หน้าแรก บทความสาระ
องค์กรชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
รศ.ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์
20 ธันวาคม 2547 17:15 น.
 

       
บทที่ 1

       เหตุผลและความจำเป็นในการจัดตั้งองค์กรชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล


                   
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 248 กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น

                   
       การกำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลนี้ เป็นของใหม่ซึ่งเพิ่งจะมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ เนื่องมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้จัดตั้งองค์กรต่างๆขึ้นมามากมายรวมทั้งจัดตั้งศาลประเภทอื่นขึ้นมานอกเหนือจากศาลยุติธรรมซึ่งมีอยู่แล้วกว่าร้อยปี


       
       1.1 จากระบบศาลเดี่ยวมาเป็นระบบศาลคู่


                   
       เดิมระบบศาลของประเทศไทยเป็น "ระบบศาลเดี่ยว" คือ มีศาลยุติธรรมแต่เพียงศาลเดียวที่มี
       อำนาจพิจารณาคดีทุกประเภทและมีศาลฎีกาเป็นศาลยุติธรรมสูงสุด ต่อมาเมื่อได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งกำหนดให้มี "ศาลปกครอง" แยกต่างหากจากศาลยุติธรรม จึงทำให้ระบบศาลของประเทศไทยกลายเป็น "ระบบศาลคู่"

                   
       ก. ระบบศาลเดี่ยว ระบบศาลเดี่ยว ได้แก่ ระบบศาลของประเทศที่ไม่มีการแบ่งแยกกฎหมายและศาล คือ ให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดคดีต่างๆทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง หรือคดีประเภทอื่น ประเทศที่ใช้ระบบนี้จะได้แก่ ประเทศอังกฤษ ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์แบบเดียวกับประเทศอังกฤษ รวมทั้งประเทศไทยก่อนที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน

                   
       ข. ระบบศาลคู่ ระบบศาลคู่ ได้แก่ ระบบศาลของประเทศที่ให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดคดีแพ่งและคดีอาญาเท่านั้น ส่วนการวินิจฉัยชี้ขาดคดีปกครองนั้นอยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลปกครองซึ่งมีระบบศาลและระบบผู้พิพากษาแยกต่างหากจากระบบศาลและระบบผู้พิพากษาของศาลยุติธรรม ประเทศที่ใช้ระบบนี้จะได้แก่ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศเบลเยี่ยม

                   
        เมื่อรัฐธรรมฉบับปัจจุบันได้บัญญัติให้มีศาลปกครองขึ้นแยกต่างหากจากศาลยุติธรรม ดังนั้น ประเทศไทยจึงกลายเป็นประเทศที่ใช้ระบบศาลคู่ ซึ่งโดยทั่วไปนั้นการจัดระเบียบศาลของประเทศที่มีระบบศาลเป็นระบบศาลคู่ จะมีลักษณะดังนี้ คือ1

                   
       (1) ศาลแต่ละประเภท คือ ศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ต่างประกอบด้วย ศาล
       ชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลสูงสุด

                   
       (2) มีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างศาลยุติธรรมและศาลปกครองอย่างเด็ดขาดโดยมี
       หลักการว่า การตัดสินคดีใดต้องนำหลักการของกฎหมายเอกชนมาบังคับใช้ การตัดสินคดีนั้นเป็นอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีความชำนาญพิเศษทางกฎหมายเอกชน ส่วนการตัดสินคดีใดต้องนำหลักการของกฎหมายมหาชนมาบังคับใช้ การตัดสินคดีนั้นเป็นอำนาจของศาลปกครองซึ่งเป็นศาลที่มีความชำนาญพิเศษทางกฎหมายมหาชน

                   
        (3) ศาลยุติธรรมและศาลปกครองต่างเป็นอิสระซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่คำพิพากษาของศาลแต่ละประเภทซึ่งเป็นศาลชั้นต้นไม่อยู่ในความควบคุมของศาลอุทธรณ์และศาลสูงสุดซึ่งเป็นศาลต่างประเภทกัน กล่าวคือ คำพิพากษาของศาลยุติธรรมที่เป็นศาลชั้นต้น จะต้องอุทธรณ์ต่อศาลยุติธรรมระดับอุทธรณ์และฎีกาต่อศาลยุติธรรมสูงสุด เช่นเดียวกับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นจะต้องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองระดับอุทธรณ์และฎีกาต่อศาลปกครองสูงสุด

