หน้าแรก บทความสาระ
การวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล [ตอนที่ 1]
รองศาสตราจารย์ ดร. โภคิน พลกุล
6 มกราคม 2548 21:44 น.
 
1 | 2
หน้าถัดไป

       

       
บทนำ


       ๑. บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญว่าด้วยการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล


                   
       ๑.๑ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในอดีต

                   
       ๑.๒ ความเป็นมาของบทบัญญัติในมาตรา ๒๔๘ ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน


       ๒. ความเป็นมาของกฎหมายว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒

                   
       ๒.๑ แนวทางในการพิจารณารูปแบบขององค์กรวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

                   
       ๒.๒ การเสนอร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. .... ของรัฐบาล

                   
       ๒.๓ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. .... ของรัฐสภา


       ๓. องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

                   
       ๓.๑ องค์ประกอบ

                   
       ๓.๒ อำนาจหน้าที่

                   
       ๓.๓ ลักษณะการขัดกันของอำนาจศาลและการส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัย

                   
                   
       ๓.๓.๑ ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

                   
                   
       ๓.๓.๒ ลักษณะการขัดกันของอำนาจศาล

                   
                   
       ๑) การขัดแย้งกันในลักษณะที่ศาลเห็นว่าตนมีอำนาจ

                   
                   
       ๒) การขัดแย้งในลักษณะที่ศาลเห็นว่าตนไม่มีอำนาจ

                   
                   
       ๓) กรณีปัญหาคำพิพากษาขัดแย้งกัน

                   
                   
       ๔) กรณีอื่น ๆ

                   
                   
       ๓.๓.๓ การเสนอปัญหาและการวินิจฉัยปัญหาของคณะกรรมการ


       ๔. ปัญหาสำคัญที่มีการวินิจฉัยชี้ขาด

                   
       ๔.๑ เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒ และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) (การฟ้องคดีก่อนศาลปกครองเปิดทำการ)

                   
       ๔.๒ เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น

                   
       ๔.๓ เขตอำนาจเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิด

                   
       ๔.๔ เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๖๐ และ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)

                   
       ๔.๕ เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒(กระบวนการยุติธรรมทางอาญา)

                   
       ๔.๖ เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) (สัญญาทางปกครอง)

                   
       ๔.๗ เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับ พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๔๖


       ๕. ปัญหาในเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับศาลอื่น ๆ


       บทสรุป


       ภาคผนวก


       



       บทนำ


                   
        ศาลในประเทศต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาข้อโต้แย้งหรือ
       ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีปกครอง มี ๒ ระบบใหญ่ ๆ คือ "ระบบศาลเดี่ยว" และ "ระบบศาลคู่"1 หากเป็น "ระบบศาลเดี่ยว" ก็จะไม่มีปัญหาในเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล เพราะถ้ามีปัญหาขัดกันเรื่องเขตอำนาจระหว่างศาลภายใน "ระบบศาลเดี่ยว" หรือภายในแต่ละระบบของ "ระบบศาลคู่" ศาลในระบบนั้นจะเป็นผู้ชี้ขาด เช่น กรณีศาลปกครอง หากองค์คณะเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง
       ชั้นต้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองชั้นต้นอื่น ต้องเสนออธิบดีศาลปกครองชั้นต้น เพื่อมีคำสั่งให้ส่งคำฟ้องนั้นไปยังศาลปกครองชั้นต้นอื่น แต่ถ้าศาลปกครองชั้นต้น
       ซึ่งรับคำฟ้องที่ส่งมาเห็นว่า คดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองชั้นต้นที่ส่งมาหรืออยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองชั้นต้นอื่นให้เสนอความเห็นต่อประธานศาลปกครองสูงสุดเพื่อมีคำสั่งในเรื่องเขตอำนาจศาล หรือกรณีของศาลยุติธรรมก็เช่นกัน มีการกำหนดลักษณะของคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแต่ละศาลไว้เป็นการเฉพาะในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลต่าง ๆ เช่น กรณีศาลแรงงานเมื่อมีปัญหาว่า คดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน
       หรือไม่ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลแรงงานหรือศาลอื่น ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางให้เป็นที่สุด แต่ถ้าเป็น "ระบบศาลคู่" แล้ว จำเป็นต้องมีองค์กรเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ๒ ระบบโดยเฉพาะ ซึ่งอาจให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลชี้ขาดคดีขัดกัน (Le Tribunal des conflits) แบบฝรั่งเศส หรือในรูปคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล


       ๑.บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญว่าด้วยการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

                   
       ๑.๑ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในอดีต

                   
        เรื่องการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลมีการบัญญัติขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๗ ทั้งนี้ เนื่องจาก
       รัฐธรรมนูญดังกล่าวได้บัญญัติถึงการจัดตั้งศาลอื่น นอกเหนือจากศาลยุติธรรมไว้เป็น
       ครั้งแรกเช่นกัน ดังปรากฏในมาตรา ๒๑๒ ที่บัญญัติว่า

                   
       "ศาลปกครองและศาลในสาขาแรงงาน สาขาภาษี หรือสาขาสังคม
       จะตั้งขึ้นก็แต่โดยพระราชบัญญัติ

                   
       การแต่งตั้ง และการให้ผู้พิพากษาพ้นจากตำแหน่ง อำนาจหน้าที่
       ของศาล ตลอดจนวิธีพิจารณาของศาลตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลนั้น"


                   
       ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๒๑๓ จึงบัญญัติในเรื่องการวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่า "ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรมกับศาลอื่น หรือระหว่างศาลอื่นด้วยกัน ให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย" จากนั้น รัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มาอีกหลายฉบับก็ได้บัญญัติเรื่อง
       การวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลไว้ทำนองเดียวกัน คือ

