หน้าแรก บทความสาระ
กฎบัตรว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของประเทศฝรั่งเศส : หลักการพื้นฐานในกฎหมายสิ่งแวดล้อม(La charte de l’environnement) โดย นางสาววรรณภา ติระสังขะ
วรรณภา ติระสังขะ
9 มกราคม 2548 01:39 น.
 

       
วัตถุประสงค์

                   
       บทความชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ(ในขณะนี้) ในส่วนที่ว่า ด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม และหลักการพื้นฐานทั่วไปที่ปรากฎในกฎบัตรว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของประเทศฝรั่งเศส


       
       บทนำ

                   
       ประเทศฝรั่งเศสได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและมีการคุ้มครอง
       สิทธิมนุษยชนในหลายด้านมากประเทศหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากปฎิญญามนุษยชนและพลเมือง ของฝรั่งเศส
       ค.ศ. 1789 และอารัมภบทของรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1946 ซึ่งมีสถานะเทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้บังคับในปัจจุบัน (ค.ศ.1958) อีกทั้งการเข้าร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญาระหว่างประเทศในด้านการคุ้มครองสิทธิมุษยชนในเรื่องต่างๆ เป็นต้น

                   
       แต่ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ฝรั่งเศสยังตามหลังประเทศ อื่นๆ อีกหลายประเทศ เช่น ประเทศเยอรมันนี สเปน อิตาลี เบลเยี่ยม สหรัฐอเมริกา บราซิล จีน รวมถึงประเทศไทย เป็นต้น ทั้งนี้เพราะมิได้บัญญัติรับรองการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในด้านสิ่งแวดล้อมไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้บังคับในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าประเทศฝรั่งเศสจะมีการจัดทำ ประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม (ปี ค.ศ. 2000) ซึ่งบัญญัติหลักการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมขั้นพื้นฐาน และรวบรวมกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้เป็นหมวด หมู่แล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี หลักการสิ่งแวดล้อมขั้นพื้นฐานเหล่านั้นมีฐานะเป็นกฎหมายธรรมดา ซึ่งมิได้มีสถานะเทียบเท่ากับสิทธิขั้นพื้นฐาน สำคัญๆ ทั้งหลายที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือที่มีสถานะเทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญ

                   
       เหตุนี้จึงเป็นที่มาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส (ในขณะนี้) โดยการริเริ่มของประธานธิบดี Jacques CHIRAC ซึ่งประเด็นใหญ่ๆ ในการแก้ไขครั้งนี้ก็คือ การยอมรับสิทธิมนุษยชนในด้านสิ่งแวดล้อมให้มีค่าเทียบเท่ากับสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ ในระดับรัฐธรรมนูญ และ ยกระดับหลักการขั้นพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมที่ปรากฎอยู่ในร่าง “กฎบัตรว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม” (la charte de l’environnement) ให้มีสถานะสูงกว่ากฎหมายทั่วไป โดยรูปแบบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็คือ ให้มีการเพิ่มเติมบทบัญญัติที่อยู่ในอารัมภบทของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยบัญญัติให้ประชาชนชาวฝรั่งเศสยึดมั่นในสิทธิและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในร่าง “กฎบัตรว่า ด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม” และนำเอาร่าง “กฎบัตรว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม” นี้ มาบัญญัติแนบท้ายไว้ในภาคผนวกของรัฐธรรมูญฉบับปัจจุบัน

                   
       หลักการหรือบทบัญญัติในร่าง “กฎบัตรว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม” นี้ ได้มีการนำมาให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นในระดับประเทศ ตั้งแต่ต้นปี 2003 ทีผ่านมา และในขณะนี้ร่าง
       การแก้ไขรัฐธรรมนูญและ ร่าง “กฎบัตรว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม” ดังกล่าว กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา สำหรับสิ่งที่น่าสนใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คือ ร่าง “กฎบัตรว่า ด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม” ซึ่งในกฎบัตรดังกล่าวได้มีการบัญญัติถึงหลักการและแนวความคิดสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมไว้ เช่น หลักในเรื่องการมีส่วนรวมของ ประชาชนและการเข้าถึงข้อมูลในด้านสิ่งแวดล้อม หลักการในเรื่องความรับผิดทางสิ่งแวดล้อม หลักในเรื่องการป้องกันล่วงหน้า หลักการในการระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหาย และแนวความคิดในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น

