หน้าแรก บทความสาระ
ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนและผู้ตัดสินกีฬา พ.ศ. ... ตอนที่ 2
อาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ E-mail: pedithep.y@cmu.ac.th
10 ธันวาคม 2560 14:32 น.
 
แม้ว่าจะมีความพยายามยกระดับมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬาในฐานะที่เป็นผู้ที่นำความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละชนิดกีฬามาฝึกสอนนักกีฬาและยกระดับมาตรฐานผู้ตัดสินกีฬาในฐานะที่เป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินกีฬาให้เป็นไปตามกฎและกติกาของการแข่งขันกีฬาในแต่ละชนิดกีฬา ผ่านการนำเสนอแนวคิดภายใต้ “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา. พ.ศ. ....” ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้นำเสนอมาตรการทางปกครองเอาไว้ โดยกล่าวถึงการให้อำนาจแก่นายทะเบียน คณะกรรมการจรรยาบรรณ คณะกรรมการส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬาในฐานะที่เป็นฝ่ายปกครอง ในการออกใบอนุญาต ต่ออายุใบอนุญาต พักใช้ใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาต กล่าวอีกนัยหนึ่ง ร่างกฎหมายดังกล่าวนำเสนอหลักการให้อำนาจแก่นายทะเบียน คณะกรรมการจรรยาบรรณ คณะกรรมการส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬาในลักษณะที่เป็นการอนุญาต การอนุมัติ การรับรอง และการวินิจฉัยอุทธรณ์ ที่อาจไปกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว แต่ทว่าการยกระดับมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬาก็พึงจะต้องประกอบทั้งการสร้างและบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายที่ดี ควบคู่ไปกับการสร้างกลไกบ่มเพาะความรู้ ความเข้าใจ จิตสำนึกและจรรยาบรรณในช่องทางอื่นๆ เพื่อให้สอดรับกับการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสม ดังนั้นการนำเสนอเพียงมาตรการทางปกครองเพียงอย่างเดียวในร่างกฎหมายดังกล่าว โดยที่ไม่ได้กล่าวถึงกลไกอื่นๆ ที่จำเป็นในการบ่มเพาะความรู้ ความเข้าใจ จิตสำนึกและจรรยาบรรณสำหรับการเป็นผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬาที่ดี ก็ย่อมอาจทำให้วัตถุประสงค์ในการยกระดับมาตรฐานการเป็นผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬาให้กลายมาเป็นวิชาชีพ ผู้เขียนจึงขอให้ข้อสังเกตบางประการดังต่อไปนี้
       ข้อสังเกตประการที่ 1: ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นความพยายามที่จะส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬา และผู้ตัดสินกีฬา ให้กลายมาเป็นวิชาชีพ ภายใต้แนวคิดว่ารัฐจะต้องตรากฎหมายระดับพระราชบัญญัติมาให้อำนาจฝ่ายปกครองออกคำสั่งทางปกครองหรือกฎเพื่อควบคุมกำกับวิชาชีพดังกล่าว โดยกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ฝึกสอนกีฬา ผู้ตัดสินกีฬาและผู้ปฏิบัติงานด้านการกีฬาควบคุมกำกับดูแลกันเอง หากแต่ทั้งการปฏิบัติงานของผู้ฝึกสอนกีฬา (Sports Coaches) และผู้ตัดสินกีฬา (Sports Referees) ต่างก็จะต้องใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญและทักษะที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการให้ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านฝึกสอนกีฬามากำกับผู้ตัดสินกีฬาหรือการให้ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านผู้ตัดสินกีฬามากำกับผู้ฝึกสอนฝึกสอนกีฬา ผ่านการใช้อำนาจปกครองควบคุม การใช้อำนาจกึ่งตุลาการ และการควบคุมวิชาชีพ ก็อาจขัดต่อนิติปรัชญาของมาตรการทางปกครองที่ว่าเพื่อให้เกิดการควบคุมกำกับดูแลกันเองระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพทางการกีฬาวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง อีกประการหนึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีตัวแทนจากองค์กรสมาคมผู้ฝึกสอนกีฬาและสมาคมผู้ตัดสินกีฬามารวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นคณะกรรมการตามกฎหมาย โดยให้ตัวแทนจากสมาชิกขององค์กรผู้ปฏิบัติหน้าหรือหรือตัวแทนจากองค์กรทางการกีฬา มาเป็นผู้ใช้อำนาจในการบริหารกฎหมายหรือใช้อำนาจควบคุมผู้ฝึกสอนหรือผู้ตัดสินกีฬา หากผู้แทนจากองค์กรสมาคมผู้ฝึกสอนกีฬามาควบคุมกำกับดูแลผู้ตัดสินกีฬาหรือผู้แทนจากองค์กรสมาคมผู้ตัดสินกีฬามาควบคุมกำกับดูแลผู้ฝึกสอนกีฬา ก็อาจจะดูผิดแผกไปจากวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของร่างกฎหมายกับหลักกฎหมายปกครอง ผู้เขียนจึงขอเสนอให้แยกและจัดทำ “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬา. พ.ศ. ....” ออกมาฉบับหนึ่งและ “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมมาตรฐานผู้ตัดสินกีฬา. พ.ศ. ....” ออกมาอีกฉบับหนึ่ง  
       ข้อสังเกตประการที่ 2: ร่างกฎหมายฉบับนี้ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา ได้แก่ สมาคมผู้ฝึกสอนกีฬาในประเภทต่างๆ หรือผู้แทนจากองค์กรสมาคมผู้ตัดสินกีฬาตามแต่ละชนิดกีฬา หันมาวางหลักเกณฑ์และกลไกที่จำเป็นเพื่อสร้างหลักประกันว่าผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬาจะมีทักษะที่เพียงพอและองค์ความรู้ที่ทันสมัย สอดรับกับการปฏิบัติงานฝึกสอนกีฬาและตัดสินกีฬาภายใต้มาตรฐานการปฏิบัติงานอย่างเดียวกัน หากใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้หมดอายุลง แล้วได้มีการต่ออายุใบอนุญาต (License Renewal) ในอนาคต สมาคมผู้ฝึกสอนกีฬาและสมาคมผู้ตัดสินกีฬาก็พึงที่จะจัดการศึกษาต่อเนื่อง (Continuing Education) เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ปฏิบัติงานฝึกสอนกีฬาและตัดสินกีฬาในฐานะที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพในทางการกีฬาที่มีองค์ความรู้ ความสามารถ ทักษะและการปฏิบัติที่ดี จนสามารถทำหน้าที่นำความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านเกี่ยวกับกีฬามาใช้ในการฝึกสอนกีฬาแก่นักกีฬาและเยาวชน และสามารถทำหน้าที่ตัดสินกีฬาให้เป็นไปตามกฎและกติกาการแข่งขันเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของแต่ละชนิดกีฬาได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวอีกนัยหนึ่ง สมาคมผู้ฝึกสอนกีฬาและสมาคมผู้ตัดสินกีฬาก็ควรจัดกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่องหรือหลักสูตรระยะสั้นในลักษณะต่างๆ ที่จะเอื้ออำนวยให้ผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารและสามารถร่วมกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่องได้อย่างต่อเนื่อง  อันถือเป็นการส่งเสริมให้เกิดกระบวนเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิต (Life - Long Learning) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาประสิทธิภาพการฝึกสอนกีฬาและการตัดสินกีฬา แต่เสียอย่างไรองค์กรกำกับธรรมาภิบาลกีฬา (Sports Governing Bodies) ในประเทศไทย เช่น กรมพลศึกษา การกีฬาแห่งประเทศไทย และองค์กรสนับสนุนกิจการกีฬาของรัฐอื่นๆ ก็ยังไม่ได้กำหนดมาตรการใดๆ ที่มาสนับสนุนให้เกิดการวางระบบการศึกษาต่อเนื่องสำหรับทุกสมาคมผู้ฝึกสอนกีฬาและสมาคมผู้ตัดสินกีฬา อีกทั้งร่างกฎหมายดังกล่าวก็ยังไม่ได้กำหนดข้อผูกพันให้การศึกษาต่อเนื่องถือเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การประเมินการต่อใบอนุญาต อนึ่ง มีคำถามที่น่าสนใจเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่าหากจะต้องมีการวางรากฐานระบบการศึกษาต่อเนื่องของสมาคมผู้ฝึกสอนกีฬาและสมาคมผู้ตัดสินกีฬาในประเทศไทยแล้ว กรมพลศึกษาหรือการกีฬาแห่งประเทศไทยจะสามารถช่วยให้การสนับสนุนในด้านการเงินแก่สมาคมผู้ฝึกสอนกีฬาและสมาคมผู้ตัดสินกีฬาเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาต่อเนื่องหรือไม่ เพราะหากปราศจากการสนับสนุนในด้านงบประมาณหรือการเงินสำหรับจัดวางระบบการศึกษาต่อเนื่องสำหรับผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬาแล้ว สมาคมผู้ฝึกสอนกีฬาและสมาคมผู้ตัดสินกีฬาที่จะต้องแบกรับภาระทั้งในส่วนของการพัฒนาระบบการศึกษาต่อเนื่องและการชักจูงให้ผู้ฝึกสอนกับผู้ตัดสินกีฬาเข้ามาพัฒนาตนภายใต้ระบบการศึกษาต่อเนื่อง
       ข้อสังเกตประการที่ 3: ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้มุ่งหมายที่จะให้มีมาตรการใช้บังคับกับผู้ฝึกสอนหรือผู้ตัดสินกีฬาบางกลุ่ม ได้แก่ (ก) ผู้ปฏิบัติหน้าที่ฝึกสอนกีฬาหรือตัดสินกีฬาในรายการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด  (ข) ผู้ปฏิบัติหน้าที่ฝึกสอนกีฬาหรือตัดสินกีฬาในสถานศึกษาและ (ค) ผู้ปฏิบัติหน้าที่ฝึกสอนกีฬาหรือตัดสินกีฬาในกิจกรรมกีฬาเพื่อนันทนาการ อาจมีปัญหาตามมาว่าเมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวถูกบังคับใช้ขึ้นมาแล้ว คณะกรรมการส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬาจะประกาศแจ้งว่าให้รายการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติรายการใดบ้างที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ฝึกสอนหรือตัดสินกีฬาจำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง จะมีการประกาศแจ้งให้บุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ถูกกฎหมายบังคับทราบล่วงหน้าว่าบุคคลดังกล่าวจะต้องดำเนินการขอใบอนุญาตหรือไม่ เพื่อที่ว่าบุคคลอาจถูกกฎหมายบังคับใช้จะได้ทราบล่วงหน้าและเตรียมดำเนินการขอรับใบอนุญาตให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้
       อนึ่ง ในกรณีของการที่กฎหมายไม่ได้บังคับใช้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่ฝึกสอนกีฬาหรือตัดสินกีฬาในรายการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด หากผู้ปฏิบัติหน้าที่ฝึกสอนหรือตัดสินกีฬาเป็นชาวต่างประเทศ (ไม่ได้ถือสัญชาติไทย) จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีการออกระเบียบ/ข้อบังคับมารับรองรับรองคุณวุฒิ (ปริญญาหรือประกาศนียบัตร) ในสาขาวิชาเกี่ยวข้องกับการฝึกสอนกีฬาหรือการตัดสินกีฬาสำหรับผู้ฝึกสอนกีฬาหรือผู้ตัดสินกีฬาที่เป็นชาวต่างชาติที่สำเร็จการศึกษาวิชาเกี่ยวข้องกับการฝึกสอนกีฬาหรือการตัดสินกีฬา รวมไปถึงรับรองประสบการณ์การฝึกสอนหรือการตัดสินกีฬาที่เทียบได้กับองค์ความรู้ทางปริญญาหรือประกาศนียบัตร จากสถาบันการศึกษาในต่างประเทศและประสงค์จะขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ฝึกสอนหรือผู้ตัดสินกีฬาในประเทศไทย
