หน้าแรก บทความสาระ
การลุกขึ้นสู้ของมวลมหาประชาชนชาวกวางจู
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
9 มีนาคม 2557 22:00 น.
 
เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเป็นแขกรับเชิญของ Professor Na Khan-chae จาก Chonnam National University ไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์การลุกขึ้นต่อสู้ของประชาชนชาวกวางจู เกาหลีใต้ กับการลุกขึ้นต่อสู้ของประชาชนชาวไทย ซึ่งการลุกขึ้นต่อสู้ของชาวกวางจูในครั้งอดีตเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 1980 นั้น น่าสนใจมาก เพราะเป็นการลุกขึ้นต่อสู้ของคนทั้งเมืองจนมีคนตายและสูญหายกว่า 2,000 คนและเป็นผลทำให้โฉมหน้าของการเมืองเกาหลีใต้เปลี่ยนจากเผด็จการทหารมาเป็นประชาธิปไตยโดยพลเรือนในปัจจุบัน
       การเมืองของเกาหลีใต้ก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์ที่เราเรียกว่าการลุกขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตยของชาวกวางจู หรือในภาษาอังกฤษว่า Gwangju Democratic Uprising นั้น เกาหลีใต้อยู่ภายใต้การปกครองในระบอบเผด็จการของ Park Chung-hee(บิดาของ Park Geun-hyeประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนปัจจุบัน)กว่าสองทศวรรษ แต่เขาได้ถูก Kim Jae-gyu ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติสังหารด้วยอาวุธปืนเมื่อ 26 ตุลาคม 1978 ซึ่งต่อมาได้เกิดรัฐประหารโดย Chun Doo Wan และ Roh Tae Woo โดยมีการประกาศกฎอัยการศึกทำให้นักศึกษาประชาชนไม่พอใจและมีการชุมนุมต่อต้านกันอย่างแพร่หลายและโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการจับกุม Kim Dae-jung (ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี)ซึ่งเป็นชาวกวางจู
       เหตุการณ์สำคัญครั้งประวัติศาสตร์นี้ได้เริ่มขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 ได้มีการรวมตัวกันของนักศึกษาที่บริเวณหน้าChonnam National Universityเพื่อประท้วงคำสั่งปิดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศและเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก แต่ฝ่ายทหารกลับส่งหน่วยรบพิเศษ(paratroopers)ที่ใช้สำหรับการทำสงครามโดยเฉพาะเข้าสลายการชุมนุม เป็นเหตุให้การปะทะกันและมีการสังหารประชาชนทั่วไปแม้กระทั่งผู้หญิงและเด็ก โดยฝ่ายทหารให้เหตุผลว่าเขาเหล่านั้นเป็นคอมมิวนิสต์หรือถูกเกาหลีเหนือยุงยงอยู่เบื้องหลัง ทำให้เหตุการณ์เกิดลุกลามไปทั่วเมือง
       การลุกขึ้นสู้ของชาวกวางจูมีจำนวนมากกว่า 200,000 คน จากที่ในขณะนั้นกวางจูมีประชากรประมาณ 700,000 คน(ปัจจุบัน 1.2 ล้านคน) โดยประชาชนรวมตัวกันเป็นกองกำลังติดอาวุธ(Citizen’s Army)ขึ้นต่อสู้ โดยมีฝ่ายสตรีซึ่งเป็นแม่บ้านทำข้าวปลาอาหารสนับสนุนเป็นเสบียง ประชาชนสามารถยึดศาลากลางจังหวัดและสถานีตำรวจตลอดจนศูนย์วัฒนธรรมอเมริกัน(US Cultural Center)โดยเชื่อว่าสหรัฐอเมริกาให้ท้ายกองทหารที่ปราบปรามประชาชน และเผาสำนักงานสรรพากรเพราะนำภาษีของพวกเขาไปใช้ซื้ออาวุธมาเข่นฆ่าประชาชน พร้อมทั้งจัดตั้งสภาประชาชน(The General Citizen Settlement Committee)ขึ้นมาปกครองตนเอง แต่หลังจากนั้นกองกำลังฝ่ายรัฐบาลก็เข้าโจมตีพร้อมทั้งตัดเครือข่ายการสื่อสารทั้งหมด ในที่สุดเหตุการณ์ก็ยุติลงในวันที่ 26 พฤษภาคม โดยฝ่ายทหารได้สังหารและจับกุมนักศึกษาประชาชนไปจำนวนมาก
