หน้าแรก บทความสาระ
ทำไมพระราชกำหนดในการแปรสัญญาโทรคมนาคมจึงไม่เป็นไปตามมาตรา 218 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ
ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ
28 ธันวาคม 2547 11:39 น.
 

       
            
       ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2546 ให้ตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตกับผู้รับสัมปทานโทรคมนาคมแทนการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้แก่รัฐ โดยได้ระบุในพระราชกำหนดดังกล่าวให้มีพิกัดภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติมขึ้นสำหรับกิจการที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานจากรัฐโดยมุ่งหมายที่จะให้ใช้กับผู้รับสัมปทานโทรคมนาคมโดยเฉพาะ โดยได้ให้เหตุผลในร่างพระราชกำหนดดังกล่าวว่า เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น

                   
       หลังจากที่รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดดังกล่าว ปรากฏว่าบรรดานักวิชาการในสาขาต่างๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เป็นต้น รวมทั้งองค์กรภาคประชาชนต่างออกมาคัดค้านการออกพระราชกำหนด ดังกล่าว จนในที่สุด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าชื่อโดยอาศัยมาตรา 219 ของรัฐธรรมนูญ เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดดังกล่าวนั้นเป็นไปตามมาตรา 218 วรรคหนึ่งหรือไม่ ซึ่งมาตรา218วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้"

                   
       โดยเหตุที่มาตรา218ของรัฐธรรมนูญได้กำหนดเงื่อนไขในการออกพระราชกำหนดไว้ ดังนั้นการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตรวจสอบว่าการออกพระราชกำหนดในการแปรสัญญาโทรคมนาคมชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในเบื้องต้นก็ต้องตรวจสอบตามมาตรา 218 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญนั่นเอง ดังนั้นบทความชิ้นนี้จึงจำกัดประเด็นอยู่ที่เรื่องของรัฐธรรมนูญเป็นหลัก

                   
       ก่อนที่จะไปพิจารณาว่าพระราชกำหนดดังกล่าวเป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ข้อพิจารณาพื้นฐานที่สำคัญประการแรกคือ ข้อพิจารณาเรื่องอำนาจหน้าที่ในการตรากฎหมาย โดยหลักแล้วอำนาจในการบัญญัติกฎหมายนั้น เป็นภาระหน้าที่หลักขององค์กรนิติบัญญัติ ส่วนอำนาจในการออกพระราชกำหนดของฝ่ายบริหารนั้นเป็นข้อยกเว้น ดังนั้นการที่จะพิจารณาว่าฝ่ายบริหารมีอำนาจตราพระราชกำหนดได้แค่ไหนเพียงใด จึงต้องตีความเคร่งครัด เพราะหากไม่ตีความเคร่งครัด กรณีจะส่งผลให้อำนาจในการออกกฎหมายของฝ่ายบริหารซึ่งเป็นข้อยกเว้นจะกลายเป็นอำนาจทั่วไป ซึ่งจะทำให้ภาระหน้าที่ขององค์กรของรัฐสูญเสียการทำภาระหน้าที่หลักขององค์กร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ฝ่ายบริหารต้องการจะหลีกเลี่ยงการออกกฎหมายโดยกระบวนการตรากฎหมายตามปกติ ฝ่ายบริหารก็จะหลีกเลี่ยงกระบวนการตราตามปกติ มาอาศัยอำนาจตามมาตรา 218 ของรัฐธรรมนูญ เป็นฐานในการตรากฎหมายของฝ่ายบริหาร เพราะฉะนั้น ความมุ่งหมายของมาตรา 218 จึงมีความมุ่งหมายสำคัญที่จะให้การตราพระราชกำหนดโดยฝ่ายบริหารเป็นเพียงกรณีที่ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 218 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงข้อยกเว้นของการตราพระราชกำหนดตามมาตรา 218 ของรัฐธรรมนูญ ได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา 219 ของ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ดี หรือสมาชิกวุฒิสภาก็ดีสามารถเข้าชื่อเสนอความเห็นได้เฉพาะกรณีว่า การตราพระราชกำหนดนั้นเป็นไปตามมาตรา 218 วรรคหนึ่งหรือไม่เท่านั้น ไม่สามารถเข้าชื่อเสนอให้พิจารณาว่าการออกพระราชกำหนดเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนหรือไม่ (มาตรา218 วรรคสอง) แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา 218 วรรคสองได้สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของข้อยกเว้นของการใช้อำนาจในการออกพระราชกำหนดของฝ่ายบริหาร ซึ่งจะเป็นหลักสำคัญที่จะนำไปสู่การตีความเงื่อนไขตามมาตรา218 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญที่จะได้กล่าวรายละเอียดต่อไป

