หน้าแรก บทความสาระ
ข้อบังคับพรรคทางเลือกที่สาม โดย ศาสาตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์
ศาสาตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์
20 มกราคม 2548 17:26 น.
 
สารบัญ
       
       ข้อบังคับพรรคทางเลือกที่สาม
       
       ความเบื้องต้น (ชื่อข้อบังคับ / วันใช้บังคับ / คำนิยาม)
       หมวดที่ ๑ บททั่วไป ข้อ ๓-๙
       หมวดที่ ๒ สมาชิก และชมรมอาสาสมัคร ข้อ ๑๐–๒๑
       หมวดที่ ๓ องค์กรบริหารพรรค
        ส่วนที่ ๑ ที่ประชุมใหญ่สมาชิก ข้อ ๒๒–๒๗
        ส่วนที่ ๒ คณะกรรมการบริหาร ข้อ ๒๘–๓๕
        ส่วนที่ ๓ ที่ประชุมพิเศษ (ที่ประชุม ส.ส.พรรค /
        ที่ประชุมร่วมคณะกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.พรรค) ข้อ ๓๖–๓๗
       หมวดที่ ๔ การบริหารกิจการพรรค และการจัดตั้งสาขาพรรค
        ส่วนที่ ๑ คณะกรรมการดำเนินกิจการพรรค และเจ้าหน้าที่พรรค ข้อ ๓๘–๕๐
        ส่วนที่ ๒ สำนักงานใหญ่และศูนย์ประสานงานพรรค ข้อ ๕๑–๕๕
        ส่วนที่ ๓ สาขาพรรคและการบริหารสาขาพรรค ข้อ ๕๖–๖๕
       หมวดที่ ๕ การบริหารการเงิน ทรัพย์สินและการจัดทำบัญชี ข้อ ๖๖–๗๙
       หมวดที่ ๖ การคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
        ส่วนที่ ๑ การคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง ข้อ ๘๐–๘๑
        ส่วนที่ ๒ การคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้อ ๘๒
       หมวดที่ ๗ วินัยและจรรยาบรรณ ข้อ ๘๓–๘๗
       หมวดที่ ๘ การเปลี่ยนแปลงนโยบายพรรคและการแก้ไขข้อบังคับ ข้อ ๘๘–๙๐
       หมวดที่ ๙ การเลิก และยุบพรรค ข้อ ๙๑–๙๔
       หมวดสุดท้าย การตีความ และบทเฉพาะกาล ข้อ ๙๕–๙๙
       
       เอกสารแนบท้ายข้อบังคับ : นโยบาย“พรรคทางเลือกที่สาม”
       
       ข้อบังคับพรรคทางเลือกที่สาม พ.ศ.๒๕๔๗
       
        ข้อ ๑ ข้อบังคับพรรคนี้ เรียกว่า“ข้อบังคับพรรคทางเลือกที่สาม พ.ศ.๒๕๔๗“
       
        ข้อ ๒ ให้ใช้บังคับพรรคนี้ ตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งการตอบรับจากนายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นต้นไป
       
        ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
        “พรรค” หมายถึง พรรคทางเลือกที่สาม
        “ข้อบังคับ” หมายถึง ข้อบังคับพรรคทางเลือกที่สาม
        “สมาชิก” หมายถึง สมาชิกพรรคทางเลือกที่สาม
        “คณะกรรมการบริหาร” หมายถึง คณะกรรมการบริหารพรรคทางเลือกที่สาม
        “กรรมการบริหาร” หมายถึง กรรมการบริหารพรรคทางเลือกที่สาม
        “คณะกรรมการดำเนินกิจการพรรค” หมายถึง คณะกรรมการดำเนินกิจการพรรคทางเลือกที่สาม
        “สำนักงานใหญ่” หมายถึง สำนักงานใหญ่พรรคทางเลือกที่สาม
        “สาขาพรรค” หมายถึง สาขาพรรคทางเลือกที่สาม
        “คณะกรรมการสาขาพรรค” หมายถึง คณะกรรมการสาขาพรรคทางเลือกที่สาม
        “กรรมการสาขาพรรค” หมายถึง กรรมการสาขาพรรคทางเลือกที่สาม
        “นายทะเบียนพรรคการเมือง” หมายถึง นายทะเบียนพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
       
       หมวดที่ ๑
       บททั่วไป
       
        ข้อ ๔ พรรคการเมืองที่ใช้ข้อบังคับพรรคนี้ ให้เรียกว่า “พรรคทางเลือกที่สาม” เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “Third Alternative Party” ให้ใช้ชื่อย่อภาษาไทยว่า “พลส.” และชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า “TAP.”
        ข้อ ๕ เครื่องหมายพรรคมีลักษณะเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญอยู่ในรัศมีดาวเป็นวงกลมซ้อนอยู่บนรูปแผนที่ประเทศไทย โดยตอนล่างของรูปจะมีคำว่า“พรรคทางเลือกที่สาม” และคำขวัญว่า“การปฏิรูปการเมือง” ดังภาพข้างล่างนี้
        ข้อ ๖ สำนักงานใหญ่พรรค ตั้งอยู่ ณ………………………………………….
        ข้อ ๗ ในกรณีที่พรรคจัดตั้งสาขาพรรคขึ้น ให้ใช้ชื่อพรรคประกอบกับชื่อท้องที่ที่สาขาพรรคตั้งอยู่ เป็นชื่อสาขาพรรค เช่น พรรคทางเลือกที่สาม สาขา(ชื่อท้องที่)
        ข้อ ๘ นโยบายของพรรค เป็น“อุดมการณ์”ที่สมาชิกของพรรคทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในหมวดที่ ๙ ว่าด้วยการเลิกและยุบพรรค
        นโยบายของพรรคเป็นไปตามที่ได้จดทะเบียนไว้ต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง และได้แนบไว้ท้ายข้อบังคับนี้
        นโยบายของพรรค อาจสรุปในสาระสำคัญได้ 3 ประการดังนี้
        (๑) พรรคยึดมั่นในระบอบการปกครองเสรีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเคารพประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย
        (๒) จะดำเนินการปฏิรูปการเมือง โดยมีหลักการและวิธีการตามที่กำหนดไว้ในนโยบายของพรรคที่ได้จดทะเบียนไว้ต่อนายทะเบียน
        (๓) จะดำเนินการปฏิรูประบบบริหารราชการ โดยมุ่งขจัดหรือทำให้ลดน้อยลงซึ่งการทุจริตคอรัปชั่นและการบิดเบือนการใช้อำนาจรัฐเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวโดยมิชอบ ด้วยการกำหนดให้การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเป็นไปโดยโปร่งใส โดยมีหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้แน่ชัดเป็นตัวบทกฎหมาย(พระราชบัญญัติ) และมิให้ขึ้นอยู่กับมติของคณะรัฐมนตรีหรือการสั่งการของรัฐมนตรีที่ไม่มีขอบเขตที่แน่ชัด
        ข้อ ๙ เพื่อให้เป็นไปตามนัยมาตรา ๑๑(๑๓) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ พรรคทางเลือกที่สามจะสนับสนุน ปลูกฝัง และให้ความรู้ทางการเมือง แก่สมาชิก ชมรมอาสาสมัคร และประชาชนทั่วไป เพื่อให้ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตลอดจนให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบบริหารราชการ ที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของการมีรัฐธรรมนูญที่ดีและกฎหมาย(พระราชบัญญัติ)ที่ดี ที่เหมาะสมกับสภาพสังคมและการดำเนินชีวิตประจำวันของคนไทย
       
       หมวดที่ ๒
       สมาชิก และชมรมอาสาสมัคร
       
        ข้อ ๑๐ ฐานประชาชนของพรรค มีอยู่ ๒ ส่วน คือ (๑) สมาชิกพรรค และ (๒) ชมรมอาสาสมัครพรรค
        สมาชิก ได้แก่ บุคคลที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่เข้าเป็นสมาชิกพรรค โดยมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมายและตามข้อบังคับนี้
        ชมรมอาสาสมัครพรรค ได้แก่ บุคคลที่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ของพรรคและสนับสนุนพรรค และได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิกของชมรมอาสาสมัครพรรค
       