                   
        (4) มีการแบ่งแยกผู้พิพากษาศาลยุติธรรมและผู้พิพากษาศาลปกครองอย่างเด็ดขาด

                   
        เมื่อประเทศไทยกลายมาเป็นระบบศาลคู่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึง "การแบ่งแยกอำนาจ" ระหว่างศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ซึ่งโดยปกติทั่วๆไปนั้นประเทศต่างๆที่ใช้ระบบศาลคู่จะให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนโดยทั่วไป ส่วนศาลปกครองจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เอกชนพิพาทกับฝ่ายปกครองเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครอง


       
       1.1 เขตอำนาจศาลยุติธรรมและศาลปกครอง


                   
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติถึงเขตอำนาจของศาลยุติ
       ธรรมและศาลปกครองไว้แยกต่างหากจากกัน ดังนี้

                   
       ก. เขตอำนาจศาลยุติธรรม รัฐธรรมนูญมาตรา 271 ได้บัญญัติไว้ให้ศาลยุติธรรมมี
       อำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น เช่น ศาลปกครองหรือศาลทหาร เป็นต้น ดังนั้น เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นและเป็นข้อพิพาทที่ไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น ประชาชนย่อมนำข้อพิพาทดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมได้

                   
       ข. เขตอำนาจศาลปกครอง ศาลปกครอง ได้แก่ สถาบันหรือองค์กรที่มีความเชี่ยว
       ชาญในด้านกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทหรือโต้แย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่ โดยศาลปกครองจะมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ คือ ตรวจสอบการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนพอเพียงแล้วหรือไม่ ถ้าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ถูกต้อง ศาลปกครองก็จะวินิจฉัยให้ยกเลิกเพิกถอนคำสั่งหรือการกระทำดังกล่าว2

                   
        รัฐธรรมนูญมาตรา 276 ได้บัญญัติไว้ให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็น
       (1) ข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการ
       ส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน

                   
        (2) ข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกัน ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย

                   
        เมื่อพิจารณาเขตอำนาจของศาลยุติธรรมและเขตอำนาจของศาลปกครองดังที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่า ศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนหรือระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน ส่วนศาลยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคดีอื่นนอกเหนือจากคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ซึ่งก็คือการพิจารณาวินิจฉัยคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกัน


       
       1.2 การขัดกันในเขตอำนาจศาลระหว่างศาลยุติธรรมกับศาลปกครอง


                   
       เมื่อมีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นแยกต่างหากจากศาลยุติธรรมอาจเกิดปัญหาขึ้นว่า เมื่อมีข้อ
       พิพาทเกิดขึ้น ข้อพิพาทนั้นจะอยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลใด โดยอาจมีกรณีเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ ศาลแต่ละศาลต่างเห็นว่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้นอยู่ในเขตอำนาจของตน หรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจของตน

                   
       ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงได้กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลอื่นๆ และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกินสี่คนตามที่กฎหมายบัญญัติเป็นกรรมการพิจารณากรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น

                   
       การขัดกันในเขตอำนาจศาลระหว่างศาลยุติธรรมกับศาลปกครองอาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นต้นแบบของระบบศาลคู่แล้ว จะเห็นได้ว่าเกิดการขัดกัน (conflict) ระหว่างศาลยุติธรรมและศาลปกครองบ่อยครั้ง ซึ่งประเทศฝรั่งเศสก็ได้จัดตั้งองค์กรขึ้นมาองค์กรหนึ่ง คือ ศาลคดีขัดกัน (Tribunal des conflits) มีอำนาจตัดสินชี้ขาดเพื่อระงับการขัดกันในเรื่องเขตอำนาจศาลดังจะได้ศึกษาต่อไป


       

บทที่ 2

       ศาลคดีขัดกัน : องค์กรผู้ทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาด

       อำนาจหน้าที่ระหว่างศาลในประเทศฝรั่งเศส
3

       


                   
        ศาลคดีขัดกัน (Tribunal des conflits) เกิดขึ้นเนื่องจากประเทศฝรั่งเศสมี 2 ระบบที่แยกจากกันอย่างเด็ดขาดและต่างก็เป็นอิสระจากกัน นั่นคือ ระบบการพิจารณาคดีปกครองอันเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการบริหารราชการของฝ่ายปกครองซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินการของสภาแห่งรัฐ (Conseil d'Etat) และระบบการพิจารณาคดีแพ่งและคดีอาญาอันเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินการของศาลยุติธรรม และเมื่อเกิดปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในเขตอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลใด ก็จะเป็นหน้าที่ของศาลคดีขัดกันที่จะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด


