หน้าแรก บทความสาระ
ความรับผิดทางอาญาของประธานาธิบดีฝรั่งเศส
รองศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์
3 มกราคม 2548 17:27 น.
 

       
            
       รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสฉบับปัจจุบัน (ค.ศ.1958) ได้บัญญัติไว้ในหมวดที่ 1 ถึงที่มาและอำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสไว้สรุปความได้ว่า ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนและมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี1 ส่วนอำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดีนั้นก็ได้แก่การเป็นผู้รับผิดชอบดูแลให้มีการเคารพในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญโดยจะต้องใช้อำนาจที่มีอยู่ดูแลให้การดำเนินการของสถาบันการเมืองแห่งรัฐเป็นไปโดยปกติและมีความต่อเนื่องของรัฐ2

                   
       เนื่องจากประธานาธิบดีเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศ ดังนั้น มาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญจึงได้บัญญัติรับรองการดำเนินการต่างๆของประธานาธิบดีไว้ว่า ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำใดๆในการปฏิบัติหน้าที่ในขณะดำรงตำแหน่ง เว้นแต่เป็นกรณีที่ประธานาธิบดีทำการทรยศต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรงเท่านั้น โดยรัฐธรรมนูญได้จัดตั้งศาลอาญาชั้นสูง (la Haute Cour) ไว้ในมาตรา 67 เพื่อพิจารณาความผิดของประธานาธิบดีตามมาตรา 68


                   
       1. วิวัฒนาการของความรับผิดทางอาญาของประธานาธิบดี มาตรา 67 และมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสฉบับลงวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1958 อันเป็นฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้นำหลักการและบทบัญญัติที่เคยมีมาในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้มาบัญญัติไว้ โดยยึดหลักที่ว่า ผู้บริหารประเทศไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของตนอันเป็นไปตาม หลักว่าด้วยความไม่ต้องรับผิดชอบ (le principe d'irresponsabilité) กล่าวคือ เดิมนั้นมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1875 อันเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างของอำนาจรัฐ (l'organisation des pouvoirs publics) ได้บัญญัติไว้ในวรรคแรกถึงหลักว่าด้วยความรับผิดชอบ (le principe d'responsabilité) ของรัฐมนตรีที่มีต่อรัฐสภา ส่วนในวรรคสองก็ได้บัญญัติไว้ว่าประธานาธิบดีต้องรับผิดชอบเฉพาะกรณีทรยศต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง (haute trahison) เท่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆมาก็ได้นำเอาบทบัญญัติในมาตรา 6 ดังกล่าวมาใช้อีกเช่น รัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1946 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 42 ว่าประธานาธิบดีต้องรับผิดชอบเฉพาะกรณีทรยศต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรงเท่านั้น หรือในมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ได้นำข้อความดังกล่าวมาบัญญัติไว้อีกครั้งหนึ่ง โดยเพิ่ม "หลักว่าด้วยความไม่ต้องรับผิดชอบแทรกเข้าไปในบทบัญญัติดังกล่าวคือ "ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำใดๆในการปฏิบัติหน้าที่ในขณะดำรงตำแหน่ง เว้นแต่เป็นกรณีทรยศต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง"

                   
       เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆดังกล่าวมาแล้วจะพบว่า นับแต่ปี ค.ศ. 1875 เป็นต้นมา ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อรัฐสภาในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและการปกครองประเทศของตน แต่รัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบแทนเนื่องจากการกระทำต่างๆของประธานาธิบดีจะต้องมี "ผู้ลงนามร่วม" (contreseign) ซึ่งผู้ลงนามร่วมก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบแทนประธานาธิบดี ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ได้บัญญัติเรื่องการลงนามร่วมไว้ในมาตรา 193 ทำให้การดำเนินการทั้งหลายของประธานาธิบดีในการปฏิบัติหน้าที่ได้รับการคุ้มครองตามหลักว่าด้วยความไม่ต้องรับผิดชอบดังกล่าวไปแล้วข้างต้น

                   
       แต่อย่างไรก็ตาม หลักว่าด้วยความไม่ต้องรับผิดชอบดังกล่าวก็มีข้อยกเว้น โดยมีการเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีอาจถูกกล่าวหาและถูกพิจารณาความผิดสำหรับการกระทำที่มีผลเป็นการ ทรยศต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรงได้ ซึ่งมาตรา 12 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1875 เกี่ยวกับการจัดโครงสร้างของอำนาจรัฐ ได้สร้างระบบดังกล่าวขึ้นมาโดยได้รับอิทธิพลจากระบบ impeachment ที่ใช้กันอยู่ในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในเวลานั้น รัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1875 ได้วางกลไกในการตรวจสอบการทำงานของประธานาธิบดีด้วยการกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กล่าวหาและวุฒิสภาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดโดยจัดตั้งศาลอาญาชั้นสูง (La Haute Cour de Justice) ขึ้นมาในองค์กรวุฒิสภา แต่ต่อมารัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1946 ก็ได้ "แยก" การมีส่วนร่วมในการพิจารณาความผิดของประธานาธิบดีออกจากวุฒิสภา โดยกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กล่าวหา จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรก็จะเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาศาลอาญาชั้นสูงจำนวน 2 ใน 3 ของผู้พิพากษา ส่วนอีก 1 ใน 3 นั้น สภาผู้แทนราษฎรจะเลือกจากบุคคลภายนอก รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือฉบับปี ค.ศ. 1958 ได้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาปรับใช้ใหม่โดยเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับ บทบัญญัติเรื่องความรับผิดทางอาญาของประธานาธิบดีได้ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 67 และมาตรา 68 โดยมีเนื้อความดังนี้ คือ