        ข้อ ๑๑ สมาชิก แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
        (๑) สมาชิกสามัญ
        (๒) สมาชิกกิตติมศักดิ์
        ข้อ ๑๒ สมาชิกสามัญ ได้แก่ ผู้ที่
        (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
        (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ในวันที่ยื่นใบสมัครสมาชิก
        (๓) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
        (๔) ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
        (๕) ไม่เป็นบุคคลต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือคำสั่งที่โดยชอบด้วยกฎหมาย
        (๖) ไม่เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
        (๗) ไม่เคยกระทำความผิดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เว้นแต่ความผิดฐานลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดเกี่ยวกับเรื่องการเมืองแต่ถ้ามีเหตุผลจำเป็นเป็นกรณีพิเศษ พรรคอาจพิจารณารับผู้ขาดคุณสมบัติตามข้อนี้ให้เป็นสมาชิกสามัญ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคก็ได้
        (๘) ไม่อยู่ในระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และ
        (๙) ไม่มีลักษณะอื่นที่ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ
        ข้อ ๑๓ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ที่มีคุณสมบัติข้อ ๑๒ และเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติหรือเป็นผู้มีอุปการะคุณต่อพรรค ซึ่งคณะกรรมการบริหารโดยมติเอกฉันท์ เชิญให้เข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์และผู้นั้นตอบรับเชิญ
        ให้ประกาศรายชื่อของสมาชิกกิตติมศักดิ์ไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานใหญ่ของพรรค
        ข้อ ๑๔ การเข้าเป็นสมาชิกสามัญ ให้ผู้สมัครยื่นใบสมัครตามแบบพิมพ์ของพรรค โดยมีสมาชิกรับรองอย่างน้อยสองคน พร้อมทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านที่รับรองสำเนาถูกต้อง โดยยื่นต่อเลขาธิการ ณ สำนักงานใหญ่ หรือต่อประธานสาขาพรรค ณ ที่ทำการสาขาพรรค และเมื่อเลขาธิการหรือประธานสาขาพรรคได้พิจารณา
       คุณสมบัติ หลักฐาน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสมัครเข้าเป็นสมาชิกตามระเบียบของคณะกรรมการบริหารแล้ว ให้นำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการดำเนินกิจการพรรค เพื่อพิจารณาอนุมัติ
        เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว ให้แจ้งให้ผู้สมัครทราบ และจดแจ้งชื่อ อาชีพ และที่อยู่ไว้ในทะเบียนสมาชิก พร้อมทั้งออกบัตรประจำตัวสมาชิกให้สมาชิกไว้เป็นหลักฐาน
        ในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสาขาต่างจังหวัด คณะกรรมการดำเนินกิจการพรรคอาจมอบหมายให้คณะกรรมการซึ่งมีประธานสาขาพรรคเป็นประธานและกรรมการอื่นของสาขามีจำนวนอย่างน้อย 3 คนพิจารณาอนุมัติแทนได้ และเมื่ออนุมัติแล้ว ให้แจ้งให้สำนักงานใหญ่ทราบ
        ทะเบียนสมาชิกให้เก็บรักษาไว้ ณ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ พร้อมที่จะให้นายทะเบียนพรรคการเมืองหรือผู้ชึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองมอบหมายตรวจสอบได้ และให้สาขาพรรคแต่ละสาขา จัดให้มีทะเบียนสมาชิกในสาขาของตนด้วย
        การเป็นสมาชิกจะมีผลสมบูรณ์เมื่อได้รับความเห็นชอบและจดชื่อขึ้นทะเบียนที่สำนักงานใหญ่พรรคหรือสำนักงานสาขาพรรคแล้ว
        ข้อ ๑๕ สมาชิกสามัญต้องเสียค่าธรรมเนียมการสมัครและค่าบำรุงตามที่คณะกรรมการบริหารพรรคกำหนด
        ข้อ ๑๖ สมาชิกมีสิทธิ
        (๑) เสนอแนะนโยบาย และเสนอความคิดเห็นต่อพรรค
        (๒) เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของพรรคและเข้าประชุมชี้แจงแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมของพรรคตามที่กำหนดในข้อบังคับ
        (๓) ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหาร กรรมการสาขาพรรค ตลอดจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการ คณะทำงาน หรือคณะอนุกรรมการต่างๆ ของพรรค
        (๔) ได้รับคัดเลือกเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพรรค
        (๕) ขอรับความช่วยเหลือจากพรรคเมื่อได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากเหตุไม่เป็นธรรม
        ข้อ ๑๗ สมาชิกมีหน้าที่
        (๑) เคารพและปฏิบัติตามนโยบายพรรค ข้อบังคับพรรค มติที่ประชุมใหญ่ มติคณะกรรมการบริหาร ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งพรรค แล้วแต่กรณี
        (๒) ปฏิบัติตามวินัยและจรรยาบรรณ ตามที่กำหนดไว้ในหมวดที่ ๗
        (๓) รักษาชื่อเสียงและเกียรติภูมิของพรรค โดยไม่ปฏิบัติไปในทางที่จะนำความเสียหายมาสู่พรรค และไม่ทำตนให้เป็นที่เสียหายหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรค
        (๔) สนับสนุน ส่งเสริมและเผยแพร่นโยบายและอุดมการณ์พรรค ตลอดจนช่วยเหลือในกิจกรรมของพรรค
        (๕) สนับสนุนผู้รับสมัครรับเลือกตั้งของพรรคในทุกระดับ
        ข้อ ๑๘ ตามนัยแห่งมาตรา ๑๑(๘) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ พรรคจะรับผิดชอบต่อสมาชิก ดังต่อไปนี้
        (๑) ส่งเสริมและให้ความเป็นธรรมแก่สมาชิกในกรอบแห่งกฎหมาย
        (๒) ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของสมาชิกและประชาชนทั่วไปในกิจกรรมทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ
        (๓) เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับพรรคและกิจกรรมทางการเมืองของพรรคให้สมาชิกและประชาชนทั่วไปทราบ
        (๔) สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกในด้านวิชาชีพ
        (๕) พิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระดับต่างๆ
        ข้อ ๑๙ สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อ
        (๑) ตาย
        (๒) ลาออก
        (๓) ขาดคุณสมบัติ ตามข้อบังคับพรรค
        (๔) พรรคมีมติให้ออกตาม ข้อ ๒๐ ยกเว้นสมาชิกกิตติมศักดิ์
        (๕) พรรคเลิกหรือยุบ
        ข้อ ๒๐ การสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกโดยมติของพรรค ตามข้อ ๑๙ (๔) ให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการบริหาร แต่ถ้าสมาชิกผู้นั้นดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรด้วย มติให้ออกต้องเป็นมติของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคโดยการลงคะแนนลับ และมติดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนคณะกรรมการบริหารและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรครวมกัน
        สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดนับแต่วันที่คณะกรรมการบริหารหรือที่ประชุมร่วมกันตามวรรคหนึ่งมีมติ เว้นแต่สมาชิกจะได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญตามกฎหมาย
        ข้อ ๒๑ ชมรมอาสาสมัครพรรค แยกเป็นชมรมอาสาสมัครเยาวชน และชมรมอาสาสมัครทั่วไป
        การรับสมัครสมาชิกชมรม การบริหารชมรม และการดำเนินกิจกรรมของชมรม ตลอดจนสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกชมรม ให้เป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการบริหาร
       
