หน้าแรก บทความสาระ
สังคมประชาธิปไตยไทยในวัย 71
ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ
3 มกราคม 2548 17:42 น.
 

       
            
       หากจะนับอายุอานามของการเมืองไทย ภายใต้ชื่อ “ประชาธิปไตย” จนถึงวันนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับผู้คนก็ต้องถือว่าเข้าสู่ปัจฉิมวัยแล้ว แต่สำหรับอายุของระบบการเมืองการปกครองในนาม “ประชาธิปไตย” ที่มีอายุ 71 ปีนั้น กล่าวโดยเฉพาะสังคมไทย ยังไม่อาจจะกล่าวได้ว่าเข้าสู่ปัจฉิมวัย เพราะพรรษาทางการเมืองของสังคมนั้น น่าจะสะท้อนที่วุฒิภาวะของสังคมต่อระบบการเมืองนั้นๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยไทยได้ผ่านร้อนหนาวมาพอสมควร ผ่านช่วงเผด็จการทหาร ผ่านช่วงเผด็จการพลเรือน ผ่านช่วงของความอ่อนแอของรัฐบาลพลเรือน และเข้าสู่ช่วงของกลุ่มธุรกิจการเมือง และวันนี้การเมืองไทยกำลังเรียนรู้บทเรียนบทใหม่อีกบทหนึ่งภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่มุ่งจะให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็ง ภายใต้เงื่อนไขของกลุ่มทุนระดับชาติ ที่เข้ามาผูกขาดการเมืองที่ได้รับการเอื้ออำนวยโดยกติกาของรัฐธรรมนูญ ภายใต้สภาพการณ์ดังกล่าวนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบว่าโครงสร้างของสังคมบ้านเมือง ภายใต้เจตนารมณ์ของการปฏิรูปการเมืองของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2540) นั้น บรรลุเป้าหมายหรือไม่เพียงใด


                   
       เจตนารมณ์ที่สำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง คือการจัดโครงสร้างองค์กรทางการเมือง โดยมุ่งหวังที่จะให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง โดยกำหนดให้การอภิปรายไม่ใว้วางใจนายกรัฐมนตรี จะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 2 ใน 5 ก็ดี (มาตรา 185) หรือการที่กำหนดให้สมาชิกภาพของ สส. สิ้นสุดลงเมื่อลาออกจากพรรคการเมือง (มาตรา 118(8)) ก็ดี ปัจจัยดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างที่ส่งผลทำให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง กล่าวเฉพาะรัฐบาลชุดปัจจุบัน ความเข้มแข็งของรัฐบาลยังมีผลมาจากบุคลิกส่วนบุคคลของนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่สำคัญคือ ปัจจัยของการเป็นกลุ่มทุนระดับชาติที่เข้าไปครอบงำภาคธุรกิจต่าง ๆ ไว้อย่างมากมาย ย่อมส่งผลทำให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น


                   
       ในทางตรงกันข้าม กลับมาตรวจสอบเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอีกด้านหนึ่ง ที่มุ่งประสงค์จะให้มีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อควบคุมตรวจสอบฝ่ายบริหาร เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารเป็นไปด้วยความโปร่งใส ถูกต้อง และเป็นธรรม อาจกล่าวได้ว่า ภาพของการปฏิรูปการเมืองของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะให้ภาพที่แท้จริงได้ต่อเมื่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มาจากอำนาจเก่าหมดวาระ แล้วมีการสรรหาชุดใหม่ภายใต้อำนาจทางการเมืองของฝ่ายบริหารในปัจจุบัน ณ จุดนี้นี่เองที่เป็นดัชนีชี้วัดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบรรลุความมุ่งหมายของการปฎิรูปการเมืองหรือไม่ จนถึงวันนี้เราเริ่มเห็นเค้าลางที่ชัดเจนยิ่งขึ้นของความเป็นจริงทางการเมือง พร้อมกับเค้าลางของความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ไม่ว่าเค้าลางของการไม่บรรลุความมุ่งหมายของการปฏิรูปการเมืองจะเกิดจากเหตุบังเอิญที่มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง ประกอบกับบุคลิกภาพเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรี ประกอบกับการรวมตัวของกลุ่มทุนระดับชาติ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาในทางโครงสร้าง คือ การออกแบบที่จะให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีความเป็นกลาง เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร และสามารถทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบองค์กรฝ่ายบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นไม่สัมฤทธิผลในทางปฏิบัติ


                   
       สภาพการณ์ที่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเริ่มส่อเค้าว่าอาจจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบฝ่ายบริหารได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพนั้น ภาพแห่งความน่ากลัวในอีกด้านหนึ่ง กลับสะท้อนให้เห็นถึงการใช้อำนาจในนามของรัฐไปในทิศทางที่เกื้อต่อประโยชน์ของกลุ่มทุนฝ่ายรัฐบาล การใช้อำนาจในนามของรัฐหลายครั้งเกิดความคลางแคลงใจต่อผู้คนในสังคมว่าแท้จริงแล้วผู้นำรัฐบาลกระทำเพื่อผล
       ประโยชน์ของชาติ หรือแอบแฝงไปด้วยผลประโยชน์ของธุรกิจของครอบครัวแต่ในขณะที่กลไกการตรวจสอบที่มีอยู่ ไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะด้วยเหตุเพราะองค์กรตรวจสอบอาจอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายบริหาร ไม่ว่าจะเพราะสมาชิกขององค์กรตรวจสอบบางคนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับฝ่ายรัฐบาล การพิจารณาปัญหาดังกล่าวจึงเป็นไปในทิศทางที่เกื้อต่อฝ่ายรัฐบาล หรืออาจจะเป็นเพราะปัญหาความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของการกระทำนั้นๆ จนทำให้องค์กรตรวจสอบไม่อาจพิสูจน์ได้อย่างประจักษ์ ว่าฝ่ายบริหารกระทำโดยมีมูลเหตุจูงใจอย่างอื่นแอบแฝงหรือไม่


                   
       กล่าวโดยสรุป รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองมีเจตนารมณ์ที่จะทำให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลที่เข้มแข็งนั้นจะต้องไม่เข้าไปแทรกแซงหรือทำลายความอิสระขององค์กรตรวจ
       สอบเหล่านั้น แต่สภาพการณ์เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม ความร้ายแรงของปัญหายิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อมีการใช้อำนาจในนามของรัฐไปในทิศทางที่เกื้อเพื่อกลุ่มธุรกิจของฝ่ายบริหาร แต่ในขณะที่องค์กรที่ควบคุมตรวจสอบไม่อาจเข้าไปควบคุมตรวจสอบความโปร่งใสนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม และนี่คือความเป็นจริงของสังคมประชาธิปไตยไทย ในวัยที่ย่างเข้าสู่ปีที่ 71 ในวัยที่ควรจะได้อยู่อย่างสงบหลังจากที่ตรากตรำทำงานหนักมาเกือบตลอดชีวิต เห็นทีว่าคนในวัย 71 จะต้องรวบรวมเรี่ยวแรงที่เหลืออยู่เพื่อปรับบ้านแปลงเมืองที่ยังไม่เข้าที่เข้าทางให้ลงตัวเหมาะเจาะสำหรับดินฟ้าอากาศของเมืองไทย ก่อนที่บ้านจะล้มครืนลงมาอีกครั้ง


       
       



       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2546


       




 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544