คดีเลือกตั้ง ตอน 1 ใบเหลือง ใบแดง โดยคุณ จรูญ ศรีสุขใส |
|
|
|
คุณ จรูญ ศรีสุขใส
นิติศาสตร์มหาบัณฑิต(กฎหมายมหาชน) ม.ธรรมศาสตร์. |
|
|
|
|
|
|
|
|
ใบเหลือง - ใบแดง ที่นำมาใช้กับการเลือกตั้งทุกวันนี้ มีมาตั้งแต่สมัยเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งแรกเมื่อปี 2543 เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นว่า การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมไม่ว่าจะเป็นการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งเองหรือผู้อื่นเป็นผู้กระทำ ก็จะมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ปรากฏว่าในการเลือกตั้งครั้งใหม่ การเลือกตั้งก็มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมและผู้สมัครที่เคยได้รับการเลือกตั้งในครั้งก่อนก็มาได้รับการเลือกตั้งอีก กกต.ก็เลยไปออกกฎ ประกาศเป็นระเบียบออกมาว่า ผู้สมัครที่กกต.มิได้ประกาศผลให้เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งมาแล้วถึงสองครั้งเป็นผู้ถูกตัดสิทธิมิให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ผู้สมัครที่กกต.ไม่ประกาศผลการเลือกตั้งครั้งที่ 1 เรียกว่า โดนใบเหลือง ยังคงเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 แต่ถ้าในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ผู้สมัครนั้นยังคงชนะการเลือกตั้งอีกแต่ กกต.ไม่ประกาศผลการเลือกตั้ง เนื่องจากเห็นว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ในการเลือกตั้งครั้งที่ 3 ผู้สมัครคนนี้ก็จะถูกตัดสิทธิจากการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเรียกว่า โดนใบแดง เหมือนการให้ใบเหลือง - ใบแดงในสนามฟุตบอล จนเมื่อต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าระเบียบของกกต.ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่มีผลบังคับใช้ภายหลังจากเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้มีการแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ ให้อำนาจกกต.เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นเหตุให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม ซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครนั้นด้วย เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ มาผู้ได้รับใบแดง จึงหมายถึง ผู้สมัครที่กกต.เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งย่อมหมดสิทธิที่จะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ส่วนใบเหลือง ก็มีความหมายเหมือนเดิม คือ กกต.เห็นว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยผู้สมัครเดิมทุกคนยังคงเป็นผู้สมัครในการเลือกตั้งครั้งใหม่
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯได้กำหนดกรณีที่กกต.จะสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ 4 กรณีด้วยกันคือ กรณีที่หนึ่ง ตามมาตรา 85/1 ที่กำหนดว่า ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้ากกต.มีหลักฐานว่าผู้สมัครกระทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุนรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำ หรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วไม่ระงับการกระทำนั้น ถ้าการกระทำนั้นน่าจะมีผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมให้กกต.สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครนั้นเป็นเวลาหนึ่งปี และถ้ามีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหลังวันเลือกตั้ง และผู้สมัครนั้นเป็นผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตที่ได้คะแนนเลือกตั้งมากที่สุด ให้กกต.สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ กรณีที่สอง ตามมาตรา 85/7 ที่บัญญัติว่า "เมื่อได้มีการนับคะแนนเลือกตั้งแล้ว ถ้าปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในเขตเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมกกต.จะงดประกาศผลการเลือกตั้ง และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในเขตเลือกตั้งนั้นก็ได้" ซึ่งเป็นกรณีที่กกต.ไม่ประกาศผลการเลือกตั้งและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ กรณีที่สาม ตามมาตรา 85/9 ที่กำหนดว่า ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าก่อนได้รับเลือกตั้งส.ส.ผู้ใดกระทำการโดยไม่สุจริต เพื่อให้ตนเองได้รับเลือกตั้งหรือได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริตกกต.จะสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของส.ส.ผู้นั้น มีกำหนดหนึ่งปีก็ได้ แต่ต้องสั่งภายในหนึ่งปีนับแต่ประกาศผลการเลือกตั้ง เมื่อถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแล้ว ก็ย่อมพ้นจากสมาชิกภาพของส.ส.กกต.ก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ กรณีที่สี่ ตามมาตรา 95(1) ซึ่งเป็นกรณีคัดค้านการเลือกตั้ง ถ้ากกต.เห็นว่ากรณีที่มีการคัดค้านการเลือกตั้งนั้นทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม กกต.มีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้
