หน้าแรก บทความสาระ
ศาลรัฐธรรมนูญไทยกับบทบาทที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง โดย นายนพดล เฮงเจริญ
นายนพดล เฮงเจริญ
9 มกราคม 2548 00:42 น.
 

       
            
        รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งเรียกกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป หรือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ได้ก่อกำเนิดศาลรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่ใช้อำนาจตุลาการ แต่มิได้พิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นการทั่วไป หากมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะคดีที่มีปัญหากฎหมายเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเท่านั้น ซึ่งอาจจำแนกอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญออกได้ ดังนี้


                   
        1. อำนาจหน้าที่ในการควบคุมร่างกฎหมาย มิให้ขัดหรือแย้งต่อ
       รัฐธรรมนูญ


                   
       เป็นอำนาจหน้าที่หลักของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
       ของร่างกฎหมายที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว หรือก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งเป็นการควบคุมก่อนที่กฎหมายนั้นจะมีผลใช้บังคับ การควบคุมโดยกระบวนการนี้ ศาลรัฐธรรมนูญสามารถควบคุมได้ทั้งความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ว่าร่างกฎหมายนั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ ร่างกฎหมายนั้นตราขึ้นโดยถูกต้อง ตามกระบวนการตรากฎหมายตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญหรือไม่
       


                   
        2. อำนาจหน้าที่ในการควบคุมเงื่อนไขการตราพระราชกำหนดของฝ่ายบริหาร

                   
       ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยว่า พระราชกำหนดที่คณะรัฐมนตรี
       เสนอไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 218 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ มิได้เป็นกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ


                   
        3. อำนาจหน้าที่ในการควบคุม หลังจากที่กฎหมายตราขึ้นใช้บังคับแล้ว

                   
       ในกรณีที่กฎหมายนั้นได้ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ และประกาศใช้เป็นกฎหมาย
       แล้ว หากปรากฏว่ากฎหมายนั้นมีข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็ยังสามารถนำกฎหมายนั้นเข้ามาสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยประชาชนที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรอง โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น สามารถใช้สิทธิไปยังศาลรัฐธรรมนูญทางอ้อม โดยผ่านทางศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือผ่านทางผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา การใช้สิทธิผ่านทางศาลต่าง ๆ ประชาชนจะต้องมีฐานะเป็นคู่ความในคดี และโต้แย้งต่อศาลว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีน่าจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ศาลจะต้องรอการพิจารณาคดีที่มีการโต้แย้งดังกล่าวไว้ชั่วคราวและต้องส่งคำร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ส่วนการใช้สิทธิผ่านทางผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ก็ขึ้นอยู่กับการใช้ดุลพินิจพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าเห็นว่ามีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็ให้ส่งเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย


                   
        4. อำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพ หรือคุณสมบัติของสมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรี คณะกรรมการการเลือกตั้ง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ฯ

                   
       อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนนี้ คือ การพิจารณาว่าสมาชิกภาพของ
       สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ความเป็นรัฐมนตรี และคุณสมบัติคณะกรรมการการเลือกตั้งว่ามีคุณสมบัติที่ชอบ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ หรือไม่ เนื่องจากสมาชิกภาพหรือสถานะของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพหรือสถานะการดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 นั้น จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงอันควรแจ้งให้ทราบ ตามมาตรา 295 หรือไม่ หากเป็นกรณีจงใจ ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง และให้ผู้นั้นต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ เป็นเวลาห้าปี


                   
        5. อำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจ หน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266

                   
        องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หมายถึง องค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ และกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ในรัฐธรรมนูญ มิใช่องค์กรที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของฝ่ายบริหาร เช่น กระทรวง ทบวง กรม หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำหรับปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะต้องเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงจากการปฏิบัติหน้าที่ ในลักษณะที่องค์กรตาม รัฐธรรมนูญองค์กรหนึ่ง มีอำนาจกระทำการในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือไม่ เพียงใด หรือเป็นลักษณะของการที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป มีปัญหาโต้แย้งกันว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรหนึ่งได้ใช้อำนาจหน้าที่ล่วงล้ำ หรือกระทบกระเทือนอำนาจหน้าที่ของอีกองค์กรหนึ่ง หากเกิดปัญหากรณีดังกล่าว องค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น หรือประธานรัฐสภา ก็สามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยได้
       