                   
       หลักการดังกล่าวส่วนใหญ่ได้มีการบัญญัติไว้แล้วในรัฐบัญญัติ ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1995 และรวบรวมเป็นประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศฝรั่งเศสมาแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 แต่การยกฐานะหลักการต่างๆเหล่านี้ให้มีฐานะเทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญ และสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในด้านอื่นๆ มีผลที่ตามมาก็คือ การออกกฎหมายลำดับรองทั้งหลายนั้น จำต้องคำนึงถึงหลักการหรือแนวความคิดดังกล่าว อีกทั้งจะออกกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับหลักการที่กำหนดไว้ในกฎบัตรว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมมิได้ ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญสามารถควบคุมตรวจสอบการออกกฎหมายเพื่อมิให้ขัดหรือแย้งกับร่างกฎบัตรดังกล่าวได้ อีกทั้งยังมีผลที่ตามมาต่อการจัดสรร งบประมาณของรัฐที่จำต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการที่บัญญัติไว้ในร่างกฎบัตรดังกล่าวด้วย

                   
       หลักการสำคัญที่บัญญัติไว้ใน “กฎบัตรว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม” มีดังต่อไปนี้


       1. หลักการป้องกันล่วงหน้า (le principe de prévention)

                   
       หลักการดังกล่าวได้ถูกบัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม ในมาตรา L.110-1
       ของประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม หลักการป้องกันล่วงหน้านี้ เป็นการกำหนดหรือหามาตรการ โดยการใช้เทคโนโลยีที่จำเป็น เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายที่ สามารถคาดหมายได้ล่วงหน้า หรือให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายน้อยที่สุดในด้านสิ่งแวดล้อม

                   
       ในทางปฎิบัติ หลักการดังกล่าวนี้ถูกนำมาใช้โดยอาศัยวิธีดำเนินการสี่ประการด้วยกัน

                   
       การศึกษาผลกระทบ (l’étude d’impact)

                    กำหนดในรัฐบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองธรรมชาติ ลงวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1976 การศึกษาผลกระทบนี้ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ เพื่อศึกษาผลกระทบล่วงหน้าที่อาจเกิดขึ้นของโครงการหรือการดำเนินการใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือทำลายสภาพแวดล้อมได้ และตลอดจนเพื่อหามาตรการป้องกันล่วงหน้าโดยมิให้ความเสียหายนั้นเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นน้อยที่สุด อนึ่ง การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในประเทศฝรั่งเศสนี้ ได้มีการกำหนดรายละเอียดในหลายรูป แบบ เช่น การศึกษาผลกระทบของโครงการที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อมและด้านอนามัย เป็นต้น

                   
       การอนุมัติก่อนล่วงหน้า (l’autorisation préalable)

                   
       เป็นกรณีที่จะมีการจัดตั้งโรงงานอุตสหกรรมขนาดใหญ่ เช่น ผลิตสารเคมี หรือ วัตถุอันตรายที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญต่อสภาพแวดล้อม ในกรณี ดังกล่าวนี้ รัฐหรือฝ่ายปกครองอาจจะมีการอนุมัติการจัดตั้งเป็นการชั่วคราวล่วงหน้าได้ โดยกำหนดให้ผู้ที่จะขอใบอนุญาติจัดตั้งต้องเสนอหรือหาวิธีการหรือ มาตรการในการบำบัดป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า มาตรการดังกล่าวนี้ ถือได้ว่าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของรัฐหรือฝ่ายปกครอง ที่นำมาตรการป้องกันล่วงหน้ามาใช้เพื่ออนุมัติโครงการที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

                   
       การทำให้สิ่งแวดล้อมกับสู่สภาพเดิม (la correction à la source)

                   
       เป็นการกำหนดมาตรการในการทำให้สภาพแวดล้อมกลับคืนสู่สภาพเดิมหรือให้มีการใช้โดยให้เสื่อมสภาพน้อยที่สุด ในรูปวิธีการจำกัดหรือลดมลพิษที่อาจเกิดขึ้น ได้ เช่น สร้างเครื่องจักรที่ลดการผลิตของเสีย หรือใช้เครื่องจักรที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียงน้อยที่สุด หรือใช้วัตถุดิบที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ เป็นต้น

