หน้าแรก บทความสาระ
กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ตอนที่ 1) โดย ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
27 พฤศจิกายน 2548 22:52 น.
 
1 | 2
หน้าถัดไป

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2548 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ลงนามใน “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548” ซึ่งระเบียบดังกล่าวก็ได้กำหนดไว้ในข้อ 3 ให้ยกเลิก “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539”
       
การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผู้คนจำนวนมากและก็มีผู้ “รอคอย” มากเช่นกันว่าเมื่อใดจะมีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวออกมา
       ในโอกาสที่มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับใหม่เกี่ยวกับเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการศึกษากระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในประเทศไทยในปัจจุบัน ผู้เขียนจึงได้นำเอาบทความเก่าคือ “ข้อเสนอสำหรับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน” ที่ได้ลงเผยแพร่ใน www.pub-law.net เมื่อต้นปี พ.ศ.2546 มาปรับปรุงใหม่และเพิ่มสาระสำคัญของ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548” เข้าไปด้วย เพื่อให้ผู้สนใจศึกษาเรื่องดังกล่าว ได้รับรู้รับทราบถึงความเป็นมาอันยาวนานของ “สิทธิ” ขั้นพื้นฐานที่สำคัญสิทธิหนึ่งของชนชาวไทย ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรับรองไว้
       
       บทที่ 1  แนวความคิดและความเป็นมาของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในประเทศไทย
       

       การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นมาตรการสำคัญประการหนึ่งที่มาตรา 59 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ได้บัญญัติรับรองเอาไว้ จุดประสงค์สำคัญของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก็เพื่อเพิ่มบทบาทของภาคประชาชนให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของฝ่ายปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดำเนินการจัดให้มีโครงการของรัฐที่สำคัญ ๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชน
       แนวคิดของการมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นต่อการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครองในประเทศไทยมิได้เพิ่งมีขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ก่อนหน้านี้ มีกฎหมายหลายฉบับที่มีบทบัญญัติให้ประชาชนได้มีโอกาสแสดงความเห็นในเรื่องเฉพาะ ที่กฎหมายนั้นกำหนดไว้ เช่น พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 และพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 นอกจากนี้แล้ว ในปี พ.ศ. 2539 รัฐบาลได้จัดทำ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ” ขึ้น เพื่อเป็น “เกณฑ์กลาง” ที่ใช้ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการดำเนินการในโครงการของรัฐทั้งหลาย แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งในกฎหมายเฉพาะและในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ดังกล่าว ก็ยังไม่สามารถ “ตอบสนอง” ความต้องการของประชาชนที่ประสงค์จะมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของฝ่ายปกครองได้อย่างเต็มที่ ข้อบกพร่องของกฎหมายและระเบียบทำให้การแสดงความเห็นของประชาชนเป็นไปได้อย่างไม่เต็มที่และไม่ได้รับการยอมรับ และในบางกรณีก็นำไปสู่ความขัดแย้งของสังคมด้วย ดังนั้น จึงมีการจัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ขึ้น เพื่อใช้เป็น “เกณฑ์กลาง” ใหม่ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
       การศึกษาถึงแนวความคิดและความเป็นมาของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในบทนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อใหญ่ ๆ คือ การศึกษาแนวความคิดในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีอยู่ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540)
       

