หน้าแรก บทความสาระ
สิทธิเลือกตั้ง VS สิทธิในการต่อต้านอำนาจรัฐ
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
9 กุมภาพันธ์ 2557 19:10 น.
 
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่  2 กุมภาพันธ์ 2557 ผ่านไปด้วยความตื่นเต้นของทั้งฝ่ายที่อยากเลือกตั้งและฝ่ายที่ไม่อยากให้มีการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้น โดยต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลที่น่ารับฟังด้วยกันทั้งคู่ เพราะเป็นการใช้สิทธิพื้นฐานที่ว่าด้วยสิทธิเลือกตั้งและสิทธิต่อต้านอำนาจรัฐมาต่อสู้กัน
       ใครจะมองการต่อสู้ของทั้งฝ่ายนี้อย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นการยกข้อกล่าวหาทั้งหลายทั้งปวงมาโจมตีต่อกันและกัน เช่น ไม่รักชาติ เป็นขี้ข้าทักษิณ ฝักใฝ่เผด็จการ พวกอำมาตยาธิปไตย พวกมองไม่เห็นหัวคน ฯลฯ สารพัดสารเพที่จะนำมาสาดใส่ต่อกันและกัน แต่ผมกลับมองว่าต่างฝ่ายต่างมีความเชื่อ มีรสนิยม มีทัศนคติ ทางการเมืองของตนเอง ซึ่งความเชื่อหรือทัศนคติทางการเมืองของแต่ละคนนั้นย่อมที่จะไม่สามารถกล่าวได้ว่าใครผิดใครถูก ถูกในเวลาหนึ่งก็อาจจะผิดในเวลาหนึ่ง ผิดในเวลาหนึ่งก็อาจจะถูกในเวลาหนึ่งก็ได้
       สิทธิเลือกตั้ง
       เป็นสิทธิพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นสิทธิพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนที่ไม่ว่ารัฐธรรมนูญของไทยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ( International Covenant on Civil and Political Rights) หรือ ICCPR ซึงเป็นสนธิสัญญา     พหุภาคี ที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ให้การรับรองไว้
       การเลือกตั้งอย่างเดียวมิอาจกล่าวได้ว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้ง ถ้าขาดเสียซึ่งการเลือกตั้งย่อมมิใช่ประชาธิปไตย
       สิทธิในการต่อต้านรัฐ
       สิทธินี้ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 69 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ว่าบุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใดๆที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
       ประกอบเข้ากับทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ของ John Locke ที่ว่าประชาชนสามารถใช้สิทธิลบล้างรัฐบาลที่ใช้อำนาจไม่ชอบธรรม โดยประชาชนสามารถใช้สิทธินี้ได้อย่างรุนแรงเพื่อพิทักษ์เสรีภาพไม่ให้ถูกล่วงละเมิดโดยรัฐบาล หรือสิทธิที่จะปฏิวัติ(the rights of revolution) หากรัฐบาลได้ทำผิดกฎเกณฑ์ที่ได้ตกลงไว้กับประชาชน ถึงแม้จะได้รับการเลือกตั้งมาตามระบบอย่างถูกต้องก็ตาม
       โดยประสมเข้ากับแนวความคิดของ John Rawls กับ Henry David Thoreau ที่ว่าด้วย Civil Disobedience ที่ได้มีการนำมาใช้ในภาคภาษาไทยว่า “อารยะขัดขืน”นั่นเอง
       ข้อโต้แย้งจากแต่ละฝ่าย
       ฝ่ายที่สองคือฝ่ายที่ใช้สิทธิต่อต้านรัฐบอกว่าไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่มีกติกาที่เหมาะสม ตกอยู่ใต้อิทธิพลของผู้กุมอำนาจรัฐซึ่งก็คือสิ่งที่เรียกว่า “ระบบทักษิณ”  พวกมากลากไป ไม่ให้ความสำคัญกับเสียงส่วนน้อย ฯลฯ จึงต้องมีการปฏิรูปเสียก่อนถึงค่อยมีการเลือกตั้ง
