หน้าแรก บทความสาระ
รัฐธรรมนูญในแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม [ตอนที่ 1]
ผศ.ดร.เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์
3 มกราคม 2548 17:29 น.
 

       
            
       แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) คือ แนวความคิดที่จะใช้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรให้เป็นเครื่องมือในการกำหนดรูปแบบการปกครองและกำหนดกลไกอันเป็นโครงสร้างพื้นฐาน (Infra-structure) ในการจัดองค์กรบริหารรัฐ1 ซึ่งการใช้รัฐธรรมนูญในลักษณะสัญญาประชาคมเป็นเครื่องมือในการจัดองค์กรบริหารของรัฐสมัยใหม่นั้นมีวัตถุประสงค์ในการจำกัดอำนาจผู้ปกครองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งเป็นวัตถุประสงค์อันเกิดขึ้นเป็นลำดับแรกและคงอยู่จนปัจจุบันนี้ และวัตถุประสงค์ในการสร้างเสถียรภาพและประสิทธิภาพให้กับรัฐบาลในระบบการเมืองซึ่งวัตถุประสงค์ข้อนี้ต้องการใช้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเป็นกลไกที่จะทำให้รัฐบาลบริหารบ้านเมืองให้เป็นไปโดยเรียบร้อยต่อเนื่องและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้ และวัตถุประสงค์ประการสุดท้ายคือเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ถึงแม้ว่าการบัญญัติกฎหมายจะต้องเคารพถึงหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายก็ตามแต่ความไม่เท่าเทียมกันในทางปฏิบัติเนื่องจากสถานะการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมจึงต้องอาศัยหลักการในรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎเกณฑ์สูงสุดของประเทศมาเป็นกฎเกณฑ์คุ้มครองผู้อ่อนแอกว่า จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ของกระแสแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมนี้มีการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างรัฐในฐานะผู้ปกครองซึ่งมีอำนาจสูงสุดกับประชาชนผู้อยู่ใต้ปกครอง2 โดยรัฐจะต้องให้การรับรองและคุ้มครองซึ่งสิทธิเสรีภาพของผู้ใต้ปกครองและประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการปกครองหรือในการใช้อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ทั้งนี้จะต้องมีการสร้างระบบควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจและมีการปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพเพื่อจะได้บรรลุวัตถุประสงค์ของแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมที่มีแนวคิดในการสร้างมาตรการขึ้นมาเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับเก่านั่นเอง


       
       1. พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม

                   
       หากพิจารณาแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมจะพบว่าได้มีวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กมัยกรีกโบราญ สมัยกลาง และสมัยใหม่ การที่เราจะศึกษาจุดกำเนิดของแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมนั้นก็เป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้เนื่องจากจะได้นำพัฒนาการของแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมมากำหนดรูปแบบให้เหมาะสมกับการปกครองในยุคปัจจุบัน การศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมแบ่งตามยุคต่างๆได้ดังนี้


       
       1.1 แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมในสมัยกรีกโรมัน


                   
       แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมในยุคแรกเริ่มนี้ได้ให้ความสำคัญกับกฎหมายในฐานะที่เป็นกฎเกณฑ์ที่ควบคุมความประพฤติของผู้ปกครอง อันจะนำมาซึ่งผู้ปกครองที่ดี โดยมีเพลโต้ (Plato)นักปรัชญาชาวกรีกเป็นเจ้าของแนวคิดดังกล่าว3 นอกจากนี้แนวคิดทางการเมืองอีกประการหนึ่งของเพลโต้ก็ได้รับการพัฒนาอีกครั้งในสมัยโรมัน คือ ทฤษฎีสัญญาประชาคม (Social Contract) ซึ่งมีแนวคิดว่ากฎหมายคือสัญญาร่วมกันของประชาชนและได้กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดของแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมในตะวันตกในเวลาต่อมา และต่อมาอริสโตเติ้ล (Aristotal) นักปรัชญาชาวกรีกก็ได้เน้นแนวคิดในการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นเครื่องมือในของรัฐในการวางกลไกในการปกครองประเทศตามแนวความคิดรัฐธรรมนูญนิยมและยังคำนึงถึงแนวการดำเนินชีวิตของราษฎรด้วย อย่างไรก็ตาม แม้พัฒนาการของรัฐธรรมนูญในยุคแรกเริ่มนั้นยังเป็นยุคที่ประเทศต่างๆในโลกมีระบบการปกครองแบบจารีตประเพณีเป็นหลักยังไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่ใช้เป็นกลไกในการกำหนดกฎเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งของผู้ปกครองและการใช้อำนาจของผู้ปกครอง แต่ในทางประวัติศาสตร์พบว่าหลักการอันเป็นแนวคิดร่วมของแนวคิดรัฐธรรมนูญได้ปรากฏขึ้นแล้ว ซึ่งเห็นได้จากที่เมื่อผู้ปกครองทำผิดจารีตประเพณีก็ได้มีการจำกัดอำนาจผู้ปกครอง เช่นประเทศอังกฤษในต้นคริสตศตวรรษที่ 13 พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษในขณะนั้นคือพระเจ้าจอห์นถูกมองว่าประพฤติผิดประเพณีการปกครองอังกฤษจึงถูกขุนนางชั้นบารอนจำนวนหนึ่งต่อต้านและโค่นล้มอำนาจ เมื่อรบชนะพระเจ้าจอห์น ขุนนางเหล่านั้นจึงบังคับให้พระเจ้าจอห์นลงพระนามในเอกสารชิ้นหนึ่ง คือ Magna Carta หรือ มหาบัตรรัฐธรรมนูญ ว่าพระองค์จะปกครองตามจารีตที่มีมาแต่เดิม เช่นจะไม่ทำการจับกุมคุมขังบุคคลที่ไม่มีความผิด เป็นต้น หลังจากนั้นก็มีการกระทำในทำนองเดียวกันนี้อีกหลายครั้งเช่นในปี 1646 มีการขอให้พระเจ้าชาร์ลลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายฉบับหนึ่งเรียกว่า Petition of Rights หรือ คำขอสิทธิ ซึ่งมีการจำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์มิให้ทรงใช้พระราชอำนาจโดยปราศจากความยินยอมจากรัฐสภา หรือในปี ค.ศ. 1688 มีเหตุการณ์ที่ขุนนางและสามัญชนอังกฤษร่วมกันตั้งกองกำลังขึ้นต่อสู้กับพระเจ้าเจมส์ที่ 2 จนพระเจ้าเจมส์ต้องหนีออกจากประเทศอังกฤษและทิ้งตราแผ่นดินลงแม่น้ำเทมส์หลังจากนั้นมีการเชิญพระเจ้าวิลเลี่ยมกับพระนางแมรี่มาปกครองแล้วมีการออกกฎหมายฉบับหนึ่งเรียกว่า Bill of Rights หรือ พระราชบัญญัติสิทธิเสรีภาพของประชาชน จากการเหตุการณ์ดังกล่าวได้ปรากฏแนวคิดพื้นฐานของทฤษฎีรัฐธรรมนูญนิยมในสองประการคือ4

