หน้าแรก บทความสาระ
กฎหมายพรรคการเมือง :โอกาสและข้อจำกัดในการส่งเสริมและพัฒนาพรรคการเมือง โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุจิต บุญบงการ
ศาสตราจารย์ ดร.สุจิต บุญบงการ
9 มกราคม 2548 01:05 น.
 

       
            
        ในการพัฒนาพรรคการเมืองในประเทศต่างๆเราจะพบว่ามีหลายประเทศที่ไม่มีกฎหมายพรรคการเมืองรองรับโดยตรง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือในประเทศเหล่านั้นการเกิดขึ้น การพัฒนาและการเจริญเติบโตของพรรคการเมืองไม่ได้อยู่ที่กฎหมายพรรคการเมือง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งมีกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองโดยเฉพาะในประเทศเหล่านี้พรรคการเมืองมีขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองบัญญัติให้เกิดขึ้น และการพัฒนาก็อยู่ในกรอบของกฎหมายดังกล่าว

                   
        ดังนั้นในการกล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างกฎหมายกับพรรคการเมืองว่า กฎหมายพรรคการเมืองมีส่วนส่งเสริม หรือจำกัดการพัฒนาพรรคการเมืองอย่างไร คงต้องเริ่มต้นจากไปดูระบบพรรคการเมืองที่ไม่มีกฎหมายโดยตรงรองรับ ว่ามีการพัฒนาได้อย่างไรโดยไม่มีกฎหมายดังกล่าว ประเทศแรกที่จะขอกล่าวถึงคือ อังกฤษ เนื่องจากมีระบบพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดประเทศหนึ่ง รัฐธรรมนูญอังกฤษซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญมิใช่ลายลักษณ์อักษร ไม่ได้กล่าวถึงพรรคการเมืองแต่ก็ถือได้ว่าพรรคการเมืองเป็นองค์ประกอบทางการเมืองที่สำคัญของอังกฤษ

                   
        ถ้าจะดูจากความเป็นมาของพรรคการเมืองในอังกฤษแล้วจะเห็นได้ว่า พรรคการเมืองของอังกฤษไม่ได้เกิดขึ้นหรือจัดตั้งขึ้นเพราะกฎหมายบัญญัติให้ตั้งขึ้นได้ แต่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของนักการเมือง เช่น พรรคอนุรักษ์นิยม เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของสมาชิกรัฐสภาในช่วงทศวรรษ 1870 ที่เป็นชนชั้นสูง และได้ขยายตัวขึ้นเพื่อรณรงค์หาเสียง เพื่อให้ได้ที่นั่งในสภามากขึ้น โดยได้จัดตั้งสมาคมพรรค (party association) ในเขตเลือกตั้ง พรรคเสรีนิยม (Liberal) เป็นการรวมกลุ่มของนักการเมืองที่เป็นชนชั้นกลาง ส่วนพรรคแรงงานเกิดจากภายนอกสภาคือเกิดจากสหภาพแรงงาน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นแรงงานที่มีการจัดตั้งเป็น สหภาพแรงงาน พรรคทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ตั้งขึ้นมิใช่โดยกฎหมาย กล่าวอีกนัยหนึ่ง การจัดตั้งพรรคการเมืองสะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างทางชนชั้นของอังกฤษที่แบ่งออกไปเป็น ชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง และ ชนชั้นล่างหรือชนชั้นกรรมกร การเจริญเติบโต การจัดโครงสร้างและการดำเนินงานต่างๆของพรรค เป็นไปตามเงื่อนไขต่างๆทางการเมือง เป็นเรื่องของแต่ละพรรคที่จะจัดการเพื่อให้ตนเองได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนเพื่อให้ได้ที่นั่งในสภาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

