เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาคอการเมืองทั้งหลายคงได้ฟัง "การอภิปรายไม่ไว้วางใจ" รัฐบาลที่ใช้เวลานานหลายวัน ผลออกมาเป็นอย่างไร ถูกใจผู้ฟังหรือไม่ก็คงแล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละบุคคลที่จะ "ตัดสิน"
ในช่วงก่อนและหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็มีข่าวที่ฝ่ายค้านจะยื่น "ถอดถอน" รัฐมนตรีบางคนหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมทั้งมีข่าวที่จะส่งข้อมูลการทุจริตที่ได้จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อพิจารณาลงโทษนักการเมืองที่ทุจริตต่อไป
กระบวนการทั้งหลายเหล่านี้เป็นกระบวนการสำคัญที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) ได้กำหนดไว้ในหลายๆส่วนรวมทั้งโดยเฉพาะในหมวด 10 อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ "การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ" ความจำเป็นของการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้นเป็นสิ่งที่เราทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว ประสบการณ์ในระบอบประชาธิปไตยของเราแสดงให้เห็นถึง "การกระทำ" หลายๆอย่างที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเข้ามา "ใช้อำนาจรัฐ" ไม่ว่าจะโดยฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายประจำก็ตาม บางครั้งบางกรณีก็เกิดการใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง ทำให้มีผู้พยายาม "เข้าสู่ตำแหน่ง" กันมากขึ้นเพราะความหอมหวนของอำนาจเป็นที่มาของหลายๆสิ่ง ที่ผ่านมา กระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐแม้จะมีอยู่แต่ก็ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งคือ ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ จึงได้วางกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเสียใหม่เพื่อให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมีประสิทธิภาพและครบถ้วนยิ่งขึ้น
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อ "นำเสนอ" กลไกและกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างสังเขปเพื่อให้ผู้อ่านมองเห็นภาพรวมทั้งระบบของกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยผู้เขียนจะขอนำเสนอบทความนี้ออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันตามขั้นตอนของการดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ ก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง ระหว่างการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่ง
1. ก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเข้าสู่ตำแหน่งได้ก็แต่โดยการเลือกตั้งและการแต่งตั้ง ในบทความนี้จะไม่ขอกล่าวถึงระบบการเลือกตั้งและระบบพรรคการเมืองที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้พยายามที่จะวางกลไกเพื่อให้คนที่สุจริตและมีความสามารถเข้าสู่ระบบการเมืองได้มากขึ้น แต่จะขอกล่าวถึงกระบวนการตรวจสอบเมื่อผ่านพ้นการเลือกตั้งและ "ได้ตัว" ผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆแล้ว
"การแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน" เป็นมาตรการสำคัญประการหนึ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน ของคู่สมรส และของบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จุดมุ่งหมายที่สำคัญของการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมืองก็คือเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานทางการเมืองของนักการเมืองโดยการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินจะชี้ให้เห็นว่า "คุณมีอยู่เท่าไหร่" เมื่อเข้ามา "เล่น" การเมือง และ "คุณมีอยู่เท่าไหร่" เมื่อ "ออกจาก" การเมือง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) ได้กำหนดไว้ในมาตรา 291 ให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมืองอื่น รวมทั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งของตนเอง ของคู่สมรสและของบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายใน 30 วันนับแต่วันที่เข้ารับตำแหน่ง โดยในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินนั้นต้องเป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดพร้อมด้วยเอกสารประกอบซึ่งเป็นสำเนาหลักฐานที่พิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินรวมตลอดถึงสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมาด้วย เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ยื่นบัญชีฯแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็จะดำเนินการลงลายมือชื่อกำกับไว้ในบัญชีทุกหน้า โดยบัญชีฯของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีนั้นจะต้องเปิดเผยให้สาธารณชนทราบโดยเร็วภายใน 30 วันนับแต่วันที่ครบกำหนดที่ต้องยื่นบัญชีฯ ส่วนบัญชีฯ ของผู้ดำรงตำแหน่งอื่นห้ามเปิดเผยเว้นแต่จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีหรือการวินิจฉัยชี้ขาด และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับการร้องขอจากศาลหรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และนอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังต้องตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินตามบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ยื่นไว้ด้วย หากตรวจสอบพบความผิดปกติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 295 แห่งรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งและต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดเป็นเวลา 5 ปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง
2. ระหว่างการดำรงตำแหน่ง รัฐธรรมนูญได้วางกลไกในการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้หลายประการด้วยกัน คือ
2.1 การตรวจสอบคณะรัฐมนตรีโดยรัฐสภา หากไม่นับรวมการซักถามและอภิปรายนโยบายของคณะรัฐมนตรี การพิจารณาร่างกฎหมายประเภทต่างๆและการพิจารณาพระราชกำหนดแล้ว รัฐสภาสามารถตรวจสอบการดำเนินงานของคณะรัฐมนตรีได้โดย
(ก) ตั้งกระทู้ถาม ตามมาตรา 183 และมาตรา 187 แห่งรัฐธรรมนูญซึ่งแยกได้เป็นสองประเภทคือ การตั้งกระทู้ถามทั่วๆไปที่รัฐมนตรีสามารถตอบในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรหรือตอบในราชกิจจานุเบกษาได้ กับการตั้งกระทู้ถามสดที่จะต้องถามและตอบด้วยวาจาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร อนึ่ง สมาชิกวุฒิสภาสามารถตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีได้เช่นกันโดยผู้ถามจะต้องแสดงความประสงค์ว่าจะให้ตอบในราชกิจจานุเบกษาหรือจะให้ตอบในที่ประชุมวุฒิสภา
(ข) การเปิดอภิปรายทั่วไป มีอยู่ 2 กรณี คือ กรณีตามมาตรา 185 วรรคแรก เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี การเสนอญัตติตามมาตรา 186 วรรคแรก เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
(ค) คณะกรรมาธิการ คณะกรรมมาธิการมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการดำเนินการของฝ่ายบริหารโดยรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ในมาตรา 189 ให้มีหน้าที่กระทำการพิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดๆอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภา แล้วรายงานต่อสภา คณะกรรมาธิการมีทั้งของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
2.2 การถอดถอนจากตำแหน่ง เป็นกลไกในการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงว่ามีความเหมาะสมหรือสมควรที่จะให้ผู้นั้นดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่ต่อไปหรือไม่
(ก) เหตุในการถอดถอน ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย (มาตรา 303 แห่งรัฐธรรมนูญ)
(ข) ตำแหน่งที่ถูกถอดถอน ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (มาตรา 303 แห่งรัฐธรรมนูญ) รวมทั้งตำแหน่งผู้พิพากษา ตุลาการ พนักงานอัยการหรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 คือ รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลปกครองสูงสุด หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร รองอัยการสูงสุด และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงอันได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม ทบวง หรือกระทรวง สำหรับข้าราชการพลเรือน ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพหรือผู้บัญชาการทหารสูงสุดสำหรับข้าราชการทหาร ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานคร กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หัวหน้าหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลหรือผู้ดำรงตำแหน่งตามที่กฎหมายอื่นบัญญัติ
(ค) กระบวนการถอดถอน มีขั้นตอนดังนี้
(ค.1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรร้องขอต่อประธานวุฒิสภาหรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน เข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตาม (ข) หรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภาเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้ถอดถอนสมาชิกวุฒิสภาผู้หนึ่งผู้ใดออกจากตำแหน่ง
(ค.2) ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวน
(ค.3) เมื่อไต่สวนเสร็จ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะส่งเรื่องกลับไปยังวุฒิสภา ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาใดมีมูล ผู้ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติ อนึ่ง ในกรณีดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องส่งรายงานดังกล่าวให้อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย
(ค.4) การถอดถอนโดยวุฒิสภาจะต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
(ง) ผลของการถอดถอน ผู้ถูกวุฒิสภาถอดถอนจะต้องพ้นจากตำแหน่งหรือถูกถอดถอนออกจากราชการนับแต่วันที่วุฒิสภามีมติให้ถอดถอนและผู้นั้นจะถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งใดในทางการเมืองหรือในการรับราชการเป็นเวลา 5 ปี
