หน้าแรก บทความสาระ
ศาลรัฐธรรมนูญไทยต่างจากศาลอื่น และศาลรัฐธรรมนูญของต่างประเทศอย่างไร โดย คุณ บุญเสริม นาคสาร
โดย คุณ บุญเสริม นาคสาร เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ๗ว สถาบันรัฐธรรมนูญศึกษา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
24 มกราคม 2548 07:06 น.
 
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความแตกต่างระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับ ศาลยุติธรรมและศาลปกครองของไทย และความแตกต่างระหว่างศาลรัฐธรรมนูญไทยกับศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศ โดยแบ่งการนำเสนอออกเป็น ๓ หัวข้อ ดังนี้
       ๑. ความสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ
       ๒. ศาลรัฐธรรมนูญต่างจากศาลยุติธรรมและศาลปกครองอย่างไร
       ๓. ศาลรัฐธรรมนูญไทยต่างจากศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศอย่างไร
       
       ๑. ความสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ
       การก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญ มาจากความจำเป็นอย่างน้อย ๒ ประการ คือ
       (๑) ความจำเป็นในการคุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ
       โดยทั่วไปแล้วประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะมีรัฐธรรมนูญเป็น ลายลักษณ์อักษรหรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะต้องประกอบด้วยหลักการสำคัญ ๒ ประการ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญได้กำหนดรูปแบบการปกครองของรัฐและวางระเบียบการดำเนินการปกครองโดยกำหนดให้มีสถาบันทางการเมืองหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งระบุอำนาจหน้าที่และความสัมพันธ์ของการใช้อำนาจหน้าที่ระหว่างสถาบันทางการเมืองหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น ประการหนึ่ง และการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน โดยมีการกำหนดหลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนไว้ เพื่อป้องกันมิให้รัฐใช้อำนาจปกครองอันเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อีกประการหนึ่ง
       (๒) ความจำเป็นในการปกครองโดยนิติรัฐ
       การใช้อำนาจของรัฐในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะต้องเป็นไปตามกฎหมายอีกทั้งยังต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญได้ให้การรับรองไว้ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นการปกครองโดยนิติรัฐ (Legal State หรือ Rule of law) ซึ่งแยกได้ ๓ ประการ คือ
       ประการแรก คือ หลักความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย กฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรนิติบัญญัติจะต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอ จะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดมิได้
       ประการที่สอง คือ หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐในฝ่ายปกครองจะมีอำนาจสั่งให้ประชาชนกระทำการหรือละเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจไว้และใช้อำนาจอยู่ภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น
       
       ประการที่สาม คือ หลักการควบคุมความชอบโดยองค์กรตุลาการ เพื่อเป็นการควบคุมมิให้การกระทำขององค์กรของรัฐกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จึงจำเป็นต้องมีองค์กรตุลาการที่มีอำนาจและมีความเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงจากองค์กรฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ
       ดังนั้น ประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงต้องมีสถาบันหรือองค์กรที่ ทำหน้าที่ในการคุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญและควบคุมมิให้องค์กรของรัฐกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งสถาบันหรือองค์กรที่ทำหน้าที่ดังกล่าวของแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน โดยสรุปแล้วมี ๓ รูปแบบ คือ
       (๑) รูปแบบที่ให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ควบคุมในรูปของศาลสูงสุด ซึ่งรูปแบบนี้ใช้อยู่ใน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย โบลิเวีย เม็กซิโก คิวบา ไนจีเรีย คูเวต และญี่ปุ่น เป็นต้น 1
       (๒) รูปแบบที่ให้องค์กรทางการเมืองเป็นผู้ควบคุมในรูปของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งรูปแบบนี้ใช้อยู่ในประเทศฝรั่งเศส เวียดนาม กัมพูชา เป็นต้น
       (๓) รูปแบบที่ให้ศาลที่มีอำนาจเฉพาะเป็นผู้ควบคุมในรูปของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งรูปแบบนี้ใช้อยู่ในเยอรมัน อิตาลี สเปน เบลเยี่ยม โปรตุเกส เกาหลีใต้ และไทย เป็นต้น
       กรณีประเทศไทยนั้น นับแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญหลังการเปลี่ยนแปลง การปกครอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา ได้มีการจัดตั้งองค์กรทั้งในรูปของศาลสูงสุด(ศาลฎีกา) และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีรัฐธรรมนูญเรื่อยมาจนกระทั่งได้มีการจัดตั้ง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
       
