้บังคับ ในบทนี้ จึงขอนำเสนอสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.
. ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
3.1 แนวความคิดในการบัญญัติเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) นับได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ได้มีการบัญญัติเรื่อง ประชาพิจารณ์ ไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยในขั้นตอนของการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอร่างของคณะกรรมาธิการในเรื่องประชาพิจารณ์ดังนี้ (1)
มาตรา 3/3/9 บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะได้รับคำชี้แจงข้อมูลและเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ก่อนการอนุญาต หรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจที่มีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยหรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
คณะทำงานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชี้แจงว่า ร่างมาตรานี้เป็นเรื่อง ประชาพิจารณ์ ซึ่งจะเป็นกรณีที่รัฐกำลังจะดำเนินการใด หรือจะอนุญาตให้บุคคลใดกระทำการใด และการนั้นอาจกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฯลฯ บุคคลที่จะถูกผลกระทบมีสิทธิได้รับการชี้แจงจากหน่วยงานของรัฐ และมีสิทธิเสนอความเห็น นอกจากนั้น ที่มีคำว่า ส่วนได้เสียสำคัญอื่นใด ก็เพื่อให้ขยายถึงกรณีอื่นนอกจากสิ่งแวดล้อม เช่น การที่จะมีการออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดศุลกากร shipping ก็น่าจะมีสิทธิแสดงความเห็นได้ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมาธิการเห็นชอบตามที่เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอ และต่อมาการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นชอบให้ย้ายคำว่า คำชี้แจง ไว้หลังคำว่า ข้อมูล และเพิ่มเติมคำว่า หรือราชการส่วนท้องถิ่น ดังนี้
มาตรา 59 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่กฎหมายบัญญัติ
จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นที่มาของมาตรา 59 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)
3.2 ร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.
.
เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ได้บัญญัติเรื่องประชาพิจารณ์ไว้ในมาตรา 59 ซึ่งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวได้กำหนดให้ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) มาตรา 59 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์) จึงได้ขอให้ทบวงมหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการยกร่างกฎหมายว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ภายหลังจากที่ทบวงมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.
. เรียบร้อยแล้ว รองนายกรัฐมนตรี (นายพิชัย รัตตกุล) ได้มีคำสั่งให้นำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสนอคณะกรรมการนโยบายและประสานงานการดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและประสานงานการดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2542 คณะกรรมการ ฯ ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.
. ตามที่ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยรับข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรี และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณา แล้วเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง (2)
ร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. .... มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
3.2.1 คณะกรรมการที่ปรึกษาการรับฟังความคิดเห็น
ร่างกฎหมายว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการที่ปรึกษาการรับฟังความคิดเห็น ประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่งได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 10 คนนั้น มีที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรีจากผู้มีความรู้ความเข้าใจในวิธีการรับฟังความคิดเห็น หรือมีความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคง นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การบริหารจัดการหรือสิ่งแวดล้อม โดยผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี แต่ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้เกินสองวาระติดต่อกัน (3)
