4.2.4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มีความครอบคลุมการแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆมา และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ปรากฏการนำแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมมาใช้มากที่สุดโดยมีรายละเอียดซึ่งจำแนกตามวัตถุประสงค์ของแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม ดังนี้
4.2.4.1 การรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองของประชาชน
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติถึงหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และหมวด 8 ว่าด้วยศาล ซึ่งการรับรองและคุ้มครองสิทธิของประชาชนในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากการรับรองสิทธิและเสรีภาพที่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา โดยมีการเพิ่มบทบัญญัติที่เป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้มีความครอบคลุม และกำหนดขอบเขตของการใช้อำนาจรัฐที่จะตรากฎหมายหรือกระทำการอันเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอันเป็นกลไกหลักของระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด โดยได้กำหนดรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองของประชาชนไว้ดังนี้
4.2.4.1.1 การรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
จากการศึกษาความเป็นมาที่สภาร่างรัฐธรรมนูญกำหนดชื่อบทบัญญัติในการรับรองสิทธิและเสรีภาพในหมวด 3 ได้เกิดข้อสังเกตว่า ในระหว่างจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญจะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงชื่อหมวดดังกล่าว โดยในขั้นตอนของการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีการใช้ชื่อว่า หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของบุคคล และต่อมาจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อของหมวดดังกล่าวเป็น หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ตามที่ได้ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ภายใต้ประเด็นสำคัญที่ได้มีการหยิบยกขึ้นพิจารณาว่า ควรจะมีการแยก สิทธิมนุษยชน กับ สิทธิพลเมือง ออกจากกันโดยเด็ดขาดหรือไม่ ในประเด็นดังกล่าวนี้ ได้มีฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการแยกเรื่องดังกล่าวออกจากกัน ซึ่งเสนอให้มีการวางบทบัญญัติใน หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของบุคคล แยกออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 บททั่วไป ส่วนที่ 2 สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และส่วนที่ 3 สิทธิและเสรีภาพของพลเมือง โดยได้แสดงเหตุผลว่า การแยกบทบัญญัติออกเป็นลักษณะดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ ประการแรก เพื่อพัฒนาแนวความคิดในการจัดลำดับความสำคัญแห่งสิทธิ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการตีความในกรณีที่สิทธิและเสรีภาพขัดกัน ประการที่สอง เพื่อจำแนกประเภทของสิทธิและเสรีภาพให้มีความชัดเจนขึ้น โดยแยกตามลักษณะแห่งสิทธิบางประการที่มีมาแต่กำเนิด (Basic Rights) หรือสิทธิขั้นมูลฐาน (Fundamental Rights) ออกจากสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองซึ่งเกิดจากการรับรองของรัฐ ประการสุดท้าย เพื่อประโยชน์ในการแยกความคุ้มครองระหว่างคนต่างด้าว กับบุคคลที่มีสัญชาติไทย โดยหากเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นมูลฐานความคุ้มครองจะคุ้มครองเฉพาะบุคคลสัญชาติเท่า นั้น26
อย่างไรก็ตาม ต่อมาข้อเสนอดังกล่าวก็ได้รับการคัดค้านและไม่ได้รับการบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เสนอต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในวาระที่ 1 แต่ก็ปรากฏว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้กำหนดให้มีการใช้ชื่อหมวดว่า สิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งต่อมาในชั้นการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ในเรื่องดังกล่าวนี้ ได้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้เหตุผลไว้ว่า27 เดิมคณะกรรมาธิการได้ใช้ถ้อยคำว่า สิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งจะครอบคลุมทั้งคนไทยและคนต่างด้าวด้วย แต่เมื่อได้นำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปทำประชาพิจารณ์แล้ว และได้พิจารณากลั่นกรองแล้วจึงเห็นว่า หากจะแยกการคุ้มครองสิทธิของบุคคลต่างด้าวอาจเกิดปัญหาความสับสน ฉะนั้นคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างก็ได้ปรับเปลี่ยนว่า สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ซึ่งหลายท่านก็ยังกังวลว่าถ้าใช้คำว่าชนชาวไทยแล้วสิทธิของต่างด้าวก็ดี ต่างชาติก็ดีที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักร จะได้รับการคุ้มครองตามหมวดนี้หรือไม่ อยากจะกราบเรียนว่าไม่ว่าสิทธิในเรื่องของการถือทรัพย์สิน ถือครองที่ดิน ไม่ว่าสิทธิในเรื่องของการนับถือศาสนา เราจะมีบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการนั้นให้ข้อยกเว้นไว้ ซึ่งก็ปฏิบัติสืบต่อกันมา รัฐธรรมนูญของไทยเราทุกฉบับตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2475 จนถึงฉบับปัจจุบันที่ใช้อยู่ในปี พุทธศักราช 2534 ก็ได้ใช้คำว่า บุคคล ก็ชัดเจน โดยมีคำกำกับไว้ในหัวหมวดแล้วว่าบุคคลนั้นหมายถึงชนชาวไทย ส่วนคนต่างด้าวก็จะมีกฎหมายต่างหากที่จะยกเว้นต่อไป...
