เข้าใจการเลือกตั้ง ส.ส.แบบง่ายๆ |
|
|
|
คุณชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการอิสระ |
|
|
|
|
|
|
|
|
ประเด็นถกเถียงที่สำคัญประเด็นหนึ่งของรธน.ปี60 ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นร่างก่อนนำไปลงประชามติ จวบจนปัจจุบันซึ่งร่างพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯได้ผ่านวาระที่ 1 ของ สนช.ไปแล้วก็คือ ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจยากเพราะเป็นวิธีการแบบใหม่ที่ยังไม่มีประเทศใดในโลกใช้ คือเป็นวิธีการเลือกตั้งที่ใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวและเลือกได้อย่างเดียวคือทั้งคนและพรรคเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากที่เคยปฏิบัติมาใน รธน.ปี40 และ 50 และแตกต่างจากระบบของเยอรมันที่อ้างว่าเอามาเป็นต้นแบบ ซึ่งของเยอรมันเขาใช้บัตรใบเดียวก็จริงแต่เขาแยกให้เลือกได้ทั้งคนและพรรค โดยแบ่งเป็น 2 ข้างให้กาได้ 2 ช่องเพื่อเลือกคนกับเลือกพรรค
อย่างไรก็ตามเมื่อถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว จะเร็วหรือช้าเราก็จำเป็นต้องใช้การเลือกตั้งแบบนี้ (หากไม่ถูกล้มกระดานไปเสียก่อน) โดยผมจะแยกเป็นประเด็นๆเพื่อให้เข้าใจโดยง่าย ซึ่งผมจะใส่ตัวเลขมาตราของ รธน.ไว้ในวงเล็บเพื่อการค้นคว้าเพิ่มเติม ดังนี้
1.จำนวน ส.ส.
จำนวน 500 คนประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตฯ 350 คน และจากparty list 150 คน(ม.83)
2.ผู้สมัครแบบแบ่งเขตฯต้องสังกัดพรรคการเมือง
ผู้สมัครฯ ส.ส.แบบแบ่งเขตฯต้องเป็นผู้ซึ่งพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกส่งสมัครรับเลือกตั้ง และจะสมัครรับเลือกตั้งเกินหนึ่งเขตมิได้(ม.87)
3.หนึ่งเขตหนึ่งคนและต้องได้คะแนนมากกว่าVote No ถ้าคะแนนสูงสุดของผู้สมัคร ส.ส.ที่ได้รับแพ้ Vote No ต้องเลือกตั้งใหม่โดยคนเก่าไม่มีสิทธิลงอีกและไม่ให้นำคะแนนไปคิดรวม
ให้แต่ละเขตเลือกตั้งมี ส.ส.ได้เขตละหนึ่งคน และผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งได้คนละหนึ่งคะแนน และให้ผู้สมัครฯซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนสูงกว่าคะแนนVote No เป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง(ม.85)
เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครฯรายใดได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่าคะแนนVote Noเป็น ส.ส.ในเขตเลือกตั้งนั้นแล้วให้ กกต.จัดการเลือกตั้งและรับสมัครฯใหม่ และมิให้นับคะแนนที่ผู้สมัครฯเดิมแต่ละคนได้รับไปใช้ในการคำนวณparty list โดยผู้สมัครฯเดิมทุกรายไม่มีสิทธิสมัครฯในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่นั้น (ม.92)
4.พรรคการเมืองมีสิทธิเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 3 ชื่อหรือจะไม่เสนอชื่อก็ได้
ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนฯเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 รายชื่อ(จะเป็นคนนอกหรือคนในก็ได้)ต่อ กกต.ก่อนปิดการรับสมัครฯ และให้ กกต.ประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ ซึ่งพรรคการเมืองจะไม่เสนอรายชื่อฯดังกล่าวก็ได้(ม.88)
5.พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตฯแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถส่งแบบparty listได้และบัญชีรายชื่อฯต้องคำนึงถึงภูมิภาคและสัดส่วนชายหญิง