คณะกรรมการที่ปรึกษาการรับฟังความคิดเห็นมีอำนาจหน้าที่หลายประการ คือ เสนอแนะการออกกฎกระทรวงตามร่างกฎหมายนี้ กำหนดหลักเกณฑ์การรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้เป็นไปตามร่างกฎหมายนี้ สอดส่องดูแลเกี่ยวกับการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติตามร่างกฎหมายนี้ ให้คำปรึกษาแนะนำและฝึกอบรมแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชนในการปฏิบัติตามร่างกฎหมายนี้ ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนแก่หน่วยงานของรัฐและประชาชนให้มีความเข้าใจในการรับฟังความคิดเห็น จัดทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติตามร่างกฎหมายนี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ศึกษาหรือวิจัยเพื่อการพัฒนาการให้ข้อเท็จจริงแก่ประชาชนและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ดำเนินการอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย(4) และจัดให้มีบัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อแต่งตั้งให้เป็นคณะผู้รับฟังความคิดเห็น(5)
อนึ่ง เพื่อช่วยให้การดำเนินการของคณะกรรมการเป็นไปได้อย่างดี คณะกรรมการสามารถตั้งอนุกรรมการเพื่อดำเนินการใดภายในขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการได้ (6)
3.2.2 เหตุที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
ร่างกฎหมายว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกำหนดให้การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต้องมีขึ้นก่อนที่หน่วยงานของรัฐ(7) จะตัดสินใจพิจารณาอนุญาตหรือดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตหรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับบุคคลหรือชุมชนท้องถิ่น โดยหน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลเพื่อให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้รับทราบและต้องปรึกษาหารือร่วมกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น(8) โดยในการรับฟังความคิดเห็นนั้น หากมีกฎหมายอื่นบัญญัติถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นไว้โดยเฉพาะก็ให้ใช้กระบวนการตามกฎหมายนั้น หากไม่มีก็ให้ใช้กระบวนการตามร่างกฎหมายนี้ (9)
อนึ่ง การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามร่างกฎหมายนี้จะต้องทำในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และในกรณีอื่นที่มีผลกระทบตามลักษณะหรือขอบเขตที่กำหนดในกฎกระทรวง รวมทั้งในกรณีที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลหน่วยงานของรัฐเห็นสมควรจัดให้มี (10) ส่วนข้อยกเว้นของการที่จะไม่นำบทบัญญัติแห่งร่างกฎหมายนั้นมาใช้ก็คือ กรณีที่กำหนดไว้ว่าไม่ให้นำไปใช้บังคับกับโครงการหรือกิจกรรมใดที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการเป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์ของประเทศ หรือประโยชน์สาธารณะที่จำเป็นต้องดำเนินการทันที (11)
นอกจากนี้แล้ว การจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอาจเริ่มต้นมาจากประชาชนก็ได้ โดยหากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเห็นว่าการจะพิจารณาอนุญาตหรือการจะดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดของหน่วยงานของรัฐมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่ทำให้ชุมชนของตนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ประชาชนเหล่านั้นอาจเข้าชื่อร้องขอต่อคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามร่างกฎหมายนี้เพื่อพิจารณามีคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามร่างกฎหมายนี้ได้ (12)
3.2.3 กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
ร่างกฎหมายว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้กำหนดขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้เป็น 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ
3.2.3.1 ขั้นตอนการทำความเข้าใจเบื้องต้นให้กับประชาชน ขั้นตอนดังกล่าวเป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยร่างกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีข้อเท็จจริงของโครงการหรือกิจกรรมที่จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเพื่อเผยแพร่หรือให้ประชาชนตรวจสอบได้ ข้อเท็จจริงดังกล่าวได้แก่ (13) สาระสำคัญของการดำเนินการ สถานที่ วิธีการ ขั้นตอนและระยะเวลาที่จะดำเนินการ เหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ ผลกระทบของการดำเนินการทั้งผลดีและผลเสียที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งมาตรการแก้ไขในกรณีที่มีผลเสีย และบทวิเคราะห์ความคุ้มค่าของโครงการเมื่อพิจารณาจากผลกระทบดังกล่าว รวมทั้งรายละเอียดอื่นใดที่จะเพียงพอให้เข้าใจลักษณะการดำเนินการ สำหรับวิธีการดำเนินการจัดให้มีข้อเท็จจริงและการเผยแพร่นั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่จะกำหนดแนวทางเพื่อให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติ
