หน้าแรก บทความสาระ
การเซ็นเซอร์ตนเองของสื่อมวลชนไม่ให้มีการนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง
อาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง น.บ. (กฎหมายทั่วไป) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ น.ม. (กฎหมายมหาชน) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีเมลล์: pedithep.youyuenyong@email.dmu.ac.uk อาจารย์ ปุณฑรี จันทรเวคิน น.บ. (กฎหมายทั่วไป) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ น.ม. (กฎหมายมหาชน) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม อีเมลล์: poontaree.ch@spu.ac.th
6 เมษายน 2557 20:11 น.
 
[1] บทนำ
       สื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตย (mass media in democracy society) มีหน้าที่นำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารประเภทต่างๆ เพื่อให้ประชาชน กลุ่มทางสังคมและองค์กรได้ทราบข่าวคราว ปรากฎการณ์หรือสถานการณ์ต่างๆ ในสังคม อันอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression) หรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อสารโดยวิธีอื่นๆ[1]
       สื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตยมีบทบาทที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือการตัดสินใจทางการเมืองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการเสนอข้อมูลข่าวสารให้สาธารณะชนได้รับทราบถึงปัญหาและบริบททางการเมืองที่ซับซ้อน รวมไปถึงการเป็นสื่อกลางที่อธิบายถึงปรากฎการณ์ทางการเมือง อันมีส่วนให้ประชาชนเข้าใจปัญหาและบริบทที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือในแง่ของการนำเสนอบริบทของสังคมอื่นๆ ที่อาจมีความเกี่ยวพันหรือมีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจเชิงนโยบายของทางภาครัฐหรือภาคเอกชน
       สื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตยยังมีบทบาทที่สำคัญที่ทำให้รัฐในยุคปัจจุบันมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น (democratisation)[2] โดยสื่อมวลชนในประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศที่ด้อยพัฒนาอาจอาศัยบทบาทและหน้าที่ของตนที่มีอยู่มาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารข้อมูลข่าวสารทางการเมืองอันทำให้ประชาชนสามารถรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับบริบท สถานการณ์ ความสัมพันธ์ตลอดจนถึงปัญหาทางการเมืองระหว่างองค์กรทางการเมืองและสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ การนำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน ย่อมส่งผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมทางการเมืองของประชาชนหรือกลุ่มทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเมื่อประชาชนหรือกลุ่มบุคคลได้รับรู้หรือรับทราบข้อมูลข่าวสารทางการเมืองจากสื่อมวลชนแล้ว ประชาชนหรือกลุ่มทางการเมืองก็อาจนำข้อมูลข่าวสารต่างๆ มาประกอบการตัดสินใจทางการเมือง จนอาจนำไปสู่พัฒนาการทางการเมืองที่ดีขึ้นหรืออาจนำไปสู่ความถดถอยทางการเมืองที่เลวร้ายลงก็เป็นได้
       ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดความถดถอยทางการเมืองที่เลวร้าย จนนำไปสู่วิกฤติทางการเมือง ความขัดแย้งระหว่างประชาชนหรือกลุ่มทางการเมืองในระดับต่างๆ และการแตกความสามัคคีระหว่างประชาชนด้วยกัน ที่อาจพัฒนาไปสู่การใช้ความรุนแรงระหว่างประชาชนด้วยกันเองหรือการใช้ความรุนแรงระหว่างหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองกับประชาชน นั้นก็คือ การนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองในสื่อสารมวลชน (hate speech in the mass media)[3] ด้วยเหตุนี้เอง รัฐจึงต้องกำหนดกลไกมา ควบคุม เซ็นเซอร์ จำกัด และปิดกั้นการนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองในสื่อมวลชน โดยกลไกของรัฐจะต้องไม่ขัดต่อหลักกฎหมายมนุษยชนระหว่างประเทศและเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายภายในรัฐของตนในการจำกัดเสรีภาพในการพูดหรือเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชนและผู้เข้าถึงสื่อมวลชนในระดับต่างๆ[4]  
       นอกจากที่รัฐที่เข้ามามีบทบาทในการกำหนดกลไกควบคุมการนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองของสื่อมวลชนแล้ว สื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อาจร่วมกันกำหนดมาตรการในการควบคุมการนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง ด้วยการเซ็นเซอร์ตนเอง (self-censorship) กล่าวคือ สื่อมวลชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องอาจแสวงหาแนวทางและกระบวนการในการควบคุมการนำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านการเมือง ไม่ให้มีเนื้อหาไปเกี่ยวข้องกับวาจาที่สร้างความเกลียดชังในทางการเมือง โดยอาศัยเพียงเหตุแห่งความแตกต่างกันทางด้านเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ชาติกำเนิด ความเชื่อทางศาสนา เพศ การแสดงออกทางเพศ ความพิการทางกาย และปัญหาด้านสุขภาพ มาสร้างวาจาดูหมิ่น ดูแคลน เย้ยหยันหรือก่อให้เกิดความเกลียดชังกันในทางการเมือง
       แม้การเซ็นเซอร์ตนเองของสื่อมวลชนอาจส่งผลดีในแง่ของการควบคุมการเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้ามากำกับการนำเสนอข้อมูลข่าวสารทางการเมืองของตนให้สอดรับกับหลักเกณฑ์จริยธรรมสื่อมวลชนกับมาตรการทางกฎหมายควบคุมการกล่าว นำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง แต่การเซ็นเซอร์ตนเองของสื่อมวลชนอาจส่งผลกระทบต่อความจริงหรือข้อเท็จจริงในเนื้อหาจากคำพูดหรือข้อมูลข่าวสารของแหล่งข่าวก็เป็นได้
       บทความฉบับนี้ จึงต้องการพรรณาถึงความหมายของวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง บทความฉบับนี้ยังมุ่งบรรยายหลักการเซ็นเซอร์ตนเองของสื่อมวลชนและข้อโต้แย้งบางประการเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ตนเองของสื่อมวลชนไม่ให้มีการนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง พร้อมกับนำเสนอแนวทางการเซ็นเซอร์ตนเองของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองกับวิกฤติทางการเมืองของประเทศไทย