       ๒. ศาลรัฐธรรมนูญต่างจากศาลยุติธรรมและศาลปกครองอย่างไร
       
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระบบศาลของไทยในปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญต่างจากศาลอื่นในสาระสำคัญ ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น ๑๑ ประเด็นหลัก ดังนี้
       
       (๑) ประเด็นเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างของศาล
       ศาลรัฐธรรมนูญมีเพียงศาลเดียว ขณะที่ศาลปกครองและศาลยุติธรรมมีระดับชั้นของศาล กล่าวคือศาลปกครองแบ่งเป็นศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด โดยจะมีศาลปกครอง ชั้นอุทธรณ์ด้วยก็ได้ 2 ส่วนศาลยุติธรรมแบ่งออกเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา และศาลทหารก็มีสามชั้นเช่นกัน 3
       ศาลรัฐธรรมนูญมีศาลเดียว ไม่มีการจัดตั้งศาลแยกตามความชำนัญพิเศษ ส่วนศาลปกครองแม้ว่าจะไม่มีการจัดตั้งศาลตามความชำนัญพิเศษ แต่อาจมีการจัดตั้งองค์คณะที่มีความเชี่ยวชาญ ในประเภทคดีด้านใดด้านหนึ่งเป็นการเฉพาะได้ ในขณะที่ศาลยุติธรรมมีการจัดตั้งศาลตามความชำนัญพิเศษ เช่น ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย เป็นต้น
       
       (๒) ประเด็นเกี่ยวกับจำนวนและที่มาของตุลาการหรือผู้พิพากษา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีจำนวน ๑๕ คน มีที่มาแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ (๑) มาจาก ผู้พิพากษาศาลฎีกา ๕ คน โดยการเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา (๒) มาจากตุลาการศาลปกครองสูงสุด ๒ คน โดยการเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด และ (๓) มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ๕ คน และผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ๓ คน โดยการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาฯ และได้รับ การเลือกจากวุฒิสภา
       ตุลาการศาลปกครองมีจำนวนตามที่คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) กำหนดโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา สำหรับที่มานั้น ตุลาการศาลปกครองได้รับการคัดเลือกโดย ก.ศป. (สำหรับตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเมื่อได้รับการคัดเลือกโดย ก.ศป. แล้วต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วย) โดยคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือในการบริหารราชการแผ่นดิน และต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานวิชาชีพทางกฎหมาย หรือประสบการณ์ในตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ตามที่กฎหมายและ ก.ศป. กำหนด
       ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมมีจำนวนตามที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนดตามความจำเป็นของราชการ ผู้พิพากษามาจากการสอบเข้ารับราชการ โดยต้องสำเร็จการศึกษาทางกฎหมาย และสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิต และต้องมีประสบการณ์ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย ตามที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมกำหนด
       
       (๓) ประเด็นเกี่ยวกับวาระและอายุของตุลาการหรือผู้พิพากษา
       ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระ ๙ ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวและต้องมีอายุไม่เกิน ๗๐ ปีบริบูรณ์ สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๔๕ ปีบริบูรณ์
       ตุลาการศาลปกครองไม่มีวาระการดำรงตำแหน่ง (อยู่ในตำแหน่งจนอายุ ๖๐ ปี หรือ ๗๐ ปี ถ้าผ่านการประเมิน) โดยตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๔๕ ปี และตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปี
       ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมไม่มีวาระการดำรงตำแหน่ง (อยู่ในตำแหน่งจนอายุ ๖๐ ปี หรือ ๗๐ ปี ถ้าผ่านการประเมิน) โดยมีอายุขั้นต่ำของการดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา คือ ๒๕ ปีบริบูรณ์
       
