คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกับสถาบันครอบครัว |
 |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
 |
บนชั้นหนังสือที่โต๊ะทำงานผม มีหนังสือคำอธิบายกฎหมายครอบครัวเล่มใหญ่อยู่เล่มหนึ่ง ซึ่งผมก็รู้สึกว่ากินพื้นที่บนชั้นเต็มทนจะเอากลับไปเก็บบ้านก็หลายหน เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่มีเขตอำนาจอยู่ในคดีรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นคดีในกฎหมายมหาชน ในขณะที่กฎหมายครอบครัวนั้นเป็นกฎหมายแพ่งซึ่งเป็นคดีในกฎหมายเอกชน และหาความเชื่อมโยงกับคดีรัฐธรรมนูญได้ยากเหลือเกิน
ในที่สุดผมจะต้องหยิบตำราดังกล่าวมาเปิดเพื่อศึกษาผลกระทบของคำวินิจฉัยที่ได้ตัดสินไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2546 ที่เสียงส่วนใหญ่ (ของผู้หญิง) เห็นว่าเป็นคำวินิจฉัย "ปลดแอก" สตรีเลยทีเดียว คือ คำวินิจฉัยที่ ๒๑/๒๕๔๖ วันที่ 5 มิถุนายน 2546 เรื่องผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ขอให้พิจารณากรณีพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยศาล
รัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มาตรา 12 ที่บัญญัติว่า "หญิงมีสามี ให้ใช้ชื่อสกุลของสามี" นั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 30 เป็นอันใช้บังคับไม่ได้
ผลคือ คำวินิจฉัยนี้ถูกคุณๆผู้ชายโทรศัพท์ไปวิพากษ์วิจารณ์ตามวิทยุบ้าง เขียนกระทู้ต่อว่าในอินเทอร์เน็ทบ้าง ไม่เห็นด้วยกับศาลรัฐธรรมนูญและขยายประเด็นกันเสียใหญ่โต ถึงขนาดว่าศาลรัฐธรรมนูญทำลายสถาบันครอบครัวกันไปเลย รวมทั้งเกิดข้อสงสัยว่า
ปัญหาคือ บุตรของคู่สมรสที่หญิงมิได้เปลี่ยนนามสกุลนี้ จะใช้นามสกุลของใคร ?
อันที่จริงสิทธิการใช้ชื่อสกุลของบุตร จะไม่เกี่ยวกับกฎหมายที่ว่านี้เสียทีเดียวนัก เนื่องจากได้รับการรับรองไว้โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1561 ดังนี้
"บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา
ในกรณีที่บิดาไม่ปรากฏ บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของมารดา"
สรุปง่ายๆคือ ลูกต้องใช้นามสกุลของพ่อ ถ้าพ่อไม่ปรากฏ หมายถึงไม่ได้สมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงจะใช้นามสกุลของแม่ หรือถ้าไม่ได้สมรสกันตามกฎหมาย แต่พ่อรับรองว่าเด็กคนนี้เป็นลูกหรือถูกฟ้องให้รับรองว่าเป็นลูก ลูกก็สามารถใช้นามสกุลของพ่อได้เช่นกัน แต่ถ้าลูกไม่อยากจะใช้นามสกุลพ่อ ก็สามารถเปลี่ยนนามสกุลได้ เพราะกฎหมายบัญญัติว่า "มีสิทธิใช้" ไม่ได้กำหนดไว้ว่า "ให้ใช้" เหมือนกรณีผู้หญิงที่แต่งงานแล้วตาม พรบ. ชื่อบุคคล ดังนั้นใครๆที่ไม่พอใจนามสกุล จึงไปเปลี่ยนตั้งนามสกุลใหม่กันได้หรือจะไปขอใช้นามสกุลคนอื่นเขาก็ได้ถ้าเจ้าของนามสกุลเขายินยอม ตามกฎหมายชื่อบุคคลมาตรา 11 แต่เมื่อสิทธิ คือสิ่งที่กฎหมายรับรองให้ ดังนั้นถ้าใครอยากใช้นามสกุลของพ่อเขา หรือแม่เขาในกรณีที่ไม่ปรากฏพ่อ ก็ต้องทำได้ ถ้าลงเป็นพ่อลูกกันหรือรับเป็นลูกแล้ว ลูกก็ต้องใช้นามสกุลของพ่อได้เสมอ
สรุปคือ การใช้นามสกุลของลูกที่เกิดจากแม่ที่ใช้นามสกุลเดิม ก็ยังเหมือนเดิมครับ คือจะต้องใช้ของพ่อ คุณแม่จะมาเปลี่ยนให้ใช้ของแม่โดยบุตรไม่ยินยอมไม่ได้ ต้องเป็นกรณีที่พ่อไม่ปรากฏ ไม่ได้จดทะเบียนสมรส และพ่อไม่ได้รับรองเท่านั้นจึงจะใช้นามสกุลแม่ได้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้จึงไม่กระทบกระเทือนกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมทั้งเรื่องคำนำหน้าชื่อด้วย การใช้บังคับไม่ได้มีผลเฉพาะมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติชื่อบุคคลเท่านั้น ที่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่มาตราอื่นของกฎหมายดังกล่าว หรือกฎหมายอื่นๆที่ใกล้เคียงกันก็สามารถใช้บังคับได้ตามปกติ และเป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะต้องแก้กฎหมายชื่อบุคคลนี้กันต่อไป