ด้วยเหตุดังกล่าว หมวด 3 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงได้ชื่อหมวดว่า สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ซึ่งมุ่งเน้นการรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยแต่ละคนเป็นสำคัญ แต่ก็มิได้หมายความว่าบุคคลต่างด้าวจะไม่ได้รับความคุ้มครอง หากแต่จะได้รับความคุ้มครองตามหมวด 8 ว่าด้วยศาล ซึ่งมีเนื้อหาในการรับรองและคุ้มครองสิทธิในเนื้อตัวร่างกายที่ให้บุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทุกคนสามารถอ้างสิทธิที่ได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้โดยตรงไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ตาม เนื่องจากสิทธิดังกล่าวมีลักษณะเป็นสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ทุกคนพึงมีโดยมิต้องคำนึงถึงองค์ประกอบใดๆ
1) สิทธิและเสรีภาพที่เพิ่มขึ้นใหม่
เนื่องด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นซึ่งมีผลให้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมิได้มีการบัญญัติแยกสิทธิมนุษยชน และสิทธิพลเมืองออกจากกันแต่เพื่อความสะดวกในการพิจารณาถึงประเภทสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับรองและคุ้มครองจึงอาจจำแนกกลุ่มของสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองและความคุ้มครองออกเป็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง ดังนี้
สิทธิในฐานะความเป็นมนุษย์ หรือสิทธิมนุษยชน
สิทธิและเสรีภาพที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นพบว่าส่วนหนึ่งเป็นการบัญญัติรับรองถึงสิทธิตามธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนมีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดซึ่งถือเป็นสิทธิในฐานะสิทธิมนุษยชน และจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอาจสรุปประเภทของสิทธิและเสรีภาพซึ่งอยู่ในฐานะสิทธิมนุษยชนได้ดังนี้
(1.1) การรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) ไว้เป็นครั้งแรก ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดปัจเจกชนนิยม (Individualism) ที่ต้องการให้รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ไว้อย่างเป็นรูปธรรม โดยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นี้มิใช่สิ่งแปลกใหม่แต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญของประเทศสหพันธรัฐเยอรมันที่ได้บัญญัติรับรองเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้เช่นกัน ซึ่งมีหลักการว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่มิอาจลบล้างได้ และถือเป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องคำนึงถึง โดยรัฐจะต้องปฏิบัติต่อบุคคลนั้นราวกับบุคคลเป็นการกระทำ หรือการปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเป็นเสมือนเครื่องมือของรัฐเพราะฉะนั้นรัฐจึงมีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์28 บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงเป็นมิติใหม่ในการสร้างหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้เกิดเป็นรูปธรรมและมีผลในทางปฏิบัตินั่นเอง
(1.2) สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
นอกจากรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพไว้ในหมวด 3 แล้วยังได้บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายไว้โดยอาศัยกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายไว้ในหมวด 8 ของรัฐธรรมนูญดังนี้
ก. สิทธิที่จะไม่ได้รับการทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายและไร้มนุษยธรรม (มาตรา 31 วรรคสอง)
ข. การกำหนดให้ศาลเท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจในการออกหมายจับ (มาตรา 237)
ค. สิทธิที่ผู้ถูกจับจะต้องได้รับการแจ้งให้ญาติ หรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับไว้วางใจทราบในโอกาสแรก (มาตรา 237)
ง. การกำหนดให้เจ้าพนักงานต้องนำตัวผู้ถูจับ ซึ่งยังถูกควบคุมอยู่ไปศาลภายในเวลา 48 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำตังไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน (มาตรา 237)
จ. การกำหนดให้ในคดีอาญา การค้นในที่รโหฐานจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีคำสั่งหรือหมายของศาลเท่านั้น (มาตรา 238)
ฉ. สิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาที่จะได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาอย่างรวดเร็วต่อเนื่องและเป็นธรรม (มาตรา 241 วรรคแรก)