                   
        สำหรับในกรณีของสหรัฐก็เช่นกัน มิได้มีกฎหมายพรรคการเมืองโดยเฉพาะ การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองเป็นเรื่องของการรวมตัวของนักการเมือง หรือผู้ที่มีความคิดทางการเมืองคล้ายคลึงกัน เช่นในตอนเริ่มตั้งประเทศสหรัฐก็มีกลุ่มการเมืองแบ่งออกเป็นพวก Federalist กับพวก Anti-Federalist พวก Federalist เป็นพวกที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญที่ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และพวก Anti-Federalist เป็นพวกที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ต่อมาพวก Federalist กลายเป็นพรรคการเมืองใช้ชื่อว่า Federalist อีกพรรคหนึ่งมีชื่อว่าพรรค Democratic Republican พรรค Federalist มีชีวิตอยู่ไม่นานก็ยุบตัวเองไป คือเลิกไปในปี 1820 ส่วนพรรค Democratic Republican ได้แยกตัวเองออกมาเป็นพรรค Democrat เพื่อต้องการเป็นตัวแทนของคนธรรมดา หรือ Common people และได้มีการจัดตั้งพรรค Whigs ขึ้นโดยการรวมตัวกันของพรรค Democratic Republican ที่ยังหลงเหลืออยู่แต่เรียกตัวเองว่า National Republican กับกลุ่มการเมืองอื่นๆอีกจำนวนหนึ่ง และพรรค Whigs นี้เองได้รวมกับพวกต่อต้านการมีทาสได้รวมกันจัดตั้งพรรค Republican ขึ้นในต้นทศวรรษ 1850 โดยมีนโยบายต่อต้านการมีทาส ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการเกิดขึ้น การยุบและการพัฒนาของพรรคการเมือง ไม่ได้เป็นไปเพราะกฎหมาย แต่เป็นเพราะสภาพทางการเมืองเป็นประการสำคัญ การพัฒนาพรรคการเมืองทั้งในกรณีของอังกฤษและของสหรัฐจึงเป็นเรื่องของตัวพรรคและสภาพแวดล้อมทางการเมืองและการสนับสนุนที่ได้รับจากประชาชน อย่างไรก็ตามมิได้หมายความว่าพรรค การเมืองไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายใดๆ อันที่จริงมีกฎหมายจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปควบคุมกิจกรรมและการดำเนินงานในบางเรื่องของพรรคการเมืองเช่นในกรณีของพรรคการเมืองในสหรัฐที่จะส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดี จะมีชื่อผู้สมัครของตนในบัตรเลือกตั้งในรัฐใดๆได้ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎข้อบังคับของรัฐนั้นๆ

                   
        สำหรับกรณีของประเทศไทยเราอยู่ในกลุ่มที่มีกฎหมายพรรคการเมืองโดยเฉพาะแม้ว่าในตอนเริ่มต้นของการมีพรรคการเมืองเมื่อปี พ.ศ.2489 หาได้มีกฎหมายพรรคการเมืองโดยเฉพาะไม่มีเพียงแต่บทบัญญัติให้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2489 ที่ให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาได้ จึงได้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาโดยมิได้มีกฎหมายรองรับ พรรคที่จัดตั้งขึ้นในครั้งนั้นที่สำคัญได้แก่ พรรคสหชีพ และพรรคประชาธิปไตย เป็นต้น อันที่จริงก่อนหน้านั้น คือหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 ไม่นานนัก ก็ได้มีความพยายามจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา อันได้แก่ ความพยายามของหลวงวิจิตรวาทการที่จะจัดตั้ง “คณะการเมือง” ซึ่งหลวงวิจิตรฯแปลมาจากคำว่า political party โดยจะจัดตั้งคณะการเมืองชื่อ คณะชาติ ขึ้น ให้เป็นฝ่ายค้านของคณะราษฎร โดยใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยการจัดตั้งสมาคม แต่คณะราษฎรไม่ยอมให้จัดตั้ง