3.2.3.2 ขั้นตอนในการจัดรับฟังความคิดเห็น เนื่องจากโครงการหรือกิจกรรมที่หน่วยงานของรัฐจะพิจารณามีความหลากหลายและมีสาระที่อาจเหมือนหรือแตกต่างกัน เพื่อให้การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นไปอย่างดี และตรงกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ร่างกฎหมายจึงกำหนดให้การจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมีหลายวิธีด้วยกันคือ (14) การสัมภาษณ์รายบุคคล การรับฟังความเห็นทางโทรทัศน์ การสำรวจความคิดเห็น การแสดงความคิดเห็นโดยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การพบปะแบบไม่เป็นทางการ การสนทนากลุ่มย่อย การประชุมเชิงปฏิบัติการ การประชุมระดับที่ปรึกษา การอภิปรายสาธารณ การประชาพิจารณ์และวิธีอื่นตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
การ "เลือก" ใช้วิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนวิธีการใดดังที่กล่าวไปแล้วเป็นสิ่งที่หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการหรือกิจกรรมจะต้องเป็นผู้กำหนดโดยจะต้องประกาศไว้ในบริเวณที่จะอนุญาตหรือดำเนินโครงการหรือกิจกรรมเพื่อให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทราบ โดยในประกาศดังกล่าวจะต้องมีข้อความแจ้งให้ทราบวิธีการรับฟังความคิดเห็น ระยะเวลา สถานที่ ตลอดจนรายละเอียดอื่นที่เพียงพอแก่กรณีประชาชนจะเข้าใจและสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้ ร่างกฎหมายได้ให้อำนาจคณะกรรมการที่ปรึกษาการรับฟังความคิดเห็นที่จะกำหนดแนวทางเพื่อเป็นมาตรฐานในการจัดให้มีประกาศเพื่อให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติก็ได้ (15)
เมื่อได้มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้ว หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยผลการแสดงความคิดเห็นให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด(16) จากนั้น หน่วยงานของรัฐก็จะต้องนำผลการแสดงความคิดเห็นที่ได้มาประกอบการพิจารณาดำเนินการของตนต่อไป ซึ่งหากหน่วยงานของรัฐเห็นว่าจำเป็นต้องดำเนินการตามโครงการหรือกิจการนั้นโดยมีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบตามที่ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นไปแล้ว หรือได้ทำความเข้าใจกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจนเห็นชอบโครงการหรือกิจกรรมแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐประกาศแสดงความจำเป็นและเหตุผลที่สมควรให้ดำเนินโครงการหรือกิจกรรมนั้น ซึ่งในกรณีดังกล่าวประชาชนผู้ได้รับผลกระทบมีสิทธิคัดค้านได้ภายในเวลาที่หน่วยงานของรัฐกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 15 วัน การคัดค้านดังกล่าวนำมาสู่การรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นทางการ(17)
3.2.3.3 ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นทางการ ในกรณีที่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบคัดค้านการดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมนั้น หน่วยงานของรัฐจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นทางการ โดยมีกระบวนการดังนี้คือ(18)
(1) ให้หน่วยงานของรัฐมีหนังสือแจ้งอธิบดีศาลปกครองชั้นต้นที่มีเขตอำนาจศาลในท้องที่ที่จะดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมนั้น เพื่อแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญจากบัญชีรายชื่อตามมาตรา 13 เป็นคณะผู้รับฟังความคิดเห็น พร้อมทั้งมีหนังสือแจ้งการดำเนินการให้คณะกรรมการทราบด้วย
(2) ให้คณะผู้รับฟังความคิดเห็นรวบรวมข้อมูลของโครงการหรือกิจกรรมและรายละเอียดคำคัดค้าน เพื่อนำมาพิจารณากำหนดวิธีการรับฟังความคิดเห็นให้เหมาะสมกับสภาพของโครงการหรือกิจกรรม หรือลักษณะของการคัดค้าน ซึ่งต้องเป็นวิธีการตามที่กำหนดในมาตรา 17
(3) ให้คณะผู้รับฟังความคิดเห็นประกาศวิธีการรับฟังความคิดเห็นโดยต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นของโครงการหรือกิจกรรม ประเด็นปัญหาที่จะมีการรับฟังความคิดเห็น การกำหนดตัวแทนกลุ่มบุคคลผู้ได้รับผลกระทบที่จะเสนอข้อคิดเห็น การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประชาชน และขั้นตอนการดำเนินการรับฟังความคิดเห็น
(4) เมื่อดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้น ให้คณะผู้รับฟังความคิดเห็นจัดทำรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นส่งให้หน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการ และประกาศโดยเปิดเผยเพื่อให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบสามารถตรวจสอบได้
