ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court)กับปัญหาในการเข้าเป็นภาคีของไทย โดย นายเกรียงศักดิ์ แจ้งสว่าง |
|
|
|
นายเกรียงศักดิ์ แจ้งสว่าง
นบ. นม. (ธรรมศาสตร์ : กฎหมายระหว่างประเทศ)
นิติกร กลุ่มงานพัฒนากฎหมาย สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
|
|
13 พฤศจิกายน 2548 22:25 น. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court : ICC) มีสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศ (International Organization) ที่ถือกำเนิดขึ้นโดยธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๒ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดทางอาญาระหว่างประเทศมาลงโทษ (No impunity) ด้วยความร่วมมือกันของประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามรับรอง (Authentication) ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศดังกล่าวแล้ว หากแต่ยังมิได้ดำเนินการให้สัตยาบันเพื่อผูกพันเป็นภาคีอย่างเป็นทางการ
บทความนี้จึงได้นำเสนอถึงหลักการสำคัญของศาลอาญาระหว่างประเทศ ตลอดจนท่าทีและปัญหาในการเข้าเป็นภาคีธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศของไทย ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานตามภารกิจของวุฒิสภาในการให้ความเห็นชอบในกรณีที่จะมีการให้สัตยาบันแก่ธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศตามความในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๒๔ในโอกาสต่อไป โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ข้อ ๑ อาชญากรรมในเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ
๑.๑. ศาลอาญาระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาคดีเฉพาะปัจเจกบุคคลกระทำความผิดไม่ใช่การกระทำของรัฐ อาชญากรรมที่อยู่ในเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ได้แก่ อาชญากรรมร้ายแรงที่สุดที่สังคมระหว่างประเทศได้กำหนดห้ามไว้ และเกิดขึ้นภายหลังวันที่ ๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๒ เป็นต้นไป อันได้แก่
(๑) การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide)
คำนิยามของความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตามธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) เป็นไปตามข้อ ๒ ของ Convention on the Prevention and Punishment of Crimes of Genocide ค.ศ. ๑๙๔๘ หมายถึง การกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างทั้งหมดหรือบางส่วนของกลุ่มชนชาติ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือกลุ่มทางศาสนา
(๒) อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ (Crimes Against Humanity) โดยที่ในข้อ ๗ แห่งธรรมนูญการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศบัญญัติว่า ความผิดฐานอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ หมายถึง การกระทำใด ๆ ที่เมื่อกระทำในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีอย่างกว้างขวาง หรืออย่างเป็นระบบที่มีเป้าหมายโดยตรงต่อประชาชนพลเรือน และโดยรู้ถึงการกระทำนั้น เช่น การฆาตกรรม การทำลายล้าง การเนรเทศ หรือการบังคับพลเรือนให้โยกย้าย การทรมานหรือข่มขืนกระชำเรา เป็นต้น
(๓) อาชญากรรมสงคราม(War Crimes)
ความผิดฐานอาชญากรรมสงคราม ได้แก่ การกระทำความผิดทั้งในสถานการณ์หรือความขัดแย้งด้วยอาวุธอันมีลักษณะระหว่างประเทศ (International armed conflict) และสถานการณ์ความขัดแย้งด้วยอาวุธอันไม่มีลักษณะระหว่างประเทศ (Civil War) โดยอาชญากรรมสงครามภายใต้ข้อ ๘ แห่งธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ หมายถึง ผู้ที่มีส่วนร่วมในการวางแผนหรือนโยบายในลักษณะที่เป็นการกระทำที่ส่งผลต่อกองกำลังทหารหรือพลเรือนจำนวนมาก (Large scale) ในระหว่างการรบ เช่น การปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมต่อเชลยศึก การใช้แก็สพิษ การโจมตีเป้าหมายพลเรือน เป็นต้น
(๔) การรุกราน (Aggression)