       หมวดที่ ๓
       องค์กรบริหารพรรค
       
       ส่วนที่ ๑
       ที่ประชุมใหญ่สมาชิก
       
        ข้อ ๒๒ การประชุมใหญ่ มีสองประเภท คือ
        (๑) การประชุมใหญ่สามัญ หมายถึง การประชุมที่คณะกรรมการบริหารพรรคจะต้องจัดให้มีขึ้นเป็นประจำปีละครั้ง
        (๒) การประชุมใหญ่วิสามัญ หมายถึง การประชุมที่คณะกรรมการบริหารเรียกประชุมนอกเหนือจากการประชุมใหญ่ตาม (๑) หรือเมื่อกรรมการบริหารจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของกรรมการบริหารเท่าที่มีอยู่จริงในขณะนั้น ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการบริหารโดยผ่านหัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการพรรคให้เรียกประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาญัตติเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เสนอ ในกรณีนี้คณะกรรมการบริหารจะต้องเรียกประชุมใหญ่ภายในเวลาไม่เกินหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่ดังกล่าว
        คณะกรรมการบริหารเป็นผู้กำหนดวัน เวลา สถานที่และระเบียบวาระการประชุมใหญ่
        ข้อ ๒๓ การนัดประชุมใหญ่ หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารที่หัวหน้าพรรคมอบหมายจะต้องมีหนังสือแจ้งให้สมาชิกซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประชุมใหญ่ทราบเป็นการล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันพร้อมด้วยระเบียบวาระการประชุม
        ข้อ ๒๔ ผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ ประกอบด้วย
        (๑) คณะกรรมการบริหาร
        (๒) สมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค
        (๓) ประธานสาขาพรรค หรือผู้แทนสาขาพรรคตามที่คณะกรรมการสาขาพรรคกำหนด สาขาละไม่เกิน 2 คน
        (๔) ผู้แทนสมาชิกตามจำนวนและหลักเกณฑ์การคัดเลือกที่คณะกรรมการบริหารพรรคกำหนด
        ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารพรรคยังไม่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตาม(๔) ให้ผู้มีสิทธิเข้าประชุมตาม (๑) (๒) และ(๓) เป็นองค์ประกอบของที่ประชุมใหญ่
        ข้อ ๒๕ การประชุมใหญ่ ต้องมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่เท่าที่มีอยู่จริงในขณะนั้น จึงจะครบองค์ประชุม
        มติของที่ประชุมใหญ่ให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่ข้อบังคับพรรคจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ผู้เข้าร่วมประชุมคนหนึ่งมีสิทธิลงคะแนนเสียงหนึ่งคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคะแนนเป็นเสียงชี้ขาด และในกรณีที่ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ดำรงตำแหน่งหลายฐานะในคราวเดียวกัน ให้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้เพียงเสียงเดียว
        คณะกรรมการบริหารพรรคอาจเชิญบุคคลอื่นหรือที่ปรึกษาพรรคเข้าร่วมสังเกตการณ์และแสดงความคิดเห็นต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่ได้ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
        ข้อ ๒๖ ในการประชุมใหญ่ ให้หัวหน้าพรรคเป็นประธาน ถ้าหัวหน้าพรรคไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองหัวหน้าพรรคคนใดคนหนึ่งเป็นประธาน และในกรณีที่ทั้งหัวหน้าพรรคและรองหัวหน้าพรรคไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการบริหารพรรคที่มาประชุมเลือกกรรมการบริหารคนใดคนหนึ่งเป็นประธาน ทั้งนี้เว้นแต่จะมีมติของคณะกรรมการบริหารให้เชิญสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมใหญ่คนใดคนหนึ่งเป็นประธานในการประชุม
        ในการประชุมใหญ่ ให้เลขาธิการพรรคหรือผู้ที่เลขาธิการพรรคมอบหมายเป็นเลขานุการที่ประชุม ในกรณีที่ทั้งเลขาธิการพรรคและผู้ที่เลขาธิการพรรคมอบหมายไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการบริหารที่มาประชุม เลือกกรรมการบริหารคนใดคนหนึ่งเป็นเลขานุการที่ประชุม
        เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้สำหรับเริ่มการประชุมใหญ่แล้วหนึ่งชั่วโมง ถ้าจำนวนผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุมยังเข้าประชุมไม่ครบองค์ประชุมตามข้อ ๒๕ ให้เลื่อนการประชุมออกไป และคณะกรรมการบริหารต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่อีกครั้งภายในเวลาไม่เกินสามสิบวัน แต่ไม่เร็วกว่าสิบห้าวัน นับแต่วันนัดประชุมดังกล่าว
        ในการประชุมใหญ่ที่เลื่อนมานี้ มีผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประชุมเท่าใดก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม และให้พิจารณาเฉพาะระเบียบวาระที่กำหนดไว้ในการประชุมใหญ่ครั้งก่อนที่ต้องเลื่อนมาเท่านั้น
        ข้อ ๒๗ การดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ของพรรค ให้กระทำโดยที่ประชุมใหญ่
        (๑) การเปลี่ยนแปลงนโยบายพรรค
        (๒) การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค
        (๓) การเลือกตั้งหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค รองเลขาธิการพรรค เหรัญญิกพรรค โฆษกพรรค และกรรมการบริหารอื่น
        (๔) การอนุมัติงบการเงินประจำปีของพรรค
        (๕) การอื่นตามที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายอื่น หรือนายทะเบียนกำหนด
        (๖) การอื่นตามที่กำหนดในข้อบังคับหรือตามที่คณะกรรมการบริหารมีมติกำหนดเป็นคราวๆ ไป
       
       ส่วนที่ ๒
       คณะกรรมการบริหาร
       
        ข้อ ๒๘ คณะกรรมการบริหารมีจำนวนไม่เกินกว่า 40 (สี่สิบ)คน และไม่น้อยกว่า 25 (ยี่สิบห้า)คน ประกอบด้วย หัวหน้าพรรคหนึ่งคน รองหัวหน้าพรรคไม่เกินห้าคน เลขาธิการพรรค รองเลขาธิการพรรคไม่เกินห้าคน เหรัญญิกพรรคหนึ่งคน โฆษกพรรคหนึ่งคน และกรรมการอื่นซึ่งเลือกตั้งโดยที่ประชุมใหญ่
        กรรมการบริหารต้องเป็นสมาชิกที่มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ และในการเสนอชื่อเพื่อการเลือกตั้งในที่ประชุมใหญ่ ให้มีผู้รับรองไม่น้อยกว่าสิบคน
        ให้หัวหน้าพรรคเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร รองหัวหน้าพรรคที่หัวหน้าพรรคกำหนดเป็นรองประธานคณะกรรมการบริหาร และให้เลขาธิการพรรคเป็นเลขานุการคณะกรรมการบริหาร โดยเลขาธิการพรรคพรรคอาจแต่งตั้งให้รองเลขาธิการพรรคคนใดคนหนึ่งเป็นรองเลขานุการคณะกรรมการบริหารก็ได้
        นอกจากหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในวรรคสาม ให้กรรมการบริหารตำแหน่งต่างๆ มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการพรรคตามที่กำหนดไว้ในส่วนที่ ๑ ของ หมวด ๔
        ข้อ ๒๙ คณะกรรมการบริหารมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปีนับแต่วันเลือกตั้ง
        ในกรณีที่ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารไม่ครบจำนวนตามข้อ ๒๘ วรรคหนึ่ง แล้วต่อมามีการเลือกตั้งกรรมการบริหารเพิ่ม ให้กรรมการบริหารที่ได้รับการเลือกตั้งเพิ่มอยู่ในตำแหน่งตามวาระที่เหลืออยู่ของคณะกรรมการบริหารที่ตนได้รับเลือกตั้งเข้าไปเพิ่ม
        ข้อ ๓๐ ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการบริหารว่างลงและยังมิได้มีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้คณะกรรมการบริหารพรรค ประกอบด้วย กรรมการบริหารเท่าที่มีอยู่จริงในขณะนั้น
        ข้อ ๓๑ กรรมการบริหารทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
        (๑) ครบวาระ
        (๒) หัวหน้าพรรคพ้นจากตำแหน่ง
        (๓) กรรมการบริหารว่างลงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารทั้งหมด
        เมื่อคณะกรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้เรียกประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คณะกรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่ง และในกรณีคณะกรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง (2) ให้รองหัวหน้าพรรคซึ่งเป็นรองประธานคณะกรรมการบริหารในขณะนั้น รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าพรรคไปพลางก่อน
        ข้อ ๓๒ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งเฉพาะตัวเมื่อ
        (๑) ตาย
        (๒) ลาออก
        (๓) พ้นจากการเป็นสมาชิกภาพของพรรค
        (๔) ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของผู้เข้าร่วมประชุมใหญ่และออกเสียงลงคะแนน
        หากตำแหน่งหัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการพรรคว่างลง ให้เรียกประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งแทนภายในเก้าสิบวัน และในกรณีที่คณะกรรมการบริหารจะหมด วาระลงภายในเก้าสิบวันดังกล่าว ที่ประชุมใหญ่จะเลือกคณะกรรมการบริหารทั้งคณะในคราวเดียวกันก็ได้
        หากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคหรือรองเลขาธิการพรรคหรือเหรัญญิกพรรคหรือโฆษกพรรคว่างลง หัวหน้าพรรคอาจแต่งตั้งกรรมการบริหารคนใดคนหนึ่งให้รักษาการแทนตำแหน่งที่ว่างลงไปพลางก่อนได้ และเมื่อมีการประชุมใหญ่เมื่อใด ให้มีการเลือกตั้งกรรมการบริหารในตำแหน่งที่ว่างลงนั้นทันที
        ให้กรรมการบริหารที่ได้รับเลือกตั้งแทน อยู่ในตำแหน่งตามวาระที่เหลืออยู่ของคณะกรรมการบริหารที่ตนแทน
        ข้อ ๓๓ ให้หัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการพรรค เป็นผู้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหาร หรือเมื่อกรรมการบริหารจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของคณะกรรมการบริหารเท่าที่มีอยู่จริงในขณะนั้นมีหนังสือร้องขอให้เรียกประชุม ให้หัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการพรรคเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารภายในสิบห้าวันนับแต่ได้รับหนังสือ
        ข้อ ๓๔ ให้คณะกรรมการบริหารประชุมอย่างน้อยสามเดือนต่อครั้ง และในการประชุมคณะกรรมการบริหาร ต้องมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของคณะกรรมการบริหารเท่าที่มีอยู่จริงในขณะนั้น จึงจะครบเป็นองค์ประชุม
        ให้หัวหน้าพรรคเป็นประธานที่ประชุม ถ้าหัวหน้าพรรคไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานคณะกรรมการบริหารทำหน้าที่ประธาน ถ้าไม่มีรองประธานคณะกรรมการบริหารหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการบริหารคนใดคนหนึ่งเป็นประธานที่ประชุม
        มติคณะกรรมการบริหารให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่ข้อบังคับจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ระเบียบการประชุมอย่างอื่น ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการบริหารกำหนด
        ข้อ ๓๕ คณะกรรมการบริหารพรรคมีอำนาจหน้าที่
        (๑) กำหนดนโยบายเพื่อการปฏิบัติการและรับผิดชอบในการดำเนินกิจการทางการเมืองของพรรค เพื่อทำให้นโยบายอันเป็นอุดมการณ์ของพรรคที่จดทะเบียนไว้ตามกฎหมาย สัมฤทธิ์ผลตามความมุ่งหมาย
        (๒) รับผิดชอบและดำเนินกิจการในการบริหารพรรค ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ มติที่ประชุมใหญ่ ตลอดจนจัดและกำหนดวัน เวลา สถานที่ และระเบียบวาระในการประชุมใหญ่
        (๓) รับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารการเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคและสาขาพรรค พร้อมทั้งจัดให้มีการทำบัญชีตามข้อบังคับ
        (๔) รายงานการดำเนินกิจการของพรรคและรายงานการใช้จ่ายเงินของพรรคที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการการเลือกตั้งในรอบปีที่ผ่านมา ต่อที่ประชุมใหญ่
        (๕) สรรหาหรือคัดเลือกสมาชิกเพื่อส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคทุกระดับ ตลอดจนพิจารณาและกำหนดตัวบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง
        (๖) กำกับดูแลและให้คำปรึกษาแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่นของพรรค
        (๗) ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งคณะกรรมการสาขาพรรค และกำกับการบริหารงานของสาขาพรรคให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบและนโยบายพรรค
        (๘) แต่งตั้งหรือให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งที่ปรึกษาอาวุโส ที่ปรึกษาพรรค ตลอดจนแต่งตั้งหรือให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งคณะกรรมการประจำ คณะกรรมการเฉพาะกิจ คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานของพรรค
        (๙) ออกระเบียบและคำสั่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการในสำนักงานใหญ่พรรค ศูนย์ประสานงานพรรค และสำนักงานสาขาพรรค ตลอดจนกำหนดขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ ของพรรคและอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พรรค ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและข้อบังคับนี้
       
