หน้าแรก บทความสาระ
พัฒนาการสิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆของฝรั่งเศส
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์
28 ธันวาคม 2547 11:39 น.
 

       
            
        ความนำ

                   
        บทความดังกล่าวมุ่งเน้นให้เห็นสภาพการรับรองสิทธิเสรีภาพในฝรั่งเศสหลังจากการปฏิวัติครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1789 ภาวะบ้านเมืองก่อนปี ค.ศ.1789 นั้นกล่าวได้ว่าประชาชนได้รับความกดขี่ข่มเหงจากการปกครองในระบบเก่าเป็นอย่างมาก การรับรองสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชนนั้นจึงแทบไม่ต้องกล่าวถึง ทันทีที่ปฏิวัติสำเร็จก็ได้มีการตรา คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ.1789 ออกใช้เพื่อรับรองสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน และหลังจากนั้นเป็นต้นมาประวัติศาสตร์ทางการเมืองและทางรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสในส่วนที่เกี่ยวกับการรับรองสิทธิเสรีภาพแก่พลเมืองฝรั่งเศสนั้นก็เกี่ยวเนื่องกับหลักการที่ปรากฏอยู่ในคำประกาศนี้ไม่มากก็น้อยตามสถานการณ์ของสังคมและของบ้านเมืองแต่ละยุคของฝรั่งเศสตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นในบทความนี้จึงศึกษาความเกี่ยวเนื่องของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสกับการรับรองสิทธิเสรีภาพตั้งแต่ฉบับแรกจนมาถึงฉบับปัจจุบัน


                   
       รัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 3 กันยายน ค.ศ.1791 รัฐธรรมนูญฉบับแรกของฝรั่งเศส

                   
        รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีการนำบทบัญญัติของคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองค.ศ.1789 มาลงอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการรับรองสิทธิมนุษยชนทั้ง 17 มาตรา ของคำประกาศดังกล่าว แต่ในความเป็นจริงแล้วก็มิได้เป็นอย่างที่คาดหวังไว้คนในระดับล่างของสังคมไม่มีสิทธิจะเลือกผู้แทน ทั้งๆที่รับรองว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ สิทธิในการเลือกตั้งไปตกได้แก่ชนชั้นบูรชัวร์ ต่อมาระบบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถึงกาลสิ้นสุดลง ได้มีการก่อตั้ง "คอมมูนที่เป็นปฏิปักษ์" ขึ้นและทำการหยุดใช้รัฐธรรมนูญ โดยมีการตั้งสภาคอนเวนชั่นขึ้น สภาดังกล่าวมีมติล้มเลิกระบบกษัตริย์และเปลี่ยนแปลงจากราชอาณาจักรมาเป็นสาธารณรัฐ และทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป


                   
       รัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 24 มิถุยายน ค.ศ.1793 รัฐธรรมนูญฉบับมองตาญยาร์ด

                   
        รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปลี่ยนอำนาจอธิปไตยของชาติมาเป็นของประชาชน มีการคัดลอกคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ.1789 มาทั้งฉบับ การเลือกตั้งถือว่าเป็นสิทธิ ผู้แทนของประชาชนมาจากการเลือกตั้งทั่วไปทางตรง มีการรับรองในเรื่อง เสมอภาค เสรีภาพ ความมั่นคงของชีวิตและสิทธิในทรัพย์สิน สังเกตได้ว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้นำความเสมอภาคมาก่อนเสรีภาพ2โดยเห็นว่าทุกคนมีความเสมอภาคตามธรรมชาติและตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ยังมีกลไกในการลงประชามติอีกด้วยและนอกจากนี้มีการบัญญัติถึง พันธะทางสังคมที่รัฐจะต้องดูแลและช่วยเหลือประชาชนเป็นครั้งแรกด้วย รัฐธรรมนูญฉบับนี้เน้นไปในทางด้านการปกครองแบบมารก์ซิสและตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าประชาชนต้องมีความรู้ทางการเมืองด้วยซึ่งในยุคนั้นแล้วดูห่างไกลความเป็นจริงมากๆเพราะประชาชนกว่าครึ่งหนึ่งของยุคนั้นไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้ และภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวจึงมองไม่เห็นเลยว่าประชาชนฝรั่งเศสยุคนั้นจะทำการลงประชามติได้อย่างไร หลักการในรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ดีแต่ยากที่จะใช้ได้ในความเป็นจริง ผลที่ตามมาก็คือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เคยได้รับการประกาศใช้อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ทั้งภายในและภายนอกของบ้านเมืองในยุคนั้นทำให้สภาคอนเวนชั่นต้องประกาศเลื่อนการใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวออกไป โดยมีการก่อตั้งรัฐบาลปฏิวัติขึ้นและมีการตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยมหาชน มีการยกเลิกสิทธิเสรีภาพต่างๆและเริ่มต้นยุคแห่งความหวาดกลัวหรือยุคแห่งกิโยตินขึ้นโดยมีผู้นำที่ชื่อ โรเบสปิแอร์ ดังนั้นในยุคนี้ไม่มีการพูดถึงสิทธิเสรีภาพเพราะเป็นยุคแห่งการใช้อำนาจเผด็จการ อำนาจเถื่อนเพื่อสังหารนักการเมืองที่มีความเห็นเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายปฏิวัติ แต่ในที่สุดยุคดังกล่าวก็สิ้นสุดลงด้วยสภาคอนเวนชั่นล้มอำนาจของโรเบสปิแอร์โดยการจับโรเบสปิแอร์ขึ้นสู่กิโยติน และหลังจากนั้นสภาคอนเวนชั่นได้จัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป


                   
       รัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ.1795

                   
        รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการร่างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ต้องการขัดขวางการกลับคืนไปสู่ยุคแห่งความหวาดกลัวอีกและด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงปฏิเสธที่จะร่างรัฐธรรมนูญแนวความคิดของรุสโซ3และพยายามตามแนวทางของมองเตสกิเออร์ในเรื่องของการแบ่งแยกอำนาจ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความยืดยาวและชัดเจนมาก เริ่มด้วยมีคำประกาศรับรองสิทธิและในขณะเดียวกันรับรองถึงหน้าที่ของประชาชนอีกด้วย กล่าวโดยนัยคือประชาชนมีทั้งสิทธิและหน้าที่ ในขณะที่รัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้นมีคำประกาศรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น ในคำประกาศที่อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทิ้งแนวความคิดการเลือกตั้งทั่วไป ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้4 เช่นมีรายได้และการจ่ายภาษีให้แก่รัฐตามเกณฑ์ที่รัฐกำหนดจึงจะมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ถึงแม้จะมีการรับรองสิทธิเสรีภาพไว้แต่ก็เป็นการรับรองที่ดูค่อนข้างแห้งแล้ง โดยเฉพาะบทบัญญัติที่ต้องมีก็ปรากฏว่าไม่มี5 เช่น ทุกคนเกิดมามีเสรีภาพและเท่าเทียมกันโดยกฎหมาย ไม่มีการกล่าวถึงสิทธิในการทำงาน สิทธิในการได้รับการช่วยเหลือ สิทธิในการศึกษา เสรีภาพทางความคิด เสรีภาพของสื่อสิ่งพิมพ์ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้รับการบัญญัติไว้ในคำประกาศแต่ไปปรากฏอยู่ในหมวดที่ 14 ของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ก็มีบทบัญญัติที่กล่าวถึงหน้าที่ของพลเมืองไว้ถึง 9 มาตราด้วยกัน ในความเป็นจริงมีการขัดแย้งกันอย่างมากระหว่างองค์กรของรัฐบาลด้วยกันเอง มีการรัฐประหารถึง 4 ครั้งด้วยกันและในครั้งสุดท้าย นโปเลียน โบโนปาร์ตก็ทำหารยึดอำนาจใช้ระบบการปกครองชั่วคราวขึ้นมาที่เรียกว่า Consulat และได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กันต่อไป


                   
       รัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ.1799 รัฐธรรมนูญฉบับนโปเลียน

                   
        รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับแนวคิดอิทธิพลจากนโปเลียนเป็นอย่างมากซึ่งมีอิทธิพลอยู่เหนือผู้ร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะเหนือซีเอเย่ส์ โดยภาพรวมรัฐธรรมนูญมีลักษณะที่สั้นและไม่ชัดเจน ไม่มีคำประกาศรับรองสิทธิอะไรใดๆทั้งสิ้น มีแต่เพียงบางมาตราในหมวดที่ 7 ที่รับประกันถึง การละเมิดมิได้ในเคหะสถาน เสรีภาพของปัจเจกชน สิทธิในการร้องทุกข์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติที่กล่าวถึง การรับประกันการเพิกถอนมิได้ในการขายทรัพย์สินของชาติและการคงไว้ซึ่งบทบัญญัติต่อต้านผู้อพยพ มีข้อสังเกตได้ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีที่ใดที่กล่าวถึง เสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพไว้เลย ผลก็คือมีการค้าทาสเกิดขึ้นในดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสในปี ค.ศ.18026 รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการแก้ไขถึงสามครั้งด้วยกันในปี ค.ศ.1802 1804และ1815 โดยสองครั้งแรกเป็นการแก้ไขเพื่อเพิ่มพูนอำนาจให้แก่นโปเลียนและส่วนการแก้ไขครั้งหลังเป็นการแก้ไขเพื่อฟื้นฟูอำนาจตามคำขอของนโปเลียนเพราะเป็นช่วงที่นโปเลียนอยู่ในภาวะตกต่ำแล้ว7


                   
       รัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ.1814

                   
        ในยุคดังกล่าวได้มีการรื้อฟื้นการปกครองแบบมีกษัตริย์กลับมาอีกครั้งโดยกำหนดให้มีการจำกัดอำนาจกษัตริย์ลงที่เรียกกันว่า la monarchie limitée โดยมีพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ.1815 และด้วยเหตุดังกล่าว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ใช้คำว่า Constitution แต่ใช้คำว่าCharteแทน โดยเห็นว่า การใช้คำ Constitution นั้นดูเป็นแนวคิดหรือรากเหง้าแห่งการปฏิวัติที่ยังมีร่องรอยเหลืออยู่มากจนเกินไป8 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการผสมผสานและรอมชอมกันระหว่างฝ่ายกษัตริย์กับฝ่ายปฏิวัติ เช่นมีการรับประกันความเสมอภาคโดยกฎหมาย ความเสมอภาคในการเสียภาษี ความเสมอภาคในการทำงาน เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพของสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น แต่ถึงกระนั้นก็ตามในคำปรารภของรัฐธรรมนูญเน้นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับพระราชทานโดยพระมหากษัตริย์9 ก็แสดงว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็นของชาติหรือของประชาชนดังรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆนั้น โดยภาพรวมแล้วรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่เป็นแนวเสรีนิยมแม้ว่าจะมีการรับรองถึงสิทธิเสรีภาพไว้ก็ตามก็มีเพียง 7 มาตรา เท่านั้นแต่อย่างไรก็ตามมีผู้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดูเป็นเสรีนิยมมากกว่ารัฐธรรมนูญปี 1799 และมีเหตุมีผลในทางปฏิบัติมากกว่ารัฐธรรมนูญปี 1791เสียอีก


