หน้าแรก บทความสาระ
ความเสมอภาคในการสมัครสอบเพื่อเข้ารับราชการ
ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ
8 มกราคม 2548 19:39 น.
 

       
            
       นับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2540) ซึ่งถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มีการให้หลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ดีที่สุด ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญได้บัญญัติหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ถึงมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้หลักประกันการคุ้มครองสิทธิโดยองค์กรตุลาการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 28 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิ หรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้” ด้วยเหตุนี้เอง นับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 จึงมีคดีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลมากมาย

                   
       ในบรรดาเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลนั้น เรื่องหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้คนในแวดวงกฎหมาย คือเรื่องสิทธิในการสมัครสอบเพื่อเข้ารับราชการของบุคคล ซึ่งมีประเด็นที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาล 2 กรณี กรณีแรกเป็นกรณีของบุคคลผู้พิการ และกรณีที่สองเป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐไปกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะมีสิทธิสอบจะต้องได้ปริญญาตรีเกียรตินิยมเท่านั้น กรณีทั้งสองจึงมีปัญหาว่าหน่วยงานของรัฐจะกระทำได้หรือไม่เพียงใด ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนจะพิจารณาเฉพาะกรณีที่สองเท่านั้น

                   
       ก่อนที่จะเข้าไปพิจารณาในรายละเอียดในกรณีที่สอง ผู้เขียนขอเริ่มจากหลักความเสมอภาคของบุคคลในการเข้าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนว่า สิทธิลักษณะนี้เป็นสิทธิลักษณะใด และอำนาจรัฐจะต้องปฏิบัติต่อสิทธิในกลุ่มนี้อย่างไร หากจำแนกสิทธิและเสรีภาพออกเป็น 3 กลุ่ม1 คือ status negativus สิทธิในกลุ่มนี้เป็นสิทธิที่รัฐจะต้องไม่เข้าไปแทรกแซงในขอบเขตของสิทธิของบุคคล status positivus เป็นสิทธิที่รัฐจะต้องเข้าไปดำเนินการเพื่อให้สิทธิของบุคคลบรรลุความมุ่งหมายได้ และ status activus เป็นสิทธิของบุคคลในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับองค์กรของรัฐ หรือเข้าไปเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์กรของรัฐ สิทธิในกลุ่มนี้ได้แก่ สิทธิในการจัดตั้งพรรคการเมือง สิทธิในการสมัครเลือกตั้งสิทธิในการสมัครเข้ารับราชการ รวมทั้งสิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอื่นๆ สิทธิในกลุ่มนี้จึงเป็นสิทธิที่ตกได้เฉพาะพลเมืองของรัฐเท่านั้น หรือที่เรียกว่า “สิทธิพลเมือง” ภาระหน้าที่ของรัฐต่อสิทธิในกลุ่มนี้ รัฐย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องเอื้ออำนวยหรือสนับสนุนให้บุคคลสามารถใช้สิทธิในกลุ่มนี้ได้ โดยการเอื้ออำนวยหรือการสนับสนุนของรัฐนั้นย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการใช้สิทธิในเรื่องนั้น ๆ กล่าวเฉพาะสิทธิในการสมัครเข้ารับราชการ การเอื้ออำนวยหรือการสนับสนุนให้พลเมืองของรัฐสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ ได้แก่ การให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการสอบ การเอื้ออำนวยในการรับสมัครให้กระจายไปอย่างทั่วถึง กล่าวเฉพาะการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบ ซึ่งหากรัฐจะจำกัดสิทธิหรือตัดสิทธิของบุคคลบางประเภทเพื่อมิให้สามารถใช้สิทธิในการสมัครได้ การจำกัดหรือการตัดสิทธิโดยปราศจากเหตุผลที่จะรับฟังได้ย่อมเป็นการขัดกับหลักเสมอภาค ดังนั้นการตัดหรือจำกัดสิทธิในการสมัครเข้ารับราชการจะต้องตีความค่อนข้างเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลที่เข้าคุณสมบัติสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้