       [2] วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง
       ในสังคมปัจจุบันมนุษย์อาจอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะหรือแยกอยู่ออกไปเป็นปักเจก ซึ่งในสังคมย่อมประกอบไปด้วยมนุษย์หรือประชากรที่มีความหลากหลาย (diversity)[5]ตามลักษณะเฉพาะในตัวของแต่ละบุคคล ไม่วาจะเป็นสีผิว (race) ชาติพันธุ์กำเนิด (origin) ศาสนา (religion) เพศ (gender) การแสดงออกทางเพศ (sexual orientation) ความบกพร่องทางกาย (disability) ความคิดเห็นในทางการเมือง (political opinion) และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม (financial or social status) อนึ่ง การที่ในสังคมประกอบไปด้วยผู้คนที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป ตามลักษณะทางกาย ค่านิยม รสนิยาม ความเชื่อ การถูกปลูกฝังและอิทธิผลของการเลี้ยงดู ย่อมทำให้มนุษย์มีความคิดอ่านและทัศนคติต่อสังคมหรือบุคคลอื่นๆ ที่อยู่รวมกับตนในสังคมแตกต่างกันออกไปได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เอง การแสดงออกทางความคิดหรือการแสดงทัศนคติส่วนตนของแต่ละบุคคลก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย ตามลักษณะเฉพาะและปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับลักษณะเฉพาะ อย่างไรก็ดี ปัจเจกชนแต่ละบุคคลอาจมีความเห็นทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองที่แตกต่างกันออกไปอันขึ้นกับความเชื่อ ความเลือมใสและศรัทธาต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ผู้นำทางการเมือง กลุ่มอิทธิพล กลุ่มผลประโยชน์ พรรคการเมืองและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองอื่นๆ
       แม้ว่ากฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กฎหมายสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคและกฎหมายสิทธิมนุษยชนภายในรัฐต่างๆ  รวมไปถึงรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรของหลายประเทศ ได้บรรจุหลักเสรีภาพการแสดงออก (freedom of expression) ไว้ในบทบัญญัติ ซึ่งวางหลักเกณฑ์คุ้มครองเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อสารโดยวิธีอื่นๆ โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ แต่ทว่ารัฐหรือหน่วยงานของรัฐอาจเข้าแทรกแซงเสรีภาพการแสดงออกในกรณีที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบในด้านลบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น[6] ได้แก่  การการแสดงออกก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ บูรณาภาพแห่งดินแดนหรือความปลอดภัยสาธารณะ (national security, territorial integrity or public safety) การแสดงออกในเชิงยั่วยุให้เกิดความระส่ำสะสายหรืออาชญากรรมในบ้านเมือง (disorder or crime) การแสดงออกที่อาจกระทบต่อสุขภาพของผู้อื่นหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (health or morals) การแสดงออกที่ไปกระทบสิทธิและชื่อเสียงของบุคคลอื่นๆในสังคม (rights and reputations of other people) การแสดงออกอันเป็นการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับ (disclosure of information received in confidence) และการแสดงออกที่ไปกระทบต่ออำนาจศาลหรือกระทบต่อความเป็นกลางของตุลาการ (authority and impartiality of the judiciary) [7]
       ดังนั้น การใช้ถ้อยคำหรือวาจาที่แสดงความเกลียดชังหรือดูหมิ่นดูแคลนสีผิว ชาติพันธุ์กำเนิด ศาสนา เพศ การแสดงออกทางเพศ ความบกพร่องทางกาย ความคิดเห็นในทางการเมือง และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้อื่นหรือกลุ่มบุคคลอื่น ในประการที่มุ่งให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อความสงบเรียบร้อยและสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น อาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งขึ้นภายในประเทศและภูมิภาคได้ ตัวอย่างเช่น การกล่าวหรือเผยแพร่ถ้อยคำหรือวาจาที่ดูหมิ่นดูแคลนรสนิยมทางเพศของหญิงที่มีรสนิยมรักร่วมเพศ[8] การกล่าวหรือเผยแพร่ถ้อยคำหรือวาจาที่ดูหมิ่นดูแคลนผู้ที่มีถิ่นกำเนิดภูมิภาคอื่นของประเทศว่าด้อยความเป็นมนุษย์มากกว่าตน[9] และการกล่าววาจาเหยียดชาติพันธุ์ของประชาชนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน[10]  วาจาที่แสดงความเกลียดชังหรือดูหมิ่นดูแคลนสีผิว ชาติพันธุ์กำเนิด ศาสนา เพศ การแสดงออกทางเพศ ความบกพร่องทางกาย ความคิดเห็นในทางการเมือง และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อความสงบเรียบร้อยและสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น จึงถือเป็น วาจาที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) ระหว่างผู้คนในสังคมประชาธิปไตย วาจาที่สร้างความเกลียดชังอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้คนที่มีความเกี่ยวข้องทางการเมืองหรือกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป สมาชิกพรรคการเมือง ผู้นำทางการเมือง นักการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มอิทธิพลทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง สถาบันทางการเมืองและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองอื่นๆ วาจาที่สร้างความเกลียดชังที่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการโจมตีผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างไปจากตนเองหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับตน ถือเป็น วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง (political hate speech) เมื่อวาจาที่สร้างความเกลียดชังดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อศักดิ์ศรี (dignity) หรือความเท่าเทียม (equlity) ระหว่างมนุษย์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมือง[11]จากเนื้อหาของวาจาอันมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมืองที่มีส่วนประกอบของถ้อยคำหรือคำพูดที่แสดงความเกลียดชังหรือดูหมิ่นดูแคลนสีผิว ชาติพันธุ์กำเนิด ศาสนา เพศ การแสดงออกทางเพศ ความบกพร่องทางกาย ความคิดเห็นในทางการเมือง และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองในระดับต่างๆ เช่น วาจาดูหมิ่นนายกรัฐมนตรีว่าเป็นคนโฉดเขลา อันเนื่องมาจากการที่นายกรัฐมนตรีเป็นเพศ วาจาเหยียดผิวแกนนำกลุ่มอิทธิผลทางการเมืองว่ามีสีผิวที่ดำอันน่ารังเกียจ และวาจาเหยียดหยามประชาชนที่เลือมใส่ศรัทธานักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามกับตน ว่ามีสติปัญญาเบากว่าตน เพียงเพราะเหตุว่าเขาเหล่านั้นมาจากภูมิภาคที่ต่างไปจากตน เป็นต้น