                   
       รัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ.1830

                   
        หลังจากการสวรรคตของพระเจ้าหลุยส์ที่18แล้วพระเจ้าชารส์ที่10ก็เสวยราชย์ต่อมาในปี 1824และได้มีการขัดแย้งทางการเมืองกันขึ้นหลังการเลือกตั้งในปี1827ที่ฝ่ายเสรีนิยมเป็นฝ่ายที่มีเสียงข้างมากในสภา ในวันที่25เดือนมิถุนายนปีค.ศ.1830ก็ได้มีการเลือกตั้งอีกผลปรากฎว่าฝ่ายเสรีนิยมมีเสียงข้างมากในสภาเช่นเดิมทำให้พระเจ้าชารส์ที่10ทรงเห็นว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นปฎิปักษ์กับการดำเนินการทางการเมืองของพระองค์ๆจึงตัดสินใจยกเลิกการเลือกตั้งและเสรีภาพในการพิมพ์ ยุบสภาผู้แทนราษฎร การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดฉนวนของความไม่พอใจแก่ชาวปารีสเป็นอย่างมากในช่วงวันที่27-29ของเดือนมิถุนายน1830 ผลที่สุดพระเจ้าชารส์สละราชบัลลังก์ในวันที่ 2 ของเดือนถัดมา เหตุการณ์ดังต่อมาภายหลังรู้จักกันในนามของ "การปฏิวัติปี1830" แต่อย่างไรก็ตามหลังเหตุการณ์นี้ฝ่ายผู้แทนราษฎรกลัวว่าจะมีการนำระบบสาธารณรัฐประชาธิปไตยมาใช้จึงได้มีการเชิญดุคเดอลอริอองมาเป็นกษัตริย์โดยชื่อว่าพระเจ้าหลุยส์ฟิลิปส์อยู่ภายใต้การปกครองแบบปริมิตาญาธิปไตยซึ่งชาวฝรั่งเศสเรียกยุคดังกล่าวว่ายุค Monarchie de Juillet และได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นในปี 1830 รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติและได้พยายามแก้ไขข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญปี 1814 สังเกตเห็นได้จาก 6 มาตราแรกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เลียนคำต่อคำจากรัฐธรรมนูญปี 1814 แต่ในมาตรา 7 ปรากฎว่าได้ให้หลักประกันกับสิทธิเสรีภาพของสื่อสิ่งพิมพ์ว่าจะไม่มีมาตราการเซนเซ่อร์ดังที่ได้มีมาตราการดังกล่าวในมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญปี 1814 และนอกจากนี้ในมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้ประณามการตรวจสอบติดตามและการจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อพิจารณาคดีหนึ่งคดีใดเป็นกรณีพิเศษ ในคำปรารภได้เปลี่ยนเป็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้รับพระราชทานมาจากกษัตริย์แต่ได้รับการยอมรับจากพระมหากษัตริย์แทนหลังจากที่ได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองสภาแล้ว10 อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าอำนาจอธิปไตยนั้นมาจากผู้แทนของชาติ แต่อย่างไรก็ตามเสรีภาพในการประชุมและการรวมตัวเป็นสมาคมก็ไม่ได้รับการรับรองดังเช่นรัฐธรรมนูญปี 1814 โดยสร้างเงื่อนไขว่าต้องได้รับการอนุญาตตามกฎหมายอาญาปี 1810 เสียก่อนและในปี 1834 ก็ได้มีการตรารัฐบัญญัติลงวันที่ 10เมษายน 1834 จำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อสิ่งพิมพ์ที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญโดยกำหนดมาตราการเซนเซ่อร์ นอกจากนี้มีการเพิ่มขึ้นของระบบอุตสาหกรรม ชนชั้นกรรมาชีพก็เพิ่มขึ้นแต่ระบบการเลือกตั้งโดยพิจารณาจากคุณสมบัติของบุคคลยังคงมีอยู่ซึ่งทำให้ชนชั้นกรรมาชีพไม่มีสิทธิดังกล่าวและยังได้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเดินทางของกลุ่มบุคคลดังกล่าวอีกด้วยและในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1848 พวกปฏิวัติได้ก่อการปฏิวัติขึ้นอันเนื่องมาจากการให้มีการยอมรับกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น การปฏิวัติครั้งนี้เป็นการปิดฉากยุคMonarchie de Juillet


                   
       รัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ.1848

                   
        การปฏิวัติปี 1848 ปิดฉากยุค Monarchie de Juilletและพวกปฏิวัติได้สถาปนา"รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐ" ขึ้นและได้นำระบบการออกเสียงเลือกตั้งทางตรงle suffrage universel direct มาใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันที่ 23 เมษายน 1848 หลังจากนั้นได้มีการประกาศรับรองสิทธิในการทำงาน ยกเลิกการค้าทาส และให้สิทธิเสรีภาพในการพิมพ์และการชุมนุม อย่างไรก็ตามวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและทางสังคมยังไม่ได้รับการแก้ไขอยู่ดีดังนั้นในเดือนมิถุนายนในปีเดียวกันได้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นและหลังจากมีการปราบปรามพวกก่อการไม่สงบแล้วก็ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 1848อันเป็นการเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐที่ 2 รัฐธรรมนูญฉบับปี 1848 ได้ฟื้นฟูหลักการที่ปรากฏอยู่ในคำประกาศปี 1789 และรัฐธรรมนูญปี 1791 อำนาจอธิปไตยเป็นของชาติได้รับการนำกลับมาบัญญัติอีกครั้ง การแบ่งแยกอำนาจคือเงื่อนไขอันแรกของการปกครองที่เป็นอิสระ ทฤษฎีของกฎหมายธรรมชาติสมัยใหม่ก็ได้รับการยอมรับโดยปรากฏในคำปรารภของรัฐธรรมนูญว่า สาธารณรัฐฝรั่งเศส…ได้ตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ที่มีมาแต่ก่อนและอยู่เหนือกฎหมายฝ่ายบ้านเมือง…แสดงให้เห็นถึงมีการยอมรับสิทธิตามธรรมชาติ11 ในหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ มีทั้งหมด 16 มาตรา ซึ่งยืนยันถึงคำประกาศในปี 1789 และในปี 1791อย่างไม่มีข้อยกเว้น เช่น สิทธิในความมั่นคง สิทธิในการละเมิดมิได้ในที่อยู่อาศัย เสรีภาพในความเชื่อ เสรีภาพในการประชุม เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในสื่อสิ่งพิมพ์ ความเสมอภาคในทางกฎหมาย กรรมสิทธิ์ เสรีภาพในการค้าและในอุตสาหกรรม สิทธิในการต่อต้านการกดขี่ข่มเหง เป็นต้น

                   
        ในคำปรารภได้เน้นให้เห็นถึงภาระหน้าที่ของรัฐหรือของสังคมที่ต้องรับผิดชอบต่อพลเมืองแต่ละคนด้วยโดยรัฐจะต้องให้หลักประกันการแบ่งสรรภาระและผลประโยชน์ของสังคมให้มีความเป็นธรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพิ่มความมั่งคั่งให้แต่ละคน…และทำให้พลเมืองแต่ละคนมีคติธรรม ความฉลาด ความผาสุกอยู่ในขั้นสูงสุด… นอกจากนี้รัฐยังต้องให้หลักประกันแก่ประชาชนที่มีความยากแค้นโดยมีการจัดหางานให้ทำโดยมีข้อจำกัดของรายได้และต้องให้ความช่วยเหลือแก่พลเมืองที่ไร้ครอบครัวและที่ไม่อยู่ในภาวะที่จะประกอบการงานได้12 จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นได้ว่ารัฐมีภาระและหน้าที่ต่อพลเมืองของรัฐ อย่างไรก็ตามบทบัญญัติดังกล่าวก็พยายามที่จะไม่ให้รัฐรับภาระมากจนเกินไปจึงได้มีการวางเงื่อนไขไว้ เช่น ในเรื่องข้อจำกัดของรายได้ ในเรื่องต้องเป็นบุคคลที่ไร้ครอบครัว

                   
        นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีแนวความคิดปัจเจกชนนิยมที่แผ่วเบามากเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญที่มีมาก่อนหน้านั้น โดยสังเกตเห็นได้ว่าจากคำปรารภที่รัฐต้องให้หลักประกันแก่พลเมืองของรัฐทุกๆคนอันถือว่าเป็นวัตถุประสงค์ทางสังคมมากกว่าถือเป็นวัตถุประสงค์ของปัจเจกชน และยังเห็นได้จากมาตรา 8 ที่บัญญัติรับรองเสรีภาพทางสมาคม และมาตรา 13 ที่บัญญัติรับรองความเสมอภาคระหว่างนายจ้างกับชนชั้นกรรมาชีพ เป็นต้น