       ส่วนที่ 3 ที่ประชุมพิเศษ
       
        ข้อ ๓๖ ให้มีการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเป็นประจำ เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการบริหารงานของรัฐบาล ตลอดจนปรึกษาหารือหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคในสภาและในกิจกรรมต่างๆ ของพรรคที่เกี่ยวกับการบริหารของรัฐบาล
        ในระหว่างสมัยประชุม ให้มีการประชุมกันโดยปกติสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง และให้หัวหน้าพรรคเป็นผู้เรียกประชุมและกำหนดระเบียบวาระการประชุม
        ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค ให้หัวหน้าพรรคเป็นประธานที่ประชุม ถ้าหัวหน้าพรรคไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองหัวหน้าพรรคคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ถ้าทั้งหัวหน้าพรรคและรองหัวหน้าพรรคไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคคนหนึ่งเป็นประธานที่ประชุม
        ให้เลขาธิการพรรคหรือรองเลขาธิการพรรคที่เลขาธิการพรรคมอบหมาย ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของที่ประชุม
        การประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม ระเบียบการประชุมอย่างอื่น ให้เป็นไปตามที่หัวหน้าพรรคกำหนด
        ในกรณีที่พรรคมีรัฐมนตรีจากบุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค ให้รัฐมนตรีดังกล่าวเข้าร่วมประชุมตามข้อนี้ด้วยเว้นแต่หัวหน้าพรรคจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
        ข้อ ๓๗ ให้มีการประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค มีอำนาจหน้าที่พิจารณาการสิ้นสุดของสมาชิกภาพของสมาชิกตามมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่ข้อบังคับนี้กำหนด ตลอดจนเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการดำเนินการในกิจกรรมทางการเมืองของพรรค
        ให้หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้เรียกประชุมและกำหนดระเบียบวาระการประชุม และให้นำข้อ ๓๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
       
       หมวดที่ ๔
       การบริหารกิจการพรรค และการจัดตั้งสาขา
       
       ส่วนที่ ๑
       คณะกรรมการดำเนินกิจการพรรคและเจ้าหน้าที่พรรค
       
        ข้อ ๓๘ ให้มีคณะกรรมการดำเนินกิจการพรรค มีจำนวนไม่เกิน 11 คน ประกอบด้วย
        (๑) หัวหน้าพรรค เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินกิจการพรรค
        (๒) รองหัวหน้าพรรคซึ่งเป็นรองประธานคณะกรรมการบริหาร เป็นรองประธานคณะกรรมการดำเนินกิจการพรรค
        (๓) เลขาธิการพรรค เป็นเลขานุการคณะกรรมการดำเนินกิจการพรรค
        (๔) เหรัญญิกพรรค เป็นกรรมการ และ
        (๕) กรรมการอื่นซึ่งคณะกรรมการบริหารแต่งตั้งอีกไม่เกินเจ็ดคนเป็นกรรมการ
        ข้อ ๓๙ คณะกรรมการดำเนินกิจการพรรคทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่ง
        ข้อ ๔๐ กรรมการดำเนินกิจการพรรคสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ
        (๑) ตาย
        (๒) ลาออก
        (๓) พ้นจากตำแหน่งกรรมการบริหาร สำหรับกรรมการที่เป็นกรรมการบริหาร
        (๔) คณะกรรมการบริหารมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการบริหารทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ สำหรับกรรมการอื่น
        เมื่อตำแหน่งในคณะกรรมการดำเนินกิจการพรรคว่างลง ให้คณะกรรมการบริหารแต่งตั้งกรรมการแทนโดยมิชักช้า
        ข้อ ๔๑ การประชุมคณะกรรมการดำเนินกิจการพรรค ต้องมีผู้เข้าประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
        ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินกิจการพรรค ถ้าประธานไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการทำหน้าที่ประธานแทน ถ้ารองประธานคณะกรรมการไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการดำเนินกิจการพรรคคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่ประธาน
        ให้นำข้อบังคับในส่วนที่ว่าด้วยการประชุมคณะกรรมการบริหาร มาใช้บังคับโดยอนุโลม
        ข้อ ๔๒ ภายในกรอบที่คณะกรรมการบริหารกำหนด ให้คณะกรรมการดำเนินกิจการพรรคมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
        (๑) รับผิดชอบงานบริหารทั่วไปของพรรค
        (๒) พิจารณาการอนุมัติการเข้าเป็นสมาชิกสามัญของพรรค ตามข้อ ๑๔ วรรคหนึ่ง
        (๓) ประสานงานกับสมาชิก
        (๔) กำหนดแผนพัฒนาสาขาพรรค
        (๕) กำหนดแนวทางและแผนดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการคัดเลือกบุคคลลงรับสมัครเลือกตั้ง
        (๖) กำหนดแนวทางและวางระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานของพรรค
        (๗) วางระเบียบว่าด้วยการบริหารเงินและทรัพย์สินของพรรค
        (๘) วางระเบียบเกี่ยวกับการแต่งตั้ง ถอดถอน การให้ความดีความชอบ และการลงโทษวินัยของเจ้าหน้าที่ของพรรคที่ไม่ใช่กรรมการบริหารตามมาตรา ๔๓ (๒)
       