                   
        อย่างไรก็ตามในกรณีของประเทศไทย ได้มีความเชื่อว่าการมีพรรคการเมืองโดยไม่มีกฎหมายเฉพาะรองรับ จะทำให้พรรคการเมืองไม่รับผิดชอบ ขาดระเบียบวินัย และไม่สามารถควบคุมให้พรรค ดำเนินงานไปในแนวทางที่เหมาะสมที่ถูกต้อง

                   
        ดังนั้นจึงได้มีการบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองตลอดในช่วงที่ยอมให้มีพรรคการเมือง ได้ คือตั้งแต่ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ จนถึงปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ ลักษณะของกฎหมายหรือพระราชบัญญัติพรรคการเมืองทั้งหลาย มีหลักการคล้ายคลึงกันคือ การจัดตั้งพรรคต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งสิทธิ บทบาท การดำเนินงาน และการสิ้นสุดของพรรคการเมือง ที่สำคัญก็คือการมีกฎหมายพรรค การเมืองก็เพื่อให้พรรคการเมืองมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีความรับผิดชอบ เป็นโจทก์จำเลยในศาลได้ แต่กฎหมายพรรคการเมืองในระยะหลัง เช่น พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๒๔ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ มีรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น เช่น บทบัญญัติบังคับให้จัดตั้งสาขาพรรค การจัดโครงสร้างภายในพรรค และการดำเนินงานของพรรคในรายละเอียด เช่น การประชุมใหญ่ของพรรคต้องดำเนินการอย่างไร

                   
        เหตุผลในการบัญญัติรายละเอียดมากขึ้นนั้น อาจเป็นไปได้ว่าเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในกฎหมาย ฉบับก่อนๆ และเพื่อบังคับให้พรรคดำเนินการต่างๆ ให้เกิดความมั่นคงในตัวของพรรคเอง เช่น ต้องมีการจัดโครงสร้างที่เป็นระบบมีนโยบายที่ชัดเจน มีสาขาพรรคกระจายทั่วไป เพื่อให้พรรคได้รับฐานสนับสนุนที่กว้างขวางอันจะทำให้พรรคมั่นคง ไม่ต้องการให้มีการตั้งพรรคเป็นแบบท้องถิ่น นิยม หรือพรรคเฉพาะกิจเพื่อประโยชน์เฉพาะหน้าบางอย่าง

                   
        อย่างไรก็ตามพรรคการเมืองของไทยยังขาดความเข้มแข็งและมั่นคง ทั้งที่มีกฎหมายพรรคการเมือง บัญญัติออกมาใช้หลายฉบับในระยะเวลานานตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ปัญหาจึงมีอยู่ว่ากฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองมีความจำเป็นหรือไม่เพียงใด และถ้ายังจำเป็นต้องมีอยู่จะทำอย่างไร จึงจะให้กฎหมายส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งขึ้นได้

                   
        ประเด็นแรกที่ต้องคำนึงถึงคือเรายังจำเป็นต้องมีกฎหมายพรรคการเมืองหรือไม่ คำตอบก็คือยังคงต้องมีกฎหมายพรรคการเมืองอยู่ เนื่องจากมีประโยชน์หลายประการ ที่สำคัญคือ เป็นผลให้ พรรคมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีความรับผิดชอบตามกฎหมาย ถ้าจะยึดแบบอย่างประเทศสหรัฐหรืออังกฤษ ที่ไม่มีกฎหมายพรรคการเมืองโดยเฉพาะรองรับคงจะไม่ได้ จะทำให้พรรคการเมืองมีความรับผิดชอบ ได้ลำบาก แต่ขณะเดียวกันเราต้องยอมรับว่าการพัฒนาพรรคการเมืองขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ไม่ใช่อยู่ที่กฎหมายอย่างเดียวและกฏหมายจะต้องช่วยส่งเสริมให้ระบบพรรคการเมืองมีความเจริญก้าวหน้าไปในแนวทางระบอบเสรีประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