                   
       "มาตรา 67 ให้มีศาลอาญาชั้นสูง

                   
       ศาลอาญาชั้นสูงประกอบด้วยผู้พิพากษาที่เลือกจากสมาชิกของสภาทั้งสองในที่ประชุมของแต่ละสภาจำนวนเท่าๆกัน โดยให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเลือกจากสมาชิกวุฒิสภาเพื่อประกอบเป็นศาลอาญาชั้นสูงในทุกครั้งภายหลังจากที่ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปหรือเลือกตั้งตามวาระของสภาใดสภาหนึ่ง และให้ผู้พิพากษาศาลอาญาชั้นสูงเลือกประธานศาลอาญาชั้นสูงจากบรรดาผู้พิพากษาด้วยกัน

                   
       ให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดองค์ประกอบของศาลอาญาชั้นสูง หลักเกณฑ์ในการดำเนินงานรวมทั้งกระบวนวิธีพิจารณาของศาล"
       

                   
       "มาตรา 68 ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อการดำเนินการใดๆในการปฏิบัติหน้าที่ในขณะดำรงตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่มีการทรยศต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง ประธานาธิบดีจะถูกกล่าวหาว่ากระทำการดังกล่าวได้ก็แต่โดยมติของสภาทั้งสองที่ได้ออกเสียงลงคะแนนอย่างเปิดเผยและได้รับความเห็นชอบในมติดังกล่าวด้วยเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของแต่ละสภา ในกรณีดังกล่าว ให้ศาลอาญาชั้นสูงเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดการกระทำของประธานาธิบดี"

       

                   
       หลักว่าด้วยความไม่ต้องรับผิดชอบของประธานาธิบดีที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 68 ดังกล่าวนี้ ได้รับการตีความและขยายความออกไปมาก ทั้งโดยคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญและโดยคำพิพากษาศาลฎีกา


                   
        1.1 คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 99-408 DC ลงวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1999 กรณีสนธิสัญญาเกี่ยวกับศาลอาญาระหว่างประเทศ (la Cour pénale internationale) สรุปความได้ว่า เนื่องจากอนุมาตรา 1 ของมาตรา 17 แห่งสนธิสัญญาดังกล่าวบัญญัติไว้ว่า "บทบัญญัติแห่งสนธิสัญญานี้ใช้บังคับกับทุกกรณีอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการยกเว้นให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของรัฐในตำแหน่งใดๆเลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งผู้นำประเทศ หรือรัฐบาล คณะรัฐมนตรี หรือรัฐสภา … ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดทางอาญาที่บัญญัติไว้ในสนธิสัญญานี้ได้และไม่สามารถเป็นเหตุหรือเป็นข้ออ้างให้นำมาลดหย่อนโทษได้" และนอกจากนี้ในอนุมาตรา 2 ของมาตรา 27 ก็ได้บัญญัติต่อไปอีกว่า "ความคุ้มกันหรือกระบวนวิธีพิจารณาพิเศษที่ใช้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของรัฐตามกฎหมายภายในหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่สามารถบังคับให้ศาลอาญาระหว่างประเทศงดเว้นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามสนธิสัญญานี้ได้"

                   
        เนื่องจากมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองเรื่องความรับผิดของประธานาธิบดีไว้ชัดเจนว่า "ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อการดำเนินการใดๆในการปฏิบัติหน้าที่ในขณะดำรงตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่มีการทรยศต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง…" ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีผลเป็นการให้ความคุ้มกันแก่ประธานาธิบดี และนอกจากนี้ ในระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ความรับผิดทางอาญาจะถูกพิพากษาได้ก็แต่โดยศาลอาญาชั้นสูงแต่เพียงศาลเดียวดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญ ดังนั้น คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า มาตรา 27 แห่งสนธิสัญญาเกี่ยวกับศาลอาญาระหว่างประเทศไม่สอดคล้องกับระบบความรับผิดชอบของประธานาธิบดี ซึ่งเป็นระบบพิเศษที่บัญญัติไว้มาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญ


                   
       1.2 ศาลฎีกา เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2001 มีการยื่นฟ้องศาลอาญาแห่งกรุง Paris กรณีทุจริต กล่าวคือ จากการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค (la chambre régionale des comptes) พบว่า มีการทุจริตเกี่ยวกับการยักยอกทรัพย์สินของรัฐและการประมูลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของวิสาหกิจร่วม (société d'économie mixte) แห่งเมือง Paris จึงมีผู้ยื่นฟ้องเมือง Paris ต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 2000 ในกรณีความผิดดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี ศาลอาญาชั้นต้นมีความจำเป็นต้องเรียกประธานาธิบดี Jacques Chirac มาเป็นพยานเพราะในขณะที่เกิดการกระทำตามคำฟ้องนั้น ประธานาธิบดี Jacques Chirac ดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีเมือง Paris อยู่ ซึ่งต่อมาในวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 2000 ศาลอาญาชั้นต้นก็ได้มีคำสั่งไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาเนื่องจากไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาเพราะมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อการดำเนินการใดๆในการปฏิบัติหน้าที่ในขณะดำรงตำแหน่งเว้นแต่กรณีที่มีการทรยศต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง ประกอบกับคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญลงวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1999 ที่ขยายความไปถึงว่า ในระหว่างวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ความรับผิดทางอาญาจะถูกพิจาณาได้ก็แต่โดยศาลอาญาชั้นสูงแต่เพียงศาลเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการพิจารณาความผิดของประธานาธิบดีไม่สามารถดำเนินการได้โดยกระบวนการ ยุติธรรมตามปกติ ปัญหาดังกล่าวได้รับการพิจารณาทบทวนโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา (l'assemblée plénière de la Cour de cassation) ซึ่งได้ให้ความเห็นไว้ว่า ศาลอาญาชั้นสูงมีอำนาจเฉพาะกรณีความผิดฐานทรยศต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรงที่ประธานาธิบดีได้ทำลงในขณะดำรงตำแหน่งเท่านั้น ความผิดอื่นๆเป็นหน้าที่ของศาลในระบบปกติที่จะพิจารณาตามหลักว่าด้วยความเสมอภาคของ ประชาชนที่มีต่อกฎหมายอันเป็นหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญให้การรองรับ ดังนั้น ประธานาธิบดีจึงต้องรับผิดทางอาญาเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปและเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาในระบบปกติที่จะพิจารณา แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประธานาธิบดีเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเพื่อบริหารประเทศและเพื่อดำรงความต่อเนื่องของรัฐ จึงไม่สมควรที่จะพิจารณาความผิดของประธานาธิบดีในขณะดำรงตำแหน่งได้เพราะจะมีผลกระทบต่อสถานะของประธานาธิบดีและจะกระทบต่อไปยังสถานะของรัฐด้วย การดำเนินการทางศาลทั้งหลายจึงต้องระงับไว้ก่อนจนกว่าวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีจะสิ้นสุดลง ดังนั้น ประธานาธิบดีจึงไม่อาจที่จะถูกสอบสวน หรือถูกส่งเข้าสู่กระบวนพิจารณาทางอาญาในระบบปกติในระหว่างดำรงตำแหน่งได้ ด้วยเหตุ ดังกล่าวในกรณีนี้จึงไม่สามารถเรียกประธานาธิบดีมาเป็นพยานให้ปากคำในศาลได้

                   
        เมื่อพิจารณาแนวคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญและคำพิพากษาศาลฎีกาดังที่ได้กล่าวไปแล้ว จะพบว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่าศาลอาญาชั้นสูงมีอำนาจที่จะพิจารณาเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของประธานาธิบดีทุกประเภทในขณะที่ศาลฎีกาจำกัดอำนาจในการพิจารณาคดีของศาลอาญาชั้นสูงอยู่ที่ความผิดฐานทรยศต่อประเทศอย่างร้ายแรงเท่านั้น


                   
       2. การศึกษาถึงระบบความรับผิดทางอาญาของประธานาธิบดี จากข้อขัดแย้งของคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญและศาลฎีกาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 2002 ประธานาธิบดี Jacques Chirac จึงได้ออกรัฐกฤษฎีกาที่ 2002-961 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.2002 แต่งตั้ง คณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ศึกษาถึงความรับผิดทางอาญาของประธานาธิบดีและจัดทำข้อเสนอที่เห็นสมควรเสนอต่อประธานาธิบดี กรรมการชุดดังกล่าวประกอบด้วยศาสตราจารย์ Pierre Avril จากมหาวิทยาลัยปารีส 2 เป็นประธานกรรมการ ส่วนกรรมการอีก 11 คนนั้นเป็นอาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน 4 คน อาจารย์ด้านกฎหมายเอกชน 1 คน อัยการประจำศาลตรวจเงินแผ่นดิน (la Cour des comptes) 1 คน อดีตรองประธานสภาแห่งรัฐ 1 คน อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยปารีส 1 สมาชิกสภาแห่งรัฐ ทนายความ และอดีตประธานศาลฎีกา และมีสมาชิกสภาแห่งรัฐ 1 คน ทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบสำนวน (rapporteur général de la commission) กับอาจารย์ด้านกฎหมายมหาชนอีก 1 คน ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้รับผิดชอบสำนวน (rapporteur général adjoint de la commission)

                   
       คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ทำการศึกษาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญและศาลฎีกาเป็นหลัก และทำการศึกษาเปรียบเทียบความรับผิดทางอาญาของผู้นำประเทศอื่นๆด้วย