ช. สิทธิของผู้ต้องหาที่จะให้ทนายความ หรือผู้ซึ่งผู้ต้องหาไว้ใจเข้าฟังการสอบปากคำของตนในชั้นสอบสวน (มาตรา 241 วรรคสอง)
ซ. สิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ที่จะตรวจหรือคัดสำเนาคำให้การของตนในชั้นสอบสวน หรือเอกสารประกอบคำให้การของตน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว (มาตรา 241 วรรคสาม)
ฌ. สิทธิของผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือผู้มีส่วนได้เสียในคดีอาญา ที่จะขอทราบสรุปพยานหลักฐานพร้อมความเห็นของพนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการในการสั่งคดี เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง (มาตรา 241 วรรคท้าย)
ญ. การขยายสิทธิของผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญาที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ด้วยการจัดหาทนายความให้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ โดยในกรณีที่ผู้ถูกควบคุม หรือคุมขังไม่อาจหาทนายความได้รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือในการจัดหาทนายให้โดยเร็ว (มาตรา 242)
ฎ. สิทธิของพยานในคดีอาญา ที่จะได้รับความคุ้มครองการปฏิบัติที่เหมาะสม และค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควรจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 244)
ฏ. สิทธิของผู้เสียหายในคดีอาญา ที่จะได้รับความคุ้มครองการปฏิบัติที่เหมาะสม และค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควรจากรัฐ (มาตรา 245 วรรคแรก)
ฐ. สิทธิของบุคคลหรือทายาทของบุคคล ซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือแก่ร่างกายหรือจิตใจอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่นโดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดนั้น และไม่มีโอกาสได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทางอื่น ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ตามเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 245 วรรคท้าย)
ฑ. สิทธิของบุคคลที่จะได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามสมควร ตลอดจนบรรดาสิทธิที่เสียไป เมื่อปรากฏว่าบุคคลนั้นเคยตกเป็นจำเลยในคดีอาญาและถูกคุมขังระหว่างหากพิจารณาคดี และต่อมาปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด (มาตรา 246)
(1.3) การรับรองเสรีภาพของบุคคล ในการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นการปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (มาตรา 38)
(1.4) สิทธิเด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว ที่จะได้รับความคุ้มครองโดยรัฐจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม (มาตรา 53 วรรคแรก)
สิทธิพลเมือง
สิทธิของพลเมือง (Citizens Rights) คือสิทธิและเสรีภาพในการที่จะเข้าร่วมในกระบวนการสร้างเจตนารมณ์ในทางการเมืองของรัฐหรือบรรดาสิทธิเสรีภาพทางการเมือง29 หากพิจารณาบทบัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อาจจำแนกสิทธิพลเมืองได้ดังนี้
(1.1) เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา หรือการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น และเสรีภาพของสื่อมวลชน
ก. การกำหนดห้ามมิให้มีการสั่งปิดโรงพิมพ์ สถานีวิทยุกระจายเสียง หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ เพื่อลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา หรือการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น (มาตรา 39 วรรคสาม)
ข. การกำหนดให้คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และวิทยุคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะภายใต้การจัดสรรและกำกับดูแลขององค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ (มาตรา 40)
ค. การรับรองสิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าว และการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระของพนักงาน หรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการสื่อสารมวลชน รวมถึงข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ในการที่จะไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการของตนโดยการเสนอข่าวและการแสดงความคิดเห็นนั้นจะต้องไม่ขัดต่อจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพ (มาตรา 41)
ง.