                   ประการแรกเป็นการแสดงถึงความพยายามในการนำกฎหมายลายลักษณ์อักษรเข้ามาแทนที่จารีตประเพณีที่ไม่มีความแน่นอนเพื่อจำกัดอำนาจผู้ปกครองและรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้อยู่ภายใต้การปกครอง ซึ่งได้พัฒนาไปเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมสูงสุดในคริสตวรรษที่ 18 จนมาถึงปัจจุบัน

                   
       ประการที่สอง การพัฒนาในช่วงแรกนี้ยืนอยู่บนข้อตกลงที่เรียกว่าสัญญาสังคม การที่ขุนนางขอให้พระเจ้าแผ่นดินลงนามในเอกสารทางการเมืองดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่าผู้ปกครองคือกษัตริย์ต้องปกครองประชาชนตามจารีตประเพณีที่เป็นเสมือนสัญญาสังคมที่ได้รับการยอมรับมาในอดีต เมื่อผู้ปกครองไม่ทำตามคำมั่นสัญญานั้นผู้อยู่ภายใต้การปกครองคือขุนนางและประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะเรียกทวงให้ผู้ปกครองปฏิบัติตามสัญญาได้

                   
       จากพัฒนาการในยุคแรกจะพบว่าแนวคิดอันเป็นพื้นฐานของแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมจะปรากฏเด่นชัดในการจำกัดอำนาจผู้ปกครองไม่ให้ใช้อำนาจมากระทบสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน และแม้ว่าจะยังไม่มีการใช้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเป็นเครื่องมือในการดำเนินการตามแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมก็ตามแต่แนวคิดในยุคเริ่มแรกดังกล่าวก็ได้รับการพัฒนามาเป็นรูปแบบอันเหมาะสมตามการปกครองอันมีรัฐธรรมนูญเป็นกลไกในการปกครองประเทศในนัยปัจจุบัน


                   
       1.2 แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมในสมัยกลาง

                   
       
       แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมในสมัยกลางได้รับแนวคิดมาจากสมัยกรีกโรมัน ซึ่งหลักการอันปรากฏเด่นชัดเป็นพื้นฐานของแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมมีสองประการ ดังนี้

                   
       ประการแรก ปรัชญากฎหมายธรรมชาติ (Natural law) ทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ แต่ได้รับการยอมรับในต้นยุคกลางซึ่งเป็นยุคที่ศาสนาจักรโรมันคาทอลิคและศาสนาคริสต์มีอิทธิพลที่สุดในสังคม นักกฎหมายธรรมชาติที่มีชื่อเสียงคนแรกคือ เซนต์ ออกุสติน (Saint Augustin) ซึ่งเขียนหนังสือชื่อ "นครของพระเป็นเจ้า" เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐและสังคมมีสองประเภทคือ นครทางโลกกับนครของพระเจ้า และนครทางโลกนั้นก็มาจากพระเจ้าเช่นกัน และปรัชญาเมธีกฎหมายธรรมชาติคนที่สองคือ เซนต์โทมัส อไควนัส (Saint Thomas d' Aquinus) (ค.ศ.1227-1274) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากปรัชญากรีกโดยเฉพาะอริสโตเติ้ล อไควนัสได้เห็นว่า นครเป็นผลมาจากธรรมชาติและเหตุผลที่เกิดจากการรวมตัวของมนุษย์ในฐานะสัตว์สังคมเพื่อประโยชน์ร่วมกัน โดยได้สร้างระบบกฎหมายเพื่อคุ้มครองมนุษย์จากการรุกรานของบุคคลอื่นไม่ว่าในสังคมด้วยกันเองหรือจากสังคมภายนอก และมนุษย์ยอมรับสังคมนี้ได้ด้วยเหตุผล ความเห็นดังกล่าวได้แสดงถึงการให้เหตุผลของการมีอยู่ของสังคมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งเหตุผลนี้เองเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์สามารถออกกฎหมายมาแก้ไขสิ่งที่ไม่มีเหตุผลสอดคล้องกับธรรมชาติได้5 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือปรัชญาของสำนักกฎหมายธรรมชาติได้เปลี่ยนความเชื่อในทางศาสนาที่ถือว่ากฎหมายธรรมชาติเป็นกฎหมายที่มาจากเจตจำนงของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งมีฐานะเหนือกว่ากฎหมายที่รัฐบัญญัติขึ้นมาให้ความสำคัญกับ "เหตุผล" ของมนุษย์และได้ให้ความสำคัญกับการออกกฎหมายมาจำกัดความไร้เหตุผลของจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น อันเป็นหนทางปูไปสู่การจัดทำประมวลกฎหมายขึ้นมาจำกัดอำนาจของผู้ปกครองและคุ้มครองสิทธิตามธรรมชาติอันไม่อาจลบล้างได้ของมนุษย์6 ซึ่งถือเป็นวัตถุประสงค์ประการสำคัญในการจัดทำรัฐธรรมนูญตามแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม ถือได้ว่ากฎหมายธรรมชาติเป็นรากฐานของการจำกัดอำนาจรัฐและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของมนุษย์โดยกฎหมายธรรมชาตินี้มีอำนาจเหนือรัฐกล่าวคือรัฐต้องเคารพกฎธรรมชาติ กฎหมายที่รัฐบัญญัติขึ้นจะมีสภาพบังคับก็ต่อเมื่อสอดคล้องกับกฎหมายธรรมชาติ7

