ความนำ
ก่อนการปฏิวัติครั้งใหญ่ของฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1789 นั้น ประเทศฝรั่งเศสอยู่ในระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงสิทธิหรือเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่ถือว่าเป็นอำนาจสูงสุด เด็ดขาด และเป็นนิรันดร ภายใต้การปกครองดังกล่าวนำพามาซึ่งความไม่พอใจต่อผู้ที่อยู่ใต้การปกครองในยุคนั้นเพราะถูกเอารัดเอาเปรียบจากชนชั้นปกครองอยู่ตลอดเวลา การไม่พอใจต่อการปกครองในระบอบดังกล่าวก็มีผู้ต่อต้านทั้งทางด้านความคิดและทางด้านการกระทำของผู้ปกครองอยู่ตลอดเวลาซึ่งมีมาก่อนปี ค.ศ. 1789 ถึงประมาณ 50ปี ในช่วงดังกล่าวมีนักปราชญ์ และนักคิดต่างๆ เกิดขึ้นมากมายที่พยายามสร้างแนวความคิดและทฤษฎีต่างๆเพื่อมาหักล้างการปกครองในระบอบดังกล่าว หนึ่งในแนวคิดที่เกิดขึ้นดังกล่าวและเป็นเอกอุของการวางรากฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและเป็นการโค่นล้มอำนาจของพระมหากษัตริย์ก็คือ อำนาจสูงสุดที่เรียกว่าอำนาจอธิปไตยนั้นต้องเป็นของประชาชน เป็นประการแรกซึ่งนำโดยรุสโซ และอำนาจอธิปไตยเป็นของชาตินำโดยซีเอเย่ส์ ทั้งสองแนวความคิดเกี่ยวกับเจ้าของสิทธิในอำนาจอธิปไตยดังกล่าวมีผลต่อการจัดระบบการปกครองของฝรั่งเศสต่อมาจนถึงในปัจจุบัน
ก. อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน(la souveraineté populaire)
รุสโซเป็นผู้ให้กำเนิดแนวความคิดอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนและแนวคิดเจตนารมณ์ร่วมกันของสังคม โดยรุสโซกล่าวว่า"เราแต่ละคนมอบร่างกายและพลังทั้งหมดที่ตนมี เข้าอยู่ภายใต้คำบัญชาสูงสุดของเจตนารมณ์ส่วนรวม และในอำนาจร่วมกันของเรา เราขอรับสมาชิกแต่ละคนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งซึ่งจะแบ่งแยกมิได้ของสังคม"2และยังกล่าวต่อไปอีกว่าสมมุติว่ารัฐประกอบด้วยคนหมื่นคน สมาชิกแต่ละคนของรัฐย่อมมีส่วนหนึ่งในหมื่นของอำนาจอธิปไตย
เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตยนี้ ต้องนับทุกส่วนรวมกันเข้ามาทั้งหมด3 ดังนั้นรัฐจึงเป็นการรวมตัวกันของทุกๆคนในประชาคมนั้น เจตนารมณ์ร่วมกันของทุกคนก็คืออำนาจอธิปไตยที่เป็นของทุกๆคน ตามทัศนะของรุสโซอำนาจอธิปไตยไม่สามารถจะจำหน่ายจ่ายโอนไปให้ผู้ใดได้และไม่สามารถแบ่งแยกออกไปได้และจำกัดไม่ได้เพราะอำนาจดังกล่าวเป็นของคนทุกคนในประชาคมนั้น ตรงจุดนี้นี่เองที่มองว่ารุสโซเป็นผู้ก่อให้เกิดแนวคิดที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ระบอบการปกครองที่เรียกว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทางตรง (la democratie directe)และแนวความคิดเจตนารมณ์ร่วมกัน แนวความคิดดังกล่าวของรุสโซปรากฎอยู่ในมาตรา 6 ของคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ปี 1789 ที่กล่าวว่า กฎหมาย คือเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชน โดยตั้งสมมุติฐานอยู่ที่ว่าการเชื่อฟังและยินยอมต่อกฎเกณฑ์ที่มาจากความยินยอมอย่างเต็มใจของแต่ละคนที่พร้อมที่จะอยู่ใต้กฎเกณฑ์ดังกล่าวและเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าความยินยอมที่เกิดจากการมีส่วนร่วมในการร่างคำประกาศดังกล่าวและต่อคำประกาศดังกล่าว ดังนั้นความเห็นพ้องอย่างเป็นหนึ่งเดียวดังกล่าวเป็นสิ่งที่จำเป็นและแต่ละคนสามารถที่จะหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใดๆที่ไม่เดินตามกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้ ทัศนคติดังกล่าวได้ทำลายอำนาจหน้าที่ที่จะต้องเป็นไปแนวทางเดียวกันของกิจกรรมทางกฎหมายและทางการเมืองของรัฐ ผลก็คือในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญและในทางกฎหมายระหว่างประเทศนั้น แนวความคิดเกี่ยวกับประชาชนนั้นจึงเป็นแนวความคิดที่ค่อนข้างไม่แท้จริงเพราะแนวความคิดเกี่ยวกับประชาชนดังกล่าวก็คือภาพรวมของแนวความคิดเรื่องชาติ
ในทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนนั้น ปัจเจกชนแต่ละคนได้รวมตัวกันเป็นสังคมและถือว่าแต่ละคนนั้นต่างเป็นผู้ทรงสิทธิส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย การแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ของส่วนรวมดังกล่าวอยู่ที่ปัจเจกชนแต่ละคนได้รับการปรึกษา กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การตัดสินใจทุกๆเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยแล้วจะต้องมีการปรึกษาหารือและสอบถามพลเมืองของรัฐ ดังนั้นแนวความคิดประชาธิปไตยทางตรงจึงเกิดขึ้น ณ.ตรงนี้ ผลที่ตามมา 2 ประการก็คือ
ประการแรกการออกกฎหมายใดก็ตามจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผู้ทรงสิทธิอำนาจอธิปไตยเสียก่อนหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งกฎหมายทุกฉบับจะต้องได้รับการเห็นชอบจากประชาชนโดยการออกเสียงลงประชามติ รุสโซได้กล่าวไว้ว่า โดยทุกกรณี กฎหมายที่ได้รับการยอมรับจากบรรดาสมาชิกรัฐสภาแล้วจะต้องได้รับการลงประชามติอีก กฎหมายฉบับใดที่ไม่ผ่านการยอมรับจากประชาชนก็ถือว่ากฎหมายฉบับนั้นหามีผลไม่4วิธีการของรุสโซนี้สนับสนุนการปกครองประชาธิปไตยโดยตรงla democratie directe อย่างแท้จริง จึงกล่าวได้ว่าประชาธิปไตยในแบบของรุสโซนั้นเป็นประชาธิปไตยแบบบริสุทธิ์ เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน
ประการที่สอง สมาชิกรัฐสภาจะต้องปฏิบัติตามแนวทางหรือแนวปฏิบัติของประชาชนมิเช่นนั้นอาจถูกถอนได้โดยประชาชน สมาชิกรัฐสภาเป็นเพียงผู้แทน(les mandataires)ที่ประชาชนตั้งขึ้นมาเท่านั้นและต้องปฏิบัติตัวให้เหมาะสมกับเจตนารมณ์ของปวงชน
จากเหตุสองประการดังกล่าวข้างต้นในความเห็นของรุสโซประชาชนเป็นผู้บัญญัติกฎหมายและรัฐสภาเป็นแค่เพียงเครืองอุปกรณ์ของประชาชนเท่านั้น แนวความคิดอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนได้รับการยอมรับและอยู่ในโครงสร้างกฎหมายของรัฐ ปัจเจกชนแต่ละคนเป็นเจ้าขิงสิทธิในการเลือกตั้ง(droit de suffrage) และรวมถึงการกำหนดแนวทางของกิจกรรมสาธารณอีกด้วย การออกเสียงทางการเมืองถืดว่าเป็นสิทธิอันหนึ่งที่ใช้โดยพลเมืองแต่ละคนสำหรับการลงคะแนนในการตัดสินใจทุกๆเรื่องที่รู้จักกันดีภายใต้นิยามของคำว่า กฎหมาย แต่แนวคิดของการมีส่วนร่วมของมหาชนต่อการตัดสินใจทำให้เห็นถึงการกดขี่อยู่ในที เพราะว่าแนวคิดนี้ชักนำให้เกิดการแบ่งแยกทางการเมืองในสังคมที่เห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่ที่มีอำนาจอยู่เหนือเสียงส่วนน้อย และยิ่งไปกว่านั้นการจำกัดขอบเขตของการใช้ของสิทธิในการเลือกตั้งต่อการออกกฎหมายนั้นไม่ตอบสนองต่ดความเป็นตรรกะของทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ความเป็นตรรกะดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าพลเมืองทุกๆคนและพลเมืองแต่ละคนต้องมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการของการตัดสินใจ ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดแจ้งในปัจจุบันก็คือ การลงประชามติ แต่อย่างไรก็ตามการลงประชามติที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสก็ไม่ได้รับการเสนอโดยประชาชนโดยตรงกล่าวคือประชาชนไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มในการที่จะให้มีการลงประชามติดังกล่าวอย่างแท้จริง มีรัฐอยู่น้อยมากที่ยอมให้ให้ประชาชนเข้าแทรกแซงโดยตรงในการกำหนดทิศทางและกิจกรรมทางการเมือง ผลก็คือ ประชาชนไม่สามารถใช้อำนาจที่แตกต่างอิงไปถึงอำนาจอธิปไตยของประชาชนได้โดยตรง