หน้าแรก บทความสาระ
หลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะกับการพิจารณาความเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารในระบบกฎหมายฝรั่งเศส
ดร.ฤทัยรัตน์ ปทุมานนท์ น.บ. (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ร.บ. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, น.ม. (กฎหมายมหาชน) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, Master 2 (Droit public) Université Clermont-Ferrand I, Doctorat en droit (Droit public) (mention très honorable et les félicitations à l’unanimité) Université Montpellier I, พนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ สำนักงานศาลปกครอง
23 มีนาคม 2557 18:25 น.
 
บทนำ
       “หลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ”[1] (le principe de la sécurité juridique) เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งที่เรียกร้องให้รัฐใช้อำนาจโดยคำนึงถึงความแน่นอนชัดเจน และ
       ความต่อเนื่องของกฎหมายหรือการกระทำทางปกครอง  ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเชื่อถือและไว้วางใจได้ว่า หากตนได้กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การกระทำดังกล่าวจะได้รับผลตามที่กฎหมายกำหนดและมีผลคงอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ
       อนึ่ง หลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะได้นำมาใช้กับคดีปกครองเกี่ยวกับการควบคุมอาคารและผังเมืองด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะและความเชื่อถือไว้วางใจของผู้รับใบอนุญาตก่อสร้าง
       กล่าวโดยเฉพาะคดีฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น เฉพาะบุคคลที่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้ว่าตนเองจะมีส่วนได้เสีย (l’intérêt) ในการเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างเท่านั้นจึงจะสามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้  เพราะหากให้สิทธิฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารแก่บุคคลใดก็ได้แล้ว อาจจะนำไปสู่การฟ้องคดีในทางที่ไม่ชอบ (l’abus) อันอาจกระทบต่อความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะของผู้รับใบอนุญาตก่อสร้าง
       อนึ่ง ผู้ที่จะฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาจจะเป็นปัจเจกบุคคลหรือคณะบุคคลก็ได้ ซึ่งจะขอแยกพิจารณาตามลำดับต่อไป ดังนี้
       ๑. การฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโดยปัจเจกบุคคล
       จากแนวคำพิพากษาของศาลปกครองฝรั่งเศสสามารถแยกพิจารณาความเป็นผู้มีส่วนได้เสียของปัจเจกบุคคลในการฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารจากองค์ประกอบต่างๆ ได้ ดังนี้ คือ
                              ๑.๑ ระยะห่างจากอาคารพิพาท (la proximité)
       คดีปกครองเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารส่วนใหญ่จะเป็นคดีที่เจ้าของหรือ
       ผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารที่อยู่ใกล้ชิดหรือติดกับอาคารพิพาทฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารดังกล่าว กรณีนี้ปัจจัยทางด้านพื้นที่ (l’espace) โดยเฉพาะระยะห่างจากอาคารพิพาท (la proximité) ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาความเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร โดยศาลปกครองฝรั่งเศสได้มีคำวินิจฉัยในประเด็นนี้ว่า บุคคลที่จะมีส่วนได้เสียในการฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น จำกัดเฉพาะบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดหรือติดกับอาคารพิพาท (le voisin contigu) เท่านั้น[2]
       อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า การพิจารณาความเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารจากระยะห่างระหว่างอาคารของผู้ฟ้องคดีกับอาคารที่ประสงค์จะฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างนั้น ศาลปกครองฝรั่งเศสได้พิจารณาเป็นรายคดีไป เช่น ศาลปกครองฝรั่งเศสวินิจฉัยว่า อาคารพิพาทอยู่ห่างจากบ้านของผู้ฟ้องคดีประมาณ ๒๐๐ เมตร ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร[3]  ดังนั้น การพิจารณาความเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเฉพาะระยะห่างระหว่างอาคารของผู้ฟ้องคดีกับอาคารที่ประสงค์จะฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างจึงอาจมีลักษณะที่ไม่แน่นอน  ด้วยเหตุนี้การพิจารณาความเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ศาลปกครองฝรั่งเศสจึงต้องพิจารณาขนาดหรือลักษณะทั่วไปของสิ่งปลูกสร้างพิพาทประกอบกับระยะห่างระหว่างอาคารของผู้ฟ้องคดีกับอาคารพิพาท[4]
       การฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโดยปัจเจกบุคคลนั้น ศาลปกครองฝรั่งเศสได้มีคำวินิจฉัยเพิ่มเติมว่า เพียงแต่คุณสมบัติของการเป็นผู้อยู่อาศัยในเขตเทศบาลก็ดี[5] การเป็นสมาชิกสภาเทศบาลก็ดี[6] การเป็นผู้เสียภาษีก็ดี[7] การเป็นผู้สัญจรหรือใช้ทางสาธารณะก็ดี[8] หาเพียงพอที่จะทำให้มีส่วนได้เสียในการฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารไม่ 
       ๑.๒ ต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในขณะที่ยื่นฟ้อง (l’intérêt actuel)
       ความเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีต้องพิจารณาในขณะที่ยื่นฟ้องต่อ
       ศาลปกครอง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความเป็นผู้มีส่วนได้เสียของผู้ฟ้องคดีจะต้องมีอยู่ในขณะที่ยื่นฟ้องต่อ
       ศาลปกครอง  ดังนั้น ผู้ที่เสียสิทธิครอบครองที่ดินหรืออาคารไปแล้วก็ดี ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นเจ้าของหรือ
       ยังมิได้ครอบครองที่ดินหรืออาคารก็ดี หาได้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารแต่อย่างใดไม่  อย่างไรก็ตาม หากผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารในขณะที่ยื่นฟ้อง แต่ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ย้ายที่อยู่ ก็หาได้กระทบต่อความเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งผู้ฟ้องคดีมีอยู่แล้วในวันฟ้องคดีไม่[9] 
       อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะของผู้รับใบอนุญาตก่อสร้าง มาตรา R. 600-3 แห่งประมวลกฎหมายผังเมือง (Code de l’urbanisme) ได้กำหนดเงื่อนเวลาในการฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารไว้หนึ่งปีนับจากก่อสร้างแล้วเสร็จ หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวไปแล้ว ผู้ฟ้องคดีจะมาฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารไม่ได้
       ๑.๓ ต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินหรืออาคาร
                                    บุคคลที่จะฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารต้องเป็นเจ้าของหรือ
       ผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารที่อยู่ใกล้ชิดหรือติดกับอาคารพิพาท[10] ถึงแม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้อาศัยอยู่ในอาคาร[11] หรือได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารไปแล้วก็ตาม [12] ก็ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร  นอกจากนี้ เจ้าของร่วม[13] ผู้เช่า[14] ผู้เก็บดอกผล[15] ก็ถือว่าเป็น
       ผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างเช่นกัน  อย่างไรก็ตาม หากยังมีการโต้แย้งสิทธิความเป็นเจ้าของอาคารหรือที่ดินอยู่ในศาลยุติธรรม[16] ยังไม่อาจถือได้ว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร
       ๑.๔ ต้องเป็นส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการผังเมือง (l’intérêt urbanistique)
       ศาลปกครองฝรั่งเศสได้แยกความเป็นผู้มีส่วนได้เสียทางธุรกิจ (l’intérêt commercial) กับความเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการผังเมือง (l’intérêt urbanistique) ออกจากกัน ตัวอย่างเช่น ศาลปกครองฝรั่งเศสไม่รับคำฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารของผู้ฟ้องคดีที่อ้างแต่เพียงความเดือดร้อนที่เกิดจากการแข่งขันทางธุรกิจ เนื่องจากความเดือดร้อนดังกล่าวหาได้เป็นผลโดยตรงจากการอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารพิพาทแต่อย่างใดไม่[17]
       ๒. การฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโดยสมาคม
       การพิจารณาความเป็นผู้มีส่วนได้เสียของสมาคม (l’association) ในการฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ๓ ประการ ดังนี้
       ประการแรก พิจารณาจากวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสมาคม (l’objet social) ที่ต้องเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การควบคุมอาคารและผังเมือง การคุ้มครองพื้นที่หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน หากมีวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากนี้ไม่อาจถือว่าสมาคมนั้นเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร 