                   
       ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้มีนักปรัชญาชาวฮอลันดา ชื่อ โกรติอุส 8 (Grotius ค.ศ. 1583-1645) เสนอแนวความคิดอันสนับสนุนความเป็นเหตุเป็นผลของกฎหมายธรรมชาติขึ้นมาใหม่ โกรติอุสเชื่อว่ากฎหมายธรรมชาติมีโครงสร้างที่มีลักษณะอิสระไม่จำต้องอาศัยข้ออ้างอิงในทางศาสนาว่าเป็นสิ่งที่สืบเนื่องมาจากเจตจำนงของพระผู้เป็นเจ้า เขาเห็นว่าธรรมชาติของมนุษย์เป็นที่มาของกฎหมายธรรมชาติดังนั้นจึงทำให้กฎหมายธรรมชาติไม่มีการเปลี่ยนแปลง และเป็นกฎหมายสากลที่ใช้บังคับกับคนทุกชาติทุกภาษาและทุกยุคทุกสมัย กล่าวคือมีลักษณะเหมือนกับธรรมชาติของมนุษย์ จากแนวความคิดของกฎหมายธรรมชาติของโกรติอุสดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการยึดถือในเรื่องเหตุผลของมนุษย์ในการกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของตนดังเช่นแนวคิดของ เซนต์โทมัส อไควนัส นั่นเอง และแนวคิดของโกรติอุสก็ถือเป็นพื้นฐานแนวคิดกฎหมายธรรมชาติอันเป็นต้นกำเนิดแนวความคิด "สภาวะตามธรรมชาติ" และตามมาด้วย "แนวความคิดสัญญาประชาคม" ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวความคิดของ ฮอปส์ ล็อค รุสโซ ในการทำข้อตกลงของสังคมโดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองจากรัฐและขณะเดียวกันรัฐก็ต้องถูกจำกัดการใช้อำนาจมิให้ใช้อำนาจมาลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย

                   
       ปรัชญากฎหมายธรรมชาติมีอิทธิพลต่อหลักการรัฐธรรมนูญนิยมในสมัยกลางเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากนอกเหนือจากอำนาจของผู้ปกครองยังมีอำนาจที่เหนือกว่า สิ่งนั้นคือกฎหมายธรรมชาติอันเป็นกฎของเหตุผล9 ซึ่งจะทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนมิถูกละเมิดจากการใช้อำนาจโดยมิชอบของผู้ปกครอง และหลักการนี้ได้นำไปสู่การจำกัดอำนาจของผู้ปกครองและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในเวลาต่อมา อันเป็นที่มาของคำประกาศเอกราชของสหรัฐอเมริกาปี ค.ศ.1776 และคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองของฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1789

                   
       หลักการที่เป็นแนวคิดร่วมในพัฒนาการของรัฐธรรมนูญนิยมในสมัยกลางประการที่สองคือ "ทฤษฎีประชาธิปไตยเสรีนิยม" อันมีรากฐานแนวคิดมาจาก "สัญญาประชาคม" ที่ประชาชนตกลงยินยอมสละสิทธิเสรีภาพที่เคยมีอยู่ตามธรรมชาติบางประการให้แก่ผู้ปกครองเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสังคมซึ่งสัญญาสังคมตามแนวคิดสัญญาประชาคมซึ่งเอกสารอันเป็นข้อตกลงต่างๆก็ได้รับการพัฒนามาเป็นเอกสารที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกลไกในการดำเนินการตามแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมนั่นเอง

                   
       นอกจากนี้พัฒนาการในการจำกัดอำนารัฐซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ประการหนึ่งของแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมยังถูกสนับสนุนด้วยทฤษฎีประชาธิปไตยเสรีนิยมนั่นก็คือ "ปรัชญาว่าด้วยการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตย" โดยสนับสนุนให้มีการแยกผู้ใช้อำนาจรัฐเพราะหากการใช้อำนาจรวมอยู่ที่บุคคลคนเดียวก็มีแนวโน้มในการใช้อำนาจในลักษณะที่จะไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นการแยกผู้ใช้อำนาจรัฐออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการจะทำให้เกิดการหยุดยั้งการใช้อำนาจอันมิชอบมากระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ ด้วยเหตุดังกล่าวการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยจึงเป็นทฤษฎีรากฐานของรัฐธรรมนูญนิยมอีกทฤษฎีหนึ่ง

                   
       แนวความคิดที่ปรากฏในพัฒนาการช่วงที่สองอันประกอบแนวคิดกฎหมายธรรมชาติ สัญญาประชาคม และการแบ่งแยกการใช้อำนาจนั้น เป็นพัฒนาการอันแสดงถึงการวิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญที่ได้พัฒนาไปเป็นรูปแบบของรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเห็นได้จากการประกาศเอกราชของประเทศอเมริกาปี ค.ศ. 1776 และมีการจัดทำรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ.1787 และการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศสปี ค.ศ.1789 อันนำไปสู่การจัดทำคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองปี ค.ศ.1789 และการจัดทำรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรในพัฒนาการในช่วงที่สองนี้ได้เป็นหลักการที่รัฐธรรมนูญในระบบสากลยึดถือในปัจจุบันอันได้แก่10

                   
       1) รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเป็นสัญญาประชาคมต้องให้คนทั้งสังคมมีส่วนร่วมในการจัดทำ

                   
       2) รัฐธรรมนูญต้องคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพของคนแต่ละคนตามคติสัญญาประชาคมของกฎหมายธรรมชาติ

                   
       3) รัฐธรรมนูญจะต้องให้ความสำคัญกับการทำให้การจำกัดอำนาจของผู้ปกครองมีประสิทธิภาพจริงๆซึ่งไม่มีทางอื่น นอกจากจะต้องใช้หลักการแบ่งแยกอำนาจลงไปจัดโครงสร้างการปกครองของรัฐ