                   
        โดยภาพรวมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สนองเจตนารมณ์ของพลเมืองในการรับรองสิทธิเสรีภาพได้ดีฉบับหนึ่งและในระยะเวลาช่วงหนึ่งแต่ก็อยู่ได้ไม่นานเพราะหลักจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญดังกล่าวได้ 1 ปี ชนชั้นบูรชัวร์ได้เข้ามามีอิทธิพลในสภานิติบัญญัติและตั้งแต่นั้นมา เสรีภาพทางสมาคมได้ถูกยกเลิกโดยรัฐบัญญัติลงวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ.1849 เสรีภาพของสื่อสิ่งพิมพ์ก็ได้รับผลกระทบทำให้ใช้เสรีภาพดังกล่าวไม่ได้อย่างเต็มที่โดยรัฐบัญญัติลงวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ.1850

                   
        ในปี ค.ศ. 1851 หลุยส์ นโปเลียน โบนาปารต์ต้องการขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งซึ่งกำหนดไว้เพียง4ปีออกไปอีกดังนั้นจึงได้เสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ปรากฏว่าไม่ได้รับการสนองตอบหนทางสุดท้ายก็คือก่อการรัฐประหารโดยการอ้างเหตุผลว่าสภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิเสธที่จะยกเลิกกฎหมายเลือกตั้ง ปี ค.ศ.1850และยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยออกรัฐกฤษฎีกาในวันที่ 2 ธันวาคม1851 พร้อมกันนั้นได้ยกเลิกกฎหมายเลือกตั้งปี ค.ศ.1850และได้หารือประชาชนโดยการลงประชามติอันเป็นการปิดฉากยุคสาธารณรัฐที่ 2 และได้เริ่มยุคอาณาจักรที่ 2 ในต้นปี ค.ศ.185213


                   
       รัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 14 มกราคม ค.ศ.1852

                   
        การก่อรัฐประหารในปี 1851นอกจากจะเป็นการปิดฉากยุคสาธารณรัฐที่ 2 และเป็นการเริ่มต้นยุคอาณาจักรที่ 2 แล้วได้ก่อให้เกิดมีการมีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญและมีการเสนอให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติในวันที่ 21 ธันวาคม 1851 และได้ประกาศใช้ในวันที่ 14 มกราคม 1852 ในมาตราแรกของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองถึงหลักการใหญ่ๆที่ประกาศไว้ในปี 1789และเป็นพื้นฐานของกฎหมายมหาชนของชาวฝรั่งเศส และนอกจากนี้วุฒิสภามีหน้าที่ปกปักรักษาพันธสัญญาพื้นฐานที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพนอกจากนี้วุฒิสภายังมีอำนาจที่คัดค้านการประกาศใช้กฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาสนา ศีลธรรม เสรีภาพทางความเชื่อ เสรีภาพส่วนบุคคล ความเสมอภาคทางกฎหมายของพลเมือง การละเมิดมิได้ทางกรรมสิทธิ์ ถึงแม้จะมีการรับรองที่ดูดีแต่ในความเป็นจริงแล้วอำนาจทุกอย่างอยู่ในมือของหลุยส์ นโปเลียน โบโนปาร์ต วุฒิสภามาจากพวกขุนนางที่ได้รับการแต่งตั้งโดยหลุยส์ นโปเลียน โบโนปาร์ต และในความเป็นจริงแล้วสิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ได้รับการรับประกันอย่างแท้จริง ในความเป็นจริงแล้วหลุยส์ นโปเลียน โบนาปาร์ตกุมอำนาจอยู่แต่เพียงผู้เดียว สิบเดือนให้หลังจากการได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐ หลุยส์ นโปเลียน โบนาปาร์ตก็แทนสาธารณรัฐ le republicain ด้วยอาณาจักร un empireต่อมาได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิของฝรั่งเศสในพระนามพระเจ้านโปเลียนที่ 3ในปี ค.ศ.1852 อย่างไรก็ตามการปกครองภายใต้ระบบจักรวรรดิ์ดังกล่าวหาได้ราบรื่นไม่ และเหตุการณ์การยอมจำนนของพระเจ้านโปเลียนที่ 3ที่เมืองซีดานSedanในวันที่2 กันยายน 1870 ต่อประเทศปรัสเซียนี้เองที่ทำให้การปกครองแบบอาณาจักรได้สิ้นสุดลงพร้อมกับพระเจ้านโปเลียนที่ 3 อดีตจักรพรรดิได้ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษและได้สิ้นพระชนม์ในปีค.ศ.1873


                   
       รัฐธรรมนูญ ค.ศ.1875

                   
        หลังจาการล่มสลายของอาณาจักรและการลี้ภัยของพระเจ้านโปเลียนแล้ว การปกครองในระบอบสาธารณรัฐก็ได้กลับหวนคืนมาอีกครั้งแต่ก็ยังไม่เด่นชัดอันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุคนั้นจนกว่าจะถึงปีค.ศ.1875เป็นต้นไป ในช่วงปี ค.ศ.1871-1875 นั้นอำนาจทุกอย่างตกอยู่ในมือของรัฐสภาและในช่วงดังกล่าวนี้เองระบบการเมืองก็ยังไม่ลงตัวแน่นอนความไม่แน่นอนดังกล่าวนี้กินเวลาถึงสี่ปี ในช่วงปี ค.ศ.1871-1873นั้นทางรัฐสภาได้มอบหมายให้นายThiersเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารโดยได้ทำข้อตกลงกันระหว่างThiersกับรัฐสภาในการบริหารประเทศข้อตกลงดังกล่าวเรียกว่า ข้อตกลงบอร์โดซ์ (Pacte de Bordeaux) ในช่วงการปกครองภายใต้ของThiers นั้นมีแต่ความตึงเครียดโดยเฉพาะระหว่างรัฐสภากับThiersซึ่งได้ปฏิเสธที่จะถอดถอนรัฐมนตรีและได้พยายามรวมศูนย์อำนาจมาที่ตนเองในที่สุดThiersก็ต้องปิดฉากชีวิตการเมืองของตนเองอันเกิดจากการล้มล้างของBroglieตามวิถีทางของรัฐสภาและได้เลือกนายพล Mac Mahonมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเฉพาะกาลหรือชั่วคราวแทนในช่วง ค.ศ.1873-1875 อย่างไรก็ตามในช่วงระยะเวลาดังกล่าวทางรัฐสภาก็ยังไม่สามารถว่าจะเลือกระบบการเมืองแบบใดมาใช้กับประเทศในขณะนั้นในที่สุดนายWallonzผู้แทนราษฎรและศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยSorbonneได้เสนอบทแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเสนอให้ใช้ระบบรัฐสภาแก่สาธารณรัฐโดยเสนอว่า"ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐได้มาจากการเลือกตั้งเสียงข้างมากเด็ดขาดจากสภาสูงและสภาล่างร่วมกันในรัฐสภา" และจากการเสนอของนายWallonนี่เองที่ทำให้ได้รับการยกย่องให้เป็น"บิดาแห่งสาธารณรัฐ"ของฝรั่งเศส นับแต่การเสนอของนายWallonเป็นต้นมาก็ได้มีการยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อันประกอบไปด้วยกฎหมาย3ฉบับซึ่งมีเนื้อหาสั้นมากรวมกันได้ทั้งหมด 34 มาตรา ไม่มีคำประกาศรับรองสิทธิเสรีภาพ ไม่มีการกล่าวถึงคำประกาศปี 1789 ไม่มีหลักการแล้วก็แก้ไขได้ง่ายแต่ที่แปลกก็คือรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ใช้มาถึง 55 ปี ดังนั้นสิทธิเสรีภาพจึงขึ้นอยู่กับพัฒนาการของระบบการปกครอง

