หน้าแรก บทความสาระ
แนวความคิดอำนาจอธิปไตยในประเทศไทย
ผศ.ดร.เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์
20 ธันวาคม 2547 16:49 น.
 

       
ความนำ


                   
       นับเนื่องมาตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 มาจนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลากว่า 69 ปี ที่ประเทศไทยได้เลือกระบบการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ(la monarchie constitutionnelle) แทนระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์(la monarchie absolue)ที่มีมาแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในระบบการปกครองแบบเก่านั้นอำนาจสูงสุดเด็ดขาดอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นองค์พระประมุขของประเทศ ดังนั้นในการปกครองดังกล่าวพระมหากษัตริย์จึงเป็นทั้งจ้าวชีวิตและจ้าวแผ่นดินของอาณาประชาราษฏร์และเป็นผู้ทรงสิทธิในการใช้อำนาจอธิปไตย ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 นั้นอำนาจอธิปไตยอยู่ที่พระมหากษัตริย์แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการนำระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้และให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญจึงมีการกล่าวกันว่าอำนาจอธิปไตยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นอยู่ที่ประชาชน


       อิทธิพลของแนวความคิดตะวันตกเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย


                   
       
       ตามแนวความคิดของตะวันตก อำนาจอธิปไตยผูกติดอยู่กับรัฐๆเป็นนิติบุคคลที่ได้รับการสมมติขึ้นให้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามทฤษฎีการแยกอำนาจออกจากตัวบุคคลมาให้แก่รัฐ(l'institutionalisation du pouvoir)อำนาจดังกล่าวจึงผูกติดอยู่กับสถาบันที่เรียกกันว่ารัฐๆจึงเป็นผู้ทรงสิทธิในการใช้อำนาจอธิปไตยแต่เพียงผู้เดียว แนวความคิดอำนาจอธิปไตยนั้นมีหลากหลายแนวความคิด เช่นอำนาจอธิปไตยเป็นของพระเจ้า อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์ อำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ถ้าพิจารณาตามทฤษฎีการแยกอำนาจออกจากตัวบุคคลมาให้แก่รัฐแล้วจะเห็นได้ว่า พระเจ้า พระมหากษัตริย์ ประชาชน ชาติ(ในนามรวมของประชาชน) ก็ดีต่างก็เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยดังกล่าวแทนรัฐทั้งสิ้นเพราะรัฐนั้นเป็นนิติบุคคลจึงไม่สามารถใช้อำนาจดังกล่าวได้ด้วยตนเอง อำนาจดังกล่าวยังเป็นของรัฐอยู่ตลอดเวลา แต่การที่กล่าวว่าอำนาจดังกล่าวเป็นของประชาชน ของพระมหากษัตริย์ ของชาติ ของพระเจ้าก็ดี ต่างก็ได้สะท้อนถึงระบอบการปกครองแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นระบอบเทวาธิปไตย ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบประชาธิปไตย อิทธิพลของแนวความคิดตะวันตกดังกล่าวได้รับการถ่ายทอดไปยังนานาประเทศโดยมีการนำแนวความคิดดังกล่าวผูกติดกับอำนาจรัฐ(le pouvoir d'Etat)โดยกำหนดให้พระมหากษัตริย์ ประชาชน ชาติ หรือ พระเจ้า เป็นผู้ใช้อำนาจดังกล่าว อำนาจดังกล่าวนั้นสูงสุด เด็ดขาดในตัวของเองและไม่มีอำนาจอื่นใดจะมาจำกัดหรือริดรอนลงไปได้และได้อาศัยอำนาจดังกล่าวที่เรียกว่าอำนาจในการจัดตั้งองค์กรสูงสุด(le pouvoir constituant)ในการจัดโครงสร้างองค์กรของรัฐอันเป็นตัวแทนของรัฐในการใช้อำนาจดังกล่าวดังที่เรียกกันว่า การแบ่งแยกการใช้อำนาจ(la séparation des pouvoirs)หรือการแบ่งแยกหน้าที่(la séparation des fonctions) ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงเป็นตัวเชื่อมซึ่งแสดงออกของการใช้อำนาจสูงสุดดังกล่าวของรัฐผ่านองค์กรของรัฐที่ได้รับการจัดสร้างขึ้นมา(le pouvoir constitué) ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอำนาจอธิปไตยนั้นไม่สามารถแยกออกจากรัฐได้


