หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 338
9 มีนาคม 2557 22:04 น.
สำหรับวันจันทร์ที่ 10  ถึงวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม 2557
        
       
       “ความคืบหน้าของการพิจารณาคดีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ”
        
       
                   เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา www.pub-law.net ก็ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 14 ของการเปิดให้บริการ ตลอดระยะเวลา 13 ปี ที่ผ่านมาของการนำเสนอองค์ความรู้ด้านกฎหมายมหาชนของเรา เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเกิดประโยชน์ไม่มากก็น้อยต่อวงการวิชาการด้านกฎหมายมหาชน ผมต้องขอบคุณทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้บริการ ผู้เขียนบทความ และผู้สนับสนุนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมไว้ ณ ที่นี้ด้วย ทุกคนมีส่วนเป็นเจ้าของ www.pub-law.net ร่วมกันครับ
                 อย่างที่ได้กล่าวไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้วว่า หลายๆ เดือนที่ผ่านมาผมเบื่อหน่ายเหลือเกินกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและในกรุงเทพมหานคร เบื่อปัญหาการเมืองที่วุ่นวายสับสน เบื่อนักวิชาการที่ออกมาให้ความเห็นรายวันจนทำให้ผมต้องตัดสินใจหยุด “รับฟัง” ความเห็นเหล่านั้น บทบรรณาธิการหลายๆ ครั้ง วนเวียนอยู่กับปัญหาการเมืองที่มองไม่เห็นว่าจะจบลงอย่างไร ดูเหมือนทุกเรื่องที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องที่ไม่มีทางออกไปเสียหมด ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมจึงต้องเขียนเรื่องอื่นที่น่าจะจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการวิชาการด้านกฎหมายมหาชนบ้างดีกว่า
                 ย้อนหลังไปเมื่อกลางปี พ.ศ. 2556 เมื่อศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 940/2556 คดีหมายเลขแดงที่ 1025/2556 เกี่ยวกับการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ผมได้นำเอาบางส่วนของคำพิพากษาดังกล่าวมานำเสนอและแสดงความคิดเห็นประกอบไว้ใน          บทบรรณาธิการ ครั้งที่ 321 ที่ได้เผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2556
                 หลังจากที่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาดังกล่าวไปแล้ว ทั้งผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีก็ได้อุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด และเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา ตุลาการผู้แถลงคดีก็ได้อ่านคำแถลงการณ์ของคดีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่อาคารศาลปกครอง โดยศาลได้อนุญาตให้ประชาชนนั่งฟังการแถลงคดีด้วยวาจาของตุลาการผู้แถลงคดีต่อองค์คณะในห้องพิจารณาคดีได้
                 ผมมีโอกาสได้รับรู้เนื้อหาของคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 3.5 แสนล้านบาท  ผมเห็นว่าคำแถลงการณ์นี้มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจและเชื่อมโยงกับที่ผมได้เขียนไว้แล้วในบทบรรณาธิการ ครั้งที่ 321 ผมจึงนำเรื่องดังกล่าวมาเขียนไว้ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่มีการแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีไปแล้ว องค์คณะก็จะทำการพิพากษาคดีต่อไป ซึ่งคำพิพากษาขององค์คณะอาจเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีหรือไม่ก็ได้ จากการตรวจสอบล่าสุดก่อนเขียนบทบรรณาธิการนี้ ทราบว่าองค์คณะเจ้าของคดีดังกล่าวก็ยังไม่ได้มีคำพิพากษาออกมา การนำเอาคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทมานำเสนอในบทบรรณาธิการจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางวิชาการโดยแท้ครับ
                 คงต้องย้อนกลับไปดูเรื่องเดิมก่อน สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และประชาชนอีก 45 คน ได้ร่วมกันยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 คือ นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รวมทั้งขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 กับที่ 3 และที่ 4 คือ คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทยานแห่งชาติ และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย ร่วมกันจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการโดยการจัดทำประชามติตามมาตรา 165 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และอื่นๆ อีกหลายอย่าง ก่อนการดำเนินโครงการเกี่ยวกับแผนงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย ซึ่งศาลปกครองกลางก็ได้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้ต้องปฏิบัติด้วยการนำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปดำเนินการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน และดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้มีการศึกษาและจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิชุมชนก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบและก่อสร้างในแต่ละแผนงาน