2.3 การดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นกระบวนการสำคัญอีกกระบวนการหนึ่งในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่รัฐธรรมนูญ (พ.ศ.2540) กำหนดไว้ โดยมุ่งที่จะตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ทำผิดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือ จะต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรพิเศษเพื่อให้ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง โดยมีหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบ ดังนี้คือ
(ก) คดีที่อยู่ในอำนาจการพิจารณา ได้แก่
(ก.1) คดีที่มี่มูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหานายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น
(ก.2) คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาบุคคลตาม (ก.1) หรือบุคคลอื่นเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดทางอาญาตาม (ก.1)
(ก.3) คดีซึ่งประธานวุฒิสภาส่งคำร้องให้ศาลพิจารณาพิพากษาข้อกล่าวหาว่ากรรมการ ป.ป.ช. ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
(ก.4) คดีที่ร้องขอให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมืองอื่น ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นตามกฎหมายที่บัญญัติตกเป็นของแผ่นดิน
(ข) องค์กรที่ทำหน้าที่พิจารณาคดี ได้แก่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จัดตั้งขึ้นโดยหมวด 10 ส่วนที่ 4 มาตรา 308 ถึงมาตรา 311 แห่งรัฐธรรมนูญ
(ค) กระบวนพิจารณาคดี เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าคดีตามข้อ (ก.1) (ก.2) และ (ก.4) มีมูลพอที่จะดำเนินคดี คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องส่งรายงานเอกสาร และพยานหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนกรณีตามข้อ (ก.3) นั้น ประธานวุฒิสภาสามารถส่งคำร้องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยตรง
เมื่อมีการฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ประธานศาลฎีกาต้องเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อเลือกผู้พิพากษาศาลฎีกาให้มาเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542
ในการพิจารณาคดี ศาลจะต้องดำเนินการพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานต่อเนื่องไปทุกวันทำการจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา
(ง) ผลการพิจารณาคดี ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถสั่งลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญา สั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินผิดปกติ รวมทั้งสามารถสั่งให้มีการดำเนินคดีต่อกรรมการ ป.ป.ช.ที่ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอีกด้วย
3. การพ้นจากตำแหน่ง การตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิได้มีเฉพาะที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่ง ผู้นั้นก็จะถูกตรวจสอบอีกด้วยการที่จะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเพื่อ "พิสูจน์" ให้เห็นว่า ตนมีทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มขึ้นหรือลดลงกว่าเมื่อตอนเข้าสู่ตำแหน่งหรือไม่ โดยมีรายละเอียดดังนี้ คือ
3.1 การพ้นจากตำแหน่งปกติ ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งหลายที่ได้กล่าวไปแล้วในหัวข้อ 1. พ้นจากตำแหน่ง ต้องยื่นบัญชีฯ ภายใน 30 วันนับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง และหากผู้นั้นเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะต้องยื่นบัญชีฯ อีกครั้งหนึ่งภายใน 30 วันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี
3.2 การพ้นจากตำแหน่งในกรณีตาย ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองตายในระหว่างดำรงตำแหน่งหรือก่อนยื่นบัญชีหลังพ้นจากตำแหน่ง ทายาทหรือผู้จัดการมรดกจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่ในวันที่ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นตายภายใน 90 วันนับแต่วันที่ผู้ดำรงตำแหน่งตาย
เมื่อยื่นบัญชีฯ แล้ว กระบวนการและผลก็เป็นเช่นเดียวกับการยื่นบัญชีฯ เมื่อเข้าสู่ตำแหน่ง ดังกล่าวมาแล้วในหัวข้อ 1.
สรุป รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) ได้วางกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไว้หลายกระบวนการ โดยแต่ละกระบวนการก็เป็นกระบวนการที่สอดคล้องกัน กล่าวคือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจอาจนำไปสู่กระบวนการถอดถอนและถูกลงโทษทางอาญาโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ เป็นต้น กระบวนการเหล่านี้ แม้จะเพิ่งเกิดขึ้นมาในระยะเวลาไม่นานมานี้เองแต่ด้วย "ความสามารถ" ของบรรดากลไกในการตรวจสอบทั้งหลายทำให้สามารถ "คาดเดา" ได้ว่า ในวันข้างหน้าด้วยกลไกทั้งหลายที่มีอยู่จะทำให้ประเทศไทย "สะอาด" และ "ปราศจาก" ผู้ที่เข้ามาฉกฉวยและหาประโยชน์จากการใช้อำนาจรัฐ
หมายเหตุ ข้อมูลทั้งหมดได้มาจาก "สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540)" ที่จัดทำโดยสถาบันพระปกเกล้า
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2545
|