หน้าแรก บทความสาระ
ข้อพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 [ตอนที่ 1]
ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ
3 มกราคม 2548 17:29 น.
 

       
บทนำ

                   
       หากย้อนกลับไปพิจารณาสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง (ฉบับปี 2540) แล้ว จะเห็นได้ว่ามีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น ตลอดทั้งปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเหตุที่สิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถือได้เป็นหัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง และในโอกาสที่ได้ใช้รัฐธรรมนูญมาระยะหนึ่งแล้ว (5 ปี) จึงสมควรตรวจสอบปัญหาในใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพว่ามีปัญหาจากการใช้และการตีความอย่างไรบ้าง อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการตรวจสอบในเบื้องต้นเกี่ยวกับหลักการในทางกฎหมายในเรื่องสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญว่าก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อกฎหมาย การใช้กฎหมาย หรือการตีความกฎหมายโดยองค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่เพียงใด

                   
       โดยที่การศึกษาเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในที่นี้มุ่งที่จะศึกษาในขอบเขตสิทธิและเสรีภาพโดยทั่วไป มิได้มุ่งไปที่สิทธิและเสรีในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ ดังนั้น การศึกษาเรื่องสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในที่นี้จึงแบ่งหัวข้อออกเป็น
       

                   
       บทนี้จะนำเสนอเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยแยกปัญหาที่สำคัญออกเป็น 4 ประการดังนี้ 1. ปัญหาเกี่ยวกับผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 2. ปัญหาความผูกพันขององค์กรของรัฐตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ 3. ปัญหาการใช้สิทธิทางศาลตามมาตรา 28 วรรค 2ของรัฐธรรมนูญ และ 4. ปัญหาการใช้และตีความหลักประกันสิทธิและเสรีภาพตามมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ


       
       1. ปัญหาเกี่ยวกับผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
       

                   
       ปัญหาที่เกี่ยวกับผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแยกออกเป็น 2 กรณีคือ 1.1 กรณีของบุคคลธรรมดา และ 1.2 กรณีของนิติบุคคล

                   
       1.1 กรณีของบุคคลธรรมดา

                   
       โดยที่รัฐธรรมนูญไทยมิได้แยกระหว่าง "สิทธิมนุษยชน" กับ "สิทธิพลเมือง" 1 ปัญหาที่ตามมาคือสิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามหมวด 3 "สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย" ใครบ้างเป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพในหมวดดังกล่าว ในทางตำราที่ได้รับการอธิบายมาโดยตลอดว่า ตามหลักรัฐธรรมนูญทั่วไปต้องถือว่ารัฐธรรมนูญย่อมกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคนสัญชาติของรัฐนั้นเอง ไม่ได้กำหนดความสัมพันธ์กับคนต่างด้าวอื่น ถ้ารัฐธรรมนูญจะให้สิทธิและเสรีภาพแก่คนต่างด้าวก็จะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญโดยเจาะจงในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ คนต่างด้าวจะมีสิทธิเพียงใดย่อมเป็นไปตามสนธิสัญญา และกฎหมายอื่นซึ่งไม่ใช่เรื่องของรัฐธรรมนูญ2 แต่โดยที่สิทธิและเสรีภาพในบางเรื่อง โดยสาระสำคัญของเรื่องนั้นเป็นการคุ้มครองต่อมนุษย์มิใช่เพียงชนชาวไทย ในกรณีเช่นนี้บุคคลต่างด้าวจะมีสิทธิและเสรีภาพตามหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญได้แค่ไหนเพียงใด มีกรณีที่ชาวญี่ปุ่นเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยชาวญี่ปุ่นดังกล่าวถูกคุมขังในเรือนจำจังหวัดชลบุรียื่นคำร้องตามมาตรา 264 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุมขังตนนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 4 มาตรา 30 และมาตรา 33 และต้องด้วยมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ โดยผู้ร้องได้กล่าวอ้างว่า ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมโดยถูกตีโซ่ตรวนที่ข้อเท้าตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลาประมาณ 2 ปี 4 เดือน การปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมดังกล่าวขัดต่อมาตรา 4 ที่บัญญัติว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองขัดต่อมาตรา 30 เรื่องหลักความเสมอภาคและขัดต่อมาตรา 33 เรื่องการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด ดังนั้น เมื่อผู้ร้องยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลจะปฏิบัติต่อผู้ร้องเสมือนกระทำความผิดมิได้ ผู้รองได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง จึงขอความเป็นธรรมต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยกเลิกการตีโซ่ตรวนผู้ร้อง โดยผู้ร้องเห็นว่ามาตรา 4 (2) มาตรา 14 (1)-(5) แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 และข้อ 25-ข้อ 28 ของกฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