                 กระบวนการในการพิจารณาอุทธรณ์เรื่องดังกล่าวเดินมาถึงจุดเกือบสุดท้ายก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยตุลาการผู้แถลงคดีได้ตรวจสำนวนคดี คำอุทธรณ์  คำแก้อุทธรณ์และเอกสารอื่นๆ รวมทั้งตรวจพิจารณากฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่ามีประเด็นที่จะต้องพิจารณา 3 ประเด็นด้วยกันคือ ประเด็นแรกผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีหรือไม่  ประเด็นที่สองอำนาจของศาลปกครองในการพิจารณาตามคำขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 จัดทำประชามติตาม มาตรา 165 แห่งรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันประกอบกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ  และประเด็นสุดท้ายคือ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายต่างๆ กำหนดตามข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีหรือไม่
                 ในประเด็นแรก ที่ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีหรือไม่นั้น คำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีมีรายละเอียดมากและการพิจารณาถึงความเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีปกครองไปไกลกว่าที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลปกครองกลาง โดยตุลาการผู้แถลงคดีได้ “ทำการบ้าน” เอาไว้มากเกี่ยวกับประเด็นและเหตุต่างๆ เพื่อที่จะนำมาประกอบการใช้ดุลพินิจในการยอมรับว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีปกครอง
                 ในเบื้องต้น ตุลาการผู้แถลงคดีได้อธิบายถึงหลักผู้มีส่วนได้เสียเอาไว้ว่า อาจเป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับผลของคดีในทางใดทางหนึ่ง รวมทั้งมีส่วนได้เสียในผลของคดีที่เป็นประโยชน์ส่วนรวมด้วย โดยตุลาการผู้แถลงคดีได้ยอมรับเอาไว้ในคำแถลงการณ์ว่า เป็นการให้ความหมายของ “ผู้มีส่วนได้เสีย” ไว้อย่างกว้างเพื่อเปิดโอกาสให้ศาลปกครองสามารถเข้าไปตรวจสอบการดำเนินการต่างๆ อันมีผลเป็นการคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์ของสังคมได้
                 มีข้อสังเกตว่า ในการพิจารณาประเด็นแรกนี้ ตุลาการผู้แถลงคดีได้นำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้วก็เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนมานำเสนอไว้ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเพียง “ส่วนประกอบ” ของคำแถลงการณ์แต่ก็เป็นส่วนที่สมควรได้รับการบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐาน นั่นคือ รายชื่อประชาชนและเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิตจากการเรียกร้องสิทธิในรัฐธรรมนูญและผู้มีส่วนได้เสียในประเด็นข้อโต้แย้งหรือความขัดแย้งที่มีสาเหตุมาจากการเรียกร้องให้คุ้มครองประโยชน์ส่วนรวม ข้อเท็จจริงที่นำมาเสนอก็เพื่อยืนยันว่าเป็นหน้าที่ของตุลาการที่จะต้องใช้ดุลพินิจของตนเองในการพิจารณาถึงผู้มีสิทธิฟ้องคดีอย่างกว้างให้ครอบคลุมถึงองค์กรที่เป็นผู้ฟ้องคดีด้วยเนื่องจากสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนผู้ฟ้องคดีนั้นมีวัตถุประสงค์เกี่ยวข้องกับเนื้อหาแห่งการฟ้องคดีคือ การอนุรักษ์ ส่งเสริมและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อมีข้อโต้แย้งในการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือมีการดำเนินกิจการทางปกครองที่ส่งผลกระทบหรืออาจจะเสียหายต่อการอนุรักษ์ ส่งเสริมและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ส่วนรวม จึงถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลของคดี
                 ในประเด็นต่อมาคือประเด็นที่ 2 นั้น มีสองคำขอด้วยกัน คำขอแรกที่เป็นคำขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำนั้นตุลาการผู้แถลงคดีได้อธิบายไว้ยาวพอสมควรถึงการบริหารราชการแผ่นดินและการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร โดยชี้ให้เห็นถึงการบริหารราชการแผ่นดินตามกฎหมายที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบและควบคุมการใช้อำนาจของศาลปกครอง กับ การบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายบริหารประเทศ หรือนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรีหรือการกระทำทางรัฐบาลที่เป็นอำนาจแก่นแท้ (core power) ของฝ่ายบริหารอันอยู่ภายใต้การตรวจสอบและควบคุมการใช้อำนาจของศาลปกครอง และการบริหารราชการแผ่นดินที่เกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบและควบคุมการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ โดยตุลาการผู้แถลงคดีได้ยกตัวอย่างกรณีที่นายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. 2553 เพื่อตรวจสอบและค้นหาความจริงและข้อเท็จจริงที่เป็นรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งและเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นว่า เป็นการบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายทั่วไปซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบและควบคุมการใช้อำนาจของศาลปกครอง เพื่อมาเทียบเคียงกับการออกแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยในที่สุดเมื่อพิจารณาถึงตัวบทกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยแล้ว ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นว่า แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นนโยบายบริหารประเทศหรือนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรีหรือการกระทำทางรัฐบาลซึ่งเป็นอำนาจแก่นแท้ของฝ่ายบริหาร จึงไม่ใช่การใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือการดำเนินกิจการทางปกครองที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองที่จะเข้าไปตรวจสอบและควบคุม ส่วนในคำขอที่สองที่ขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่จัดทำประชามติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่า การจัดให้มีการออกเสียงประชามติเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีในทางนโยบายบริหารประเทศหรือนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรีหรือการกระทำทางรัฐบาลซึ่งเป็นอำนาจแก่นแท้ของฝ่ายบริหารที่จะใช้ดุลพินิจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะจัดให้มีการออกเสียงประชามติหรือไม่ในเรื่องใด ศาลปกครองไม่มีอำนาจไปควบคุมเพื่อบังคับนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการจัดทำประชามติในเรื่องใดๆ ได้
                 ประเด็นสุดท้ายคือ ประเด็นที่ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยสุขภาพแห่งชาติกำหนดตามข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีหรือไม่นั้น  ตุลาการผู้แถลงคดีได้พิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทุกคนประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี 3 ฉบับคือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2554 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2555 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3 คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ และคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ รวมทั้งตัวนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เองด้วย มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์และแผนแม่บท ในขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 คือ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย มีอำนาจตามที่ระบุไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีข้างต้นว่าให้มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติการเพื่อให้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ รวมถึงกำกับและติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐเพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการ สั่งการให้หน่วยงานของรัฐแก้ไขหรือปรับปรุงแผนงาน โครงการหรือการการดำเนินการให้เป็นไปโดยสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการต่างๆ จากอำนาจหน้าที่ดังกล่าวนี้เองตุลาการผู้แถลงคดีจึงเห็นว่า การดำเนินการของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเพราะเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 คือ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยไม่ได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามมาตรา 57 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญ ต่อแผนปฏิบัติการและดำเนินการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยเพื่อนำไปประกอบการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยต้องจัดให้มีการประชุมชี้แจงโครงการเสนอกรอบแนวคิด และเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจร่วมเสนอกรอบแนวคิดดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการที่ผู้ฟ้องคดีที่ 4 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