เช่นนี้แล้วผลของคำวินิจฉัยต่อสถาบันครอบครัวละเป็นอย่างไร
ผลของคำวินิจฉัยนี้ มีเพียงแค่การเปลี่ยนจาก "บทบังคับ" ของกฎหมายชื่อสกุลว่า "ให้ใช้" มาเปลี่ยนเป็น "ทางเลือก" ของฝ่ายหญิงที่แต่งงาน ว่าจะใช้นามสกุลเดิมของตัว หรือเปลี่ยนไปใช้นามสกุลของสามีหรือไม่ เท่านั้นเองจริงๆครับ
แต่การสืบเชื้อสายตระกูล หรือ การสืบนามสกุลก็ยังคงต้องนับตามสายของพ่ออยู่เหมือนเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ผมอธิบายไว้ข้างต้นแล้ว
คำนำหน้านาม ณ ปัจจุบันก็ยังต้องคงเดิม เป็นนาย นาง นางสาว (ในกรณีของสามัญชน) กันเหมือนเดิม ไม่มีผลอะไร
การที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่า จะไม่รู้ใครโสดไม่โสด จะเกิดปัญหาชู้สาว ไปจีบไปเกี้ยวคนแต่งงานแล้วนั้น ก็ไม่มีปัญหาเพิ่มเติม เนื่องจากเมื่อผู้หญิงนั้น หากแต่งงานแล้ว แต่ใช้นามสกุลเดิม คำนำหน้านามก็ต้องเปลี่ยนเป็น "นาง" อยู่ ทำให้เรารู้ว่าหญิงผู้นี้แต่งงานแล้ว เช่น นางสาวเอกรัตน์ บุตรตาแม้น แต่งงานกับ นายสาโท สีทองแท้ เธอก็จะเปลี่ยนเป็น นางเอกรัตน์ บุตรตาแม้น นั่นเอง อย่างรก็ตาม คำนำหน้านาม หรือนามสกุลก็ดี ไม่สามารถที่จะใช้ตรวจสอบได้อย่างสมบูรณ์ ว่า ชายหญิงผู้นั้นโสดหรือสมรส เพราะปรากฏเสมอว่า หญิงที่ไม่ได้แต่งงานโดยการจดทะเบียนสมรส คำนำหน้าชื่อก็จะเป็น "นางสาว" และใช้นามสกุลเดิมอยู่ เช่นเดียวกับกรณีของชาย ที่จะไม่มีการเปลี่ยนคำนำหน้านาม หรือนามสกุลโดยการสมรสเลย ดังนั้นหากต้องการตรวจสอบสถานภาพการสมรส จึงไม่ควรพิจารณาจากคำนำหน้านามหรือนามสกุลแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
และที่สำคัญที่สุด ผมเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้เหตุผลไว้ในคำวินิจฉัยดังกล่าว ว่า "ความเป็นเอกภาพและความสงบสุขของ ครอบครัวเกิดขึ้นจากความเข้าใจ การยอมรับ และการให้เกียรติซึ่งกันและกันระหว่างสามีและภริยา" มิใช่การใช้นามสกุล หรือการเปลี่ยนนามสกุลจามคู่สมรส
ดังนั้น ผลของคำวินิจฉัยนี้ เป็นเพียงการสร้าง "ทางเลือก" ให้ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว สามารถเลือกใช้นามสกุลได้ มันก็น่าจะดีกว่าการบังคับให้ใครสักคน ต้องเปลี่ยนนามสกุลของพ่อของแม่ตัวเองเมื่อแต่งงานไป
นอกจากนี้ การมีนามสกุลนั้น เจตนารมณ์ดังเดิมก็คือต้องการให้รู้ว่าเราเป็นคนของครอบครัวไหนเท่านั้นเอง แม้การแต่งงานแม้เป็นการสร้างครอบครัวใหม่ก็จริง แต่ความสัมพันธ์ต่อครอบครัวเก่าเขาก็ยังคงมีอยู่ จะให้ถือว่าพรากผู้หญิงออกมาจากครอบครัวเดิมของเขาเชียวหรือ
และถ้าจะอ้างธรรมเนียมไทย ก็ยิ่งน่าสงสัย เพราะประกอบกับกฎหมายว่าด้วยการใช้ชื่อสกุลฉบับแรกของประเทศไทยเพิ่งตราขึ้นเมื่อปี 2456 ไม่ถึง 100 ปีนี่เอง โดยก่อนหน้านั้นประเทศไทยไม่มีระบบการใช้ชื่อสกุล จึงไม่น่าจะนับว่าเป็นเรื่องของวัฒนธรรมและธรรมเนียมได้ อีกประการหนึ่ง ธรรมเนียมไทยแท้ๆ แม้ในปัจจุบันก็ยังปรากฏนั้น การแต่งงานเป็นลักษณะของการ "แต่งเข้า" ผู้ชายจะต้องเข้าไปอยู่ในครอบครัวของฝ่ายหญิง ถ้าจะเคร่งครัดธรรมเนียมไทยกันจริงๆ ผู้ชายนั่นแหละอาจจะต้องเป็นฝ่ายเปลี่ยนนามสกุลเสียเอง !