ความผิดฐานการรุกรานนั้น แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่จะคัดค้านการรวมความผิดฐานนี้ไว้ในเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาที่ไม่ต้องการให้มีความผิดฐานนี้ขึ้นเพราะเกรงว่าอาจเกี่ยวโยงกับทหารของตนที่ส่งไปปฏิบัติงานอยู่ทั่วโลก ทั้งในนามของประเทศและกองกำลังผสมภายใต้องค์การระหว่างประเทศ แต่ในที่สุดความผิดฐานนี้ก็ได้รับการระบุไว้ในข้อ ๕ ของธรรมนูญก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่ประเด็นปัญหาในการให้คำนิยามของ การรุกราน นั้น ยังมีการโต้แย้งกันอย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ตาม จากเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ต่างก็ตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐาน ๓ ประการดังต่อไปนี้ ได้แก่
(๑) หลักการไม่มีผลย้อนหลังของความผิด (Non - retroactivity of the Statute) กล่าวคือ ศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจเฉพาะกับอาชญากรรมซึ่งกระทำขึ้นหลังจากที่ธรรมนูญศาลมีผลใช้บังคับแล้วเท่านั้น
(๒) หลักการไม่ปล่อยให้ผู้กระทำความผิดลอยนวล (No to impunity) เพราะหลายต่อหลายเหตุการณ์ที่ผู้กระทำความผิดต่อมวลมนุษยชาติไม่ได้รับการลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในหลายประเทศในทวีปแอฟริกา หรือการเข่นฆ่าประชาชนในภาวะความขัดแย้งทางการเมือง เป็นต้น ศาลอาญาระหว่างประเทศจึงถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อลดปัญหาช่องว่างของกฎหมายที่จะเข้าไปจัดการในกรณีดังกล่าว
(๓) หลักการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Trials must be fair) เดิมนั้นประชาคมระหว่างประเทศจะตั้งศาลเฉพาะกิจ (ad-hoc) ขึ้นจัดการกับผู้กระทำความผิดไม่ว่าจะเป็นกรณีของอดีตประเทศยูโกสลาเวีย (International Criminal Tribunal for the Former Yugoslavia : ICTY) หรือกรณีของประเทศรวันด้า (International Criminal Tribunal for Rwanda : ICTR) แต่การกระทำดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดการป้องกันความขัดแย้งได้อย่างแท้จริง จึงเกิดแนวความคิดในการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศที่ถาวรขึ้น
๑.๒. เงื่อนไขในการพิจารณาคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศ
ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ได้กำหนดเงื่อนไขในการที่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะพิจารณาคดี ในเบื้องต้น คือ การให้สัตยาบันแก่ธรรมนูญศาล เพราะเมื่อรัฐใดให้สัตยาบันก็เท่ากับว่ารัฐนั้นตกลงยอมรับเขตอำนาจศาลในคดีอาชญากรรมที่ระบุไว้ในธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขอื่น ๆ อีก เช่น คู่กรณีที่เกี่ยวข้องฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐคู่สัญญา ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้มีสัญชาติของรัฐคู่สัญญา อาชญากรรมได้กระทำบนดินแดนของรัฐคู่สัญญา เป็นต้น นอกจากนี้รัฐที่ไม่ใช่รัฐคู่สัญญาอาจตกลงยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศในคดีอาชญากรรมที่กระทำบนดินแดนของตน หรือโดยคนสัญชาติตนก็ได้
อย่างไรก็ดี ศาลอาญาระหว่างประเทศจะเริ่มพิจารณาคดีได้ต่อเมื่อรัฐคู่สัญญาเสนอคดีต่ออัยการ (Prosecutor) หรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติ เสนอคดีต่ออัยการ หรืออัยการริเริ่มการสอบสวนคดีตามที่กำหนดในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งในขณะนี้แม้ประเทศสหรัฐอเมริกาจะได้ลงนามในสนธิสัญญาเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๐๐ ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน แล้วก็ตาม แต่ยังมิได้มีการให้สัตยาบัน ทั้งยังมีหนังสือถึงเลขาธิการใหญ่ของศาลอาญาระหว่างประเทศด้วยว่า สหรัฐอเมริกามิได้มีเจตจำนงที่จะเป็นคู่สัญญาในสนธิสัญญา ดังนั้น สหรัฐอเมริกาจึงไม่มีพันธะตามกฎหมายใด ๆ อันเกิดขึ้นจากการลงนามของตนเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๐๐ เท่ากับว่าสหรัฐอเมริกายังไม่ยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศนั่นเอง ส่วนสหราชอาณาจักร รวมทั้งไอร์แลนด์เหนือได้ลงนามเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๘ และให้สัตยาบันเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๑