                   
       เนื่องจากในเรื่องนี้ผู้ร้องถูกส่งตัวกลับไปประเทศญี่ปุ่น ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การพิจารณาคำร้องจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ร้องแต่อย่างใด ประกอบกับการที่ผู้ร้องอ้างว่า มาตรา 4 (2) และมาตรา 14 (1)-(5) แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 ขัดต่อมาตรา 4 มาตรา 30 และมาตรา 33 ของรัฐธรรมนูญนั้น ผู้ร้องได้ถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรต่างประเทศปลอม อันตนได้มาโดยรู้ว่าปลอมและร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ของผู้อื่น ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น เมื่อศาลยุติธรรมมิได้ใช้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479บังคับแก่คดีตามคำร้องนี้แล้ว มาตรา 4 (2) และมาตรา 14 (1)-(5) จึงมิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีตามคำร้องนี้ กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 264 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ3

                   
       ด้วยเหตุผลดังกล่าวประเด็นปัญหาว่า คนต่างด้าวจะอ้างสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้แค่ไหนเพียงใด จึงยังขาดความชัดเจนในทางปฏิบัติว่า คนต่างด้าวจะอ้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 3 ได้หรือไม่ หากไม่ได้จะอ้างมาตรา 4 ซึ่งเป็นบทบัญญัติรับรองทั่วไปได้หรือไม่ ปัญหาเหล่านี้ยังขาดความชัดเจนในทางปฏิบัติ

                   
       1.2 กรณีของนิติบุคล

                   
       ปัญหาว่านิติบุคคลจะเป็นผู้ทรงสิธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ กรณีนี้ไม่มีความชัดเจนจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทย และหากยอมรับว่านิติบุคคลอาจเป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้ ควรจะมีขอบเขตแค่ไหนเพียงใด

                   
       (1) นิติบุคคลจะเป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้หรือไม่

                   
       หากถือตามหลักกฎหมายทั่วไป หากสิทธินั้นเป็นสิทธิที่มุ่งคุ้มครองต่อบุคคลธรรมดา กรณีก็คงต้องยอมรับว่านิติบุคคลก็ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้ เพราะสิ่งที่อยู่เบื้องหลังนิติบุคคลก็คือบุคคลธรรมดาทั้งหลายนั่นเอง ดังนั้น การที่บุคคลธรรมดาจะเป็นผู้ทรงสิทธิตามรัฐธรามนูญโดยตรง หรือรวมตัวกันเป็นนิติบุคคลเพื่อจะเป็นผู้ทรงสิทธิตามรัฐธรรมนูญ บุคคลก็ย่อมมีสิทธิที่จะกระทำได้ หากในทางพื้นฐานยอมรับว่า "นิติบุคล" ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้ กรณีจึงขึ้นอยู่กับนิติวิธีในการอธิบายว่าจะอธิบายการเป็นผู้ทรงสิทธิของนิติบุคคลอย่างไร ซึ่งมีแนวทางในการทำให้นิติบุคคลเป็นผู้ทรงสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้ 2 วิธี ดังนี้

                   
       1. โดยอาศัยการเทียบเคียง(Analogy) จากนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 70 บัญญัติไว้ว่า "ภายในบังคับมาตรา 66 นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา…" หากนำหลักที่บัญญัติไว้ในมาตรา 70 ป.พ.พ. มาเทียบเคียงในการตีความว่า นิติบุคคลอาจเป็นผู้ทรงสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ก็ย่อมตีความเทียบเคียงว่า นิติบุคคลย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา แต่โดยทั่วไปแล้วหลักการตีความรัฐธรรมนูญนั้น มักจะไม่นำหลักของกฎหมายที่ต่ำกว่ามาตีความเพื่อครอบงำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เว้นแต่เป็นหลักกฎหมายเดียวกัน ซึ่งย่อมจะต้องตีความให้สอดคล้องกัน ทั้งนี้ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดย่อมมีเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญเอง เมื่อรัฐธรรมนูญมีความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์อย่างไรแล้ว ย่อมส่งผลต่อกฎหมายที่อยู่ในลำดับที่ต่ำกว่าจะต้องใช้หรือตีความให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