                   
       4) รัฐธรรมนูญต้องเป็นการปกครองโดยความยินยอมของผู้อยู่ใต้ปกครอง

                   
       5) มีการปกครองโดยกฎหมายที่เรียกว่านิติรัฐ


                   
       1.3 แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมในสมัยใหม่

                   
       พัฒนาการแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมในสมัยใหม่นี้ได้มีพัฒนาการต่อเนื่องมาจากหลักการพื้นฐานของแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมในยุคแรกและยุคกลาง ซึ่งหลักการพื้นฐานดังกล่าวอาทิปรัชญาว่าด้วยกฎหมายธรรมชาติ ปรัชญาว่าด้วยสัญญาประชาคมที่เน้นความเสมอภาคของบุคคลนั้นกลับเป็นเพียงหลักการในอุดมคติหาได้มีผลในทางปฏิบัติไม่ เนื่องจากในความเป็นจริงนั้นมนุษย์ยังมีฐานะที่แตกต่างกันมาก และคนรวยได้นำหลักความเสมอภาคในกฎหมายมาเอารัดเอาเปรียบคนจน ดังนั้นรัฐธรรมนูญในสมัยใหม่จึงเน้นการที่รัฐธรรมนูญต้องบังคับให้รัฐลงไปคุ้มครองคนที่ด้อยกว่าในสังคม เพื่อสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมตามความเป็นจริงให้เกิดขึ้น
       นอกจากยังมีหลักการใหม่ที่ปรากฏเด่นชัดในสมัยใหม่ คือ รัฐธรรมนูญต้องมีหน้าที่สร้างระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ เนื่องจากจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพบว่าระบบการปกครองของหลายๆประเทศต้องล้มเหลวเนื่องจากได้ลอกเลียนการปกครองแบบรัฐสภาของประเทศอังกฤษมาใช้ซึ่งประชาชนเลือกผู้แทน แล้วผู้แทนราษฎรไปจัดตั้งรัฐบาล แต่ รัฐบาลอยู่ได้ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีประสิทธิภาพเฉพาะในประเทศอังกฤษเท่านั้น เพราะเขามีพรรคการเมืองเพียงสองพรรคเท่านั้น แต่ประเทศอื่นไม่ได้มีพรรคการเมืองสองพรรค ไม่ว่าประเทศฝรั่งเศสหรือประเทศไทยที่ล้วนมีพรรคการเมืองหลายพรรคซึ่งไม่มีพรรคเดียวได้เสียงข้างมากเกินครึ่งจึงต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมทำให้รัฐบาลย่อมไม่มีเสถียรภาพ ดังนั้นหลักการที่ปรากฏขึ้นให้ใหม่อันเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพและประสิทธิภาพให้รัฐธรรมนูญนั้นจึงต้องการที่จะแก้ไขข้อบกพร่องของการกำหนดโครงสร้างการปกครองที่ไม่ส่งเสริมเสถียรภาพให้แก่พรรคการเมืองอันเป็นพื้นฐานของการจัดตั้งรัฐบาลที่ดีอันจะนำไปสู่การบริหารบ้านเมืองด้วยความมีประสิทธิภาพและดำเนินการไปด้วยความโปร่งใสซึ่งรัฐต้องมีการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ปกครองไม่ว่าฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายตุลาการ เพื่อให้การใช้อำนาจรัฐไม่เป็นไปตามอำเภอใจตามหลักการจำกัดอำนาจรัฐ ซึ่งผลสุดท้ายก็จะนำไปสู่การที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะไม่ถูกละเมิดจากรัฐ แต่หากมีการละเมิดก็สามารถอ้างยันต่อรัฐเพื่อให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการรับรองและคุ้มครองได้
       จากหลักการที่เกิดขึ้นในช่วงต่างๆของพัฒนาการของแนวความคิดทฤษฎีนิยมนั้น ได้มีการพัฒนามาจนเป็นหลักการอันเหมาะสมตามสภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม อันปรากฏเป็นกรอบในการดำเนินการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมดังนี้

                   
       1) ต้องการใช้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรมาจำกัดอำนาจของผู้ปกครองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

                   
       2) ต้องการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมโดยคุ้มครองคนที่อ่อนแอกว่า

                   
       3) ต้องการสร้างเสถียรภาพและประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นในการจัดการบ้านเมืองโดยเฉพาะระบบการเมือง

                   
       อย่างไรก็ตาม จากวิวัฒนาการของสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในยุคต่างๆจะพบว่าในแต่ยุคสมัยนั้นได้มีประสบกับปัญหาทางการเมืองการปกครอง ปัญหาสังคม ซึ่งนับวันจะมีแนวโน้มที่ปัญหาจะเพิ่มมากขึ้นไปตามบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป ดังนั้นจึงต้องมีการหาแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆให้บรรเทาเบาบางลง ซึ่งแนวทางในการแก้ไขปัญหาอันเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันก็คือแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นแนวคิดที่ประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นกลไกสูงสุดในการปกครองประเทศได้นำไปเป็นแนวทางในการปฏิรูประบบการปกครองประเทศ ซึ่งก็ต้องมีการพัฒนาในรายละเอียดเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญในแต่ละประเทศอย่างเหมาะสม จึงทำให้หลักรัฐธรรมนูญนิยมเป็นกระแสที่เป็นแนวทางแก้ไขข้อบกพร่องของระบบการเมืองการปกครองในแต่ละประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ


       
       2. แนวความคิดพื้นฐานของทฤษฎีรัฐธรรมนูญนิยม

                   
       แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมได้ประกอบด้วยแนวคิดอันเป็นรากฐาน ดังนี้
       


                   
       2.1 ทฤษฎีสัญญาประชาคม

                   
       แนวคิดของสำนักกฎหมายฝ่ายธรรมชาติถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดแนวคิดสัญญาประชาคม โดยแนวคิดดังกล่าวได้มีอิทธิพลต่อแนวความคิดของนักปราชญ์หลายท่านดังนี้