                   
       ประเด็นปัญหาว่าหน่วยงานของรัฐแห่งใดแห่งหนึ่งจะไปกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้น ๆ ว่า จะต้องได้ “ปริญญาตรีเกียรตินิยม” เท่านั้นได้หรือไม่เพียงใด ในการที่จะพิจารณาว่าจะกำหนดคุณสมบัติดังกล่าวได้หรือไม่นั้น ไม่อาจจะวางหลักตายตัวไปเสียทีเดียวว่าทำไม่ได้ โดยมีข้อพิจารณาประการแรก คือ การไปกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครสอบว่าจะต้องเป็นผู้จบ “ปริญญาตรีเกียรตินิยม” เป็นการขัดกับหลักความเสมอภาคหรือไม่ หากยอมรับว่าเป็นการขัดกับหลักความเสมอภาค ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อ คือ หน่วยงานของรัฐนั้น ๆ มีเหตุผลที่จะกล่าวอ้างถึงความจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะที่สำคัญกว่า จึงกระทำการยกเว้นหลักความเสมอภาคดังกล่าวนั้นได้ หากหน่วยงานของรัฐนั้น ๆ สามารถอ้างประโยชน์สาธารณะที่สำคัญกว่าเพื่อลบล้างหลักความเสมอภาคในเรื่องดังกล่าวได้ กรณีก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะมีเหตุผลที่จะรับฟังได้

                   
       ประเด็นแรกที่จะต้องพิจารณาคือ การกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครสอบว่าจะต้องเป็นผู้จบปริญญาตรีเกียรตินิยมเท่านั้น กรณีนี้เป็นการขัดกับหลักความเสมอภาคหรือไม่หรือถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ หากพิจารณาตามหลักความเสมอภาคมีสาระสำคัญว่า รัฐจักต้องปฏิบัติต่อบุคคลที่มีสาระสำคัญเหมือนกันให้เหมือนกัน และปฏิบัติต่อบุคคลที่มีสาระสำคัญต่างกันให้แตกต่างกัน ปัญหาว่าการที่มีผู้มาสมัครเพื่อเข้ารับราชการเป็นจำนวนหมื่นแต่หน่วยงานของรัฐสามารถรับได้เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น เช่น เพียง 20 คน การที่หน่วยงานของรัฐรับได้เพียง 20 คน จะถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ จะเห็นได้ว่าการที่รัฐปฏิบัติต่อบุคคลให้เหมือนกันทุกคนนั้นไม่อาจเป็นไปได้ ดังนั้นรัฐจึงต้องมีเกณฑ์ที่เป็นธรรมเพื่อที่จะเลือกบุคคลที่เข้าตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ให้เข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปคือเกณฑ์ในเรื่อง “ความสามารถ” ดังนั้นการที่หน่วยงานของรัฐเลือกบุคคลที่มีความสามารถที่สุดใน 20 อันดับแรก จึงไม่อาจจะถือได้ว่าหน่วยงานของรัฐเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลจำนวนหมื่นที่สมัครสอบเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้น

                   
       ประเด็นที่ผู้เขียนพยายามจะเชื่อมโยงในเรื่องการใช้เกณฑ์เรื่อง “ความสามารถ” เพื่อเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น เป็นเกณฑ์ที่มีความชอบธรรม ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะความสามารถของบุคคลจะมีเพียงใดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับบุคคลแต่ละคนโดยลำพัง ดังนั้นกรณีจะถือได้หรือไม่ว่าการกำหนดคุณสมบัติว่าต้องจบปริญญาตรีเกียรตินิยม ถือว่าเป็นการนำเกณฑ์ในเรื่องความสามารถมาเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคคลแล้ว กรณีน่าจะมีความถูกต้องชอบธรรมแล้วหรือไม่ ประเด็นนี้นี่เองที่จะต้องแยกพิจารณาออกเป็น 2 เรื่องคือ เกณฑ์ในการกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้มีสิทธิสมัครสอบกับเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกผู้มีสิทธิสอบ เพื่อให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

                   
       เกณฑ์ในการกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้มีสิทธิสมัครสอบ ในขั้นตอนนี้จะต้องถือตามหลักความเสมอภาคอย่างเคร่งครัด กล่าวคือ จะต้องปฏิบัติต่อบุคคลที่มีสาระสำคัญเหมือนกันให้เหมือนกัน และจะต้องปฏิบัติต่อบุคคลที่มีสาระสำคัญต่างกันให้แตกต่างกัน ประเด็นจึงเข้ามาสู่สาระสำคัญว่า ปริญญาตรีทั่วไปกับปริญญาตรีเกียรตินิยมมีสาระสำคัญเหมือนกันหรือต่างกันหรือไม่ หากถือว่าปริญญาตรีทั่วไปกับปริญญาตรีเกียรตินิยมมีสาระสำคัญต่างกัน ก็ย่อมนำไปสู่การปฏิบัติให้แตกต่างกันได้ การจะพิจารณาว่าปริญญาตรีทั่วไปกับปริญญาตรีเกียรตินิยมมีสาระสำคัญเหมือนกันหรือแตกต่างกัน มีข้อพิจารณาดังนี้