                   
       ๑) รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. ๒๕๒๑

                   
       ๒) รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. ๒๕๓๔

                   
       ๓) รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๘

                   
       แม้รัฐธรรมนูญทั้ง ๓ ฉบับที่กล่าวมาจะมีบทบัญญัติที่กำหนดถึงการให้มีการจัดตั้งศาลอื่นนอกจากศาลยุติธรรม เช่นรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๑๗๐ ที่บัญญัติว่า "บรรดาศาลทั้งหลายจะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ" หรือรัฐธรรมนูญฯ
       พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๘๗ ที่บัญญัติว่า "บรรดาศาลทั้งหลายจะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดย
       พระราชบัญญัติ"
ก็ตาม แต่ที่ถือว่ามีความชัดเจนในแง่ของการแยกระบบศาลออกเป็น "ระบบศาลคู่" เป็นครั้งแรกก็คือ รัฐธรรมนูญฯ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม
       พ.ศ. ๒๕๓๘ โดยได้บัญญัติไว้ดังนี้

                   
       มาตรา ๑๙๕ "ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามที่กฎหมายบัญญัติ "

                   
       มาตรา ๑๙๕ ทวิ "พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและให้ตุลาการ
       ในศาลปกครองพ้นจากตำแหน่ง

                   
       ก่อนเข้ารับหน้าที่ครั้งแรก ตุลาการในศาลปกครองต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำตามที่กฎหมายบัญญัติ "


                   
       มาตรา ๑๙๕ ตรี "การแต่งตั้งและการให้ตุลาการในศาลปกครองพ้นจากตำแหน่งต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง
       ตามที่กฎหมายบัญญัติแล้วจึงนำความกราบบังคมทูล

                   
       การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษตุลาการใน
       ศาลปกครอง ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติ "


                   
       มาตรา ๑๙๕ จัตวา "การแต่งตั้งและการให้ผู้พิพากษาหรือตุลาการ
       ในศาลอื่นนอกจากศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหารพ้นจากตำแหน่ง
       ตลอดจนอำนาจพิพากษาคดีและวิธีพิจารณาของศาลดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลนั้น "
       มาตรา ๑๙๕ เบญจ "ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรมกับศาลอื่น หรือระหว่างศาลอื่นด้วยกัน ให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็น
       ผู้วินิจฉัย "


                   
       รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๘ นี้ เป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในการบัญญัติถึงการมี "ระบบศาลคู่" อย่างไรก็ตาม
       แม้รัฐธรรมนูญทั้ง ๔ ฉบับที่กล่าวมา จะบัญญัติให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็น
       องค์กรวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
       ก็มิได้มีโครงสร้าง ที่มา และสถานภาพดังเช่นศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ
       ฉบับปัจจุบัน และเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้รัฐธรรมนูญทั้ง ๔ ฉบับ จะมีบทบัญญัติเพื่อ
       แก้ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งทำหน้าที่
       ดังกล่าวก็ไม่เคยวินิจฉัยปัญหานั้นเลย ทั้งนี้ อาจเนื่องจากเพราะไม่มีการจัดตั้ง
       ศาลอื่นในระบบศาลคู่ขึ้น นั่นก็คือ ศาลปกครอง

                   
       ๑.๒ ความเป็นมาของบทบัญญัติในมาตรา ๒๔๘ ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

       รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นใหม่ทั้งฉบับ
       เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการปฏิรูปการเมือง จุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการเมือง
       เกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ โดยได้มีกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมือง ประธานรัฐสภาในขณะนั้น (นายมารุต บุนนาค) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) จำนวน ๕๘ คน เพื่อทำหน้าที่ศึกษา
       ค้นคว้า และเสนอแนะในการพัฒนาหรือปฏิรูปการเมืองการปกครองของประเทศ
       ให้สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อ คพป. ได้ดำเนินการเสร็จแล้วใน พ.ศ. ๒๕๓๘ จึงได้มอบข้อเสนอแนะ
       ต่อประธานรัฐสภา


                   
       หลังจากที่มีการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ. ๒๕๓๘ แล้ว รัฐบาล
       ได้สนับสนุนให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ มาตรา ๒๑๑ โดยนายกรัฐมนตรี (นายบรรหาร ศิลปอาชา) ได้แต่งตั้ง
       คณะกรรมการปฏิรูปทางการเมือง (คปก.) เพื่อทำหน้าที่จัดทำแผนพัฒนาการเมือง
       ให้สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมี
       พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งวิธีการปฏิรูปการเมือง และพิจารณาแนวทางการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๑ ด้วย (นายชุมพล ศิลปอาชา เป็นประธานกรรมการ นายโภคิน พลกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นรองประธานกรรมการ และนายประณต นันทิยะกุล เป็นกรรมการและเลขานุการ) โดยเฉพาะในส่วนของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น คปก.
       ได้เสนอ ๒ แนวทางต่อนายกรัฐมนตรี คือ แนวทางแรก แก้ไขบางมาตรา และ
       แนวทางที่สองแก้ไขทั้งฉบับ ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และรัฐบาลได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๒๑๑ ต่อรัฐภา และรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบ ซึ่งมีสาระสำคัญกำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสนอรัฐสภา

                   
       สภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยบุคคลที่รัฐสภาเลือกตั้งจำนวน ๙๙ คน และได้ประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๔๐ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการต่าง ๆ จำนวน ๗ คณะ คื

                   อ
       ๑. คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

                   
       ๒. คณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์

                   
       ๓. คณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์

                   
       ๔. คณะกรรมาธิการวิชาการ ข้อมูล และศึกษาแนวทางการ
       ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

                   
       ๕.คณะกรรมาธิการจดหมายเหตุ ตรวจรายงานการประชุม และ
       กิจการสภา

                   
       ๖. คณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์
       (จังหวัดละ ๑ คณะ)

                   
       ๗. คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ

                   
       คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้แบ่งกรอบความคิดพื้นฐาน
       ในการยกร่างรัฐธรรมนูญออกเป็น ๓ กรอบ คือ