       1.1 แนวความคิดในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
       ในประเทศต่าง ๆ ที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศมีที่มาจากประชาชนในประเทศ ดังนั้น การปกครองสังคมเพื่อให้สมาชิกในสังคมอยู่รวมกันโดยปกติสุขจึงต้องถือมติของปวงชนในสังคมเป็นใหญ่ แต่เดิมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นรูปแบบที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม คือ ให้ประชาชนในรัฐสามารถออกเสียงต่อกิจการบ้านเมือง หรือกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยตรง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐเจริญขึ้นและประชาชนในแต่ละรัฐมีจำนวนมากขึ้น การที่จะให้ประชาชนแต่ละคนเข้าไปใช้อำนาจเช่นนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องสถาปนาระบบการมีผู้แทนราษฎรขึ้นเพื่อให้ผู้แทนราษฎรทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนและรับเอาความคิดเห็นของประชาชนไปปฏิบัติโดยการออกเสียงแทนประชาชนในกิจการต่าง ๆ การเลือกผู้แทนที่ตนไว้วางใจและเห็นว่าเหมาะสมที่จะใช้อำนาจแทนตนเข้าไปดำเนินการในการปกครองแทนย่อมสอดคล้องกับความหมายของการปกครองระบบประชาธิปไตยมากที่สุด ระบบประชาธิปไตยโดยมีผู้แทนที่เรียกกันว่า รูปแบบของ ประชาธิปไตยโดยอ้อม หรือโดยผู้แทน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีที่ว่าอำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน โดยผู้แทนเหล่านั้นจะเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ (ตรากฎหมาย) แทนประชาชน
       แต่อย่างไรก็ตาม การให้ผู้แทนราษฎรทำหน้าที่แทนประชาชน จะตั้งอยู่บนหลักสมมติฐานที่ว่าผู้แทนราษฎรซึ่งประชาชนเลือกนั้นเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ตามความเป็นจริงหากพิจารณาทางสังคมวิทยาแล้ว จะพบว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ดี หรือพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดก็ดี ย่อมมีผลประโยชน์ผูกพันกับวิธีการที่ให้ประโยชน์แก่ตนเอง หรือแก่พรรคการเมืองของตน ทำให้การแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยของผู้แทนราษฎรเหล่านั้นไม่ตรงกับเจตนาส่วนรวมของประชาชนได้(1) ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนยังคงเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดอย่างแท้จริง จึงเกิดแนวความคิดในเรื่องประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ( participatory democracy ) ขึ้น ซึ่ง ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หมายถึงการที่อำนาจในการตัดสินใจไม่ควรเป็นของกลุ่มคนจำนวนน้อย แต่อำนาจดังกล่าวควรได้รับการจัดสรรในระหว่างประชาชน เพื่อให้ทุก ๆ คนได้มีโอกาสที่จะมีอิทธิพลต่อกิจกรรมส่วนรวม ซึ่งการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมนั้นสามารถกระทำได้ในหลายรูปแบบและมีระดับขั้นของการมีส่วนร่วมของประชาชนที่แตกต่างกันออกไป โดยสามารถเรียงลำดับการมีส่วนร่วมของประชาชนจากน้อยไปหามากได้ดังนี้ คือ การให้ข้อมูล การเปิดรับความคิดเห็นจากประชาชน การปรึกษาหารือ การวางแผนร่วมกัน การร่วมปฏิบัติ การควบคุมโดยประชาชน
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ถือได้ว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญร่วมกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผลจากการมีส่วนร่วมของประชาชนทำให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่าน ๆ มา โดยมีการรับรองสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคให้กับประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างมาก และนอกจากนี้ ได้มีการบัญญัติเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้ในหลายมาตรา โดยมีรายละเอียดดังนี้ คือ  
       
       


       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       

       
       
ประเภทของการมีส่วนร่วม

       
       
บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
1. การมีส่วนร่วมในการรับรู้
       - สิทธิได้รับทราบข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น (มาตรา 58)  
       - สิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาต หรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้สำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น (มาตรา 59)
2. การมีส่วนร่วมในการให้ความเห็น
       - เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น (มาตรา 39)
       - สิทธิในการเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (มาตรา 59)
3. การมีส่วนร่วมในการริเริ่ม
       - สิทธิในการเสนอกฎหมายของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน (มาตรา 170)
       - สิทธิในการเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น (มาตรา 287)
4. การมีส่วนร่วมในการคิดและ
       ตัดสินใจ

       - สิทธิในการออกเสียงแสดงประชามติ (มาตรา 214) 
       - สิทธิในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 104 กับมาตรา 105) 
       - สิทธิในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (มาตรา 123 กับมาตรา 124)
5. การมีส่วนร่วมในการดำเนินการ
       - สิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือ วัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน (มาตรา 46)  
       - สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (มาตรา 56)
       
       
6. การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ
       - สิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ และได้รับแจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาอันสมควร (มาตรา 61) 
       - สิทธิที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ
       รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นของรัฐ ที่เป็นนิติบุคคลให้รับผิด (มาตรา 62)    

       - สิทธิในการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น (มาตรา 286)   
       - สิทธิในการเสนอให้วุฒิสภาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน (มาตรา 304)