       [3] ผลกระทบของการนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองของสื่อมวลชน
       การนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง รวมไปถึงการกระทำอื่นๆ ที่มุ่งในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันมีเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง เช่น การดัดแปลง การอัพโหลด การทำซ้ำ การถ่ายทอดและการส่งต่อ ย่อมอาจทำให้ประชาชนทั่วไปและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองระดับต่างๆ รับสารอันมีเนื้อหาประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง โดยปราศจากการไตร่ตรองหรือวิเคราะห์ข้อเท็จจริงในเนื้อหาของวาจาดังกล่าวอาจทำให้เกิดจิตวิทยาสังคมแห่งความอคติ (social psychology of prejudice)[12] กล่าวคือ ถ้อยคำหรือวาจาที่สร้างความเกลียดย่อมถือเป็นตัวแปรหรือปัจจัยประการสำคัญที่ทำให้ผู้คนในสังคมที่มีทัศนะคติทางการเมืองที่คล้ายคลึงกับผู้ส่งสารหรือมีทัศนะคติทางการเมืองที่แตกต่างจากผู้ส่งสาร มีอาการชอบพอในวาจาหรือแสดงพฤติกรรมที่ไม่เห็นด้วยกับวาจาดังกล่าว จนอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมอื่นๆ ตามมาหลังจากที่ได้รับสารอันประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองในสังคมประชาธิปไตย เช่น พฤติกรรมที่แสดงความก้าวร้าวและพฤติกรรมแสดงความชอบพอกันระหว่างบุคคลหรือหมู่คณะทางการเมือง[13] เป็นต้น
       นอกจากผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพจิตของประชาชน ดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้นแล้ว การนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองก็สามารถส่งผลอันเลวร้ายต่อการตัดสินใจทางนโยบายหรือการกำหนดมาตรการโดยรัฐหรือผู้นำของรัฐบางประการ ตัวอย่างเช่น แนวคิดของผู้นำพรรคนาซี (Nazi Party) ของประเทศเยอรมนี ในสมัยก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติและต่อต้านชาวยิว (Jewish Racism and Anti-semitism) นำไปสู่การสร้างวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองที่สามารถโน้มน้าวให้ผู้นำทางการเมือง พรรคการเมืองและองค์กรของรัฐในขณะนั้น ร่วมกันกำหนดบทบัญญัติทางกฎหมายเป็นการเฉพาะขึ้นสำหรับต่อต้านชาวยิว (Anti-Jewish Legislation in Prewar)[14] ในระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้นำพรรคนาซี ได้อาศัยการใช้วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง มาเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่ออันก่อให้เกิดความเกลียดชัง (hate propaganda) ทางการเมือง ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านชาวยิวดังที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น สำหรับโน้มน้าวให้พลเมืองประเทศเยอรมันและพลเมืองของประเทศพันธมิตรสงครามให้เกลียดชังชาวยิวหรือเกลียดชังผู้มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างไปจากพรรคนาซี อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดนโยบายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust) ที่ทำให้ชาวยิวจำนวนหลายล้านคนถูกทรมาณและสังหารอย่างโหดเหี้ยม เพียงด้วยเหตุเพราะมนุษย์เหล่ามีเชื้อชาติเป็นยิว รวมไปถึงการใช้ความรุนแรงและสังหารผู้ที่มีความเห็นทางการเมืองอันเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคนาซี อนึ่ง สื่อมวลชนของประเทศเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แก่ สิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์[15] ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือนำเสนอข้อมูลข่าวสารอันมีเนื้อหาประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองไปสู่พลเมือง ทำให้พรรคนาซีและภาครัฐสามารถอาศัยสื่อต่างๆ มาโฆษณาชวนเชื่อให้พลเมืองของต้นเกิดความเกลียดชังชาวยิวและผู้ที่มีความเห็นทางการเมืองตรงข้ามกับพรรคนาซี
       ภูมิภาคยุโรปเคยประสบปัญหาเกี่ยวกับการกล่าวหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองของพรรคนาซี ประเทศเยอรมนี โดยอาศัยสื่อมวลชนมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง จนนำไปสู่ความแตกแยกระหว่างหมู่ชน สงครามระหว่างประเทศและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพื่อนมนุษย์ร่วมโลกอันโหดร้าย ดังนั้น ประเทศต่างในภูมิภาคยุโรปจึงพยายามหาแนวทางร่วมกันสำหรับระวังภัยและป้องกันไม่ให้เหตุการณ์อันเลวร้ายอันเนื่องมาจากการกล่าวหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองเกิดขึ้นอีกในภูมิภาคยุโรป ด้วยเหตุนี้ อนุสัญญาแห่งยุโรปว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ค.ศ. 1950 (European Convention for the Protection of Human Rights and Fundamental Freedoms 1950) มาตรา 10[16] มาตรา 14[17] และ มาตรา 17[18] ได้วางหลักเกณฑ์ให้พลเมืองของสหภาพยุโรปมีเสรีภาพในการแสดงออกทางความเห็น โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐ ตราบเท่าที่การแสดงออกในด้านต่างๆ ของพลเมือง ไม่ไปกระทบต่อสิทธิและศักดิ์ศรีแห่งความเห็นมนุษย์ของบุคคลอื่นๆ การแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองในโลกออนไลน์จึงสามารถกระทำได้เท่าที่จำเป็นและสมควรแก่เหตุอันเป็นไปตามแนวทางสังคมประชาธิปไตย