                   
       ๑) สิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของพลเมือง

                   
       ๒) การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

                   
       ๓) สถาบันการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง
       โดยมีคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ๓ คณะ เป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ
       ตามกรอบความคิดเห็นข้างต้น เมื่อคณะอนุกรรมาธิการทั้ง ๓ คณะ ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว คณะทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและคณะอนุกรรมาธิการ
       ดังกล่าว และตัวแทนจากคณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์
       เป็นผู้ร่วมกันพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่ประมวลในเบื้องต้นเป็นร่างรัฐธรรมนูญ
       แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... และเสนอให้สภารัฐธรรมนูญพิจารณาในวาระที่ ๑ เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๔๐

                   
       ๑.๒.๑ การยกร่างรัฐธรรมนูญในมาตรา ๒๔๘

                   
        คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นชอบตามร่างที่อนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะทำงานเสนอ คือ

                   
        "มาตรา ๘/๑/๑๔ ในกรณีที่มีปัญหาขัดแย้งในเรื่องเดียวกันเกี่ยวกับอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือ
       ศาลอื่น หรือมีปัญหาขัดแย้งในเรื่องเดียวกันระหว่างคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
       ชี้ขาด

                   
        หลักเกณฑ์การเสนอปัญหาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ "


                   
        คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาร่างของ
       คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว ได้แก้ไขร่างดังกล่าว โดยตัด
       ข้อความที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด และให้วินิจฉัยชี้ขาดตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

                   
       ๑.๒.๒ การพิจารณาในวาระที่ ๒ ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ

                   
       สมาชิกที่อภิปรายส่วนมากเห็นว่า ควรต้องกำหนดผู้มีอำนาจวินิจฉัย
       ไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยบางท่านเสนอให้วินิจฉัยชี้ขาดในรูปของคณะกรรมการซึ่งมีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน เนื่องจากศาลยุติธรรมเป็นศาลที่เก่าแก่และยอมรับได้ และเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพของแต่ละศาล ในขณะที่บางท่านเห็นว่าควรให้มี
       การหมุนเวียนเป็นประธาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยให้ประธานศาลอาวุโส
       ซึ่งไม่ได้เป็นคู่กรณีเป็นประธาน และบางท่านเห็นว่าควรบัญญัติรวมถึงปัญหาขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลรัฐธรรมนูญและศาลอื่นไว้ด้วย

                   
       คณะกรรมาธิการพิจารณาทบทวนร่างแล้วเสนอให้วินิจฉัยชี้ขาดในรูปของคณะกรรมการ โดยให้ประธานศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลหลักที่มีมาแต่เดิมเป็นประธานตามที่มีผู้แปรญัตติ แต่เห็นว่าไม่จำต้องเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาขัดแย้ง
       เรื่องอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ และได้เสนอให้พิจารณาร่างที่ทบทวนใหม่ คือ

                   
       "ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น ให้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดโดยคณะกรรมการคณะหนึ่ง
       ซึ่งประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธาน กับประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลอื่น และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกินสี่คนตามที่กฎหมายบัญญัติ

                   
       หลักเกณฑ์การเสนอปัญหาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ"

                   
       ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบตามร่างที่คณะกรรมาธิการฯ
       ปรับปรุงแก้ไขใหม่2


       ๒. ความเป็นมาของกฎหมายว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

                   
        ๒.๑ แนวทางในการพิจารณารูปแบบขององค์กรวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
       

                   
        ๑) ความเห็นในชั้นสภาร่างรัฐธรรมนูญ

                   
        ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญได้มี
       การอภิปรายถึงรูปแบบขององค์กรที่จะทำหน้าที่พิจารณา กรณีที่มีความขัดแย้งกันระหว่างอำนาจหน้าที่ของศาลว่าจะให้องค์กรใดเป็นผู้พิจารณา ซึ่งเดิมร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด เลขานุการคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง
       รัฐธรรมนูญได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ควรให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งกฎหมายที่จะบัญญัติอาจจะใช้วิธีการได้หลายอย่าง คือ ๑. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ๒.
       ในประเทศเยอรมันจะให้ผู้พิพากษาของแต่ละศาลทำหน้าที่ชี้ขาด ๓. ในประเทศฝรั่งเศสให้ศาลคดีขัดกันทำหน้าที่ชี้ขาด โดยให้ออกเป็นกฎหมายในรายละเอียดต่อไป (รายงานการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๒๒-๒๔ หน้า ๙/๖)
       ที่ประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ได้แก้ไขร่างและตัดข้อความที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด และให้วินิจฉัยชี้ขาดตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ

                   
        ต่อมาสภาร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาในเรื่องปัญหาอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลต่าง ๆ โดยกรรมาธิการ (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) ได้ชี้แจงในเรื่องรูปแบบขององค์กรชี้ขาดปัญหาอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่ามี ๒ รูปแบบ คือ ในร่างรัฐธรรมนูญเดิมกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย และอีกรูปแบบหนึ่งคือ
       การให้คณะกรรมการร่วมระหว่างศาลในระบบต่าง ๆ มาพิจารณาร่วมกันเพื่อหาทางหาข้อยุติว่า คดีนั้นควรจะอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลใด เพราะอย่างน้อยต้องมี
       ศาลใดศาลหนึ่งที่จะต้องรับพิจารณาคดีนั้น และสภาร่างรัฐธรรมนูญได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการปรับปรุง คือ มาตรา ๒๔๘ ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

                   
        อนึ่ง การพิจารณาในชั้นสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น มีสมาชิกสภาร่าง
       รัฐธรรมนูญ (นายเสรี สุวรรณภานนท์) เสนอว่า ปัญหาอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลนั้น ควรเพิ่มศาลรัฐธรรมนูญด้วย กรรมาธิการ (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) ชี้แจงว่า อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจที่มีอยู่จำกัด ศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้รับพิจารณาคดี
       ทั่ว ๆ ไป เช่นศาลอื่น ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลอื่น แต่จะมีอำนาจจำกัดจริง ๆ เพราะฉะนั้น ปัญหาที่จะมีปัญหาระหว่างอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับศาลอื่น ๆ นั้น คงจะไม่เกิดขึ้น