       นอกจากนี้ หากวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสมาคมกล่าวไว้แต่เพียงกว้างๆ โดยมิได้เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การควบคุมอาคารและผังเมือง การคุ้มครองพื้นที่หรือคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะเจาะจงแล้ว ก็ไม่อาจถือได้ว่าสมาคมนั้นเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเช่นกัน[18]
       ประการที่สอง พิจารณาจากเขตพื้นที่ของสมาคมว่าอยู่ในเขตพื้นที่เดียวกันกับอาคารที่สมาคมประสงค์จะฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างหรือไม่[19] เรื่องนี้ศาลปกครองฝรั่งเศสได้มีคำวินิจฉัยว่า กรณีที่เขตพื้นที่ของสมาคมครอบคลุมพื้นที่ในเขตเทศบาล สมาคมนั้นย่อมฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารได้เฉพาะในเขตเทศบาลนั้นเท่านั้น ไม่อาจฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารในเขตพื้นที่ภาคได้ หรือกรณีที่เขตพื้นที่ของสมาคมครอบคลุมพื้นที่ในเขตภาค สมาคมนั้นย่อมฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารได้เฉพาะในเขตพื้นที่ภาคเท่านั้น ไม่อาจฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารในเขตพื้นที่เทศบาลได้ ตัวอย่างเช่น สมาคมสิ่งแวดล้อม URDEN ฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยในเขตเทศบาล Luxeuil-les-Bains แม้สมาคมจะมีที่ตั้งในเขตเทศบาลดังกล่าว แต่วัตถุประสงค์ของสมาคม คือ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การควบคุมอาคารและผังเมือง และคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาค Franche-Comté คดีนี้ตุลาการผู้แถลงคดี Dandelot เห็นว่า เมื่อเขตพื้นที่ของสมาคมครอบคลุมพื้นที่ในเขตภาค สมาคมย่อมไม่มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารในเขตพื้นที่เทศบาล Luxeuil-les-Bains ซึ่งสภาแห่งรัฐก็ได้ตัดสินไปในแนวทางเดียวกันกับความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี[20] หรือกรณีที่เขตพื้นที่ของสมาคมครอบคลุมพื้นที่ในเขตจังหวัด สมาคมนั้นย่อมไม่มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตต่อเติมอาคารในเขตพื้นที่เทศบาล[21] 
       ประการที่สาม พิจารณาความได้สัดส่วน (la proportionnalité) ระหว่างวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสมาคมและเขตพื้นที่ของสมาคมกับขนาดหรือลักษณะทั่วไปของสิ่งปลูกสร้างที่สมาคมประสงค์จะฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง เช่น สมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งแคว้น Languedoc-Roussillon ไม่มีส่วนได้เสียเพียงพอที่จะฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยเพียงหนึ่งหลังในแคว้นดังกล่าว[22]
       จากที่กล่าวมาข้างต้นอาจกล่าวได้ว่า การพิจารณาว่าสมาคมใดจะมีส่วนได้เสียในการฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหรือไม่ ศาลปกครองได้พิจารณาความเป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งในแง่เนื้อหา (ratione materiae)  และในแง่พื้นที่ (ratione loci)
       ความเป็นผู้มีส่วนได้เสียในแง่เนื้อหานั้น ศาลได้พิจารณาวัตถุประสงค์ของสมาคมเป็นสำคัญ กล่าวคือ ใบอนุญาตก่อสร้างที่สมาคมประสงค์จะฟ้องเพิกถอนนั้น ต้องมีความสัมพันธ์โดยตรงหรือกระทบต่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของสมาคม เช่น สมาคมที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองสิ่งแวดล้อมอาจมีส่วนได้เสียในการฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
       สำหรับความเป็นผู้มีส่วนได้เสียในแง่พื้นที่นั้น ศาลจะพิจารณาว่าสมาคมตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เดียวกันกับอาคารที่สมาคมประสงค์จะฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างหรือไม่  ทั้งนี้ เพื่อป้องกัน
       มิให้สมาคมใดก็ได้ที่ไม่มีส่วนได้เสียมาฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารอันอาจจะกระทบต่อหลัก
       ความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะของผู้รับใบอนุญาตก่อสร้าง