ดังนั้นประชาชนจึงต้องมอบการใช้อำนาจดังกล่าวของตนไปยังผู้แทนของตน ในกรณีนี้จึงเกิดทฤษฎีการเป็นผู้แทนเกิดขึ้น(la théorie de la représentation)ซึ่งรุสโซเห็นว่าผู้แทนดังกล่าวนั้นต้องทำตามประชาชนที่เลือกตนมา(le mandat imperatif) และสามารถถูกถอดถอนโดยประชาชนได้เมื่อพบว่ากระทำการใดๆที่เป็นปฏิปักษ์กับเจตนารมณ์ส่วนรวมหรือเจตนารมณ์ของประชาชน ดังนั้นประชาชนจึงเป็นผู้ที่แต่งตั้งและถอดถอนผู้แทนของตน ดังนั้นสัญญาประชาคมในความเห็นของรุสโซเป็นพันธสัญญาระหว่างผู้แทนของประชาชนกับประชาชน ผู้แทนของประชาชนดังกล่าวไม่ใช่เป็นผู้แทนของประชาชนคนใดคนหนึ่งแต่เป็นผู้แทนของประชาชนทั้งประเทศซึ่งแสดงออกทางเจตนารมณ์ส่วนรวม ดังได้ปรากฏในคำประกาศสิทธิมนุษยชนปี 1789 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกลไกดังกล่าวว่านักปฏิวัติในปี1789นั้นได้แต่งตั้งตนเองเป็นผู้แทนของประชาชนชาวฝรั่งเศสและได้ประกาศว่าผู้แทนดังกล่าวได้รวมตัวกันอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ข. อำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ la souveraineté nationale
ทฤษฎีนี้เป็นผลงานจากการสร้างสรรของนักปรัชญาเมธีชาวฝรั่งเศสหลายท่านตั้งแต่ในยุคเรอแนสซอง Renaissance และมาปรากฏเด่นชัดในยุคปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศสในค.ศ.1789 โดยมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการแยกให้เห็นถึงที่มาที่แตกต่างของรัฐ พวกอภิสิทธิ์ชนและอำนาจอธิปไตย กับ ฝ่ายปกครองบ้านเมืองและองค์กรของรัฐ หนึ่งในนักปรัญชาที่ได้กล่าวถึงทฤษฎีนี้และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางก็คือซีเอเย่ส์(Sieyes)5ซึ่งได้กล่าวว่าอำนาจอธิปไตยแบ่งแยกไม่ได้ (indivisible) ผลที่ตามมาก็คือประชาชนแต่ละคนไม่ได้เป็นเจ้าของในหนึ่งส่วน(une parcelle) ของอำนาจอธิปไตยแต่กลับมองว่าการรวมตัวของประชาชนทั้งหมดในนามของชาติ(la nation) นั้นเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย ดังนั้นในแนวความคิดของซีเอเย่ส์มองว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ ไม่ได้เป็นของประชาชน ประชาชนแต่ละคนไม่มีสิทธิใดๆเลยที่เข้ามามีส่วนร่วมในการใช้อำนาจอธิปไตย กล่าวคือไม่มีสิทธิในการออกกฎหมาย ด้วยแนวคิดดังกล่าวนี้เองการลงประชามติจึงไม่ได้รับการยอมรับในสายตาของซีเอเย่ส์ยิ่งไปกว่านั้นกลับมองว่า ประชาชนแต่ละคนนั้นมีสิทธิแต่เพียงในการเลือกตั้งตัวแทนของตนเพื่อเข้าไปใช้อำนาจอธิปไตยในนามของชาติเท่านั้นดังนั้นผู้แทนที่ได้รับเลือกเข้าไปนั้นจึงเป็นผู้แทนของชาติเท่านั้นไม่ใช่ผู้แทนของประชาชนและผู้แทนดังกล่าวเป็นอิสระจากอำนาจของประชาชน (le mandat imperatif) และมีอิสระอย่างเต็มที่ที่จะกระทำการใดๆในนามของรัฐ ความอิสระดังกล่าวนี้ก็คือ อำนาจของผู้แทน (le mandat représentatif) ด้วยแนวความคิดดังกล่าวจึงก่อให้เกิดทฤษฎีของการเป็นผู้แทน la theorie representative เป็นการสนับสนุนการปกครองประชาธิปไตยโดยทางอ้อม la democratie indirecte ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า แนวความคิดของทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของชาตินั้นคัดค้านกับแนวคิดทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนที่กล่าวข้างต้นซึ่งพอจะกล่าวได้ดังต่อไปนี้