                   
       ๒) ความเห็นในชั้นการยกร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. .... ของรัฐบาล

                   
       ในการเสนอร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. .... ของรัฐบาลนั้น ได้นำรูปแบบมาจากองค์กรวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อให้หลักการแบ่งแยกอำนาจศาลระหว่างศาลปกครองกับศาลยุติธรรมดำเนินไปด้วยดี เห็นได้จากการนำหลักการการจัดองค์กรในรูปของคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลมาใช้ ประกอบกับโดยที่ลักษณะคดีของแต่ละศาลในปัจจุบันนี้ คดีที่อาจมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล โดยหลักแล้วจะได้แก่ คดีที่ฟ้องต่อศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ดังนั้น การจัดองค์กรวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลโดยพิจารณาจากระบบของประเทศฝรั่งเศสแล้วนำมาปรับปรุงให้เหมาะสม
       จึงน่าจะเป็นผลดี จึงได้มีการนำหลักการดังกล่าวมายกร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. .... และยังเป็นที่มาของการกำหนดบทเฉพาะกาล ให้มีการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นเมื่อมีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นแล้ว เพื่อให้มีกรรมการครบองค์ประกอบตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและตามร่างพระราช-บัญญัตินี้ (มาตรา ๒๐)

                   
       ๓) ความเห็นในชั้นสภาผู้แทนราษฎร

                   
        หลังจากที่รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. .... ต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ส่วนบริการวิชาการ หอสมุด
       รัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้จัดทำเอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวของสภาผู้แทนราษฎรเรื่อง “องค์กรชี้ขาด กรณีปัญหา
       การแบ่งแยกเขตอำนาจระหว่างศาลปกครองกับศาลยุติธรรมในฝรั่งเศส” เพื่อประกอบการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรด้วย3

                   
       ๒.๒ การเสนอร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. .... ของรัฐบาล

                   
       ๑) ครั้งที่ ๑

                   
        คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๑ อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับข้อสังเกตของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งข้อสังเกตเบื้องต้นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาปรับปรุงให้เหมาะสม (หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๒๐๔/๑๑๗๗๑ ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๑)

                   
       สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมด้วย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ผู้แทนจากกระทรวงกลาโหม (กรมพระธรรมนูญ) และผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม ปรากฏผลการพิจารณา ดังนี้

                   
       ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. .... ที่กระทรวงยุติธรรมเสนอมีหลักการเป็นการตรากฎหมายตามมาตรา ๒๔๘ ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีคณะกรรมการทำหน้าที่วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ซึ่งตามร่างดังกล่าวมีสาระสำคัญ ๓ ประการ คือ (๑) องค์ประกอบของคณะกรรมการ (๒) เลขานุการของคณะกรรมการ และ (๓) อำนาจหน้าที่ของ
       คณะกรรมการในการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ซึ่งในการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการ่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม
       ผู้แทนกระทรวงกลาโหม (กรมพระธรรมนูญ) และผู้แทนศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่าหลักการดังกล่าวทั้ง ๓ ประการนั้น ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนกระทรวงกลาโหม (กรมพระธรรมนูญ) และผู้แทนศาลรัฐธรรมนูญ มีความเห็น
       แตกต่างจากหลักการในร่างเดิมของกระทรวงยุติธรรม แต่ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม
       ยังคงยืนยันตามหลักการเดิมทุกประการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้
       จัดทำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นใหม่ตามข้อสังเกตของผู้แทนส่วนราชการ
       ดังกล่าว4

                   
       ๒) ครั้งที่ ๒

                   
       ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๑
       รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอว่า ร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับนี้ ยังมี
       หลักการไม่สอดคล้องกัน ซึ่งได้หารือกับเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว จึงขอรับไปพิจารณาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อรวมร่างพระราชบัญญัติ
       ทั้ง ๒ ฉบับนี้ ให้เป็นหลักการเดียวกัน แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน
       ๒ สัปดาห์ คณะรัฐมนตรีได้ลงมติอนุมัติให้กระทรวงยุติธรรมรับร่างพระราชบัญญัติ
       ทั้ง ๒ ฉบับ ไปพิจารณาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามที่รัฐมนตรี
       ว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอ และคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๕) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยมีผู้แทนกระทรวงยุติธรรม (สำนักงานปลัดกระทรวง)
       ผู้แทนกระทรวงกลาโหม (กรมพระธรรมนูญ) และผู้แทนสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดและเห็นชอบในการแก้ไขเพิ่มเติมด้วยแล้ว เพื่อรวมร่าง
       พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับให้เป็นหลักการเดียวกันดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว
       รวมเป็นร่างฉบับเดียวและเนื่องจากมาตรา ๒๔๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้ตรากฎหมายเพื่อกำหนดรายละเอียดให้เป็นไปตามมาตรา ๒๔๘ ดังกล่าว
       ๒ เรื่อง คือ เรื่องที่หนึ่ง กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเรื่องที่สอง กำหนดหลักเกณฑ์การเสนอปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล5

                   
        ๒.๓ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการชี้ขาดอำนาจหน้าที่
       ระหว่างศาล พ.ศ. .... ของรัฐสภา


                   
        สภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการในวาระที่ ๑ เมื่อวันพุธที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจำนวน ๒๖ คน ต่อมาที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้ลงมติ
       ตั้งบุคคลสภาละ ๑๐ คน เป็นคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราช-บัญญัติฉบับนี้ ตามมาตรา ๑๗๕ (๓) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

                   
       ๑) ผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมกัน6

                   
       วุฒิสภาได้แก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. .... ของสภาผู้แทนราษฎรในมาตรา ๒ มาตรา ๓ มาตรา ๔ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๑ โดยคณะกรรมาธิการร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
       ได้ร่วมกันพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบตามร่างของวุฒิสภาทั้งหมด