       
       เมื่อพิจารณาถึงประเภทต่าง ๆ ของการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) แล้ว จะพบว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนที่สำคัญประการหนึ่งและได้มีการบัญญัติรับรองไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ก็คือ การมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 59 แห่งรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้ คือในปี พ.ศ.2539 รัฐบาลได้ออก “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539” เพื่อนำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์กลางในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอยู่แล้ว แต่เนื่องจากเกิดปัญหาในการปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวและเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. …. ขึ้น อย่างไรก็ดี การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเกิดปัญหาขึ้นหลายประการและเป็นข้อโต้แย้งที่ยังหาข้อสรุปมิได้ รัฐบาลจึงได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ขึ้น เพื่อนำมาใช้เป็นเกณฑ์กลางในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแทนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับเดิม และนอกจากนี้ในปัจจุบันประชาชนก็ยังอาจมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นได้เนื่องจากมีการบัญญัติเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ในกฎหมายเฉพาะเรื่อง 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 และพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว จึงขอนำเสนอกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีอยู่ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ในบทนี้ ส่วนกระบวนการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 นั้น จะได้ทำการศึกษาในบทต่อ ๆ ไป
       
       1.2 การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีอยู่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540)
       
แนวความคิดเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนถูกนำมาบัญญัติไว้ในกฎหมายเป็นครั้งแรกโดยพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 17 และมาตรา 18 ที่กำหนดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชนิดใด ต่อมาก็ได้บัญญัติถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ในพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 มาตรา 27 ที่กำหนดว่า ก่อนที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางจะกำหนดให้ท้องที่ใดเป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดิน คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางมอบหมายจะต้องรับฟังความคิดเห็นของเจ้าของที่ดินทุกรายในท้องที่นั้นเสียก่อน แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายทั้งสองฉบับข้างต้นก็มิได้กำหนดรูปแบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการในการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. 2518 การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเริ่มมีแนวโน้มที่ชัดเจนขึ้นเมื่อพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ได้กำหนดไว้ในมาตรา 19 และมาตรา 33 ให้สำนักผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในท้องที่ที่จะมีการวางและจัดทำผังเมืองก่อนที่จะมีการวางและจัดทำผังเมืองในท้องที่ดังกล่าว แต่กฎหมายฉบับนี้ก็ยังมิได้กำหนดรูปแบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการในการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน
       กฎหมายทั้ง 3 ฉบับที่กล่าวไปแล้วนับได้ว่าเป็นกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นในเรื่องต่าง ๆ ที่ใช้กันอยู่ก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ดังนั้น เพื่อให้เห็นถึงพัฒนาการของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในประเทศไทย จึงขอนำเสนอสาระสำคัญของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีอยู่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ทั้ง 3 ฉบับ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
       
       1.2.1 พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511(2)
       พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ผลิตขึ้นภายในประเทศไทย โดยก่อนที่จะประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ก็มีผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหลายชนิดที่ผลิตขึ้นได้ภายในประเทศอยู่แล้ว แต่เนื่องจากยังมิได้มีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้เป็นที่แน่นอนและเหมาะสม ทำให้มีการแข่งขันกันลดราคา ด้วยการทำคุณภาพสินค้าให้ต่ำลงเป็นเหตุให้ประชาชนขาดความนิยมเชื่อถือ และยังอาจเกิดอันตรายแก่ประชาชน ตลอดจนก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในการประกอบกิจการอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลเสียแก่เศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐสภาจึงได้ตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือกำหนดมาตรฐานเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อความปลอดภัยหรือเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดแก่ประชาชนหรือแก่กิจการอุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจของประเทศ(3)
       กฎหมายฉบับนี้ได้บัญญัติกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ในมาตรา 17 และมาตรา 18 กล่าวคือ ก่อนที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชนิดใดต้องเป็นไปตามมาตรฐานแล้ว สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชนิดนั้นเสียก่อน กฎหมายฉบับนี้นับได้ว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่ได้กล่าวถึงการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเอาไว้
       
