หน้าแรก บทความสาระ
วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองบนสื่อสังคมออนไลน์กับกฎหมายสิทธิมนุษยชนสหภาพยุโรป
อาจารย์ปีดิเทพ อยู่ยืนยง นักเรียนทุนพัฒนาบุคลากรสายวิชาการอาจารย์ (ผู้สอน) ระดับปริญญาเอก ประเภททุนสำหรับบุคคลภายนอกตามความต้องการของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีเมลล์: pedithep.youyuenyong@email.dmu.ac.uk
23 มีนาคม 2557 18:25 น.
 
[1] เกริ่นนำ
       สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตมนุษย์มาขึ้น ประชาชนโดยทั่วไป ภาครัฐ และภาคเอกชนต่างก็ได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อสนับสนุนการติดต่อสื่อสารและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของตน ทั้งที่เป็นทางการก็ดีหรือไม่เป็นทางการ นอกจากนี้แล้ว ด้วยความก้าวหน้าของการพัฒนาเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีสารสนเทศย่อมเป็นปัจจัยที่สำคัญทำให้สื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นตัวกลางที่สำคัญสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในโลกยุคปัจจุบัน รวมไปถึงการพัฒนาอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการสื่อสารและการคิดค้นคอมพิวเตอร์ในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ตหรือโปรแกรมประยุกต์ (แอพพลิเคชั่น) ได้โดยตรง ทำให้อุปกรณ์เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์พกพา โทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต ต่างก็อาจถูกนำมาใช้เพื่อเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
       สื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบันได้ถูกพัฒนาให้เอื้อประโยชน์ในการสื่อสารหรือรับสารในหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป โดยอาจเป็นการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการสื่อสารจากผู้ส่งสารทางเดียวหรือการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการสื่อสารระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร ทำให้ทั้งผู้ส่งสารก็ดีหรือผู้รับการก็ตามสามารถโต้ตอบกันไปมาได้ผ่านการใช้งานกลไก (functions) ของสื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการสนทนา (conversations) และการปฏิสัมพันธ์ (interactions) ระหว่างผู้สื่อสารและผู้รับสาร ซึ่งสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆและโปรแกรมประยุกต์ของสื่อสังคมออนไลน์นั้นๆ ย่อมอาจมีกลไกย่อยๆ ที่อำนวยประโยชน์ในการสร้างเครือข่าย (networking) การทำธุรกรรม (buying) การระบุตำแหน่ง (localization) การตีพิมพ์ (publishing) และการนันทนาการ (playing)
       นอกจากนี้ สื่อสังคมออนไลน์และกลไกการสนทนาและปฏิสัมพันธ์ของสื่อสังคมออนไลน์ อาจถูกอาจถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงความเห็นทางการเมือง (expressions of political opinion) ทั้งโดยส่วนตัวก็ดีหรือในนามองค์กรทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ ก็ตาม ให้กับบุคคลที่อยู่ในบุคคลที่อยู่ในแวดวงสื่อสังคมออนไลน์ และอาจถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมืองในการแสดงการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง (political criticism) ทั้งโดยส่วนตัวก็ดีหรือในนามองค์กรทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ ให้กับสาธารณะชนที่ใช้เครื่อข่ายออนไลน์หรือบุคคลที่อยู่ในสังคมออนไลน์ร่วมกันตนได้รับทราบ ผ่านการใช้สื่อสังคมออนไลน์ร่วมกัน[1]
       ด้วยความก้าวหน้าของการพัฒนาเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและการง่ายต่อการเข้าถึงแอพพลิเคชั่นของสื่อสังคมออนไลน์ (social media applications) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น ทำให้การแสดงความเห็นทางการเมืองหรือการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองบนโลกออนไลน์ผ่านการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ย่อมทำได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารที่ใช้เครื่อข่ายสังคมออนไลน์ร่วมกันต่างก็สามารถสนทนาหรือแลกเปลี่ยนความเห็นหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ในทางการเมืองซึ่งกันและกันได้โดยง่ายและสะดวกผ่านการใช้งานกลไกของสื่อสังคมออนไลน์ อนึ่ง สื่อสังคมออนไลน์ที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นในปัจจุบัน ยังเอื้อต่อการแลกเปลี่ยน (sharing) ข้อความและรูปภาพที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือการแสดงออกในทางการเมือง[2] ซึ่งสื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆ ที่มีชื่อเสียงไม่ว่าจะเป็น ทวิตเตอร์ (twitter) เฟชบุ๊ค (facebook) และยูทูบ (youtube) ต่างก็อาจถูกนำมาใช้งานเป็นเครื่องมือแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองได้