                 ในตอนท้ายของคำแถลงการณ์ ตุลาการผู้แถลงคดียังได้พยายาม “วางหลัก” เกี่ยวกับ             “การกระทำทางรัฐบาล - การกระทำทางปกครอง” เอาไว้ด้วยว่า การฟ้องคดีนี้มีมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการแก้ปัญหาและการพัฒนาระดับประเทศ โดยมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางด้านกายภาพครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวางกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ประเทศไทย และมีการใช้อำนาจขององค์กรใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐตามโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายระดับประเทศดังกล่าว รวมทั้ง มีการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายและการดำเนินกิจการทางปกครองขององค์กรเป็นจำนวนมาก เพื่อดำเนินการให้บรรลุตามนโยบายแก้ปัญหาและการพัฒนาระดับประเทศดังกล่าว ดังนั้น คำพิพากษาและคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ จะเป็นการวางหลักกฎหมายเพื่อแยกการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือการดำเนินกิจการทางปกครองซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองออกจากการบริหารราชแผ่นดินที่เป็นนโยบายบริหารประเทศหรือนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรีหรือการกระทำของรัฐบาล ซึ่งเป็นอำนาจแก่นแท้ของฝ่ายบริหารที่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา การบริหารราชการแผ่นดินด้วยความชอบตามรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบและควบคุมการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้การใช้สิทธิทางศาลในกระบวนการยุติธรรมทางปกครองเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและประโยชน์ส่วนรวมได้รับการคุ้มครองตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายบริหารประเทศหรือนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรีหรือการกระทำของรัฐบาลที่เป็นอำนาจแก่นแท้ของฝ่ายบริหาร เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศหรือการดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศให้ทันต่อเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกในอนาคต
                   ในคำแถลงการณ์ยังมีรายละเอียดอีกหลายประการที่ผมไม่สามารถนำมากล่าวไว้ได้ทั้งหมดในที่นี้ มีหลายตอนที่ “น่าจะ” ชัดเจนได้มากกว่านี้ เช่นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชกำหนดที่ตุลาการผู้แถลงคดีกล่าวไว้รวมๆ ว่า ...ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกำหนดที่รัฐมนตรีรักษาการใช้บังคับ... ซึ่งในจุดนี้เอง ผมอยากเห็นความชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบเฉพาะ “เงื่อนไข” ในการตราพระราชกำหนดเท่านั้น ส่วนเนื้อหาของพระราชกำหนด ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองเองก็ไม่มีอำนาจตรวจสอบเนื้อหาของพระราชกำหนด เพราะพระราชกำหนดมิได้เป็น “กฎ” ที่อยู่ในอำนาจตรวจสอบของศาลปกครองตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจาณาคดีปกครอง รวมไปถึงการให้ความชัดเจนว่าทำไม พระราชกำหนดซึ่ง “น่าจะ” เป็น “กฎ” จึงไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็น “กฎ” ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจาณาคดีปกครอง ซึ่งในเรื่องหลังนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาการของไทย เพราะในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศต้นแบบของศาลปกครองนั้น ศาลปกครองสูงสุด (Conseil d’Etat) มีอำนาจในการตรวจสอบเนื้อหาของรัฐกำหนดที่รัฐสภายังไม่ได้ให้สัตยาบัน เพราะรัฐกำหนดนั้นมีสถานะเป็นกฎ (acte règlementaire)
                 ในภาพรวม คำแถลงการณ์เรื่องคดีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นเอกสารที่มีคุณประโยชน์ทางวิชาการที่นักกฎหมายมหาชนโดยเฉพาะรุ่นใหม่น่าจะลองหามาอ่านครับ !!!
                 ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” หรือ “เลือกตั้งก่อนปฏิรูป” (?) (เราจะปฏิรูปประเทศกันอย่างไร)” บทความที่สองเป็นบทความเรื่อง “ข้อความคิดว่าด้วยเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครอง” ที่เขียนโดย ดร.ฤทัยรัตน์ ปทุมานนท์พนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ สำนักงานศาลปกครอง บทความที่สามเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง “การลุกขึ้นสู้ของมวลมหาประชาชนชาวกวางจู” ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามไว้ ณ ที่นี้ครับ
        
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม 2557 ครับ
       
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544