3.2.4 ผลของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
ร่างกฎหมายว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้กำหนดไว้ในร่างมาตรา 23 ว่า ให้หน่วยงานของรัฐนำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นทางการจากคณะผู้รับฟังความคิดเห็นมาพิจารณาประกอบกับความจำเป็นของโครงการหรือกิจกรรม มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ความคุ้มค่าของประโยชน์สาธารณะ และทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดก่อนที่จะตัดสินใจพิจารณาอนุญาตหรือดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมนั้น(19)
ผลของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ได้จึงไม่ผูกพันให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตาม
ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. .... ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมมากซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนั้นเกรงว่าหากร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับก็อาจเกิดผลกระทบต่อบุคคลหลายฝ่ายรวมทั้งยังอาจเกิดปัญหาและความยากลำบากในทางปฏิบัติ ดังนั้น เพื่อเป็นการ ทดลอง กระบวนการต่าง ๆ ในพระราชบัญญัติ จึงได้มีการจัดทำ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ขึ้นเพื่อใช้แทนที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 และนำบทบัญญัติบางส่วนในร่างพระราชบัญญัติมาบรรจุไว้ ดังจะได้ศึกษารายละเอียดในบทต่อไป
เชิงอรรถ
(1) มนตรี รูปสุวรรณ และคณะ, เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 , (กรุงเทพมหานคร : วิญญูชน, 2542), หน้า 141-142.
(2) หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร.0204/3379 ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2543.
(3) มาตรา 5 ให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาการรับฟังความคิดเห็น ประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสิบคน เป็นกรรมการให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นกรรมการและเลขานุการ
มาตรา 6 ผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในวิธีการรับฟังความคิดเห็น หรือมีความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคง นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การบริหารจัดการ หรือสิ่งแวดล้อม และต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง
มาตรา 7 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี
ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใหม่
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ ทั้งนี้ ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
(4) มาตรา 10 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) เสนอแนะในการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัตินี้
(2) กำหนดหลักเกณฑ์การรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
(3) สอดส่องดูแลเกี่ยวกับการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
(4) ให้คำปรึกษาแนะนำและฝึกอบรมแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชนในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
(5) ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนแก่หน่วยงานของรัฐและประชาชนให้มีความเข้าใจในการรับฟังความคิดเห็น
(6) จัดทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
(7) ศึกษาหรือวิจัยเพื่อการพัฒนาการให้ข้อเท็จจริงแก่ประชาชนและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
(8) ดำเนินการอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
(5) มาตรา 13เพื่อประโยชน์ในการจัดการรับฟังความคิดเห็น ให้คณะกรรมการจัดให้มีบัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะผู้รับฟังความคิดเห็น
การจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
(6) มาตรา 12 ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการใดภายในขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสาขาหรือคณะอนุกรรมการพื้นที่ เพื่อดำเนินการแทนคณะกรรมการตามที่ได้รับมอบหมายก็ได้
ให้นำมาตรา 9 มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
(7) มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
หน่วยงานของรัฐ หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และองค์การมหาชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน
...................