                   
       ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๒ มีมติ
       เห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเสนอ จำนวน ๑๕๙ ท่าน ไม่เห็นชอบ ๑ ท่าน การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร กรณีเมื่อสภาผู้แทนราษฎรยืนยันตามร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินี้ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ตามมาตรา ๑๗๖ วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๑๐๔ ก ลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๒)


       


       
เชิงอรรถ


       
                   
       1. “ระบบศาลเดี่ยว” คือ ระบบที่ให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคดีทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีปกครอง โดยให้ผู้พิพากษาซึ่งมีคุณสมบัติและความรู้ทางกฎหมายเป็นการทั่วไป (Generalist) เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยคดีปกครอง ระบบนี้ใช้อยู่ในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ (Common Law) เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์แบบเดียวกับอังกฤษ

                   
       “ระบบศาลคู่” คือ ระบบที่ให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคดีแพ่งและคดีอาญาเป็นหลักเท่านั้น ส่วนการพิจารณาวินิจฉัยคดีปกครองให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง ซึ่งมีระบบศาลชั้นต้นและศาลสูงสุดของตนเอง มีระบบผู้พิพากษาและองค์กรบริหารงานบุคคลเป็นเอกเทศต่างหากจากระบบศาลยุติธรรม โดยผู้พิพากษา
       ศาลปกครองจะมีคุณสมบัติเฉพาะและมีความเชี่ยวชาญทางกฎหมายปกครองเป็นพิเศษ ระบบนี้ใช้อยู่ในประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) เช่น ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม อิตาลี เยอรมัน ออสเตรเลีย สวีเดน และฟินแลนด์

                   
       (อ้างใน โภคิน พลกุล, “ท่านปรีดีกับศาลปกครอง”, วารสารวิชาการศาลปกครอง ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ (พฤษภาคม – สิงหาคม ๒๕๔๔) หน้า ๑๐๕)
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       2. รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๒๓ (เป็นกรณีพิเศษ) จันทร์ที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๐
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       3. องค์การชี้ขาดกรณีปัญหาการแบ่งแยกเขตอำนาจระหว่างศาลปกครองกับศาลยุติธรรมในประเทศฝรั่งเศส
       ศาลระงับความขัดแย้ง
(Le Tribunal des Conflits)

                   
       วัตถุประสงค์ที่มีศาลระงับความขัดแย้งก็เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางด้านเขตอำนาจศาลระหว่างศาลปกครองกับศาลยุติธรรม เพราะเมื่อมีคดีเกิดขึ้นและมีการนำไปฟ้องศาลทั้งสองศาลคือ ศาลปกครองและศาลยุติธรรม อาจจะ
       เห็นว่าตนมีอำนาจพิจารณา (Conflit positif) หรืออาจจะเห็นว่าตนต่างก็ไม่มีอำนาจพิจารณา (Conflit negatif) ดังนี้
       จึงจำเป็นต้องมีองค์กรอีกองค์กรหนึ่งมาชี้ขาดว่าคดีดังกล่าวนั้นควรอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด
       องค์กรนี้ก็คือศาลระงับความขัดแย้ง
       จุดประสงค์สำคัญของการมีศาลระงับความขัดแย้งก็เพื่อให้หลักการแบ่งแยกเขตอำนาจศาลระหว่าง
       ศาลปกครองกับศาลยุติธรรมดำเนินไปด้วยดี

                   
       องค์ประกอบ

                   
       ประธานของศาลระงับความขัดแย้ง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กองไซเยร์เดตาห์สามัญ ๓ คน กองไซเยร์ ประจำศาลฎีกา ๓ คน ทั้ง ๖ คน จะได้รับเลือกมาจากสมาชิกในองค์กรของตน นอกจากนี้มีสมาชิกอีก ๒ คน
       และสมาชิกสำรอง ๒ คน ที่ได้รับเลือกจากบุคคลทั้ง ๗ การเลือกสมาชิก ๔ คนหลังนี้มักถือเป็นประเพณีว่าจะเลือก
       มาจากศาลปกครองและศาลยุติธรรม ฝ่ายละเท่า ๆ กัน

                   
       สมาชิกทุกคนดำรงตำแหน่งคราวละ ๓ ปี และอาจเป็นต่อไปได้อีกโดยไม่มีการจำกัดจำนวนครั้งหรือ
       ระยะเวลา

                   
       กลไกการดำเนินงานของศาลระงับความขัดแย้งนี้คล้าย ๆ กับศาลปกครอง รูปแบบคำวินิจฉัยก็ใช้รูปแบบของกองเซย์ เดตาห์ ศาลระงับความขัดแย้งไม่ได้ถูกผูกพันว่าจะต้องนำเอากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือหลัก
       ทั่วไปของวิธีพิจารณาความมาใช้

                   
       ข. อำนาจหน้าที่

                   
       ศาลระงับความขัดแย้ง เป็นศาลที่มีอำนาจเฉพาะเรื่อง คือ ตัดสินปัญหาความขัดแย้งบางประการที่อาจเกิดขึ้นระหว่างศาลยุติธรรมกับศาลปกครองของฝรั่งเศส ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ เนื่องมาจากเขตอำนาจของศาลที่ต่างระบบกัน
       ถ้าเป็นศาลที่อยู่ในระบบเดียวกันแล้ว องค์กรชี้ขาดตัดสินข้อขัดแย้งก็คือศาลสูงสุดของระบบนั้น ๆ

                   
       แม้ในกรณีที่อำนาจหน้าที่ของศาลระงับความขัดแย้ง จะถูกจำกัดให้อยู่ภายใต้กรอบของหลักว่าด้วยการ
       แบ่งแยกเขตอำนาจระหว่างศาลยุติธรรมกับศาลปกครอง คำวินิจฉัยของศาลระงับความขัดแย้งก็ยังมีอิทธิพลต่อกฎหมายที่จะบังคับใช้อย่างมาก กล่าวคือ การวินิจฉัยว่าศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษา
       คดีใดคดีหนึ่ง ย่อมหมายถึงการนำเอาหลักกฎหมายมหาชน หรือกฎหมายเอกชนมาใช้บังคับแก่คดีนั้น เช่น ถ้าวินิจฉัยว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาคดีใดคดีหนึ่ง โดยทั่วไปศาลปกครองจะใช้หลักกฎหมายมหาชน