       (๔) ประเด็นเกี่ยวกับคดีที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยหรือพิพากษา
       ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัย “คดีรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเกี่ยวกับการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมาย หรือกฎหมาย หรือพระราชกำหนด วินิจฉัยสมาชิกภาพของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือการให้พ้นจากตำแหน่งกรณีจงใจไม่ยื่นหรือยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ การดำเนินงานของพรรคการเมือง เป็นต้น
       ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษา “คดีปกครอง” ซึ่งเป็นกรณีพิพาทที่หน่วยงานของรัฐกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร คดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดของหน่วยงานของรัฐ คดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
       ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษา “คดีทั่วไป” คือ คดีแพ่ง คดีอาญา และคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอื่น
       
       (๕) ประเด็นเกี่ยวกับผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล
       ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี องค์กรตามรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ศาล ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา อัยการสูงสุด 4 เป็นต้น ไม่ได้กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง
       ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง คือ ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายเนื่องจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานของรัฐ และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา 5
       ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมในคดีแพ่ง คือ ประชาชนที่มีกรณีการโต้แย้งสิทธิ และกรณีที่ต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ศาลรับรองหรือบังคับตามสิทธิของตน และผู้มีสิทธิฟ้องคดีอาญา คือ ประชาชนผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดอาญาฐานใดฐานหนึ่ง และพนักงานอัยการ
       
       (๖) ประเด็นเกี่ยวกับระบบการแสวงหาข้อเท็จจริง
       ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองใช้ระบบการแสวงหาข้อเท็จจริงที่เรียกว่า “ระบบไต่สวน” (Inquisitorial System) ในขณะที่ศาลยุติธรรมใช้ระบบการแสวงหาข้อเท็จจริงที่เรียกว่า “ระบบกล่าวหา” (Accusatorial System)(6) (แต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ใช้ระบบไต่สวน)
       
       (๗) ประเด็นเกี่ยวกับองค์คณะในการพิจารณาวินิจฉัยหรือพิพากษาคดี
       องค์คณะของศาลรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า ๙ คน
       องค์คณะของศาลปกครองสูงสุดต้องมีตุลาการอย่างน้อย ๕ คน และองค์คณะของศาลปกครองชั้นต้นต้องมีตุลาการอย่างน้อย ๓ คน
       องค์คณะของศาลยุติธรรมชั้นต้นต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย ๒ คน และองค์คณะของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย ๓ คน ส่วนองค์คณะของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมี ๙ คน
       
       (๘) ประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดวิธีพิจารณาคดีของศาล
       ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจกำหนดวิธีพิจารณาคดีได้เอง 7 สำหรับวิธีพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมและศาลปกครองต้องเป็นไปตามกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้ตราขึ้น
       
       (๙) ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในการคัดค้านคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาคดี
       คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด คู่กรณี(ผู้ร้อง-ผู้ถูกร้อง) ไม่มีสิทธิคัดค้าน และไม่มีการอุทธรณ์และฎีกา
       คู่กรณี(ผู้ฟ้อง-ผู้ถูกฟ้อง) มีสิทธิคัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น แต่คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเป็นที่สุด
       คู่ความ(โจทก์-จำเลย) มีสิทธิคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ แต่คำพิพากษาของศาลฎีกาเป็นที่สุด
       
       (๑๐) ประเด็นเกี่ยวกับสภาพบังคับของคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษา
       สภาพบังคับของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญขึ้นอยู่กับลักษณะของคดี เช่น วินิจฉัยให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดใช้บังคับไม่ได้ ให้พ้นจากตำแหน่งและห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา ๕ ปี ให้ยุบพรรคการเมือง เป็นต้น
       สภาพบังคับของคำพิพากษาของศาลปกครองเป็นไปตามมาตรา ๗๒ ของ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พุทธศักราช ๒๕๔๒ เช่น ให้เพิกถอนกฎ คำสั่ง ให้ปฏิบัติหน้าที่ภายในเวลาที่ศาลกำหนด ให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สิน เป็นต้น
       สภาพบังคับของคำพิพากษาของศาลยุติธรรมในคดีอาญา คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน และสภาพบังคับในคดีแพ่ง เช่น การบังคับให้ชำระหนี้ เป็นต้น
       