       ผู้นำทางการเมือง นักการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มอิทธิพล และกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองอาจนำสื่อสังคมออนไลน์มาใช้ในวัตถุประสงค์ทางการเมือง (using social media for political purposes)[3] ตัวอย่างเช่น การใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อสร้างความนิยมทางการเมืองให้กับบุคคลหรือกลุ่มทางการเมือง การใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสารหรือกิจกรรมทางการเมือง การใช้สื่อสังคมออนไลน์มาวิพากษ์วิจารณ์คู่แข่งทางการเมืองฝ่ายตรงข้าม รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมือง อภิปรายประเด็นในทางการเมือง ถายทอดข่าวสารกิจกรรมในทางการเมืองตางๆ ระหวางสมาชิกในเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือมุ่งสื่อข้อมูลข่าวสารไปยังสื่อมวลชนกลุ่มต่างๆ บนสังคมออนไลน์ เพื่อจูงใจให้สื่อมวลชนนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้กับกลุ่มทางการเมืองหรือพรรคการเมืองของตน
       แม้ว่าสื่อสังคมออนไลน์จะสามารถเอื้อประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองสักเพียงใดก็ตาม แต่สื่อสังคมออนไลน์อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารทางการเมือง เพื่อทำลายคู่แข่งทางการเมืองหรือผู้มีอุดมการณ์ในทางการเมืองตรงกันข้ามกับตน ผ่านการใช้ถ้อยคำหรือวาจาที่แสดงความเกลียดชังหรือดูหมิ่นดูแคลนสีผิว (race) ชาติพันธุ์กำเนิด (origin)  ศาสนา (religion) เพศ (gender) การแสดงออกทางเพศ (sexual orientation) ความบกพร่องทางกาย (disability) ความคิดเห็นในทางการเมือง (political opinion) และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม (financial or social status)[4]ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามหรือผู้มีความเห็นทางการเมืองหรืออุดมการณ์ในทางการเมืองที่ตรงกันข้ามกับตนหรือกลุ่มทางการเมืองของตน ซึ่งการแสดงออกในสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะเช่นนี้ ถือเป็น วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองในโลกออนไลน์ (Political Hate Speech in Cyberspace)
       [2] ประสบการณ์อันเลวร้ายของภูมิภาคยุโรปอันเนื่องมาจากการใช้วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง
       ภูมิภาคยุโรปถือเป็นภูมิภาคหนึ่งที่เคยประสบพบกับเหตุการณ์อันเลวร้ายอันเนื่องมาจากการใช้วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้นำพรรคนาซี (Nazi Party) ของประเทศเยอรมนี ได้อาศัยการใช้วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง มาเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่ออันก่อให้เกิดความเกลียดชัง (hate propaganda)[5] ทำให้พลเมืองของตนเองและพลเมืองของประเทศพันธมิตรของตน มีความเกลียดชังชาวยิว พลเมืองของประเทศคู่สงครามฝ่ายตรงกันข้ามและผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองตรงกันข้ามกับแนวคิดภายใต้ระบอบการปกครองโดยพรรคนาซีในขณะนั้น โดยผลร้ายที่เกิดขึ้นมาจากการใช้วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง นั้นก็คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust)[6] ที่ทำให้ชาวยิวจำนวนหลายล้านคนถูกทรมาณและสังหารอย่างโหดเหี้ยม เพียงด้วยเหตุเพราะมนุษย์เหล่ามีเชื้อชาติเป็นยิวนั้นเอง
       ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรปได้พยายามร่วมตัวกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและประสานความร่วมมือในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ร่วมไปถึงความร่วมมือในด้านอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขในระดับภูมิภาค โดยประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรปได้ร่วมกันจัดตั้งองค์การเหนือชาติระหว่างประเทศในรูปแบบของประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป (European Coal and Steel Community - ECSC) ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community - EEC) และสหภาพยุโรป (European Union - EU) ตามลำดับ