(1.2) การขยายความคุ้มครองเสรีภาพในทางวิชาการ และสิทธิในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ก. การรับรองเสรีภาพในทางวิชาการ (มาตรา 42)
ข. สิทธิของบุคคลโดยเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า12ปี (มาตรา 43)
(1.3) สิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ในการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลย์และยั่งยืน (มาตรา 46)
(1.4) สิทธิของบุคคลโดยเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาล จากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (มาตรา 52)
(1.5) สิทธิของผู้ด้อยโอกาสในสังคมที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้ขยายหลักประกันในชีวิตและร่างกายของบุคคลซึ่งถือเป็นผู้ด้อยโอกาสไว้หลายกรณีด้วยกันคือ
ก. สิทธิของเด็ก เยาวชน ซึ่งไม่มีผู้ดูแลที่จะได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ (มาตรา 53 วรรคท้าย)
ข. สิทธิของบุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 54)
ค. สิทธิของบุคคล ซึ่งพิการหรือทุพลภาพ ที่จะได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก อันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ ตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 55)
(1.6) การรับรองสิทธิของบุคคล ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ก. สิทธิที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐ และชุมชนในการบำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี (มาตรา 56 วรรคแรก)
ข. สิทธิที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (มาตรา 56 วรรคท้าย)
ค. สิทธิในการทำประชาพิจารณ์ หรือสิทธิที่จะได้รับข้อมูลคำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใด ที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอานามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว ตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 59)
(1.7) การรับรองสิทธิของผู้บริโภค และการกำหนดให้มีการตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภคทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย กฎ และข้อบังคับ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค (มาตรา 57)
(1.8) การปรับปรุงและขยายหลักประกันสิทธิของบุคคลที่จะได้รับทราบข้อมูล หรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยมิไม่จำกัดสิทธิดังกล่าวเฉพาะกรณีของการทราบข้อมูลหรือข่าวสาร เพื่อการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ เมื่อการนั้นมี หรืออาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของตนไว้เหมือนดังเช่นในอดีต ทั้งนี้โดยมีข้อยกเว้นว่าการเปิดเผยข้อมูลนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่นมิได้
(1.9) สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วม ในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการทางปกครองอันมีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตน (มาตรา 60)
(1.10) การวางหลักประกันสิทธิของบุคคล ที่จะฟ้ององค์กรของรัฐที่เป็นนิติบุคคลให้รับผิด เนื่องจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานนั้น ให้มีความชัดเจนและครอบคลุมยิ่งขึ้น ด้วยการกำหนดให้การฟ้ององค์กรของรัฐนั้น หมายรวมถึง หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล (มาตรา 62)
(1.11) สิทธิของบุคคลที่จะต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใดๆที่เป็นไป เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (มาตรา 64)
(1.12) สิทธิของบุคคลที่จะได้รับการปฏิบัติจากรัฐอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย (มาตรา 30)
2) การสร้างมาตรการทำให้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ได้ในทางปฏิบัติ
ในการบัญญัติเพิ่มบทบัญญัติซึ่งเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพนั้น อาจไม่ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรมหากปราศจากมาตรการหรือกลไกในการที่จะทำให้ประชาชนอ้างถึงสิทธิและเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้นผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงได้บัญญัติถึงมาตรการและกลไกในการทำให้สิทธิและเสรีภาพมีผลบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ ดังนี้
(1) การกำหนดให้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ (มาตรา 27)
(2) การรับรองสิทธิของบุคคลที่จะใช้สิทธิทางศาล หรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในศาล ในกรณีที่บุคคลนั้นถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้ให้การรับรองไว้ (มาตรา 28)
(3) การปรับปรุงและจัดตั้งองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพื่อทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมขึ้น ดังนี้
(3.1) การปรับปรุงหลักประกันความอิสระของผู้พิพากษา หรือตุลาการ และกระบวนการพิจารณาของศาลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาทิ การกำหนดให้การนั่งพิจารณาของศาลต้องมีผู้พิพากษาหรือตุลาการครบองค์คณะ (มาตรา 236) การกำหนดให้ระบบการพิจารณาคดีเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว และเป็นธรรม (มาตรา 241) ตลอดจนการวางหลักประกันการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาและตุลาการให้มีความเป็นอิสระ ทั้งจากอำนาจภายนอกวงตุลาการและจากอำนาจภายในองค์กรตุลาการมากขึ้น ดังนี้
ก. การกำหนดให้การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาและตุลาการไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น (มาตรา 249 วรรคสอง)