       (๑๑) ประเด็นเกี่ยวกับผลผูกพันของคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษา
       คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ในขณะที่คำพิพากษาของศาลปกครองผูกพันเฉพาะคู่กรณี ยกเว้นกรณีการเพิกถอนกฎ และคำพิพากษาของศาลยุติธรรมผูกพันเฉพาะคู่ความเท่านั้น
       
       ๓. ศาลรัฐธรรมนูญไทยต่างจากศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศอย่างไร
       ศาลรัฐธรรมนูญไทยต่างกับศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศในสาระสำคัญ สามารถสรุปได้เป็น ๖ ประเด็นหลัก ดังนี้
       
       (๑) ประเด็นเกี่ยวกับจำนวนและที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
       ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีตุลาการจำนวน ๑๕ คน ถือว่าเป็นคณะตุลาการที่มีจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับคณะตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศ และมีความหลากหลายเกี่ยวกับที่มา หรือคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมากกว่าศาลรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ กล่าวคือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไทย แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์และสาขารัฐศาสตร์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา และตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือการบริหารราชการแผ่นดิน 8
       ในขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศจะแต่งตั้งจากผู้พิพากษา หรือผู้มีวิชาชีพทางกฎหมายเท่านั้น เช่น ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมันแบ่งตุลาการเป็น ๒ องค์คณะ ๆ ละ ๘ คน ที่แยกเด็ดขาดออกจากกัน ตุลาการในแต่ละองค์คณะได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ (Bundestag) ๔ คน และได้รับเลือกจากสภาสูงแห่งสหพันธ์ (Bundesrat) ๔ คน โดยสภาทั้งสองต้องเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากผู้พิพากษาศาลสูงสุดแห่งสหพันธ์ องค์คณะละ ๓ คน ส่วนที่เหลือให้เลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิโดยต้องเป็นเนติบัณฑิต หรือเป็นศาสตราจารย์ทางกฎหมาย
       ศาลรัฐธรรมนูญของออสเตรีย มีตุลาการจำนวน ๑๔ คน มีตุลาการสำรอง ๖ คน รวมทั้งสิ้น ๒๐ คน โดยประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งจากที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ๑๑ คน สภาผู้แทนราษฎร แห่งสหพันธ์เสนอ ๕ คน และสภาที่ปรึกษาแห่งสหพันธ์เสนอ ๔ คน ตุลาการทุกคนต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาทางกฎหมายและมีประสบการณ์การทำงานอย่างน้อย ๑๐ ปี
       คณะตุลาการรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส โดยประธานาธิบดีแต่งตั้ง ๓ คน ประธานสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้ง ๓ คน และประธานวุฒิสภาแต่งตั้ง ๓ คน (อดีตประธานาธิบดีทุกคนเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญโดยตำแหน่งตลอดชีวิต )และไม่มีการกำหนดคุณสมบัติของตุลาการรัฐธรรมนูญ
       ตามที่ได้กล่าวถึงที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ จะเห็นได้ว่า มาจากการเสนอและแต่งตั้งโดยสถาบันทางการเมือง เช่น รัฐสภา หรือประธานาธิบดี ซึ่งสถาบันดังกล่าวมาจาก การเลือกตั้งของประชาชน ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไทยนั้น เฉพาะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิทางนิติศาสตร์และผู้ทรงคุณวุฒิทางรัฐศาสตร์เท่านั้นที่มีจากการเลือกของวุฒิสภาซึ่งเป็นสถาบันทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และที่มาจากการเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด ไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา 9
       