                   
        ในยุคนั้นเองเป็นหลัก ในปี 1876 เสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติเป็นพวกริพลับบิกันและถัดมาในปี 1879 ก็กุมเสียงข้างมากในวุฒิสภา Mac-Mahon ประธานาธิบดีพยายามประคับประคองตนเองในท่ามกลางฝ่ายนิยมสาธารณรัฐในรัฐสภาและในที่สุดในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ.1879ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี รัฐสภาได้เลือกตั้งนาย JulesGrevy ดำรงตำแหน่งแทน การกลับมาสู่ยุคสาธารณรัฐอีกครั้งหนึ่งนั้นมีผลทำให้มีการฟื้นฟูการรับรองสิทธิเสรีภาพอีกครั้ง เช่น การรับรองสิทธิเสรีภาพของการชุมนุมโดยรัฐบัญญัติลงวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ.1881 การรับรองเสรีภาพของสื่อสิ่งพิมพ์โดยรัฐบัญญัติลงวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ.1881 รับรองเสรีภาพของสหภาพแรงงานโดยรัฐบัญญัติลงวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ.1884 รับรองเสรีภาพในการสมาคมโดยรัฐบัญญัติลงวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1901 เป็นต้น

                   
        ดังนั้นในช่วง 1875-1914 เป็นช่วงที่สิทธิเสรีภาพมีความเจริญก้าวหน้าอย่างที่ไม่มีมาก่อน ถือว่าเป็นความขัดแย้งที่มีผลสำเร็จอย่างเกินความคาดหมาย กล่าวคือรัฐธรรมนูญปี 1875 ไม่กล่าวถึงการรับรองสิทธิเสรีภาพไว้แต่ปล่อยให้พัฒนาการของสังคมการเมืองสร้างและรับรองสิทธิเสรีภาพเอง14แต่เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้นแล้วจะเห็นได้ว่าได้มีการรับรองคำประกาศสิทธิเสรีภาพ มีการรับรองสิทธิเสรีภาพอื่นก็ตามแต่ผลเป็นว่าในความเป็นจริงนั้นไม่ได้เป็นอย่างที่รับรองหรือประกาศไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นชาวฝรั่งเศสในยุคดังกล่าวจึงมีความชื่นชมกับการรับรองสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพอยู่ เช่น มีการออกรัฐบัญญัติลงวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ.1905 แยกโบสถ์ออกจากรัฐ การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดวิกฤติการณ์อย่างมาก โบสถ์คาทอลิคได้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเป็นสมาคมทางวัฒนธรรมตามที่กฎหมายบังคับ จึงทำให้โบสถ์คาทอลิคอยู่นอกกฎหมาย เป็นต้น

                   
        ในช่วงตั้งแต่ปี ค.ศ.1914 เป็นต้นมาจนมาสิ้นสุดสาธารณรัฐที่สาม ก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อการรับรองสิทธิเสรีภาพ คือ สงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 การรับรองสิทธิเสรีภาพในความเป็นจริงนั้นแทบจะไม่มี เสรีภาพของสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ภายใต้การควบคุมและเซนเซ่อร์ มีการขยายอำนาจดังกล่าวไปให้ตำรวจที่สามารถตรวจจับได้ แต่หลังจากเสร็จสิ้นสงครามแล้วการรับรองสิทธิเสรีภาพก็ได้รับการยอมรับอีกครั้ง ถึงแม้จะไม่เหมือนก่อนยุคสงครามก็ตามที และต่อมาก็เกิดระบบการแผ่ขยายของระบบการรวบรวมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จขึ้น เช่น การกำเนิดลัทธิบอลเชวิคในรัสเซีย (1917) ลัทธิฟาสซิสต์ใน อิตาลี(1922) ลัทธินาซีในเยอรมัน(1933) เป็นต้น บรรยากาศดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่อการรับรองสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนเลย เช่น ในปี 1933 และ1935 ศาลปกครองฝรั่งเศสได้พิจารณาตัดสินคดีให้อำนาจแก่ตำรวจมีอำนาจสกัดต่อต้านเสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพของสื่อสิ่งพิมพ์ และนอกจากนี้ยังมีรัฐบัญญัติลงวันที่ 10 มกราคม 1936 ให้อำนาจแก่รัฐบาลในการยุบสมาคมที่ยั่วยุให้มีการต่อต้านกองทัพในถนนหรือใช้กำลังต่อต้านรูปแบบการปกครองสาธารณรัฐของรัฐบาล เป็นต้น

                   
        ในการเตรียมตัวเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองของฝรั่งเศสได้ทำให้การรับรองสิทธิเสรีภาพตกต่ำลงไปอีก มีการตรารัฐบัญญัติลงวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ.1938 เกี่ยวกับองค์กรของชาติในสถานการณ์สงครามโดยเพิ่มอำนาจให้แก่รัฐบาลและนอกจากนี้ยังมีกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายอีกหลายฉบับที่ตราออกมาเพื่อควบคุมตรวจสอบสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองก็ยังคงมีมากขึ้นฝ่ายนิยมสาธารณรัฐก็มีหลายฝ่ายด้วยกันผลที่ตามมาก็คือการจัดตั้งรัฐบาลก็จะเป็นรัฐบาลผสมเสียมากกว่า การเป็นรัฐบาลผสมนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพและนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลถึง 104 ชุดด้วยกันในระยะเวลา70ปีเฉลี่ยแล้วชุดละ8 เดือนเข้ามาบริหารประเทศทำให้ระบบการเมืองภายใต้สาธารณรัฐที่3ล้มเหลวลงกอปรกับในปี ค.ศ.1940 ฝรั่งเศส รบแพ้เยอรมันและตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2