                   
       ข. โดยการบัญญัติไว้ให้ชัดเจน แนวทางนี้เป็นแนวที่ใช้ตามรัฐธรรมนูญของเยอรมัน(Grundgesetz) ตามมาตรา 19 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญเยอรมันได้บัญญัติให้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้น นิติบุคคลภายในประเทศอาจเป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพได้ เท่าที่สิทธิและเสรีภาพนั้น ๆ สามารถนำมาใช้กับนิติบุคคลได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้นเอง

                   
       (2) นิติบุคคลจะเป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้ แค่ไหนเพียงใด

                   
       หากผ่านการยอมรับว่านิติบุคคลเป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้ ประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปคือนิติบุคคลสามารถเป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้แค่ไหนเพียงใด นิติวิธีในการให้เหตุผลอาจใช้วิธีการดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น 2 วิธีคือ

                   
       ก. โดยอาศัยการเทียบเคียง ทั้งโดยอาศัยการเทียบจากมาตรา 70 ป.พ.พ. ซึ่งบัญญัติว่า "ภายในบังคับมาตรา 66 นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นเสียแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น"

                   
       ข. โดยการบัญญัติไว้ให้ชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ แนวทางนี้เป็นแนวทางที่ใช้ตามรัฐธรรมนูญของเยอรมัน ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นตามมาตรา 19 วรรค 3 บัญญัติให้นิติบุคคลภายในอาจเป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้เท่าที่สิทธิและเสรีภาพนั้น ๆ สามารถนำมาใช้กับนิติบุคคลได้
       

                   
       ไม่ว่าจะใช้หลักการเทียบเคียงก็ดีหรือหลักการบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งก็ดีท้ายที่สุดศาลจะเป็นองค์กรที่จะตีความว่านิติบุคคลเป็นผู้ทรงสิทธินั้น ๆ ได้หรือไม่แต่ความแตกต่างอยู่ที่องค์กรใดจะเป็นผู้ตีความ หากเป็นสิทธิในทางแพ่งศาลยุติธรรมย่อมเป็นผู้ตีความ หากแต่เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญย่อมเป็นผู้มีอำนาจตีความ แต่ทั้งนี้ยังต้องพิจารณาถึงกระบวนการที่อาจจะเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญด้วย
       
       2. ปัญหาในเรื่องความผูกพันต่อสิทธิและเสรีภาพตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ
       

                   
       มาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้องค์กรของรัฐทั้งหลายต้องผูกพันต่อสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นความผูกพันโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง ในที่นี้จึงแยกการพิจารณาองค์กรของรัฐที่ผูกพันต่อสิทธิและเสรีภาพดังนี้ 2.1 องค์กรนิติบัญญัติ 2.2 องค์กรตุลาการ 2.3 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และ 2.4 องค์กรฝ่ายปกครอง

                   
       2.1 องค์กรนิติบัญญัติ

                   
       องค์กรนิติบัญญัติย่อมมีความผูกพันต่อสิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ความผูกพันที่สำคัญคือการตรากฎหมายจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพต้องเป็นไปตามหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 294 ของรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ละเมิดต่อหลักการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29 ย่อมเป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การถูกควบคุมตรวจสอบความเห็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายโดยศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ความผูกพันขององค์กรนิติบัญญัติ ในกรณีนี้จึงมีศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบให้เป็นไปตามขอบเขตของรัฐธรรมนูญ

                   
       ความผูกพันขององค์กรนิติบัญญัติต่อสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่สำคัญประการต่อมาคือ กรณีที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และในมาตรานั้นได้บัญญัติต่อไปว่า "ทั้งนี้ ตามที่กฎหมาบัญญัติ" เช่น ตามมาตรา 54 บัญญัติว่า "บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ" หรือตามมาตา 55 "บุคคลซึ่งพิการหรือทุพพลภาพมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ" ในกรณีเช่นนี้มีปัญหาว่า หากองค์กรนิติบัญญัติมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ทำให้บุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิไม่อาจได้รับสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ กรณีจึงก่อให้เกิดปัญหาว่าอะไรคือความผูกพันที่องค์กรนิติบัญญัติมีต่อรัฐธรรมนูญในกรณีดังกล่าว หากถือว่าการที่องค์กรนิติบัญญัติจะตรากฎหมายเพื่อให้การเป็นไปตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ตาม ย่อมไม่มีผลบังคับอย่างใดต่อองค์กรนิติบัญญัติ กรณีย่อมทำให้หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติในทำนองกำหนดภาระหน้าที่แก่องค์กรต่าง ๆ ก็ไม่ก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด แต่การที่จะให้เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญและให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้องค์กรนิติบัญญัติออกกฎหมายก็อาจจะกระทบต่อความมีอิสระขององค์กรนิติบัญญัติในการที่จะริเริ่มในการเสนอกฎหมายได้