       1.2.1.1 หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
       พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ได้บัญญัติเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดย การรับฟังคำคัดค้าน ไว้ใน มาตรา 17 และมาตรา 18 ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ คือ
       (ก) ก่อนที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชนิดใดต้องเป็นไปตามมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะต้องดำเนินการประกาศโฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยอย่างน้อยหนึ่งฉบับ มีกำหนดไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เพื่อประกาศให้ประชาชนทราบว่าสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมประสงค์จะกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชนิดใดเป็นไปตามมาตรฐาน พร้อมทั้งประกาศให้ทราบว่าประชาชนสามารถดูรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้ ณ สถานที่ใดบ้าง ตลอดจนกำหนดระยะเวลาให้ผู้ที่ประสงค์จะคัดค้านการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวยื่นคำคัดค้านต่อสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับแต่วันประกาศ(4)
       (ข) การดำเนินการภายหลังการประกาศโฆษณา(5) แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
       (ข.1) กรณีไม่มีผู้คัดค้าน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์
       อุตสาหกรรมต้องรายงานให้คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทราบ เพื่อที่คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะได้ดำเนินการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชนิดนั้นต่อไป
       (ข.2) กรณีมีผู้คัดค้าน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์
       อุตสาหกรรมจะต้องเสนอคำคัดค้านดังกล่าวต่อคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจัดให้มีการแถลงคำคัดค้านของผู้คัดค้าน โดยปิดประกาศกำหนดวัน เวลา และสถานที่ฟังคำแถลงคัดค้านไว้ ณ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้คัดค้านทราบ
       (ค) การดำเนินการในวันรับฟังคำแถลงคัดค้าน เมื่อถึงวันที่กำหนดให้มีการแถลงคำคัดค้าน ผู้คัดค้านและบุคคลผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าร่วมในการแถลงคำคัดค้าน โดยผู้คัดค้านมีสิทธิแถลงคำคัดค้าน และบุคคลผู้มีส่วนได้เสียสามารถแสดงความเห็นได้ หากผู้คัดค้านไม่มาในวันดังกล่าว คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมีอำนาจพิจารณาไปตามที่เห็นสมควร
       
       1.2.1.2 ผลของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
       พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ได้บัญญัติถึงผลของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ในมาตรา 18 ว่า หลังจากการรับฟังการแถลงคำคัดค้านแล้ว คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะนำคำแถลงคัดค้านของผู้คัดค้านมาประกอบการพิจารณาว่าจะกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวหรือไม่ แล้วทำคำวินิจฉัย โดยปิดสำเนาคำวินิจฉัยดังกล่าวไว้ ณ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และส่งสำเนาคำวินิจฉัยไปให้ผู้คัดค้านทราบ โดยมาตรา 19 ของกฎหมายฉบับนี้ยังเปิดโอกาสให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการชุดดังกล่าวสามารถอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ภายในระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศสำเนาคำวินิจฉัย ณ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ได้บัญญัติเรื่องศาลปกครองไว้ในมาตรา 276 ถึงมาตรา 280 และต่อมาก็ได้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แล้ว ดังนั้น หากผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก็สามารถใช้สิทธิตามมาตรา 49(6) ของพระราชบัญญัติดังกล่าวได้โดยฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว
       
       1.2.2 พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517(7)
       พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรมของประเทศให้เจริญก้าวหน้าและส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีมาตรฐานการครองชีพสูงขึ้น โดยกำหนดให้มีการดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเสียใหม่เพื่อให้ที่ดินทุกแปลงได้รับประโยชน์จากโครงการชลประทานและการสาธารณูปโภคโดยทั่วถึง และเพื่อให้เกษตรกรได้มีที่ดินของตนเองสำหรับประกอบอาชีพเกษตรกรรมซึ่งจะมีผลช่วยให้ฐานะในทางเศรษฐกิจของประเทศและของเกษตรกรมั่นคงขึ้น(8) กฎหมายฉบับนี้มีบทบัญญัติให้มีการแสดงความคิดเห็นของประชาชนไว้ในมาตรา 27 คือ หากในจังหวัดใดยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตโครงการปฏิรูปที่ดิน เมื่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางเห็นสมควรจัดให้ที่ดินในท้องที่ใดในจังหวัดนั้นเป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดิน คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางมอบหมายจะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินทุกรายในท้องที่นั้นเสียก่อน
       
       1.2.2.1 หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
       
พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 ได้บัญญัติเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยการสอบถามความสมัครใจ ไว้ในมาตรา 27 ว่า ในกรณีที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตโครงการปฏิรูปที่ดินในจังหวัดใด หากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางเห็นสมควรจัดให้ที่ดินในท้องที่ใดในจังหวัดนั้นเป็นเขตโครงการปฏิรูปที่ดิน คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางมอบหมายจะต้องดำเนินการสอบถามความสมัครใจจากเจ้าของที่ดินทุกรายในท้องที่นั้นว่าจะให้ดำเนินการจัดรูปที่ดินหรือไม่ และให้จัดทำบันทึกการยินยอมหรือไม่ยินยอมของเจ้าของที่ดินทุกรายไว้เป็นหลักฐาน
       