ในการเลือกตั้งใหม่ทั้งสี่กรณีนี้กกต.มีอำนาจที่จะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือให้ใบแดงผู้สมัครหรือส.ส.ได้ทุกกรณีถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อว่า ผู้สมัครหรือส.ส.ผู้นั้นได้กระทำการโดยไม่สุจริตเพื่อให้ตนได้รับการเลือกตั้ง แต่การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งนี้ มีระยะเวลาบังคับไว้ว่า จะต้องกระทำภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่ประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งต่างกับการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในการคัดค้านการเลือกตั้งตามกรณีที่สี่ ซึ่งกกต.มีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้เสมอ โดยไม่มีเงื่อนเวลาบังคับไว้เหมือนการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีปัญหาที่น่าพิจารณาว่า เมื่อกกต.ได้ประกาศผลการเลือกตั้งส.ส.เขตใดไปแล้ว ต่อมาภายหลังจะสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งนั้น โดยไม่สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของส.ส.เขตนั้นได้หรือไม่ เมื่อพิจารณาอำนาจของกกต.ในการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ทั้งสี่กรณีที่กล่าวมาข้างต้นแล้วจะเห็นว่า เมื่อกกต.ได้ประกาศผลการเลือกตั้งของเขตเลือกตั้งใดไปแล้วจะสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่จะต้องมีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของส.ส.เขตเลือกตั้งนั้นเสียก่อน ตามมาตรา 85/9 การจะสั่งเลือกตั้งใหม่โดยไม่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของส.ส.เขตเลือกตั้งนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาฯไม่ได้ให้กกต.มีอำนาจเช่นนั้น โดยพิจารณาได้จากบทบัญญัติมาตรา 85/2 ที่ให้อำนาจกกต.แต่งตั้งข้าราชการอัยการหรือข้าราชการอื่นตามาจำนวนที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือกกต.ในการดำเนินการตรวจสอบสำนวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้การสืบสวนสอบสวนเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว โดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารงานบุคคล หรือผู้บังคับบัญชาของข้าราชการดังกล่าว และบทบัญญัติในมาตรา 85/7 ที่ให้อำนาจ กกต. ไม่ประกาศผลการเลือกตั้งและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะจัดเลือกตั้งใหม่กี่ครั้งก็ได้ เหตุผลของการมีบทบัญญัติทั้งสองมาตรานี้ก็เพื่อให้กกต.มีอำนาจและมีเวลาจัดการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรมเป็นที่แน่ใจได้ว่า เมื่อได้ประกาศผลการเลือกตั้งไปแล้ว ย่อมแสดงว่าผู้ที่ได้รับเลือกตั้งได้ผ่านการเลือกตั้งมาโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ถ้าจะให้มีการเลือกตั้งใหม่ก็ควรเป็นกรณีที่ส.ส.ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้กระทำผิดและต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 85/9 เท่านั้น ไม่ควรที่จะให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยไม่ปรากฏว่า ส.ส.ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้กระทำผิด และก็ยังคงเป็นผู้สมัครในการเลือกตั้งครั้งใหม่ด้วย ทั้งนี้เว้นแต่จะเป็นกรณีคัดค้านการเลือกตั้งตามมาตรา 95(1) ซึ่งมีหลักเกณฑ์ของการคัดค้านการเลือกตั้งกำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่า ต้องมีผู้ยื่นคัคด้านภายใน 30 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง ผู้คัดค้านต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง การสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของส.ส.ตามมาตรา 85/9 แล้วสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้น เป็นการเลือกตั้งใหม่หรือเป็นการเลือกตั้งซ่อม เพราะสมาชิกภาพของส.ส.เขตเลือกตั้งนั้นสิ้นสุดลงเนื่องจากถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามคำสั่งของกกต. แต่ถ้ากกต.จะสั่งเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งใดภายหลังประกาศผลการเลือกตั้งไปแล้ว โดยไม่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของส.ส.เขตเลือกตั้งนั้น มีปัญหาว่าสมาชิกภาพของส.ส.เขตเลือกตั้งนั้นสิ้นสุดลงหรือยัง เพราะเหตุใด ซึ่งกรณีต่างกับการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะเหตุคัดค้านการเลือกตั้งซึ่งมาตรา 96 กำหนดให้สมาชิกภาพของส.ส.เขตเลือกตั้งนั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่กกต.มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่อย่างไรก็ตามการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ตามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นกรณีที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯวางหลักเกณฑ์ให้อำนาจกกต. แต่กกต.จะสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจกกต.ไว้ (มาตรา 145 (4)) โดยใช้อำนาจนอกเหนือไปจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ดังกล่าวได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาและถ้ากกต.ใช้อำนาจดังว่านี้ก็จะมีคำถามว่า กกต.สามารถสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือสั่งให้นับคะแนนใหม่ได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งใช่หรือไม่ เพราะเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่างกับกรณีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจกกต.ไว้ แต่เป็นการอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ
การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครส.ส.และส.ว.หรือผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.หรือส.ว.แล้ว กฎหมายบังคับว่าก่อนที่กกต.จะให้ใบแดงแก่บุคคลดังกล่าวให้แจ้งความเห็นพร้อมสำนวนการสืบสวนสอบสวนไปให้คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วย ประธานกรรมการกฤษฎีกาทุกคณะพิจารณาให้ความเห็นด้วย หากคณะกรรมการมีความเห็นต่างไปจากกกต. กกต.จะมีคำวินิจฉัยตามความเห็นเดิมก็ได้ แต่ต้องแสดงเหตุผลและประกาศคำวินิจฉัยในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 85/3) มติของกกต.ในการสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือสั่งให้เลือกตั้งใหม่นี้ต้องเป็นเอกฉันท์ ซึ่งไม่จำเป็นว่า ต้องได้รับความเห็นชอบของกกต.ทั้ง 5 คน เพียงแต่ต้องได้รับความเห็นชอบของกกต.ทุกคนที่เข้าประชุม และการประชุมของกกต.กฎหมายกำหนดองค์ประชุมไว้ 4 คน ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่โดนใบแดงมาตรา 113/1 กำหนดว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาลงโทษแล้ว ให้ศาลมีคำพิพากษาว่าผู้นั้นต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งใหม่ด้วย
ใบเหลือง - ใบแดง นอกจากจะมีไว้ลงโทษผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่ไม่สุจริตในการเลือกตั้งส.ส. และ ส.ว.แล้ว ในการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับก็มีการให้ใบเหลือ-ใบแดง แก่ผู้สมัครเช่นเดียวกันและใช้หลักการเดียวกัน แต่การให้ใบเหลือง-ใบแดง ในการเลือกตั้งทั้งสองประเภทก็มีความแตกต่างกันอยู่บางประการ ดังนี้
1. ในการเลือกตั้งท้องถิ่น กกต.มีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครได้ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง (มาตรา 96) และเมื่อได้ประกาศผลการเลือกตั้งไปแล้ว กกต.มีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ แต่ต้องสั่งภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง (มาตรา 97) ในขณะที่การเลือกตั้งส.ส. และ ส.ว. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. หรือ ส.ว.ฯ ให้อำนาจกกต.สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครได้ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง (มาตรา 85/1) และภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศผล (มาตรา 85/9) แต่มิได้ให้อำนาจกกต.สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง เว้นแต่จะเป็นกรณีคัดค้านการเลือกตั้งตามมาตรา 95 ซึ่งให้อำนาจกกต.สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยไม่จำกัดว่าจะต้องสั่งภายในหนึ่งปีนับแต่ประกาศผลการเลือกตั้ง
2. พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นฯได้กำหนดหลักเกณฑ์การสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) ไว้เข้มงวดกว่าการเลือกตั้งส.ส. หรือ ส.ว. โดยกกต.จะสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้เฉพาะกรณีที่ผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้กระทำความผิดเอง หรือก่อให้ผู้อื่นกระทำสนับสนุน รู้เห็นเป็นใจให้ผู้อื่นกระทำ หรือรู้ว่ามีการกระทำผิดแล้วไม่ดำเนินการระงับการกระทำนั้น หรือเป็นกรณีที่การกระทำผิดนั้นเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สมัครชนะการเลือกตั้ง
3. ผู้ที่โดนใบแดงในการเลือกตั้งท้องถิ่น แม้จะมีเวลาต้องห้ามใช้สิทธิเลือกตั้งอยู่ 1 ปี เท่ากับผู้สมัครส.ส. หรือ ส.ว. ที่โดนใบแดง แต่กกต.ไม่ต้องแจ้งความเห็นและส่งสำนวนการสืบสวนสอบสวนไปให้คณะกรรมการฯพิจารณาเหมือนส.ส. หรือ ส.ว. ที่กกต.จะให้ใบแดง
4. ผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่นที่โดนใบแดงต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งใหม่เหมือน ส.ส. หรือ ส.ว. ที่โดนใบแดง แต่ชดใช้ตามจำนวนที่กกต.กำหนด (มาตรา 99) ในขณะที่ส.ส. หรือ ส.ว. ที่โดนใบแดง ต้องชดใช้ตามคำพิพากษาของศาลและศาลต้องมีคำพิพากษาให้ลงโทษด้วย (มาตรา 113/1)
5. ผู้สมัคร ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งไม่ยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งภายในกำหนด กกต.ไม่มีอำนาจเพิกถอนผลการเลือกตั้งและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ถ้าผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้งแล้วไม่ยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งภายในกำหนดเวลา กฎหมายให้ กกต.สั่งเพิกถอนผลการเลือกตั้งของผู้ได้รับเลือกตั้งนั้น และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ (มาตรา 56)
การที่กฎหมายกำหนดวิธีปฏิบัติและหลักเกณฑ์ไว้ต่างกันเช่นนี้จะถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติได้หรือไม่ เพราะมีข้อเท็จจริงอย่างเดียวกัน แต่ได้รับการปฏิบัติแตกต่างกัน คือได้รับใบแดงจากกกต.เหมือนกัน ถ้าเป็นผู้สมัครส.ส. หรือ ส.ว. ต้องให้คณะกรรมการฯทบทวนความเห็นกกต.และต้องให้ศาลมีคำพิพากษาว่ามีความผิดและให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่ถ้าเป็นผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ต้องมีการทบทวนความเห็นของกกต. และให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งใหม่ตามที่กกต.กำหนด โดยไม่ต้องให้ศาลมีคำพิพากษาว่ามีความผิดแต่อย่างใด.
------------------------------------------------------------
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|