        (๙) อำนวยการและดำเนินงานต่างๆ เพื่อความเรียบร้อยและเจริญก้าวหน้าของพรรค
        (๑๐) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการบริหารมอบหมาย
        ข้อ ๔๓ เจ้าหน้าที่พรรคที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการของพรรค ได้แก่
        (๑) เจ้าหน้าที่ที่เป็นกรรมการบริหาร คือ ตำแหน่งหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค รองเลขาธิการพรรค เหรัญญิก และโฆษกพรรค
        (๒) เจ้าหน้าที่อื่น ที่หัวหน้าพรรคกำหนดตำแหน่งและแต่งตั้งขึ้นตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยการปรึกษาหารือเกี่ยวกับคณะกรรมการดำเนินกิจการพรรค เช่น ตำแหน่งผู้อำนวยการพรรค ผู้ช่วยเหรัญญิก รองโฆษก และเลขานุการหัวหน้าพรรค เป็นต้น
        ในกรณีที่หัวหน้าพรรคกำหนดตำแหน่งตาม (๒) ให้หัวหน้าพรรครายงานให้คณะกรรมการบริหารทราบ
        ข้อ ๔๔ หัวหน้าพรรคและรองหัวหน้าพรรค มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
        (ก) หัวหน้าพรรค
        (๑) เป็นผู้แทนพรรคในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก
        (๒) กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารงานพรรค
        (๓) บริหารงานพรรคตามที่ที่ประชุมใหญ่หรือคณะกรรมการบริหารมอบหมาย
        (๔) สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับงานของพรรค
        (๕) แต่งตั้งและถอดถอนที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค
        (๖) แต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่อื่นตามข้อ ๔๓(๒)
        (๗) แต่งตั้งคณะทำงานหรือบุคคลให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งการยกเลิกคณะทำงานหรือบุคคลเช่นว่านั้น
        (๘) วางระเบียบเพื่อให้การบริหารงานของพรรคเป็นไปโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
        (๙) อำนาจหน้าที่อื่นตามกฎหมายหรือข้อบังคับ หรือตามที่คณะกรรมการบริหารเห็นสมควรกำหนด
        เพื่อการนี้ หัวหน้าพรรคจะมอบหมายเป็นหนังสือให้ผู้บริหารคนหนึ่งคนใด หรือหลายคนทำการแทนได้
        (ข) รองหัวหน้าพรรค มีอำนาจหน้าที่ตามที่หัวหน้าพรรคมอบหมาย
        ข้อ ๔๕ เลขาธิการพรรคและรองเลขาธิการพรรค มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
        (ก) เลขาธิการพรรค
        (๑) ควบคุมดูกิจการภายในพรรค
        (๒) บริหารและรับผิดชอบงานของสำนักงานเลขาธิการพรรค
        (๓) จัดการประชุมใหญ่ การประชุมคณะกรรมการบริหาร หรือการประชุมอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
        (๔) ดำเนินกิจการใดๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริหารหรือหัวหน้าพรรค
        (ข) รองเลขาธิการพรรค มีอำนาจหน้าที่ตามที่เลขาธิการพรรคมอบหมาย
        ข้อ ๔๖ เหรัญญิกพรรค มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
        (๑) ควบคุมดูแลทรัพย์สิน รายรับ รายจ่าย ให้เป็นไปตามที่ได้รับอนุมัติ
        (๒) จัดทำบัญชีการเงินของพรรค แสดงรายรับรายจ่าย และงบดุลของพรรค
        (๓) จัดสรรเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่พรรคได้รับมา ให้เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร
        (๔) บริหารและรับผิดชอบการปฏิบัติงานของหน่วยงานทางบัญชีและการเงินพรรค
        (๕) ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการเงินและการงบประมาณ ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริหารหรือหัวหน้าพรรค
        ข้อ ๔๗ โฆษกพรรค มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์และการให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับพรรค กิจกรรมทางสังคมและการเมืองตลอดจนแนวนโยบายของพรรค แก่สื่อมวลชนและสาธารณชน
        ข้อ ๔๘ ในกรณีที่มีตำแหน่งผู้อำนวยการพรรค ให้ผู้อำนวยการพรรคมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลเจ้าหน้าที่ในสำนักงานใหญ่ให้ปฏิบัติงานอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งอำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานบริหารต่างๆ ของพรรคในการใช้สถานที่ของสำนักงานใหญ่ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้ โดยประสานงานกับเลขาธิการพรรค
        ข้อ ๔๙ ที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่อื่นที่หัวหน้าพรรคแต่งตั้ง ให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการบริหารกำหนดหรือตามที่หัวหน้าพรรคกำหนด แล้วแต่กรณี
        ข้อ ๕๐ ในกรณีที่หัวหน้าพรรคพ้นจากตำแหน่ง ให้รองหัวหน้าพรรคที่เป็นรองประธานคณะกรรมการบริหารรักษาการแทนจนกว่าจะมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคขึ้นใหม่
        เมื่อหัวหน้าพรรคพ้นจากตำแหน่ง ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งบริหารระดับรองที่แต่งตั้งโดยหัวหน้าพรรค พ้นจากตำแหน่งด้วย แต่ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนจะเข้ารับหน้าที่
        ในกรณีที่เจ้าหน้าที่อื่นของพรรคว่างลง หรือมีการยุบตำแหน่ง ให้มีการดำเนินการและแต่งตั้งตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารกำหนด
       
       
       ส่วนที่ ๒
       สำนักงานใหญ่และศูนย์ประสานงานพรรค
       
        ข้อ ๕๑ สำนักงานใหญ่ เป็นหน่วยธุรการที่รับผิดชอบในการปฏิบัติงานบริหารทั่วไปของพรรคและประสานงานของพรรคในจังหวัดต่างๆ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการดำเนินกิจการพรรคและเลขาธิการพรรค
        ข้อ ๕๒ ในสำนักงานใหญ่ ให้เลขาธิการพรรคเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในการบริหารงานประจำ โดยมีรองเลขาธิการพรรคที่เลขาธิการพรรคมอบหมายเป็นผู้ช่วย เว้นแต่ในกรณีที่มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการพรรคตามข้อ ๔๓(๒) ให้ผู้อำนวยการพรรคเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ โดยจะมีรองผู้อำนวยการพรรคหรือผู้ช่วยผู้อำนวยการพรรคก็ได้
        ผู้อำนวยการพรรคแต่งตั้งโดยหัวหน้าพรรค โดยปรึกษาหารือกับเลขาธิการพรรค และอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระของคณะกรรมการดำเนินกิจการพรรคที่ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้ง
        รองผู้อำนวยการพรรคหรือผู้ช่วยผู้อำนวยการพรรคแต่งตั้งโดยหัวหน้าพรรคโดยคำแนะนำของผู้อำนวยการพรรคและอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระของผู้อำนวยการพรรค
        ข้อ ๕๓ การแบ่งหน่วยงาน การกำหนดตำแหน่งของเจ้าหน้าที่อื่นของพรรคตามข้อ ๔๓(๒) ตลอดจนอำนาจหน้าที่ การบรรจุแต่งตั้ง เงินประจำตำแหน่ง ผลประโยชน์ตอบแทนอื่น และอัตราเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวในสำนักงานใหญ่ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการดำเนินกิจการพรรคกำหนด
        หากมีความจำเป็นต้องตั้งหน่วยงานเพื่อกระจายอำนาจในการบริหารงานของสำนักงานใหญ่ จะจัดให้มีสำนักงานเฉพาะเพื่อการบริหารและรับผิดชอบการปฏิบัติงานในส่วนนั้นก็ได้
        ข้อ ๕๔ เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของพรรคในจังหวัดหรือภาคต่างๆ และในจังหวัดหรือภาคนั้นยังไม่พร้อมที่จะจัดตั้งเป็นสาขาพรรค ให้จัดตั้งเป็นศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อบริหารงานของพรรคในจังหวัดหรือในภาคนั้นได้ตามความจำเป็นเหมาะสม
        โครงสร้างการบริหารงานและเจ้าหน้าที่พรรคของศูนย์ประสานงานพรรค ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการดำเนินกิจการพรรคกำหนด
        ข้อ ๕๕ ชมรมอาสาสมัครพรรคเป็นส่วนหนึ่งของพรรค และบทบาทของสมาชิกชมรมอาสาสมัครพรรคในการช่วยเหลืองานประจำของพรรคในสำนักงานใหญ่และในสาขาต่างจังหวัด ถือเป็นส่วนสำคัญของกิจกรรมทางการเมืองของพรรค
        การช่วยปฏิบัติงานประจำของสมาชิกชมรมอาสาสมัคร ให้เป็นไปตามหลักการและระเบียบที่คณะกรรมการดำเนินกิจการพรรคกำหนด
       