                   
       2.1 การศึกษาเปรียบเทียบถึงความรับผิดของผู้นำประเทศ คณะกรรมการดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบถึงระบบความรับผิดของผู้นำประเทศในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปจำนวน 7 ประเทศคือ เยอรมัน ออสเตรีย ฟินแลนด์ กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี และโปรตุเกส จากการศึกษาพบว่ารัฐที่มีกษัตริย์เป็นประมุขจะมีการกำหนดถึงความคุ้มกันอย่างถาวร (immunité absolue) ไว้สำหรับการกระทำของประมุขของรัฐที่ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น แต่สำหรับในกรณีที่ประมุขของรัฐมิได้เป็นกษัตริย์นั้น รัฐต่างๆจะกำหนดมาตรการในเรื่องความรับผิดชอบและความคุ้มกัน (immunité) ประมุขของรัฐไว้ใน 3 กรณีด้วยกัน คือ


                   
        2.1.1 ความคุ้มกันในการปฏิบัติหน้าที่ การพิจารณาความผิดของผู้นำประเทศ ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ภายใต้ระบบศาลพิเศษและประมุขของรัฐก็จะได้รับความคุ้มกันจากการกระทำอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หลักดังกล่าวเป็นหลักที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในหลายๆประเทศ


                   
        ก. ความผิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของประมุขของรัฐ หลักมีอยู่ว่าผู้นำประเทศจะต้องรับผิดชอบเฉพาะในการกระทำบางประการที่ทำลงในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของตน หลักดังกล่าวบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหลายประเทศ เช่น โปรตุเกส4 อิตาลี5
       ออสเตรีย6 และกรีซ7 ซึ่งจากการพิจารณารัฐธรรมนูญของประเทศทั้ง 4 จะพบว่า ในสองประเทศคือโปรตุเกสและออสเตรียกำหนดไว้ว่า ประธานาธิบดีต้องรับผิดชอบ "เป็นการทั่วไป" ต่อความผิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ในขณะที่อีกสองประเทศคือ อิตาลีและกรีซนั้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ชัดเจนถึง "ความผิดบางประการ" ที่ประธานาธิบดีต้องรับผิดชอบ แต่อย่างไรก็ตาม บรรดาความผิดที่กำหนดไว้ในสองประเทศหลังนี้ก็มิได้เป็นความผิดที่ชัดเจนดังเช่นความผิดที่กำหนดฐานความผิดไว้ในกฎหมายอาญา รัฐธรรมนูญเพียงแต่กำหนด "กรอบ" ของความผิดไว้อย่างกว้างๆว่า เป็นกรณีทรยศต่อประเทศชาติหรือเป็นกรณีฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

                   
        ข. โทษที่จะได้รับ แนวความคิดของเรื่องความรับผิดของผู้นำประเทศที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นแนวความคิด"พิเศษ" ที่แตกต่างจากแนวความคิดเรื่องความรับผิดทั่วๆไปของเอกชนที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาญาเพราะในกฎหมายอาญานั้นเป็นเรื่องที่มุ่งเน้นที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษเพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุข แต่แนวความคิดในเรื่องความรับผิดของประธานาธิบดีนั้นเป็นแนวความคิดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เพื่อให้ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนตามกรอบแห่งอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนด หากมีการฝ่าฝืนก็ย่อมจะต้องมีการลงโทษ ซึ่งการลงโทษประธานาธิบดีนั้นก็ย่อมจะต้องแตกต่างจากการลงโทษประชาชนทั่วไปในกระบวนการทางอาญาเพราะเป็นการลงโทษในความผิดที่มีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน

                   
        เมื่อมีการกล่าวหาว่าผู้นำประเทศกระทำความผิดฐานบกพร่องต่อหน้าที่ ก็จะต้องนำไปสู่กระบวนการ "ลงโทษ" ทางการเมืองเพราะกรณีดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบทางการเมือง การลงโทษทางการเมืองที่ใช้กันอยู่ทั่วไปได้แก่กระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่ง (destitution) โดยรัฐธรรมนูญแต่ละประเทศต่างก็กำหนดกระบวนการในการถอดถอนและองค์กรที่ทำหน้าที่ถอดถอนไว้แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการทางกฎหมายอาญาปกติอาจนำมาใช้ในการดำเนินการกับผู้นำประเทศที่ทำความผิดได้ โดยองค์กรพิเศษหรือโดยศาลปกติแต่จะต้องเป็นภายหลังจากที่ได้มีการถอดถอนผู้นำประเทศออกจากตำแหน่งไปแล้ว

                   
        ค. กระบวนการ องค์กรที่ทำหน้าที่พิจารณาความผิดของผู้นำประเทศส่วนใหญ่มักจะเป็นองค์กรที่กฎหมายจัดตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษโดยมีการกำหนดองค์ประกอบไว้ ชัดเจนหรือในบางประเทศก็อาจมอบหน้าที่ดังกล่าวให้กับรัฐสภาเป็นผู้พิจารณา เหตุผลที่ไม่ใช้กระบวนการยุติธรรมตามปกติพิจารณาความผิดของผู้นำประเทศก็เพราะกระบวนพิจารณาความผิดดังกล่าวเป็นกระบวนการพิจารณาทางการเมืองนั่นเอง