                   
       ก) การที่ระบบการศึกษาของไทยแบ่งระบบการศึกษาออกเป็นชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา
       และอุดมศึกษา และการจบการศึกษาขั้นสูงสุดของแต่ละขั้น เช่น จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก็ดี จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็ดี หรือจบชั้นปริญญาตรีก็ดี ย่อมแสดงถึงความแตกต่างในวิทยฐานะของบุคคลว่า บุคคลที่จบระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ย่อมแตกต่างจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และย่อมแตกต่างจากผู้ที่จบปริญญาตรี ในกรณีของการจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 6 และจบปริญญาตรี ย่อมเป็นความแตกต่างในสาระสำคัญ เพราะระดับการศึกษาในแต่ละระดับล้วนมีความมุ่งหมายของการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน ดังนั้นผลิตผลที่ออกมาในแต่ละระดับย่อมมีความแตกต่างกันด้วย ด้วยเหตุนี้ ความแตกต่างในแง่ของระดับจึงเป็นความแตกต่างในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ในกรณีเช่นนี้ หากหน่วยงานของรัฐ ประสงค์จะรับเจ้าหน้าที่ 1 ตำแหน่ง โดยกำหนดคุณสมบัติว่าต้องจบปริญญาตรี กรณีจึงไม่เป็นการขัดกับหลักความเสมอภาคสำหรับบุคคลที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพราะถือว่าเป็นการแตกต่างในสาระสำคัญ

                   
       ข) หากหน่วยงานของรัฐเปิดรับสมัครตำแหน่งนิติกร โดยกำหนดคุณสมบัติว่า ผู้มีสิทธิ
       สมัครสอบจะต้องจบปริญญาตรีเป็นนิติศาสตร์บัณฑิต กรณีมีปัญหาจะถือเป็นการเลือกปฏิบัติสำหรับบุคคลที่จบปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ อักษรศาสตร์ หรือนิเทศศาสตร์ ฯลฯ หรือไม่ ในกรณีนี้ก็ย่อมเห็นได้ว่า ตำแหน่งนิติกรนั้นเป็นตำแหน่งที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการใช้ตัวบทกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานนั้น ๆ ดังนั้นการกำหนดคุณสมบัติสำหรับผู้จบปริญญาตรีทางนิติศาสตร์เท่านั้นจึงไม่เป็นการขัดกับหลักความเสมอภาค เพราะจบนิติศาสตร์ย่อมมีสาระสำคัญที่แตกต่างไปจากรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ อักษรศาสตร์ หรือ นิเทศศาสตร์ ฯลฯ ดังนั้นการกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครสอบดังกล่าว ย่อมเป็นการไม่ขัดกับหลักความเสมอภาคแต่อย่างใด

                   
       ค) การกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบว่าจะต้องจบปริญญาตรีเกียรตินิยมทางด้าน
       นิติศาสตร์เท่านั้น กรณีนี้จะเป็นการขัดกับหลักความเสมอภาคหรือไม่ ตามที่ผู้เขียนพยายามไล่เรียงมาโดยลำดับว่า หากต่างระดับกันถือว่าต่างในสาระสำคัญ ต่างสาขากันถือว่าต่างในสาระสำคัญ แต่หากต่างทางด้านความสามารถ (หากถือว่าผู้ได้เกียรตินิยมเก่งกว่าผู้ไม่ได้เกียรตินิยม) จะถือว่าต่างในสาระสำคัญหรือไม่ ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า “ความสามารถ” เป็นเกณฑ์ความแตกต่างที่หน่วยงานของรัฐจะใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเป็นเกณฑ์ที่มีความชอบธรรมที่จะใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่ทำการสอบแข่งขัน ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่จะใช้ในระดับที่สอง คือเมื่อมีการสอบแข่งขันกันแล้ว แต่ในกรณีทั่วไปแล้ว หน่วยงานของรัฐไม่อาจจะอาศัยเกณฑ์เรื่องความสามารถเป็นเกณฑ์ของการจำกัดสิทธิในการสมัครสอบได้ โดยมีเหตุผลดังนี้

                   
       - เพราะเกณฑ์ “ความสามารถ” เป็นเกณฑ์ในขั้นตอนที่สองที่หน่วยงานของรัฐจะใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่แล้ว

                   
       - เพราะเกณฑ์ที่สันนิษฐานว่าบุคคลที่ได้ “เกียรตินิยม” เป็นผู้มีความสามารถนั้นเป็นเกณฑ์ที่มีมาตรฐานที่แตกต่างกัน