                   
       การกำหนดมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (les éco-audits et le management environnemental)

                   
       เป็นการจัดการหรือตรวจสอบลักษณะของโรงงานอุตสาหกรรมแต่ละแห่งให้มี มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ในแต่ละกลุ่ม โดยอาจเป็นการจัดรวมกลุ่มในระดับสมาคมภายในประเทศ หรือเป็นการกำหนดค่ามาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ให้มีค่ามาตรฐานสากล เรียกว่า ISO (International Standard Organisation) 14001 เป็นต้น


                   
       2.หลักการระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม (le principe de précaution)

                   
       หลักการดังกล่าวได้บัญญัติไว้ในสนธิสัญญาประชาคมยุโรป (art.130-R.2 du traité de Maastricht) และในกฎหมายระหว่างประเทศในคำประกาศที่ Rio ในปีค.ศ. 1992 ในหลักการข้อ ที่ 15 (principe 15 de la Déclaration de Rio) และได้บัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายสิ่งแวด ล้อมของประเทศฝรั่งเศส (art. L.110-1-II)

                   
       หลักการดังกล่าวเป็นกรณีที่รัฐ หรือฝ่ายปกครองนำเอามาตรการต่างๆ ที่มีอยู่มาใช้ในกิจกรรม หรือโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อระมัดระวังและป้องกันมิให้เกิดความเสียหายทางด้านสิ่งแวดล้อมขึ้น หรือให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงการระมัดระวังมิให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายขึ้นด้วย โดยความเสียหายหรือผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ซึ่งต่างกับหลักการป้องกันล่วงหน้าที่สามารถคาดการณ์ความเสียหายหรือผลกระทบไว้แต่ล่วงหน้า หลักการระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมนี้ ถูกนำมาใช้อย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการตัดต่อทางพันธุกรรม หรือ OGM เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค เป็นต้น

                   
       หลักการดังกล่าวเป็นหลักการที่สำคัญที่รัฐ หรือฝ่ายปกครองต้องคำนึงถึง เพื่อป้องกันมิให้ มีความเสียหายเกิดขึ้น หรือให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด โดยหากมีความเสียหายเกิดขึ้น รัฐหรือฝ่ายปกครองจำต้องหามาตรการที่จำเป็นอย่างเร่งด่วนเพื่อระงับความเสียหายให้ทันท่วงที หากมิเช่นนั้นแล้ว รัฐหรือฝ่ายปกครองอาจมีความรับผิดในเรื่องนั้นๆได้

                   
       หลักการดังกล่าวเป็นหลักการที่สำคัญหลักการหนึ่ง ซึ่งเป็นหลักการที่สามารถโยงไปถึงหลัก ในเรื่องความรับผิดของรัฐต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นได้


                   
       3. หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้ชดใช้ (le principe pollueur-payeur)
       หลักการนี้ได้บัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศฝรั่งเศส (art. L.110-1) และได้นำมาบัญญัติไว้อีกครั้งหนึ่งในร่างกฎบัตรว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมดังกล่าวโดยหลักการนี้หมายถึง ความรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นตกเป็นของผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือก่อให้เกิดมลพิษทางด้านสิ่งแวดล้อมนั้นเอง ในกฎหมายภายในของประเทศฝรั่งเศส หลักการดังกล่าวได้นำมาประยุกต์ใช้ในหลายเรื่อง ที่สำคัญคือ ในเรื่องของภาษีหลายๆ รูปแบบ เช่น ภาษีของโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษทางขยะ ทางอากาศ ทางเสียง ซึ่งรวมเรียกว่า “ภาษีทั่วไปของกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษ” (La taxe générale sur l’activités polluantes << TGAP >>) โดยเจ้าของโรงงานอุตสหกรรม หรือผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมต้องรับ ภาระเสียภาษีดังกล่าวเพิ่มขึ้น อนึ่งภาษี << TGAP >> นี้เป็นแหล่งที่มาหนึ่งของรายได้ของรัฐด้วย


                   
       4. หลักว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนและการเข้าถึงข้อมูลในด้านสิ่งแวดล้อม
       (le principe de participation et le principe d’information)