                   
       ทางออกที่จะไม่ให้กระทบหลักการสำคัญทั้งสองประการข้างต้น กล่าวคือ หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญและหลักความเป็นอิสระขององค์กรนิติบัญญัติ จึงจำเป็นที่จะต้องบังคับต่อองค์กรที่จะต้องบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งในที่นี้คือองค์กรฝ่ายบริหาร ซึ่งหากรัฐมนตรีที่มีภาระหน้าที่ในขอบเขตของสิทธิในเรื่องนั้น ๆ

                   
       บทบัญญัติวรรคหนึ่งและวรรคสองให้นำมาใช้บังคับกับกฎหรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วย โดยอนุโลมย่อมต้องมีภาระในการที่จะริเริ่มในการเสนอกฎหมายในเรื่องนั้น ๆ และหากรัฐมนตรีไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามขอบภาระหน้าที่ของตน กรณีนี้อาจอาศัยช่องทางโดยการให้ผู้ที่มีสิทธิตามมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญไปยื่นคำขอให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ดังกล่าวให้ความช่วยเหลือ เมื่อหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ดังกล่าวปฏิเสธคำขอของบุคคลที่ยื่นคำร้อง ให้ผู้ยื่นคำขอที่ได้รับการปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ยื่นเรื่องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตรวจสอบว่าการปฏิเสธของเจ้าหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตรวจสอบแล้วเห็นว่าเป็นกรณีทีเจ้าหน้าที่ไม่อาจจะสั่งการได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายตามมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาอาจเสนอเรื่องไปยังรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการออกกฎหมาย เพื่อให้การเป็นไปตามรัฐธรรมนูญต่อไป

                   
       หากมีข้อโต้แย้งว่า การที่จะทำให้สิทธิตามรัฐธรรมนูญต่าง ๆ ดังกล่าวบรรลุความมุ่งหมาย จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องมีความพร้อมในทางงบประมาณ ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถวินิจฉัยในลักษณะบังคับให้ออกกฎหมายได้ ในกรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญอาจทำได้แต่เพียงวินิจฉัยให้การเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการตรากฎหมายไปดำเนินการตรากฎหมาย แต่การมีผลบังคับใช้ของกฎหมายฉบับนี้ อาจกำหนดเงื่อนไขในลักษณะใดลักษณะหนึ่งไว้ เช่น ใช้บังคับเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งหรือเมื่อรัฐบาลมีความพร้อมในทางงบประมาณมากขึ้น เป็นต้น กรณีเช่นนี้ก็จะทำให้หลักการทั้งหลายตามรัฐธรรมนูญมีผลในทางปฏิบัติ

                   
       2.2 องค์กรตุลาการ

                   
       คำถามในเบื้องต้นคือองค์กรตุลาการต้องผูกพันตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประเด็นนี้คงไม่มีปัญหาในทางทฤษฎี เพราะองค์กรตุลาการเป็นองค์กรของรัฐ ซึ่งย่อมต้องผูกพันต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญเช่นกัน โดยที่ศาลใช้กฎหมายและตีความกฎหมาย เพื่อตรวจสอบการกระทำของบุคคลต่าง ๆ ที่เป็นคดีข้อพิพาทมายังศาลการใช้และการตีความของศาลก็มีลักษณะเช่นเดียวกับการใช้และตีความกฎหมายของฝ่ายปกครอง ซึ่งอาจมีการใช้และตีความกฎหมายไม่ถูกต้องได้ ในกรณีของการใช้หรือตีความกฎหมายของศาลนั้น เรื่องดังกล่าวย่อมไปสิ้นสุดที่ศาลสูงสุดของศาลนั้น ๆ แต่กรณีที่จะเป็นปัญหาคือกรณีที่เป็นการใช้และตีความสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเท่ากับเป็นการใช้และตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หากศาลสูงสุดของแต่ละศาลใช้และตีความแล้วเป็นที่สุด หากมีกรณีโต้แย้งว่าการใช้และการตีความรัฐธรรมนูญโดยองค์กรศาลสูงสุดนั้นไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีย่อมไม่มีช่องทางที่จะเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งเท่ากับว่าศาลสูงสุดของแต่ละศาลย่อมไม่ต้องผูกพันต่อสิทธิและเสรีภาพของรัฐธรรมนูญในลักษณะที่อาจถูกตรวจสอบว่าคำวินิจฉัยของศาลนั้น ๆ ตีความสิทธิและเสรีภาพสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