                   
        อำนาจหน้าที่อื่น ๆ ตามที่รัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบ
       รัฐธรรมนูญกำหนด ได้แก่


                   
        6.1 พิจารณาวินิจฉัยว่า การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณร่ายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายของสภาผู้แทนราษฎร หรือของคณะกรรมาธิการ การเสนอการแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ในการใช้งบประมาณรายจ่ายหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180

                   
        6.2 พิจารณาวินิจฉัยว่า มติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้น จะขัดต่อสถานะ และการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตาม รัฐธรรมนูญนี้ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 วรรคสาม

                   
        6.3 พิจารณาอุทธรณ์ของสมาชิกพรรคการเมือง ที่ร้องขอให้วินิจฉัยเพราะเหตุว่า พรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก มีมติให้ตนพ้นจากการเป็นสมาชิกภาพ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 118 (8)


       บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง
       

                   
        สำหรับบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง เป็นไปตามบทบัญญัติที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญไว้ รวม 3 ประการ ได้แก่

                   
        1. พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคำสั่งไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองของนายทะเบียนพรรคการเมือง

                   
        ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชน และเพื่อดำเนินกิจการในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ก็ได้มีบทบัญญัติในหมวดที่ 1 (มาตรา 8 - มาตรา 19) ให้การจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นไปโดยง่าย โดยผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มีจำนวนตั้งแต่ 15 คนขึ้นไป ก็สามารถรวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองได้ นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ฯ มาตรา 17 ก็ได้บัญญัติให้ผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมืองซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองของนายทะเบียนพรรคการเมือง ตามมาตรา 14 เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือจำนวนของผู้จัดตั้งพรรคการเมือง หรือนโยบายและข้อบังคับพรรคการเมือง หรือคุณสมบัติของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือชื่อพรรคการเมือง หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด หรือตามมาตรา 15 เกี่ยวกับเอกสารการขอจัดตั้งพรรคการเมืองมีรายการไม่ครบถ้วนหรือมีข้อความไม่ชัดเจน บกพร่อง แต่ผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมืองไม่ดำเนินการแก้ไข หรือแก้ไขแล้วแต่ยังไม่ถูกต้อง มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองจากนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดเป็นประการใดแล้ว ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น


                   
        2. พิจารณามีคำสั่งให้หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งคณะหรือบางคน ให้ระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย หรือให้ออกจากตำแหน่ง

                   
        ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 27 บัญญัติไว้ว่า เมื่อปรากฏว่าหัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง จัดให้พรรคการเมืองกระทำการใด ๆ ฝ่าฝืนนโยบายพรรคการเมืองหรือขัอบังคับพรรคการเมืองอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ให้นายทะเบียนมีอำนาจเตือนเป็นหนังสือให้หัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น ระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำนั้นภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนพรรคการเมืองกำหนด ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำเตือนของนายทะเบียนพรรคการเมือง ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำดังกล่าวหรือให้หัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งคณะหรือบางคนออกจากตำแหน่ง
       


                   
        3. พิจารณาสั่งยุบพรรคการเมือง

                   
        แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จะได้มีบทบัญญัติให้การจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นไปโดยง่าย และให้อำนาจพรรคการเมืองไว้มาก แต่การที่จะทำให้พรรคการเมืองมีเสถียรภาพ และประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถเป็นสถาบันทางการเมืองที่ประชาชน ให้ความ เชื่อถือ ไว้วางใจ จนสามารถสร้างความเป็นตัวของตัวเองสมกับฐานะของความเป็นนิติบุคคลที่สมควรจะมีเอกลัษณ์ของตนได้ ปรากฏว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะมีเหตุแห่งการเลิก หรือยุบพรรคการเมืองโดยคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญหลายประการ ตามที่พระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้
       