                   
        กระบวนการโดยทั่วไปนั้นจะมีการแยก "องค์กรที่ทำหน้าที่กล่าว หา" ออกจาก "องค์กรที่ทำหน้าที่พิจารณาความผิด" โดยองค์กรที่ทำหน้าที่กล่าวหามักจะไม่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของประชาชนแต่จะให้เป็นหน้าที่ของตัวแทนของประชาชนคือสภาผู้แทนราษฎรนั้นเอง เหตุผลที่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้กล่าวหาว่าผู้นำประเทศทำผิดได้ก็เพราะผู้นำประเทศเป็น ผู้บริหารสูงสุดของประเทศ หากประชาชนทุกคนสามารถกล่าวหาได้ก็จะทำให้ผู้นำประเทศไม่สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นและยังเป็นการทำลายภาพพจน์ของผู้นำประเทศ ทำลายความเชื่อมั่นที่ต่างประเทศจะพึงมีต่อผู้นำประเทศและต่อประเทศอีกด้วย

                   
        การกล่าวหาโดยสภาผู้แทนราษฎรนั้น ในแต่ละประเทศต่างก็มีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกัน เช่นในประเทศโปรตุเกส ฮังการี และไอร์แลนด์ จะต้องมีเสียงจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้กล่าวหาไม่ต่ำกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ส่วนในเยอรมนีและบุลกาเรียก็จะต้องมีเสียงกล่าวหาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ ในกรีซก็จะต้องมีเสียงกล่าวหาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม เมื่อได้เสียงกล่าวหาครบจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ครบถ้วนแล้ว ในประเทศส่วนใหญ่เมื่อการกล่าวหาได้รับเสียงครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว การส่งเรื่องไปให้องค์กรที่มีหน้าที่พิจารณาความผิดของผู้นำประเทศก็จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎรไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งหรือหนึ่งในสามด้วย


                   
        2.1.2 ความคุ้มกันชั่วคราวกรณีความผิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ รัฐธรรมนูญบางประเทศมีบทบัญญัติที่ "ระงับ" กระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติที่อาจนำมาใช้กับผู้นำประเทศไว้ชั่วคราวขณะดำรงตำแหน่ง กล่าวคือ ในขณะดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศไม่อาจถูกพิจารณาความผิดทางอาญาในศาลยุติธรรมได้ ความผิดดังกล่าวอาจเป็นความผิดทางอาญาที่ทำในขณะดำรงตำแหน่งแต่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับตำแหน่งหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้นำประเทศ หรืออาจเป็นความผิดทางอาญาที่เกิดขึ้นก่อนเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศก็ได้ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในกรณีของประเทศกรีซ8 และโปรตุเกส9

                   
        ส่วนความรับผิดทางแพ่งนั้น ไม่มีรัฐธรรมนูญประเทศใดกล่าวถึงความคุ้มกันชั่วคราวเอาไว้ ดังนั้น ประธานาธิบดีจึงอาจถูกฟ้องต่อศาลในการกระทำส่วนตัวที่เป็นความผิดทางแพ่งได้ในระหว่างดำรงตำแหน่ง


                   
        2.1.3 หลักกฎหมายมหาชนที่อาจนำมาปรับใช้กับเรื่องความคุ้มกัน หลักที่เกี่ยวข้องกับความคุ้มกันทางศาลที่ให้แก่ผู้นำประเทศเป็นหลักที่กล่าวถึงและยึดถือปฏิบัติต่อเนื่องกันมานานแล้ว หลักดังกล่าวมีที่มาดั้งเดิมจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ห้ามล่วงละเมิดกษัตริย์อันหมายความรวมถึงการกระทำทุกประเภทของกษัตริย์และราชวงศ์ไม่ว่าจะเป็นการกระทำในตำแหน่งหน้าที่หรือส่วนตัวก็ตามจะไม่สามารถนำมาฟ้องร้องได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีหลักกฎหมายมหาชนสองหลักที่มีความเกี่ยวโยงเรื่องความคุ้มกัน คือ


                   
        2.1.3.1 หลักการแบ่งแยกอำนาจ (le principe de la séparation des pouvoirs) เป็นหลักที่มีขึ้นมาเพื่อแบ่งแยกการใช้อำนาจขององค์กรของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรฝ่ายบริหารและองค์กรฝ่ายตุลาการ การที่องค์กรฝ่ายตุลาการจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยการควบคุมหรือตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรฝ่ายบริหารจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นเพราะความรับผิดชอบทางการเมืองของฝ่ายบริหารมิได้เป็นหน้าที่ของฝ่ายตุลาการในหลักว่าด้วยการแบ่งแยกอำนาจ


                   
        2.1.3.2 หลักว่าด้วยความต่อเนื่อง (le principe de la continuité) หลักว่าด้วยความต่อเนื่องเป็นหัวใจสำคัญของทฤษฎีว่าด้วยความดำรงอยู่ของรัฐ เพราะรัฐต้องมีความต่อเนื่อง

                   
        ประธานาธิบดีผู้เป็นผู้นำประเทศมีหน้าที่สำคัญคือทำให้การบริหารงานของรัฐเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้รัฐมีความต่อเนื่อง ดังนั้นหากผู้นำประเทศไม่สามารถทำงานอย่างต่อเนื่องได้ก็จะเกิดผลกระทบต่อการบริหารงานของรัฐ จึงทำให้ต้องมีการสร้างกระบวนการคุ้มกันดังกล่าวขึ้นมา