                   
       รัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ.1940 รัฐธรรมนูญฉบับวิชชี่

                   
       การล่มสลายของสาธารณรัฐที่ 3 ในวันที่ 10 กรกฎาคม 1940 สภาสูงและสภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมกันที่แวร์ซายส์และพร้อมใจกันมอบอำนาจให้แก่นายพลPetainได้สร้างระบบใหม่ขึ้นมาภายใต้ในนาม"รัฐฝรั่งเศส"ใช้แทนคำว่า"สาธารณรัฐ"และให้ใช้คำว่า"การงาน ครอบครัว มาตุภูมิ"แทนคำว่า"เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" 15 ระบบใหม่ที่นายพลPetainนำมาใช้นั้นรู้จักกันอีกในนามหนึ่งคือ ระบบ Vichy ภายใต้ระบบดังกล่าวมีกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับVichyขึ้นโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้พยายามมุ่งรวบอำนาจทางการเมืองทั้งหมดมายังนายพลPetainแต่ผู้เดียว โดยได้เลียนแบบลัทธินาซี และลัทธิฟาสซิสต์เป็นหลักในการปกครอง ดังนั้นในช่วงการปกครองดังกล่าวสิทธิเสรีภาพก็ได้ถูกริดรอนยกเลิกลงไป เช่น เสรีภาพของสื่อสิ่งพิมพ์ เสรีภาพในการพาณิชย์และอุตสาหกรรม สิทธิในความมั่นคง เสรีภาพในการรับฟังวิทยุต่างชาติ เสรีภาพในการสมาคม เสรีภาพในการชุมนุม สิทธิในการประท้วงและเสรีภาพของสหภาพ เสรีภาพในการเคลื่อนไหว และนอกจากนี้ยังมีการตรากฎหมายออกมาอีกหลายฉบับที่ห้ามชาวฝรั่งเศสที่มีบิดาเป็นคนต่างชาติประกอบอาชีพงานสาธารณะของรัฐ เป็นต้น16

                   
        ภายใต้การยึดครองของเยอรมันนายพลPetainได้ให้ความร่วมมือกับเยอรมันในช่วงสงครามและการล่มสลายของเยอรมันเนื่องมาจาการแพ้สงครามในปี ค.ศ.1944 ก็ทำให้ระบบVichy ของนายพลPetainrพังพินาศไปด้วย ชาวฝรั่งเศสถือว่าระบบVichyดังกล่าวเป็นความอดสูของชาวฝรั่งเศสในหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1944 หลังการล้มของระบบVichyแล้วและถือว่าเป็นการปลดปล่อยฝรั่งเศสจากการยึดครองของเยอรมันก็ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ.1944 ภายใต้การควบคุมของนายพล De Gaulleซึ่งเร่งที่จะนำระบบสาธารณรัฐกลับมาใช้อีกโดยได้ตรารัฐกำหนดขึ้นมา 2 ฉบับกำหนดให้มีการลงประชามติและกำหนดหลักวิธีการเลือกตั้งในวันที่ 21 ตุลาคม 1945 ดังนั้นตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 1945จนถึงเดือนตุลาคม 1946 ชาวฝรั่งเศสได้รู้จักระบบใหม่ชั่วคราวขึ้นแต่เป็นระบบที่ตั้งอยู่บนฐานความต้องการของมหาชนและถือได้ว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่ของสาธารณรัฐที่ 4 ต่อมาในปี 1946


                   
       รัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 19 เมษายน ค.ศ.1946

                   
        กำเนิดของสาธารณรัฐที่ 4 เริ่มจากนายพล Charles de Gaulle ผู้นำฝรั่งเศสในยุคนั้นได้ตั้งคำถามไว้ด้วยกันสองข้อและให้ประชาชนชาวฝรั่งเศสลงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในวันที่ 21 ตุลาคม 1945 โดยคำถามแรกถามว่าประชาชนชาวฝรั่งเศสต้องการให้สภาที่เลือกตั้งในวันดังกล่าวเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ คำถามที่สองถ้าตอบว่าเห็นชอบด้วยกับคำถามแรกแล้วก็ถามต่อไปว่าประชาชนชาวฝรั่งเศสเห็นชอบให้มีการจัดการปกคองประเทศโดยองค์กรทั้งหลายที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติแห่งร่างกฎหมายท้ายประชามติจนกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีผลใช้บังคับหรือไม่ ผลปรากฏว่าในคำถามแรกนั้นประชาชนชาวฝรั่งเศสเห็นชอบด้วยถึง 18584746 เสียงส่วนที่ไม่เห็นชอบด้วยมี 699136 เสียงในคำถามที่สองตอบเห็นชอบด้วย12794943เสียง ตอบไม่เห็นชอบด้วย 6449206 เสียง ดังนั้นสภาดังกล่าวจึงได้เริ่มการจัดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันที โดยสภาดังกล่าวได้ใช้เวลาถึง 7 เดือนในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเมื่อจัดทำเสร็จก็ต้องนำไปให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติอีก ปรากฎว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวประชาชนลงประชามติไม่รับคิดได้ถึง 53 % ทำให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมีผลสิ้นสุดลงและได้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกภายใน 7 เดือนนับแต่วันที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา หลังจากได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้นลงก็ได้มีการนำไปให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติอีกปรากฎว่าประชาชนยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวโดยชนะคะแนนไม่มากนักผู้ที่ไม่ไปออกเสียงลงประชามติมีถึง 31% รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีการประกาศใช้ในวันที่ 27 ตุลาคม 1946 และเป็นการเริ่มต้นของสาธารณรัฐที่ 4

                   
        รัฐธรรมนูญฉบับนี้เริ่มต้นด้วยการประกาศในคำปรารภว่า "ประชาชนชาวฝรั่งเศสยังขอยืนยันอย่างเป็นทางการถึงความเคารพในสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์และพลเมืองแต่ละคนที่ปรากฎในคำประกาศสิทธิมนุษยชน ปี1789และหลักการพื้นฐานที่กฎหมายสาธารณรัฐยึดมั่น" ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าหลักการที่ประกาศในปี 1789 นั้นเป็นหลักการที่ไม่เคยตาย นอกจากนี้ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญปี 1946 ยังได้รับรองสิทธิใหม่ๆขึ้นมาอีกอันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงหลักการทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เช่น ในเรื่องสตรี เด็ก คนชรา คนงาน สิทธิในการศึกษาอบรม เป็นต้น อันเป็นการแก้ไขจุดอ่อนของปัจเจกชนนิยมและเสรีนิยมดั้งเดิม และรัฐธรรมนูญยังไปไกลถึงขนาดบังคับให้รัฐต้องหาทางในความเป็นจริงจัดการให้สิทธิเหล่านี้เกิดขึ้นจริงได้17