ข้อ ๒ แนวนโยบายของไทยและปัญหาในการเข้าเป็นภาคี
๒.๑ แนวนโยบายของไทยในการเข้าเป็นภาคี
สำหรับประเทศไทยนั้น โดยในคราวประชุมครั้งแรกที่จัดขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๙๘ ที่องค์การสหประชาชาติได้จัดการประชุมทางการทูตของผู้แทนผู้มีอำนาจเต็ม เพื่อจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ (United Nations Diplomatic Conference of Plenipotentiaries on the Establishment of an International Criminal Court) ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๑๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๘ ไทยได้ลงคะแนนรับรองธรรมนูญศาล และต่อมาได้ลงนามรับรอง (Sign) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๐ ในสมัยรัฐบาลชุดที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีต่อมาในวันที่ ๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๒ ธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศได้เริ่มมีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการเมื่อประเทศต่าง ๆ ได้ให้สัตยาบันครบ ๖๐ ประเทศ
การที่ประเทศไทยได้ลงนามรับรองธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ในทางกฎหมายระหว่างประเทศนั้น ไทยยังไม่มีพันธะกรณีใด ๆ ที่จะต้องปฏิบัติตามข้อบทต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยมีเพียงพันธกรณีทางด้านศีลธรรมที่แสดงว่าประเทศไทยสนับสนุนหลักการในธรรมนูญกรุงโรม และจะไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางต่อการดำเนินงานของศาลอาญาระหว่างประเทศเท่านั้น ซึ่งนับตั้งแต่ไทยได้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมเป็นต้นมา ไทยยังประสบปัญหาบางประการที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในหลายประเด็นถึงปัญหาในการเข้าเป็นภาคีในธรรมนูญดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นกรณีของพระราชอำนาจในการทำสงครามของพระมหากษัตริย์ กรณีฆ่าตัดตอนในระหว่างการทำสงครามปราบปรามยาเสพติดตามนโยบายของรัฐบาล การทำความตกลงทวิภาคีระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาในการไม่ส่งมอบตัวคนชาติให้แก่ศาลอาญาระหว่างประเทศตามข้อ ๙๘ (๒) (Agreement regarding the Surrender of Persons to the International Criminal Court) และล่าสุดปัญหากรณีการสังหารหมู่หรือการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบในมัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี
๒.๒ ปัญหาในการเข้าเป็นภาคีของไทย
ประเทศไทยนับเป็นประเทศแรก ๆ ที่ได้ลงนามรับรองธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่จนถึงปัจจุบันไทยยังไม่มีท่าทีที่จะดำเนินการให้สัตยาบัน (Ratify) อย่างจริงจัง โดยจากคำถามที่มีการวิพากษ์ วิจารณ์กันในประเด็นที่จะให้สัตยาบันกันอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ โดยมีข้อสังเกตในแต่ละประเด็นปัญหา ดังนี้
(๑) กรณีพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการประกาศสงครามจะตกอยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศหรือไม่
เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๒๓ บัญญัติว่า
พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงครามเมื่อได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
มติให้ความเห็นชอบของรัฐสภาต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
กรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ของไทยมิได้เป็นผู้บัญชาการในการทำสงครามอย่างแท้จริง หรือมิได้ลงมาปฏิบัติการด้วยตนเองทางกายภาพในการสงคราม เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับอำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ หากพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับข้อ ๒๗ ของธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศที่กำหนดให้มีการบังคับใช้ธรรมนูญนี้อย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งในฐานะประมุขของรัฐหรือไม่ก็ตาม ด้วยเหตุผลดังกล่าว พระมหากษัตริย์ของไทยจึงไม่ตกอยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ
(๒) ปัญหากรณีฆ่าตัดตอนตามนโยบายในการปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลจะตกอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศหรือไม่
ตามธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้บัญญัติไว้ในข้อ ๑๑ เกี่ยวกับเงื่อนเวลาสำหรับเขตอำนาจศาล ไว้ว่า
๑. ศาลมีเขตอำนาจเฉพาะกับอาชญากรรมซึ่งกระทำขึ้นหลังจากที่ธรรมนูญศาลนี้มีผลใช้บังคับ
๒. หากรัฐใดเข้าเป็นภาคีธรรมนูญศาลนี้ หลังจากที่ธรรมนูญศาลมีผลใช้บังคับ ศาลอาจใช้เขตอำนาจของตนเฉพาะกับอาชญากรรมที่กระทำขึ้นหลังจากที่ธรรมนูญศาลนี้มีผลใช้บังคับสำหรับรัฐนั้น...
จากบทบัญญัติดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า กรณีของการกระทำในการปราบปรามยาเสพติดของฝ่ายรัฐบาลนั้น หากภายหลังไทยได้ให้สัตยาบันเพื่อผูกพันเป็นภาคีต่อศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น ไทยก็ไม่ต้องรับผิดในกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ เพราะว่าไทยยังมิได้เป็นภาคีกับธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ และเนื่องจากหลักกฎหมายสำคัญของศาลอาญาระหว่างประเทศ คือธรรมนูญศาลไม่มีผลใช้บังคับย้อนหลังอันเป็นหลักการสำคัญที่ทำให้กรณีปัญหาดังกล่าวไม่ตกอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ
(๓) กรณีการทำความตกลงทวิภาคีระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ในการไม่ส่งมอบตัวคนชาติให้กับศาลอาญาระหว่างประเทศตามข้อ ๙๘ (๒) ของธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ ขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่
สำหรับการทำความตกลงทวิภาคีระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ค.ศ. ๒๐๐๓ ในการไม่ส่งมอบตัวคนชาติของสหรัฐอเมริกาไม่ว่ากรณีใดให้แก่ศาลอาญาระหว่างประเทศ ตามข้อ ๙๘ (๒) ของธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของไทยนั้นขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับสนธิสัญญา (Treaty) เนื่องจากอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๙ (Vienna Convention on the Law of Treaties) ข้อ ๑๘ ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามมิให้รัฐใดที่ลงนามเพื่อยอมรับข้อตกลงใดก่อนให้สัตยาบัน กระทำการใดอันเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของสนธิสัญญา และเมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของความตกลงระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาที่มีเจตนารมณ์มิให้มีการส่งตัวคนชาติของสหรัฐไปสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศแล้วนั้นก็เห็นได้ว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของการก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศอย่างชัดเจน
(๔) กรณีการสังหารหมู่หรือการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบในมัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๐๐๔ หรือเหตุการณ์ความรุนแรงในกรณีตากใบที่ผ่านมา จะตกอยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศหรือไม่
ปัญหาข้อนี้อาจตอบได้เช่นเดียวกับปัญหาในกรณีข้อ (๒) ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ด้วยเหตุผลสำคัญจากหลักการไม่ลงโทษย้อนหลังของธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศแก่รัฐที่เข้าเป็นภาคีในภายหลังตามข้อ ๑๑ (Non-retroactivity of the Statute) นั่นเอง
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|