       แนวความคิดอำนาจอธิปไตยของไทย


       
                   
       ทราบกันดีอยู่แล้วว่าคำว่าอำนาจอธิปไตยมีความหมายว่าเป็นอำนาจสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 นั้นประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจสูงสุดอยู่ที่พระมหากษัตริย์ ดังนั้นอำนาจสูงสุดดังกล่าวของไทยที่เรียกกันว่าอำนาจอธิปไตยในความหมายและแนวความคิดแบบตะวันตกนั้นเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอดนับแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รวบรวมอำนาจสูงสุดที่อยู่ในการดูแลของกลุ่มขุนนางกลับคืนมารวมศูนย์อำนาจอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์และได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองจากรัฐจารีตแบบราชอาณาจักรมาเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิ-ราชย์ ซึ่งมีรัฐบาลกลางที่มีการรวมศูนย์อำนาจ มีแนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตย การกำหนดเขตแดนและการเปลี่ยนไพร่ให้เป็นพลเมืองซึ่งถือได้ว่าเป็นสมัยของระบอบราชาธิปไตยแบบใหม่ของประเทศ2 ดังนั้นในรัชสมัยของพระองค์ท่านจึงกล่าวได้ว่าได้รู้จักคำว่าอำนาจอธิปไตยกันมาแล้วก่อนการเปลี่ยนแปลงในปี 2475 คำว่าอำนาจอธิปไตยของไทยได้ปรากฎอยู่ในกฎหมายสูงสุดของประเทศในนามรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 มาตรา 1 บัญญัติว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย" บทบัญญัติดังกล่าวได้ล้มเลิกแนวความคิดดั้งเดิมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศอยู่ที่พระมหากษัตริย์มาเป็นการบัญญัติรับรองอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนว่า อำนาจสูงสุดของประชาชนตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 นี้ใช้แนวความคิดอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติหรือของประชาชน และแม้ว่าตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะใช้คำว่า "เป็นของราษฎร" ก็ตาม แต่ไม่มีบทบัญญัติให้ประชาชนควบคุมการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เช่นเดียวกับแนวความคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่าในเวลานั้น ปัญหาที่ถกเถียงกันว่าอำนาจอธิปไตยควรเป็นของชาติหรือของประชาชนไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับการต่อสู้กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และการเผยแพร่ความคิดว่าอำนาจอธิปไตยหรือำนาจสูงสุดนั้นเป็นของราษฎรเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพราะไม่ว่าจะถือว่าอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดนั้นเป็นของปวงชนหรือของชาติก็เป็นการคัดค้านความคิดที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์ด้วยกันทั้งนั้น3

                   
       ถัดมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 (ฉบับถาวร) ได้มีการเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวในมาตรา 2 บัญญัติว่า"อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" และมาตรา 20 บัญญัติว่า"สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนชาวสยามมิใช่แต่เฉพาะผู้ที่เลือกตนขึ้นมา ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใดๆ"

                   
       
       ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้แถลงก่อนการเสนอร่างรัฐธรรมนูญให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยว่า"เป็นการยกเอาประเพณีของเราแต่โบราณขึ้นกล่าวซ้ำเท่านั้นเอง ถ้าเราค้นดูหนังสือโบราณ พระนามพระเจ้าแผ่นดินก็ตาม ขนบธรรมเนียมราชประเพณีราชาภิเษกก็ตาม จะปรากฎว่าความตอนหนึ่งในพระนามพระเจ้าแผ่นดินนั้นมีว่า อเนกนิกรสโมสรสมมตและในพิธีราชาภิเษกก็มีพราหมณ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงว่า พระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติโดยพระราชอำนาจที่มาจากสวงสวรรค์อย่างต่างประเทศบางแห่งเข้าใจไม่ ทั้งนี้ก็เป็นการแสดงว่าอำนาจอธิปไตยนั้นมาจากปวงชน"4 และในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนี้ ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็ได้แถลงว่า "อำนาจอธิปไตยซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า(sovereignty)คืออำนาจสูงสุดในทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร และทางตุลาการนั้นมาจากปวงชน มิใช่มาจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง มาจากชาติ คือราษฎรรวมกันทุกคนจะต่างคนต่างใช้ไม่ได้ เราเอาอำนาจนั้นมารวมกันเป็นอันหนึ่ง แล้วพระมหากษัตริย์ทรงใช้ก็จริง แต่ว่าท่านมิได้ทรงใช้ตามพระทัย ทรงใช้ตามบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ"5