ข. การกำหนดให้หลักเกณฑ์การจ่ายสำนวนคดีให้ผู้พิพากษาต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย โดยมิขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บริหารศาลเหมือนดังเช่นที่ผ่านมา (มาตรา 249 วรรคสาม)
ค. การกำหนดห้ามมิให้มีการเรียกคืน หรือโอนย้ายสำนวนคดีจากผู้พิพากษาหรือตุลาการท่านหนึ่งไปยังผู้พิพากษาหรือตุลาการอีกท่านหนึ่ง เว้นแต่กรณีนั้นจะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพาษาอรรถคดี (มาตรา 249 วรรคสี่)
ง. การกำหนดห้ามมิให้มีการโยกย้ายผู้พิพากษาหรือตุลาการ โดยมิได้รับความยินยอมจากผู้พิพากษาหรือตุลาการนั้น เว้นแต่เป็นการโยกย้ายตามวาระตามที่กฎหมายบัญญัติ การเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น หรือเป็นกรณีที่ผู้พิพากษาหรือตุลาการนั้นอยู่ในระหว่างดำเนินการทางวินัยหรือตกเป็นจำเลยในคดีอาญา (มาตรา 249 วรรคท้าย)
(3.2) การปรับปรุงคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ให้เป็นศาลรัฐธรรมนูญที่มีความอิสระและเป็นกลาง (มาตรา 255-270)
(3.3) การจัดตั้งศาลปกครอง (มาตรา 276-280)
(3.4) การจัดตั้งสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา (มาตรา196-198)
(3.5) การจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (มาตรา 199-200)
3) การกำหนดให้การจำกัดสิทธิและเสรีภาพจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
รัฐธรรมนูญได้กำหนดหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการไม่ถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพจากการใช้อำนาจโดยอำเภอใจของรัฐไว้ดังนี้
(1) การจำกัดสิทธิและเสรีภาพจะกระทำได้ เฉพาะกรณีอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งตราขึ้นตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น
(2) การจำกัดสิทธิและเสรีภาพโดยกฎหมายจะต้องกระทำเท่าที่จำเป็นและจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิไม่ได้
(3) กฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพจะต้องมีลักษณะทั่วไปและต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้น
4.2.4.1.2 การมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรับรองสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนการบัญญัติรับรองการกระจายอำนาจไปยังองค์กรปกครองท้องถิ่นพร้อมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นไว้อย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน ดังนี้
1) การขยายสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันได้ขยายการมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครองของประชาชน โดยได้รับรองไว้ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังนี้
(1) สิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50,000 คน ในการเสนอร่างกฎหมาย (มาตรา 170)
(2) สิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50,000 คน ในการเสนอให้มีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง (มาตรา 303 และมาตรา 304)
(3) สิทธิในการออกเสียงประชามติ (มาตรา 214)
(4) การรับรองเสรีภาพในการรวมกลุ่มเป็นนิติบุคคล หรือกลุ่มอื่นๆ (มาตรา 45)
(5) การรับรองสิทธิในการจัดตั้งพรรคการเมือง
(6) สิทธิของบุคลในการมีส่วนร่วมจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม (มาตรา 56)
(7) สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม (มาตรา 46)
(8) สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นสาธารณะ (มาตรา 58)
(9) สิทธิในการมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ (มาตรา 60)
(10) สิทธิของบุคคลในการต่อต้าน โดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (มาตรา 65)
2) การกระจายอำนาจให้แก่การปกครองส่วนท้องถิ่น
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดบทบัญญัติที่เอื้อต่อการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองท้องถิ่น ดังนี้
(1) รัฐธรรมนูญได้กำหนดบทบัญญัติเรื่องการกระจายอำนาจไปยังการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้มีการปรับปรุงโครงสร้างภายใน อำนาจหน้าที่ การบริหารงานบุคคล และการคลังท้องถิ่น ทำให้กลไกในการบริหารงานท้องถิ่นเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมดังนี้
(1.1) การปรับปรุงโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ก. การปรับปรุงองค์ประกอบขององค์กรส่วนท้องถิ่น โดย
- การกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องประกอบด้วยสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แยกกันเสมอ (มาตรา 285 วรรคแรก) เพื่อให้มีการดุลและคานการใช้อำนาจในระหว่างองค์กรทั้งสอง
- การกำหนดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องมีสมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งโดยตรงและลับทั้งหมด (มาตรา 285 วรรคสองและวรรคสี่)
- การกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องมีคณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือโดยความเห็นชอบของสมาชิกสภาท้องถิ่น
ข. การวางกลไกในการทำให้มีการกระจายอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ด้วยการกำหนดให้มีกฎหมายแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีการจัดตั้ง คณะกรรมการ ขึ้นคณะหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลางฝ่ายละเท่าๆกันเพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง โดยคณะกรรมการจะต้องนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาทบทวนใหม่ทุกระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของการกำหนดอำนาจหน้าที่ที่ได้กระทำไปแล้ว และต้องคำนึงถึงการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นให้แก่ท้องถิ่นเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การดำเนินการของคณะกรรมการชุดดังกล่าวเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและรายงานต่อรัฐสภาแล้ว ก็จะมีผลบังคับได้ทันที (มาตรา 284 วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า)