                   
        3.1 พรรคการเมืองย่อมเลิกหรือยุบด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 (มาตรา 65 วรรคหนึ่ง)

                   
        3.1.1 มีเหตุต้องเลิกตามข้อบังคับพรรค (มาตรา 65(1)) ศาลรัฐธรรมนูญมี คำวินิจฉัยไปแล้ว เช่น การสั่งให้ยุบพรรครามสยามและพรรคศรัทธาประชาชน ตามคำวินิจฉัย ที่ 24/2544 และที่ 30/2544

                   
        3.1.2 มีจำนวนสมาชิกเหลือไม่ถึงสิบห้าคน (มาตรา 65(2)) กรณียังไม่ปรากฏคำร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญ

                   
        3.1.3 มีการยุบพรรคการเมืองไปรวมกับพรรคการเมืองอื่นตามหมวด 5 การรวมพรรคการเมือง มาตรา 70 - 73 (มาตรา 65(3)) มีคำวินิจฉัยไปแล้ว เช่น กรณีการรวมพรรคมวลชนเข้าเป็นพรรคการเมืองเดียวกับพรรคความหวังใหม่ ตามคำวินิจฉัยที่ 6/2541 และกรณีการรวมพรรคความหวังใหม่เข้ากับพรรคไทยรักไทย ตามคำวินิจฉัยที่ 12/2545 เป็นต้น

                   
        3.1.4 ไม่ดำเนินการดังต่อไปนี้ (มาตรา 65(5))

                   
        3.1.4.1 ไม่กระทำโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองในการเปลี่ยน
       แปลงรายการสำคัญ ได้แก่ นโยบายพรรค ข้อบังคับพรรค และการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคตามบทบัญญัติ มาตรา 25 เช่น การยุบพรรคเกษตรเสรี ตามคำวินิจฉัยที่ 54/2545

                   
        3.1.4.2 องค์ประชุมใหญ่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับพรรค ตามบทบัญญัติ มาตรา 26 มีคำวินิจฉัยไปแล้ว เช่น พรรคพลังใหม่ ตามคำวินิจฉัยที่ 36/2545

                   
        3.1.4.3 ไม่จัดให้มีสมาชิกครบ 5,000 คนจากทุกภาค (4 ภาค) และ
       ไม่มีสาขาพรรคในทุกภาคภายใน 180 วันนับแต่ได้รับจดแจ้งการเป็นพรรคการเมืองจากนายทะเบียนตามบทบัญญัติ มาตรา 29 มีคำวินิจฉัยไปแล้ว เช่น การสั่งให้ยุบพรรคปฏิรูป ตาม คำวินิจฉัยที่ 2/2542 เป็นต้น

                   
        3.1.4.4 ไม่จัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคในรอบปีปฏิทิน
       ที่ผ่านมาให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ตามวิธีการที่นายทะเบียนกำหนด และแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในเดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อประกาศให้สาธารณชนทราบตามบทบัญญัติ มาตรา 35 มีคำวินิจฉัยไปแล้ว เช่น การยุบพรรคประชารัฐ ตามคำวินิจฉัยที่ 6/2544 รวมถึงพรรคถิ่นไทยและพรรคเอกภาพ เมื่อต้นปี 2545 เป็นต้น

                   
        3.1.4.5 ไม่ใช้จ่ายเงินที่ได้รับสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการ
       เมืองให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ และไม่จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคในรอบปีปฏิทินให้ถูกต้องตามความเป็นจริง และยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป ตามบทบัญญัติ มาตรา 62 มีคำวินิจฉัยแล้ว เช่น การยุบพรรคประชารัฐ ตามคำวินิจฉัยที่ 6/2544 เป็นต้น
       

                   
        ทั้งนี้ เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 65(1) (2) (3) หรือ (5) ให้นายทะเบียนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียน (ซึ่งในทางปฏิบัติอาจปรากฏเหตุยุบพรรคหลายเหตุในพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งต่อนายทะเบียนก็ได้) เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองตามคำร้องของนายทะเบียน ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น (มาตรา 65 วรรคสอง) และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดแล้ว ให้นายทะเบียนประกาศคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 35 วรรคสาม)
       