                   
       
       2.1 ความเป็นมา


                   
       แต่เดิมนั้นประเทศฝรั่งเศสได้ให้การยอมรับในหลักที่ว่า คดีแพ่งกับคดีอาญาและคดีปกครอง
       แยกต่างหากจากกัน กล่าวคือ คดีแพ่งกับคดีอาญาควรอยู่ในอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดของศาลยุติธรรม ส่วนคดีปกครองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองไม่ควรอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม เนื่องจากชาวฝรั่งเศสมีแนวความคิดว่าการพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับฝ่ายปกครองเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองด้วย ดังคำที่กล่าวว่า "juger l'administration, c'est encore administrer" ดังนั้น ผู้ที่จะพิจารณาพิพากษาคดีปกครองจึงควรเป็นผู้เชี่ยวชาญคดีปกครองและมีวิญญาณของนักบริหารงานทางปกครอง เพื่อที่จะได้ตระหนักถึงผลกระทบของคำวินิจฉัยของศาลที่จะมีต่อการบริหารราชการเพื่อสาธารณประโยชน์4

                   
       เมื่อเกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่เพื่อล้มเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในปี ค.ศ.1789 แนวความคิดดังกล่าวก็ยังได้รับการยอมรับและนำมาปฏิบัติ โดยในปี ค.ศ.1799 ได้มีการจัดตั้งสภาแห่งรัฐ (Conseil d'Etat) ขึ้นโดยมีอำนาจหน้าที่ 2 ประการ คือ ร่างกฎหมายให้แก่ฝ่ายบริหารและเป็นที่ปรึกษาของฝ่ายบริหาร และในฐานะที่เป็นที่ปรึกษาของฝ่ายบริหารนี้เองที่สภาแห่งรัฐได้รับมอบหมายให้เป็นผู้พิจารณา "คดีปกครอง" อันมีที่มาจากคำร้องทุกข์ของราษฎรเกี่ยวกับการกระทำของฝ่ายปกครอง โดยในระยะแรกนั้น สภาแห่งรัฐยังไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีปกครองด้วยตนเอง สภาแห่งรัฐจะต้องเสนอแนะคำวินิจฉัยของตนต่อประมุขของฝ่ายบริหารให้เป็นผู้พิจารณาว่าจะวินิจฉัยชี้ขาดตามที่สภาแห่งรัฐเสนอแนะหรือไม่ ซึ่งในทางปฏิบัติประมุขของฝ่ายบริหารมักจะวินิจฉัยชี้ขาดตามที่สภาแห่งรัฐเสนอแนะเสมอ5 ระบบนี้เรียกว่า la justice retenue

                   
       ต่อมาในปี ค.ศ.1872 ได้มีการตรารัฐบัญญัติมอบอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีปกครองให้แก่สภาแห่งรัฐ โดยมีอิสระในการตัดสินชี้ขาดคดีปกครองด้วยตัวเอง กฎหมายดังกล่าวจึงมีผลทำให้ประเทศฝรั่งเศสมี "ระบบศาลคู่" คือ มีระบบศาลที่เป็นเอกเทศจากระบบศาลยุติธรรม ระบบนี้เรียกว่า la justice déléguée

                   
       ศาลคดีขัดกันเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1848 โดยรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1848 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 89 ว่า ศาลคดีขัดกันประกอบด้วยพิพากษาจำนวนเท่าๆกัน ซึ่งมีที่มาจากศาลฎีกา (Cour de Cassation) และจากสภาแห่งรัฐ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ต่อมาก็ได้มีรัฐกฤษฎีกา (décret) ลงวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1849 กำหนดวิธีพิจารณาของศาลคดีขัดกันและรัฐบัญญัติ (loi) ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1850 กำหนดโครงสร้างของศาลคดีขัดกันว่ามีจำนวน 8 คน โดยมีที่มาจากศาลฎีกาและสภาแห่งรัฐจำนวนเท่าๆกัน