       1.2.2.2 ผลของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
       ภายหลังจากที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นโดยการสอบถามความสมัครใจจากเจ้าของที่ดินทุกรายในท้องที่ที่ได้กำหนดไว้ครบถ้วนแล้ว กฎหมายฉบับนี้บัญญัติถึงผลของการรับฟังความคิดเห็นไว้ในมาตรา 28 ว่า หากเจ้าของที่ดินยินยอมให้ดำเนินการจัดรูปที่ดินเกินกึ่งหนึ่งของบรรดาเจ้าของที่ดินทั้งหมด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดท้องที่ที่จะสำรวจเป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดิน
       
       1.2.3 พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518(9)
       พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ได้ถูกตราขึ้นเนื่องจากกฎหมายเดิมคือกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและผังชนบทได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ประกอบกับได้มีการพัฒนาทั้งในด้านเกษตรกรรม พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม และจำนวนประชากรในท้องที่ต่าง ๆ ได้ทวีความหนาแน่นยิ่งขึ้น มาตรการและโครงการที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายเดิมจึงไม่เหมาะสมกับสภาวะในขณะนั้น ด้วยเหตุนี้เองจึงได้ปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวเสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของวิชาผังเมืองและสภาพท้องที่(10) กฎหมายฉบับนี้นับว่าเป็นกฎหมายที่นำกลไกของกฎหมายปกครองมาบัญญัติไว้ เช่น สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่น หรือคณะกรรมการอุทธรณ์(11) แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2517) แก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2518) ได้บัญญัติเรื่องศาลปกครองไว้ในหมวด 8 มาตรา 212 โดยมีสาระสำคัญว่า “ศาลปกครองจะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ” และในขณะนั้นยังมิได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองขึ้น ดังนั้นจึงยังไม่สามารถนำบทบัญญัติมาตรา 70 วรรคสาม ของพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 มาใช้บังคับได้ เนื่องจาก มาตรา 70 วรรคสาม ตอนท้าย กำหนดว่า “ในกรณีที่ยังมิได้มีการจัดตั้งศาลปกครองตามรัฐธรรมนูญ มิให้นำความในวรรคนี้มาใช้บังคับ” แต่ในปัจจุบันประชาชนสามารถใช้สิทธิตามมาตรา 70 วรรคสาม ของพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ได้ เนื่องจากได้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แล้ว ดังนั้น หากประชาชนไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่น หรือคณะกรรมการอุทธรณ์ สามารถใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ นอกจากตัวอย่างข้างต้นแล้ว กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดกลไกควบคุมการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครองไว้อีกด้วย เช่น การกำหนดให้มีคณะที่ปรึกษาผังเมืองรวมเพื่อให้คำปรึกษาและความคิดเห็นเกี่ยวกับผังเมืองรวมที่สำนักผังเมือง หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นวางและจัดทำขึ้น(12) เป็นต้น
       ในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น กฎหมายฉบับนี้นับได้ว่าเป็นกฎหมายที่กล่าวถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้อย่างชัดเจนมากกว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับที่ผ่านมา โดยได้บัญญัติให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยการรับฟังข้อคิดเห็นไว้ 2 กรณี คือ การรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในการวางและจัดผังเมืองรวม ตามมาตรา 19 วรรคสอง(13) และการรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนใน
       การวางและจัดผังเมืองเฉพาะ
ตามมาตรา 33(14) บทบัญญัติทั้ง 2 มาตราข้างต้น สามารถสรุปสาระสำคัญได้ว่า เมื่อสำนักผังเมืองจะวางหรือจัดทำผังเมืองรวมหรือผังเมืองเฉพาะของท้องที่ใด แล้ว สำนักผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี จะต้องจัดให้มีการโฆษณาให้ประชาชนทราบ และจัดการประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในท้องที่ที่จะมีการวางและจัดทำผังเมืองรวมหรือผังเมืองเฉพาะ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการโฆษณา การประชุม และการแสดงข้อคิดเห็นที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติข้างต้น จึงมีการดำเนินการออกกฎกระทรวงตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 มาตรา 19 คือ กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) (15) และมาตรา 33 คือ กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2519) (16) 
       
