หน้าแรก บทความสาระ
ความรับผิดของฝ่ายปกครองในกรณีของการควบคุมอาคารและการจัดทำผังเมืองในระบบกฎหมายฝรั่งเศส
ดร.ฤทัยรัตน์ ปทุมานนท์ น.บ. (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ร.บ. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, น.ม. (กฎหมายมหาชน) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, Master 2 (Droit public) Université Clermont-Ferrand I, Doctorat en droit (Droit public) (mention très honorable et les félicitations à l’unanimité) Université Montpellier I, พนักงานคดีปกครอง, สำนักงานศาลปกครอง.
6 เมษายน 2557 20:11 น.
 
บทนำ
       

“เมือง” มีองค์ประกอบพื้นฐานหลายประการด้วยกัน เช่น ทรัพยากรต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเกิดขึ้นและการดำรงอยู่ของเมือง วัฒนธรรมประเพณีอันเป็นอัตลักษณ์ของเมือง บริการพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของพลเมือง  นอกจากนี้ พื้นฐานของเมืองยังเกี่ยวพันกับสิทธิต่าง ๆ เช่น สิทธิในการดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติสุขในสภาพแวดล้อมที่ดี สิทธิที่จะเข้าถึงคุณค่าและการได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิในการมีส่วนร่วมในการจัดการวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสิทธิในทรัพย์สิน
       

“เมือง” ขยายตัวอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน แต่พื้นที่หรือที่ดินมีอยู่อย่างจำกัด ประกอบกับจำนวนประชากรก็เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้ต้องมีการก่อสร้าง ต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารเพื่อให้มีพื้นที่อยู่อาศัยมากขึ้น การควบคุมอาคารและการจัดทำผังเมืองจึงเป็นความพยายามของรัฐในการกำกับการพัฒนาด้านกายภาพของเมืองให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและยั่งยืน โดยกำหนดแนวทางการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของประชาชนเพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยและทำงานในสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุด และเพื่อให้การใช้พื้นที่หรือที่ดินที่มีอยู่อย่างจำกัดเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของแต่ละเมือง เพราะหากปล่อยให้ประชาชนแต่ละคนใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยไม่มีข้อจำกัดแล้ว เมืองก็จะพัฒนาอย่างไร้ทิศทางและก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้ เนื่องจากประชาชนแต่ละคนย่อมมีแนวคิดที่แตกต่างกัน มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่เท่าเทียมกัน และมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมแตกต่างกัน
       อย่างไรก็ตาม การควบคุมอาคารและการจัดทำผังเมืองของรัฐอาจลิดรอนการใช้สิทธิอันเกี่ยวกับที่ดินและเสรีภาพในเคหสถาน และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนในลักษณะต่าง ๆ จึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า การกระทำของฝ่ายปกครองเกี่ยวกับการควบคุมอาคารและการจัดทำผังเมืองในลักษณะใดบ้างที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน และเงื่อนไขความรับผิดของฝ่ายปกครองในกรณีดังกล่าวประกอบด้วยเงื่อนไขอะไรบ้าง ซึ่งจะขอแยกพิจารณาตามลำดับต่อไป ดังนี้
        