       ข้อสังเกตประการที่ 4: หากในอนาคตได้มีการแยกการกํากับดูแลและการควบคุมการประกอบวิชาชีพผู้ฝึกสอนกีฬาและการประกอบวิชาชีพผู้ตัดสินกีฬาออกจากอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา  โดยอาจมีการจัดตั้ง “สภาการฝึกสอนและตัดสินกีฬา” ขึ้นในอนาคต เพื่อส่งเสริมการประกอบวิชาชีพผู้ฝึกสอนกีฬาและการประกอบวิชาชีพผู้ตัดสินกีฬา กําหนดและควบคุมมาตรฐานและจริยธรรมของผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา ให้เป็นไปตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา รวมไปถึงควบคุมไม่ให้มีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากบุคคลซึ่งไม่มีความรู้เกี่ยวกับการฝึกสอนกีฬาอย่างถูกต้องหรือการตัดสินกีฬาที่เป็นธรรม อันก่อให้เกิดภัยอันตรายต่อนักกีฬาและความเสียหายแก่วงการกีฬา อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนาให้วิชาชีพผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬาให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป
       ข้อสังเกตประการที่ 5: นอกจากนี้ การอนุมัติ การให้ความเห็นชอบ การให้ข้อเสนอแนะ และการเสนอข้อแนะนำ ของคณะกรรมการส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา (ในฐานะที่เป็นฝ่ายปกครอง) ในการออกกฎหมายลำดับรอง ได้แก่ ระเบียบ ข้อบังคับหรือประกาศอื่นๆ ก็พึ่งคณะกรรมการนี้ก็พึงจะต้องนำเสนอความเป็นมาของกฎหมายลำดับรองเพื่อให้สาธารณชนทั่วไปได้รับทราบถึงปรัชญาของกฎหมายลำดับรองและสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองเท่าที่จำเป็น ควบคู่ไปกับเปิดโอกาสให้กฎหมายลำดับรองใช้บังคับภายหลังจากที่สาธารณชนได้ทราบถึงข้อมูลดังกล่าวแล้ว (นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปสักพักหนึ่งแล้ว) ทั้งนี้ก็เพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณชน ตลอดจนถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นสมาคมผู้ฝึกสอนกีฬา สมาคมผู้ตัดสินกีฬา สมาคมกีฬา ชมรมกีฬา ผู้ฝึกสอนกีฬา ผู้ตัดสินกีฬา และนักกีฬาทั่วไปได้ทราบหลักเกณฑ์และสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองล่วงหน้าเพื่อจะได้เตรียมการปฏิบัติตามกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามร่างกฎหมายฉบับนี้
       ผู้เขียนเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนและผู้ตัดสินกีฬา พ.ศ. ... อาจถูกนำมาใช้จุดประกายให้ผู้คนในวงการกีฬาหันมาใส่ใจพัฒนามาตรฐานการฝึกสอนกีฬาและมาตรฐานการตัดสินกีฬาให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผ่านนำเสนอกลไกและหลักเกณฑ์กำกับดูแลมาตรฐานที่เหมาะสม ร่างกฎหมายฉบับนี้อาจถูกใช้เป็นแม่แบบ (Model) ที่สำคัญ ในการพัฒนายกระดับการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการกีฬาให้มีความเป็นวิชาชีพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีกรมพลศึกษาในฐานะที่เป็นผู้ผลักดันร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ก็พึ่งจะต้องตรวจพิจารณาสำหรับพัฒนาร่างกฎหมายและแสวงหาแนวทางการรับฟังความเห็นประกอบการพัฒนาร่างกฎหมาย รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการออกกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment หรือ RIA) เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงการกีฬา รวมไปถึงสมาคมผู้ฝึกสอนในแต่ละชนิดกีฬาและสมาคมผู้ตัดสินกีฬาหลากประเภทได้ใช้เป็นกรอบและแนวทางในการปฏิบัติสำหรับช่วยสนับสนุนผลักดันยกมาตรฐานการฝึกสอนกีฬาและการตัดสินกีฬาให้ดียิ่งขึ้น


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544