       แม้ว่าปัจจุบันหลายภูมิภาคและหลายประเทศได้พยายามกำหนดมาตรการในรูปแบบของกฎหมายสารบัญญัติหรือกฎเกณฑ์แห่งวิชาชีพสื่อมวลชน[19]เพื่อป้องกันการนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองโดยอาศัยสื่อมวลชนมาเป็นเครื่องมือ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม นักปฏิบัติด้านสื่อมวลชนและนักกฎหมายบางท่านอาจความเห็นไปในเชิงต่อต้านการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกในทางการเมืองของสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัดหรือเชิงสนับสนุนการควบคุมการนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองของสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด โดยต่างก็ให้เหตุผลว่าในเชิงโต้แย้งซึ่งกันและกัน โดยนักปฏิบัติด้านสื่อมวลชนและนักกฎหมายอีกฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่าข้อมูลข่าวสารจากผู้มีส่วนได้ทางการเมืองควรได้รับการเปิดเผย เฉพาะในส่วนที่ไม่มีเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงไปในแนวทางที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างหมู่ชนหรือความขัดแย้งในสังคม ซึ่งนักปฏิบัติด้านสื่อมวลชนและนักกฎหมายจำต้องแสวงหาแนวทางเพื่อป้องกันหรือยับยั้งการนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองร่วมกันอย่างเคร่งครัด[20] ในทางตรงกันข้าม นักปฏิบัติด้านสื่อมวลชนและนักกฎหมายฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่าข้อมูลข่าวสารจากผู้มีส่วนได้ทางการเมืองควรได้รับการเปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งหมด แม้ว่าข้อมูลข่าวสารนั้นจะประกอบไปด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง โดยผู้รับสารในสังคมประชาธิปไตยควรมีวิจารณญาณในการเสพข้อมูลข่าวสารทางการเมืองด้วยตนเอง[21] ด้วยเหตุนี้เอง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสื่อมวลชนในระดับต่างๆ จึงต้องแสวงหาหลักเกณฑ์และวิธีการที่ทำให้เกิดสมดุล (balance) ระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง อันถือเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์กับการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง อันมีเนื้อหาประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตและความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง
       [4] สมดุลระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกและการควบคุมการนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
       นาย Ed Richards ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรกำกับดูแลการสื่อสารของอังกฤษ (Office of Communications - Ofcom) ได้เคยกล่าวในการบรรยายหัวข้อ "Broadcasting Regulation in Converged World" ว่า “สมดุลระหว่างเสรีภาพในการแสดงคำพูดและการสร้างความมั่นใจว่าผู้ชมสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ได้รับการคุ้มครองผลกระทบอันเรื่องมาจากวาจาที่สร้างความเกลียดชังเป็นสิ่งที่สำคัญ”[22]
       ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ[23] กฎหมายสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคและกฎหมายสิทธิมนุษยชนภายในรัฐต่างๆ  รวมไปถึงรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรของหลายประเทศ ได้บรรจุหลักเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพในการพูดเอาไว้ในบทบัญญัติ อันกำหนดหลักเกณฑ์คุ้มครองเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อสารโดยวิธีอื่นๆ ทั้งนี้ สื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตยจึงมีสิทธิเสรีภาพที่จะเป็นสื่อกลางในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร แสดงความเห็น แสดงทัศนคติและสารอื่นๆ ต่อสาธารณะชนในวงกว้าง และสื่อกระจายข้อมูลข่าวสารที่อาจมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนหรือส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข่าวสารที่สื่อมวลชนได้นำเสนอไปนั้น อาจประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองที่อาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมือง รวมไปถึงความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีกับความมั่นคงของชาติ สื่อมวลชนจึงจำต้องมีความรับผิดชอบบางประการหากการใช้สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนมากเกินขอบเขต[24]
       ด้วยเหตุนี้เอง สื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อาจร่วมกันสร้างสมดุลการควบคุมการนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง[25]ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ บูรณาภาพแห่งดินแดนหรือความปลอดภัยสาธารณะ ความระส่ำสะสายหรืออาชญากรรมในบ้านเมือง สุขภาพของผู้อื่นหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สิทธิและชื่อเสียงของบุคคลอื่นๆในสังคม ข้อมูลที่เป็นความลับ และความเป็นกลางขององค์กรตุลาการในการพิจารณาพิพากษาคดี โดยการร่วมกันสร้างสมดุลอาจต้องมีการระดมความเห็นหรือรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองในสื่อมวลชนระดับต่างๆ เพื่อแสวงหาหนทางการควบคุมการนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาดังกล่าว
       อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตบางประการที่ว่าข้อมูลข่าวสารที่ประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองควรได้รับการควบคุมทั้งหมดหรือควบคุมเพียงส่วนที่อาจมีเนื้อหาอันสร้างผลกระทบในตามที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น รวมไปถึงไม่ควรควบคุมด้วยประการใดๆ เลย แต่ควรให้กลไกตลาดภายใต้ฐานความคิดด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองและประชาชนเป็นผู้ใช้ดุลพินิจและวิจารณญาณมาตัดสินว่าตนจะรับฟังหรือรับรู้ข้อมูลข่าวสารอันมีวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ท้าทายสื่อมวลชนในระดับต่างๆ ในการสร้างระดับของการควบคุมที่เหมาะสมกับบริบททางสังคมและระบบการกำกับดูแลสื่อมวลชนในแต่ละประเทศ