       ๑. การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายในกรณีของการควบคุมอาคารและการจัดทำผังเมือง
       ความรับผิดของฝ่ายปกครองอาจแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ ความรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (การกระทำละเมิด) (la responsabilité pour faute) และความรับผิดในความเสียหายที่มิได้เกิดจากการกระทำที่เป็นความผิดใด ๆ หรือความรับผิดโดยปราศจากความผิด (la responsabilité sans faute) ซึ่งจะได้แยกพิจารณาตามลำดับต่อไป ดังนี้
       ๑.๑ ความรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (การกระทำละเมิด) (la responsabilité pour faute)
       ความรับผิดของฝ่ายปกครองในความเสียหายที่เกิดจากการควบคุมอาคารและการจัดทำผังเมืองอาจเกิดจากการออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นเพราะเหตุความไม่ชอบด้วยกฎหมายภายนอก (l’illégalité externe) เช่น คำสั่งทางปกครองออกไปโดยปราศจากอำนาจ (l’incompétence) คำสั่งทางปกครองออกไปโดยผิดแบบ (le vice de forme) คำสั่งทางปกครองออกไปโดยผิดขั้นตอนหรือวิธีการ (le vice de procédure) หรือเป็นเพราะเหตุความไม่ชอบด้วยกฎหมายภายใน (l’illégallité interne) เช่น คำสั่งทางปกครองออกไปโดยสำคัญผิดในข้อกฎหมาย (l’erreur de droit) คำสั่งทางปกครองออกไปโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริง (l’erreur de fait) คำสั่งทางปกครองออกไปโดยมีความผิดพลาดในการให้ลักษณะทางกฎหมายแก่ข้อเท็จจริง (l’erreur de qualification juridique des faits) คำสั่งทางปกครองออกไปโดยมีการบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้อำนาจ (le détournement de pouvoir) หรือบิดเบือนขั้นตอนหรือวิธีการ (le détournement de procédure)
       ศาลปกครองฝรั่งเศสได้วินิจฉัยว่า ในกรณีที่ฝ่ายปกครองออกใบอนุญาตก่อสร้าง (le permis de construire) โดยผิดแบบอันเป็นสาระสำคัญ (le vice de forme) แม้ใบอนุญาตก่อสร้างดังกล่าวจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและถูกศาลเพิกถอนก็ตาม แต่เนื่องจากฝ่ายปกครองสามารถออกใบอนุญาตก่อสร้าง (ฉบับใหม่) ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตก่อสร้างได้อีก โดยดำเนินการให้ถูกต้องตามแบบอันเป็นสาระสำคัญ ผู้รับใบอนุญาตก่อสร้างจึงมิได้รับความเสียหายจากการที่ใบอนุญาตก่อสร้างของตนถูกศาลเพิกถอนแต่ประการใด[๑]
       การออกใบอนุญาตก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับใบอนุญาตก่อสร้าง (le pétitionnaire) เท่านั้น แต่ยังอาจทำให้บุคคลที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดหรือติดกับอาคารที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (le voisin contigu) ได้รับความเสียหายด้วย
       นอกจากความรับผิดของฝ่ายปกครองจะเกิดจากการออกใบอนุญาตก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ยังอาจเกิดจากการออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในกรณีอื่น ๆ เช่น คำสั่งปฏิเสธที่จะออกใบอนุญาตก่อสร้าง (le refus illégal d’un permis de construire)[๒] คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง (le retrait illégal d’un permis de construire)[๓] คำสั่งให้หยุดการก่อสร้าง (l’arrêté illégal d’interruption des travaux)[๔] หรือคำสั่งปฏิเสธที่จะสั่งให้หยุดการก่อสร้างอาคารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (le refus illégal d’interrompre les travaux irrégulières)[๕]
       นอกจากนี้ ความรับผิดของฝ่ายปกครองอาจเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร เช่น ศาลปกครองฝรั่งเศสวินิจฉัยว่า ฝ่ายปกครองต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารในเขตที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยธรรมชาติ (la zone exposée à un risque naturel) โดยไม่ได้ระบุเงื่อนไขหรือข้อกำหนดพิเศษเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารในเขตดังกล่าว[๖] ในการพิจารณาความรับผิดของฝ่ายปกครองในกรณีดังกล่าว ศาลปกครองฝรั่งเศสได้พิจารณาลักษณะของพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้าง (les caractéristiques de la zone) ลักษณะของสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งรายงานวิจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับพื้นที่ดังกล่าวประกอบด้วย[๗]
       สำหรับความรับผิดของฝ่ายปกครองในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำอื่น ๆ นั้น ศาลปกครองฝรั่งเศสได้วินิจฉัยว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางการก่อสร้างอาคารของผู้ฟ้องคดีซึ่งได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี[๘]
       ๑.๒ ความรับผิดโดยปราศจากความผิด (la responsabilité sans faute)
       ตามระบบกฎหมายของประเทศฝรั่งเศส ความรับผิดของฝ่ายปกครองในความเสียหายที่เกิดจากการควบคุมอาคารและการจัดทำผังเมืองมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (การกระทำละเมิด) เท่านั้น แต่อาจอยู่บนหลักการที่เรียกว่า «la rupture de l’égalité devant les charges publiques» (ความสิ้นไปของความเท่าเทียมกันของประชาชนในการรับภาระสาธารณะ)
       หลักความเสมอภาคของพลเมืองในการรับภาระสาธารณะ (le principe de l’égalité devant les charges publiques) มีพื้นฐานมาจากหลักความเสมอภาคซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วไป กล่าวคือ ประชาชนทุกคนพึงจะต้องรับภาระหนึ่งภาระใดก็ตาม อันเกิดจากการกระทำใด ๆ ของรัฐ ที่กระทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ (ประโยชน์ส่วนรวม) โดยการรับภาระที่ว่านี้ (ภาระสาธารณะ) ประชาชนแต่ละคนพึงรับโดยเท่าเทียมกัน ไม่ควรมีคนหนึ่งคนใดรับภาระนี้มากไปกว่ากัน  อย่างไรก็ตามหากการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ก่อให้เกิดภาระเกินสมควรหรือก่อให้เกิดความเสียหายเป็นพิเศษแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่ง แม้การกระทำดังกล่าวจะมิใช่การกระทำละเมิดก็ตาม แต่ได้ก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคหรือไม่เท่าเทียมกันระหว่างบุคคลที่อาศัยอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “la rupture de l’égalité devant les charges publiques” หรือ “ความสิ้นไปของความเท่าเทียมกันของประชาชนในการรับภาระสาธารณะ”  ดังนั้น ผู้ที่ได้รับภาระเกินสมควรดังกล่าวก็ควรจะได้รับการเยียวยาจากรัฐ
       อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า ฝ่ายปกครองจะรับผิดในความสิ้นไปของความเท่าเทียมกันของประชาชนในการรับภาระสาธารณะเมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นมีลักษณะร้ายแรงกว่าปกติ (le préjudice anormal) และมีลักษณะพิเศษ (le préjudice spécial) เช่น มลพิษทางเสียงที่เกิดจากการสัญจรบนท้องถนน[๙] จากสนามบิน[๑๐] หรือจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์[๑๑] หรือตัวอย่างเช่น กรณีที่ศาลปกครองฝรั่งเศสเคยมีคำวินิจฉัยว่า ความเสียหายที่ผู้รับใบอนุญาตก่อสร้างได้รับจากการที่ฝ่ายปกครองยกเลิกใบอนุญาตก่อสร้างเพื่ออนุรักษ์โบราณสถานและแหล่งทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างเป็นความเสียหายที่มีลักษณะร้ายแรงกว่าปกติและมีลักษณะพิเศษ ฝ่ายปกครองจึงต้องชดใช้ความเสียหายดังกล่าว[๑๒]  อย่างไรก็ดี ศาลปกครองฝรั่งเศสได้วินิจฉัยความรับผิดของฝ่ายปกครองในกรณีดังกล่าวอย่างระมัดระวังเพื่อจำกัดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่องบประมาณแผ่นดิน 
        