                   
        อนึ่ง ในกรณีที่นายทะเบียนขอให้ยุบพรรคการเมืองในหลายเหตุ ศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยให้ยุบพรรคด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งหรือครบทุกเหตุตามที่นายทะเบียนยื่นคำร้องมาก็ได้ เป็นต้นว่า (1) กรณีที่ขอให้ยุบพรรคหลายเหตุและศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุที่ต้องยุบพรรคหลายเหตุตามคำร้อง เช่น การสั่งให้ยุบพรรคประชารัฐ ด้วยเหตุที่พรรคฯ ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 35 และมาตรา 62 ตามคำวินิจฉัยที่ 6/2544 หรือกรณีการสั่งให้ยุบพรรคชาวนาพัฒนาประเทศ ด้วยเหตุที่พรรคฯ ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 29 และมาตรา 35 ตามคำวินิจฉัยที่ 11/2545 ซึ่งปรากฏว่า ในการลงมติของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีตุลาการฯ 13 คน สั่งให้ยุบพรรคชาวนาพัฒนาประเทศ ส่วนอีก 2 คน ให้ยกคำร้อง โดย ตุลาการเสียงข้างมาก 13 คน นั้น มี 8 คน สั่งให้ยุบพรรคฯ ด้วยเหตุที่ไม่ดำเนินการทั้งตามมาตรา 29 และมาตรา 35 มี 4 คน สั่งให้ยุบฯ ด้วยเหตุที่ไม่ดำเนินการตามมาตรา 35 เพียงเหตุเดียว ส่วนอีก 1 คน สั่งให้ยุบพรรคฯ ด้วยเหตุที่ไม่ดำเนินการตามมาตรา 29 เพียงเหตุเดียวเช่นกัน โดยมีเหตุผลหรือสาเหตุมาจาก ความแตกต่างเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและโทษตามกฎหมายที่หัวหน้าพรรคการเมืองและคณะกรรมการบริหารพรรคจะได้รับภายหลังเมื่อพรรคถูกยุบไปแล้ว สำหรับกรณีที่ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 35 นั่นเอง (2) กรณีขอให้ยุบพรรคหลายเหตุ แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคนั้นด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งเพียงเหตุเดียว เช่น การสั่งให้ยุบพรรคพลังใหม่ ตามคำวินิจฉัยที่ 36/2545 กล่าวคือ นายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคดังกล่าวด้วยเหตุที่ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 26 มาตรา 35 และมาตรา 62 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุตามมาตรา 26 จึงสั่งให้ยุบพรรคพลังใหม่ ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 14 เสียง โดยตุลาการ 9 คน สั่งให้ยุบฯ ด้วยเหตุที่ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 26 และอีก 4 คน สั่งให้ยุบฯ ด้วยเหตุทุกเหตุตามคำขอ คือไม่ดำเนินการตามมาตรา 26 มาตรา 35 และมาตรา 62 ส่วนอีก 1 คน งดออกเสียงว่าจะยุบพรรคด้วย เหตุใด
       


                   
        3.2 พรรคการเมืองอาจถูกสั่งยุบพรรคการเมืองเมื่อกระทำการอย่างใด
       อย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 (มาตรา 66)


                   
        3.2.1 กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระ
       มหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (มาตรา 66(1))

                   
        3.2.2 กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองตามรัฐธรรมนูญ
       (มาตรา 66(2))

                   
        3.2.3 กระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อกฎหมาย
       หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (มาตรา 66(3))

                   
        3.2.4 กระทำการฝ่าฝืน มาตรา 23 วรรคหนึ่ง มาตรา 52 หรือ มาตรา 53
       (มาตรา 66(4)) กล่าวคือ

                   
        (1) รับคนไม่มีสัญชาติไทยโดยการเกิดเป็นสมาชิก หรือให้ดำรง
       ตำแหน่งใด ๆ ในพรรคหรือยอมให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อประโยชน์ของพรรค (มาตรา 23 วรรคหนึ่ง)