                   
        ถ้าจะให้กฎหมายช่วยส่งเสริมการพัฒนาพรรคการเมืองเช่นนั้น เราจะต้องคำนึงถึงประเด็นที่สำคัญคือ จะต้องมีความสมดุลระหว่างการบังคับเพื่อให้เกิดวินัยและความรับผิดชอบกับเสรีภาพ ความสมดุลเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างขึ้น เป็นปัญหาที่โต้เถียงกันเป็นเวลานานนับพันปี นับตั้งแต่มีรัฐเกิดขึ้นก็ว่าได้ และที่สำคัญคือเรามักจะหาความเห็นพ้องต้องกันลำบากว่าความสมดุลเช่นนั้นอยู่ตรงไหน แต่ถึงจะมีความยากลำบากอย่างไรก็ต้องแสวงหาความสมดุลและสร้างมันขึ้นมาให้ได้

                   
        ความสมดุลในเรื่องนี้อาจดูได้จากการจัดตั้งพรรคการเมือง ในประเทศที่ใช้ระบบเผด็จการจะให้ความสำคัญกับความเข้มแข็งของพรรคการเมืองมักยอมให้พรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวเท่านั้นที่มีอำนาจทางการเมือง และอาจมีกฎหมายห้ามตั้งพรรคอื่นๆ แม้ในกรณีที่ยินยอมให้มีพรรคอื่นๆได้ ก็จะไม่ให้มีอิทธิพลหรืออำนาจแต่อย่างใด เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองถูกจำกัดอย่างมากโดยอ้างว่าการมีพรรคการเมืองหลายพรรคทำให้การเมืองไร้เสถียรภาพมีความวุ่นวาย ส่วนประเทศที่เป็นเสรีประชาธิปไตยเต็มที่ จะเน้นเรื่องเสรีภาพของการจัดตั้งพรรคการเมืองและเสรีภาพของพรรคการเมืองในการดำเนินกิจการทางการเมือง ในระบบนี้จึงมีพรรคการเมืองได้หลายพรรคและ ต้องการเน้นระบอบหลายพรรคเช่น เยอรมนี และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เป็นต้น สำหรับประเทศไทย รัฐธรรมนูญได้มีเจตนารมณ์ให้การจัดตั้งพรรคการเมืองทำได้ง่าย เพราะเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของบุคคลที่จะรวมกลุ่มกันทางการเมือง ดังนั้น กฎหมายพรรคการเมืองจะต้องสนองเจตนาดังกล่าวของรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองใช่ว่าจะไม่มีขอบเขตจำกัด เช่น การจัดตั้งที่ขัดกับระบบเสรีประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทำมิได้ หรือไม่สนับสนุนให้มีการจัดตั้งพรรคท้องถิ่นนิยมที่หัวรุนแรงหรือเข้มข้นเกินไป การยอมให้จัดตั้งพรรคการเมืองได้ง่ายนั้น มีข้อโต้แย้งว่าทำให้พรรคมีจำนวนมาก เกิดเป็นระบบหลายพรรคและโดยธรรมชาติของระบบหลายพรรคนั้นจะทำให้ระบบพรรคการเมืองมีความอ่อนแอ และส่งผลให้การเมืองไร้เสถียรภาพ หลายคนอยากให้มีเพียงระบบสองพรรคอย่างอังกฤษหรืออเมริกา แต่ระบบสองพรรคใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้โดยง่าย และระบบหลายพรรคที่ไม่มีเสถียรภาพอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆด้วย ไม่ใช่เกิดจากจำนวนพรรคที่มีมากเกินไปแต่เพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกันการหาทาง จำกัดจำนวนพรรคให้เหลือเพียงพรรคเดียวหรือมีพรรคใหญ่เพียงพรรคเดียว โดยพรรคฝ่ายค้านไม่มีหรือมีก็อ่อนแอไม่สามารถเป็นทางเลือกให้กับประชาชนได้นั้น อาจไม่เหมาะสมเพราะเป็นการปิดกั้น ทางเลือกของประชาชน ถ้าประชาชนไม่พอใจในรัฐบาลก็ไม่สามารถมีตัวเลือกเพื่อให้ประชาชนเลือกเข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่ได้ ดังนั้นถ้าจะมีข้อจำกัดในการจัดตั้งพรรคการเมือง ก็น่าจะเป็นข้อจำกัดที่ได้กล่าวไปแล้ว คือ ขัดกับระบอบเสรีประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกับเป็นพรรคท้องถิ่นนิยมที่รุนแรงเกินไป