                   
       โดยที่มาตรา219 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เฉพาะกรณีว่า พระราชกำหนดเป็นไปตามมาตรา218 วรรคหนึ่งหรือไม่ ในที่นี้จึงขอพิจารณาเฉพาะประเด็นของมาตรา 218 วรรคหนึ่ง โดยผู้เขียนเห็นว่าพระราชกำหนดแปรสัญญาโทรคมนาคมดังกล่าวมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา 218 ของรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อพิจารณาดังนี้

                   
       ตามมาตรา218 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า "ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ หรือปัดป้องภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้" จากถ้อยคำของมาตรา218 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดเงื่อนไขอันเป็นองค์ประกอบของกฎหมาย หากกรณีเข้าเงื่อนไขในส่วนขององค์ประกอบของกฎหมายตามมาตรา218 วรรคหนึ่ง ประกอบกับเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามมาตรา 218 วรรคสอง กรณีก็เข้าเงื่อนไขสมบูรณ์ตามมาตรา218 ของรัฐธรรมนูญ แต่เฉพาะกรณีเงื่อนไขในส่วนองค์ประกอบของกฎหมายที่เกี่ยวกับการตราพระราชกำหนดในครั้งนี้คือ ถ้อยคำที่บัญญัติว่า "ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ" ถ้อยคำดังกล่าวเป็นถ้อยคำที่ไม่มีความชัดเจนในตัวเอง ดังนั้น ผู้ที่จะออกพระราชกำหนดก็จะต้องประเมินจากข้อเท็จจริงอันเป็นพื้นฐานของการออกพระราชกำหนดว่า กรณีนี้เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ประเด็นที่เป็นข้อพิจารณาที่สำคัญคือ อะไรเป็นสาระสำคัญที่สนับสนุนการออกพระราชกำหนดดังกล่าวเป็นไปเพื่อรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หากฟังข้อเท็จจริงจากตัวแทนของรัฐบาลที่ได้เข้าชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลของการออกพระราชกำหนดดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยตัวแทนของ รัฐบาลได้ชี้แจงสรุปสาระสำคัญได้ว่า "การออกพระราชกำหนดเพื่อเป็นการแก้ไขระบบภาษีซึ่งกระทบรายได้ของรัฐ และเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของเศรษฐกิจ เพราะที่รัฐบาลได้จัดเก็บภาษีมาก่อนหน้านี้เป็นการไม่ถูกต้องตามระบบ และการออกพระราชกำหนดดังกล่าวมีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแต่ละช่วงเวลา หากสามารถออกพระราชกำหนดได้เร็วก็จะทำให้ภาครัฐมีรายได้เข้ามาทุกวัน" จากเหตุผลทั้งสองประการดังกล่าวเกี่ยวกับความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ มีข้อพิจารณาดังนี้


                   
       1. ความที่อ้างว่าหากสามารถออกพระราชกำหนดได้เร็ว จะทำให้ภาครัฐมีรายได้เข้ามาทุกวันนั้น ในประเด็นนี้ หากพิจารณาจากกรอบการแปรสัญญาใหม่ ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2545 ในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนส่วนแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งที่ผู้รับสัมปทานต้องจ่ายให้แก่หน่วยงานรัฐคู่สัญญาเป็นภาษีสรรพสามิตที่จ่ายให้แก่กระทรวงการคลัง เช่น ส่วนแบ่งรายได้ในบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะถูกแปลงเป็นภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละ 20 เท่ากับอัตราส่วนแบ่งรายได้ที่ผู้รับสัมปทานจาก กสท.จ่ายอยู่ในปัจจุบัน กรณีจะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนจากส่วนแบ่งรายได้มาเป็นภาษีสรรพสามิตมิได้ก่อให้เกิดความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศแต่อย่างใดเพราะมิได้ทำให้รายได้เข้าภาครัฐมากขึ้น

                   
       ส่วนกรณีหากเป็นส่วนแบ่งรายได้จะจ่ายให้รัฐเมื่อใด หากเป็นภาษีสรรพสามิตจะจ่ายให้กับรัฐเมื่อใด เรื่องนี้ย่อมไม่เกี่ยวกับความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศแต่อย่างใด เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการชำระเงินให้กับภาครัฐเท่านั้น