                   
       2.2 การดำเนินการของคณะกรรมการ คณะกรรมการที่ประธานาธิบดี Jacques Chirac ตั้งขึ้นมาได้ทำการศึกษาถึงระบบประธานาธิบดีและความคุ้มครองการดำเนินงานของประธานาธิบดีแล้ว พบว่ามี 4 ประเด็นที่จะนำเสนอคือ

                   
       - การปฏิบัติหน้าที่ของประธานาธิบดีจะต้องได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ
       จะใช้กระบวนการยุติธรรมตามปกติไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากประธานาธิบดีเป็นตัวแทนของชาติและปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญมอบหมาย

                   
       - การคุ้มครองจะต้องไม่ทำอย่างเด็ดขาดและไม่เป็นการทั่วไป จะมีได้
       เฉพาะในการกระทำการต่างๆ อันเกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่ของตนเท่านั้น

                   
       - การดำเนินการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสจะต้องสอดคล้อง
       กับข้อตกลงระหว่างประเทศ คือประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสจะถูกพิจารณาความผิดโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ (la Cour pénale internationale) ได้


                   
       2.3 ข้อเสนอของคณะกรรมการ คณะกรรมการได้เสนอให้ทำการปรับปรุงมาตราทั้งสองคือมาตรา 67 และมาตรา 68 ของหมวด 9 ศาลอาญาชั้นสูง


                   
       2.3.1 บทบัญญัติเดิม
ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ

       

หมวด 9


                   
        มาตรา 67 ให้มีศาลอาญาชั้นสูง

                   
        ศาลอาญาชั้นสูงประกอบด้วยผู้พิพากษาที่เลือกจากสภาทั้งสองในที่ประชุมของแต่ละสภาจำนวนเท่าๆกัน โดยให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเลือกจากสมาชิกวุฒิสภาเพื่อประกอบเป็นศาลอาญาชั้นสูงทุกครั้งภายหลังจากที่ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปหรือเลือกตั้งบางส่วนตามวาระของสภาใดสภาหนึ่ง และให้ผู้พิพากษาศาลอาญาชั้นสูงเลือกประธานศาลอาญาชั้นสูงจากบรรดาผู้พิพากษาด้วยกัน

                   
        ให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดองค์ประกอบของศาลอาญาชั้นสูง หลักเกณฑ์ในการดำเนินงานรวมทั้งกระบวนวิธีพิจารณาของศาล

                   
        มาตรา 68 ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐไม่ต้องรับผิดชอบต่อการดำเนินการใดๆ ในการปฏิบัติหน้าที่ในขณะดำรงตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่มีการทรยศต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจะถูกกล่าวหาว่ากระทำการดังกล่าวได้ก็แต่โดยมติสภาทั้งสองที่ได้ออกเสียงลงคะแนนอย่างเปิดเผยและได้รับความเห็นชอบในมติดังกล่าวโดยเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของแต่ละสภา ในกรณีดังกล่าวให้ศาลอาญาชั้นสูงเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดการกระทำดังกล่าวของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ


                   
       บทบัญญัติที่เสนอใหม่ มีรายละเอียดที่สำคัญดังต่อไปนี้ คือ


       


       
       
       
       
       
       
       
       
       
บทบัญญัติใหม่
เหตุผล

       
หมวด 9

       ศาลอาญาชั้นสูง


                    ร่างมาตรา 67 (วรรคแรก) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐไม่ต้องรับผิดชอบต่อการดำเนินการใดๆในตำแหน่งประธานาธิบดีเว้นแต่ที่กำหนดไว้ในมาตรา 53-2 และมาตรา 68
       

                   
       ร่างมาตราดังกล่าวเป็นบทบัญญัติในมาตราแรกของหมวดนี้ เขียนขึ้นเพื่อยืนยันหลักว่าด้วยความไม่ต้องรับผิดชอบ (le principe d'irresponsabilité) ของประธานาธิบดีแทนที่จะกล่าวไว้ในมาตราที่ 2 ของหมวดดังเช่นที่เป็นอยู่ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (มาตรา 68) สำหรับข้อยกเว้น 2 กรณีในร่างมาตราดังกล่าวนั้น ข้อยกเว้นประการแรกในมาตรา 53-2 เป็นเรื่องที่ประเทศฝรั่งเศสยอมรับการดำเนินคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศ (la Cour pénale internationale) ต่อประมุขของรัฐในกรณีจำกัดที่กำหนดไว้เฉพาะ ส่วนในมาตรา 68 นั้นเป็นกรณีการถอดถอนออกจากตำแหน่งสำหรับความผิด ฐานทรยศต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง (haute trahison)
       

                   
       ร่างมาตรา 67 (วรรคสอง) ในระหว่างวาระการดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีไม่อาจถูกเรียกไปเป็นพยาน ขอข้อมูล ขอคำแนะนำ หรือ พิจารณาคดีในศาลใดหรือในองค์กรใดๆของฝ่ายปกครองฝรั่งเศสได้ หลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการหรือในการพิจารณาคดีภายหลังการพ้นจากตำแหน่งของประธานาธิบดีให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
       