                   
       หลักการดังการนับว่าเป็นหลักการที่สำคัญมากหลักการหนึ่ง โดยเป็นขั้นตอนในเรื่องของ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจในกระทำทางของรัฐ หรือฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม หรือการดำเนินงานใดที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม หลักการดังกล่าวก็เช่นเดียวกับหลักการอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือเป็นหลักการ ที่บัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศฝรั่งเศสและได้นำมาเน้นย้ำอีกครั้งในร่างกฎบัตรว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมดังกล่าว หลักการดังกล่าวนี้ เป็นหลักการเดียวกับที่กำหนดไว้ ในรัฐธรรมนูญของไทย มาตรา 59 (ในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน) แต่ในประเทศฝรั่งเศส นั้น หลักดังกล่าวได้มีนำมาใช้ในด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ในเรื่องของการเวนคืน การจัดการผังเมือง และในเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

                   
       หลักการนี้เป็นหลักการที่พูดถึงการให้ประชาชน หรือกลุ่มองค์กรทางด้านสิ่งแวดล้อม (เช่น NGO หรือสมาคมต่างๆ) มีสิทธิในการเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจของภาครัฐ ในโครงการ ต่างๆที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม หรือก่อให้เกิดความเสียหายทางด้านสิ่งแวดล้อมได้ โดยในประเทศฝรั่งเศส การมีส่วนร่วมนี้สามารถจัดทำในหลายๆ รูปแบบ เช่น การทำประชาพิจารณ์ (L’enquête publique) การอภิปรายสาธารณะ (Le débat public) การปรึกษาหารือ (La concertation) และ การทำประชามติท้องถิ่น (Le référendum local) เป็นต้น

                   
       หลักว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนนี้เป็นหลักการสำคัญที่ไม่อาจบรรลุถึงวัตถุประสงค์ ได้หากไม่มีการนำหลักในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้ประกอบ เพราะการเข้าถึงข้อมูลในด้านสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ผู้เข้าร่วมเแสดงความคิด เห็นหรือผู้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มีข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นและเพียงพอต่อการร่วมเสนอความคิดเห็นต่อไป

                   
       ในประเทศฝรั่งเศสนั้น สมาคมหรือองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์คุ้มครองและรักษา คุณภาพสิ่งแวดล้อมมีบทบาทอย่างมาก เช่น สมาคมหรือองค์กรเหล่านี้สามารถเสนอข้อคิดเห็น หรือข้อโต้แย้งต่อฝ่ายปกครอง ในโครงการหรือเรื่องที่ตนเห็นว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมต่อส่วนร่วมได้ โดยสามารถยื่นข้อเสนอ หรือความเห็นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด หรือในกรณีเป็นเรื่องนอกเหนืออำนาจของจังหวัด สมาคมหรือองค์กรเหล่านี้ ก็สามารถยื่นข้อเสนอหรือความคิดเห็นต่อรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้ตามมาตรา L.611-1และ L.621-1 ในประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม และหากสมาคมหรือองค์กรใดเห็นว่าการกระทำของรัฐหรือของ ฝ่ายปกครองก่อให้เกิดความเสียหายหรือก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สมาคมหรือองค์กร เหล่านี้ ก็สามารถเป็นตัวแทนหรือร่วมกับผู้เสียหายดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลได้ทั้งทางแพ่งและ ทางปกครอง


                   
       5. หลักในเรื่องความรับผิดทางสิ่งแวดล้อม (le principe de responsabilité écologique)

                   
       หลักในเรื่องความรับผิดนี้เป็นกลไกมีขึ้นเพื่อเยียวยาแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาจเป็นการชดใช้ค่าเสียหายต่อผู้ที่ได้รับความเสียหายหรือต่อผู้ที่ได้รับผล กระทบ หรือทำการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับมาคงสภาพเดิม

                   
       ในประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศสได้กล่าวถึงความรับผิดที่สามารถนำมาใช้กับเรื่อง ความรับผิดทางสิ่งแวดล้อมได้ สามกรณีใหญ่ๆ คือ

                   
       ความรับผิดที่มีการกระทำผิด (la responsabilité pour faute)

                    ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 1382 และ 1383 ของประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากผู้ที่กระทำผิดหรือผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม โดยในกรณีนี้ผู้เสียหายหรือผู้ที่มีส่วนได้เสียเป็นผู้มีหน้าที่ พิสูจน์ความผิดหรือความเสียหายนั้นเอง