                       ๒. เงื่อนไขความรับผิดของฝ่ายปกครองในกรณีของการควบคุมอาคารและการจัดทำผังเมือง
       เมื่อมีการกระทำละเมิดเกิดขึ้น ผู้เสียหายชอบที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหายจากผู้กระทำละเมิดหรือผู้ที่ต้องรับผิด โดยต้องให้ผู้เสียหายได้กลับคืนสู่สถานะเดิมก่อนที่จะมีการกระทำละเมิด ซึ่งหากทำไม่ได้ก็ต้องมีการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
       อนึ่ง ความเสียหายที่จะก่อให้เกิดความรับผิดแก่ฝ่ายปกครองนั้น จะต้องเป็นความเสียหายที่แน่นอนหรือเกิดขึ้นแล้วอย่างแท้จริง และจะต้องเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิด ซึ่งจะขอแยกพิจารณาตามลำดับต่อไป ดังนี้
       ๒.๑ ความเสียหายที่แน่นอน (le caractère certain du préjudice)
       ความเสียหายที่จะก่อให้เกิดความรับผิดแก่ฝ่ายปกครองได้นั้น จะต้องเป็นความเสียหายที่แน่นอน กล่าวคือ จะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วหรือเป็นความเสียหายที่มีอยู่ในปัจจุบัน (le préjudice actuel)[๑๓] หรือเป็นความเสียหายในอนาคตที่จะเกิดขึ้นโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตัวอย่างเช่น
       กรณีที่ฝ่ายปกครองออกใบอนุญาตก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและศาลปกครองได้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้รับใบอนุญาตก่อสร้างได้รับความเสียหายจากการเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างนั้น ศาลปกครองฝรั่งเศสได้วินิจฉัยว่า ฝ่ายปกครองต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินการก่อสร้างให้แก่ผู้รับใบอนุญาตก่อสร้าง[๑๔] เช่น ค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินที่จะทำการก่อสร้าง ค่าจ้างสถาปนิกและวิศวกร
       กรณีจัดทำผังเมืองใหม่เป็นเหตุให้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีอยู่ในพื้นที่ที่ห้ามมิให้มีการก่อสร้างอาคาร (la zone inconstructible) ศาลปกครองฝรั่งเศสวินิจฉัยว่า ฝ่ายปกครองต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการที่ที่ดินเสื่อมราคาและค่าเสียโอกาสที่จะขายที่ดินได้ในราคาดี[๑๕]
       กรณีความเสียหายที่เกิดจากการสั่งให้หยุดการก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองฝรั่งเศสได้วินิจฉัยว่า ฝ่ายปกครองต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมลงไปในระหว่างที่หยุดการก่อสร้าง รวมทั้งค่าเสียหายจากการสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับในระหว่างที่หยุดการก่อสร้างดังกล่าว[๑๖]
       นอกจากนี้ ศาลปกครองฝรั่งเศสยังกำหนดค่าเสียหายจากการสูญเสียกำไรที่ควรจะได้รับ (lucrum cessans) จากการใช้อาคารอันเป็นมูลกรณีแห่งการพิพาทเพื่อการประกอบธุรกิจ[๑๗] ซึ่งการกำหนดค่าเสียหายจากการสูญเสียกำไรดังกล่าวนั้น ศาลจะคำนึงถึงสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะนั้นประกอบกันด้วย
       สำหรับความเสียหายที่ไม่เป็นรูปธรรม (le préjudice non matériel) หรืออีกนัยหนึ่งคือ ความเสียหายทางจิตใจ (le préjudice moral) ศาลปกครองฝรั่งเศสจะกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้ หากผู้เสียหายได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีวิต (les troubles dans le conditions d’existence)[๑๘] เช่น ไม่อาจดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติสุขและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่ดี[๑๙]
       ๒.๒ ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำกับความเสียหาย (le lien de causalité directe)
       นอกจากฝ่ายปกครองจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ความเสียหายดังกล่าวจะต้องเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของผู้ที่จะต้องรับผิดด้วย (le caractère direct du préjudice) ซึ่งอาจจะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย(การกระทำละเมิด) หรือเป็นความรับผิดโดยปราศจากความผิดก็ได้  อนึ่ง หากไม่สามารถเชื่อมโยงความเสียหายกับการกระทำของผู้ที่จะต้องรับผิดได้ ฝ่ายปกครองก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย
       นอกจากนี้ ถ้าความเสียหายเกิดจากความผิดของผู้เสียหาย (la faute de la victime) ฝ่ายปกครองก็อาจพ้นจากความรับผิดชอบทั้งหมดหรือบางส่วน  ทั้งนี้ โดยพิจารณาว่าความผิดดังกล่าวเกิดจากฝ่ายใดมากกว่ากัน ตัวอย่างเช่น ผู้รับใบอนุญาตก่อสร้างได้ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแก่ฝ่ายปกครองเกี่ยวกับพื้นที่หรืออาคารที่จะทำการก่อสร้างเป็นเหตุให้ฝ่ายปกครองออกใบอนุญาตก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลปกครองได้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างดังกล่าว กรณีเช่นนี้ศาลปกครองฝรั่งเศสได้วินิจฉัยว่า ฝ่ายปกครองไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่ผู้รับใบอนุญาตก่อสร้างได้รับจากการที่ศาลเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างนั้น เนื่องจากความเสียหายดังกล่าวเกิดจากความผิดของผู้รับใบอนุญาตก่อสร้างเอง[๒๐]
       สำหรับการกำหนดค่าเสียหายนั้น ศาลจะต้องกำหนดค่าเสียหายให้ครอบคลุมความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับทั้งหมด  ทั้งนี้ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการชดใช้ค่าเสียหายที่มุ่งหมายให้ผู้เสียหายได้กลับคืนสู่สถานะเดิมก่อนที่จะมีการกระทำละเมิด  อย่างไรก็ดี ศาลไม่อาจกำหนดค่าเสียหายให้เกินกว่าความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับและไม่อาจกำหนดค่าเสียหายให้เกินคำขอของผู้ฟ้องคดี
        