       ส่วนที่ ๓
       สาขาพรรคและการบริหารสาขาพรรค
       
        ข้อ ๕๖ ในวาระเริ่มแรก ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนพรรคการเมืองรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง พรรคจะจัดให้มีสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขาตามที่กำหนดไว้ใน ข้อ ๙๗ ว่าด้วยบทเฉพาะกาล และในแต่ละปี พรรคจะพยายามจัดตั้งสาขาพรรคเพิ่มขึ้นในแต่ละภาค เพื่อให้พรรคมีสาขาครบทุกเขตเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
        ข้อ ๕๗ ท้องที่ใดมีสมาชิกตั้งแต่หนึ่งร้อยคนขึ้นไปและสมาชิกประสงค์จะจัดตั้งเป็นสาขาพรรค ให้สมาชิกผู้เริ่มจัดตั้งมีหนังสือแจ้งความประสงค์ที่จะจัดตั้งสาขาพรรค พร้อมทั้งรายการแสดงที่ตั้งสาขาพรรค รายชื่อ อาชีพ และที่อยู่ของสมาชิกผู้เริ่มจัดตั้งตามแบบพิมพ์ของพรรคไปยังเลขาธิการพรรค เพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริหารพิจารณา หากคณะกรรมการบริหารเห็นชอบ ก็ให้แจ้งให้สมาชิกผู้เริ่มจัดตั้งดำเนินการต่อไป
        การจัดตั้งหรือการยกเลิกสาขาพรรค ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการบริหารกำหนด
        ข้อ ๕๘ เมื่อคณะกรรมการบริหารอนุมัติให้ตั้งสาขาพรรคแล้ว ให้ประธานคณะผู้เริ่มจัดตั้งเรียกประชุมใหญ่สมาชิกสาขาพรรคเป็นครั้งแรกเพื่อเลือกกรรมการสาขาพรรคภายในหกสิบวันนับแต่ได้รับอนุมัติให้ตั้งสาขาพรรคได้ โดยในการประชุมครั้งแรกนี้จะต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าห้าสิบคน
        เมื่อที่ประชุมใหญ่สาขาพรรคเลือกตั้งคณะกรรมการสาขาพรรคเรียบร้อยแล้ว ให้หัวหน้าพรรคมีหนังสือแจ้งการจัดตั้งสาขาพรรคต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่จัดตั้งสาขาพรรคแล้วเสร็จ และเมื่อหัวหน้าพรรคได้รับหนังสือรับรองการจัดตั้งสาขาพรรคจากนายทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว ให้แจ้งคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการสาขาพรรคทราบ
        ข้อ ๕๙ องค์กรบริหารสาขาพรรค ประกอบด้วย ที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกในสาขาพรรคและคณะกรรมการสาขาพรรค และที่ประชุมพิเศษของสาขาตามที่คณะกรรมการบริหารกำหนด
        ข้อ ๖๐ การประชุมใหญ่สาขาพรรคมีสองประเภท คือ การประชุมใหญ่สามัญและการประชุมใหญ่วิสามัญ และให้นำข้อบังคับในส่วนที่ว่าด้วยการประชุมใหญ่ของพรรคมาใช้บังคับโดยอนุโลม
        ข้อ ๖๑ คณะกรรมการสาขาพรรค ประกอบด้วย ประธานสาขาพรรค รองประธานสาขาพรรค เลขานุการสาขาพรรค รองเลขานุการสาขาพรรค เหรัญญิกสาขาพรรค โฆษกสาขาพรรค ตำแหน่งละหนึ่งคน และกรรมการอื่นอย่างน้อยสองคนแต่ไม่เกินแปดคน ทั้งนี้โดยการลงมติเลือกจากที่ประชุมใหญ่สาขาพรรค
        กรรมการสาขาพรรคมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปีนับแต่วันเลือกตั้ง และเมื่อพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการสาขาพรรคอีกได้
        การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการสาขาพรรค ให้นำข้อบังคับเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการบริหารมาใช้บังคับโดยอนุโลม และในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการสาขาพรรคว่างลง ให้เรียกประชุมใหญ่สาขาพรรคเพื่อเลือกสมาชิกในสาขานั้นแทนตำแหน่งที่ว่างโดยมิชักช้า
        ข้อ ๖๒ ให้ประธานสาขาพรรคเรียกประชุมคณะกรรมการสาขาพรรค เพื่อปรึกษาหารือกิจการของสาขาพรรคอย่างน้อยสองเดือนต่อครั้ง และให้นำข้อบังคับว่าด้วยการประชุมของคณะกรรมการบริหารมาใช้บังคับโดยอนุโลม
        ข้อ ๖๓ คณะกรรมการสาขาพรรคมีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมการดำเนินงานของสาขาพรรค ให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย ระเบียบ ข้อบังคับและมติของพรรค และมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
        (๑) บริหารกิจการของสาขาพรรคให้เป็นไปตามนโยบายพรรค
        (๒) ดำเนินการขยายจำนวนสมาชิกพรรคในเขตท้องที่ของสาขา
        (๓) ให้การศึกษาอบรมทางการเมืองและการอบรมอื่นๆ ตามแนวอุดมการณ์และแนวนโยบายของพรรคแก่สมาชิกและประชาชนทั่วไป
        (๔) เผยแพร่อุดมการณ์ นโยบายและกิจกรรมพรรคแก่ประชาชนทั่วไป
        (๕) ช่วยสรรหาและคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมเข้าสมัครรับเลือกตั้งทุกระดับในเขตท้องที่ของสาขาพรรค เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหาร
        (๖) รณรงค์ช่วยเหลือและสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค และประสานงานกับคณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งของพรรคที่แต่งตั้งตามข้อ ๘๐ วรรคสอง
        (๗) ดำเนินกิจกรรมร่วมกับมวลชนในท้องถิ่น และดำเนินโครงการเศรษฐกิจตามที่พรรคแนะนำหรือเห็นชอบ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่และรายได้ของประชาชนในท้องถิ่น
        (๘) จัดทำแผนงานบริหาร แผนงบประมาณ แผนจัดหาทุนในเขตท้องที่ของสาขาพรรคเสนอต่อคณะกรรมการบริหารเพื่อให้ความเห็นชอบ
        (๙) ปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการบริหารมอบหมาย
        ข้อ ๖๔ ในกรณีที่เลขาธิการพรรคเห็นว่า ประธานสาขาพรรค รองประธานสาขาพรรค เลขานุการสาขาพรรค รองเลขานุการสาขาพรรค เหรัญญิกสาขาพรรค โฆษกสาขาพรรค ผู้ใดมีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งต่อไป ให้เลขาธิการพรรคเสนอเรื่องให้คณะกรรมการบริหารมีมติให้บุคคลดังกล่าวออกจากตำแหน่งได้
        ข้อ ๖๕ สำนักงานสาขาพรรคเป็นหน่วยงานธุรการที่รับผิดชอบการบริหารกิจการทั่วไปของพรรคในเขตท้องที่ของสาขาพรรค ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการสาขาพรรค โดยมีเลขานุการพรรคเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารงานประจำ
        ในการดำเนินงานของสำนักงานสาขาพรรค ให้ประสานงานกับสำนักงานใหญ่ของพรรคและสำนักงานสาขาพรรคสาขาอื่นๆ
        การจัดหน่วยงานและการกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ในสำนักงานของสาขาพรรค ให้เป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการบริหาร
       
       หมวดที่ ๕
       การบริหารการเงิน ทรัพย์สิน และการจัดทำบัญชี
       
        ข้อ ๖๖ งบประมาณประจำปีของพรรค ประกอบด้วย
        (๑) งบประมาณรายได้หรือรายรับ ซึ่งแยกออกเป็นประเภทเงินสนับสนุนโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เงินบริจาค เงินจากการจัดกิจกรรมของพรรคหรือสาขาพรรค และเงินได้อื่น
        (๒) งบประมาณค่าใช้จ่ายหรือรายจ่าย ซึ่งแยกออกเป็นประเภทเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง เงินเดือน เงินค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าวัสดุ งานจร และอื่นๆ
        ปีงบประมาณและปีการบัญชีของพรรค ให้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม และสิ้นสุดลงในวันที่ ๓๑ ธันวาคมของปีเดียวกัน
        ข้อ ๖๗ บัญชีของพรรคและสาขาพรรค ประกอบด้วย
        (๑) บัญชีรายวันแสดงรายได้หรือรายรับ และแสดงค่าใช้จ่ายหรือรายจ่าย
        (๒) บัญชีแสดงรายรับจากการบริจาค
        (๓) บัญชีแยกประเภท
        (๔) บัญชีแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน
        การลงรายการบัญชีต้องมีเอกสารประกอบการลงบัญชีที่ถูกต้องสมบูรณ์โดยครบถ้วน
        บัญชีตาม (๑) และ(๒) ต้องลงรายการให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวัน นับแต่รายการนั้นเกิดขึ้น
        บัญชีตาม (๓) และ(๔) ต้องลงรายการให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่รายการนั้นเกิดขึ้น
        ข้อ ๖๘ พรรคและสาขาพรรคต้องปิดบัญชีครั้งแรกภายในวันสิ้นปีปฏิทินที่ได้จดแจ้งการจัดตั้งขึ้น และปิดบัญชีครั้งต่อไปเป็นประจำทุกปีในวันสิ้นปีปฏิทิน
        การปิดบัญชีให้จัดทำงบการเงิน ซึ่งอย่างน้อยประกอบด้วยงบดุล และบัญชีรายได้และค่าใช้จ่าย ซึ่งรวมถึงงบการเงินของทุกสาขาพรรคด้วย
        งบดุลต้องแสดงรายการสินทรัพย์ หนี้สิน และทุนของพรรคและงบดุลต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและรับรองการสอบบัญชี
        ข้อ ๖๙ ประธานสาขาพรรคต้องจัดให้มีการทำบัญชีของสาขาพรรค และรับรองความถูกต้อง ตลอดจนต้องจัดส่งบัญชีของสาขาพรรคให้สำนักงานใหญ่พรรคทันทีที่ประชุมสาขาพรรคให้ความเห็นชอบ และต้องไม่ช้ากว่าสามสิบวันหลังจากวันสิ้นปีปฏิทินในปีนั้นๆ
        ข้อ ๗๐ งบการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและรับรองแล้ว ต้องเสนอให้ที่ประชุมใหญ่อนุมัติภายในเดือนเมษายนของทุกปี โดยแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าและปิดประกาศไว้ ณ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคและสาขาพรรคไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
        งบการเงินซึ่งที่ประชุมใหญ่อนุมติตามวรรคหนึ่ง หัวหน้าพรรคต้องรับรองความถูกต้องร่วมกับเหรัญญิกพรรค และให้หัวหน้าพรรคส่งงบการเงินต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ทีประชุมใหญ่อนุมัติพร้อมทั้งสำเนาบัญชี ตามข้อ ๖๗
        ข้อ ๗๑ เมื่อพรรคได้รับเงินสนับสนุนจากคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว ต้องใช้จ่ายเงินสนับสนุนนั้นให้เป็นไปตามกฎหมาย และต้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนในรอบปีปฏิทิน ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงและยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป
        ข้อ ๗๒ เมื่อมีการบริจาคแก่พรรค ให้พรรคออกหลักฐานการรับบริจาคให้แก่ผู้บริจาค และเมื่อพรรคได้รับการบริจาคเงิน ให้พรรคเปิดเผยรายชื่อผู้บริจาค และจำนวนเงินที่ได้รับการบริจาค ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
        ข้อ ๗๓ ห้ามมิให้พรรครับการบริจาคโดยไม่เปิดเผย หรือเป็นการบริจาคที่ต้องห้ามตามกฎหมาย
        ข้อ ๗๔ หัวหน้าพรรคต้องจัดให้มีบัญชีแสดงรายรับจากการบริจาค ซึ่งต้องมีรายการตามที่กฎหมายกำหนด ดังต่อไปนี้
        (๑) ชื่อ ที่อยู่ จำนวนเงิน และรายการทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่คำนวณเป็นเงินได้ของผู้บริจาคทุกราย และในกรณีที่เป็นการบริจาคผ่านทางสมาชิก ให้ระบุชื่อสมาชิกผู้รับการบริจาคด้วย
        (๒) วัน เดือน ปี ที่รับบริจาค
        (๓) สำเนาหลักฐานการรับบริจาค
        ในกรณีที่การบริจาคเป็นการให้หรือให้ใช้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่คำนวณเป็นเงินได้ ให้คิดมูลค่าโดยคำนวณตามอัตราเช่าค่าหรือค่าตอบแทนตามปกติในท้องที่นั้น หรือค่าของสิทธินั้นก่อนแล้ว จึงบันทึกลงในบัญชี และในกรณีที่ไม่อาจคิดมูลค่าได้ ให้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นนั้นให้ชัดเจนเท่าที่จะกระทำได้
        ข้อ ๗๕ หัวหน้าพรรค กรรมการบริหาร กรรมการสาขาพรรค และสมาชิก ซึ่งได้รับการบริจาค ต้องนำส่งเข้าบัญชีแสดงรายรับการบริจาคตามข้อ 68 ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับการบริจาค
        ข้อ ๗๖ บรรดาเงินที่พรรคได้รับการบริจาคมา ให้หัวหน้าพรรคและเหรัญญิกพรรคนำไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ โดยระบุชื่อเจ้าของบัญชีในนามของพรรค
        ให้หัวหน้าพรรคแจ้งหมายเลขบัญชีเงินฝากและจำนวนเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ให้นายทะเบียนทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่เปิดบัญชี
        ข้อ ๗๗ ให้หัวหน้าพรรค หรือรองหัวหน้าพรรคที่หัวหน้าพรรคมอบหมาย ลงลายมือชื่อร่วมกับเลขาธิการพรรคหรือรองเลขาธิการพรรคที่เลขาธิการพรรคมอบหมายหรือเหรัญญิกพรรคคนหนึ่งคนใด รวมเป็นสองคน เป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมในเช็คสั่งจ่ายในนามของพรรค ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารกำหนด
        ข้อ ๗๘ การบริหารการเงิน ทรัพย์สิน และการจัดทำบัญชีของสาขาพรรคให้นำความในหมวดนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ประธานสาขาพรรคหรือรองประธานสาขาพรรคคนใดคนหนึ่งที่ประธานสาขาพรรคมอบหมาย ร่วมกับเหรัญญิกสาขาพรรค รวมเป็นสองคน เป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมในเช็คสั่งจ่ายเงินในนามของสาขาพรรค
        ข้อ ๗๙ การบริหารการเงินและทรัพย์สิน ระบบการเงิน และการรับการจ่ายเงินของพรรคหรือสาขาพรรค นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในข้องบังคับนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการเงินและการบริหารทรัพย์สิน ที่คณะกรรมการบริหารพรรคกำหนด
       