                   
       ความรับผิดที่ปราศจากการกระทำความผิด (la responsabilité sans faute du fait des choses)

                   
       บัญญัติไว้ในมาตรา 1384-1 ของประมวลกฎหมายแพ่ง ซึ่งตามแนวทาง คำพิพากษาของศาลได้วางหลักไว้ว่า เป็นความรับผิดที่เกิดขึ้นโดยปราศจากทุกการกระทำผิดหรือละเมิดอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้รับผิดเอง ความรับผิดดังกล่าว เป็นแนวความคิดที่ได้รับการขยายความจากแนวคำพิพากษาของศาลที่ต้องการเยียวยาให้ผู้ได้รับความเสียหายได้รับการเยียวยาตามสมควร ตัวอย่างเช่นในกรณีของความเสียหายที่เกิดจากตัวเครื่องจักรเอง หรือ การใช้ผลิตภัณฑ์ทางเคมี เป็นต้น

                   
       ความรับผิดที่ปราศจากการกระทำความผิดที่มีเหตุจากการรบกวนของเพื่อนบ้าน หรือบริเวณใกล้เคียง (le régime de responsabilité sans faute fondé sur la théorie des troubles de voisinage)

                    ความรับผิดดังกล่าวเป็นการพัฒนามาจากแนวคำพิพากษาของศาลที่กำหนดให้มีความรับผิดเกิดขึ้นในกรณีที่มีการรบกวนของเพื่อนบ้านหรือโรงงานอุตสาหกรรมบริเวณใกล้เคียงในเรื่องของเสียง หรือกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์เกินกว่ามาตรฐานปกติ เป็นต้น


                   
       6. หลักในเรื่องการให้การศึกษาในเรื่องสิ่งแวดล้อม (le principe de l’éducation)

                   
       หลักในเรื่องการให้การศึกษาหรือการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมนี้เป็นหลักการสำคัญหลักการหนึ่งที่เชื่อมโยงกับแนวความคิดในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันย่อมส่งผลให้เกิดแนวความคิดที่จะสามารถอนุรักษ์ และส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพและยาวนานต่อไป และอีกทั้งการให้ความรู้ความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อมนี้ ยังเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าใจถึงสภาพ และปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดการแสดงออกทางความคิดเห็นของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของรัฐหรือฝ่ายปกครองในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

                   
       การให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมนี้ รัฐเป็นผู้มีหน้าที่ที่สำคัญที่จะต้องส่งเสริม ความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกที่ดีในการพัฒนาและอนุรักษ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับ ภาคการศึกษาและตลอดจนถึงระดับประชาชนทั่วไป


                   
       7. หลักว่าด้วยการบูรณาการแนวคิดทางด้านสิ่งแวดล้อมไว้ในนโยบายสาธารณะ
       (le principe d’intégration de l’environnement dans les politiques publiques)


                   
       หลักการดังกล่าวถือได้ว่าเป็นหลักการแม่บทที่จะส่งผลให้หลักการอื่นๆ หรือมาตรการอื่นๆ ในการพัฒนาและอนุรักษ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมนั้นสัมฤทธิ์ผลได้ เพราะการกำหนดแนวนโยบายสาธารณะของประเทศโดยคำนึงและตระหนักถึงนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมย่อมจะเป็นผลให้ มีการนำหลักแนวความคิดต่างๆ ในด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

                   
       ในประเทศฝรั่งเศสเอง หลักการดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้แล้วในกฎหมายหลายเรื่องโดย เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องการจัดการและการพัฒนาที่ยั่งยืนของพื้นที่ (l’aménagement et développement durable du territoire) เช่น กฎหมายได้กำหนดให้มีการศึกษาผลกระทบล่วงหน้า (l’étude d’impact préalable) ในโครงการสำคัญที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายทางด้านสิ่งแวดล้อมได้ หรือในเรื่องของการขนส่งสาธารณะ โดยหลักการที่ให้ นโยบายสาธารณะต้องคำนึงถึงหลักการในเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น ทำให้เกิดนโยบายของภาครัฐ ที่กำหนดให้มีการใช้ยานพาหนะที่ลดมลพิษทางด้านอากาศหรือเสียง เป็นต้น