                   
       มีข้อน่าสังเกตว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 ดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นถึงมีการยอมรับแนวความคิดอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติตามแนวความคิดของซีเอเย่ส์มาใช้แล้ว ดังนั้นจึงน่าจะแสดงให้เห็นว่า อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวสยามในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนั้นสะท้อนให้เห็นถึงว่ามีความหมายอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ ชาติเป็นนามรวมที่เกิดจากประชาชนในชาตินั้นรวมกันในภาพรวมทั้งหมด ตัวแทนของประชาชนในกรณีดังกล่าวจึงกลายเป็นตัวแทนของชาติภายหลังที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนในชาติแล้ว ดังนั้นผลที่ตามมาก็คือผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาจึงขาดจากประชาชนไปทันที ตรงจุดนี้เองที่เป็นข้อด้อยข้อหนึ่งของผู้ที่ไม่เห็นด้วยที่จะบัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชน โดยให้เหตุผลว่าไม่สอดคล้องกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาได้ แต่อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญของไทยทั้งหมดที่มีมานั้นต่างก็บัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทยทั้งสิ้น มีแค่ 2 ฉบับเท่านั้น ที่บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยซึ่งก็ได้แก่ มาตรา 3 แห่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 24756 และมาตรา 3 แห่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 25407

                   
       ความหมายของคำว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน หมายความว่าของประชาชนของรัฐ แต่ละคนได้รวมตัวกันเป็นสังคมและถือว่าแต่ละคนนั้นต่างเป็นผู้ทรงสิทธิส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย การแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ของส่วนรวมดังกล่าวอยู่ที่ปัจเจกชนแต่ละคนได้รับการปรึกษา กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การตัดสินใจทุกๆเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยแล้วจะต้องมีการปรึกษาหารือและสอบถามพลเมืองของรัฐ ดังนั้นแนวความคิดประชาธิปไตยทางตรงจึงเกิดขึ้น ณ.ตรงนี้ ประชาชนจึงเป็นผู้ทรงสิทธิหรือเจ้าของสิทธิในอำนาจอธิปไตย การแสดงออกซึ่งความเป็นเจ้าของสิทธิดังกล่าวก็เช่น การลงประชามติโดยประชาชน การถอดถอนผู้แทนราษฎรโดยประชาชน ในตัวอย่างดังกล่าวเป็นการแสดงออกซึ่งการใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงจากประชาชน

                   
       ในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ดังกล่าวได้มีข้อถกเถียงกันถึงว่าควรจะบัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย หรือ เป็นของปวงชนชาวไทยดี ในข้อคิดเห็นดังกล่าวได้แบ่งออกเป็น 2 ค่ายแนวคิด ดังนี้8

                   
        ฝ่ายแรกเห็นควรให้บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยโดยให้เหตุผลดังต่อไปนี้

                   
        1.อำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งโดยหลักแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยถือว่าประชาชนเป็นสำคัญ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่และอำนาจนั้นย่อมเป็นของประชาชน

                   
       2. การใช้คำว่า "อำนาจอธิปไตยมาจาก…" เป็นการใช้ที่ไม่ถูกต้องตามหลักภาษาเพราะแสดงให้เห็นว่าอำนาจอธิปไตยไม่ได้อยู่ที่ประชาชนๆไม่มีสิทธิในอำนาจอธิปไตยและไม่ถูกต้องในหลักการประชาธิปไตย กล่าวคือ โดยหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต่างก็ยอมรับว่าประชาชนทั้งประเทศย่อมไม่อาจมาใช้อำนาจโดยตรงได้ จึงบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจดังกล่าวทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล แม้การใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ทำให้คิดว่า ถ้าเป็นของประชาชนแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงใช้อำนาจไม่ได้ ซึ่งความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน อยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ อำนาจอธิปไตยนี้เดิมเป็นของพระมหากษัตริย์ จึงมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะใช้ได้ แต่แท้ที่จริงการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ย่อมมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงใช้อำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนชาวไทย จึงเป็นการถูกต้องแล้ว