                   
       2. การออกพระราชกำหนดดังกล่าวเกี่ยวกับความมั่นคงในทางเศรษฐกิจเพื่อทำให้การจัดเก็บภาษีถูกต้องตามระบบ สาระสำคัญในประเด็นเป็นผลจากการที่พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 พ.ศ. 2546 ได้แก้ไขคำนิยาม 2 คำ คำแรกคือคำว่า "บริการ" และคำที่สอง "สถานบริการ" โดยคำว่า "บริการ" ให้หมายความว่า "การให้บริการในทางธุรกิจในสถานบริการตามที่ระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต" และคำว่า "สถานบริการ" ให้หมายความว่า "สถานที่สำหรับประกอบกิจการในด้านบริการ และให้หมายความถึง สำนักงานใหญ่ที่จัดตั้งขึ้นในการประกอบกิจการในกรณีที่ไม่อาจกำหนดสถานที่ให้บริการได้แน่นอน" จากเหตุผลท้ายพระราชกำหนดได้ให้เหตุผลว่า "...โดยที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเพื่อกำหนดให้การประกอบกิจการด้านบริการบางประเภทต้องเสียภาษีสรรพสามิต ซึ่งลักษณะของการประกอบกิจการไม่อาจกำหนดสถานบริการได้แน่นอน แต่บทนิยามคำว่า "บริการ" และ "สถานบริการ" ที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิตที่ใช้บังคับในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมถึงการประกอบกิจการดังกล่าว สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามเพื่อใช้บังคับกับกรณีดังกล่าว และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้" สำหรับประเด็นนี้มีข้อสังเกตดังนี้

                   
       2.1 จากเหตุผลท้ายพระราชกำหนดที่ให้เหตุผลว่า "...และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้" ในกรณีนี้หากอาศัยการพิจารณาอย่างสมเหตุสมผล การที่จะเปลี่ยนฐานภาษีเพื่อให้ครอบคลุมกว้างขึ้นมิได้มีกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนแต่อย่างใด แต่ในทางตรงกันข้าม การที่จะขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้น ควรจะได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบว่าขอบเขตของการขยายฐานภาษีควรจะกว้างขวางเพียงใด เพราะท้ายที่สุดจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในฐานะผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นผู้ที่ต้องรับภาระภาษีในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ การขยายฐานภาษีดังกล่าวควรจะต้องได้รับการตรวจสอบจากตัวแทนของประชาชน โดยผ่านระบบการพิจารณากฎหมายตามระบบปกติ โดยเหตุผลดังกล่าว รัฐบาลจึงขาดความเป็นธรรมในการที่จะอ้างความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 218 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ

                   
       2.2 เฉพาะในส่วนของพระราชกำหนดที่เกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคม ที่มีการเปลี่ยนส่วนแบ่งรายได้ที่ผู้รับสัมปทานจะต้องจ่ายให้แก่หน่วยงานของรัฐคู่สัญญาเป็นภาษีสรรพสามิตที่จะต้องจ่ายให้กระทรวงการคลัง ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า มิได้เกี่ยวกับความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศแต่อย่างใด ประเด็นที่ยังมิได้พิจารณาในเรื่องนี้อีกประการคือ การขยายฐานภาษีสรรพสามิตมาเก็บในส่วนของการบริการในกิจการโทรคมนาคมจะเกี่ยวกับความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่นั้น กรณีนี้ย่อมมีข้อพิจารณาเช่นเดียวกับที่กล่าวไว้แล้วในข้อ 2.1 และโดยเฉพาะในประเด็นนี้ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ในการตราพระราชกำหนดดังกล่าวย่อมขาดความชอบธรรมด้วยประการใดๆในการที่จะตราพระราชกำหนดในการแปรกิจการโทรคมนาคม ซึ่งครอบครัวของนายกรัฐมนตรีมีส่วนได้เสียอย่างสำคัญจากการออกพระราชกำหนดดังกล่าว ทั้งนี้เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นผู้นำฝ่ายบริหาร มีภาระหน้าที่ในการดูแลรักษาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นการทั่วไป แต่ในขณะเดียวกันกับที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะที่เป็นผู้นำของครอบครัวที่เกี่ยวข้องอย่างสำคัญจากการแปรกิจการโทรคมนาคม ซึ่งย่อมมีประโยชน์ได้เสียจากการแปรกิจการโทรคมนาคมดังกล่าว เช่น การยกเลิกการโอนสินทรัพย์ของผู้รับสัมปทานให้แก่รัฐในทันทีที่สามารถแปรสัญญาได้สำเร็จ จะทำให้รัฐสูญเสียผลประโยชน์มหาศาล ความขัดแย้งในด้านผลประโยชน์ของนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำประเทศกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะผู้นำของครอบครัวที่ทำกิจการด้านโทรคมนาคม ย่อมสะท้อนให้เห็นมูลเหตุจูงใจของการออกพระราชกำหนดดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และหากตรวจสอบในรายละเอียดถึงผลของการแปรสัญญาสัมปทาน หากมีข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่ารัฐจะต้องสูญเสียผลประโยชน์ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งจากการแปรสัญญาสัมปทานกรณีย่อมแสดงให้เห็นได้ว่า พระราชกำหนดดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศแต่อย่างใด แต่ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้รัฐต้องสูญเสียผลประโยชน์ที่รัฐพึงจะได้จากการไม่แปรสัญญาสัมปทานดังกล่าว