       หลักการที่สำคัญประการหนึ่งที่สื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม นำเอามาใช้ในการกำกับดูแลการนำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ประกอบไปด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังในสังคม นั้นก็คือ การเซ็นเซอร์ตนเอง (self-censorship) ซึ่งสื่อมวลชนในระดับต่างๆ อาจได้รับสิทธิจากแนวทางปฏิบัติ ระเบียบหรือกฎหมายที่ให้อำนาจในการเซ็นเซอร์ตนเองของสื่อมวลชนแขนงต่างๆ หรืออาจถูกภาครัฐที่มีอำนาจกำกับดูแลสื่อมวลชนโดยตรง ใช้อำนาจเข้าแทรกแซงเพื่อเซ็นเซอร์เนื้อหาหรือคำพูดที่ประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง ตัวอย่างเช่น การกำหนดระบบการจัดลำดับความเหมาะสมของเนื้อหาของรายการโทรทัศน์ (self-rating) เพื่อเตื่อนให้สาธารณะชนที่รับชมรายการได้ทราบว่าเนื้อหาที่นำเสนอมีวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองแฝงอยู่ รวมไปถึงเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้สอนเด็กหรือแนะนำเยาวชนว่าวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองแบบใดที่เด็กและเยาวชนควรใช้วิจารณญาณในการชมหรือไม่ควรให้เด็กและเยาวชนชมเนื่องจากจะมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมอันเป็นการเยียดสีผิว ชาติพันธุ์กำเนิด ศาสนา เพศ การแสดงออกทางเพศ ความบกพร่องทางกาย ความคิดเห็นในทางการเมือง และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้อื่น เพื่อหวังประโยชน์ในทางการเมือง เป็นต้น
       [5] การเซ็นเซอร์ตนเองของสื่อมวลชนไม่ให้มีการนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง
       การเซ็นเซอร์ตนเองของสื่อมวลชนไม่ให้มีการนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองจึงอาจถือเป็นเครื่องมือประการหนึ่งของสื่อมวลชน ในการเซ็นเซอร์เนื้อหาอันประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง ที่มุ่งแต่นำเสนอถ้อยคำหรือข้อความที่ไม่เหมาะสมอันเป็นการเยียดสีผิว ชาติพันธุ์กำเนิด ศาสนา เพศ การแสดงออกทางเพศ ความบกพร่องทางกาย ความคิดเห็นในทางการเมือง และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้อื่น เพื่อหวังประโยชน์ในทางการเมือง ทำให้สื่อมวลชนสามารถพิจารณาเบื้องต้นว่าเนื้อหาใดประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง โดยสื่อมวลชนอาจกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ มาเซ็นเซอร์ตนเอง เช่น สื่อมวลชนอาจทำการแสดงสัญลักษณ์จัดระดับความเหมาะสมของรายการต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง ไว้เพื่อให้ผู้ชมสามารถเลือกรับชมได้หรือผู้ปกครองสามารถให้คำแนะนำแก่บุตรหลานถึงพฤติกรรมของนักการเมืองหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองที่ใช้วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง มาเป็นเครื่องมือแสวงหาประโยชน์ทางการเมือง หรือสื่อมวลชนอาจทำการตัดถ้อยคำหรือข้อความที่มีเนื้อหาประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง ทั้งหมดหรือบางส่วน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดรายการหรือผู้ผลิตรายการของสื่อมวลชนแขนงต่างๆ
       อย่างไรก็ดี มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสื่อมวลชนในหลายประเทศ ได้โต้แย้งว่าการเซ็นเซอร์ตนเองของสื่อมวลชนไม่ให้มีการนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองไม่มีความจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย เพราะการเซ็นเซอร์ตนเองของสื่อมวลชน ถือเป็นเพียงความตื่นตระหนกของสื่อเอง (media’s fear)[26] ที่ตระหนกต่อปัญหาวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองเกินไปกว่าเหตุ จนอาจส่งผลต่อเนื้อหาข้อเท็จจริงต่อการนำเสนอหรือปฏิบัติงานด้านสื่อสารมวลชน
       [6] แนวทางการเซ็นเซอร์ตนเองของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองกับวิกฤติทางการเมืองของประเทศไทย
       สำหรับประเทศไทย สื่อมวลชนย่อมได้รับความคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกหรือเสรีภาพในการแสงความเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์และการโฆษณา และการสื่อสารโดยวิธีอื่นๆ เป็นหลักการสำคัญของรัฐประชาธิปไตยไว้อย่างชัดเจนในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 36[27] และมาตรา 45[28] ทั้งเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้รัฐบาลมาริดรอน หรือจำกัดเสรีภาพดังกล่าวนั่นเอง เว้นแต่การที่รัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความจำเป็นต้องก้าวล่วงเข้าไปในสิทธิและเสรีภาพในการสื่อสารและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนได้เฉพาะเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น
       ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ปรากฏขึ้นในปัจจุบันจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มอิทธิพลทางการเมือง การรณรงค์ของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง และสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอื่นๆ สื่อมวลชนถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้ทราบถึงสถานการณ์ทางการเมืองความขัดแย้งทางการเมืองในแต่ละวัน ซึ่งในบางครั้งการนำเสนอเนื้อหา สาระของข่าว มุมมอง แง่คิด และทัศนคติด้านการเมือง อาจแฝงไว้ด้วยเนื้อหาอันประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง ทั้งจากการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในสื่อกระแสหลัก ได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ และสื่อทางเลือกใหม่ เช่น โทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน และวิทยุธุรกิจท้องถิ่น ที่บางครั้งก็อาจให้ข้อมูลข่าวสารด้านเดียวอันมีเนื้อหาประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง โดยปรากฏให้เห็นจากคำพูดของผู้ดำเนินรายการ การเล่าข่าว การแสดงความเห็นต่อประเด็นข่าวของผู้ดำเนินรายการ ที่มุ่งโจมตีกลุ่มเป้าหมายที่มีความคิดเห็นทางการเมืองในฝั่งตรงข้าม โดยอาศัยข้อมูลข่าวสารที่ประกอบด้วยเนื้อหาอันเป็นวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองมาเป็นเครื่องมือนั่นเอง
       ประเด็นคำถามที่น่าสนใจ คือ เหตุใดสื่อมวลชนจึงได้มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอันมีเนื้อหาประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองในลักษณะดังกล่าว นั้นอาจเป็นเพราะสื่อมวลชนมีความเชื่อบางประการที่ว่าตนเองควรมีเสรีภาพในการแสดงออกตามที่ได้รับรองและคุ้มครองตามกฎหมายอย่างไม่มีขีดจำกัด รวมไปถึงผลประโยชน์จากการสื่อสารทางการเมืองร่วมกันระหว่างกลุ่มอิทธิพลหรือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองกับสื่อมวลชนบางกลุ่มและการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนที่มุ่งผลประกอบการจากการดำเนินกิจการของตน