                   
       นอกจากนี้ศาลระงับความขัดแย้งก็ยังมีอิทธิพลในแง่ของการวางหลักเกณฑ์ในการกำหนดเขตอำนาจและความสัมพันธ์ระหว่างเขตอำนาจ กับเนื้อหาของเรื่องทั้งของศาลปกครองและศาลยุติธรรม

                   
       สรุปแล้วบทบาทของศาลระงับความขัดแย้งก็คือ การพยายามทำให้คำพิพากษาของทั้งศาลปกครองและ
       ศาลยุติธรรมกลมกลืนกันและเพื่อที่จะกำหนดเขตอำนาจของศาลทั้งสองให้ชัดเจน อย่างไรก็ดีมิได้หมายความว่า
       ศาลระงับความขัดแย้งจะเป็นศาลสูงสุดของศาลปกครองและศาลยุติธรรม

                   
       (โภคิน พลกุล, “คดีปกครองในฝรั่งเศส”, ในเอกสารการสัมมนาทางวิชาการเรื่องการจัดตั้งองค์กรชี้ขาด
       ข้อพิพาทการปกครอง : ๙๒ – ๑๐๐)
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       4. สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ....

                   
       ๑) องค์ประกอบของคณะกรรมการ

                   
       ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง และประธานศาลอื่น เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกำหนด
       บทเฉพาะกาลให้หัวหน้าสำนักตุลาการทหารเป็นกรรมการโดยตำแหน่งในฐานะประธานศาลอื่น ก่อนที่จะมีการกำหนดชื่อตำแหน่งประธานศาลทหารให้ถูกต้อง สำหรับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ๔ คน กำหนดให้ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง
       ศาลทหาร คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญในกิจการของศาลนั้นศาลละหนึ่งคน และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยของรัฐอีกหนึ่งคน ทั้งนี้ เพื่อให้องค์ประกอบของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้มีการคัดเลือกบุคคลที่มี
       ความเหมาะสมและเชี่ยวชาญในกิจการศาลและในทางวิชาการเพื่อทำหน้าที่ให้สอดคล้องกับภาระหน้าที่ที่จะต้องพิจารณาลักษณะคดีว่าจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด (ตามร่างของกระทรวงยุติธรรม มิได้กำหนดให้ศาลทหารเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้มาจากผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ตุลาการพระธรรมนูญในศาลทหารสูงสุด อาจารย์คณะนิติศาสตร์ และสามัญสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา)

                   
       ๒) เลขานุการของคณะกรรมการ

                   
       มิได้กำหนดตำแหน่งเลขานุการไว้ในร่าง กำหนดแต่เพียงให้หน่วยงานธุรการของศาลยุติธรรมทำหน้าที่หน่วยงานธุรการของคณะกรรมการ และให้คณะกรรมการมีอำนาจออกข้อบังคับกำหนดรายละเอียดในการปฏิบัติ
       หน้าที่ให้เหมาะสมได้


                   
       (ตามร่างของกระทรวงยุติธรรม กำหนดให้เลขานุการศาลฎีกาเป็นเลขานุการคณะกรรมการ โดยมีหน้าที่
       สรุปข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเสนอคณะกรรมการด้วย)

                   
       ๓) อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการในการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

                   
       การยกปัญหาเกี่ยวกับอำนาจศาลสามารถกระทำได้ก่อนมีคำพิพากษา และอาจหยิบยกขึ้นในศาลใดก็ได้
       โดยไม่จำกัดเฉพาะศาลชั้นต้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา ๒๔๘ ของรัฐธรรมนูญ และก่อนที่จะมีการเสนอเรื่องต่อ
       คณะกรรมการต้องให้ศาลสูงสุดของแต่ละระบบที่ได้รับเรื่องนั้นพิจารณาให้ความเห็น ถ้ามีความเห็นขัดแย้งกับศาลเดิมที่รับคำฟ้องจึงจะส่งให้คณะกรรมการพิจารณา นอกจากนี้กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจวินิจฉัยเฉพาะเขตอำนาจศาล
       ซึ่งหมายถึงอำนาจในการรับฟ้องคดี โดยไม่รวมถึงผลของคำพิพากษา เพราะจะเป็นการขัดแย้งกับมาตรา ๒๓๓
       ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคณะกรรมการมิได้มีฐานะเป็นศาลที่จะวินิจฉัยให้มีผลลบล้างคำพิพากษาของศาลได้

                   
       (ตามร่างของกระทรวงยุติธรรม กำหนดให้การยกปัญหาเกี่ยวกับอำนาจศาลกระทำได้เฉพาะในศาลชั้นต้นและต้องก่อนเริ่มสืบพยานเท่านั้น และในกรณีที่มีปัญหาดังกล่าวถ้าศาลชั้นต้นแต่ละศาลเห็นพ้องกัน ห้ามคู่ความหรือศาลสูงยกปัญหาขึ้นพิจารณาอีก นอกจากนั้น ได้กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจวินิจฉัยว่าจะให้ถือตามคำพิพากษาของศาลใดในกรณีที่มีคำพิพากษาของศาลขัดแย้งกันด้วย)

                   
       เนื่องจากความเห็นเกี่ยวกับหลักการของร่างพระราชบัญญัตินี้มีข้อแตกต่างกันเป็นอย่างมากและผู้แทนกระทรวงยุติธรรมยังคงยืนยันหลักการเดิมทุกประการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงมิได้แก้ไขในร่างเดิม
       ของกระทรวงยุติธรรม เพราะกลไกของกฎหมายทั้งฉบับมีความคิดเห็นแตกต่างกันดังกล่าว และได้จัดทำร่าง
       พระราชบัญญัตินี้ขึ้นใหม่เป็นอีกฉบับหนึ่ง

                   
       (อ้างใน หนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๖๐๑/๙๗๙ ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๑)
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       5. มีสาระของร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ....