       ส่วนฝ่ายแรกคือฝ่ายที่เน้นไปในการใช้สิทธิเลือกตั้งที่เรียกตนเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยโต้แย้งว่าการเลือกตั้งเป็นการดำเนินการโดย กกต.ซึ่งก็ตั้งและสรรหามาจากรัฐธรรมนูญอันเป็นกติกาที่ฝ่ายที่แรกเป็นคนร่างเองไม่ใช่หรือ พอเห็นทีว่าจะแพ้ก็ออกมาโวยวายเพื่อแก้กติกาให้พรรคพวกของตนเอง มิหนำซ้ำการออกมาคัดค้านก็มิได้เป็นไปอย่างสันติ มีการปิดถนน ยึดสถานที่ราชการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนอย่างหนักและกระทำผิดกฎหมายหลายบท ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 จนมีการออกหมายจับจากศาล ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเลือกตั้ง ฯลฯ
       แล้วจะทำอย่างไร
       ในเมื่อการกระทำของทั้งสองฝ่ายเป็นการใช้สิทธิพื้นฐานเช่นกันและโดยหลักการแล้วก็ไม่ขัดกันแต่อย่างใด มีแต่จะส่งเสริมซึ่งกันและกัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือต่างฝ่ายต่างมีจุดอ่อน จุดอ่อนที่ว่าก็คือ มีการใช้วิธีพวกมากลากไปจริง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการลักหลับออก พรบ.ผิดซอยในตอนตีสี่  ฯลฯ และการชุมนุมก็ไม่ได้เป็นอย่างสันติวิธีจริง มีการทำผิดกฎหมายมากมาย มีการใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ใช้ข้อมูลและวาจาที่เพิ่มความเกลียดและมีการเหยียดหยามทางเพศ
       ฉะนั้น ในเมื่อทั้งสองฝ่ายต่างก็มีความปรารถนาดีและต่างก็ใช้สิทธิอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามความเชื่อของตน ทำไมถึงจะมาพูดจาตกลง หาทางแก้ไขเสียให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมไม่ได้ โดย
       1) รัฐบาลแม้ว่าจะอ้างว่าไม่ได้เป็นผู้เสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯซึ่งเป็นฟางเส้นสุดท้ายจนเกิดวิกฤติการณ์ในครั้งนี้ แต่ใครๆก็รู้ว่าถ้ารัฐบาลไม่เอาด้วยไม่ทางสำเร็จ ต้องออกมาขอโทษประชาชนอย่างเป็นทางการและแสดงความชัดเจนอย่างจริงใจในการปฏิรูปว่าจะเอาอย่างไรเพราะประเด็นการปฏิรูปนี้ได้ถูกจุดติดแล้ว
       2)ฝ่ายใช้สิทธิในการต่อต้านรัฐต้องยอมรับผลแห่งการกระทำผิดกฎหมายของตนตามหลักการของ Civil Disobedience การต้องยุติการเพิ่มความเกลียดชังจากการสร้าง hate speech และการดูหมิ่นเหยียดหยามทางเพศ ซึ่งไม่ว่าจะมองอย่างไรก็ไม่ใช่  “อารยะขัดขืน”อย่างแน่นอน
       3)ทั้งสองฝ่ายต้องยุติการใช้ความรุนแรง แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะปฏิเสธว่ามิใช่การกระทำของฝ่ายตนก็ตาม แต่ผมเชือว่าแม้ว่าอาจมิใช่มาจากการสั่งการของแกนนำทั้งสองฝ่ายโดยตรง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรุนแรงนั้นเกิดเป็นผลมาจากการยั่วยุและให้ท้าย หรือปากว่าตาขยิบจากแกนนำของทั้งสองฝ่าย
       ต่างชาติต่างภาษารบกันจนคนตายเป็นเบือยังยุติด้วยการเจรจากัน แต่ประสาอะไรกับคนไทยที่ใช้ภาษาเดียวกันจะคุยกันไม่ได้ คุยกันเถอะครับ ก่อนที่ไม่มีผืนแผ่นดินจะให้คุยกัน เพราะแตกออกเป็นเสี่ยงๆด้วยเหตุแห่งการใช้สิทธิพื้นฐานของตนโดยไม่ยอมคุยกันนั่นเอง
        
       --------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544