การโยกย้ายข้าราชการส่วนท้องถิ่นในกฎหมายฝรั่งเศส |
|
|
|
คุณพัฒน์พงศ์ อมรวัฒน์
พนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ สำนักงานศาลปกครอง นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ Master 2 Droit publique approfondi Université Pierre-Mendès-France, Grenoble (ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัย Toulouse 1 Capitole ประเทศฝรั่งเศส) |
|
|
|
|
|
|
|
|
เนื่องจากหน่วยงานทางปกครองจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับห้วงเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบายหรือการบริหารงานบุคคลก็ตาม ผู้บริหารหน่วยงานทางปกครอง อันได้แก่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือแม้กระทั่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ จึงมีหน้าที่จัดสรร โยกย้ายบุคลากรภายใต้บังคับบัญชา กำหนดลักษณะขององค์กร รักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยในองค์กร ให้คุณให้โทษแก่ข้าราชการตามความจำเป็นของหน่วยงาน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินงานและตอบสนองต่อการจัดทำบริการสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การโยกย้ายข้าราชการเป็นมาตรการหนึ่งที่ผู้บริหารหน่วยงานทางปกครองมักนำมาใช้ในการดำเนินการของหน่วยงานทางปกครอง และการจัดสรรบุคคลให้สอดคล้องกับลักษณะงานก็ย่อมทำให้การดำเนินงานของหน่วยงานทางปกครองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสำนวนที่ว่า Put the right man on the right job อย่างไรก็ตามการโยกย้ายข้าราชการของผู้บริหารหน่วยงานทางปกครองจะต้องอยู่บนหลักที่ว่าต้องกระทำเพื่อประโยชน์ของหน่วยงาน
การโยกย้ายข้าราชการ [1]( Mutation) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงภาระหน้าที่งานซึ่งกระทำขึ้นระหว่างตำแหน่งงานในระดับชั้นของข้าราชการผู้นั้น การโยกย้ายข้าราชการส่วนท้องถิ่นในกฎหมายฝรั่งเศสแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ[2] การโยกย้ายภายใน (Mutation interne) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงภาระหน้าที่งานภายในองค์กรปกครองปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกัน และการโยกย้ายภายนอก (Mutation externe) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงภาระหน้าที่งานระหว่างหน่วยงานที่ต่างแตกกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงภาระหน้าที่งานจากข้าราชการส่วนท้องถิ่นไปเป็นข้าราชการของรัฐ เป็นต้น
บทความนี้จะนำเสนอเฉพาะในส่วนของการโยกย้ายข้าราชการส่วนท้องถิ่นประเภทภายในเท่านั้น ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน อันได้แก่ ส่วนที่หนึ่ง กรอบทั่วไปของการโยกย้ายภายในข้าราชการส่วนท้องถิ่น ส่วนที่สอง การโยกย้ายกับการลงโทษทางวินัยแบบแอบแฝง และส่วนที่สาม ผลของการยกเลิกคำสั่งโยกย้ายข้าราชการส่วนท้องถิ่นโดยศาลปกครอง
ส่วนที่ 1. กรอบทั่วไปของการโยกย้ายภายในข้าราชการส่วนท้องถิ่น[3]
มาตรา 52 แห่งรัฐบัญญัติลงวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1984 วางหลักไว้ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งโยกย้ายภายในเพื่อเป็นการกำหนดภาระหน้าที่งานของข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้ ทั้งนี้จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้นั้น