                   
        ในส่วนของการดำเนินการของพรรคในระยะหลังจะเห็นได้ว่า กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง มีบทบัญญัติที่ละเอียดมากขึ้น ในการดำเนินงาน เหตุผลของการบัญญัติเช่นนั้นอาจเป็นผลมาจากในอดีตที่พรรคต่างๆมักทำงานไม่เป็นระบบ บางพรรคก็ขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรคเท่านั้น จึงมีบทบัญญัติเพื่อบังคับให้พรรคดำเนินงานและบริหารกิจการภายในพรรคให้เป็นไปในลักษณะเดียวกันทั้งหมด ในด้านหลักการแล้ว พรรคแต่ละพรรคย่อมมีหลักการบริหารงานที่แตกต่างไปจากพรรคอื่นได้ ดังนั้นกฎหมายไม่ควรจะมีบทบัญญัติในด้านการดำเนินกิจการของพรรคที่ละเอียดจนเกินไปและเหมือนกันทุกพรรค บางทีเราต้องถามตัวเราว่าทุกพรรคต้องมีโครงสร้างเหมือนกัน เช่นต้องมีที่ประชุมใหญ่ มีกรรมการบริหาร มีเลขาธิการพรรค เหล่านี้เป็นต้นหรือไม่ และถ้าต้องมีเหมือนกัน อำนาจหน้าที่และการได้มาซึ่งตำแหน่งดังกล่าวจำเป็นต้องเหมือนกันหรือไม่

                   
        ในด้านของสมาชิกพรรคและการจัดตั้งสาขาพรรค รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ที่จะให้พรรค การเมืองที่จัดตั้งขึ้น เป็นพรรคที่มีฐานสนับสนุนจากประชาชนและกระจายให้กว้างขวางไม่กระจุกตัวอยู่แต่ในส่วนหนึ่งส่วนใดของประเทศ การหาสมาชิกก็ดี การจัดตั้งสาขาพรรคก็ดี ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าไม่มีการเร่งรัดในเรื่องนี้ พรรคการเมืองทั้งหลายอาจนิ่งนอนใจไม่ดำเนินการแต่อย่างใดในเรื่องดังกล่าว พรรคก็จะเป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆแคบๆ ดังนั้นในเรื่องการหาสมาชิกและการจัดตั้งสาขาพรรค เราอาจยอมให้พรรคที่จัดตั้งขึ้นถูกยกเลิกไป ถ้าหาจำนวนสมาชิกขั้นต่ำไม่ได้ในระยะเวลาที่กำหนด แต่การจัดตั้งสาขาพรรคควรมีความยืดหยุ่น โดยให้ขยายเวลาออกไปได้ ถ้าเร่งรัดอาจมีการจัดตั้งสาขาหลอกๆขึ้นมาได้ ส่วนในเรื่องการดำเนินกิจการของพรรค ควรจะให้เป็นเรื่องของแต่ละพรรค กฎหมายไม่ควรเข้าไปยุ่งมากนัก เช่นการเปลี่ยนแปลงนโยบาย หรือข้อบังคับพรรคการเมือง ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน ยังได้บัญญัติให้ต้องรายงานให้นายทะเบียนทราบ เพื่อให้นายทะเบียนตอบรับ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาโต้แย้งว่าทำไมการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องให้นายทะเบียนตอบรับ เท่ากับให้อำนาจนายทะเบียนเข้ามาดูแลในเรื่องนี้โดยปริยาย ส่วนการจัดทำทะเบียนสมาชิกก็เช่นกัน และต้องรายงานการเปลี่ยนแปลงจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงต้อนายทะเบียน ซึ่งนับว่าเป็นรายละเอียดเกินไปก็ได้ ที่จะต้องรายงานให้นายทะเบียนทราบ