                   
        การรับรองสิทธิเสรีภาพในยุคดังกล่าวได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง เช่น เสรีภาพของสื่อสิ่งพิมพ์ เสรีภาพของสหภาพ เสรีภาพของการศึกษาอบรม เสรีภาพในการสมาคม เสรีภาพในการชุมนุม และยังมีเสรีภาพบางอันที่ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นอีก เช่น รัฐบัญญัติลงวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ.1949 เกี่ยวกับสื่อการพิมพ์ที่เกี่ยวกับเยาวชน รัฐบัญญัติลงวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ.1946 เสรีภาพสหภาพนั้นขยายรวมไปถึงข้าราชการด้วย รัฐกำหนดลงวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ.1945 และรัฐกฤษฎีกาลงวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ.1946 กล่าวถึงเสรีภาพในการเดินทางของชาวต่างชาติและเงื่อนไขของการมีถิ่นที่อยู่ในฝรั่งเศส รัฐบัญญัติลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1950 กล่าวถึงสิทธิในการนัดหยุดงานสำหรับภาคเอกชน เป็นต้น18 แต่ในขณะเดียวกันสิทธิเสรีภาพบางอันก็ต้องถูกจำกัดลงบ้างเพื่อประโยชน์ของสังคม เช่น กฎหมายลักษณะทรัพย์ที่รับรองเรื่องกรรมสิทธิ์ของเอกชนอย่างเต็มที่ก็ถูกจำกัดโดยกฎหมายควบคุมค่าเช่า กฎหมายปฏิรูปที่ดิน กฎหมายจัดรูปที่ดิน กฎหมายผังเมือง กฎหมายควบคุมอาคาร เป็นต้น กฎหมายที่รับรองเสรีภาพทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมเต็มที่ (เสรีภาพทางพาณิชยกรรมและทางอุตสาหกรรม)ก็ถูกจำกัดโดยกฎหมายป้องกันการผูกขาด กฎหมายห้ามการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม กฎหมายควบคุมราคาเป็นต้น

                   
        พิจารณาได้ว่าในภาพรวมของสาธารณรัฐที่ 4 แล้ว มีการรับรองสิทธิเสรีภาพอย่างดีมาจวบจนในปี ค.ศ.1954 และนับจากปี1954 เป็นต้นไปจะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามเพราะเกิดวิกฤตการณ์สงครามอัลจีเรียขึ้น ดังนั้นข้อยกเว้นต่างๆได้นำกลับมาใช้และเป็นการกระทบต่อการรับรองสิทธิเสรีภาพ เช่น สิทธิในความมั่นคงแห่งชีวิต ได้มีการประกาศ สถานการณ์ของรัฐในภาวะคับขันโดยรัฐบัญญัติลงวันที่ 3 เมษายน ค.ศ.1955ได้ขยายอำนาจให้แก่ตำรวจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอย่างแทบจะไม่มีขอบเขตจำกัด นอกจากนี้รัฐบัญญัติลงวันที่16 มีนาคม ค.ศ.1956ให้อำนาจแก่รัฐบาลในการสร้างระเบียบให้เกิดขึ้นในอัลจีเรีย ถัดมาอีกหนึ่งวันมีการตรารัฐกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารภายในค่ายกักกันดังนั้นคงไม่ต้องกล่าวถึงว่าการรับรองสิทธิเสรีภาพในช่วงดังกล่าวจะมีหรือไม่ ด้วยวิกฤตการณ์การเมืองภายในประเทศและปัญหาอัลจีเรียจึงทำให้สาธารณรัฐที่ 4 สิ้นสุดลง นายพล เดอโกล ด้วยการร้องขอจากรัฐบาลและฝ่ายทหารจึงเข้ามาจัดการจัดระเบียบขึ้นใหม่ในประเทศพร้อมทั้งเตรียมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป


                   
       รัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ.1958 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

                   
        กฎหมายรัฐธรรมนูญลงวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ.1958 กำหนดให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่จะประกันให้ความเคารพเสรีภาพที่สำคัญๆที่ได้กำหนดไว้โดยคำปรารภของรัฐธรรมนูญปี 1946 และโดยคำประกาศรับรองสิทธิมนุษยชนที่รัฐธรรมนูญปี 1946 อ้างถึงเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นมีคำปรารภที่สั้นกระทัดรัด ดังนั้นคำปรารภของรัฐธรรมนูญปี 1958 วรรคแรกจึงยืนยันถึงหลักการดังกล่าว "ประชาชนชาวฝรั่งเศสของแสดงความยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนและหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติดังที่ได้นิยามไว้ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองเมื่อปี ค.ศ.1789 ซึ่งได้รับการยืนยันและขยายความโดยอารัมภบทของรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1946…"นอกจากนี้ในหมวด 7 ได้มีการจัดตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายแต่ในส่วนที่เกี่ยวกับการรับรองค้มครองสิทธิเสรีภาพในหมวด 7 นั้นมีความไม่ชัดแจ้งอยู่พอสมควรในมาตรา 62 ที่บัญญัติว่า บทบัญญัติใดที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญย่อมไม่อาจประกาศใช้เป็นกฎหมายและไม่อาจมีผลบังคับได้ บทบัญญัติดังกล่าวก็ได้เพิ่มปัญหาตามมาว่า ที่ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้นรวมไปถึงอารัมภบทของรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ ถ้ารวมไปถึงด้วยก็หมายความว่าอารัมภบทนั้นมีค่าเทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญเลยดังนั้นถ้าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีบทบัญญัติขัดต่อหลักการที่ระบุไว้ในคำปรารภแล้ว คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็สามารถยกเลิกบทบัญญัติเหล่านั้นได้ มีการยอมรับในปัจจุบันแล้วว่าอารัมภบทนั้นมีค่าเทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญ

                   
        ถ้าพิจารณาจากสภาวะแวดล้อมของสังคมการเมืองในสาธารณรัฐที่ 5 ในส่วนที่เกี่ยวกับการรับรองสิทธิเสรีภาพนั้นก็สามารถแบ่งเป็น 2 ช่วงดังนี้ คือ ในช่วงยุคของปี 60 เป็นช่วงที่การรับรองสิทธิเสรีภาพนั้นค่อนข้างบรรเทาเบาบางลง ในยุคช่วงของปี 70 ขึ้นมาการรับรองสิทธิเสรีภาพได้รับการทำให้สมดุลและพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้น