       (๒) ประเด็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ
       อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญไทย สามารถแบ่งเป็นหลักๆ ได้ ๗ ประการ คือ
       ประการที่หนึ่ง การควบคุมร่างกฎหมายก่อนประกาศใช้บังคับ และ กฎหมายที่ประกาศใช้บังคับแล้ว มิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
       ประการที่สอง การควบคุมเงื่อนไขการตราพระราชกำหนดของฝ่ายบริหาร
       ประการที่สาม การวินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรี หรือกรรมการการเลือกตั้งสิ้นสุดลง หรือต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่
       ประการที่สี่ การวินิจฉัยให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ต้องพ้นจากตำแหน่งและต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
       ประการที่ห้า การวินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ
       ประการที่หก อำนาจหน้าที่อื่นๆ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด มี ๖ กรณี กล่าวคือ (๑) การวินิจฉัยมติหรือข้อบังคับของพรรคการเมืองว่า ขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่ (๒) การวินิจฉัยกรณีบุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพในทางการเมืองโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (๓) การวินิจฉัยอุทธรณ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีที่พรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นสังกัดอยู่ มีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพ (๔) การวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายที่เสนอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาพิจารณามีหลักการเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างกฎหมายที่ถูกยับยั้งไว้ หรือไม่ (๕) การวินิจฉัยว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ กระทำการเพื่อให้ตนมีส่วนโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายร่ายหรือไม่ และ (๖) การควบคุมร่างข้อบังคับการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติ มิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
       ประการที่เจ็ด อำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มี ๓ กรณี กล่าวคือ (๑) การวินิจฉัยชี้ขาดคำสั่งไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองของนายทะเบียนพรรคการเมือง (๒) การสั่งให้หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง ระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย หรือออกจากตำแหน่ง และ (๓) การสั่งให้ยุบพรรคการเมืองตามคำร้องขอของนายทะเบียนพรรคการเมือง
       
       ศาลรัฐธรรมนูญไทยไม่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยปัญหาหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับ การเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ แต่กรณีของศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมัน โปรตุเกส คณะตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส จะมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ
       ศาลรัฐธรรมนูญไทยไม่มีอำนาจหน้าที่ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงออกจากตำแหน่ง ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ กำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นผู้ไต่สวนแล้วเสนอให้วุฒิสภามีมติถอดถอนจากตำแหน่ง แต่กรณีของศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมัน ออสเตรีย โปรตุเกส คณะตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส จะมีอำนาจหน้าที่ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงออกจากตำแหน่งได้
       
       (๓) ประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดให้ประชาชนสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ไม่ได้กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ประชาชนสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอ้อมได้ใน ๒ กรณี กล่าวคือ กรณีแรกโดยผ่านช่องทางศาลยุติธรรม หรือศาลปกครอง เมื่อประชาชนเป็นคู่ความในคดี และได้โต้แย้งว่ากฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับในคดีนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยศาลจะส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย กับกรณีที่สองโดยประชาชนไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาว่า กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงาน ของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย แต่กรณีของศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมัน เบลเยี่ยม โปรตุเกส สเปน หากมีกรณีกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานแล้ว เมื่อประชาชนได้ใช้สิทธิทางศาลทั่วไปถึงที่สุดแล้ว ยังสามารถไปยื่นร้องทุกข์ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง
       
       (๔) ประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดให้มีองค์คณะย่อยเพื่อกลั่นกรองคดี
       ศาลรัฐธรรมนูญไทยไม่ได้กำหนดให้มีองค์คณะย่อย แต่กรณีศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญเยอมัน เป็นต้น ได้กำหนดให้มีองค์คณะย่อยขึ้นมาเพื่อแบ่งเบาภาระงานขององค์คณะในการพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ ซึ่งเป็นวิธีการกลั่นกรองคดีก่อนที่จะเข้าสู่องค์คณะอย่างหนึ่ง
       
       (๕) ประเด็นเกี่ยวกับการมอบหมายให้มีตุลาการผู้รับผิดชอบสำนวน
       ศาลรัฐธรรมนูญไทยไม่มีการมอบหมายให้ตุลาการคนใดคนหนึ่งเป็นตุลาการผู้รับผิดชอบสำนวน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๗ วรรคสอง กำหนดว่า “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนจะต้องทำคำวินิจฉัยในส่วนของตนพร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ" แต่กรณีของศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมัน ออสเตรีย คณะตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส มีระบบการมอบหมายให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คนใดคนหนึ่งเป็นตุลาการผู้รับผิดชอบสำนวน
       
       (๖) ประเด็นเกี่ยวกับลำดับชั้นทางกฎหมายของวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๙ วรรคแรก กำหนดว่า “วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งต้องกระทำโดยมติเอกฉันท์ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา” จึงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไทยสามารถกำหนดวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญได้เอง แต่กรณีของศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมัน ออสเตรีย คณะตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส วิธีพิจารณาคดีจะเป็นไปตามกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ตราขึ้น
       