       หมวดที่ ๖
       การคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
       ส่วนที่ ๑
       การคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง
       
        ข้อ ๘๐ การคัดเลือกบุคคลที่พรรคจะส่งลงสมัครรับเลือกตั้งในทุกระดับ เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหาร
        คณะกรรมการบริหารอาจแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งขึ้นมาคณะหนึ่งตามจำนวนที่เห็นสมควร เพื่อให้ทำหน้าที่ดังต่อไปนี้
        (๑) เสนอชื่อบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้คณะกรรมการบริหารพิจารณา
        (๒) วางแผนและดำเนินการเลือกตั้งในครั้งนั้นๆ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหาร
        หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกสมาชิกเพื่อส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการบริหารกำหนด
        ข้อ ๘๑ คณะกรรมการบริหารเป็นผู้ชี้ขาดว่า จะคัดเลือกผู้ใดลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค และในการนี้ คณะกรรมการบริหารอาจคัดเลือกบุคคลอื่น นอกเหนือจากที่คณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งเสนอขึ้นมาก็ได้
       
       ส่วนที่ ๒
       การคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง
       
        ข้อ ๘๒ ในการคัดเลือกบุคคลให้เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายรัฐสภา ให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาคัดเลือกบุคคลตามรายชื่อที่ที่ประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอ
        การลงคะแนนเสียงเพื่อคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ให้ใช้วิธีลงคะแนนลับ และในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้หัวหน้าพรรคเป็นผู้ชี้ขาด
       
       หมวดที่ ๗
       วินัยและจรรยาบรรณของสมาชิก
       
        ข้อ ๘๓ สมาชิกมีหน้าที่รักษาวินัยและจรรยาบรรณ ดังต่อไปนี้
        (๑) เทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
        (๒) ยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรคตามที่ปรากฏในนโยบายของพรรคที่ได้จัดทะเบียบไว้
        (๓) การกระทำใดๆ ต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และชื่อเสียงของพรรคเป็นสำคัญ
        (๔) ปฏิบัติตามนโยบาย ข้อบังคับ มติคณะกรรมการบริหาร คำสั่งของผู้บริหารพรรค ที่สั่งการภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่
        (๕) ไม่ใช้ความเป็นสมาชิกไปแสวงหาประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อบุคคลอื่นโดยมิชอบ
        (๖) ประพฤติตัวและดำรงชีพด้วยความมีคุณธรรม ตลอดจนวางตนให้เป็นที่ศรัทธาของประชาชน และแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย
        (๗) เป็นผู้ตรงต่อเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่มีการประชุม
        (๗) เคารพและปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำแนะนำของคณะกรรมการบริหารที่ชอบด้วยข้อบังคับพรรค
        (๘) รักษาความสามัคคีในหมู่สมาชิกพรรค และกับสมาชิกพรรคการเมืองอื่น
        (๙) ไม่กระทำใดๆ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย หรือผิดศีลธรรม หรือเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดี และเป็นที่ครหาของบุคคลทั่วไป
        (๑๐) รับผิดชอบต่อหน้าที่ในงานของพรรคตามขีดความสามารถของตน
        (๑๑) การเสนอญัตติ กระทู้ถาม ร่างพระราชบัญญัติ การอภิปรายในรัฐสภาต้องกระทำด้วยความสุภาพ ตรงตามข้อเท็จจริง อยู่ในประเด็น และไม่ใช้รัฐสภาเป็นเครื่องมือหรือใช้เอกสิทธิในการโจมตีบุคคล ข้าราชการ หรือหน่วยงานของรัฐโดยไม่สมควร
        (๑๒) ใช้ถ้อยคำสุภาพ ไม่ก้าวร้าว เสียดสี และใส่ร้ายป้ายสีบุคคลอื่นในที่ประชุม
        (๑๓) แจ้งความจริง และรับผิดชอบต่อข้อเท็จจริงที่แจ้งไว้ในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก
        (๑๔) ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นหรือไปดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองอื่นในระหว่างที่เป็นสมาชิก
        ข้อ ๘๔ การเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเสนอร่างกฎหมายให้คณะกรรมการบริหารพรรคหรือกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริหารพรรค พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน
        ส่วนการตั้งกระทู้ถามและการเสนอญัตติ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคกระทำได้ตามที่เห็นสมควร แต่ต้องไม่ขัดต่อนโยบายหรือสถานภาพของพรรค
        ข้อ ๘๕ การกล่าวหาว่าสมาชิกคนใดกระทำหรือละเว้นการกระทำ อันเป็นการผิดวินัยหรือละเมิดจรรยาบรรณควรแก่การลงโทษ อาจกระทำได้โดยกรรมการบริหารคนใดคนหนึ่งหรือสมาชิกไม่น้อยกว่าสิบคนทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อยื่นต่อหัวหน้าพรรค
        เมื่อมีการกล่าวหาดังกล่าว ให้หัวหน้าพรรคแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเป็นคณะกรรมการสอบสวน โดยมีจำนวนกรรมการไม่น้อยกว่าสามคนแต่ไม่เกินเจ็ดคน โดยต้องประกอบด้วยกรรมการบริหารอย่างน้อยหนึ่งคน แต่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมด
        ให้คณะกรรมการสอบสวน มีหน้าที่สอบสวนรวบรวมข้อเท็จจริงและพิจารณาข้อกล่าวหา และทำรายงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการบริหาร ซึ่งจะต้องกระทำให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
        หลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบข้อเท็จจริงและการพิจารณาข้อกล่าวหา ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารกำหนด โดยจะต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาให้สมาชิกผู้ถูกกล่าวหาทราบและให้สมาชิกดังกล่าวมีสิทธิชี้แจงเพื่อแก้ข้อกล่าวหา
        ข้อ ๘๖ ภายใต้บังคับข้อ ๘๗ คณะกรรมการบริหารเป็นผู้วินิจฉัยการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของสมาชิกว่าเป็นการผิดวินัยหรือละเมิดต่อจรรยาบรรณหรือไม่ และจะลงโทษสถานใด
        สมาชิกผู้ที่ทำผิดวินัยหรือละเมิดจรรยาบรรณ ต้องได้รับโทษตามความร้ายแรงของการกระทำ ดังนี้
        (๑) ตักเตือน
        (๒) ภาคทัณฑ์
        (๓) ตัดสิทธิที่จะพึงมีในฐานะสมาชิกตามข้อบังคับ
        (๔) ให้พ้นจากความเป็นสมาชิก
        ข้อ ๘๗ ในกรณีที่สมาชิกผู้ถูกกล่าวหาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการบริหารเห็นว่า ผลของการผิดวินัยหรือละเมิดจรรยาบรรณอาจมีผลให้สมาชิกต้องพ้นจากความเป็นสมาชิก ให้คณะกรรมการบริหารส่งเรื่องไปยังที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค เป็นผู้พิจารณาและวินิจฉัย และมติของที่ประชุมร่วมที่จะมีผลให้สมาชิกผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากความเป็นสมาชิก จะต้องเป็นการลงคะแนนลับและได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนคณะกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคทั้งหมด ตามกฎหมาย
       