                   
        ในช่วงปี 60 นั้นเห็นได้ว่ามีปัญหาอัลจีเรียยังคั่งค้างอยู่ การรับรองสิทธิเสรีภาพยังอยู่ในยุคที่ลำบาก ในปี ค.ศ.1961 มีการประกาศภาวะฉุกเฉินและประธานาธิบดีใช้มาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญที่เป็นอำนาจในเด็ดขาดของประธานาธิบดี แต่หลังจากสิ้นสุดปัญหาอัลจีเรียในปี ค.ศ.1962แล้วหวนกลับคืนสู่ในช่วงเวลาที่ดีขึ้น เท่าที่เป็นอยู่ในตอนนั้น สาธารณรัฐที่ 5 ดังกล่าวแทบจะไม่ตระหนักถึงการพัฒนาระบบการรับรองสิทธิเสรีภาพเลย ถ้ามีก็มีเพียงอันเดียวเท่านั้น คือเสรีภาพในการศึกษา เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงช่วงแห่งปี 70 ก็ได้มีการตื่นตัวเกี่ยวกับการรับรองสิทธิเสรีภาพ เช่น ตรากฎหมายรับรองถึงสิทธิส่วนบุคคลในปี ค.ศ.1970 ในส่วนของศาลนั้น ศาลปกครองฝรั่งเศสได้ตัดสินไว้ในคดี Ville nouvelle Est de 1971 เกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินโดยเพิ่มการควบคุมในเรื่องเพื่อประโยชน์สาธารณะที่เป็นเหตุผลของการอ้างการเวนคืนที่ดิน นอกจากนี้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้กล่าวในคำตัดสินลงวันที่ 16 กรกฎาคม 1971โดยเพิ่มบทบาทตนเองเป็นผู้ปกครองสิทธิเสรีภาพ

                   
        ในปี 1972 ได้มีการออกกฎหมายต่อต้านการแบ่งแยกเชื้อชาติและสีผิว เสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายก็ได้รับการพัฒนาขึ้น เช่นในปี 1975 ได้มีการยอมรับสิทธิในการทำแท้งและยังมีการยอมรับสิทธในการหย่าด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย สำหรับในขอบข่ายงานของวิทยุและโทรทัศน์นั้นหลังจากที่รัฐได้ผูกขาดอำนาจในเรื่องดังกล่าวมาแต่ฝ่ายเดียวในที่สุดก็ได้มีการประกาศยกเลิกการผูกขาดดังกล่าวและมีการยอมรับถึงเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารโทรคมนาคมในปี 1982 นอกจากนี้ยังมีการยืนยันรับรองถึงสิทธิของสหภาพแรงงานในปีเดียวกันด้วย ในปี1984และ1986สิทธิเสรีภาพในสื่อสิ่งพิมพ์ก็ได้รับการรับประกัน เป็นต้น


                   
       บทสรุป เมื่อดูจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์การเมืองของฝรั่งเศสในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาของการรับรองสิทธิเสรีภาพแล้ว จะเห็นได้ว่า ตามที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าฝรั่งเศสเป็นแม่แบบของเรื่องการรับรองสิทธิเสรีภาพโดยสรุปดูจากจุดเริ่มต้นที่คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ลงวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ.1789 นั้นก็คงจะสรุปเช่นนั้นหาได้ไม่ จริงอยู่หลักการใหญ่ๆที่ปรากฎในคำประกาศดังกล่าวจะเป็นหลักสำคัญและแม่แบบให้กับประเทศต่างๆในโลกยอมรับก็ตามที แต่เมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์ทางการเมืองหลังปี ค.ศ.1789 จนมาถึงปัจจุบันจะเห็นได้ว่า การรับรองสิทธิเสรีภาพของฝรั่งเศสนั้นก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ทางการเมือง ทางการปกครองของแต่ละยุคแต่ละสมัยขึ้นอยู่กับหนึ่ง กลไกทางการเมือง ผู้มีอำนาจปกครอง สภาพและสภาวะแวดล้อมทางการเมืองเป็นตัวกำหนด ในประเทศฝรั่งเศสในยุคปัจจุบันนี้ ถึงแม้จะมีการอ้างถึงหลักสิทธิมนุษยชนอยู่อย่างสม่ำเสมอก็ตามทีแต่ในความเป็นจริงของสังคมของฝรั่งเศสในปัจจุบันก็ยังมีปัญหาที่เผชิญอยู่กับเรื่อง การแบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว ความขัดแย้งทางสังคมอันเนื่อง มาจากเรื่องดังกล่าวและยังรวมไปถึงทัศนคติของชาวฝรั่งเศส(บางคน)ที่มีต่อคนต่างชาติอีกด้วย

                   
        ดังนั้นการรับรองสิทธิเสรีภาพในรูปแบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรนั้นจะเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาได้นั้น ก็ต้องขึ้นอยู่ที่ตัวมนุษย์ที่ได้รับการรับรองสิทธิเสรีภาพนั้นได้ตระหนักด้วยจิตสำนึกว่ามนุษย์นั้นจะปฏิบัติตนอย่างไรในเรื่องดังกล่าว จะแก้ไขอย่างไรกับทัศนคติของตนเองในเรื่องดังกล่าว


       


       
เชิงอรรถ


       
                   
       1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       2. เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์,เอกสารวิชาการ ของสถาบันพระปกเกล้า ชุด รู้เขารู้เรา: การเมืองการปกครองต่างประเทศ ระบบการเมืองการปกครองฝรั่งเศส,กรุงเทพ,สยามศิลป์การพิมพ์,2543,หน้า21-22.

       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       3. Gilles Lebreton,Libert?s publiques et droits de l'homme,Paris,Armand Colin,1996,p.77.

       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       4. Jacques Godechot,Les Constitutions de la France,Paris,GF Flammarion,p.95.

       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       5. Ibid.

       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       6. Ibid,p.148.

       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       7. เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์,เรื่องเดิม,หน้า25.

       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       8. Jacques Godechot,Ibid,p.214.

       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       9. Gilles Lebreton,Ibid,p.79.

       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       10. Ibid,p.80.

       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       11. Ibid,

       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       12. Jean Rivero,Les Libert?s publiques,Paris,PUF,p.70

       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       13. เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์,เรื่องเดิม,หน้า35-36

       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       14. Gilles Lebreton,Ibid,p.84.

       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       15. เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์,เรื่องเดียวกัน,หน้า41.

       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       16. Gilles Lebreton,Ibid,p.87.

       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       17. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ,กฎหมายมหาชน เล่ม1 วิวัฒนาการทางปรัชญาและลักษณะของกฎหมายมหาชนยุคต่างๆ,กรุงเทพ,นิติธรรม,หน้า111.

       [กลับไปที่บทความ]


       
                   
       18. Gilles Lebreton,Ibid,p.91.

       [กลับไปที่บทความ]


       


       



       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2545


       




 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544