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้โดยเฉพาะคือ
- การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และการจัดการศึกษาอบรมและฝึกอาชีพ (มาตรา 289)
- การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (มาตรา 290)
จ. การปรับปรุงการคลังท้องถิ่น ให้มีรายได้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น (มาตรา 284 วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า)
ฉ. การปรับปรุงระบบการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น โดยกำหนดให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่น ขึ้นคณะหนึ่งซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายละเท่าๆกัน เพื่อทำหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบการแต่งตั้ง และการให้พนักงานและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกประเภทพ้นจากตำแหน่ง (มาตรา 288)
(1.2) การวางหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นไปในลักษณะ การกำกับดูแล มิใช่ การบังคับบัญชา โดยการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำเท่าที่จำเป็นตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น และการกำกับดูแลจะต้องเป็นไป เพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม รวมทั้งการกำกับดูแลจะกระทบกระเทือนถึงสาระสำคัญแห่งหลักการปกครองตนเอง ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น หรือนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติมิได้
(2) การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น
(2.1) การรับรองสิทธิในการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมีสิทธิในการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นได้ ในกรณีที่เห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป โดยหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาลงคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด และจำนวนคะแนนเสียงให้มีการถอดถอนบุคคลดังกล่าว มีจำนวนน้อยกว่า 3 ใน 4 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ก็ให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการในรายละเอียดจะเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 286)
(2.2) การรับรองสิทธิในการเสนอร่างกฎหมายท้องถิ่น โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมีสิทธิเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นต่อประธานสภาท้องถิ่นนั้น เพื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณาร่างข้อบัญญัติที่ได้จัดทำเสนอขึ้นได้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการในรายละเอียดจะเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 287)
4.2.4.2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติถึงกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐซึ่งมีลักษณะแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆมาเป็นอันมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างระบบตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่มีความครอบคลุมและครบถ้วนขึ้น ด้วยการจัดตั้งองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไว้อย่างครอบคลุมถึงทุกลักษณะของการใช้อำนาจ โดยอาจจำแนกออกตามลักษณะของการใช้อำนาจได้ ดังนี้
4.2.4.2.1 การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจรัฐ
การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในการใช้อำนาจรัฐ ถือเป็นการกำกับและควบคุมการใช้อำนาจรัฐทั้งหลายที่อาจไปกระทบต่อสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชน ซึ่งในแต่ละประเทศก็มีระบบตรวจสอบที่แตกต่างกันไปตามความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญของประเทศนั้นๆ สำหรับประเทศไทยรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 ได้กำหนดให้การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจรัฐเป็นหน้าที่ขององค์กรตุลาการหรือศาล ซึ่งนอกจากจะมีศาลยุติธรรมที่เป็นศาลทั่วไปแล้ว รัฐธรรมนูญยังได้จัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองขึ้นใหม่ โดยกำหนดแยกเป็นอิสระจากระบบศาลยุติธรรมโดยสิ้นเชิง ดังจะกล่าวต่อไปนี้
1) ศาลรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดให้การตรวจสอบและควบคุมการใช้อำนาจในการตรากฎหมายของรัฐสภาให้เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ขององค์กรพิเศษซึ่งอยู่ในรูปขององค์กรตุลาการเป็นครั้งแรก โดยการปรับปรุง คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ในอดีตให้เป็น ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยคดีในรูปแบบของศาลในกระบวนการยุติธรรมในสาขากฎหมายมหาชน ซึ่งมีความเป็นอิสระและเป็นกลางปราศจากการครอบงำจากองค์กรทางการเมืองดังที่ผ่านมา โดยมีการการจัดองค์กรของศาลรัฐธรรมนูญ การกำหนดเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และกำหนดวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ให้มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียด ดังนี้
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2546
|