       หลังจากนั้น Chun Doo Wan ก็ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีแต่ก็เต็มไปด้วยการต่อต้านและคำถามถึงการชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งบนชีวิตและกองเลือดของประชาชนทำให้เขาได้รับการกดดันให้อยู่ตำแหน่งเพียงวาระเดียว ซึ่งเหตุการณ์การต่อสู้ที่เมืองกวางจูนี้มีส่วนสำคัญในการปลุกให้ขบวนการเคลื่อนไหวตื่นตัวไปทั่วประเทศและประธานาธิบดี Roh Tae Woo คู่ขุนศึกซึ่งเมื่อขึ้นตำแหน่งประธานาธิบดีต้องประกาศให้การเคลื่อนไหวของชาวกวางจูเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อการเป็นประชาธิปไตย(Democratization movement)แทนที่จากเดิมที่เรียกว่าผู้ก่อการจราจลหรือกบฏ(riot or rebellion)และมีการจ่ายค่าชดเชยให้ผู้เสียและญาติ
       แต่ก็ไม่สามารถสร้างความพอใจให้แก่ประชาชนได้ จนต่อมาได้มีการดำเนินคดีกับอดีตประธานาธิบดีทั้งสองคนคือ Chun Doo Wan และ Roh Tae Woo พร้อมกับพรรคพวก แต่อัยการได้ตัดสินใจไม่ฟ้องเพราะเกรงว่าจะสร้างความสับสนในระบบกฎหมายในขณะนั้นเพราะเห็นว่าการกระทำที่เกิดขึ้นในการรัฐประหารที่สำเร็จไม่ควรถูกนำกลับมาพิจารณาเพื่อลงโทษย้อนหลัง แต่เหมือนฟ้ามีตาเพราะได้มีการพบหลักฐานชิ้นใหม่ที่พบว่าอดีตประธานาธิบดีทั้งสองมีการสะสมทรัพย์สินที่ได้รับจากการติดสินบนไว้เป็นจำนวนมหาศาล จึงได้มีการออกกฎหมายเพื่อพิจารณาเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยที่เมืองกวางจูในวันที่ 18 พฤษภาคมเป็นกฎหมายพิเศษเพื่อดำเนินคดีกับอดีตประธานาธิบดีทั้งสองและพรรคพวกอีกครั้งหนึ่ง และทั้งสองก็ต่อสู้ว่าเป็นการออกกฎหมายย้อนหลัง แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าสามารถกระทำได้โดยให้เหตุผลว่าความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการรัฐประหารเป็นอันตรายร้ายแรงและจะต้องทำให้สังคมคลายความเคลือบแคลงสงสัยนี้
       จากคำวินิจฉัยดังกล่าวอดีตประธานาธิบดีทั้งสองจึงถูกดำเนินคดี ซึ่งก็ต่อสู้คดีมาจนถึงศาลสูงสุดที่คำพิพากษาให้ Chun Doo Wan ถูกจำคุกตลอดชีวิตและ Roh Tae Woo ถูกจำคุก 17 ปี และที่เหลืออีกตามความหนักเบาของโทษ
       จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าแม้ในช่วงแรกประชาชนชาวกวางจูดูเหมือนว่าจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เพราะถูกปราบจนเสียชีวิตและหายสาปสูญเป็นจำนวนมาก นักศึกษาประชาชนถูกศาลทหารตัดสินทั้งประหารชีวิตและจำคุกในเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ผลที่ตามภายหลังนั้นทำให้ประชาธิปไตยได้ถูกพัฒนาไปอย่างมาก และความจริงที่ถูกบิดเบือนได้ถูกทำให้กระจ่างขึ้นว่าใครทำอะไร และอย่างไร
       แต่เมื่อหันมามองการลุกขึ้นสู้ของประชาชนชาวไทยแล้วจะเห็นได้ว่าแม้จะมีการลุกฮือของนักศึกษาประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา 16,6 ตุลา 19,17 พฤษภา35,19 พฤษภา53 ยังไม่ทำให้ประชาธิปไตยไทยไปถึงไหน และล่าสุดคือการลุกขึ้นของมวลมหาประชาชนเมือพฤศจิกา 56 แต่เหตุการณ์ยังยืดเยื้อมาจนปัจจุบันนี้ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร
       ฉะนั้น การลุกขึ้นของนักศึกษาประชาชนที่จะโค่นล้มระบอบเผด็จการไม่ว่าจะเป็นเผด็จการโดยทหารหรือพลเรือนก็ตามลงได้ จะต้องได้รับการเห็นพ้องต้องกันโดยส่วนใหญ่ ตราบใดที่สถานการณ์ของเมืองไทยยังเป็นอยู่ในปัจจุบันที่แบ่งเป็นสองขั้วใหญ่ๆเช่นในปัจจุบันนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ประชาธิปไตยไทยจะพัฒนาไปสู่จุดหมาย มีแต่จะถอยหลังเข้ารกเข้าพง แตกร้าว เป็นบาดแผลเจ็บลึกที่อีกไม่รู้กี่ปีจึงจะหาย
       กล่าวโดยสรุปก็คือไม่ว่าฝ่ายใดจะกำชัยชนะ จะต้องทำให้ชนะเหนือจิตใจประชาชนให้ได้ก่อน ใครกำชัยชนะเหนือจิตใจประชาชนได้ ฝ่ายนั้นจะเป็นฝ่ายชนะอย่างแน่นอน
       -------------
        


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544