                   
       3.การใช้คำว่า "มาจาก" ทำให้มีผู้แทนบางท่านการตีความว่า เมื่ออำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน ประชาชนเลือกผู้แทน ผู้แทนก็เป็นผู้แทนของประชาชนตลอดไป ไม่จำเป็นต้องรับฟังความเห็นของประชาชนอีก

                   
       ด้วยความเคารพผู้เขียนเห็นว่าในการตีความดังกล่าวนั้นน่าจะไม่ถูกต้องนัก ถ้าพิจารณาจากการวิเคราะห์ อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทยดังที่กล่าวมาข้างต้น

                   
       ฝ่ายที่สองเห็นว่า ควรบัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย โดยให้เหตุผลดังต่อไปนี้

                   
       1.ในอดีตมีรัฐธรรมนูญไทยเพียง 2 ฉบับที่บัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ของไทยใช้คำว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย โดยอ้างเหตุผลที่ปรากฏในบันทึกการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 35/2475ว่า "อำนาจอธิปไตยซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า(sovereignty)คืออำนาจสูงสุดในทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร และทางตุลาการนั้นมาจากปวงชน มิใช่มาจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง มาจากชาติ คือราษฎรรวมกันทุกคนจะต่างคนต่างใช้ไม่ได้ เราเอาอำนาจนั้นมารวมกันเป็นอันหนึ่ง แล้วพระมหากษัตริย์ทรงใช้ก็จริง แต่ว่าท่านมิได้ทรงใช้ตามพระทัย ทรงใช้ตามบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ"

                   
       2.รัฐธรรมนูญของประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขส่วนใหญ่ใช้ถ้อยคำอำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน

                   
       3.การบัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยจะก่อให้เกิดความไม่สอดคล้องขึ้นในบางเรื่อง ผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งโดยประชาชนนั้นจะกลายเป็นผู้แทนหรือตัวแทนของประชาชนและต้องอยู่ภายใต้อาณัติของประชาชน(le mandat imperatif) เมื่อเป็นดังนี้ก็จะทำให้บทบัญญัติบางมาตราของรัฐธรรมนูญใช้การไม่ได้ เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยและต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย บทบัญญัติดังกล่าวก็จะใช้ไม่ได้ เพราะผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนเมื่อเป็นตัวแทนของเขตเลือกตั้งแล้ว ประชาชนในเขตเลือกตั้งจะสั่งการอย่างไร ผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งนั้นก็ต้องปฏิบัติตาม อีกกรณีก็คือ การบัญญัติให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่นั้นก็ไม่สอดคล้องกับการบัญญัติให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย เพราะถ้าประชาชนเป็นเจ้าของสิทธิในอำนาจอธิปไตยก็แสดงว่าประชาชนจะใช้สิทธิในอำนาจอธิปไตยหรือไม่ก็ได้ แต่การบัญญัติให้ประชาชนมีหน้าที่เลือกตั้งนั้นเท่ากับเป็นการเป็นการบังคับประชาชนต้องไปเลือกตั้ง ประชาชนไม่สามารถจะปฏิเสธได้ ไม่สามารถที่จะเลือกไม่ไปเลือกตั้งได้ การเลือกตั้งก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย ดังนั้นการบัญญัติให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยจึงไม่ถูกต้อง

                   
       4.พิจารณาจากทางประวัติศาสตร์ของไทย ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองอำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยาม พุทธศักราช 2475 นั้นไม่มีการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ถือว่าเป็นการจัดทำโดยพระมหากษัตริย์ด้วยลำพังพระองค์เอง เป็นเรื่องที่พระมหากษัตริย์ทรงสละอำนาจดังกล่าวและมีความเห็นร่วมกับประชาชนจัดทำพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยาม พุทธศักราช 2475 ขึ้นบทบัญญัติที่ว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทยจึงสอดคล้องกับบทบัญญัติที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