                   
        (2) รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ใด เพื่อ (มาตรา 52)

                   
        ก) กระทำการหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย

                   
        1) ความมั่นคงของราชอาณาจักร

                   
        2) ราชบัลลังก์

                   
        3) เศรษฐกิจของประเทศ

                   
        4) ราชการแผ่นดิน

                   
        ข) กระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อย
       หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

                   
        ค) กระทำการอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ

                   
        ง) กระทำการอันเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน

                   
        (3) รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเพื่อดำเนินกิจการของพรรค
       การเมืองหรือดำเนินกิจการในทางการเมือง จาก (มาตรา 53)

                   
        ก) บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย

                   
        ข) นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ ที่ประกอบธุรกิจหรือ
       กิจการ หรือจดทะเบียนสาขาอยู่ในหรือนอกราชอาณาจักร

                   
        ค) นิติบุคคลที่จดทะเบียนในราชอาณาจักร ซึ่งมีบุคคลผู้ไม่มี
       สัญชาติไทยมีทุนหรือเป็นผู้ถือหุ้นเกินร้อยละยี่สิบห้า

                   
        ง) องค์การ หรือนิติบุคคลที่ได้รับทุน หรือได้รับเงินอุดหนุนจาก
       ต่างประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย หรือมี ผู้จัดการหรือกรรมการเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย

                   
        จ) บุคคล องค์กร หรือนิติบุคคล ที่ได้รับเงินหรือทรัพย์สินหรือ
       ประโยชน์อื่นใด เพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือดำเนินกิจการในทางการเมืองจากบุคคล องค์กร หรือนิติบุคคลทั้งสี่ข้อข้างต้น (ก - ง)

                   
        ฉ) บุคคล องค์กร หรือนิติบุคคล ที่กำหนดในประกาศของคณะ
       กรรมการการเลือกตั้ง (ขณะนี้ยังไม่มีประกาศดังกล่าว)
       

                   
        ทั้งนี้ เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียน หรือเมื่อนายทะเบียนได้รับแจ้งจากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 66 ให้นายทะเบียนแจ้งต่ออัยการสูงสุดพร้อมด้วยหลักฐาน ถ้าอัยการสูงสดเห็นสมควร ก็ให้ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาล รัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าว ถ้าอัยการสูงสุดไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้นายทะเบียนตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีผู้แทนจากนายทะเบียนและผู้แทนจากอัยการ สูงสุดเพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แล้วส่งให้อัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ในกรณีที่คณะทำงานดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการยื่นคำร้องได้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจยื่นคำร้องเอง (มาตรา 67วรรคหนึ่ง) และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดแล้ว ให้นายทะเบียนประกาศคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น ในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 67 วรรคสอง)
       

                   
        อนึ่ง ยังไม่เคยปรากฏว่ามีคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง ที่ขอให้ศาล
       รัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง ด้วยเหตุที่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 บัญญัติไว้
       


                   
        การจำกัดสิทธิ และการลงโทษแก่หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคและสมาชิกอื่น

                   
        1. การจำกัดสิทธิมิให้ดำเนินการเกี่ยวกับพรรคการเมือง

                   
        พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 69 บัญญัติห้ามผู้เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมือง (ประกอบด้วย หัวหน้าพรรคการเมือง รองหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง รองเลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง โฆษกพรรคการเมือง และกรรมการบริหารอื่น ซึ่งเลือกตั้งจากสมาชิกซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์) ที่ต้องยุบไปเพราะไม่ดำเนินการตามมาตรา 35 หรือมาตรา 62 หรือกระทำการตามมาตรา 66 มิให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

                   
        1.1 ห้ามขอจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่

                   
        1.2 ห้ามเป็นกรรมการบริหารของพรรคการเมือง

                   
        1.3 ห้ามมีส่วนร่วมในการขอจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่

                   
        ทั้งนี้ ภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นต้องยุบไป
       


                   
        2. บทลงโทษ

                   
        2.1 หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 35 หรือมาตรา 62 ต้อง
       ระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท (มาตรา 80)