       นอกจากนี้ เพื่อประกันความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะของผู้รับใบอนุญาตก่อสร้าง มาตรา L. 600-1-1 แห่งประมวลกฎหมายผังเมือง (Code de l’urbanisme) ได้บัญญัติว่า “สมาคมจะฟ้องเพิกถอนคำสั่งเกี่ยวกับการครอบครองหรือใช้ที่ดินได้ต่อเมื่อสมาคมนั้นได้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมต่อจังหวัดก่อนที่จะมีการติดประกาศคำขออนุญาตก่อสร้าง ณ ที่ทำการเทศบาล”[23]  ดังนั้น สมาคมที่จดทะเบียนจัดตั้งหรือแก้ไขวัตถุประสงค์หลังจากที่มีการติดประกาศคำขออนุญาตก่อสร้าง ณ ที่ทำการเทศบาล จึงไม่อาจฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างนั้นได้  ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้มีการจัดตั้งสมาคมขึ้นมาเพื่อขัดขวางโครงการก่อสร้างใดโครงการก่อสร้างหนึ่งโดยเฉพาะ 
       อย่างไรก็ดี มีการวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการฝรั่งเศสว่า บทบัญญัติดังกล่าวอาจจะจำกัดสิทธิในการฟ้องคดีของสมาคมมากจนเกินไป ซึ่งอาจจะขัดกับสิทธิในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (le droit à un procès équitable)ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในมาตรา ๖ ของอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (la convention européenne des droits de l’homme) ต่อมาศาลปกครองชั้นอุทธรณ์แห่งเมือง Bordeaux ได้วินิจฉัยประเด็นนี้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติขึ้นมาเพื่อคุ้มครองความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะของผู้รับใบอนุญาตก่อสร้าง โดยจำกัดเฉพาะการฟ้องคดีของสมาคมที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อขัดขวางโครงการก่อสร้างใดโครงการก่อสร้างหนึ่งโดยเฉพาะเท่านั้น บทบัญญัตินี้จึงจำกัดสิทธิในการฟ้องคดีของสมาคมเท่าที่จำเป็น ซึ่งไม่ขัดต่อมาตรา ๖ ของอนุสัญญาดังกล่าว[24] 
       นอกจากนี้ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (Conseil Constitutionnel) ยังได้วินิจฉัยไปในแนวทางเดียวกันว่า มาตรา L. 600-1-1 แห่งประมวลกฎหมายผังเมืองไม่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวจำกัดสิทธิในการฟ้องคดีของสมาคมเท่าที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะของผู้รับใบอนุญาตก่อสร้าง และจำกัดสิทธิเฉพาะสมาคมที่ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งหลังจากที่มีการติดประกาศคำขออนุญาตก่อสร้าง ณ ที่ทำการเทศบาลเท่านั้น มิได้มุ่งหมายที่จะห้ามการจัดตั้งสมาคมแต่ประการใด
       บทสรุป
       การพิจารณาความเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น หากผู้ฟ้องคดีเป็นปัจเจกบุคคลขณะที่ยื่นฟ้องจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินหรืออาคารที่อยู่ใกล้ชิดหรือติดกับอาคารที่ประสงค์จะฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง และผู้ฟ้องคดีจะต้องอ้างความเดือดร้อนเสียหายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจรเท่านั้น จะอ้างความเดือดร้อนเสียหายจากการประกอบธุรกิจไม่ได้
       หากผู้ฟ้องคดีเป็นสมาคมก็จะต้องพิจารณาความเป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งในแง่เนื้อหา (ratione materiae) และในแง่พื้นที่ (ratione loci) กล่าวคือ พิจารณาวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสมาคมว่าเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การควบคุมอาคารและผังเมือง การคุ้มครองพื้นที่หรือคุณภาพชีวิตของประชาชนหรือไม่ และเขตพื้นที่ของสมาคมอยู่ในเขตพื้นที่เดียวกันกับอาคารที่สมาคมประสงค์จะฟ้อง
       เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างหรือไม่ รวมทั้งต้องพิจารณาว่าวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสมาคมและเขตพื้นที่ของสมาคมกับขนาดหรือลักษณะทั่วไปของสิ่งปลูกสร้างที่สมาคมประสงค์จะฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างได้สัดส่วนกันหรือไม่ 
       จากที่กล่าวมาข้างต้นอาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าผู้ฟ้องคดีจะเป็นปัจเจกบุคคลหรือสมาคม ปัจจัยทางด้านพื้นที่ (l’espace) โดยเฉพาะระยะห่างจากอาคารพิพาท (la proximité) ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาความเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง  ทั้งนี้ เพื่อมิให้บุคคลใดก็ได้มาฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การฟ้องคดีในทางที่ไม่ชอบ (l’abus) และอาจจะกระทบต่อความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะของผู้รับใบอนุญาตก่อสร้าง
        