       ด้วยการร่วมตัวกันของประเทศในภูมิภาคยุโรปอย่างเหนียวแน่นจนกลายมาเป็นสหภาพยุโรปในปัจจุบัน ทำให้ประชากรในแต่ละประเทศสามารถไปมาหาสู่กันได้ ทำให้แต่ละประเทศในสหภาพยุโรปอาจประกอบด้วยผู้คนที่มีที่มาหลากหลายและมีความแตกต่างกันในด้านชาติพันธุ์ สีผิว ความเชื่อ เพศ รสนิยมทางเพศ ความเชื่อในศาสนาและความเลื่อมใสในลัทธิทางการเมืองที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรปก็มีระบอบการปกครองที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของพัฒนาการทางการเมืองในแต่ละประเทศ ประกอบกับแนวโน้มพัฒนาการระบอบประชาธิปไตยในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปที่เปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง กลุ่มอิทธิพลทางการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองในระดับต่างๆ ทำให้ประชาชนมีโอกาสที่จะเลื่อมใสหรือเปิดโอกาสให้ประชาชนสมัครเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองในประเทศ
       ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองมีที่มาหรือมีความเลื่อมใสในอุดมการณ์กับแนวความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันออกไป จึงทำให้ประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทางการเมืองในระดับต่างๆ มีเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง (freedom of political expression)[7] กล่าวคือ ประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองในระดับต่างๆ ไม่วาจะเป็นผู้นำทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักการเมือง กลุ่มอิทธิพล กลุ่มผลประโยชน์และสื่อมวลชนย่อมสามารถแสดงความเห็นทางการเมืองในอย่างเสรี โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ การแสดงออกทางการเมืองอาจเป็นไปได้ในหลายแนวทางด้วยกัน ได้แก่ การตีพิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์อันมีเนื้อหาทางการเมือง การออกอากาศวิทยุและการแพร่ภาพโทรทัศน์ การจัดทำผลงานทางศิลปะที่ต้องการสื่อทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองบนอินเตอร์เน็ต
       การแสดงออกทางการเมืองบนอินเตอร์เน็ต (political communication on the internet)[8] จึงถือเป็นเสรีภาพขึ้นพื้นฐานประการหนึ่งของพลเมืองสหภาพยุโรปที่จะพึงกระทำได้ โดยอาจกระทำในรูปแบบต่างๆ กันไม่ว่าจะเป็นการสนทนาและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองที่เป็นผู้ส่งสารและผู้รับสารข้อมูลข่าวสาร เพื่อแสดงออกทางการเมืองหรือรับรู้การแสดงออกทางการเมือง ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและแอพพลิเคชั่นของสื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม การแสดงออกทางการเมืองบนอินเตอร์เน็ตที่ใช้วาจาหรือคำพูดเกี่ยวกับการเมือง อันมีเนื้อหากล่าวอ้างเกี่ยวกับ สีผิว ชาติพันธุ์กำเนิด ศาสนา เพศการแสดงออกทางเพศ ความบกพร่องทางกาย ความคิดเห็นในทางการเมือง และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในทางการเมืองในระดับต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ในทางลบ ย่อมถือเป็นการกระทำที่ไม่พึงประสงค์และรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปอาจกำหนดข้อห้าม (restrictions) มาสำหรับควบคุมการใช้วาจาหรือถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองในโลกออนไลน์ ซึ่งข้อห้ามสำหรับควบคุมการใช้วาจาหรือถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองบนโลกออนไลน์ต้องเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนระหว่างการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองและความเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้นต่อบุคคลและสังคม เช่น ความมั่นคงของชาติ บูรณาภาพแห่งดินแดนหรือความปลอดภัยสาธารณะ (national security, territorial integrity or public safety) และสิทธิและชื่อเสียงของบุคคลอื่นๆ (rights and reputations of other people) เป็นต้น