       เมื่อพิจารณาถึงแนวทางหรือข้อจำกัดของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบันจะพบว่า มาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจารหรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง” แต่เป็นที่น่าสังเกตได้ว่าข้อมูลข่าวสารที่ประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองถือเป็นข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนภายใต้กฎหมายฉบับนี้หรือไม่ แม้ว่าในหลายประเทศถือว่าข้อมูลข่าวสารที่ประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองเป็นข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่กฎหมายไทยฉบับนี้ไม่ได้บัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ข้อมูลข่าวสารที่ประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองเป็นข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ อนึ่ง แม้ว่าการกล่าววาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองต่อผู้อื่นหรือบุคคลที่สามในบางกรณีอาจเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ในเรื่องความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือหมิ่นประมาทในกรณีต่างๆ แต่หากการกล่าววาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองต่อผู้อื่นหรือบุคคลที่สาม ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทั้งองค์ประกอบภายนอกและองค์ประกอบภายใน ตำรวจทางยุติธรรมก็ไม่อาจดำเนินคดีต่อผู้กล่าววาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองในเชิงดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือหมิ่นประมาทต่อผู้อื่นหรือบุคคลที่สามได้
       นอกจากนี้ แม้ในอดีตที่ผ่านมาผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เป็นองค์กรในรูปแบบต่าง ๆ ได้ร่วมกลุ่มกันขึ้น เพื่อจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพและควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม[29] เช่น มาตรฐานทางจริยธรรมของวิทยุชุมชน[30] ข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยว่าด้วย จริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ.2553[31] และจรรยาบรรณนักหนังสือพิมพ์[32]  แต่ทว่าในปัจจุบันยังไม่มีการจัดทำเอกสารกำหนดแนวทางในการเซ็นเซอร์การนำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันมีเนื้อหาประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจสื่อมวลชนเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด คงมีเพียงงานวิจัยทางวิชาการจากสถาบันการศึกษาที่นำเสนอถึงโทษภัยหรือผลกระทบของวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองในลักษณะต่างๆ
       ดังนั้น  ผู้เขียนขอเสนอแนะว่าพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ควรได้รับการเพิ่มเติมเนื้อหาบทบัญญัติมาตราเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับคำนิยามให้มีความชัดเจน โดยครอบคลุมว่าข้อมูลข่าวสารใดได้ถูกนำเสนอ โดยมีลักษณะเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมถึงบัญญัติเป็นการเฉพาะเกี่ยวกับการกล่าวหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
       นอกจากนี้ ผู้เขียนขอเสนอให้หน่วยงานหลักของรัฐที่มีหน้าที่ในการกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม[33] ได้แก่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) [34] กำหนดแนวทางร่วมกับสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อร่วมกันสร้างสมดุล[35] ระหว่างเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารทางการเมืองกับการกำกับตนเองในการนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง ตัวอย่างเช่น แนวทางการกำกับดูแลของสื่อมวลชนผ่านมาตรการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์หากการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในรายการโทรทัศน์ดังกล่าวประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง ที่มุ่งให้ผู้ชมรับทราบว่าข้อมูลข่าวสารที่สื่อมวลชนนำเสนอประกอบไปด้วยเนื้อหาที่มีวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองแฝงอยู่กับเพื่อให้ผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่สามารถแนะนำบุตรหลานถึงความไม่เหมาะสมของพฤติกรรมการสื่อสารของผู้นำการเมือง นักการเมือง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมือง กลุ่มอิทธิพลหรือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองต่างๆ ที่หยิบยกหรือกล่าววาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองในรายการโทรทัศน์หรือในข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอทางโทรทัศน์ ในขณะเดียวกัน สื่อโทรทัศน์ก็ยังคงเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารทางการเมือง ได้อย่างเสรี แม้ว่ารายการโทรทัศน์ดังกล่าวอาจประกอบด้วยข้อมูลข่าวสารทางการเมืองที่ประกอบด้วยวาจาอยู่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองอยู่บ้างก็ตาม
        [7] บทสรุป
       อาจเป็นการยากที่จะรักษาสมดุลระหว่างเสรีภาพของสื่อมวลชนกับการกำกับดูแลการนำเสนอข้อมูลข่าวสารทางการเมืองที่ไม่เหมาะสมอันเป็นการเยียดสีผิว ชาติพันธุ์กำเนิด ศาสนา เพศ การแสดงออกทางเพศ ความบกพร่องทางกาย ความคิดเห็นในทางการเมือง และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้อื่น เพื่อหวังประโยชน์ในทางการเมือง แต่ทว่า การเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องแสวงหาแนวทางและกระบวนการในการกำกับนำเสนอหรือรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านการเมือง ไม่ให้มีเนื้อหาไปเกี่ยวข้องกับวาจาที่สร้างความเกลียดชังในทางการเมือง ผ่านกลไกการเซ็นเซอร์ตนเองของสื่อมวลชน ก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ผลปัญหาและผลกระทบจากการเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกของสังคมหรือแตกความสามัคคีในหมู่ชน
       