       มีข้อสังเกตว่า ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของต่างประเทศมีความเชื่อมโยงกับสถาบันทางการเมืองซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน หรือกรณีรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาได้กำหนดที่มาของผู้พิพากษาในศาลสูงสุด (The Supreme Court) ซึ่งทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้ประธานาธิบดีเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ตามคำแนะนำและยินยอมของวุฒิสภา ดังนั้น เมื่อพิจารณาที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของทุกประเทศแล้ว จะมีความเชื่อมโยงกับตัวแทนของประชาชนทั้งสิ้น กล่าวได้ว่า โดยทั่วไปแล้ว ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นปัญหาต่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ความเป็นอิสระของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญน่าจะขึ้นอยู่กับหลักประกันที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ เช่น การดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งที่ยาวนาน หรือการกำหนดลักษณะต้องห้ามของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องผลประโยชน์ขัดกันและเพื่อความเป็นกลางทางการเมือง เป็นต้น.
       
       เชิงอรรถอ้างอิง
       
       (1) วิรัช วิรัชนิภาวรรณ, ศาลรัฐธรรมนูญไทย : วิเคราะห์เปรียบเทียบ, (กรุงเทพฯ : นิติธรรม, ๒๕๔๔) หน้า ๕๕
       (2 ) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๗๖ กำหนดให้มีศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองชั้นต้น และจะมีศาลปกครองชั้นอุทธรณ์ด้วยก็ได้ ในขณะที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๗ กำหนดให้ศาลปกครองแบ่งออกเป็น ๒ ชั้น คือ ศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองชั้นต้น
       (3) พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พุทธศักราช ๒๔๙๘ มาตรา ๖ กำหนดให้มีศาลทหารชั้นต้น ศาลทหารกลาง และศาลทหารสูงสุด
       (4) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๖๓ กำหนดให้อัยการสูงสุด มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สั่งการให้บุคคลหรือพรรคการเมืองเลิกกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
       (5) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๔๓ กำหนดว่า “ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่ากฎหรือการกระทำใดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้มีสิทธิเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองได้ ......”
       (6) ในระบบกล่าวหานั้น คู่ความมีหน้าที่จะต้องเสนอข้อเท็จจริงแห่งคดีต่อศาล คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด คู่ความฝ่ายนั้น มีหน้าที่พิสูจน์ความมีอยู่ของข้อเท็จจริงนั้น และศาลก็จะต้องพอใจอยู่แต่เฉพาะกับข้อเท็จจริงที่คู่ความกล่าวอ้างและพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบ แต่ในระบบไต่สวนนั้น ศาลเป็นผู้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดีโดยความร่วมมือของคู่ความ ศาลไม่ผูกพันกับข้อเท็จจริงที่คู่ความกล่าวอ้าง แต่อาจหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม
       (7) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๙ วรรคแรก กำหนดว่า “วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งต้องกระทำโดยมติเอกฉันท์ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
       (8) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พุทธศักราช ๒๕๔๒ มาตรา ๑๓(๓)
       (9) คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ ๑ / ๒๕๔๑ ลงวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๔๑ ว่า วุฒิสภาไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบแก่บุคคลที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้พิจารณาเลือกมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว และคำวินิจฉัยดังกล่าว มีผลผูกพันกับการเลือกตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเพื่อแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน
       
       เอกสารอ้างอิง
       
       
นันทวัฒน์ บรมานันท์ . ศาลรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ. รายงานการวิจัยเสนอต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ๒๕๔๒.
       นันทวัฒน์ บรมานันท์. การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ. รายงานการวิจัยเสนอต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ๒๕๔๖.
       วรเจตน์ ภาคีรัตน์. วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ : ศึกษากรณีศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศกับศาลรัฐธรรมนูญไทย. รายงานการวิจัยเสนอต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ๒๕๔๕.
       สมคิด เลิศไพฑูรย์. ตุลาการรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิติธรรม, ๒๕๓๖.


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544