                   
       รัฐธรรมนูญฉบับต่อมาของฝรั่งเศสมิได้บัญญัติถึงศาลคดีขัดกันไว้ จึงทำให้ศาลคดีขัดกันหายไปจากระบบศาลของฝรั่งเศส จนกระทั่งเมื่อมีการตรารัฐบัญญัติลงวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ.1872 เรื่องมอบอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีปกครองให้แก่สภาแห่งรัฐ ก็ได้มีการจัดตั้งศาลคดีขัดกันขึ้นมาใหม่โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 25 ถึงมาตรา 27 ของกฎหมายดังกล่าวให้ศาลคดีขัดกันประกอบด้วยผู้พิพากษา 7 คน คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ผู้พิพากษาจากศาลฎีกา 3 คน และจากสภาแห่งรัฐ 3 คน พร้อมทั้งกำหนดวิธีการได้มาซึ่งผู้พิพากษาทั้ง 6 ไว้ด้วย และนอกจากนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวยังได้บัญญัติให้นำรัฐบัญญัติ ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1850 ซึ่งกำหนดโครงสร้างของศาลคดีขัดกัน และรัฐกฤษฎีกา ลงวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ.1849 อันเป็นเรื่องวิธีพิจารณาของศาลคดีขัดกันมาใช้ด้วย

                   
       จากนั้นเป็นต้นมา ศาลคดีขัดกันก็อยู่เคียงข้างกับระบบศาลคู่ของประเทศฝรั่งเศสมาตลอดจนกระทั่งปัจจุบัน


       
       2.2 องค์ประกอบ


                   
       ศาลคดีขัดกัน ประกอบด้วยผู้พิพากษา 9 คน และผู้พิพากษาสำรองอีก 2 คน คือ

                   
       ก. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทำหน้าที่เป็นประธาน

                   
       ข. ผู้พิพากษาจากศาลฎีกาจำนวน 3 คน ซึ่งมีที่มาจากการคัดเลือกกันเองของผู้พิพากษาศาล
       ฎีกา

                   
       ค. ผู้พิพากษาแผนกคดีปกครองของสภาแห่งรัฐ จำนวน 3 คน ซึ่งมีที่มาจากการคัดเลือกกันเองของผู้พิพากษาแผนกคดีปกครองของสภาแห่งรัฐ

                   
       ง. ผู้พิพากษาอีก 2 คน ซึ่งมีที่มาจากผู้พิพากษาในข้อ ข. และข้อ ค. ต่างก็ไปคัดเลือกจากผู้พิพากษาศาลฎีกา 1 คน และจากผู้พิพากษาแผนกคดีปกครองของสภาแห่งรัฐ 1 คน จากศาลของตน

                   
       จ. ผู้พิพากษาสำรอง จำนวน 2 คน ซึ่งผู้พิพากษาทั้ง 8 คน ในข้อ ข. ค. และข้อ ง. ร่วมกันคัดเลือกจากศาลฎีกา 1 คน และจากผู้พิพากษาแผนกคดีปกครองของสภาแห่งรัฐ 1 คน

                   
       ผู้พิพากษาทั้ง 8 คน และผู้พิพากษาสำรองอีก 2 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี เมื่อได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้ว ผู้พิพากษาทั้ง 8 คน จะต้องทำการคัดเลือกรองประธานศาลคดีขัดกันโดยการลงคะแนนลับ และผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องได้คะแนนเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด โดยปกตินั้นในการประชุมของศาลคดีขัดกันรองประธานศาลคดีขัดกันจะเป็นผู้ดำเนินการประชุมและทำหน้าที่ประธานทั้งนี้เนื่องจากเป็นประเพณีปฏิบัติต่อเนื่องกันมาว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นประธานศาลคดีขัดกันโดยตำแหน่งจะไม่เข้าร่วมประชุมของศาลคดีขัดกันเว้นแต่ในกรณีที่ที่ประชุมมีความเห็นเป็น 2 ฝ่ายและแต่ละฝ่ายต่างก็มีคะแนนเสียงเท่ากัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจึงจะไปร่วมประชุมเพื่อออกเสียงชี้ขาด

                   
       ศาลคดีขัดกันมีสถานที่ทำงานอยู่ในอาคารของสภาแห่งรัฐ เลขาธิการศาลคดีขัดกันได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจากเลขานุการแผนกคดีปกครอง (secrétaire de la section du contentieux) ของสภาแห่งรัฐ ทำหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาสำนักงานศาลคดีขัดกัน


       
       2.3 การพิจารณาของศาลคดีขัดกัน


                   
       เรื่องที่จะเข้าสู่การพิจารณาของศาลคดีขัดกันจะต้องมีการจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร โดยผู้
       พิพากษาเจ้าของคดี (rapporteur) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยผู้พิพากษาศาลคดีขัดกันจากบรรดาผู้พิพากษาศาลคดีขัดกัน เป็นผู้จัดทำเอกสารดังกล่าว