       
       

       

       [1] Lichtenberg, J., 'Introduction', in Lichtenberg, J., Democracy and the mass media, Cambridge University Press, 1995, p 15.
       

       

       [2] Jebril, N., Stetka, V. & Loveless, M., Media and Democratisation: What is Known about the Role of Mass Media in Transitions to Democracy, Reuters Institute for the Study of Journalism, 2013, pp 4-6.
       

       

       [3] การนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองในสื่อระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตีพิมพ์ การกระจายเสียง การแพร่ภาพและการสื่อข้อมูลข่าวสารอื่นๆ บนโลกออนไลน์ย่อมล้วนแล้วต่ออาจก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างได้ ด้วยเหตุนี้เอง รัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลการสื่อมวลชนกับกำกับดูแลวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง ควรกระทำการเพื่อไม่ว่ามีการเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง (prevalence of hate speech) ในสื่อมวลชนระดับต่างๆ โปรดดูแนวคิดทางวิชาการของ ศาสตราจารย์ ดร. Lejla Turcilo จากมหาวิทยาลัยซาราเจโว (University of Sarajevo) ใน Center for Global Communication Studies, Hate Speech Regulation and Freedom of Speech in Bosnia-Herzegovina, available from http://cgcsblog.asc.upenn.edu/2013/07/02/hate-speech-regulation-and-freedom-of-speech-in-bosnia-herzegovina/  accessed 20 March 2014.
       

       

       [4] Budapest Centre for the International Prevention of Genocide and Mass Atrocities, Hate Speech: The Role of New Media in the Prevention of Mass Atrocities, Central European University Budapest, 2012, available from http://media.wix.com/ugd/a28572_c5de8e1ba29e8e92843defba3cda665e.pdf accessed 20 March 2014.
       

       

       [5] ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองทุกระดับชั้น จึงควรตระหนักถึงความหลากหลาย (awareness of diversity) ของผู้คนที่อยู่รวมกันในสังคมและหาทางออกร่วมกันเพื่อต่อต้านการใช้วาจาที่สร้างความเกลียดชังระหว่างผู้คนในสังคม โปรดดู Amnesty International, Written contribution to the thematic discussion on Racist Hate Speech and Freedom of Opinion and Expression organized by the United Nations Committee on Elimination of Racial Discrimination, 28 August 2012, available from http://www2.ohchr.org/english/bodies/cerd/docs/discussion/TD28082012/AmnestyInternational.pdf accessed 20 March 2014.
       

       

       [6] Stradella, E., 'Hate Speech in the Background of the Security Dilemma', German Law Journal, 2008 1(9), pp 59-88.
       

       

       [7] Equality and Human Rights Commission, Freedom of expression, available from http://www.equalityhumanrights.com/human-rights/what-are-human-rights/the-human-rights-act/freedom-of-expression/  accessed 20 March 2014.
       

       

       [8] Labris - Lesbian human rights organization, Hate Speech against Lesbian and Gay Population in Electronic Media, Labris - Lesbian human rights organization, 2007, p 5-6.
       

       

       [9] Callamard, A., Striking the right balance, available from http://www.article19.org/data/files/pdfs/publications/hate-speech-reflections.pdf accessed 20 March 2014.
       

       

       [10] Arcan, H. E., Interrupted Social Peace: Hate Speech in Turkish Media, The Asian Conference on Media and Mass Communication 2012 Official Conference Proceedings, Osaka, 2012, pp 62-63.
       

       

       [11] Vosloo, M., When Political Expression Turns Into Hate Speech: Is limitation through legislative criminalisation the answer?, LLM Dissertation, University of South Africa, 2011, p 116.
       

       

       [12] Seaman, J., 'Hate Speech and Identity Politics: A Situationalist Proposal', 2008, 36 (99), Florida State University Law Review, pp 99-124.
       

       

       [13] นอกจากนี้ ยังอาจส่งการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอันมีเนื้อหาประกอบด้วยวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองจากสื่อมวลชน เช่น การกระจายเสียงทางวิทยุหรือการแพร่ภาพกับเสียงทางโทรทัศน์ อาจส่งผลกระทบต่อสรีรวิทยา (physiological effects of hate speech) หรือกลไกการทำงานของร่างกายมนุษย์บางประการด้วย โปรดดูเพิ่มเติมใน Epstein, R., Summary of UCLA Study of Conservation Talk Radio, available from http://www.chicano.ucla.edu/files/news/Biomarkers_mexmigration_82112.pdf accessed 20 March 2014.
       

       

       [14] กฎหมายต่อต้านชาวยิวในสมัยก่อนส่งครามโลกครั้งที่สองและขณะเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ได้แก่ กฎหมาย Law for the Restoration of the Professional Civil Service (April 7, 1933) โปรดดูเพิ่มเติมใน German Historical Institute, Volume 7. Nazi Germany, 1933-1945Law for the Restoration of the Professional Civil Service (April 7, 1933), available from http://germanhistorydocs.ghi-dc.org/pdf/eng/English29_new.pdf accessed 20 March 2014.
       

       

       [15] History Learning Site, Propaganda in Nazi Germany, available from http://www.historylearningsite.co.uk/propaganda_in_nazi_germany.htm accessed 20 March 2014.
       

       

       [16] Convention for the Protection of Human Rights and Fundamental Freedoms Rome, 4.XI.1950                                                          Article 10 (Freedom of expression)
       1. Everyone has the right to freedom of expression. This right shall include freedom to hold opinions and to receive and impart information and ideas without interference by public authority and regardless of frontiers. This Article shall not prevent States from requiring the licensing of broadcasting, television or cinema enterprises.
       2. The exercise of these freedoms, since it carries with it duties and responsibilities, may be subject to such formalities, conditions, restrictions or penalties as are prescribed by law and are necessary in a democratic society, in the interests of national security, territorial integrity or public safety, for the prevention of disorder or crime, for the protection of health or morals, for the protection of the reputation or rights of others, for preventing the disclosure of information received in confidence, or for maintaining the authority and impartiality of the judiciary.
       