                   
       ปัญหาในเรื่องนี้เป็นปัญหาการใช้อำนาจโดยองค์กรตุลการขัดต่อสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากไม่มีองค์กรสูงสุดในการตรวจสอบความเป็นเอกภาพในการตีความเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญก็อาจก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องการตีความเรื่องสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้ และในอีกด้านหนึ่ง การให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลอื่นเฉพาะในขอบเขตการตีความรัฐธรรมนูญได้ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นได้ว่าศาลต่าง ๆ นั้นย่อมถูกผูกพันต่อสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การที่จะพิจารณาให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลอื่น ๆ ว่า ใช้และตีความกฎหมายขัดต่อสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งยังต้องอาศัยประสบการณ์ของศาลรัฐธรมนูญ ที่แสดงให้เป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นองค์กรที่วินิจฉัยเรื่องต่าง ๆ โดยวางอยู่บนหลักพื้นฐานในทางกฎหมายที่ถูกต้อง เป็นองค์กรที่ให้หลักประกันทั้งต่อองค์กรตุลากรและต่อปัจเจกบุคคล ดังนั้น การพัฒนาหลักกฎหมายในเรื่องนี้จึงมิได้ขึ้นอยู่กับประเด็นในทางกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในทางสังคมว่าบุคคลในสังคมได้ให้ความเชื่อถือไว้วางใจต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่เพียงใด

                   
       2.3 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

                   
       องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญย่อมอยู่ในความหมายของ "องค์กรอื่นของรัฐ" ตามนัยมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญที่จะต้องผูกพันต่อสิทธิและเสรีภาพไม่ว่าจะในการใช้บังคับกฎหมายก็ดี ในการตีความกฎหมายก็ดี ปัญหาที่อาจจะต้องพิจารณาในเบื้องต้นคือองค์กรใดเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดอาจกล่าวได้ว่า องค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ5 ปัญหาของความผูกพันต่อสิทธิและเสรีภาพขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีประเด็นที่สำคัญคือ หากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เป็นการละเมิดสิทธิของบุคคล ผู้ถูกละเมิดสิทธิดังกล่าวสามารถโต้แย้งคำวินิจฉัยขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต่อองค์กรศาลที่มีเขตอำนาจในเรื่องนั้นได้หรือไม่ เพียงใด

                   
       ปัญหาในเรื่องโต้แย้งคำวินิจฉัยขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไปยังองค์กรที่มีเขตอำนาจศาลในเรื่องนั้น ๆ กรณีที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้คือกรณีของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) ซึ่งเป็นกรณีที่เคยมีการฟ้องคดี คณะกรรมการการเลือกตั้งต่อศาลปกครอง

                   
       ซึ่งศาลปกครองกลางได้เคยมีคำวินิจฉัยที่ 47/2544 ไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาโดยให้เหตุผลว่าการกระทำของ ก.ก.ต. เป็นเด็ดขาด ซึ่งศาลปกครองไม่อาจควบคุมตรวจสอบได้ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์เรื่องไปยังศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยและมีคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 84/2544 กลับคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง โดยให้เหตุผลว่าการที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของ ก.ก.ต. เป็นเด็ดขาดนั้นเป็นการแปลความเกินกว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และการแปลความดังกล่าวนั้นขัดกับมาตรา 28 วรรค 26 ของรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุดได้ให้เหตุผลที่ศาลปกครองมีอำนาจในการวินิจฉัยเรื่องของ ก.ก.ต. เพราะ ก.ก.ต. เป็นองค์กรที่อยู่ในกำกับดูแลของรัฐบาลในความหมายอย่างกว้าง รัฐบาลในความหมายอย่างกว้างหมายถึง คณะรัฐมนตรีและรัฐสภา สาเหตุที่ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลดังกล่าว เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยวางหลักไว้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 24/2543 ว่า ก.ก.ต. ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา 276 ของรัฐธรรมนูญ เพราะ ก.ก.ต.ไม่อยู่ในบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของรัฐบาล ดังนั้น ก.ก.ต.จึงไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง

                   
       เมื่อศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยกลับคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางที่ 47/2544 ศาลปกครองกลางก็จะต้องดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปโดยให้ ก.ก.ต. เข้ามาในคดี ซึ่งต่อมา ก.ก.ต.ได้โต้แย้งเรื่องนี้เป็นกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ จึงได้เสนอเรื่องตามมาตรา 266 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยต่อไป

                   
       จากปัญหาดังกล่าวข้างต้นย่อมสะท้อนให้เห็นปัญหาในด้านหนึ่งนั้นเกี่ยวกับความผูกพันขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต่อสิทธิและเสรีภาพ ในอีกด้านหนึ่งสะท้อนปัญหาเรื่องผู้ถูกละเมิดสิทธิจะสามารถมีสิทธิเสนอเรื่องต่อองค์กรศาลที่มีเขตอำนาจในเรื่องนั้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 28 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะประเด็นปัญหาเรื่องความผูกพันขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ หากยอมรับว่าการวินิจฉัยขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งไปกระทบต่อสิทธิของบุคคลใดแล้วไม่อาจจะถูกตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายได้ ในกรณีนี้ก็ย่อมทำให้หลักความผูกพันต่อสิทธิและเสรีภาพขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในกรณีของการใช้และการตีความกฎหมายขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไม่มีอยู่หรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไม่ต้องถูกผูกพันต่อสิทธิและเสรีภาพแต่อย่างใด เพราะหลักความผูกพันต้องควบคู่ไปกับหลักความสามารถถูกตรวจสอบได้เสมอ การจะตีความให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไม่ต้องผูกพันต่อสิทธิและเสรีภาพตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญที่จะสามารถยอมรับได้ อาจเกิดขึ้นได้กรณีเดียวโดยการบัญญัติของรัฐธรรมนูญไว้เป็นการเฉพาะว่า คำวินิจฉัยขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญนั้น ๆ ไม่อาจถูกควบคุมตรวจสอบได้ โดยองค์กรศาลซึ่งย่อมหมายความว่า คำวินิจฉัยขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาดและความผูกพันต่อสิทธิและเสรีภาพในกรณีนี้จึงเป็นความผูกพันต่อสิทธิและเสรีภาพในลักษณะของการควบคุมตนเองเท่านั้น แต่เมื่อตรวจสอบบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ปรากฏว่ามีมาตราใดบัญญัติให้คำวินิจฉัยขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาดหรือห้ามมิให้องค์กรศาลเข้ามาควบคุมตรวจสอบ เมื่อไม่มีบทมาตราเฉพาะที่จะตีความยกเว้นหลักความผูกพันตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญได้ กรณีจึงต้องตีความว่าการวินิจฉัยขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายที่ไปกระทบสิทธิของบุคคลย่อมถูกโต้แย้งมายังองค์กรศาลที่มีเขตอำนาจในเรื่องนั้นได้ การตีความรัฐธรรมนูญไม่อาจอาศัยเจตนารมณ์มาทำลายหลักการที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรได้ และหลักการในเรื่องดังกล่าวยังเป็นพื้นฐานสำคัญของหลักนิติรัฐ เมื่อหลักการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 มาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญเป็นพื้นฐานสำคัญของหลักนิติรัฐที่ปรากฏชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร การตีความรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจตีความไปในทิศทางอื่นได้

                   
       ประเด็นปัญหานี้เป็นประเด็นที่รอผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยปัญหาโดยเคารพหลักการพื้นฐานของหลักนิติรัฐหรือไม่ กล่าวคือ ยอมรับการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่เป็นอิสระจากอำนาจของฝ่ายบริหาร ในขณะเดียวกันก็ยอมรับหลักในการคุ้มครองสิทธิของบุคคลด้วยการยอมรับหลักการใดหลักการหนึ่ง โดยเพิกเฉยต่ออีกหลักการหนึ่ง กรณีย่อมไม่อาจจะกล่าวได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ในการพิทักษ์หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ อันเป็นภาระหน้าที่หลักของศาลรัฐธรรมนูญได้
       
       3. ปัญหาการใช้สิทธิทางศาลหรือยกเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลในกรณีที่บุคคลถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ (มาตรา 28 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ)
       

                   
       ปัญหาจากมาตรา 28 วรรค 27 นี้มีปัญหาข้อพิจารณาดังนี้ 3.1 องค์กรที่อาจละมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้มีขอบเขตเพียงใด 3.2 ปัญหาการละเมิดสิทธิจากการกระทำขององค์กรบางองค์กรไม่มีความชัดเจนว่าจะโต้แย้งได้หรือไม่ หรือสามารถจะโต้แย้งได้ต่อองค์กรใด
       