บทบัญญัติดังกล่าวนั้นไม่ได้กำหนดขั้นตอนใดๆสำหรับการโยกย้ายภายในไว้เป็นการพิเศษ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงแต่แจ้งให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้นั้นทราบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภาระหน้าที่งานเท่านั้น อย่างไรก็ตามในคำสั่งโยกย้ายภายในดังกล่าวนั้นจะต้องระบุเหตุผลอันเกี่ยวเนื่องกับประโยชน์ของหน่วยงาน เนื่องจากเหตุผลดังกล่าวจะถูกตรวจสอบโดยศาลปกครอง เช่น การโยกย้ายข้าราชการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความบกพร่องของการดำเนินงานของหน่วยงาน การโยกย้ายข้าราชการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างข้าราชการในหน่วยงาน เป็นต้น หากศาลปกครองตรวจพบว่าคำสั่งโยกย้ายข้าราชการส่วนท้องถิ่นใดๆเกิดขึ้นบนหลักเหตุผลที่ไม่ได้เกี่ยวโยงกับประโยชน์ของหน่วยงาน คำสั่งโยกย้ายดังกล่าวอาจจะถูกยกเลิกเพิกถอนได้
มาตรา 54 แห่งรัฐบัญญัติลงวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1984 วางหลักไว้ว่า ข้าราชการส่วนท้องถิ่นสามารถยื่นคำขอโยกย้ายภายในได้โดยเองไม่ต้องเกิดจากการริเริ่มสั่งการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงเท่านั้น ส่วนข้าราชการที่อยู่ในขอบเขตของบทบัญญัติมาตรานี้จะต้องเป็นข้าราชการที่ต้องอยู่แยกกับครอบครัว (les fonctionnaires séparés de leur conjoint) ในการพิจารณาโยกย้ายข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องคำนึงถึงข้าราชการประเภทนี้ก่อนเสมอ อย่างไรก็ตามการโยกย้ายดังกล่าวนี้จะต้องสอดคล้องกับสิทธิภาพและประโยชน์ของหน่วยงานด้วยเช่นกัน
สำหรับระยะเวลาการโยกย้ายภายในข้าราชการส่วนท้องถิ่นนั้น สภาแห่งรัฐได้วางหลักกฎหมายไว้ว่า การโยกย้ายข้าราชการจะต้องตั้งอยู่ในเงื่อนเวลาที่เหมาะสม จะต้องไม่รีบร้อนและล่าช้าจนเกิดไป เพราะอาจจะทำให้คำสั่งโยกย้ายภายในดังกล่าวนั้นเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น คำสั่งโยกย้ายข้าราชการที่ออกโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 ปีหลังจากการกระทำที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อหน่วยงานของข้าราชการถือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นอุทธรณ์แห่งเมือง Nantes ลงวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1997 แต่ในกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกคำสั่งโยกย้ายภายในเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งร้ายแรงในหน่วยงาน แม้คำสั่งดังกล่าวได้กระทำขึ้นภายหลังความขัดแย้งนั้นล่วงเลยมา 6 เดือนก็ตาม ถือว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นอุทธรณ์แห่งเมือง Nantes ลงวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1997 อย่างไรการพิจารณาว่าเงื่อนเวลาใดเหมาะสมหรือไม่นั้น ศาลปกครองจะพิจารณาเป็นรายคดีหรือรายกรณีไป
ส่วนสถานะของคำสั่งโยกย้ายภายในนั้น[4] โดยปกติคำสั่งโยกย้ายภายในมีผลจำกัดเพียงเป็นการเปลี่ยนแปลงาระหน้าที่ของงานของข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้หนึ่งผู้ใดเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงภาระหน้าที่งานดังกล่าวเป็นมาตรการภายในของฝ่ายปกครอง (Mesure d’ordre intérieur) เท่านั้น ซึ่งศาลปกครองไม่สามารถรับไว้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายได้ แต่อย่างไรก็ตามศาลปกครองฝรั่งเศสได้ยอมรับมาเป็นระยะเวลายาวนานว่า[5] หากคำสั่งโยกย้ายภายในใดมีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้หนึ่งผู้ใด ศาลปกครองจะถือว่าคำสั่งโยกย้ายภายในดังกล่าวนั้นมิใช่มาตรการภายในของฝ่ายปกครองอีกต่อไป แต่จะถือเป็นนิติกรรมทางปกครองฝ่ายเดียวที่มีผลเฉพาะราย (acte administratif unilatéral individuel) และสามารถรับไว้พิจารณาความชอบด้วยกฎหมายได้