                   
        2.2 กรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือกรรมการสาขาพรรคการเมืองผู้ใด
       รู้อยู่แล้ว แต่จัดให้พรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 23 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี (มาตรา 77)

                   
        2.3 พรรคการเมือง หรือสมาชิกผู้ใดกระทำการฝ่าฝืน มาตรา 52 หรือมาตรา
       53 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี (มาตรา 89)
       

                   
        อนึ่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 20 วรรคสอง บัญญัติให้หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้แทนของพรรคการเมืองในกิจการอื่นเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้ หัวหน้าพรรคการเมืองจะมอบหมายเป็นหนังสือให้กรรมการบริหารคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้
       

                   
        นับแต่ศาลรัฐธรรมนูญเริ่มปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2541 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2546 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 53 พรรค ดังนี้


       
       


       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
       
เหตุที่ต้องยุบพรรคการเมือง
จำนวนที่ศาลรัฐธรรมนูญ

       มีคำสั่ง ยุบพรรค
1. ยุบเลิกตามข้อบังคับพรรคการเมือง (มาตรา 65(1))
2
2. ยุบพรรคการเมืองไปรวมกับพรรคการเมืองอื่น (มาตรา 65(3))
       
3
3. ไม่จัดประชุมใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงรายการที่สำคัญ (มาตรา 25)
1
4. องค์ประชุมใหญ่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับพรรค (มาตรา 26)
4
5. ไม่จัดให้มีสมาชิกครบ 5,000 คน จากทุกภาค และไม่มีสาขาพรรคในทุกภาค ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับจดแจ้งการเป็นพรรค
       
26
6. ไม่จัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคในรอบปีปฏิทิน แจ้งนายทะเบียนพรรคการเมือง ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี (มาตรา 35)
       
12
7. ไม่ใช้จ่ายเงินที่รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนดังกล่าวในรอบปีปฏิทิน ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ภายในเดือนมีนาคม ของปีถัดไป (มาตรา 62)
5
รวม
53


       
                   
        อย่างไรก็ดี มีนักวิชาการหลายคนวิพากวิจารณ์ ว่า เหตุที่ต้องยุบพรรคการเมืองในบางกรณี เช่น องค์ประชุมใหญ่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับพรรค (มาตรา 26) และการไม่จัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคในรอบปีปฏิทินแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ภายในเดือนมีนาคม ของทุกปี (มาตรา 35) เป็นโทษที่รุนแรง ทำให้พรรคการเมืองต้องถูกยุบเลิกไปได้โดยง่าย ทั้งที่พรรคการเมืองอาจดำเนินกิจกรรมทางการเมืองนอกสภา ตามเจตนารมณ์ทางการ
       เมืองของตนได้ จึงอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบพรรคการเมือง ให้มีความเข้มแข็ง ท้ายที่สุด จะเหลืออยู่แต่เพียงพรรคขนาดใหญ่จำนวนน้อยพรรค ที่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ทั้งภายในสภาและภายนอกสภา


       
       บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง
       

                   
        ส่วนบทบาทหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งนั้น แม้ว่าศาล รัฐธรรมนูญไทยไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องของการเลือกตั้งฝ่ายนิติ
       บัญญัติ การควบคุมคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งของฝ่ายนิติบัญญัติ การตรวจสอบความถูกต้องของการลงคะแนนเสียงประชามติ ดังเช่นอำนาจหน้าที่ของ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสก็ตาม
แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทยก็มีอำนาจหน้าที่ในทางอ้อม ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ได้แก่
       


                   
        1. ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรควบคุมร่างกฎหมาย และกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ไม่ให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
       

                   
        การตรวจสอบความถูกต้องของการเลือกตั้ง เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามที่รัฐธรรมนูญ และกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งกำหนด โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวน สอบสวน เพื่อหาข้อเท็จจริง และวินิจฉัย ชี้ขาดปัญหา หรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค การเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งมีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือออกเสียงประชามติใหม่ในหน่วยเลือกตั้งใด หน่วยเลือกตั้งหนึ่ง หรือทุกหน่วยเลือกตั้ง เมื่อมี หลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า การเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติในหน่วยเลือกตั้งนั้น ๆ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
       