                   
       นักปราชญ์ท่านแรกคือ โทมัส ฮอปส์ (Thomus Hobbes) ฮอปส์มองสภาวะตามธรรมชาติว่าสังคมโหดร้ายทุกคนแก่งแย่งชิงดีซึ่งกันและกันทำให้เกิดความวุ่นวาย เนื่องจากทุกคนใช้สิทธิและเสรีภาพของตนอย่างเต็มที่และสิทธิและเสรีภาพของแต่ละคนมีไม่เท่ากันคนเข้มแข็งย่อมมีมากกว่าคนอ่อนแอ ดังนั้นคนในสังคมจึงหลีกเลี่ยงสภาวะเช่นนี้โดยทุกคนต้องทำพันธะสัญญาซึ่งกันและกันมอบอำนาจสิทธิขาดให้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในการปกครองคนในสังคม เพื่อให้สังคมสงบสุข

                   
       นักปราชญ์ท่านต่อมาคือจอห์น ล็อค (John Locke) นักปรัชญาชาวอังกฤษได้มีความเห็นอันสนับสนุนแนวคิดกฎหมายธรรมชาติโดยเขาได้ให้ความเห็นว่า "รัฐทั้งหลายโดยธรรมชาติย่อมมีกฎแห่งธรรมชาติปกครองอยู่ซึ่งผูกพันบุคคลทุกคนด้วยเหตุผลอันได้แก่ กฎหมายที่ทำให้มนุษย์มีความเท่าเทียมกัน มีอิสระภาพที่จะไม่มีใครได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต แก่เสรีภาพ และแก่ทรัพย์สิน จากบุคคลอื่น"11 จากความเห็นดังกล่าวพบว่าล็อคได้ใช้ปรัชญาแบบเหตุผลมาวิเคราะห์สังคมการเมืองโดยแนวคิดที่ว่ามนุษย์และสังคมแยกจากกันไม่ได้และการที่มนุษย์มารวมตัวกันตามธรรมชาติเนื่องด้วยมีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นมนุษย์จึงตกลงรวมตัวกันเป็นสังคมทำให้เกิดสัญญาสังคมขึ้น (Social Contract) โดยมนุษย์แต่ละคนยินดีที่จะสละสิทธิเสรีภาพในการที่จะบังคับกันเองเมื่อมีการละเมิดสิทธิมาเป็นการบังคับโดยกฎหมาย ทั้งนี้ไม่ได้เป็นการสละสิทธิเสรีภาพทั้งหมดให้สังคมคงให้แต่เฉพาะสิทธิเสรีภาพบางประการเพื่อความผาสุกร่วมกันของสังคม

                   
       นอกจากนี้ยังมีนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส จัง จ๊าก รุสโซ (Jean Jacques Rousseau) ซึ่งเป็นผู้ได้รับอิทธิพลกฎหมายธรรมชาติมาพอๆกับล็อค โดยเขาได้กล่าวสนับสนุนแนวคิดกฎหมายธรรมชาติไว้ใน "ทฤษฎีสัญญาประชาคม" ว่า "โดยสัญญาประชาคมมนุษย์ดำรงอยู่ในทางการเมืองชั่วชีวิต เราสามารถเคลื่อนไหวและมีเจตจำนงเสรีโดยมีกฎหมายบัญญัติไว้...ทั้งนี้เป็นไปตามธรรมชาติ" 12 จากแนวคิดดังกล่าวรุสโซได้แสดงให้เห็นว่าสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเป็นลักษณะตามธรรมชาติของมนุษย์แต่เมื่อเกิดกรรมสิทธิ์อันนำมาซึ่งความไม่เสมอภาคของมนุษย์ ๆ จึงต้องหารูปแบบการปกครองใหม่โดยให้แต่ละคนทำสัญญาซึ่งเป็นเจตนาร่วมกัน (General Will)ของสังคมไม่ใช่ของปัจเจกบุคคลแต่ละคนเพื่อกำหนดหลักประกันให้เพียงพอแก่สิทธิเสรีภาพอันเป็นสิทธิเสรีภาพตามธรรมชาติ จึงส่งผลให้ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินได้รับการคุ้มครองจากสังคม13

                   
       จากแนวคิดข้างต้นจึงถือได้ว่าแนวคิดของสิทธิตามธรรมชาตินั้นมีอิทธิต่อการรับรองสิทธิและเสรีภาพตามสัญญากล่าวคืออำนาจในการบังคับให้เป็นไปตามสิทธิและเสรีภาพที่ปัจเจกชนพึงมีต้องเป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นจากเจตนารมณ์ร่วมกันของคนในสังคมนั้น ๆ ที่ยอมสละสิทธิตามธรรมชาติบางประการให้ผู้ปกครองออกกฎเกณฑ์มาจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในสังคมได้ ทั้งนี้กฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นนั้นจะใช้บังคับได้ก็ต่อเมื่อมีความสอดคล้องกับธรรมชาติ และกฎเกณฑ์ตามสัญญาอันเกิดจากแนวคิดสัญญาประชาคมนี้เองได้กลายเป็นรากฐานประการสำคัญในระบอบการปกครองในยุคปัจจุบันที่สมาชิกทุกคนร่วมตกลงกันสร้างกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการปกครองสังคมนั้น ๆ ซึ่งถือเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะกำหนดเจตจำนงในการปกครองตนเองขึ้น เมื่อรัฐธรรมนูญเกิดจากสัญญาประชาคมที่ก่อตั้งสังคมและระบบการเมืองการปกครองของสังคมนั้นๆขึ้น รัฐธรรมนูญจึงต้องอยู่เหนือทุกส่วนของสังคมการเมืองนั้นๆ14 โดยสมาชิกในสังคมยินยอมอยู่ร่วมกันภายใต้อำนาจสูงสุดของเจตนารมณ์ร่วมกันของสังคม ดังนั้นประชาชนย่อมจะได้รับความคุ้มครองในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินจากสังคมร่วมกัน ทั้งยังเป็นการนำมาซึ่งระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่สะท้อนถึงเจตนาร่วมกันของประชาชนที่มุ่งหมายให้รัฐทำหน้าที่รับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และขณะเดียวกันประชาชนก็อาจถูกรัฐจำกัดขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมได้เช่นกัน