       1.2.3.1 หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
       หลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยการรับฟังข้อคิดเห็นตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง 2 ฉบับข้างต้น ซึ่งเมื่อพิจารณากฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 มาตรา 33 คือ กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2519) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการโฆษณา การประชุม และการแสดงข้อคิดเห็นของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองเฉพาะว่า ให้นำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโฆษณา การประชุม และการแสดงข้อคิดเห็นของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองรวมตามกฎกระทรวงฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) มาใช้บังคับแก่การโฆษณา การประชุมและการแสดงข้อคิดเห็นของประชาชนในการวางและจัดผังเมืองเฉพาะด้วยโดยอนุโลม ดังนั้น หลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการจัดการรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในการวางและจัดผังเมืองรวมหรือผังเมืองเฉพาะ จึงมีวิธีการดำเนินการเหมือนกัน ซึ่งสามารถสรุปวิธีการในการดำเนินการรับฟังข้อคิดเห็นได้ 2 ขั้นตอน คือ
       (ก) การดำเนินการก่อนการรับฟังข้อคิดเห็น
       
ก่อนที่จะมีการวางและจัดทำผังเมืองในท้องที่ใดกรมการผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี จะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ คือ
       (ก.1) จัดให้มีการโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงที่สามารถรับฟังได้ในท้องที่นั้น และทางหนังสือพิมพ์ภาษาไทยรายวันที่มีจำหน่ายในท้องที่นั้นเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เพื่อให้ประชาชนทราบถึงการที่จะวางและจัดทำผังเมือง โดยการโฆษณาดังกล่าวจะต้องระบุชื่อท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมือง วัน เวลา และสถานที่ที่จะปิดประกาศแสดงรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองไว้(17)
       
(ก.2) จัดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของ
       ประชาชน เพื่อให้ประชาชนในท้องที่ดังกล่าวมีข้อมูลประกอบการแสดงความคิดเห็น นอกจากการโฆษณาตามข้อ (ก.1) แล้ว กรมการผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี จะต้องปิดประกาศแสดงรายการดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ
       (ก.2.1) วัตถุประสงค์ในการวางและจัดทำผังเมือง
       (ก.2.2) แผนที่แสดงเขตท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมือง
       (ก.2.3) แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง และแผนผังอื่นตามที่เห็นสมควร พร้อมทั้งข้อกำหนดประกอบแผนผังนั้นด้วย ซึ่งแผนผังดังกล่าวอาจทำเป็นฉบับเดียวหรือหลายฉบับก็ได้
       (ก.2.4) รายการประกอบแผนผัง
       (ก.2.5) นโยบาย มาตรการ และวิธีดำเนิน
       การเพื่อปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ ในการวางและจัดทำผังเมือง
       (ก.2.6) ข้อความเกี่ยวกับ วัน เวลา และ
       สถานที่ที่จะจัดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมือง รวมทั้งข้อความเชิญชวนให้ประชาชนในท้องที่ดังกล่าวมาแสดงข้อคิดเห็นในการประชุมที่จะจัดให้มีขึ้นด้วย
       (ก.2.7) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแสดงข้อคิดเห็นของประชาชน (18)
       
การประกาศข้างต้น จะต้องปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผยเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจดูได้ ส่วนสถานที่ปิดประกาศนั้น ในกรุงเทพมหานคร ให้ปิดประกาศ ณ กรมการผังเมือง ที่ว่าการเขตหรือที่ทำการแขวงของกรุงเทพมหานคร ส่วนในจังหวัดอื่นให้ปิดประกาศ ณ สำนักงานผังเมืองจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สภาตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล และสาธารณสถานอื่น ๆ ในท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมือง(19)
       (ข) การดำเนินการจัดการประชุมรับฟังข้อคิดเห็น
       
การจัดการรับฟังข้อคิดเห็นนั้น ผู้ดำเนินการจัดการประชุมคือ กรมการผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี โดยจะต้องจัดให้มีการประชุมตามวัน เวลา และสถานที่ที่ระบุไว้ในประกาศตามข้อ (ก.2) และจะต้องจัดการประชุมรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมืองครั้งแรกภายในสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศ หากจะจัดให้มีการประชุมรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในครั้งต่อ ๆ ไป ให้ประธานในที่ประชุมแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าจะมีการประชุมครั้งต่อไป และให้กรมการผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี ดำเนินการปิดประกาศแสดงรายการตามข้อ (ก.2) ที่ได้จัดทำขึ้นภายหลังการประชุมครั้งแรก โดยให้นำวิธีการปิดประกาศ และการจัดประชุมครั้งแรกมาใช้บังคับกับการประชุมครั้งต่อไปด้วย(20)
       