                   
        ส่วนศาลรัฐธรรมนูญนั้น มีอำนาจหน้าที่ควบคุมร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ก่อนที่กฎหมายดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับ ดังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 54 - 55/2543 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2543 ซึ่งวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่..) พ.ศ. .... มาตรา 17 ที่เพิ่มความเป็นมาตรา 85/1 ซึ่งมีบทบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ ผู้สมัครที่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เป็นการสั่งเพิกถอนก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง มาตรา 85/9 ซึ่งมีบทบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถ้าปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ ว่าก่อนได้รับเลือกตั้ง สมาชิกผู้นั้นกระทำการโดยไม่สุจริต หรือได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริต อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เป็นการสั่งเพิกถอนหลังประกาศผลการเลือกตั้ง และมาตรา 85/3 ซึ่งมีบทบัญญัติว่า การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะวินิจฉัยเพิกถอนทั้งสองกรณี ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งประกอบด้วย ประธานกรรมการกฤษฎีกาทุกคณะ ตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ไม่ขัดต่อหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 และไม่มีข้อความขัดหรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 29 มาตรา 30 มาตรา 233 มาตรา 234 และมาตรา 271 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ถือเป็นการรับรองอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการตรวจสอบการเลือกตั้ง และในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครที่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม

                   
        นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ยังมีอำนาจหน้าที่ควบคุมกฎหมายเกี่ยวกับการ เลือกตั้ง ภายหลังจากที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว ดังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 15/2541 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งวินิจฉัยว่า การที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 23 ซึ่งบัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นบุคคลซึ่งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้ผู้นั้นเสียสิทธิการได้รับการช่วยเหลือจากรัฐตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ซึ่งเป็นการกำหนดการเสียสิทธิไว้ไม่สมบูรณ์ และไม่ชัดเจน และให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเสียสิทธิด้วย เท่ากับเป็นการให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้กำหนดการเสียสิทธิและหลักเกณฑ์และวิธีการเสียสิทธิดังกล่าว โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตรากฎหมายของรัฐสภา จึงไม่เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และมาตรา 334(1) ดังนั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 23 จึงเป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นอันใช้บังคับมิได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 6 และ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 12/2544 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2544 ซึ่งวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 96 ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาซึ่งถูกคัดค้านสิ้นสุดลง นับแต่วันที่มีคำสั่ง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเนื่องจากเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 96 ดังกล่าว บัญญัติขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 97 มาตรา 145 และมาตรา 147 เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 145 วรรคหนึ่ง (4) บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ เมื่อมี หลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในเขตเลือกตั้งใดใหม่แล้ว สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้นย่อมสิ้นสุดลงไปด้วย เป็นการแสดงให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลงได้ นอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญมาตรา 133 บัญญัติไว้
       


                   
        2. ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรที่มีอำนาจตรวจสอบคุณสมบัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา
       

                   
        การควบคุม ตรวจสอบ คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นผู้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับหลักฐานการสมัคร และวิธีการสมัครรับเลือกตั้ง โดยผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้ง จะเป็นผู้ตรวจสอบหลักฐานและคุณสมบัติของผู้สมัคร
       

                   
        สำหรับศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ว่าเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด อันเป็นเหตุให้ผู้นั้นต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพ หรือไม่ ซึ่งเป็นกรณีภายหลังจากมีการประกาศผลการเลือกตั้ง และสมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาได้เริ่มต้นแล้ว หากภายหลังปรากฏว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เข้าชื่อร้องขอต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่า สมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญกำหนด ก็ให้ประธานสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ดังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 49/2542 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2542 ซึ่งวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 96 เพราะขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งมีบิดาเป็นคนต่างด้าว ด้วยเหตุเกี่ยวกับวุฒิการศึกษา