ส่วนที่ 2. การโยกย้ายข้าราชการกับการลงโทษทางวินัยแบบแอบแฝง
จากที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่า การออกคำสั่งโยกย้ายภายในข้าราชการส่วนท้องถิ่นนั้นจะต้องกระทำเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานเท่านั้น หากคำสั่งโยกย้ายภายในใดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกระทำลงเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะลงโทษข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยที่ผู้ออกคำสั่งนั้นปกบิดเจตนาที่แท้จริงของตนเองเอาไว้ คำสั่งโยกย้ายดังกล่าวจะถือเป็นการลงโทษทางวินัยแบบแอบแฝง (Sanction disciplinaire déguisée[6])
การพิจารณาว่าคำสั่งโยกย้ายภายในใดกระทำลงบนพื้นฐานเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานนั้น ศาลปกครองฝรั่งเศสได้วางหลักกฎมายสำคัญไว้ว่า[7]คำสั่งโยกย้ายภายในจะต้องไม่มีลักษณะเป็นการลดภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ สิทธิหรือผลประโยชน์ของข้าราชการ เช่น การโยกย้ายทำให้ข้าราชการผู้หนึ่งสูญเสียอำนาจในการบริหาร การโยกย้ายทำให้สิทธิประโยชน์ทางการเงินของข้าราชการผู้นั้นลดน้อยลง หรือแม้กระทั่งในกรณีที่สถานที่ทำงานใหม่ขาดอุปกรณ์ในการทำงาน เช่น คอมพิวเตอร์ โต๊ะทำงาน หากคำสั่งโยกย้ายใดปรากฏลักษณะเหล่านี้ ศาลปกครองจะถือว่าเป็นการลงโทษทางวินัยแบบแอบแฝงและศาลปกครองสามารถรับคำสั่งโยกย้ายภายในเหล่านี้ไว้พิจารณาความชอบด้วยกฎหมายได้
นอกจากนี้มาตรการหรือคำสั่งใดๆที่มีเหตุพิจารณาตัวข้าราชการหรือความประพฤติ ของข้าราชการเป็นสำคัญ แม้จะมีลักษณะเป็นการลงโทษหรือกระทบต่อสถานภาพของข้าราชการก็ตาม แต่หากผู้มีอำนาจกระทำไปเพื่อรักษาภาพพจน์ของหน่วยงานหรือเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยในหน่วยงาน ศาลปกครองจะพิจารณาว่ามาตรการหรือคำสั่งเหล่านั้นไม่มีลักษณะเป็นการลงโทษทางวินัยแบบแอบแฝง ทั้งนี้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองอุทธรณ์แห่งเมือง Lyon ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1998 ที่วางหลักว่า การโยกย้ายข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งอื่น อันสืบเนื่องมาจากความไร้ประสบการณ์และไร้ความสามารถไม่ถือเป็นการลงโทษทาง วินัยแบบแอบแฝง หรือคำพิพากษาของสภาแห่งรัฐ ลงวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1968 ที่วางหลักว่า การออกคำสั่งโยกย้ายข้าราชการผู้หนึ่งไปดำรงตำแน่งอีกสถานที่หนึ่งเพื่อ ป้องกันความบาดหมางหรือกระทบกระทั่งกันในหน่วยงาน อันสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมยั่วยุของข้าราชการผู้นั้น คำสั่งโยกย้ายดังกล่าวถือเป็นมาตรการที่ถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ของหน่วยงาน ไม่ใช่การลงโทษทางวินัยแบบแอบแฝง เช่นเดียวกันกับคำพิพากษาของศาลปกครองอุทธรณ์แห่งเมือง Bordeaux ลงวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 2011 ที่วางหลักว่า การออกคำสั่งโยกย้ายข้าราชการผู้หนึ่งเพื่อลดความตึงเครียดภายในหน่วยงาน คำสั่งโยกย้ายดังกล่าวถือเป็นมาตรการที่ถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ของหน่วยงาน ไม่ใช่การลงโทษทางวินัยแบบแอบแฝง และคำพิพากษาของสภาแห่งรัฐ ลงวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 2011 ที่วางหลักว่า การโยกย้ายที่เหมาะสมกับระดับของข้าราชการ ไม่มีผลกระทบต่อสิทธิและผลประโยชน์ต่อสถานภาพ และไม่มีเจตนาลงโทษต่อข้าราชการผู้นั้น ไม่ถือว่าเป็นการลงโทษทางวินัยแบบแอบแฝง