(ข.1) ผู้ดำเนินการจัดการประชุมรับฟังข้อคิดเห็น
       ในการประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนนั้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายเป็นประธานในที่ประชุม หากเป็นการวางและจัดทำผังเมืองในท้องที่คาบเกี่ยวกันตั้งแต่สองจังหวัดขึ้นไป ให้ประธานคณะที่ปรึกษาผังเมืองที่คณะกรรมการผังเมืองแต่งตั้งเป็นประธานที่ประชุม(21)
       (ข.2) ผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุมและแสดงข้อคิดเห็น ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้ คือ
       (ข.2.1) เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมืองหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารดังกล่าว
       (ข.2.2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกสภาตำบล หรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล กรรมการสุขาภิบาล และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่น แห่งท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมือง(22)
       (ข.2.3) คณะที่ปรึกษาผังเมืองแห่งท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมือง(23)
       
(ข.2.4) บุคคลซึ่งกรมการผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี มีหนังสือเชิญ ซึ่งอาจจะเป็นผู้แทนสมาคม องค์การ หรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน และบุคคลหรือคณะบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น(24)
       (ข.3) วิธีการแสดงข้อคิดเห็น การแสดงข้อคิดเห็นสามารถกระทำได้ 2 วิธี คือ
       (ข.3.1) การแสดงข้อคิดเห็นด้วยวาจา การแสดงข้อคิดเห็นวิธีนี้สามารถกระทำได้ในวันประชุมเท่านั้น
       (ข.3.2) การแสดงข้อคิดเห็นเป็นหนังสือ
       เป็นการแสดงข้อคิดเห็นอีกวิธีหนึ่งซึ่งสามารถกระทำได้ทั้งก่อนการประชุม ระหว่างการประชุม และภายหลังการประชุม แต่มีข้อจำกัดว่าหากจะแสดงข้อคิดเห็นภายหลังการประชุม จะต้องกระทำก่อนที่กรมการผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี เสนอผังเมืองที่จะวางและจัดทำนั้นต่อคณะกรรมการผังเมือง(25) นอกจากนี้ ในกรณีที่บุคคลตามข้อ (ข.2.1) ประสงค์จะแสดงข้อคิดเห็นเป็นหนังสือ หนังสือแสดงข้อคิดเห็นดังกล่าวอย่างน้อยจะต้องแสดงรายการดังต่อไปนี้ คือ
       (ข.3.2.1) ชื่อ ที่อยู่ อาชีพ และลายมือชื่อของผู้แสดงข้อคิดเห็น ในกรณีที่เป็นการแสดงข้อคิดเห็นแทนผู้อื่น จะต้องแนบใบมอบฉันทะที่ให้แสดงข้อคิดเห็นแทนด้วย
       (ข.3.2.2) ระบุหลักฐานแสดงฐานะการเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดิน หรืออาคารซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมือง
       (ข.3.3.3) ระบุเรื่องอันเป็นผลกระทบต่อสิทธิของตนเองหรือประโยชน์ของส่วนรวมที่เกิดหรืออาจจะเกิดจากการจะวางและจัดทำผังเมืองพร้อมทั้งเหตุผล(26)
       
       1.2.3.2 ผลของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
       กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง ข้อ 12 ได้กำหนดถึงผลของการรับฟังข้อคิดเห็นไว้ว่า ให้ผู้ดำเนินการจัดประชุม ซึ่งก็คือกรมการผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี นำข้อคิดเห็นของผู้มีสิทธิแสดงข้อคิดเห็นและของคณะที่ปรึกษาผังเมืองไปประกอบการพิจารณาวางและจัดทำผังเมืองหรือทบทวนผังเมืองที่ได้วางและจัดทำขึ้นไว้แล้วก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการผังเมืองพิจารณา
       