                   
       ร่างมาตรา 67 วรรคสอง นี้เป็นบทบัญญัติที่ยืนยันหลักว่าด้วยการล่วงละเมิดไม่ได้ของประธานาธิบดี (le principe d'inviolabilité) มีขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติหน้าที่ของประธานาธิบดีในขณะดำรงตำแหน่ง และเพื่อให้นำกฎหมายธรรมดามาใช้กับประธานาธิบดีภายหลังพ้นจากตำแหน่ง แต่อย่างไรก็ตาม การนำกฎหมายธรรมดามาใช้ภายหลังพ้นจากตำแหน่งคงก่อให้เกิดความยุ่งยากในทางปฏิบัติและมีรายละเอียดมาก คณะกรรมการจึงได้เสนอให้ไปบัญญัติเรื่องดังกล่าวไว้ในกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญ
       

                   
       ร่างมาตรา 68 (วรรคแรก) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอาจถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้เฉพาะในกรณีละเลยต่อหน้าที่ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ของประธานาธิบดี การถอดถอนเป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะทำหน้าที่เป็นศาลอาญาชั้นสูงขึ้น
       

                   
       รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใช้คำว่า ทรยศต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง (haute trahison) ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีคำจำกัดความที่แน่นอน และอาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการร่วมมือกับต่างชาติเพื่อทำการเป็นปฏิปักษ์กับประเทศฝรั่งเศส ดังนั้น ในร่างมาตรา 68 วรรคแรกนี้จึงได้ปรับฐานความผิดของประธานาธิบดีใหม่ให้เชื่อมโยงกับการทำงานของประธานาธิบดี และนอกจากนี้ยังมีการกำหนดบทลงโทษที่แน่นอนเอาไว้คือ การถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งพร้อมทั้งยังกำหนดองค์กรที่ทำหน้าที่ถอดถอนเอาไว้ว่าได้แก่รัฐสภาซึ่งจะต้องทำหน้าที่เป็นศาลอาญาชั้นสูงเพราะรัฐสภามีความเชื่อมโยงกับประชาชน
       

                   
       ร่างมาตรา 68 (วรรคสอง) ข้อเสนอที่จะให้มีการพิจารณาถอดถอนประธานาธิบดีโดยศาลอาญาชั้นสูงตามมติของสภาใดสภาหนึ่งในรัฐสภาจะต้องเสนอให้อีกสภาหนึ่งพิจารณาใน15วัน
       

                   
       ความในวรรคนี้มีขึ้นเพื่อให้สภาทั้งสองสภาคือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีบทบาทในการถอดถอนประธานาธิบดี กล่าวคือ ข้อเสนอให้มีการถอดถอนประธานาธิบดีสามารถทำได้โดยสภาใดสภาหนึ่งเป็นผู้เสนอก็ได้ มิใช่สภาทั้งสองร่วมกันเสนอข้อเสนอดังกล่าว เมื่อสภาใดสภาหนึ่งเสนอแล้ว จะต้องให้อีกสภาหนึ่งทำการพิจารณา หากสภาที่สองไม่เห็นด้วย ข้อเสนอดังกล่าวก็ตกไป ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการกล่าวหาประธานาธิบดีเป็นไปอย่างรอบคอบจึงกำหนดให้มีการถ่วงดุลกันระหว่างสภาทั้งสอง
       

                   
       ร่างมาตรา 68 (วรรคสาม) มติที่ให้มีการพิจารณาถอดถอนประธานาธิบดีโดยศาลอาญาชั้นสูงส่งผลให้การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐตามมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญนี้ต้องหยุดลงเป็นการชั่วคราวและให้มีการดำเนินการตามมาตรา 7 วรรคสี่แห่งรัฐธรรมนูญนี้ ระยะเวลาในการหยุดลงเป็นการชั่วคราวของการปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดีจะสิ้นสุดลงดังที่บัญญัติไว้ในวรรคสี่ของมาตรานี้
       

                   
       ในกรณีที่สภาทั้งสองสภาต่างเห็นว่าข้อเสนอมีมูล ผลก็คือการเกิดขึ้นของศาลอาญาชั้นสูงเพื่อพิจารณาความผิดของประธานาธิบดี ซึ่งก็เป็นที่แน่นอนว่าสภาทั้งสองเห็นว่าประธานาธิบดี "ทำผิด" จริง ดังนั้น จึงควรระงับการปฏิบัติหน้าที่ของประธานาธิบดีไว้ชั่วคราวก่อนและให้ประธานวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดีไปพลางดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 วรรคสี่แห่ง รัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อมิให้การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของประธานาธิบดีเป็นไปในระยะเวลาอันยาวนาน ในตอนท้ายของร่างมาตรา 68 วรรคสามจึงบัญญัติว่าระยะเวลาในการหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวจะสิ้นสุดลงภายหลังการชี้ขาดของศาลอาญาชั้นสูงดังที่กล่าวไว้ในร่างมาตรา 68 วรรคสี่
       

                   
       ร่าง มาตรา 68 (วรรคสี่) ศาลอาญาชั้นสูงมีประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่เป็นประธาน การพิจารณาให้ถอดถอนต้องแล้วเสร็จภายในสองเดือนโดยการลงคะแนนลับ คำพิพากษาของศาลอาญาชั้นสูงมีผลบังคับในทันที
       