                   
       - เพราะเกณฑ์ที่สันนิษฐานในเรื่องความสามารถในสถานศึกษากับความสามารถ
       ในการสอบเข้าทำงานนั้น เป็นเรื่องความสามารถที่มีมิติที่แตกต่างในหลายประการ ไม่ว่าจะในทางเนื้อหาหรือทางด้านเวลา กล่าวคือความสามารถที่จะใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งต้องคำนึงถึงความสามารถในขณะปัจจุบัน

                   
       จากเหตุผลดังที่กล่าวข้างต้นจึงไม่อาจจะถือได้ว่า ปริญญาตรีทั่วไปกับปริญญาตรีเกียรตินิยม มีความแตกต่างกันในสาระสำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิบัติให้แตกต่างกันในกลุ่มบุคคลทั้งสอง เพราะปริญญาตรีทั้งสองประเภทมีสาระสำคัญเหมือนกันที่เป็นเครื่องบ่งบอกวิทยฐานะว่าสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย แต่เป็นวิทยฐานะที่ต่ำกว่าปริญญาโท ดังนั้นวิทยฐานะว่าจบปริญญาตรี ไม่ว่าจะได้เกียรตินิยมหรือไม่จึงมีสาระสำคัญเหมือนกัน อันมีสาระสำคัญเหมือนกันที่แสดงนัยว่า หากมีการกำหนดให้ผู้ที่ได้คุณวุฒิปริญญาตรีในสาขานั้นเป็นผู้มีสิทธิสมัครสอบ บุคคลนั้นย่อมอาศัยคุณวุฒิดังกล่าวในการสมัครสอบได้ แต่ความแตกต่างระหว่างปริญญาตรีทั่วไปกับปริญญาตรีเกียรตินิยม อาจแสดงนัยของความแตกต่างทางด้านความสามารถ แต่ความแตกต่างทางด้านความสามารถเป็นเกณฑ์ที่ใช้สำหรับคัดเลือกบุคคลเพื่อให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่แล้ว ดังนั้น การใช้เกณฑ์ “ความสามารถ” โดยสันนิษฐานจากเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดคุณสมบัติในการสมัครสอบ ย่อมเป็นเกณฑ์ที่ขัดกับหลักความเสมอภาค

                   
       ดังนั้น หากถือว่าการกำหนดคุณสมบัติให้ผู้จบปริญญาตรีเกียรตินิยมเท่านั้นที่สามารถสมัครสอบได้นั้น จึงเป็นการขัดกับหลักความเสมอภาค แต่อย่างไรก็ตามหากหน่วยงานของรัฐมีเหตุผลและความจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือมีความจำเป็นรีบด่วนในการที่จะคัดเลือกบุคลากรเพื่อให้เข้ามาทำหน้าที่ของรัฐเป็นการรีบด่วน กรณีนี้อาจกำหนดคุณสมบัติเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งได้ แต่อย่างไรก็ตามสภาพการณ์เช่นนี้ต้องถือว่าเป็นสภาพการณ์ชั่วคราวเท่านั้น มิใช่สภาพการณ์ปกติ แต่หน่วยงานไม่อาจจะให้เหตุผลว่าเพื่อให้เกิดความสะดวกเกิดความรวดเร็วแก่เจ้าหน้าที่ในการดำเนิน
       การเพื่อให้กระบวนการสอบคัดเลือกรวดเร็วและประหยัด เพราะหากชั่งน้ำหนักระหว่างความสะดวก รวดเร็วของเจ้าหน้าที่หรือของหน่วยงานกับการทำลายหลักความเสมอภาค ย่อมไม่ได้สัดส่วนกันแต่อย่างใด หลักความเสมอภาคอันเป็นรากฐานสังคมของรัฐที่ปกครองโดยกฎหมายย่อมอยู่ในฐานะที่จะต้องได้รับการคุ้มครองสูงกว่า ทั้งนี้ยังไม่ต้องคาดคิดถึงว่าหากหน่วยงานของรัฐทั้งหลายของไทย นำหลักเกณฑ์ในการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบว่าจะต้องจบปริญญาตรีเกียรตินิยมมาใช้เป็นเกณฑ์ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อนักศึกษาจะเป็นอย่างไรนั้นไม่อาจจะคาดหมายได้ มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความเครียดของนักศึกษาว่า สาเหตุหนึ่งมาจากการแข่งขันกันมากในระบบการศึกษา กรณีอาจเป็นไปได้ว่านักศึกษาจะกระโดดตึกมากขึ้น เพราะความเครียดจากการศึกษา ความเครียดเพราะพลาดที่จะได้ปริญญาเกียรตินิยม
       
       



       
       


       
เชิงอรรถ


       
                   
       1. บรรเจิด สิงคะเนติ, หลักพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญใหม่, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2543), หน้า 48
       
[กลับไปที่บทความ]


       


       


       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547


       




 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544