ประการแรก ทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนมองว่าการเลือกตั้ง (le suffrage) เป็นสิทธิ แต่ทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติมองว่าประชาชนไม่มีสิทธิออกเสียงในนามของชาติ ชาติมาจากการรวมตัวของประชาชน ชาติจะต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด ดังนั้นการเลือกตั้งจึงเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่จะต้องกระทำเพือชาติๆจะเป็นผู้กำหนดคัดเลือกว่าประชาชนคนใดมีความสามารถเพียงพอที่จะมีหน้าที่ดังกล่าว สิทธิในการเลือกตั้งดังกล่าวตามแนวคิดนี้เรียกว่า สิทธิในการลงคะแนนเสียงที่สงวนไว้สำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติเฉพาะ (le suffrage restreint)6 ประการที่สอง ทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนเห็นว่าการเลือกตั้งต้องมีลักษณะเป็นการทั่วไป (le suffrage universel) เพราะว่าการเลือกตั้งเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนโดยให้เหตุผลว่า ทุกๆคนมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การตัดสิทธิผู้หนึ่งผู้ใดไม่ให้ใช้สิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพราะเหตุเนื่องจากพื้นเพแหล่งกำเนิด ความยากดีมีจน หรือ การศึกษาอบรมนั้นทำไม่ได้ แต่ทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติเห็นว่า การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชน เจตนารมณ์ของชาติแสดงผ่านโดยทางผู้แทนรัฐสภาที่กระทำการในนามของชาติและชาติจะเป็นผู้กำหนดบุคคลที่มีหน้าที่ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเอง
ประการที่สาม ทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนเห็นว่าสมาชิกรัฐสภาจะต้องอยู่ภายใต้อำนาจบังคับของประชาชนเพราะเป็นผู้แทนของประชาชนที่ได้รับการเลือกเข้ามาโดยประชาชน ในขณะที่ทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของรัฐกลับมองว่าสมาชิกรัฐสภาที่ได้รับเลือกจากประชาชนนั้นเป็นอิสระจากประชาชนเพราะว่าสมาชิกเหล่านั้นได้ผันตัวเองมาเป็นผู้แทนของชาติดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าสมาชิกรัฐสภามีอิสระและมีอำนาจของตัวเอง
อิทธิพลของซีเอเย่ส์ได้ปรากฎอยู่ในมาตรา 3 ของคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองว่าหลักของอำนาจอธิปไตยก็คือ อำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ
การยืนยันถึงหลักการดังกล่าวไม่ได้ตัดประชาชนออกไป อำนาจอธิปไตยก็ยังเป็นของประชาชนอยู่แต่ประชาชนซ่อนอยู่ในแนวคิดของชาติๆเป็นที่รวมตัวกันของปัจเจกชน ดังนั้นชาติจึงเป็นนิติบุคคล การดำรงอยู่ของชาตินั้นก็ผ่านตัวแทนของชาติเท่านั้น ชาติจึงต้องมีสถานะที่ให้หลักประกันต่อความมั่นคงของชาติและความเชื่อมโยงกับรัฐ สถานะทางกฎหมายดังกล่าวก็คือรัฐธรรมนูญ ดังนั้นอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติจึงตั้งอยู่บนสมมติฐานเรื่องการเป็นผู้แทนของชาติ7
รัฐเปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือหรือวิธีการของการกระทำของชาติ องค์กรของรัฐมีขึ้นเพื่อแสดงออกซึ่งความต้องการของชาติซึ่งปรากฎอย่างเด่นชัดในวรรคถัดมาของมาตรา3ของคำประกาศดังกล่าวที่ว่า คณะบุคคลใดหรือบุคคลใดหาอาจไม่สามารถอ้างว่ามีสิทธิใช้อำนาจอธิปไตยได้
ค.การประสานทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติและอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนของฝรั่งเศสในรัฐธรรมนูญปี1958
การถกเถียงว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติหรือเป็นของประชาชนนั้นได้เป็นที่ถกเถียงกันเป็นอย่างมากในคราวที่ได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสในปีค.ศ.1946ว่าชาติหรือประชาชนจะเป็นผู้ทรงสิทธิในอำนาจอธิปไตยโดยแบ่งออกเป็นสองค่ายความคิดดังต่อไปนี้