                   
       ๑) องค์ประกอบของคณะกรรมการ

                   
       ประกอบด้วยกรรมการ ๒ ประเภท ตามมาตรา ๒๔๘ ของรัฐธรรมนูญ คือ กรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ดังนี้

                   
       ๑.๑) กรรมการโดยตำแหน่ง กำหนดขึ้นตามมาตรา ๒๔๘ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้บัญญัติผู้จะเป็นกรรมการโดยตำแหน่งไว้แล้ว ได้แก่ ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน และประธานศาลปกครองสูงสุด กับประธานศาลอื่นเป็นกรรมการ และเนื่องจากตามมาตรา ๒๔๘ รวมทั้งบทบัญญัติต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญได้แยกศาลอื่นออกจากศาล
       ที่มีอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญคือศาลยุติธรรม ศาลปกครองและศาลทหาร ด้วยเหตุนี้ ศาลอื่นที่กล่าวถึงในมาตรา ๒๔๘ นี้จึงไม่รวมถึงศาลทหาร แต่มุ่งหมายถึงศาลที่มีการจัดตั้งขึ้นภายหลังนอกเหนือจากศาลยุติธรรม ศาลปกครองและ
       ศาลทหาร ฉะนั้น ในการกำหนดกรรมการโดยตำแหน่งตามร่างพระราชบัญญัตินี้จึงกำหนดไว้ตามบทบัญญัติของมาตรา ๒๔๘ ของรัฐธรรมนูญ โดยในขณะนี้เมื่อยังไม่มีการจัดตั้งศาลอื่น กรรมการโดยตำแหน่งจะมีเพียงประธาน
       ศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด และเมื่อมีการจัดตั้งศาลอื่นขึ้นประธานของศาลอื่นดังกล่าวจะเป็นกรรมการโดยตำแหน่งเพิ่มขึ้นในภายหลังด้วย

                   
       ๑.๒) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยเหตุที่คณะกรรมการตามร่างพระราชบัญญัตินี้จะมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ระหว่างศาลต่าง ๆ ฉะนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิที่จะสามารถทำหน้าที่ดังกล่าวให้มี
       ประสิทธิภาพได้ จึงจำเป็นต้องเป็นผู้ที่เข้าใจในระบบของศาลแต่ละศาลเป็นอย่างดีเพียงพอ โดยควรจะมีประสบการณ์ในการชี้ขาดคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลมาแล้วระยะหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ การกำหนดองค์ประกอบของกรรมการผู้ทรง
       คุณวุฒิจึงกำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ของแต่ละศาลที่มีอยู่ในขณะนี้คัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้และประสบการณ์ในการพิจารณาพิพากษาคดีของแต่ะลศาลนั้นเป็นกรรมการ และโดยที่มาตรา ๒๔๘ ของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติจำนวน
       ผู้ทรงคุณวุฒิไว้ว่าไม่เกิน ๔ คน แต่ศาลต่าง ๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้มีอยู่เพียง ๓ ศาล คือ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง
       ศาลทหาร ฉะนั้น นอกจากการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากศาลต่าง ๆ รวม ๓ คนแล้ว จึงให้กรรมการทั้งหมดคัดเลือกผู้มีความรู้และมีประสบการณ์ด้านกฎหมายที่มิใช่ผู้พิพากษาหรือตุลาการเป็นกรรมการอีก ๑ คน เพื่อให้มีบุคคลที่เป็นกลางและเสนอความคิดเห็นที่อาจเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยของคณะกรรมการได้อย่างรอบคอบ
       ยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีทั้งหมด ๔ คน ครบตามมาตรา ๒๔๘ ของรัฐธรรมนูญ

                   
       สำหรับการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้กำหนดให้เป็นไปตามวิธีการของแต่ละองค์กรที่เป็นผู้คัดเลือกเป็นผู้กำหนดขึ้น โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีวาระ ๔ ปี

                   
       ๒) หลักเกณฑ์การเสนอปัญหาและการวินิจฉัยปัญหาของคณะกรรมการ

                   
       โดยที่ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลนั้น อาจมีได้ ๒ ลักษณะ คือ กรณีแรก ก่อนมีคำพิพากษาของศาลอาจมีปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลว่าคดีที่ฟ้องควรจะอยู่ในอำนาจของศาลใดเป็นผู้พิจารณา และ
       กรณีที่สอง ถ้าไม่มีการหยิบยกปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลไว้ตั้งแต่ต้น และได้มีคำพิพากษาในคดีที่ฟ้อง ๒ ศาล ขัดแย้งกันจนคู่ความไม่อาจปฏิบัติตามได้ ฉะนั้น การกำหนดหลักเกณฑ์การเสนอปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลต่อคณะกรรมการ จึงได้กำหนดให้สอดคล้องกับลักษณะของปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ดังกล่าว ดังนี้

                   
       ๒.๑) กรณีปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาล ซึ่งมีได้ ๒ กรณี คือ

                   
       ๒.๑.๑ กรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลหนึ่งไว้แล้ว แต่มีปัญหาโต้แย้งว่าคดีอยู่ในอำนาจของ
       อีกศาลหนึ่ง ซึ่งมิได้มีการฟ้องคดีต่อศาลนั้น

                   
       ๒.๑.๒ กรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาล ๒ ศาล โดยเป็นคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกัน

                   
       เมื่อมีกรณีดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้น ร่างพระราชบัญญัตินี้ได้บัญญัติวิธีดำเนินการไว้ ดังนี้