                   
       หลักเกณฑ์ที่ศาลคดีขัดกันใช้ในการเลือกผู้มาดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาเจ้าของคดีในแต่ละ
       เรื่อง คือ เรื่องที่เสนอให้ศาลคดีขัดกันพิจารณาที่มีเลขลงทะเบียนรับโดยสำนักงานศาลคดีขัดกันด้วยเลขคู่ ศาลคดีขัดกันจะแต่งตั้งผู้พิพากษาเจ้าของคดีจากผู้พิพากษาที่มาจากศาลฎีกา ส่วนเรื่องที่เสนอให้ศาลคดีขัดกันที่มีเลขลงทะเบียนรับเป็นเลขคี่ ผู้พิพากษาเจ้าของคดีก็จะได้รับการแต่งตั้งจากผู้พิพากษาที่มาจากแผนกคดีปกครองของสภาแห่งรัฐ ผู้พิพากษาเจ้าของคดีจะทำรายงานเพื่อเสนอประเด็นที่เป็นปัญหาพร้อมความเห็นของตนต่อสำนักงานศาลคดีขัดกัน เลขาธิการศาลคดีขัดกันจะส่งรายงานดังกล่าวไปยังผู้พิพากษาผู้รับผิดชอบคดีต่อไป

                   
       ผู้พิพากษาผู้รับผิดชอบคดี (commissaire du gouvernement) นั้น ได้รับแต่งตั้งโดยกระทรวงยุติธรรมจากผู้พิพากษาศาลคดีขัดกันที่มิใช่เป็นผู้พิพากษาประเภทเดียวกันกับผู้พิพากษาเจ้าของคดี ทำหน้าที่สรุปประเด็นข้อกฎหมายและเสนอความเห็นของตนต่อศาลคดีขัดกัน

                   
       ในการพิจารณาของศาลคดีขัดกัน ศาลยุติธรรมและแผนกคดีปกครองของสภาแห่งรัฐ อาจส่งทนายความ (avocat) มาร่วมชี้แจงให้ความเห็นต่อศาลคดีขัดกันได้

                   
       ศาลคดีขัดกันไม่สามารถวินิจฉัยได้หากองค์คณะประกอบด้วยผู้พิพากษาน้อยกว่า 5 คน ในการวินิจฉัยใช้วิธีลงคะแนนลับและใช้เสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากันจะต้องเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นประธานมาร่วมประชุมออกเสียงชี้ขาดด้วย

                   
       คำวินิจฉัยของศาลคดีขัดกันถือเป็นที่สุดและเด็ดขาดและมีผลใช้บังคับกับศาลยุติธรรมและแผนกคดีปกครองของสภาแห่งรัฐ


       
       2.4 เรื่องที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลคดีขัดกัน


                   
       เรื่องที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลคดีขัดกัน มี 3 ประเภท คือ

                   
       ก. การขัดกันในทางบวก (conflit positif)
ได้แก่ กรณีที่ฝ่ายปกครองเห็นว่าคดีที่ศาลยุติ
       ธรรมชั้นต้นได้รับฟ้องไว้ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ฝ่ายปกครองจึงร้องคัดค้านต่อศาลนั้น หากศาลที่รับฟ้องไว้เห็นด้วยกับฝ่ายปกครองก็จะสั่งจำหน่ายคดี แต่หากศาลที่รับฟ้องมีคำวินิจฉัยยืนยันว่าคดีนั้นอยู่ในอำนาจของตน ฝ่ายปกครองก็จะต้องเสนอเรื่องดังกล่าวต่อสำนักงานศาลคดีขัดกันภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลที่รับฟ้องมีคำวินิจฉัย ซึ่งศาลคดีขัดกันก็จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลใด

                   
       ข. การขัดกันในทางลบ (conflit négatif) ได้แก่ กรณีที่ศาลปกครองและศาลยุติธรรมต่างปฏิเสธที่จะไม่รับพิจารณาคดีโดยมีเหตุผลว่าคดีดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของตน ทั้งๆที่คดีดังกล่าวจะต้องอยู่ในเขตอำนาจของศาลใดศาลหนึ่ง

                   
        ผู้ที่สามารถร้องขอให้ศาลคดีขัดกันพิจารณาเรื่องดังกล่าว คือ ผู้มีส่วนได้เสียในคดีนั้น ซึ่งคำร้องดังกล่าวจะต้องได้รับการรับรองจากทนายความของศาลปกครองและศาลยุติธรรม และถ้าในกรณีที่ผู้มีส่วนได้เสียเป็นหน่วยงานของรัฐ ก็จะเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงซึ่งเกิดปัญหาเป็นผู้ร้องขอให้ศาลคดีขัดกันพิจารณา