       ดังนั้น อินเตอร์เน็ตและแอพพลิเคชั่นสื่อสังคมออนไลน์ ถือช่องทางในระบบสารสนเทศที่ทำให้พลเมืองสหภาพยุโรปหรือกลุ่มทางการเมืองอื่นๆ ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป สามารถเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ได้สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เมื่อพลเมืองสหภาพยุโรปหรือกลุ่มทางการเมืองในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้โดยง่าย เพียงผ่านการใช้งานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ ก็ย่อมทำให้พลเมืองสหภาพยุโรปหรือกลุ่มทางการเมืองในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปสามารถใช้วิธีการต่างๆ อันทำให้วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองแพร่กระจาย (spread of hate speech) ได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น[9] จนอาจนำไปสู่การสร้างความเกลียดชังระหว่างหมู่ชนหรือนำไปสู่ความแตกแยกในสังคมระหว่างประชนด้วยกัน ที่ก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงระหว่างผู้ที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกันในสังคมหรือระหว่างกลุ่มอิทธิผลและกลุ่มผลประโยชน์ที่มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป รวมไปถึงความแตกแยกระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ที่อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในระดับภูมิภาค
       [3] กฎหมายสหภาพยุโรปว่าด้วยการใช้วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง
       ภูมิภาคยุโรปเคยประสบปัญหาเกี่ยวกับการกล่าวหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง โดยผู้นำทางการเมืองหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทางการเมือง จนนำไปสู่ความแตกแยกระหว่างหมู่ชน สงครามระหว่างประเทศและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพื่อนมนุษย์ร่วมโลกอันโหดร้าย ดังนั้น ประเทศต่างในภูมิภาคยุโรปจึงพยายามหาแนวทางร่วมกันสำหรับระวังภัยและป้องกันไม่ให้เหตุการณ์อันเลวร้ายอันเนื่องมาจากการกล่าวหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองเกิดขึ้นอีกในภูมิภาคยุโรป ด้วยเหตุนี้ อนุสัญญาแห่งยุโรปว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ค.ศ. 1950 (European Convention for the Protection of Human Rights and Fundamental Freedoms 1950) มาตรา 10 จึงได้ถูกบัญญัติขึ้น โดยวางหลักเกณฑ์ให้พลเมืองของสหภาพยุโรปมีเสรีภาพในการแสดงออกทางความเห็น โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐ ตราบเท่าที่การแสดงออกในด้านต่างๆ ของพลเมือง ไม่ไปกระทบต่อสิทธิและศักดิ์ศรีแห่งความเห็นมนุษย์ของบุคคลอื่นๆ การแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองในโลกออนไลน์จึงสามารถกระทำได้เท่าที่จำเป็นและสมควรแก่เหตุอันเป็นไปตามแนวทางสังคมประชาธิปไตย (democratic society)[10]
       นอกจากนี้ ศาลสิทธิมนุษยชนสหภาพยุโรป (European Court of Human Rights) ยังได้พัฒนาหลักเกณฑ์ที่สำคัญหลายประการในกรณีศาลสิทธิมนุษยชนสหภาพยุโรป สามารถใช้อำนาจศาลของตนเข้าแทรกแซงสิทธิเสรีภาพว่าด้วยการแสดงออก (interference with the right to freedom of expression) ของพลเมืองหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองของรัฐสมาชิกเอาไว้หลายประการด้วยกัน[11] ได้แก่ ประการแรก บทบัญญัติทางกฎหมายต้องวางวางหลักเกณฑ์ให้อำนาจศาลคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนอย่างชัดเจน ประการที่สอง การตีความต้องตีความโดยคำนึงถึงเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย และประการที่สาม การพิจารณาคดีคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนระหว่างการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองและความเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้นต่อบุคคลและสังคม
       หลายประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปยังได้พยายามกำหนดมาตรการทางกฎหมายเฉพาะสำหรับจัดการกับปัญหาการกล่าวหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองในลักษณะทั่วไปและการกล่าวหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองในโลกอินเตอร์เน็ต ตัวอย่างเช่น[12] ประมวลกฎหมายอาญาของเดนมาร์ก (Straffeloven) ประมวลกฎหมายอาญาเนเธอร์แลนด์ (Dutch Penal Code) กฎหมายสื่อมวลชนของฝรั่งเศส (Loi du 29 juillet 1881 sur la liberté de la presse) และกฎหมายความสงบเรียบร้อยของประชาชนของประเทศอังกฤษ (Public Order Act of 1986) ซึ่งกฎหมายสารบัญญัติเหล่านี้ได้กำหนดมาตรทางอาญาที่กำหนดโทษแก่ผู้ที่แสดงวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง
       [4] การกล่าวหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองบนสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย
       หากจะมองย้อนถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันของประเทศไทย ผู้เขียนเห็นว่านักการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มอิทธิพลทางการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองต่างก็พยายามอาศัยการกล่าวหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองบนสื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆ มาเป็นเครื่องมือที่ในการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองให้ประชาชนมีความเลื่อมใสศรัทธาหรือมีอุดมการณ์ทางการเมืองคล้อยตามไปกับตนหรือกลุ่มทางการเมืองของตน นอกจากนี้ ประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาหรือมีอุดมการณ์ร่วมกับนักการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มอิทธิพลทางการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง ก็พยายามที่จะใช้สื่อสังคมออนไลน์มาเป็นพื้นที่ในการแสดงความเห็นทางการเมือง วิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองหรือติดตามข้อมูลข่าวสารในทางการเมือง ในทางที่สร้างความเกลียดชังหรือดูหมิ่นดูแคลนเชื้อชาติ สัญชาติ สีผิว ความเป็นพลเมือง ลักษณะความพิการทางกาย ชาติพันธุ์ ศาสนา เพศและรสนิยมทางเพศ ของผู้ที่มีความเห็นทางการเมืองต่างไปจากตนเองหรือนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามกับตนบนโลกออนไลน์ เช่น การอาศัยเพศหรือรสนิยมทางเพศมาสัญลักษณ์ในการโจมตีทางการเมืองและการอาศัยความเป็นผู้คนในภูมิภาคต่างๆ มาเป็นประเด็นในการดูหมิ่นดูแคลน เป็นต้น
       การกล่าวหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองบนสื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆ มาเป็นเครื่องมืออาจเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยรุนแรงมากขึ้น จนอาจนำไปสู่การยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงระหว่างประชาชน นักการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มอิทธิพลทางการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกันก็เป็นได้ในอนาคต ภาครัฐ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองและประชาชนควรหันมาใส่ใจและตระหนักถึงโทษภัยของ การกล่าวหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองบนสื่อสังคมออนไลน์ ที่อาจสร้างความแตกแยกอันร้าวลึกระหว่างผู้คนในสังคมไทย
       [5] บทสรุป
       ด้วยวิกฤติทางการเมืองของประเทศไทยที่ประชาชน กลุ่มอิทธิพล กลุ่มผลประโยชน์ พรรคการเมืองและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองอื่นๆ ต่างก็มีความเชื่อ ความเลื่อมใสและความศรัทธาในทางการเมืองที่แตกต่างกัน ประกอบกับประชาชนและกลุ่มทางการเมืองต่างก็มีความหลากหลายกับความเป็นมาที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ สัญชาติ สีผิว ความเป็นพลเมือง ลักษณะความพิการทางกาย ชาติพันธุ์ ศาสนา เพศและรสนิยมทางเพศ รวมไปถึงความเชื่อในทางการเมือง การใช้สื่อสังคมออนไลน์สำหรับแสดงความเห็นทางการเมืองหรือแสดงทัศนคติในทางการเมือง จึงต้องคำนึงไว้ว่าประชาชนในฐานะที่เป็นผู้ส่งสารไม่ควรใช้สื่อสังคมออนไลน์สำหรับกล่าวหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง ในขณะเดียวกัน ประชาชนในฐานะที่เป็นผู้รับสาร ก็ควรรับข้อมูลข่าวสารทางการเมืองบนโลกออนไลน์ โดยอาศัยการวิเคราะห์ว่าข้อมูลข่าวสารดังกล่าวมีวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองเป็นองค์ประกอบในข้อมูลข่าวสารที่ตนได้รับมาหรือไม่ และหากมีวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองแล้ว ผู้รับสารก็ไม่ควรจะกล่าวซ้ำ ผลิตซ้ำหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองบนสื่อสังคมออนไลน์ต่อไปอีก
       ภาครัฐ กลุ่มอิทธิพล กลุ่มผลประโยชน์ พรรคการเมืองและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองอื่นๆ ก็ควรตระหนักถึงภัยร้ายจากวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองบนสื่อสังคมออนไลน์ ที่อาจก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างประชาชนด้วยกัน จนอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงระหว่างประชาชนได้ การศึกษาบทเรียนในอดีตของสหภาพยุโรปกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับวาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมือง อาจทำให้หน่วยงานของรัฐ พรรคการเมืองและกลุ่มทางการเมืองที่เกี่ยวข้องตระหนัก จนนำไปสู่การรณรงค์ไม่ให้มีการกล่าวหรือเผยแพร่วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองบนสื่อสังคมออนไลน์ในอนาคต
       