ส่วนที่ 3. ผลของการยกเลิกคำสั่งโยกย้ายข้าราชการส่วนท้องถิ่นโดยศาลปกครอง[8]
นับตั้งแต่คำสั่งโยกย้ายภายในข้าราชการส่วนท้องถิ่นถูกยกเลิกเพิกถอนจากศาลปกครองด้วยเหตุความไม่ชอบด้วยกฎหมาย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องดำเนินการให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิมก่อนหน้าที่จะมีการโยกย้าย การดำเนินการให้ข้าราชการกลับเข้าสู่ตำแหน่งตามหลักกฎหมายฝรั่งเศสสามารถแบ่งแยกได้เป็น 2 ประเภท ดังต่อไปนี้[9]
1) การกลับเข้าสู่ตำแหน่งทางนิตินัย (réintégration juridique) เป็นการออกคำสั่งให้กลับเข้าสู่ตำแหน่งที่กฎหมายสมมติขึ้น มีผลย้อนหลังไปนับตั้งแต่วันที่ศาลปกครองมีคำสั่งยกเลิกเพิกถอนคำสั่งโยกย้ายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจนกระทั่งถึงวันที่มีการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องดำเนินการทันทีโดยไม่ต้องมีคำร้องขอจากข้าราชการผู้ถูกโยกย้าย การกลับเข้าสู่ตำแหน่งทางนิตินัยก่อให้เกิดผลทางกฎหมาย คือ เป็นการคืนสิทธิอันพึงมีพึงได้ตามกฎหมายของตำแหน่งเดิมให้แก่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ถูกโยกย้าย เช่น สิทธิประโยชน์ต่างๆที่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้ การเลื่อนขั้นเงินเดือน เลื่อนชั้น เป็นต้น
2) การกลับเข้าสู่ตำแหน่งทางพฤตินัย (réintégration effective) ตรงกันข้ามกับการกลับเข้าสู่ตำแหน่งทางนิตินัย การกลับเข้าสู่ตำแหน่งทางพฤตินัยนี้นั้นไม่ได้มีผลย้อนหลัง คงมีผลเพียงเพื่ออนาคตเท่านั้น กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องดำเนินการให้ข้าราชการกลับเข้าสู่ตำแหน่งและกลับมาปฏิบัติงานอย่างแท้จริงภายในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยหลักองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานทางปกครองอื่นๆจะต้องดำเนินการให้ข้าราชการกลับเข้าสู่ตำแหน่งที่มีลักษณะงานเหมือนกันหรือตำแหน่งเทียบเท่ากัน แต่ในกรณีที่จำเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการผู้อื่นที่มาแทนตำแหน่งของข้าราชการผู้ถูกโยกย้ายเพื่อที่จะให้ข้าราชการผู้นั้นกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิมของตนได้ ทั้งนี้เป็นไปตามคำพิพากษาสภาแห่งรัฐคดี M.H.M ลงวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1999[10]
อย่างไรก็ตามการพิพากษาพิจารณาคดีของศาลปกครองบางคดีอาจใช้ระยะเวลานาน ทำให้ข้าราชการขาดคุณสมบัติที่จะกลับเข้ารับราชการได้ เช่น มีอายุเกินกำหนดหรือมีสภาพร่างกายที่ไม่อาจจะปฏิบัติงานได้ การออกคำสั่งให้ข้าราชการกลับเข้าสู่ตำแหน่งทางพฤตินัยจึงเป็นไปไม่ได้ หรือในกรณีที่ตำแหน่งงานดังกล่าวนั้นเป็นตำแหน่งงานที่เกิดจากความเห็นชอบของรัฐบาล (Un emploi à la discrétion du gouvernement) การออกคำสั่งให้ข้าราชการกลับเข้าสู่ตำแหน่งทางพฤตินัยก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน ทั้งนี้เป็นตามคำพิพากษาของสภาแห่งรัฐคดี Kavvadias ลงวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1995[11]
นอกจากนี้เป็นความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะต้องเยียวยาความเสียหายให้แก่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นในกรณีที่ออกคำสั่งโยกย้ายโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งค่าชดเชยความเสียหายในที่นี้ รวมถึงค่าชดเชยความเสียหายทางด้นจิตใจและการเสื่อมเสียชื่อเสียงด้วย
บทสรุป