                   
       
       ค. การขัดกันแห่งคำพิพากษา (conflit de jugement)
มีที่มาจากการขัดกันในทางบวก
       คือ ทั้งศาลยุติธรรมและศาลปกครองต่างก็พิจารณาคดีที่อยู่ในอำนาจของตน โดยมีโจทก์คนเดียวกันและฟ้องในเรื่องเดียวกัน เมื่อมีคำพิพากษาปรากฏว่าคำพิพากษาของทั้งสองศาลขัดแย้งกัน จึงเป็นเหตุให้โจทก์ถูกปฏิเสธความยุติธรรม

                   
        โดยทั่วๆไป การขัดกันแห่งคำพิพากษามักเกิดขึ้นในกรณีฝ่ายโจทก์ต้องการได้ค่าเสีย
       หายจากการกระทำของฝ่ายปกครองจึงแยกฟ้อง 2 ศาล เพื่อให้รับผิดทางแพ่งและทางปกครอง หากศาลปกครองวินิจฉัยว่าฝ่ายปกครองไม่ผิด แต่ศาลยุติธรรมวินิจฉัยให้มีการจ่ายค่าเสียหายให้แก่ฝ่ายโจทก์จึงเกิดการขัดการแห่งคำพิพากษาขึ้น

                   
       โจทก์ก็จะต้องยื่นขอให้ศาลคดีขัดกันพิจารณาภายใน 2 เดือนนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัยของศาล
       สุดท้าย ศาลคดีขัดกันจะพิจารณาว่าให้ถือตามคำพิพากษาของศาลใด

                   
       คำวินิจฉัยของศาลคดีขัดกันนั้นไม่เพียงแต่แก้ปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาล แต่ยังได้วางหลักต่างๆไว้ในระบบกฎหมายมหาชนของฝรั่งเศส โดยในปี ค.ศ.1873 ศาลคดีขัดกันได้ตัดสินคดีชื่อ Blanco โดยมีผลเป็นการวางหลักการในการห้ามนำกฎหมายเอกชนมาใช้ในนิติสัมพันธ์มหาชน แต่ต้องใช้หลักกฎหมายพิเศษ คือ กฎหมายมหาชน คดีดังกล่าวมีข้อเท็จจริงว่า เด็กหญิงซึ่งเป็นบุตรสาวของนาย Blanco ถูกรถยนต์ของโรงงานยาสูบของกระทรวงการคลังฝรั่งเศสชนได้รับบาดเจ็บ นาย Blanco จึงนำคดีไปฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดทางแพ่งต่อศาลยุติธรรม ฝ่ายปกครองได้ต่อสู้ว่า ศาลยุติธรรมไม่มีอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าว จึงได้มีการร้องขอให้ศาลคดีขัดกันพิจารณาเรื่องเขตอำนาจศาล ศาลคดีขัดกันได้ตัดสินว่าคดีดังกล่าวเป็นเรื่องความรับผิดของรัฐซึ่งไม่อาจนำหลักกฎหมายในประมวลกฎหมายแพ่งมาใช้บังคับได้ เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งใช้บังคับระหว่างเอกชนต่อเอกชน ดังนั้น คดีดังกล่าวจึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลปกครอง คำวินิจฉัยของศาลคดีขัดกันในเรื่องดังกล่าวนอกจากจะชี้ขาดว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองแล้ว ยังวางหลักต่อไปอีกด้วยว่าห้ามนำกฎหมายเอกชนมาใช้ในนิติสัมพันธ์มหาชน


       
       


       
เชิงอรรถ


       
                   
       1. อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ , เรียนรู้เรื่องศาลปกครองอย่างคนธรรมดา , สำนักพิมพ์วิญญูชน , พ.ศ.2540 , หน้า 15-16.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       2. บทบรรณาธิการ , วารสารกฎหมายปกครอง เล่ม 15 ธันวาคม 2539 ตอน 3 , หน้า (6).
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       3. เรียบเรียงจาก Serge PETIT, Le Tribunal des conflits, Que SAIS-JE? No.2866. D.U.F., Paris ,1994.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       4. ชาญชัย แสวงศักดิ์, ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง, สำนักพิมพ์วิญญูชน , พ.ศ.2540 , หน้า 26.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       5. ชาญชัย แสวงศักดิ์, อ้างแล้วใน (4) , หน้า 27.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
       


       
       



       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2545


       




 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544