                   
        การควบคุมอีกประการหนึ่งที่สำคัญ ให้หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง และกรรมการสาขาพรรคการเมือง มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน ของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ การยื่นบัญชีดังกล่าวได้มีคำวิจารณ์ว่าเป็นการควบคุมมากเกินไป โดยเฉพาะกรรมการสาขาพรรค ทำให้หากรรมการสาขาพรรคการเมืองเป็นไปด้วยความยากลำบากเป็นอุปสรรคประการหนึ่งในการขยายสาขาของพรรค

                   
        ในด้านการยุบหรือสิ้นสุดของพรรคการเมือง ก็มีปัญหาโต้แย้งเช่นกันว่าเข้มงวดจนเกินไป ตามมาตรา ๖๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ให้ยุบพรรคการเมือง ถ้าพรรคไม่ดำเนินการตามมาตรา ๓๕ คือไม่รายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมา ตามวิธีที่นายทะเบียนกำหนด และแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในเดือนมีนาคมของทุกปี ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่มีการวิจารณ์ว่าเข้มงวดเกินไป และไม่ต้องมีการพิสูจน์ว่าจงใจไม่ยื่นหรือไม่ เพียงแต่ไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาก็เป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมืองได้แล้ว หรือในกรณีของมาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ ถ้าไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามาตราทั้งสองแล้วก็เป็นเหตุให้ยุบพรรคได้เช่นกัน เช่น มาตรา ๒๕ ต้องมีการประชุมใหญ่ของพรรคในการเปลี่ยนแปลงนโยบายพรรค เปลี่ยนแปลงข้อบังคับส่วนมาตรา ๒๖ เป็นบทบัญญัติกำหนดองค์ประกอบของที่ประชุมใหญ่ของพรรค ดังนั้นถ้าในการประชุมใหญ่เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ แต่ที่ประชุมใหญ่ไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ แล้ว ก็เป็นเหตุให้ยุบพรรคได้เช่นกัน กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นเหตุของการยุบพรรคที่เข้มงวดเกินไป

                   
        จากที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่า ในกรณีของประเทศไทย มีความไม่ไว้วางใจในพรรคการเมือง ค่อนข้างสูง ซึ่งได้มีการออกกฎหมายบังคับใช้แก้พรรคการเมืองค่อนข้างเข้มงวด การมีกฎหมายมาบังคับใช้เช่นนี้ อาจมีผลให้พรรคการเมืองที่ไม่รับผิดชอบ หรือจัดตั้งขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ระยะสั้นบางประการ ต้องสิ้นสุดหรือถูกยุบไป แต่ความเข้มงวดของกฎหมายก็ได้มีผลให้พรรคการเมืองบางพรรคที่มีความตั้งใจดี ที่จะเป็นพรรคการเมืองที่ดี แต่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาอาจถูกยุบเลิกไป อันเกิดจากความผิดพลาดบางประการที่ไม่ได้ตั้งใจ เช่นไม่ได้จัดทำรายงานประจำปี หรือตั้งสาขาพรรคไม่ได้ในระยะเวลาและตามจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎหมายเป็นต้น การผ่อนคลายความเข้มงวด ของกฎหมายจะช่วยทำให้พรรคมีเสรีภาพในการดำเนินงานมากขึ้น และมีโอกาสที่จะแก่ตัวและปรับปรุงตัวเพื่อจะได้เป็นพรรคที่ดี ที่เข้มแข็งต่อไปในอนาคต


       
       

กฎหมายมองไปข้างหน้า ไม่ใช่ข้างหลัง

       The law looks forwards, not backward.


       



       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2547


       




 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544