                   
       อนึ่ง นอกจากหลักการต่างๆที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ในร่าง “กฎบัตรว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม” ก็ได้มีการกำหนดแนวความคิดพื้นฐานน่าสนใจที่สำคัญๆ ด้วยกันสามประการ คือ


                   
       1. แนวความคิดในเรื่องสมบัติของสาธารณะ (La notion de patrimoine commun)

                   
       แนวความคิดนี้มิได้มีการให้คำนิยามที่แน่นอนไว้ในบทบัญญัติใด แต่มีการยอมรับในกฎหมายระหว่างประเทศหลายสาขา เช่น ในกฎหมายทางทะเลระหว่างประเทศ หรือ กฎหมายในเรื่องการอนุรักษ์ภาษาต่างๆที่มีอยู่ที่ถือว่าภาษาเป็นสมบัติสาธารณะร่วมกัน เป็นต้น

                   
       ในกฎหมายภายในของประเทศฝรั่งเศสเอง ได้มีการกล่าวถึงแนวความคิดดังกล่าวด้วย เช่นกันไว้ในประมวลกฎหมายผังเมือง มาตราที่ 110 ซึ่งกำหนดไว้ว่า << อาณาเขตของประเทศ ฝรั่งเศสเป็นสมบัติร่วมกันของชาติ >> และในประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน ก็ได้มี การกล่าวถึงแนวความคิดดังกล่าว เช่น ในเรื่องของพื้นที่ทางธรรมชาติ หรือในเรื่องของคุณภาพ ของอากาศ ของน้ำ ซึ่งต่างก็่เป็นสมบัติร่วมกันของสาธารณะ


                   
       2. สิทธิมุนษยชนในการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี (Le droit de l’homme à un environnement sain)

                   
       สิทธิดังกล่าวนี้เป็นสิทธิที่จะมีคุณภาพชีวิตในด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีและสิทธิดังกล่าวก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นสิทธิที่มีฐานะเทียบเท่ากับเสรีภาพในการเดินทาง (la liberté d’aller et venir) หรือสิทธิแห่งความเป็นเจ้าของ (le droit de propriété) อีกทั้งยังเป็นสิทธิส่วนบุคคล หรือเป็น สิทธิส่วนรวมของกลุ่มบุคคลก็ได้ สิทธิดังกล่าวนี้ ยังเป็นสิทธิที่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างโต้แย้ง ได้ในทุกกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบยุติธรรม

                   
       ในทางระหว่างประเทศ ศาลสิทธิมุนษยชนแห่งยุโรปก็ได้ประกาศยอมรับว่าสิทธิมนุษยชนในด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีนี้เป็นสิทธิที่เกาะเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐานที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปด้วย

                   
       ในประเทศฝรั่งเศส ก่อนหน้าที่จะมีการตื่นตัวทางด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม ศาลยุติธรรมของฝรั่งเศสได้ตัดสินโต้แย้งว่าสิทธิในด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวนี้ มิได้ก่อให้เกิดสิทธิหรือเสรีภาพ ขั้นพื้นฐานแต่อย่างใด ต่อมาหลังจากมีการตื่นตัวอภิปรายอย่างกว้างขวางทางด้านแนวความคิดด้านสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่กฎหมายว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองธรรมชาติในปี ค.ศ. 1976 จนกระทั่ง ในประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศสก็ได้มีการบัญญัติรับรองถึงสิทธิดังกล่าวไว้ในมาตรา L.110-2 ว่า “สิทธิของบุคคลที่จะมีสิ่งแวดล้อมที่ดีนั้นให้กำหนดไว้ในรัฐบัญญัติหรือรัฐกฤษฎีกา” (les lois et les règlements organisent le droit de chacun à un environnement sain)


                   
       3. แนวความคิดในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (le développement durable)

                   
       ในร่าง “กฎบัตรว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม” นี้ ได้การกำหนดให้การจัดทำนโยบายสาธารณะ ว่าจำต้องคำนึงถึงและสนับสนุนแนวความคิดในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