                   
       (ก) การยกปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาล กำหนดให้สามารถหยิบยกขึ้นอ้างได้ทั้งคู่ความและโดยศาลเห็นเอง สำหรับคู่ความนั้น กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีร้องต่อศาลที่รับฟ้องได้ว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลอื่น โดยต้องยกคำร้องเสียตั้งแต่เริ่มคดีเพื่อมิให้มีการประวิงคดีให้คดีล่าช้า แต่เนื่องจากวิธีพิจารณาของแต่ละศาลแตกต่างกันจึงต้องกำหนดให้สอดคล้องกับวิธีพิจารณาดังกล่าว โดยในศาลยุติธรรมและศาลทหารให้ยื่นคำร้องก่อนวันสืบพยาน ส่วนในศาลปกครองหรือศาลอื่นให้ยื่นก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก แต่สำหรับกรณีของศาลนั้นยังคงให้มีอำนาจหยิบยก
       เขตอำนาจศาลขึ้นได้โดยตลอดก่อนที่จะมีคำพิพากษา ทั้งนี้ เพื่อมิให้มีการพิพากษาคดีโดยศาลรู้อยู่ว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของตน

                   
       (ข) การดำเนินการของศาลที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีการยกปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้น ให้ศาลที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นของตนเองว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด ถ้ามีความเห็นตรงกันให้ศาลเดิมพิจารณาคดีต่อไปหรือโอนคดีไปยังศาลที่มีเขตอำนาจ และให้กรณีดังกล่าวเป็นอันยุติจะเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการไม่ได้อีก แต่ถ้าศาล
       ที่เกี่ยวข้องมีความเห็นแตกต่างกัน ให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณา

                   
       (ค) การพิจารณาของคณะกรรมการ ในกรณีที่ได้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีที่ฟ้องอยู่ในอำนาจของศาลใด และเมื่อมีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแล้ว ให้ศาลเดิมพิจารณาคดีต่อไปหรือสั่งโอนคดีหรือจำหน่ายคดี ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการต่อไป

                   
       ๒.๒) กรณีปัญหาคำพิพากษาขัดแย้งกัน ในกรณีที่มีการฟ้องคดีที่มีข้อเท็จจริงอย่างเดียวกัน ๒ ศาล
       และคำพิพากษาของศาลดังกล่าวขัดแย้งกัน ซึ่งมีผลทำให้คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่อาจปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ ฉะนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงกำหนดให้คู่ความหรือบุคคลนั้นสามารถยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการได้ด้วย และให้คณะกรรมการกำหนดแนวทางการปฏิบัติตามคำพิพากษาที่ขัดแย้งนั้น เพื่อให้คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติให้เป็นผลต่อไปได้

                   
       ๓) วิธีการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ โดยที่อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าวมีลักษณะเป็นการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาระหว่างศาลด้วยกัน และองค์ประกอบของคณะกรรมการส่วนใหญ่จะมาจากตัวแทนของ
       แต่ละศาล ฉะนั้น วิธีการปฏิบัติงานจึงกำหนดให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการจะกำหนดเป็นข้อบังคับ เพื่อให้สามารถกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับลักษณะคดีของแต่ละศาลได้ต่อไป อนึ่ง โดยที่ประธานศาลฎีกา
       เป็นประธานจึงกำหนดให้เลขานุการศาลฎีกาเป็นเลขานุการ และมีหน้าที่ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

                   
       นอกจากนี้ โดยที่ลักษณะคดีของแต่ละศาลในปัจจุบันนี้ คดีที่อาจมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลจะได้แก่ คดีที่ฟ้องต่อศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ด้วยเหตุนี้ จึงกำหนดเป็นบทเฉพาะกาลให้มีการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นเมื่อมีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นแล้ว เพื่อให้มีกรรมการครบองค์ประกอบตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
       และตามร่างพระราชบัญญัตินี้

                   
       คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๒ ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วย
       การวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และนายกรัฐมนตรีได้ส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเป็นเรื่องด่วนต่อไป

                   
       (อ้างใน หนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร ๐๒๐๔/๑๔๓๖ ลงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒)
       
[กลับไปที่บทความ]


       
       6. ผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมกัน

                   
       ๑) วุฒิสภาได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างของสภาผู้แทนราษฎรในมาตรา ๒ เป็นดังนี้

                   
       “พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นหกสิบวันนับตั้งแต่วันที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองมีผลใช้บังคับประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป”

                   
       คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบตามร่างของวุฒิสภา

                   
       ๒) วุฒิสภาได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างของสภาผู้แทนราษฎรในมาตรา ๓ เป็นดังนี้

                   
       “ในพระราชบัญญัตินี้

                   
       “ศาล” หมายความว่า ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น

                   
       “ศาลยุติธรรม” หมายความว่า ศาลทั้งหลายตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือศาลที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นและกำหนดให้อยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม หรือกำหนดให้เป็นศาลยุติธรรม

                   
       “ศาลปกครอง” หมายความว่า ศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครอง

                   
       “ศาลทหาร” หมายความว่า ศาลทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร

                   
       “ศาลอื่น” หมายความว่า ศาลที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นและมิใช่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลทหาร

                   
       “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

                   
       “กรรมการ” หมายความว่า กรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล”

                   
       คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาแล้ว มีมติให้แก่ไขเพิ่มเติมความในมาตรา ๓ เป็นดังนี้

                   
       “ในพระราชบัญญัตินี้

                   
       “ศาล” หมายความว่า ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น

                   
       “ศาลยุติธรรม” หมายความว่า ศาลทั้งหลายตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม หรือศาลทีมีกฎหมายจัดตั้งขึ้นและกำหนดให้อยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม หรือกำหนดให้เป็นศาลยุติธรรม

                   
       “ศาลปกครอง” หมายความว่า ศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครอง

                   
       “ศาลทหาร” หมายความว่า ศาลทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร

                   
       “ศาลอื่น” หมายความว่า ศาลที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นและมิใช่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลทหาร

                   
       “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

                   
       “กรรมการ” หมายความว่า กรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล”

                   
       ๓) วุฒิสภาได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างของสภาผู้แทนราษฎรในมาตรา ๔ เป็นดังนี้

                   
       “ให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการ ประธานศาลปกครองสูงสุด หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกินสี่คนเป็นกรรมการ
       
[กลับไปที่บทความ]


       


       
       


       



       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2545

       



1 | 2
หน้าถัดไป

 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544