พรรคการเมืองใดที่ส่งผู้สมัครฯแบบแบ่งเขตฯแล้วให้มีสิทธิส่งผู้สมัครฯแบบparty listได้ ซึ่งการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบparty listนั้น ให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อพรรคละหนึ่งบัญชี โดยผู้สมัครฯของแต่ละพรรคการเมืองต้องไม่ซ้ำกัน และไม่ซ้ำกับรายชื่อผู้สมัครฯแบบแบ่งเขตฯ โดยส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้ กกต.ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตฯ และการจัดทำบัญชีรายชื่อฯ ต้องให้สมาชิกของพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย โดยต้องคำนึงถึงผู้สมัครฯจากภูมิภาคต่าง ๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง(ม.90)
6.การคำนวณจำนวน ส.ส.party list
6.1 นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบparty listได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วย 500 อันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร
6.2 นำผลลัพธ์ตาม 6.1 ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตฯทุกเขต จำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวนส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้
6.3 นำจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม 6.2 ลบด้วยจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตฯทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือจำนวน ส.ส.แบบparty listที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ
6.4 ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตฯเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม 6.2 ให้พรรคการเมืองนั้นมี ส.ส.ตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตฯ และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบparty listและให้นำจำนวน ส.ส.แบบparty listไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตฯต่ำกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม 6.2 ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมี ส.ส.เกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม 6.2
6.5 เมื่อได้จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบparty listของแต่ละพรรคการเมืองแล้วให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อ ส.ส.แบบparty listของพรรคการเมืองนั้น เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.(ม.91)
สรุปง่ายๆว่าถ้านำคะแนนทั้งหมดที่พรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่งได้รับทั้งประเทศมาคำนวณจากสัดส่วนทั้งหมดของคนมาลงคะแนนว่าจากจำนวนเต็ม ส.ส. 500 คน(ไม่ใช่ 150 คนแบบที่ผ่านมานะครับ) พรรคนั้นควรจะได้กี่คน สมมุติว่าควรได้ 200 คน หากได้ ส.ส.เขตแล้ว 195 คน ก็จะได้ ส.ส.party listเพิ่มอีก 5 คน รวมเป็น 200 คน แต่หากได้ ส.ส.เขตแล้ว 200 คนหรือมากกว่าก็จะได้เฉพาะ ส.ส.เขตโดยจะไม่ได้ ส.ส.ในparty listอีก ตัวอย่างเช่นได้ ส.ส.เขตเกินมา 5 คนก็จะได้ ส.ส.205 คนโดย ส.ส.แบบparty listที่จะนำไปเฉลี่ยให้พรรคอื่นก็จะเหลือเพียง 145คน(150-5)เพราะ รธน.กำหนดไว้ให้มี ส.ส.ได้เพียง 500 คนเท่านั้น
ฉะนั้น ไม่ว่าพรรคนั้นจะเก่งขนาดไหน ผลการเลือกตั้งถล่มทลายขนาดไหนก็ไม่มีทางได้ ส.ส.ในสภาเกิน 350 คน (เพราะมีเขตเลือกตั้งเพียง 350 เขตเท่านั้น) ซึ่งก็หมายความว่าในสมัยแรก ส.ส.พรรคเดียวไม่มีทางตั้งนายกรัฐมนตรีได้ เพราะเมื่อรวมเสียงของ ส.ว.ที่มีสิทธิโหวตตั้งนายกฯตามบทเฉพาะกาล อีก 250 คนเป็น 750 คนก็ไม่มีทางเกินกึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภารวมกันคือ 376 คนจาก 750 คน หากพรรคการเมืองต้องการที่จะได้นายกฯที่มาจากพรรคการเมืองเท่านั้นก็ต้องรวมกันเพื่อให้ได้ 376คนขึ้นไปนั่นเอง
----------
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|