       หมวดที่ ๘
       การเปลี่ยนแปลงนโยบายพรรคและข้อบังคับ
       
        ข้อ ๘๘ โดยหลักการ นโยบายของพรรคเพื่อการปฏิรูปการเมืองและการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น เป็นเจตนารมณ์ของบุคคลที่เข้ามาเป็นสมาชิกของพรรคทุกคน ที่มุ่งมั่นจะดำเนินการให้สำเร็จ และหากพรรคทำไม่สำเร็จไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็จะยุบเลิกพรรคตามที่กำหนดไว้ในหมวดที่ ๙ ว่าด้วยการเลิกและยุบพรรค
        อย่างไรก็ตาม เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของพรรคได้ตามสมควรในกรณีที่สมาชิกเกือบทั้งหมดเห็นควรให้มีการแก้ไขนโยบาย จึงกำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
        (๑) ญัตติขอเปลี่ยนแปลงนโยบายพรรค หรือขอเปลี่ยนแปลงข้อบังคับในส่วนที่เกี่ยวกับวิธีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย จะต้องมาจากมติของคณะกรรมการบริหารพรรคที่เป็นเอกฉันท์ หรือมาจากสมาชิกผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ ไม่น้อยกว่าสี่ในห้าของผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่เท่าที่มีอยู่จริงในขณะนั้น
        (๒) ญัตติขอเปลี่ยนแปลงตาม(๑) ต้องเสนอต่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวัน
        (๓) การเปลี่ยนแปลงตาม(๑) ต้องได้รับความเห็นชอบโดยที่ประชุมใหญ่ ด้วยมติเห็นชอบไม่น้อยกว่าเก้าในสิบของสมาชิกผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ที่มาประชุม
        ข้อ ๘๙ สำหรับการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับในประการอื่น ซึ่งมิใช่การเปลี่ยนแปลงตามข้อ ๘๘ ให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
        (๑) ญัตติขอเปลี่ยนแปลงข้อบังคับจะเสนอโดยคณะกรรมการบริหารโดยเสียงข้างมาก หรือเสนอโดยสมาชิกผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่เท่าที่มีอยู่จริงในขณะนั้น
        (๒) ญัตติขอเปลี่ยนแปลงตาม (๑) ต้องเสนอต่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
        (๓) การเปลี่ยนแปลงตาม (๑) ต้องได้รับความเห็นชอบโดยที่ประชุมใหญ่ ด้วยมติเห็นชอบไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกของผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ที่มาประชุม
        ในกรณีที่มีสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมตั้งแต่ยี่สิบคนขึ้นไปหรือหนึ่งในห้าของสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมแล้วแต่จำนวนใดจะน้อยกว่า เห็นว่า ญัตติขอเปลี่ยนแปลงข้อบังคับใดเป็นการเปลี่ยนแปลงตามข้อ ๘๘ ให้ถือว่าญัตติที่ขอเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องดำเนินการตามข้อ ๘๘
        ข้อ ๙๐ ให้หัวหน้าพรรคแจ้งการเปลี่ยนแปลงตามมติของที่ประชุมตามหมวดนี้ต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่ที่ประชุมใหญมีมติ
       
       หมวดที่ ๙
       การเลิกและยุบพรรค
       
        ข้อ ๙๑ พรรคเลิกด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
        (๑) เมื่อมีการออกเสียงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันเป็นการเสร็จสิ้นการปฏิรูปการเมือง
        (๒) เมื่อปรากฏแน่ชัดว่า ไม่สามารถปฏิรูปการเมืองได้ตามนโยบายที่จดทะเบียนไว้ได้ และที่ประชุมใหญ่มีมติให้เลิกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อ ๘๘วรรคสอง
        (๓) เมื่อครบกำหนดห้าปีนับแต่วันจัดตั้งพรรคการเมืองและยังไม่สามารถปฏิรูปการเมืองได้ตามนโยบายที่จดทะเบียนไว้
        ในกรณีตามวรรคหนึ่ง(๑) และ (๒) ให้คณะกรรมการบริหารเรียกประชุมใหญ่เพื่อแจ้งสมาชิก และดำเนินการจดทะเบียนเลิกพรรคการเมืองและชำระบัญชีตามกฎหมาย
        ข้อ ๙๒ พรรคเลิกหรือยุบตามเหตุที่กฎหมายบัญญัติ คือ
        (๑) มีจำนวนสมาชิกเหลือไม่ถึงสิบห้าคน
        (๒) มีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค
        (๓) การยุบพรรคไปรวมกับพรรคการเมืองตามข้อ ๙๓
        ข้อ ๙๓ การรวมพรรคกับพรรคการเมืองอื่นเพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่หรือเพื่อรวมเป็นพรรคการเมืองเดียวกับพรรคการเมืองอื่น ที่ประชุมใหญ่จะให้ความเห็นชอบให้พรรคไปรวมพรรคอื่นได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
        (๑) พรรคการเมืองอื่นที่จะรวมด้วยนั้น เป็นพรรคการเมืองที่มีนโยบายเพื่อการปฏิรูปการเมืองเช่นเดียวกัน
        (๒) ญัตติที่ขอให้มีการรวมพรรค ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อ ๘๘ วรรคสอง
        ข้อ ๙๔ ในกรณีที่พรรคเลิกหรือยุบพรรคตามข้อ ๙๑ และข้อ ๙๒ (๑) และ (๒) ให้นำทรัพย์สินทั้งหมดของพรรคที่เหลือหลังจากการชำระบัญชี (ถ้ามี) ทูลเกล้าถวาย เพื่อพระราชทานให้แก่องค์การสาธารณกุศลตามพระราชอัธยาศัย
       
       หมวดสุดท้าย
       การตีความและบทเฉพาะกาล
       
        ข้อ ๙๕ หากมีปัญหาเกี่ยวกับการตีความตามข้อบังคับพรรคนี้ ให้คณะกรรมการบริหารมีอำนาจตีความ และให้ถือปฏิบัติตามนั้น
        ข้อ ๙๖ ในกรณีที่สมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค หรือกรรมการบริหารจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการบริหารทั้งหมด หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าห้าสิบคน เห็นว่ามติ ระเบียบ หรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคจะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ หรือขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวมีสิทธิร้องขอให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาวินิจฉัย
        ในกรณีที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า มติ ระเบียบ หรือข้อบังคับดังกล่าวขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ หรือขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มติหรือข้อบังคับดังกล่าวเป็นอันยกเลิก
        ข้อ ๙๗ ในระหว่างที่คณะกรรมการบริหารยังมิได้ออกระเบียบเพื่อกำหนดกิจการต่างๆ ตามที่ข้อบังคับนี้กำหนดไว้ ให้กิจการนั้นเป็นไปตามมติของคณะกรรมการบริหาร และในกรณีที่ยังไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค ให้อำนาจหน้าที่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร
        ในระยะเริ่มแรกก่อนที่จะมีการเลือกตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ตามข้อ ๙๙ ให้คณะกรรมการบริหารที่นายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นชอบในการจัดตั้งพรรค ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการดำเนินกิจการพรรค รวมทั้งมีอำนาจอนุมัติการเข้าเป็นสมาชิกสามัญของพรรคตามข้อ ๑๔ วรรคหนึ่งไปพลางก่อน และในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว คณะกรรมการบริหารอาจแต่งตั้ง และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานทำการแทนได้ตามที่เห็นสมควร
       
        ข้อ ๙๘ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา ๒๙ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 พรรคจะดำเนินการดังต่อไปนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วัน นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง
        (๑) มีสมาชิกตั้งแต่ห้าพันคนขึ้นไป โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมีที่อยู่ในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคที่นายทะเบียนพรรคการเมืองกำหนด
        (๒) มีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา
        ข้อ ๙๙ ภายในเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองแต่อย่างช้าต้องไม่เกินสามเดือน ให้คณะกรรมการบริหารที่นายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นชอบในการจัดตั้งพรรค เรียกประชุมใหญ่ครั้งแรก โดยให้เป็นการประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ พร้อมทั้งผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ของพรรคตามที่กฎหมายและข้อบังคับกำหนด


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544