       
       

       

       [1] สื่อสังคมออนไลน์นอกจากจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมื่อสื่อสารทางการเมืองของฝ่ายการเมืองแล้ว สื่อสังคมออนไลน์อาจถูกนำมาเป็นเครื่องมือสื่อสารข่าวสารการจัดทำบริการสาธารณะหรือข่าวสารกิจกรรมของฝ่ายประจำเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำก็ควรใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ด้วยความโปร่งใส (transparency) และตรวจสอบได้ (accountability) โปรดดู Cabinet Office Government Digital Service & Home Office, Social media guidance for civil servants: This guidance was produced as part of the UK Government ICT strategy, Cabinet Office Government Digital Service & Home Office, 2012, pp 2-3.
       

       

       [2] Safranek, R., The Emerging Role of Social Media in Political and Regime Change, ProQuest Discovery Guides, 2012, pp 1 -14.
       

       

       [3] Brunelle, J., AmericasBarometerInsights: 2013 Number 92 Political Social Media Users in the Americas are Tolerant and ProDemocratic, Latin American Public Opinion Project Insights Series & Vanderbilt University, 2013, pp 1-7.
       

       

       [4] Seaman, J., 'Hate Speech and Identity Politics: A Situationalist Proposal', 2008, 36 (99), Florida State University Law Review, pp 99-124.
       

       

       [5] Association Européenne pour la défense des Droits de l’Homme, Hate Speech, available from http://www.aedh.eu/plugins/fckeditor/userfiles/file/Discriminations%20et%20droits%20des%20minorit%C3%A9s/Hate%20speech.pdf accessed 20 March 2014.
       

       

       [6] กฎหมายปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ (Holocaust denial laws) หลายฉบับได้กล่าวถึงข้อจำกัดในเรื่องของเสรีภาพในการแสดงความเห็น (freedom of expression) อันเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความเห็นในทางการเมืองหรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะต่างๆ กฎหมายรูปแบบนี้ได้ถูกพัฒนามาจากแนวคิดการต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองและแนวคิดดังกล่าวได้ถูกพัฒนาไปเป็นหลักการต่อต้านการกีดกันหรือการเลือกปฏิบัติ (discrimination) จากการอาศัยคำพูดหรือวาจาในลักษณะที่เหยียดสีผิวหรือหยามชาติพันธุ์ โปรดดูเพิ่มเติมใน Bleich, E., The Freedom to Be Racist?: How the United States and Europe Struggle to Preserve Freedom and Combat Racism, Oxford University Press, 2011.
       

       

       [7] European Commission, EU Enlargement Factsheet: Safeguarding Freedom of Expression and the Media, available from http://ec.europa.eu/enlargement/pdf/publication/20130617_safeguarding_freedom_of_expresion_and_the_media_en.pdf accessed 20 March 2014.
       

       

       [8] Koopmans, R. & Zimmermann, A. C., Working Paper Internet: A new potential for European political communication?, Veröffentlichungsreihe der Arbeitsgruppe Politische Öffentlichkeit und Mobilisierung des Wissenschaftszentrums Berlin für Sozialforschung, 2003, No. SP IV 2003-402, pp 22-24.
       

       

       [9] European Youth Centre Strasbourg, Step in! Be Active Against Racist ropaganda and Hate Speech Online: Report of the study session held by UNITED for Intercultural Action in co-operation with the European Youth Centre of the Council of Europe, UNITED for Intercultural Action European Network against nationalism, racism, fascism and in support of migrants and refugees & Council of Europe, 2012, available from http://www.unitedagainstracism.org/pdfs/conf_StrasbourgReport.pdf  accessed 20 March 2014.
       

       

       [10] Convention for the Protection of Human Rights and Fundamental Freedoms Rome, 4.XI.1950 Article 10 (Freedom of expression)
       1. Everyone has the right to freedom of expression. This right shall include freedom to hold opinions and to receive and impart information and ideas without interference by public authority and regardless of frontiers. This Article shall not prevent States from requiring the licensing of broadcasting, television or cinema enterprises.
       2. The exercise of these freedoms, since it carries with it duties and responsibilities, may be subject to such formalities, conditions, restrictions or penalties as are prescribed by law and are necessary in a democratic society, in the interests of national security, territorial integrity or public safety, for the prevention of disorder or crime, for the protection of health or morals, for the protection of the reputation or rights of others, for preventing the disclosure of information received in confidence, or for maintaining the authority and impartiality of the judiciary. โปรดดูเพิ่มเติมใน European Court of Human Rights & Council of Europe, European Convention on Human Rights, available from http://www.echr.coe.int/Documents/Convention_ENG.pdf accessed 20 March 2014.
       

       

       [11] McGonagle, T., The Council of Europe against online hate speech: Conundrums and challenges, University of Amsterdam, available from http://hub.coe.int/c/document_library/get_file?uuid=62fab806-724e-435a-b7a5-153ce2b57c18&groupId=10227   accessed 20 March 2014.
       

       

       [12] The Legal Project, European Hate Speech Laws, available from http://www.legal-project.org/issues/european-hate-speech-laws accessed 20 March 2014.
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544