แม้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นจะมีดุลพินิจในการโยกย้ายข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้ แต่อย่างไรก็ตามการโยกย้ายดังกล่าวนั้นจะต้องตั้งอยู่บนหลักพื้นฐานเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานหรือของราชการเท่านั้น การโยกย้ายข้าราชการโดยอำเภอใจ จงใจกลั่นแกล้ง หรือมีเจตนาที่จะลงโทษข้าราชการ รวมไปถึงมีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของข้าราชการ ย่อมทำให้คำสั่งโยกย้ายนั้นเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและสามารถถูกตรวจสอบและถูกยกเลิกเพิกถอนโดยศาลปกครองได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ข้าราชการผู้เปรียบเสมือนแขนขาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงเป็นกลไกสำคัญในการจัดทำบริการสาธารณะให้สำเร็จผล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของหน่วยงานควบคู่ไปกับการให้ความคุ้มครองแก่ข้าราชการด้วยเสมอ
บรรณานุกรม
พัฒน์พงศ์ อมรวัฒน์ แนวความคิดว่าด้วยการลงโทษทางวินัยแบบแอบแฝงในคดีบริหารงานบุคคลของประเทศฝรั่งเศสhttp://www.pub-law.net/
ศุภวัฒน์ สิงห์สุวงษ์ คำสั่งโยกย้ายข้าราชการในกฎหมายฝรั่งเศส วารสารกฎหมายปกครอง เล่ม 20 ตอน 3 ปี 2544
BANDET Pierre, L’action disciplinaire dans les trois fonctions publiques, 3e éd., Berger - Levrault, Paris, 2001
Olivier Dord, Droit de la fonction publique, 2e éd, PUF, Paris, 2012
BRUNELLA Stéphane, La mutation interne des agents dans la fonction publique territoriale http://storage.canalblog.com
[1] ศุภวัฒน์ สิงห์สุวงษ์ คำสั่งโยกย้ายข้าราชการในกฎหมายฝรั่งเศส วารสารกฎหมายปกครอง เล่ม 20 ตอน 3 ปี 2544 หน้า 64
[2] BRUNELLA Stéphane, La mutation interne des agents dans la fonction publique territoriale เผยแพร่ใน http://storage.canalblog.com เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 2010 หน้า 1
[3] เรื่องเดียวกัน หน้าเดียวกัน
[4] ศุภวัฒน์ สิงห์สุวงษ์ คำสั่งโยกย้ายข้าราชการในกฎหมายฝรั่งเศส วารสารกฎหมายปกครอง เล่ม 20 ตอน 3 ปี 2544 หน้า 68
[5] BRUNELLA Stéphane, La mutation interne des agents dans la fonction publique territoriale เผยแพร่ใน http://storage.canalblog.com เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 2010 หน้า 6
[6] โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ พัฒน์พงศ์ อมรวัฒน์ แนวความคิดว่าด้วยการลงโทษทางวินัยแบบแอบแฝงในคดีบริหารงานบุคคลของประเทศฝรั่งเศส เผยแพร่ใน http://www.pub-law.net/ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557
[7] BRUNELLA Stéphane, La mutation interne des agents dans la fonction publique territoriale เผยแพร่ใน http://storage.canalblog.com เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 2010 หน้า 2
[8] BRUNELLA Stéphane, La mutation interne des agents dans la fonction publique territoriale เผยแพร่ใน http://storage.canalblog.com เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 2010 หน้า 9
[9] Olivier Dord, Droit de la fonction publique, p.356-360, 2e éd, PUF, Paris, 2012
[10] BRUNELLA Stéphane, La mutation interne des agents dans la fonction publique territoriale เผยแพร่ใน http://storage.canalblog.com เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 2010 หน้า 9
[11] BANDET Pierre, L’action disciplinaire dans les trois fonctions publiques, p.113, 3e éd., Berger - Levrault, Paris, 2001
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|