                                            
       บรรณานุกรม
       ปิยบุตร แสงกนกกุล, ส่วนได้เสียของ “สมาคม” ในการฟ้องคดีปกครองสิ่งแวดล้อมในระบบกฎหมายฝรั่งเศส, วารสารนิติศาสตร์ปีที่ ๔๒, ฉบับที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๖
       พีรพิชญ์ วงศ์วัฒนศานต์, หลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ, วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต
       คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๔
       BARBILLON (J.-Y.), Guide pratique du permis de construire, Berger-Levraut, 2010
       BRABANT (G.) et STIRN (B.), Le droit administratif français, 6é éd., Dalloz & PFNSP, 2002
       JACQUOT (H.) et PRIET (F.), Droit de l’urbanisme, Dalloz, 6é éd., 2008
       MORAND-DEVILLER (J.), « Les associations de défense de l’environnement et
       la décision administrative », PA, 24 avril 1996, n° 50
       NICOUD (F.), Du contentieux administratif de l’urbanisme, PUAM, 2006
       ROLAND (H.) et BOYER (L.), Adages du Droit Français, Litec, 1999
       SOLER-COUTEAUX (P.), Droit de l’urbanisme, Dalloz, 2000
        
        
        
       

       
       

       

       [1] ในทางวิชาการมีการใช้ถ้อยคำที่สื่อความหมายถึงหลักการดังกล่าวที่แตกต่างกัน เช่น หลักความมั่นคงแห่งสิทธิ หลักความมั่นคงแห่งกฎหมาย ซึ่งแปลมาจากศัพท์ภาษาฝรั่งเศสคำว่า “la sécurité juridique” หลักดังกล่าวเป็นหลักที่มุ่งคุ้มครองความมั่นคงแน่นอนในทางกฎหมาย ทั้งในบริบทของสิทธิของปัจเจกบุคคล เช่น ความเชื่อโดยสุจริตของผู้ที่อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือผู้ที่รับประโยชน์จากคำสั่งทางปกครอง และบริบทของกฎหมายที่มีผลใช้บังคับ  ดังนี้ ผู้เขียนจึงเห็นควรใช้คำว่า “ความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ” เพื่อให้มีความหมายคลอบคลุมมากที่สุด
       

       

       [2] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Commune de Fréjus ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๐
       

       

       [3] คำพิพากษาศาลปกครองชั้นอุทธรณ์แห่งเมือง Bordeaux ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๙๔
       

       

                   [4] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Mme. Cheze ลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๘
       

       

       [5] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Veuve Chalotลงวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๓
       

       

       [6] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี MmeDreysse ลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๖
       

       

       [7] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Desbiaux ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๘๔
       

       

       [8] คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นแห่งเมือง Nice คดี M. Samuel ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๙๖
       

       

       [9] คำพิพากษาศาลปกครองชั้นอุทธรณ์แห่งเมือง Lyon คดีระหว่าง Ville de Marseille กับ M. et Mme Renaud ลงวันที่ ๒๘ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๙๓
       

       

       [10] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Gerbier ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๒
       

       

       [11] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Commune de Martigues ลงวันที่ ๖ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๘
       

       

       [12] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Roumieux ลงวันที่ ๑๗ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๗๘
       

       

       [13] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Société national de télévision en couleurs d’ Antenne ๒ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ค.ศ. ๑๙๘๘
       

       

       [14] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Commune de Watten ลงวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๙๕
       

       

       [15] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี M. Raysseguier ลงวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๐๗
       

       

       [16] คำพิพากษาศาลปกครองชั้นอุทธรณ์แห่งเมือง Marseille คดี San Nicolas วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๙
       

       

       [17] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Sté Économats du Centre ลงวันที่ ๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๓
       

       

       [18] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Union des propriétaires pour la défense des Arcs ลงวันที่ ๒๙ มกราคม ค.ศ. ๒๐๐๓
       

       

       [19] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Gicquel ลงวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๐
       

       

       [20] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Union régionale pour la défense de l’environnement, de la nature, de la vie et de la qualité de vie en Franche-Comté (URDEN) ลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๘๕
       

       

       [21] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดีระหว่าง Cne de Saillagouse กับ Féd. pour les espaces naturels et l'environnement catalan ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ค.ศ. ๒๐๐๓
       

       

       [22] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี M. André Bauret ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๐
       

       

       [23] Article L. 600-1-1 Une association n'est recevable à agir contre une décision relative à l'occupation ou l'utilisation des sols que si le dépôt des statuts de l'association en préfecture est intervenu antérieurement à l'affichage en mairie de la demande du pétitionnaire.
       

       

       [24] คำพิพากษาศาลปกครองชั้นอุทธรณ์แห่งเมือง Bordeaux คดี Assoc. de défense de l'environnement vent de la Gartempe ลงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๙
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544