                   
       2.2 หลักความเป็นสูงสุดของกฎหมายรัฐธรรมนูญ

                   
       แนวคิดอีกประการหนึ่งที่เป็นรากฐานของแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมก็คือ หลักความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ (Supremacy of the Constitutional) ซึ่งเป็นผลของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยอันเป็นกฎเกณฑ์สูงสุดในการปกครองประเทศ เนื่องจากหากได้พิเคราะห์โดยทฤษฎีบริสุทธิ์แห่งกฎหมายที่ว่ากฎเกณฑ์ที่ให้อำนาจออกกฎเกณฑ์อื่น ย่อมสูงกว่ากฎเกณฑ์ที่ออกมา และจากการที่รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเป็นกฎเกณฑ์ที่มีที่มาจากอำนาจสูงสุดในการก่อตั้งองค์กรทางการเมือง (pouvoir constituant) และเป็นกฎเกณฑ์ที่ก่อตั้งระบบกฎหมายขึ้นทั้งระบบ15 โดยรัฐธรรมนูญได้กำหนดถึงองค์กรที่ใช้อำนาจทางการเมืองในการปกครองรัฐและความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรต่าง ๆ ตลอดจนกำหนดรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงส่งผลให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎเกณฑ์ที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ทั้งหลายที่รัฐธรรมนูญสร้างขึ้น กล่าวคือรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมายที่ออกตามอำนาจแห่งรัฐธรรมนูญหรือมีลำดับศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญไม่สามารถขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้ รวมทั้งการกำหนดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมที่มีกระบวนการแตกต่างจากกฎหมายธรรมดาเพื่อเป็นหลักประกันให้สิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมีความเป็นสูงสุดมิให้มีการออกกฎหมายมาล่วงละเมิดอำนาจนี้ได้ ในทางตะวันตกเรียกอำนาจดังกล่าวว่า "Judicial Review Power" ซึ่งเป็นอำนาจที่ใช้รัฐธรรมนูญให้เกิดผลในทางปฏิบัติและทำให้รัฐธรรมนูญเป็นจริงเป็นจังมีอำนาจประกาศิตสมกับที่มีการบัญญัติถึงสิทธิเสรีภาพไว้ในรัฐธรรมนูญอันเป็นหลักประกับสูงสุด16 และจากนัยของทฤษฎีรัฐธรรมนูญนิยมที่ต้องกำหนดถึงกลไกในการใช้อำนาจรัฐให้เป็นไปอย่างชอบธรรมเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญ ผนวกกับผลของความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญจึงทำให้การใช้อำนาจขององค์กรทางการเมืองต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญได้รับหลักประกันที่จะไม่ถูกลบล้างโดยกฎเกณฑ์ที่มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญได้ ซึ่งก็จะทำให้แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมบรรลุผลสำเร็จในที่สุด


                   
       2.3 ทฤษฎีการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตย

                   
       หลักการแบ่งแยกอำนาจสืบเนื่องมาจากแนวคิดที่ไม่ต้องการให้อำนาจรวมอยู่ที่บุคคลคนเดียวหรือองค์กรเดียวกันเพราะบุคคลหรือองค์กรเดียวผูกขาดการใช้อำนาจไว้โดยไม่มีองค์กรใดมาตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจจึงอาจทำให้เกิดการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งจะทำให้ผู้อยู่ใต้ปกครองถูกกดขี่ดังที่ ลอร์ด แอ๊กตั้น (Lord Action) ได้กล่าวว่า "อำนาจมีแนวโน้มให้เกิดการใช้ที่มิชอบ และการมีอำนาจที่อิสระที่สุดนั้นย่อมจะเกิดการกระทำที่มิชอบอย่างแน่นอน" (Power tends to corrupt and absolute power corrupts absolutely) ดังนั้นหากมีการใช้อำนาจโดยมิชอบเกิดขึ้นแล้วในทางกลับกันก็จะส่งผลให้เสรีภาพของผู้อยู่ใต้ปกครองมิอาจบังเกิดขึ้นได้และจะทำให้ประชาชนขาดหลักประกันในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการผูกขาดการใช้อำนาจโดยวิธีที่มิชอบ จึงได้เกิดแนวคิดการแบ่งแยกอำนาจขึ้นโดยมองเตสกิเออ (Montesquieu) นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส เขาได้เสนอแนวคิดในการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตยออกเป็นสามอำนาจคือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการเพื่อทำให้เกิดดุลยภาพของอำนาจไม่ให้มีการผูกขาดอำนาจอยู่ที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ภายใต้หลักการแบ่งแยกอำนาจนี้ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการต้องสามารถควบคุมตรวจสอบและยับยั้งการใช้อำนาจซึ่งกันและกันได้ ทั้งนี้เพราะทั้งสามอำนาจมิได้มีการแบ่งแยกกันอย่างเด็ดขาด หากแต่มีการถ่วงดุลและคานอำนาจระหว่างกัน (checks and balances) ซึ่งหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการแบ่งแยกอำนาจก็เพื่อให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับความคุ้มครองจากการใช้อำนาจขององค์กรของรัฐ ด้วยเหตุนี้จึงต้องไม่มีอำนาจใดอำนาจหนึ่งอยู่เหนืออำนาจหนึ่งอย่างเด็ดขาดและเป็นฝ่ายดำเนินการเพื่อให้บรรลุภาระกิจจากการใช้อำนาจทั้งปวงแต่เพียงฝ่ายเดียว17 นอกจากนี้มองเตสกิเออได้เสนอแนวคิดในการแยกบุคคลผู้ใช้อำนาจแต่ละอำนาจให้เป็นอิสระจากกัน18 ซึ่งถือเป็นหลักเกณฑ์สำคัญของรัฐธรรมนูญสมัยใหม่เนื่องจากเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยการกำหนดองค์กรผู้ใช้อำนาจให้แตกต่างกันนั้นถือได้ว่าเป็นการกำหนดขอบเขตการใช้อำนาจขององค์กรของรัฐมิให้มีอำนาจมากเกินไปจนสามารถใช้อำนาจมากระทบสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลได้ ดังนั้นแนวคิดการแบ่งแยกอำนาจจึงมีอิทธิพลเหนือรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ ที่ได้นำหลักการรัฐธรรมนูญนิยมมาใช้ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่คำนึงถึงการรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ


                   
       2.4 หลักนิติรัฐ

                   
       หลักนิติรัฐถือเป็นหลักการสำคัญในการปกครองประเทศโดยที่บุคคลทุกคนและทุกชนชั้นรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐยอมอยู่ภายใต้กฎหมายบ้านเมืองและกฎหมายที่กำหนดขึ้นไว้ก็ต้องชอบด้วยทำนองคลองธรรมจึงจะถือเป็นกฎเกณฑ์ที่เป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐตามอำเภอใจ กล่าวคือหลักนิติรัฐเป็นหลักการแห่งกฎหมายที่เทิดทูนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และยอมรับนับถือสิทธิเสรีภาพแห่งมนุษย์ทุกแง่ทุกมุมรัฐต้องให้ความอารักขาและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้พ้นจากลัทธิทรราชย์19 หรือการใช้อำนาจตามอำเภอใจของผู้ปกครอง ทั้งนี้ภายใต้หลักการที่ว่าการกระทำใดอันเป็นการลุกล้ำสิทธิของประชาชน จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้นโดยรัฐและหน่วยงานกระทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะและอยู่ในฐานะที่อยู่เหนือกว่าเอกชนมีอำนาจก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในสิทธิหน้าที่แก่เอกชนฝ่ายเดียว โดยไม่สมัครใจได้ การที่กฎหมายมหาชนให้อำนาจรัฐหรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ในฐานะที่เหนือกว่าเอกชน แต่ในขณะเดียวกันกฎหมายนั้นเองก็จำกัดอำนาจรัฐหรือหน่วยงานของรัฐไม่ให้ใช้อำนาจนอกกรอบที่กฎหมายให้ไว้ หรือที่เรียกว่า การกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย20 นั่นเอง หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองนี้ได้มีผู้อธิบายได้ดีที่สุดคนหนึ่งคือ กาเร เดอ มัลแบร์ ( R. Carre de Malberg) ซึ่งได้กล่าวไว้ว่าหลักนิติรัฐเป็นหลักที่รัฐต้องยอมตนอยู่ใต้ระบบกฎหมายในความสัมพันธ์กับปัจเจกชนและคุ้มครองสถานะของปัจเจกชน โดยรัฐต้องยอมตนอยู่ใต้กฎเกณฑ์สองนัยคือ การกำหนดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และการกำหนดวิธีการและมาตราการซึ่งรัฐสามารถใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ จากหลักดังกล่าวทำให้เกิดผลสองประการคือ ประการแรก เมื่อฝ่ายปกครองเข้าไปมีนิติสัมพันธ์กับปัจเจกชนฝ่ายปกครองไม่อาจกระทำการฝ่าฝืนหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายได้ และเป็นการบังคับปัจเจกชนโดยไม่สมัครใจไม่ได้ เว้นกฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นได้ให้อำนาจไว้โดยตรง ดังนั้นหลักนิติรัฐอันเป็นการต้องดำเนินการตามหลักความชอบด้วยกฎหมายนั้นจึงเป็นหลักที่ให้หลักประกันแก่ปัจเจกชนผู้อยู่ใต้ปกครอง หากฝ่ายปกครองละเมิดหลักนี้ ปัจเจกชนสามารถนำคดีไปสู่ผู้วินิจฉัยให้เพิกถอนการกระทำที่ละเมิดกฎหมายได้จึงเป็นการป้องกันการใช้อำนาจตามอำเภอใจของฝ่ายปกครองได้นั่นเอง21

                   
       อย่างไรก็ตาม หลักความชอบด้วยกฎหมายซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิติรัฐนั้นไม่ได้ใช้บังคับแต่เฉพาะฝ่ายปกครองเท่านั้นแต่ผูกพันต่อกิจกรรมทั้งปวงของรัฐให้ต้องอยู่ภายใต้ระบบนิติรัฐด้วยเช่นกัน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐที่ประกอบด้วยองค์กรนิติบัญญัติ องค์กรบริหาร และองค์กรตุลาการ ย่อมส่งผลให้องค์กรบริหารและองค์กรตุลาการที่ใช้อำนาจรัฐเช่นเดียวกับฝ่ายปกครองต้องผูกพันตามหลักนิติรัฐด้วย กล่าวคือ องค์กรนิติบัญญัติไม่อาจที่จะออกกฎหมายมาจำกัดตัดทอนสิทธิเสรีภาพโดยปราศจากอำนาจที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ได้ และกฎหมายที่ออกมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นก็หาเป็นการกระทำโดยเป็นการกระทบสาระสำคัญแห่งสิทธิหรือฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ และกฎหมายที่ออกมาจำกัดสิทธิเสรีภาพนั้นต้องมาจากประชาชนหรือโดยองค์กรที่เป็นผู้แทนของประชาชน ส่วนองค์กรตุลาการก็มีภาระหลักในการคุ้มครองหลักความชอบด้วยกฎหมายให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติ โดยเพิกถอนการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและหากการกระทำนั้นก่อความเสียหายก็มีอำนาจพิพากษาให้ผู้กระทำต้องชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งมีผลให้สิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนที่ถูกกระทบได้รับการเยียวยา จึงถือว่าอิสระขององค์กรตุลาการเป็นสิ่งที่สำคัญโดยจะต้องไม่ถูกครอบงำโดยฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อให้การพิพากษาคดีเป็นไปโดยชอบธรรมแต่ในขณะเดียวกันองค์กรตุลาการเองก็ย่อมต้องเคารพหลักความชอบด้วยกฎหมายด้วยเช่นกัน22

                   
       จากหลักการของหลักนิติรัฐพบว่ามีหลักอยู่สามประการตามแนวคิดของ A.V.Dicey (1835 -1922) ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพที่จะได้รับความคุ้มครองโดยกฎหมายดังนี้คือ23

                   
       1. กฎหมายของบ้านเมืองย่อมมีความสำคัญยิ่งใหญ่และเด็ดขาดกว่าอำนาจอื่น บุคคลจะถูกลงโทษแต่เฉพาะเมื่อได้กระทำการอันเป็นความผิดตามกฎหมายเท่านั้น จะถูกลงโทษเพราะเหตุอื่นไม่ได้ และผู้ที่จะวินิจฉัยว่าผู้ใดกระทำผิดหรือไม่ก็คือศาลยุติธรรมเท่านั้น