1.ฝ่ายที่สนับสนุนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติได้ให้เหตุผลว่า ประการแรก เป็นจารีตประเพณีว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติโดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ของฝรั่งเศสที่ผ่านมานั้นได้บัญญัติรับรองว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ เช่น มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญปี 1791 มาตรา 17 และ18 ของคำประกาศรับรองสิทธิมนุษยชนและพลเมืองที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 1795 มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญปี 1848 เป็นต้น ประการที่สอง ความเป็นชาตินั้นได้แสดงออกโดยความเป็นส่วนรวม ความสมัครสมานและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันโดยแสดงออกผ่านทางการเลือกตั้ง ประการสุดท้าย การยอมรับหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของชาตินั้นเป็นการยอมรับหลักความเป็นอิสระของผู้แทน(le mandat représentatif)กล่าวคือเป็นผู้แทนของชาติและจะกระทำการใดนั้นต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ
2.ฝ่ายที่สนับสนุนอำนาจอธิปไตยเป็นของปนัชาชนนั้นได้ให้เหตุผลว่าหลักการดังกล่าวไปได้ด้วยกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบใหม่ โดยเห็นว่าชาตินั้นหาใช่อื่นใดไปไม่นอกจากก็คืประชาชนนั่นเอง ผู้แทนที่ได้รับเลือกเข้ามานั้นก็เป็นผู้แทนของประชาชนและจะต้องกระทำการตามคำสั่งของประชาชน(le mandat impératif)
ในที่สุดก็ได้มีการออมชอมหรือประสานแนวความคิดทั้งสองเข้าด้วยกันโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 1946 และปี 1958 โดยในปี 1946 นั้นสภาร่างรัฐธรรมนูญได้รับรองแนวความคิดดังกล่าวปรากฏอยู่ใน มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญปี 1946 ซึ่งบัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยของชาติเป็นของประชาชนชาวฝรั่งเศส จากบทบัญญัติดังกล่าวทำให้เกิดข้อสงสัยว่าตกลงอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติหรือเป็นของประชาชนหรือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นทั้งของชาติและเป็นของประชาชนในเวลาเดียวกันหรือพร้อมๆกัน บทบัญญัต้ดังกล่าวก่อให้เกิดความเสี่ยงในการที่จะกระทบต่อเนื้อหาของกฎหมายแต่อย่างไรก็ตามก็เป็นพัฒนาการที่ให้เห็นถึงแนวคิดแบบประชาธิปไตยต่อมา ถัดมาอีก 12 ปี สภาร่างรัฐธรรมนูญปี 1958ได้ยอมรับแนวความคิดดังกล่าวเช่นกันโดยปรากฎอยู่ใน มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญปี 1958 ซึ่งบัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยของชาติเป็นของประชาชนซึ่งใช้อำนาจดังกล่าวโดยผ่านทางผู้แทนราษฎรและโดยการออกเสียงการลงประชามติ
ในรัฐธรรมนูญปี 1958 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ใช้มาจนถึงปัจจุบันได้มีการออมชอมหรือประสานทางความคิดเห็นของทั้งสองแนวคิดดังต่อไปนี้
1.ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีบทบัญญัติรับรองดังต่อไปนี้
ก.ในคำปรารภที่บัญญัติว่าประชาชนชาวฝรั่งเศสขอแสดงความยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนและหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติดังที่ได้นิยามไว้ในปฏิญญามนุษยชนและพลเมืองของฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ.1789ซึ่งได้รับการยืนยันและขยายความโดยคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1946
ข.ในมาตรา 3 วรรคแรก บัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยของชาติเป็นของประชาชน
และในวรรค 2 บัญญัติว่าคณะบุคคลใดหรือบุคคลใดหาอาจไม่สามารถอ้างว่ามีสิทธิใช้อำนาจอธิปไตยได้
ค.ในมาตรา 4 บัญญัติว่าพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองมีส่วนร่วมในการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง สามารถจัดตั้งและดำเนินกิจกรรมอย่างอิสระและต้องเคารพหลักอำนาจอธิปไตยของชาติและหลักประชาธิปไตย