                   
       เมื่อมีการจัดตั้งศาลอาญาชั้นสูง คือมีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อทำหน้าที่เป็นศาลอาญาชั้นสูง ประธานาธิบดีจะต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ลงชั่วคราว และประธานวุฒิสภาก็จะต้องไปปฏิบัติหน้าที่แทนประธานาธิบดี ดังนั้น จึงกำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่เป็นประธานศาลอาญาชั้นสูง ศาลอาญาชั้นสูงจะต้องพิจารณาปัญหาดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในสองเดือนเป็นอย่างช้า เมื่อศาลอาญาชั้นสูงพิพากษาให้ถอดถอนประธานาธิบดีจากตำแหน่ง ก็จะมีผลทันทีที่มีคำพิพากษา
       

                   
       ร่างมาตรา 68 (วรรคห้า) การลงมติตามร่างมาตรานี้จะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่ประกอบกันเป็นสภาหรือจำนวนสมาชิกของศาลอาญาชั้นสูง
       

                   
        ในร่างมาตรานี้ได้กล่าวถึงการลงมติในเรื่องการถอดถอนประธานาธิบดีซึ่งจะต้องมีการลงมติ 3 ครั้งด้วยกันคือในสองครั้งแรกเป็นการพิจารณาข้อเสนอให้ถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งโดยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งจะต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกของสภาที่มีการลงมติ ส่วนครั้งสุดท้ายจะเป็นการลงมติให้ถอดถอนจากตำแหน่งโดยศาลอาญาชั้นสูงซึ่งก็คือรัฐสภานั่นเอง

                   
       ร่างมาตรา 69 (วรรคท้าย) ให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการตามมาตรานี้
       

                   
       มีหลายประเด็นที่มิได้กำหนดไว้ใน รัฐธรรมนูญและสมควรนำไปกำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เช่น แบบวิธีในการเสนอขอให้ถอดถอนประธานาธิบดี การจัดวาระประชุม หน่วยธุรการของศาลอาญาชั้นสูง เป็นต้น
       


                   
       ข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ถูกเสนอไปยังประธานาธิบดี Jacques Chirac) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2002 ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของประธานาธิบดี


       



       
       

       
เชิงอรรถ


       
                   
       * แปลและเรียบเรียงจากรายงานเสนอประธานาธิบดี (Rapport au Président de la République) เรื่อง “Le statut pénal du Président de la République” จัดทำโดย Commission de réflexion sur le statut pénal du Président de la République,จัดพิมพ์เผยแพร่โดย La documentation Française , Paris 2003.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       1. มาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1958 (มาตรานี้ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 2000 โดยลดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีจาก 7 ปีลงมาเหลือ 5 ปี).
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       2. มาตรา 5 แห่งรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1958.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       3. มาตรา 19 การกระทำทั้งหลายของประธานาธิบดี นอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 วรรคแรก มาตรา 11 มาตรา 12 มาตรา 16 มาตรา 18 มาตรา 54 มาตรา 56 และมาตรา 61 จะต้องมีการลงนามร่วมโดยนายกรัฐมนตรี หรือโดย รัฐมนตรีทั้งหลายผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนั้น แล้วแต่กรณี.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       4. รัฐธรรมนูญโปรตุเกส ค.ศ. 1976 มาตรา 130 บัญญัติว่า ประธานาธิบดีจะต้องรับผิดชอบต่อบรรดาความผิดที่ได้กระทำลงในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ต่อศาลยุติธรรมสูงสุด (le Tribunal suprême de justice).
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       5. รัฐธรรมนูญอิตาลี ค.ศ. 1947 มาตรา 90 บัญญัติว่า ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำทั้งหลายที่ได้กระทำลงในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เว้นแต่กรณีทรยศต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง (haute trahison) หรือกรณีเป็นปฏิปักษ์ (attentat) ต่อรัฐธรรมนูญ.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       6. รัฐธรรมนูญออสเตรีย ค.ศ. 1920 มาตรา 68 บัญญัติว่า ประธานาธิบดีจะต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งหลายของตนต่อสภาผู้แทนราษฎร (l’Assemblée fédérale).
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       7. รัฐธรรมนูญกรีซ ค.ศ. 1986 มาตรา 49 บัญญัติว่า ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำทั้งหลายที่ได้กระทำลงในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เว้นแต่กรณีทรยศต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรงหรือกรณีการฝ่าฝืน (violation) รัฐธรรมนูญ……………….. .
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       8. รัฐธรรมนูญกรีซ ค.ศ. 1986 มาตรา 49 บัญญัติว่า ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำทั้งหลายที่ได้กระทำลงในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เว้นแต่กรณีทรยศต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง หรือกรณีฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ สำหรับการกระทำทั้งหลายที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่นั้น การดำเนินการจะระงับไว้จนกว่าประธานาธิบดีจะพ้นจากตำแหน่ง.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       9. รัฐธรรมนูญโปรตุเกส ค.ศ. 1976 มาตรา 130 วรรคสี่ บัญญัติว่า ประธานาธิบดีจะต้องรับผิดต่อความผิดที่ได้กระทำลงที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อศาลยุติธรรมภายหลังวาระการดำรงตำแหน่งสิ้นสุดลง.
       
[กลับไปที่บทความ]


       


       
       


       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2546


       




 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544