                   
       2. บุคคลทุกคนย่อมอยู่ภายใต้กฎหมายบ้านเมืองซึ่งได้รับการบังคับรับรองโดยศาลยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน

                   
       3. กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นเพียงการรองรับสิทธิของมนุษย์ตามที่ศาลได้รับรองและบังคับบัญชาให้เท่านั้น กล่าวคือกฎหมายที่รัฐสภาออกมาเป็นกฎหมายที่กำหนดฐานะของบุคคลที่มีอยู่ตามกฎหมายมิใช่เพียงแต่จะรับรองจากตัวหนังสือในรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากแต่จะต้องให้บุคคลผู้ถูกละเมิดมีทางแก้ไขโดยใช้สิทธิฟ้องผู้กระทำผิดหรือผู้กระทำละเมิดต่อศาลตามกฎหมายอื่นของบ้านเมืองได้ด้วย

                   
       จากหลักนิติรัฐแสดงถึงการจำกัดอำนาจขององค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐมิให้ใช้อำนาจโดยมิชอบซึ่งเท่ากับเป็นการคุ้มครองป้องกันสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลโดยคำนึงถึงระบอบการปกครองเสรีประชาธิปไตยที่ปกครองด้วยรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อค้ำประกันและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเป็นประการสำคัญ นับได้ว่าหลักนิติรัฐเป็นหลักการขั้นมูลฐานอันสำคัญของหลักรัฐธรรมนูญนิยมที่ประชาชนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพอย่างบริบูรณ์ภายในกรอบที่กฎหมายกำหนด


       
       


       


       
เชิงอรรถ


       
                   
       1. อมร จันทรสมบูรณ์.การปฏิรูปการเมือง คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ ทางออกของประเทศไทย.(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สำนักนโยบายศึกษา,มปท.2539.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       2. บวรศักดิ์ อุวรรโณ.รวมคำบรรยายเนติฯภาคหนึ่ง สมัยที่ 54 การบรรยายครั้งที่3 .(กรุงเทพฯ : สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา,2544)หน้า59.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       3. ปรีดี เกษมทรัพย์.นิติปรัชญาภาค 2 บทนำทางประวัติศาสตร์เอกสารประกอบการศึกษาชั้นปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ .(กรุงเทพฯ : มิตรนราการพิมพ์,2526)หน้า96.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       4. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. รวมคำบรรยายเนติฯภาคหนึ่ง สมัยที่ 54 การบรรยายครั้งที่3 ,หน้า60-61.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       5. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ,กฎหมายมหาชนเล่ม1 วิวัฒนาการทางปรัชญาและลักษณะของกฎหมายยุคต่าง ๆ พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพ : วิญญูชน, 2538)หน้า 51.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       6. Rene David,Les grands systemes de droit contemporain, (paris : Dalloz,1978) อ้างถึงในบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ,คำอธิบายกฎหมายมหาชนเล่ม1(กรุงเทพ : นิติธรรม,2538),หน้า 52 .
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       7. Jean Rivero,Libertes publiques paris Presse universitaire de frence,1973 อ้างถึงในวีระ โลจายะ,เอกสารการสอนชุดกฎหมายมหาชนเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน. (กรุงเทพ :สำนักพิมพ์ชวนพิมพ์,2539),หน้า 467.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       8. เรื่องเดียวกัน,หน้า 469.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       9. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. รวมคำบรรยายเนติฯภาคหนึ่ง สมัยที่ 54 การบรรยายครั้งที่3 ,หน้า60-61.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       10. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. รวมคำบรรยายเนติฯภาคหนึ่ง สมัยที่ 54 การบรรยายครั้งที่3 ,หน้า66-67.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       11. John Locke,Two Treaties of Civil Government, the Great Legal Philosophers, edited by clarence Mossis (Philadelphia : University of Pennsyvania Press,1963 ) p.137
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       12. Jean Jacques Rousseau, The social contract, the Great Legal Philosophers, edited by clarence Mossis (Philadelphia : University of Pennsyvania Press,1963 ) p.223
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       13. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชนเล่ม1, อ้างแล้วหน้า56.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       14. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ,กฎหมายมหาชน เล่ม 3 ,อ้างแล้ว,หน้า 18.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       15. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ,กฎหมายมหาชน เล่ม 3ที่มาและนิติวิธี,พิมพ์ครั้งแรก,(กรุงเทพฯ:นิติธรรม,2538),หน้า17.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       16. วิษณุ เครืองาม , “สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ,” ในสู่สิทธิมนุษยชน สิทธิหรือหน้าที่ในประเทศไทยปัจจุบัน(กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์จุฬาฯ,2535) หน้า 42.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       17. บรรเจิด สิงคะเนติ,อ้างแล้ว หน้า 22-23.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       18. สมยศ เชื้อไทย.คำอธิบายหลักรัฐธรรมนูญทั่วไป.(กรุงเทพ : เรือนแก้วการพิมพ์,2535) หน้า 146.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       19. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ,คำอธิบายกฎหมายมหาชนเล่ม 3 (กรุงเทพฯ:นิติธรรม,2538),หน้า 20.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       20. ชาญชัย แสวงศักดิ์,คำอธิบายกฎหมายปกครอง,พิมพ์ครั้งที่ 2 ,(กรุงเทพฯ:วิญญูชน,2542),หน้า 33.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       21. Clade Leolercq, Institutions politiques et droit constitutionel, (Paris : Litec, 2 ed) pp 89-90,อ้างถึงในบวรศักดิ์ อุวรรณโณ.คำอธิบายกฎหมายมหาชนเล่ม 3 (กรุงเทพ : นิติธรรม,2538) หน้า 277.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       22. เรื่องเดียวกัน,หน้า 227.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       23. ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล,เหลียวหลังดูกฎหมายและความยุติธรรม(กรุงเทพฯ:นิติธรรม,2540),หน้า 21.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
       


       
       



       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546


       




 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544