       

                   
       3.1 องค์กรที่อาจละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้มีขอบเขตเพียงใด

                   
       การตีความขอบเขตขององค์กรที่อาจละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้น คงจะต้องตีความให้สอดคล้องกับมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ องค์กรของรัฐทั้งหลายย่อมกระทำการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้ทั้งสิ้น กล่าวคือถ้าเป็นการละเมิดหรือเสรีภาพโดยบัญญัติแห่งกฎหมายขององค์กรนิติบัญญัติก็สามารถโต้แย้งได้โดยอาศัยมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญ โดยทำการฟ้องร้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจในเรื่องนั้นและโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นขัดกับกฎหมาย ในกรณีของอำนาจฝ่ายบริหาร หากเป็นการออก "กฎ" ก็สามารถโต้แย้งต่อศาลปกครองได้ หรือหากกรณีที่เป็นการกระทำในทางปกครองก็สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ ในกรณีของอำนาจตุลาการในกรณีที่เป็นคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นก็อาจกระทำได้โดยการอุทธรณ์ไปยังศาลสูง แต่กรณีที่เป็นปัญหานั้นมีปัญหากรณีของศาลสูงสุดของศาลนั้น ๆ หากวินิจฉัยแล้ว ผู้ถูกกระทบสิทธิยังเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิของตนในกรณีนี้ไม่สามารถที่จะเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นและอีกปัญหาหนึ่งในเรื่องขององค์กร ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นเช่นกัน ในกรณีขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายจะอยู่ในขอบเขตขององค์กรที่จะละเมิดสิทธิของบุคคล และอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบโดยองค์กรศาลได้หรือ ซึ่งได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ดังนั้นปัญหาเรื่ององค์กรที่ผูกพันต่อสิทธิและเสรีภาพ จึงสัมพันธ์กับสิทธิของผู้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ ตามมาตรา 28 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ

                   
       3.2 ปัญหากากรละเมิดสิทธิจากการกระทำขององค์กรบางองค์กรไม่มีความชัดเจนว่าจะโต้แย้งได้หรือไม่ หรือสามารถจะโต้แย้งได้ต่อองค์กรใด

                   
       ซึ่งในที่นี้อาจแยกพิจารณาการกระทำขององค์กรต่าง ๆ ออกเป็น 2 ลักษณะคือการกระทำในรูปของ "กฎ" และการกระทำในรูปของคำสั่งต่าง ๆ

                   
       (1) การกระทำในรูปของ "กฎ" อาจแยกการกระทำในรูปของ "กฎ" ที่เป็นปัญหาออกได้เป็น 2 กลุ่มดังนี้ คือ

                   
       ก. กฎหรือระเบียบที่ออกโดยองค์กรตุลาการซึ่งยังอาจแยกลักษณะออกได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือระเบียบในการกำหนดเรื่องวิธีพิจารณา เช่น ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาทั้งหลาย ประเภทที่สอง คือการออกระเบียบทั้งหลายขององค์กรตุลาการในการดำเนินการตามกฎหมายต่าง ๆ เช่น ระเบียบของ ก.ต. ตามที่กำหนดให้เป็นไปตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 เป็นต้น ระเบียบขององค์กรตุลาการดังกล่าวจะอยู่ในความหมายของ "กฎ" ในความหมายของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 หรือไม่ ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าอย่างน้อยที่สุดระเบียบที่ไม่ใช่ระเบียบในเรื่องวิธีพิจารณาคดี ย่อมอยู่ในความหมายของ "กฎ" ตามกฎหมายศาลปกครอง เพราะกรณีดังกล่าวเป็นการออกระเบียบตามนัยของ "หน่วยงานทางปกครอง" ซึ่งย่อมอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครองได้แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อน่าพิจารณาต่อไปว่า

                   
       - ระเบียบของ ก.ต. ดังกล่าวอาจจะอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นตามมาตรา 9 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ เพราะ 9 วรรคสอง (2) บัญญัติว่า"การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ" ซึ่งย่อมรวมถึงการกระทำของ ก.ต. ทั้งหมดตามกฎหมายดังกล่าว กรณีจึงเกิดปัญหาว่าความชอบด้วยกฎหมายของระเบียบดังกล่าวจะมอบหมายให้องค์กรใดตรวจสอบ