       แม้กฎหมาย 3 ฉบับข้างต้น คือ พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 และ พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 จะนำเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาบัญญัติไว้ และก่อให้เกิดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในประเทศไทยมากว่า 30 ปีแล้วก็ตาม แต่กฎหมายทั้ง 3 ฉบับก็ไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเท่าใดนัก ประกอบกับในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายปกครองดำเนินการจัดให้มีโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญและก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก จึงมีเสียงเรียกร้องให้ฝ่ายปกครองเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นต่อโครงการสำคัญเหล่านั้น ในปี พ.ศ. 2539 รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้จัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ขึ้นเพื่อกำหนดรูปแบบ วิธีการ และหลักเกณฑ์ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ ในเวลาต่อมาระเบียบฉบับนี้จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์เรื่อยมาจนกระทั่งในปี พ.ศ.2548 ก็ได้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 มาใช้บังคับแทนที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับเดิม จึงอาจกล่าวได้ว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 เป็น “หลักเกณฑ์” แรกของประเทศไทยที่กำหนดรูปแบบและขั้นตอนในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้อย่างชัดเจน ดังจะได้ทำการนำเสนอในบทต่อไป
       
       เชิงอรรถ
        
       (1) นันทวัฒน์ บรมานันท์, “รัฐธรรมนูญกับการออกเสียงแสดงประชามติ” วารสารกฎหมาย ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 (มกราคม 2542) : หน้า 160.
       (2) ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 85 ตอนที่ 121 (วันที่ 31 ธันวาคม 2511).
       (3) เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511.
       (4) พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 17.
       (5) พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 18.
       (6) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
       “มาตรา 49 บัญญัติว่า การฟ้องคดีปกครองจะต้องยื่นฟ้องภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีเหตุผล แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะมีบทกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น”
       (7) ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 1 ตอนที่ 155 (ฉบับพิเศษ) (วันที่ 18 กันยายน 2517).
       (8) เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517.
       (9) ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 92 ตอนที่ 33 (วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2518).
       (10) เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518.
       (11) พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 มาตรา 70 วรรคสาม.
       (12) พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 มาตรา 21 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535.
       (13) พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535.
       “มาตรา 19 บัญญัติว่า เมื่อสำนักผังเมืองจะวางหรือจัดทำผังเมืองรวมของท้องที่ใด ให้สำนักผังเมืองแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นของท้องที่นั้นทราบ และให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นนั้นมาแสดงความคิดเห็นต่อสำนักผังเมืองด้วย
       ในการวางและจัดทำผังเมืองรวมใด ให้สำนักผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี จัดให้มีการโฆษณาให้ประชาชนทราบ แล้วจัดการประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้งเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในท้องที่ที่จะมีการวางและจัดทำผังเมืองรวมนั้น ในการรับฟังข้อคิดเห็นนี้จะกำหนดเฉพาะให้ผู้แทนของประชาชนเข้าร่วมประชุมตามความเหมาะสมก็ได้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโฆษณา การประชุม และการแสดงข้อคิดเห็นให้กำหนดโดยกฎกระทรวง”.
       (14) พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518
       “มาตรา 33 บัญญัติว่า ในการวางแผนและจัดทำผังเมืองเฉพาะใด ให้สำนักผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี จัดให้มีการโฆษณาให้ประชาชนทราบ แล้วจัดการประชุมไม่น้อยกว่าสองครั้ง เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในท้องที่ที่จะมีการวางและจัดทำผังเมืองเฉพาะนั้น ในการรับฟังข้อคิดเห็นนี้ จะกำหนดเฉพาะให้ผู้แทนของประชาชนเข้าร่วมการประชุมตามความเหมาะสมก็ได้ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการโฆษณาการประชุม และการแสดงข้อคิดเห็นให้กำหนดโดยกฎกระทรวง”.
       (15) กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 114 ตอนที่ 22 (วันที่ 20 มิถุนายน 2540).
       (16) กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2519) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 93 ตอนที่ 104 (วันที่ 24 สิงหาคม 2519).
       (17) กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ข้อ 2.
       (18) กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ข้อ 3.
       (19) กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ข้อ 4.
       (20) กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ข้อ 5.
       (21) กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ข้อ 9.
       (22) กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ข้อ 7.
       (23) กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ข้อ 9.
       (24) กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ข้อ 6.
       (25) กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ข้อ 10.
       (26) กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ข้อ 11.

1 | 2
หน้าถัดไป

 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544