       

       [17]Convention for the Protection of Human Rights and Fundamental Freedoms Rome, 4.XI.1950                                                           Article 14 (Prohibition of discrimination)
        The enjoyment of the rights and freedoms set forth in this Convention shall be secured without discrimination on any ground such as sex, race, colour, language, religion, political or other opinion, national or social origin, association with a national minority, property, birth or other status.
       

       

       [18] Convention for the Protection of Human Rights and Fundamental Freedoms Rome, 4.XI.1950                                                 ARTICLE 17 (Prohibition of abuse of rights)                                                                                                                                   Nothing in this Convention may be interpreted as implying for any State, group or person any right to engage in any activity or perform any act aimed at the destruction of any of the rights and freedoms set forth herein or at their limitation to a greater extent than is provided for in the Convention.
       

       

       [19] มาตรการดังกล่าวอาจเป็นกฎหมายภายในประเทศ ที่ควบคุมการนำเสนอหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง เช่น กฎหมายความสงบเรียบร้อยของประชาชน (Public Order Act of 1986) ของประเทศอังกฤษหรือมาตรการดังกล่าวอาจถูกบัญญัติในรูปแบบของเกณฑ์การปฏิบัติอย่างเคร่งครัดขององค์กรกำกับดูแลวิชาชีพสื่อมวลชนหรือกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงหรือกิจการโทรคมนาคมอื่นๆ เช่น ประมวลการปฏิบัติด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (Ofcom Broadcasting Code) ของประเทศอังกฤษ เป็นต้น
       

       

       [20] โปรดดูหลัก ‘John Stuart Mill's Harm Principle’ ของ John Stuart Mill นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ ที่นำเสนอแนวคิดการเซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสารที่เป็นอันตรายต่อสังคมอย่างเคร่งครัด เพราะการเปิดโอกาสให้มีการเซ็นเซอร์ย่อมสนับสนุนให้สังคมพ้นจากอันตรายหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง โดยปราศจากกฎเกณฑ์อันเป็นการชี้นำของรัฐ โปรดดู Ten Cate, I. M., 'Speech, Truth, and Freedom: An Examination of John Stuart Mill's and Justice Oliver Wendell Holmes's Free Speech Defenses', Yale Journal of Law & the Humanities, 2013, 22 (1), pp 35-47.
       

       

       [21] ศาสตราจารย์ Donald Dripps ปรมาจารย์ด้านกฎหมายอาญาและอาชญวิทยา ได้เสนอว่าอันตรายบางอย่าง (ambiguous nature of harm) จากการเปิดเสรีภาพการแสดงออกอย่างอิสระ อาจไม่ชัดเจนหรือคลุมเครือในบางประเด็น โปรดดู Dripps, D. A., ‘The liberal critique of the harm principle’, Criminal Justice Ethics, 1998, 17(2), pp 3-18.
       

       

       [22] Ofcom, Speech for the Centre for Law Justice & Journalism Annual Conference: Broadcasting Regulation in A Converged World, available from http://media.ofcom.org.uk/files/2013/10/Centre-for-Law-Justice-Journalism-Annual-Lecture-2013.pdf accessed 20 March 2014.
       

       

       [23] United Nations Universal Declaration of Human Rights 1948 
        Article 19  (Freedom of opinion and expression)                                                                                                                                      Everyone has the right to freedom of opinion and expression; this right includes freedom to hold opinions without interference and to seek, receive and impart information and ideas through any media and regardless of frontiers.
       

       

       [24] อรรถสิทธิ์ รอดบำรุง และคณะ, เสรีภาพของสื่อมวลชนกับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม, available from http://elib.coj.go.th/Ebook/data/judge_report/3_8.pdf accessed 20 March 2014.
       

       

       [25] Coliver, S. (eds), Striking A Balance: Hate Speech, Freedom of Expression and Non-discrimination, available from http://www.article19.org/data/files/pdfs/publications/striking-a-balance.pdf  accessed 20 March 2014.
       

       

       [26] Bruce-Lockhart, K., From Hate Speech to Self-Censorship: The Role of the Media in Kenya’s 2007 & 2013 Elections, University of Oxford St Antony's College, 2013,  pp 1-22.
       

       

       [27] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
       มาตรา 36 “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย
       การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสารที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน รวมทั้ง การกระทำด้วยประการอื่นใดเพื่อให้ล่วงรู้ถึงข้อความในสิ่งสื่อสารทั้งหลายที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเรื่องรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”
       

       

       [28] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
       มาตรา 45 “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
       การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนการสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้การห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือ
       บางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามวรรคสอง
       การให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามวรรคสอง”
       

       

       [29] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551
       มาตรา 39 “ให้คณะกรรมการดำเนินการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เป็นองค์กรในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพและควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม”
       

       

       [30] สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ, จรรยาบรรณและการกำกับดูแลกันเอง วิทยุชุมชน, available from http://thainfcr.org/node/106  accessed 2 April 2014.
       

       

       [31] สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, ข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าวฯ ว่าด้วย จริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๓, available from http://www.newsbroadcastingcouncil.or.th/?page_id=142 accessed 2 April 2014.
       

       

       [32] มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, จรรยาบรรณของสื่อมวลชน, available from http://elearning2.utcc.ac.th/officialtcu/ECONTENT/CA302/OLD16072012/week13.pdf accessed 2 April 2014.
       

       

       [33] คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, ความเป็นมาสำนักงาน กสทช, available from  http://www.nbtc.go.th/index.php?option=com_%20content&view=article&id=4Item=29  accessed 1 April 2014.
       

       

       [34] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550                                                                                                                        มาตรา 47 “คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ
       ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกำกับการประกอบวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติของกฎหมาย”
       

       

       [35] วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง, ข้อเสนอในการกำกับดูแล “เนื้อหาต้องห้าม” โดยรัฐ: การสร้างสมดุลระหว่าง “เสรีภาพสื่อ” และ “การคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ, available from http://nbtcpolicywatch.org/press_detail.php?i=1158 accessed 1 April 2014.
        
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544