(8) มาตรา 14 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐจะพิจารณาอนุญาตหรือจะดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมใด ถ้าเป็นกรณีที่มีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับบุคคลหรือชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผล เพื่อให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้รับทราบ และต้องปรึกษาหารือร่วมกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นก่อนที่จะตัดสินใจพิจารณาอนุญาตหรือดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมนั้น
(9) มาตรา 14 วรรคสอง การดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่มีกฎหมายอื่นบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้โดยเฉพาะ
(10) มาตรา 15 การอนุญาตหรือการดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมที่หน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการตามมาตรา 14 วรรคหนึ่ง ได้แก่กรณีดังต่อไปนี้
(1) กรณีที่กฎหมายกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
(2) กรณีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
(3) กรณีอื่นที่มีผลกระทบตามลักษณะหรือขอบเขตที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลหน่วยงานของรัฐเห็นสมควรจัดให้มีการปรึกษาหารือร่วมกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในโครงการหรือกิจกรรมใด นอกเหนือจากที่กำหนดในวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ด้วย
(11) มาตรา 14 วรรคท้าย บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่โครงการหรือกิจกรรมใดที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการเป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์ของประเทศหรือประโยชน์สาธารณะที่จำเป็นต้องดำเนินการทันที
(12) มาตรา 15 วรรคท้าย ถ้าประชาชนผู้้ได้รับผลกระทบเห็นว่าการจะพิจารณาอนุญาตหรือการจะดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดของหน่วยงานของรัฐมีผลกระทบตามมาตรา 14 วรรคหนึ่ง ซึ่งทำให้ชุมชนของตนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย อาจเข้าชื่อร้องขอต่อคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการที่ได้รับมอบหมาย เพื่อพิจารณามีคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ได้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการการเข้าชื่อร้องขอให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
(13) มาตรา 16 โครงการหรือกิจกรรมใดที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้ เพื่อเผยแพร่หรือให้ประชาชนตรวจสอบได้
(1) สาระสำคัญของการดำเนินการ
(2) สถานที่ วิธีการ ขั้นตอนและระยะเวลาที่จะดำเนินการ
(3) เหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ
(4) ผลกระทบของการดำเนินการทั้งผลดีและผลเสียที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งมาตรการแก้ไขในกรณีที่มีผลเสีย
(5) บทวิเคราะห์ความคุ้มค่าของโครงการเมื่อพิจารณาจากผลกระทบตาม (4)
(6) รายละเอียดอื่นใดที่จะเพียงพอให้เข้าใจลักษณะการดำเนินการ
ให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดแนวทางการดำเนินการจัดให้มีข้อเท็จจริงและการเผยแพร่ตามวรรคหนึ่ง เพื่อให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติได้
(14) มาตรา 17 ในการจัดรับฟังความคิดเห็น ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาดำเนินการให้เหมาะสมกับลักษณะโครงการหรือกิจกรรม โดยคำนึงถึงการสร้างความเข้าใจและการรับรู้ความต้องการของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ตามวิธีการดังต่อไปนี้
(1) การสัมภาษณ์รายบุคคล
(2) การรับฟังความเห็นทางโทรทัศน์
(3) การสำรวจความคิดเห็น
(4) การแสดงความคิดเห็นโดยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
(5) การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร
(6) การพบปะแบบไม่เป็นทางการ
(7) การสนทนากลุ่มย่อย
(8) การประชุมเชิงปฏิบัติการ
(9) การประชุมระดับที่ปรึกษา
(10) การอภิปรายสาธารณะ
(11) การประชาพิจารณ์
(12) วิธีอื่นตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
หลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
(15) มาตรา 18 เมื่อหน่วยงานของรัฐแห่งใดเริ่มพิจารณาโครงการหรือกิจกรรมใดและเป็นโครงการหรือกิจกรรมตามมาตรา 14 ให้หน่วยงานของรัฐแห่งนั้นพิจารณากำหนดวิธีการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 17 เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ
ให้หน่วยงานของรัฐตามวรรคหนึ่ง ประกาศให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้ทราบการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งอย่างน้อยต้องจัดให้มีการประกาศในบริเวณที่จะอนุญาต หรือดำเนินโครงการหรือกิจกรรมนั้น ในประกาศดังกล่าวต้องมีข้อความแจ้งให้ทราบวิธีการรับฟังความคิดเห็น ระยะเวลา สถานที่ ตลอดจนรายละเอียดอื่นที่เพียงพอแก่การที่ประชาชนจะเข้าใจและสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ในการนี้ คณะกรรมการอาจกำหนดแนวทางเพื่อเป็นมาตรฐานในการจัดให้มีประกาศเพื่อหน่วยงานของรัฐปฏิบัติก็ได้
เมื่อหน่วยงานของรัฐจัดให้มีการประกาศตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้แจ้งต่อคณะกรรมการเพื่อทราบ
ให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็น แต่อาจร้องขอให้คณะกรรมการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดำเนินการได้
(16) มาตรา 19 เมื่อได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 18 เสร็จสิ้นแล้ว หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยผลการแสดงความคิดเห็นให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
(17) มาตรา 20 หน่วยงานของรัฐต้องนำผลการแสดงความคิดเห็นที่ดำเนินการตามมาตรา 18 มาประกอบการพิจารณา ถ้าหน่วยงานของรัฐเห็นว่า จำเป็นต้องดำเนินการตามโครงการหรือกิจกรรมนั้นต่อไปโดยมีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบตามที่ประชาชนแสดงความคิดเห็นแล้ว หรือได้ทำความเข้าใจกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจนเห็นชอบโครงการหรือกิจกรรมแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐประกาศแสดงความจำเป็นและเหตุผลที่สมควรให้ดำเนินโครงการหรือกิจกรรมนั้น
ประกาศตามวรรคหนึ่งต้องระบุวันเวลาและสถานที่ เพื่อให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบมีสิทธิแสดงความคิดเห็นคัดค้านการดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมนั้นได้ภายในเวลาที่เหมาะสมซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวไม่มีมีการยื่นคัดค้านให้ถือว่าโครงการหรือกิจกรรมนั้นได้รับฟังความคิดเห็นแล้ว
คำคัดค้านต้องแสดงประเด็นปัญหาให้เข้าใจได้ว่าไม่เห็นด้วยหรือมีความเห็นแตกต่างในประเด็นใดที่เกี่ยวกับโครงการหรือกิจกรรมนั้น
(18) มาตรา 22 การจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นทางการให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ให้หน่วยงานของรัฐมีหนังสือแจ้งอธิบดีศาลปกครองชั้นต้นที่มีเขตอำนาจศาลในท้องที่ที่จะดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมนั้น เพื่อแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญจากบัญชีราบชื่อตามมาตรา 13 เป็นคณะผู้รับฟังความคิดเห็น พร้อมทั้งมีหนังสือแจ้งการดำเนินการให้คณะกรรมการทราบด้วย
(2) ให้คณะผู้รับฟังความคิดเห็นรวบรวมข้อมูลของโครงการหรือกิจกรรมและรายละเอียดคำคัดค้าน เพื่อนำมาพิจารณากำหนดวิธีการรับฟังความคิดเห็นให้เหมาะสมกับสภาพของโครงการหรือกิจกรรม หรือลักษณะของการคัดค้าน ซึ่งต้องเป็นวิธีการตามที่กำหนดในมาตรา 17
(3) ให้คณะผู้รับฟังความคิดเห็นประกาศวิธีการรับฟังความคิดเห็นโดยต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นของโครงการหรือกิจกรรม ประเด็นปัญหาที่จะมีการรับฟังความคิดเห็น การกำหนดตัวแทนกลุ่มบุคคลผู้ได้รับผลกระทบที่จะเสนอข้อคิดเห็น การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประชาชน และขั้นตอนการดำเนินการรับฟังความคิดเห็น
(4) เมื่อดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้น ให้คณะผู้รับฟังความคิดเห็นจัดทำรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นจัดส่งให้หน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการ และประกาศโดยเปิดเผยเพื่อให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบสามารถตรวจสอบได้
ให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดรายละเอียดวิธีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นทางการตามวรรคหนึ่ง เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของผู้เกี่ยวข้องได้
(19) มาตรา 23 เมื่อหน่วยงานของรัฐได้สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นทางการจากคณะผู้รับฟังความคิดเห็น ให้หน่วยงานของรัฐนำมาพิจารณาประกอบกับความจำเป็นของโครงการหรือกิจกรรม มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ความคุ้มค่าของประโยชน์สาธารณะ และทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ก่อนที่จะตัดสินใจพิจารณาอนุญาตหรือดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมนั้น
|