                   
        3. ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปอย่างประสาน สอดคล้อง นำไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
       

                   
        ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 266 และโดยที่ คณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภา ท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงอาจมีปัญหาในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ศาลรัฐธรรมนูญก็จะเข้ามาพิจารณาวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ดังปรากฏตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้


                   
        3.1 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 13/2543 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2543 เป็นกรณีที่ศาลแพ่ง มีคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 34 ในคดีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ตามคดีหมายเลขแดงที่ สว 2/2543 ความว่า เมื่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ประกาศการรับสมัครของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาไว้แล้ว ถือว่า ขั้นตอนการรับสมัครเสร็จสิ้น เข้าสู่ขึ้นตอนการแนะนำตัว และลงคะแนนเลือกตั้ง ต่อไป ย่อมพ้นเวลาที่ ผู้อำนายการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งตรวจสอบ และสอบสวนแล้ว การเพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้ง จึงกระทำมิได้ คำสั่งของผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง จึงไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา และต่อมาศาลจังหวัดอื่น ๆ ได้มีคำสั่งในแนวทางเดียวกัน ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่า คำสั่งของศาลเป็นการก้าวล่วงการใช้อำนาจในการสืบสวน สอบสวน และวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 145 (3) จึงเป็นกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และศาลยุติธรรมซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยสรุปได้ว่า กรณีนี้ เป็นเพียงการวินิจฉัยอำนาจของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ไม่ได้วินิจฉัยอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกรณีที่ศาลแพ่งมีคำสั่งดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจในการสืบสวน สอบสวน และวินิจฉัย ชี้ขาดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 145 (3) กรณีจึงไม่เป็นการก้าวล่วงการใช้อำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง


                   
        3.2 ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 24/2543 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2543 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะมีข้อความอันเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้ง และเป็นการเพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามของบุคคลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งรัฐธรรมนูญมิได้ให้อำนาจไว้


                   
        3.3 ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 51 - 52/2542 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2542 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในส่วนนี้วินิจฉัยว่า “ สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน มีความเห็นว่า สามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้ แต่จะต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง....” เป็นมติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 315


                   
        3.4 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2543
       ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยตีความ คำว่า “ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ” หมายถึง บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการและอนุกรรมการที่ระบุ จำนวน 27 ตำแหน่ง เป็นผลให้มีการเพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาภายหลังที่รับสมัคร และคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ประกาศรายชื่อผู้สมัครแล้ว นั้น ไม่สอดคล้องกับ รัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการจำกัดสิทธิของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา เกินกว่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 109 (11) และ (12)


                   
       สรุป

                   
        บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง มีผลสำคัญที่ช่วยให้พรรคการเมืองที่มีอยู่ต้องพัฒนาตัวเองให้เข้มแข็ง เป็นสถาบันทางการเมืองที่มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ มีมาตรฐาน และมุ่งสู่ธรรมาภิบาล เป็นสถาบันที่ประชาชนเชื่อถือ ไว้วางใจ และเป็นที่พึ่งพาของประชาชนได้ พรรคการเมืองใดมีการบริหารจัดการที่ไม่โปร่งใส และไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะต้องถูกยุบเลิกไปโดยคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนบทบาทของศาล รัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งนั้น แม้จะมิใช่บทบาทโดยตรง เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรที่รับผิดชอบอยู่ แต่ก็มีผลเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน มิให้มีการกระทำการใด ๆ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และมีสิทธิเลือกตั้ง การรักษาดุลยภาพของการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง กับองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่น ๆ เป็นกระบวนการถ่วงดุลอำนาจระหว่างองค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นผลดีต่อการปฏิรูปทางการเมืองของประเทศไทย และการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
       
       



       

       
เชิงอรรถ


       
                   
       * เอกสารประกอบการประชุมโต๊ะกลมประจำปีระหว่างประเทศ ครั้งที่ 19 เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ ในหัวข้อเรื่อง “ รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง” ระหว่างวันที่ 12-13 กันยายน 2546
       
[กลับไปที่บทความ]


       


       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2547


       




 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544