                   
       - ระเบียบต่าง ๆ ของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(ก.ศป.) กรณีที่มีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย จะมอบหมายให้ศาลปกครองเป็นผู้ตรวจสอบจะเป็นการเหมาะสมหรือไม่ เพราะเป็นระเบียบที่ออกโดยองค์กรที่เป็นส่วนหนึ่งของศาลปกครองเอง หลักเรื่องความเป็นกลางในแง่ขององค์กรจะมีผลต่อการพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่

                   
       สำหรับระเบียบของศาลที่กำหนดรายละเอียดในเรื่องวิธีพิจารณาของศาลนั้น ๆ จึงมีประเด็นคำถามว่าระเบียบต่าง ๆ ดังกล่าวอยู่ภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากอยู่ภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมาย องค์กรใดจะเป็นองค์กรที่เข้ามาควบคุมตรวจสอบระเบียบที่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีของศาลทั้งหลาย

                   
       ข. กฎหรือระเบียบที่ออกโดยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ปัญหาว่า "กฎหรือระเบียบ" ที่ออกโดยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญวางหลักไว้ในคำวินิจของศาลรัฐธรรมนูญว่าหากเป็นระเบียบขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่เสนอมาตามมาตรา 1988 ของรัฐธรรมนูญ ย่อมอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ(คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 24/2543) แต่หากเป็นระเบียบขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่เสนอมาตามมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญย่อมไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ(คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 25/2543) จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองเรื่อง จึงไม่อาจสรุปเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปได้ว่า ระเบียบขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด จะต้องดูว่าอาศัยบทอำนาจตามมาตราใดในการเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรณีไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น

                   
       (2) การกระทำในรูปของ "คำสั่ง" ต่าง ๆ ขององค์กรที่อยู่ในฝ่ายตุลาการเช่น ก.ต. ก็ดี หรือ ก.ศป. ก็ดี เช่น กรณีคำสั่งของ ก.ต. ที่ไม่รับสมัครผู้สมัครสอบตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา(ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 16/2544) หรือคำสั่งของก.ศป. ในเรื่องการสมัครสอบเป็นตุลาการในศาลปกครอง กรณีเช่นนี้จะให้องค์กรใดตรวจสอบ โดยมีข้อพิจารณาดังนี้

                   
       ก. กรณีของคำสั่งของ ก.ต. ซึ่งย่อมไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ทั้งนี้ ตามมาตรา 9 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ เมื่อคำสั่งทางปกครองที่ออกโดย ก.ต.ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของ ก.ต. จึงมีปัญหาจะให้องค์กรใดเป็นผู้มีอำนาจในการตรวจสอบ

                   
       ข. กรณีของคำสั่งของ ก.ศป. ซึ่งย่อมอยู่ในอำนาจของศาลปกครองแต่ทั้งนี้มีปัญหาว่า จะให้องค์กรนั้น ๆ เองตรวจสอบคำสั่งที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรของตนจะเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด ความใกล้ชิดระหว่างผู้ออกคำสั่งกับผู้ตรวจสอบคำสั่งยิ่งมีความใกล้ชิดมากขึ้น


       
       

[อ่านต่อตอนที่ 2]


       
       


       
เชิงอรรถ


       
                   
       * บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง "สิทธิเสรีภาพ" โครงการวิจัยทางวิชาการนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2544
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       ** นบ., นบท., นม. (มหาชน), LL.M., Dr.(jur) อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       1. บรรเจิด สิงคะเนติ, หลักพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญใหม่, วิญญูชน 2543, น. 50.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       2. หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2511) เรียงมาตราและคำอธิบายรัฐธรรมนูญทั่วไปโดยย่อ, พระนคร : กรุงสยามการพิมพ์, 2511 น. 130 ดู วิษณุ เครืองาม
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       3. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2544
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       4. มาตรา 29 การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้

                   
       กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปและไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       5. รายละเอียดโปรดดู บรรเจิด สิงคะเนติ, ปัญหาขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ, วารสารวิชาการศาลปกครอง ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 (กันยายน - ธันวาคม 2544) น. 1-49.
       
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       6. มาตรา 28 ฯลฯ
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       7. บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       8. มาตรา 198 ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดของบุคคลใดตามมาตรา 197 (1) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาล รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลปกครองแล้วแต่กรณี

                   
       ให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง แล้วแต่กรณี พิจารณาวินิจฉัยเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอตามวรรคหนึ่งโดยไม่ชักช้า
       
[กลับไปที่บทความ]


       
       


       
       



       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546


       




 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544