                   
       อย่างไรก็ตามก็มีความคิดเห็นว่า อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทยนั้นและพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงใช้อำนาจดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นว่าอำนาจอธิปไตยอยู่ที่พระมหากษัตริย์และประชาชนอ ด้วยเหตุผลที่ว่า ประเพณีในสังคมวัฒนธรรมไทยอันเกิดจาการสั่งสมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพระมหากษัตริย์กับประชาชนและถ้ามองย้อนกลับไปก่อนการปฏิวัติในเดือนมิถุนายน 2475 นั้นอำนาจอธิปไตยอยู่ที่พระมหากษัตริย์ ครั้งเมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงอำนาจอธิปไตยอยู่ก็สละพระราชอำนาจนั้นให้ประชาชนทั้งประเทศ ด้วยการพระราชทานรัฐธรรมนูญและลดพระองค์ลงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญแต่ยังทรงใช้อำนาจนั้นแทนปวงชนซึ่งในทางกฎหมายต้องถือว่าพระมหากษัตริย์และประชาชนต่างเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยร่วมกัน9

                   
       ดังนั้นถ้าวิเคราะห์โดยนัยนี้แสดงให้เห็นว่าถ้าบัญญัติให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนแล้วก็เป็นการตัดความไปว่าอำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของพระมหากษัตริย์อีกต่อไป(ซึ่งตามแนวความคิดอำนาจอธิปไตยมาจากประชาชนนั้นยังแสดงให้เห็นถึงว่าอำนาจอธิปไตยยังเป็นทั้งของกษัตริย์และประชาชนอยู่)


       บทสรุป


                   
       ไม่ว่ารัฐธรรมนูญของไทยจะบัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทยหรือเป็นของปวงชนชาวไทยนั้นได้เป็นที่ถกเถียงกันมานานแต่การถกเถียงดังกล่าวเป็นการถกเถียงเรื่องความเหมาะสมของคำมากกว่าจะมาถกเถียงถึงเรื่องแนวความคิดอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนตามแนวคิดของรุสโซหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของชาติตามแนวคิดของซีเอเย่ส์ สิ่งที่ควรตระหนักถึงก็คือการบัญญัติอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของไทยนั้น ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้น อำนาจอธิปไตยที่ว่าเป็นของปวงชนชาวไทยนั้นเป็นของประชาชนจริงหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด มีกลไกหรือวิธีการใดบ้างที่ให้โอกาสแก่ประชาชนผู้ที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยดังกล่าวสามารถใช้อำนาจอธิปไตยของเขาได้อย่างเกิดมรรคและเกิดผลที่แท้จริง


       



       

       
เชิงอรรถ


       
                   
       1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       2. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์,การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475,กรุงเทพ,มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์,หน้า 24
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       3. โภคิน พลกุล,ปัญหาและข้อคิดบางเรื่องในรัฐธรรมนูญ,กรุงเทพมหานคร,โครงการนโยบายสาธารณะ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย,2529,หน้า 16
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       4. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่34/2475 วันพฤหัสบดี ที่ 24 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475,หน้า 362และดู นรนิติ เศรษฐบุตร,เอกสารการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475,กรุงเทพ,หนังสือชุดเอกสารการเมืองไทยของศูนย์ศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,หน้า19
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       5. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 35/2475 วันที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2457 หน้า 373
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       6. มาตรา 3 "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้"
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       7. มาตรา 3 "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ"
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       8. ดูรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวในมนตรี รูปสุวรรณ กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ฤทัย หงส์สิริ มานิตย์ จุมปา คมสัน โพธิ์คง,เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475,กรุงเทพ,สำนักพิมพ์วิญญูชน,2542,หน้า58-61
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       9. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ,กฎหมายกับทางเลือกของสังคมไทย,กรุงเทพ,สำนักพิมพ์นิติธรรม,2537,หน้า24-25
       
[กลับไปที่บทความ]


       


       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2544


       




 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544