ง.ในมาตรา 27 บัญญัติในวรรคแรกว่าการกำหนดอาณัติมอบหมายในการเลือกตั้งเพื่อให้สมาชิกรัฐสภากระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมเป็นโมฆะ และในวรรค 2 ว่าสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกรัฐสภาเป็นสิทธิส่วนตัวของสมาชิกแต่ละคน ในมาตรา 27 แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่ามีวัตถุประสงค์เป็นการห้ามผู้แทนต้องทำตามคนที่เลือกตนมา(le mandat imperatif)และเป็นการสนับสนุนหลักการความเป็นอิสระของผู้แทน(le mandat représentatif)
2.ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทบัญญัติรับรองดังต่อไปนี้
ก.มาตรา 2 วรรคท้าย บัญญัติว่าหลักการของสาธารณรัฐ ได้แก่ รัฐบาลของประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชน
ข.มาตรา 3 วรรคแรกบัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยของชาติเป็นของประชาชนและในวรรค 3 และ วรรค 4 ของมาตรานี้บัญญัติรับรองว่าการออกเสียงเลือกตั้งจะต้องเป็นการทั่วไป เสมอภาค และลับสำหรับพลเมืองชาวฝรั่งเศสทุกคนไม่ว่าเพศชายหรือเพศหญิงต่างก็มีสิทธิทางแพ่งและสิทธิทางการเมือง
ค.มาตรา 4 แสดงให้เห็นถึงว่าพรรคการเมืองจะต้องมีวัตถุประสงค์และมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเลือกตั้ง
ง.มาตรา 11 และมาตรา 89แสดงให้เห็นถึงการให้สิทธิแก่ประชาชนในการลงประชามติอันเป็นการสะท้อนรากฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทางตรง(la democratie directe)
บทสรุป
ความแตกต่างทางประเพณีที่ขัดแย้งระหว่างสองแนวความคิด อำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ ตามแนวคิดของซีเอเย่ส์ และอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนตามแนวความคิดของรุสโซแสดงให้เห็นถึงการขัดแย้งทางผลประโยชน์ทางการเมืองในอดีตของฝรั่งเศสอย่างแท้จริง แต่ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีการประสานและออมชอมทางของทั้งสองแนวความคิด แต่อย่างไรก็ตามความแตกต่างก็ยังมีอยู่บ้างในเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งของผู้มีสิทธิหรือมีหน้าที่เลือกตั้ง ทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนเห็นว่าการเลือกตั้งต้องมีลักษณะเป็นการทั่วไป (le suffrage universel) เพราะว่าการเลือกตั้งเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนโดยให้เหตุผล แต่ทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติเห็นว่า การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชน เจตนารมณ์ของชาติแสดงผ่านโดยทางผู้แทนรัฐสภาที่กระทำการในนามของชาติและชาติจะเป็นผู้กำหนดบุคคลที่มีหน้าที่ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเอง (le suffrage restreint)
เชิงอรรถ
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[กลับไปที่บทความ]
2. ทินพันธ์ นาคะตะ,นักคิดผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ปรัชญาและทฤษฎีการเมือง,กรุงเทพ,
โครงการเอกสารและตำรา สมาคมรัฐประศาสนศาสตร์ นิดา,2541,หน้า79
[กลับไปที่บทความ]
3. Le Mong Nguyen,Les systèmes politiques démocratiques,Paris,STH,p.26
[กลับไปที่บทความ]
4. Le Mong Nguyen,op.cit ,p.77-78
[กลับไปที่บทความ]
5. Pierre Pactet,Institutions politiques Droit Constitutionnel,Masson,Paris,1991,p.88
[กลับไปที่บทความ]
6. Le Mong Nguyen,op.cit.,p.17
[กลับไปที่บทความ]
7. D.Turpin, Critiques de la représentation: Pouvoir,1981,p.7
[กลับไปที่บทความ]
|
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2544
|