                   
       กล่าวโดยสรุปในประเด็นของพระราชกำหนดในส่วนที่เกี่ยวกับการแปรกิจการโทรคมนาคม นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการตราพระราชกำหนดซึ่งมีหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะผู้นำครอบครัวที่ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่จะได้รับประโยชน์จากพระราชกำหนดดังกล่าว กรณีนี้ย่อมสะท้อนมูลเหตุจูงใจในการตราพระราชกำหนด และย่อมขาดความชอบธรรมในการกระทำดังกล่าว และหากข้อเท็จจริงปรากฎว่า การแปรสัญญาสัมปทานดังกล่าวรัฐต้องสูญเสียผลประโยชน์ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งกรณีย่อมสะท้อนให้เห็นได้ว่า พระราชกำหนดดังกล่าวมิได้เป็นไปเพื่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หากแต่กลับทำให้รัฐต้องสูญเสียผลประโยชน์จากพระราชกำหนดดังกล่าว พระราชกำหนดในลักษณะเช่นนี้จึงมิอาจถือได้ว่าเป็นพระราชกำหนดที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา218 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ


                   
       
       บทสรุป


                   
       โดยที่เรื่องพระราชกำหนดในการแปรสัญญาโทรคมนาคมฯ อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล รัฐธรรมนูญ สิ่งสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องแสดงให้เห็นในกรณีนี้ก็คือ การตราพระราชกำหนดโดยฝ่ายบริหารนั้นเป็นข้อยกเว้นของการตรากฎหมาย และการจะเข้าข้อยกเว้นในการออกพระราชกำหนดได้ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 218 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ อะไรเป็นหลักเกณฑ์ที่จะนำไปสู่การตรวจสอบในกรณีการออกพระราชกำหนดในครั้งนี้ว่า เป็นกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ ท่ามกลางหลักเกณฑ์หลากหลายที่จะนำมาตรวจสอบว่า กรณีเป็นไปเพื่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่นั้น อย่างน้อยที่สุดหลักเกณฑ์ในเบื้องต้นที่จะต้องตรวจสอบก็คือ ผู้มีอำนาจในการตราพระราชกำหนดดังกล่าวมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง หรือมีประโยชน์ได้เสียกับการตราพระราชกำหนดนั้นหรือไม่ เพราะการที่ผู้มีอำนาจในการตราพระราชกำหนดมีประโยชน์ได้เสียดังกล่าว กรณีย่อมเป็นเครื่องสะท้อนมูลเหตุจูงใจในการกระทำการของผู้ตราพระราชกำหนด หากตรวจสอบในทางข้อเท็จจริงว่า ผลการแปรสัญญาสัมปทานดังกล่าวรัฐต้องสูญเสียผลประโยชน์ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง กรณีย่อมสะท้อนให้เห็นได้ว่า กรณีดังกล่าวย่อมมิใช่กรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศแต่อย่างใด

                   
       ในกรณีนี้หากศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถจะวางเกณฑ์การตราพระราชกำหนดตามมาตรา 218 ได้ กรณีย่อมมีความเป็นไปได้สูงขึ้นตามลำดับว่า ฝ่ายบริหารจะอาศัยอำนาจตามมาตรา 218 ของรัฐธรรมนูญในการตราพระราชกำหนดที่ตนไม่ประสงค์จะให้มีการอภิปรายกันในสภา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ หรือจะด้วยเหตุผลของการบิดเบือนการใช้อำนาจก็ตาม กรณีเช่นนี้ย่อมเป็นอันตรายต่อระบบรัฐสภา หากหลักการอันเป็นรากฐานของรัฐเสรีประชาธิปไตยที่มอบหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ดูแลกติกาประชาธิปไตย ไม่สามารถจะได้รับการตรวจสอบบนพื้นฐานของกติกาประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริงไม่ว่าจะด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม ท้ายที่สุดอาจจะต้องตั้งคำถามถึงรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง ฤาจะเป็นเพียงภาพลวงตา


       
       


       
เชิงอรรถ


       
                   
       * บรรเจิด สิงคะเนติ , อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

       [กลับไปที่บทความ]


       


       
       



       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2546


       




 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544