       บทสรุป
       ความรับผิดของฝ่ายปกครองในความเสียหายที่เกิดจากการควบคุมอาคารและการจัดทำผังเมืองนั้นอาจอยู่บนพื้นฐานของการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (การกระทำละเมิด) (la responsabilité pour faute) เช่น การออกใบอนุญาตก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือการดำเนินการออกใบอนุญาตก่อสร้างล่าช้าเกินสมควร และอาจอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดโดยปราศจากความผิด (la responsabilité sans faute) 
       สำหรับความเสียหายที่จะก่อให้เกิดความรับผิดแก่ฝ่ายปกครองนั้น จะต้องเป็นความเสียหายที่แน่นอนหรือเกิดขึ้นแล้วอย่างแท้จริง (le caractère certain du préjudice) และความเสียหายดังกล่าวจะต้องเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของผู้ที่จะต้องรับผิด (le lien de causalité directe)
       ส่วนการกำหนดค่าเสียหายนั้น ศาลมีดุลพินิจที่จะกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งต้องไม่เกินกว่าความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับและต้องไม่เกินคำขอของผู้ฟ้องคดี โดยศาลจะต้องกำหนดค่าเสียหายให้ครอบคลุมความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ เช่น หากอาคารของผู้เสียหายอยู่ในทำเลประกอบกิจการค้าขาย ศาลต้องกำหนดค่าเสียหายจากการสูญเสียกำไรที่ควรจะได้รับ (lucrum cessans) จากการใช้อาคารในการประกอบธุรกิจ โดยคำนึงถึงสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะนั้นประกอบกัน  ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เสียหายได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมให้ได้มากที่สุดอันเป็นความมุ่งหมายในการชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดนั่นเอง
        