                   
       แนวความคิดในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ได้รับการอธิบายอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรายงานของคณะกรรมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมโลกในการทำงานของสหประชาชาติเมื่อปี ค.ศ. 1987 ว่า เป็นการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในปัจจุบัน โดยปราศจากการทำให้เกิด ความเสื่อมสภาพหรือผลกระทบต่อคนในรุ่นต่อไป (un développement qui s’efforce de répondre aux besoins du présent sans compromettre la capacité des générations futures à satisfaire les leurs)


                   
       แนวความคิดดังกล่าวสามารถนำมาประยุกต์ใช้พัฒนาได้ในสามด้านด้วยกัน คือ

                   
       - ในด้านเศรษฐกิจ แนวความคิดนี้นำมาใช้เพื่อที่จะพัฒนาจุดมุ่งหมายของการเจริญเติบโตและประสิทธิผลทางด้านเศรษฐกิจ

                   
       - ในด้านสังคม โดยนำแนวความคิดนี้มาใช้พัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมอย่างสมดุลในด้านสุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย การบริโภค การศึกษา หรือ การทำงาน เป็นต้น

                   
       - ในด้านสิ่งแวดล้อม โดยแนวความคิดดังกล่าวจะก่อให้เกิดการอนุรักษ์ตลอดจนถึงการ ใช้ทรัพยากร ธรรมชาติที่สมดุลเหมาะสมเพื่อระยะยาวต่อไป

                   
       แนวความคิดในการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมนี้ได้ถูกนำมากล่าวถึงอย่างกว้างขวาง และอ้างถึงในหลักการต่างๆ ที่อยู่ในหลักการของการประชุมนานาชาติ เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ Stockholm ในปีค.ศ. 1972 ในคำประกาศที่ Rio ในปีค.ศ. 1992 ตลอดจนถึงการประชุมของสหประชาชาติในเรื่องที่ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ Johannesbourg ในปีค.ศ.2002 โดยเป็นการ นำเสนอความคิดที่ว่าด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อมตามความเหมาะสม และ อย่างจำกัดโดยคำนึงถึงคนรุ่นต่อไป

                   
       ในประเทศฝรั่งเศสเองก็ได้มีการจัดทำแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งชาติขึ้น (Stratégie nationale de developpement durable “SNDD”) ในปี ค.ศ. 2003 เพื่อเป็นแผนการส่งเสริม และผลักดัน ให้มีการนำแนวความคิดในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ในทุกๆการดำเนิน งานทางปกครองทั้งหลายต่อไปด้วย


       บทสรุป

                   
       การแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศสในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมนี้ นับเป็น ตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นการตะหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ ตลอดจนถึงแนวความคิดในการใช้ การอนุรักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติ และในทางกฎหมายเป็นการยกค่าของหลักการและแนวคิดที่สำคัญๆของกฎหมายสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีสถานะเทียบเท่ากับ หลักสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ ที่รัฐธรรมนูญรับรอง

                   
       ถึงแม้ประเทศใดก็ตามจะมีการนำหลักการหรือแนวความคิดต่างๆในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว แต่สิ่งสำคัญหาใช่มีเพียงบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากแต่รัฐหรือฝ่ายปกครองจำต้องนำหลักการหรือนำแนวความคิดต่างๆที่ กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น มาใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรมและอย่างมีประสิทธิภาพแท้จริง โดยต้องคำนึงถึงหลักการและแนวความคิดต่างๆมาเป็นปรัชญาขั้นพื้นฐานในการออกกฎหมาย หรือในการกระทำทางปกครองที่เกี่ยวข้อง กับเรื่องสิ่งแวดล้อมต่อไป อีกทั้งจำต้องคำนึงถึงสภาพทางสังคมตลอดจนถึงวัฒนธรรมทาง กฎหมายของประเทศตนเองเป็นสำคัญ


       
       


       
บรรณานุกรม


                   
       1. Jacqueline MORAND - DEVILLER, Le droit de l’environnement, PUF, paris, 2002.


                   
       2. Michel PRIEUR, L’environnement entre dans la constitution, Droit de l’environnement, n 106-mars 2003.


                   
       3. Michel PRIEUR, Droit de l’environnement, Dalloz, Paris, 2004.


                   
       4. Catherine ROCHE, L’essentiel du droit de l’environnement, édition les Carrés, Paris, 2001.


                   
       5. http://www.charte.environnement.gouv.fr


       


       


       



       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2547


       




 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544