การให้ผู้หญิงเลือกนามสกุลได้ จึงน่าจะสอดคล้องต่อสภาพสังคม และตรรกเหตุผลมากกว่า
นามสกุลนอกจากจะบอกว่าเป็นคนของครอบครัวไหนแล้ว ยังอาจจะเป็นเหมือน "เครื่องหมายการค้ารับรองคุณภาพ" ได้ในตัว เคยหรือไม่ เมื่อไปเดินร้านหนังสือ เจอหนังสือเขียนโดยผู้เขียนชื่อนั้นชื่อนี้ เราสามารถซื้อหนังสือได้เลยโดยไม่ต้องดูชื่อเรื่องหรือเปิดอ่านด้วยซ้ำ
ถ้าคุณเป็นผู้เขียนหนังสือผู้หญิงชื่อดัง เขียนหนังสือด้วยชื่อจริงนามสกุลจริง
ปรากฏตอนหลังแต่งงานเปลี่ยนนามสกุลไป ชื่อเสียงที่อุตส่าห์สะสมมานานของคุณคงต้องเริ่มต้นกันใหม่ แม้คนส่วนน้อยอาจจะรู้ข่าวว่าคุณแต่งงาน หรือจำได้บ้างก็ตาม แต่นั่นแหละครับ ทำไมต้องทำให้การแต่งงานทำให้ผู้หญิงเสียสิทธิในชื่อเสียงที่ตัวเองสั่งสมมาด้วย ผไม่ทราบว่าเพราะเหตุนี้หรือเปล่าไม่ ทำให้ผมเห็นอาจารย์ผู้หญิงที่มีชื่อเสียงหลายคน จะต้องเอานามสกุลเดิมมาใช้เป็นชื่อกลาง เพื่อให้คนยังจำได้ว่า ท่านคือคนไหน เพราะบางครั้งท่านอาจจะเคยเขียนตำราในระดับสร้างชื่อ หรือ ทำวิทยานิพนธ์ชิ้นสำคัญๆไว้ตั้งแต่สมัยก่อนแต่งงานจำนวนหนึ่ง
หรือถ้ากรณีที่นามสกุลของคุณเดิมนั้นออกจะไพเราะเพราะพริ้ง หรือนามสกุลเก่าแก่มีชื่อเสียง แต่ลูกสาวคุณต้องไปแต่งงานกับคนนามสกุลที่ฟังไม่ไพเราะ อย่างนี้เนี่ย มันก็เสียดาย ใช่ไหมครับ บางครั้งนามสกุลของฝ่ายหญิงเธอก็ไม่ใหญ่โตอะไรหรอก เช่นเธออาจจะนามสกุล "บุตรตาแม้น" แต่เธอก็อยากแสดงให้คนรู้ว่า เธอผู้นี้เป็นลูกสาวของ"ตาแม้น" เท่านั้นเอง
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนี้ จึงถือเป็นคำวินิจฉัยที่สร้างมุมมองใหม่ของสิทธิเสรีภาพของผู้ชายและผู้หญิงให้เท่าเทียมกันบ้าง อย่างน้อยก็เป็นการรับรองในสิทธิของทั้งชายและหญิง ที่จะประกาศว่า ตัวเองเป็นคนของครอบครัวไหน แต่ก็เป็นทางเลือกเท่านั้นครับ ใครเห็นควรอยากใช้นามสกุลของสามี ก็ยังสามารถใช้ได้ แต่ถ้าใครที่เสียดายจะใช้ของเดิมก็ไม่ว่า ไม่ต้องลำบากเอานามสกุลเดิมไปตั้งเป็นชื่อกลางให้ยืดยาว
อันที่จริง เราน่าจะมองการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่า นับเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างสภาพบังคับให้สิทธิเสรีภาพที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ มีผลสามารถบังคับใช้ได้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่เขียนไว้ประดับในรัฐธรรมนูญพอเป็นพิธีเหมือนที่แล้วๆมา
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2546
|
|
|
 |
|
|
|
|
|
|
|