                                            
        
       บรรณานุกรม
       

ณรงค์ฤทธิ์ เพชรฤทธิ์, ความรับผิดของรัฐโดยปราศจากความผิด, เผยแพร่ใน http://www.pub-law.net
       

BERNARD (F.-Ch.) Pratique des contentieux de l’urbanisme, Le Moniteur, 2001.
       

JACQUOT (H.) et PRIET (F.), Droit de l’urbanisme, Dalloz, 6ème éd., 2008.
       

MACERA (B.-F.), La responsabilité administrative dans le contentieux de l’urbanisme, L’Harmattan, 2006.
        
       


       
       

       

       [๑] คำพิพากษาศาลปกครองชั้นอุทธรณ์แห่งเมือง Bordeaux คดี Denogez ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๐
       

       

       [๒] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี M. pierre Degouy ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๙
       

       

       [๓] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Rossaza et Yvars ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๔
       

       

       [๔] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดีระหว่าง Ministre de l’Équipement et du Logement กับ Bruchet ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๑
       

       

       [๕] คำพิพากษาศาลปกครองชั้นอุทธรณ์แห่งเมือง Lyon คดีระหว่าง Ministre de l’Équipement,  du Logement et des Transports กับ M. Marchiani ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๕ และคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นแห่งเมือง Montpellier คดี Mme Pinos ลงวันที่ ๔ เมษายน ค.ศ. ๑๙๙๗
       

       

       [๖] มาตรา L. 2212-2 แห่งประมวลกฎหมายปกครองท้องถิ่นฝรั่งเศส (Code général des collectivités territoriales) กำหนดให้นายกเทศมนตรี (le maire) มีหน้าที่ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ อันเป็นหน้าที่ประการหนึ่งของนายกเทศมนตรีในการรักษาความสงบเรียบร้อยและการปฏิบัติตามกฎหมายในเขตเทศบาล (la police municipale)
       

       

       [๗] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดีระหว่าง Ministre de l’Équipement, du Logement, de l’Aménagement du territoire et des Transports กับ Époux Faure ลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๘๙ และคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นแห่งเมือง Nice คดี M. et Mme Labbe ลงวันที่ ๘ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๙๙
       

       

       [๘] คำพิพากษาศาลปกครองชั้นอุทธรณ์แห่งเมือง Nancy คดี Commune de Habsheim ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๗
       

       

       [๙] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Époux Blandin ลงวันที่ ๒๒ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๗๑
       

       

       [๑๐] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Compagnie nationale Air-France ลงวันที่ ๖ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๗
       

       

       [๑๑] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Époux Docquet-Chassaing ลงวันที่ ๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๙๑
       

       

       [๑๒] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดีระหว่าง Ministre de la Culture et de la Communication กับ Société civile immobilière Villa Jacob ลงวันที่ ๒๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๘๙
       

       

       [๑๓] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Thibault ลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๗๑
       

       

       [๑๔] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Sté civile « Résidence du pays d’Oc » ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๗๗
       

       

       [๑๕] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดีระหว่าง Commune de Pierrévert กับ Lasprèches ลงวันที่ ๑๖ มกราคม ค.ศ. ๑๙๘๗
       

       

       [๑๖] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Sté civile immobilière Résidence du pays d’Oc ลงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๗๕
       

       

       [๑๗] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดีระหว่าง Ministre de l’Aménagement, du Logement et du tourisme กับ Société Pavita ลงวันที่ ๒๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๗๘ และคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Compagnie pour l’équipement, le financement et la construction (CEFIC) ลงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๘๓
       

       

       [๑๘] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Lozier ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๗๔ และคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Bert ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๗
       

       

       [๑๙] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Cocorel ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๘๙
       

       

       [๒๐] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Dame Maury ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๗๒
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544