หน้าแรก บทความสาระ
อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของนายกรัฐมนตรีรักษาการ Power of Caretaker Prime Minister to Declare State of Emergency
คุณอำนาจ คงศักดิ์ดา นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), ทนายความและที่ปรึกษาภาษีอากร
9 กุมภาพันธ์ 2557 19:10 น.
 
บทนำ    
       บทความนี้ ผู้เขียนขึ้นด้วยความสนใจส่วนตัวในเรื่องสถานะทางกฎหมายและขอบเขตอำนาจของคณะรัฐมนตรีรักษาการ โดยมีความเกี่ยวเนื่องกับบทความก่อนหน้าของผู้เขียน คือ บทความเรื่อง “ข้อจำกัดอำนาจของคณะรัฐมนตรีรักษาการตามมาตรา 181 แห่งรัฐธรรมนูญฯ” ซึ่งได้รับความกรุณาจากเว็บไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย www.pub-law.net ช่วยเผยแพร่ให้ และได้รับความสนใจจากประชาชนโดยทั่วไป ทั้งที่เป็นนักกฎหมายและที่ไม่ใช่นักกฎหมาย สำหรับบทความนี้ คงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นภาคต่อของบทความที่แล้ว เพราะโดยเนื้อหานั้น ครั้งที่แล้วเป็นการวิเคราะห์มาตรา 181 ทั้งมาตราโดยภาพรวม เป็นการวิเคราะห์อย่างกว้างในรูปแบบของการอธิบายความ แต่ในบทความนี้ผู้เขียนจะเปลี่ยนวิธีนำเสนอจากเดิมที่ใช้เฉพาะวิธีอธิบายความโดยจะเพิ่มการวิเคราะห์โดยใช้คำถามเป็นฐาน (A Question-Based Method) แล้วจึงปรับใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อวิเคราะห์ปัญหามาประกอบด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่อาจรับรองได้ว่าในตอนท้ายของบทความ เราจะได้คำตอบสุดท้าย (Final Answer)ของปัญหา และจะพยายามใช้ภาษาที่เรียบง่ายและสะดวกแก่การทำความเข้าใจ เนื่องจากได้มีผู้ติติงมาพอสมควรว่าในบทความที่แล้วใช้ภาษาวิชาการเกินไป ทำให้เข้าใจได้ค่อนข้างยาก ส่วนการอ้างอิงบทบัญญัติมาตราต่างๆ รวมถึงการใช้เชิงอรรถก็จะทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
       ในบทความนี้จะประกอบด้วยหัวข้อต่างๆ ดังมีโครงสร้างต่อไปนี้
       

           
  1. บทนิยามของคำว่า “คณะรัฐมนตรีรักษาการ” และ “นายกรัฐมนตรีรักษาการ”

  2.        
  3. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

  4.        
  5. บทวิเคราะห์ว่าด้วยสถานะทางกฎหมายของคณะรัฐมนตรีรักษาการและนายกรัฐมนตรีรักษาการ

  6.        
  7. บทวิเคราะห์ “อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของนายกรัฐมนตรีรักษาการ”

  8.        
  9. บทส่งท้าย

  10.        

        
       1. บทนิยาม
       แม้ว่าผู้เขียนจะเคยกล่าวถึงความหมายของคำว่า “คณะรัฐมนตรีรักษาการ” ไว้แล้วในบทความ “ข้อจำกัดอำนาจของ
       คณะรัฐมนตรีรักษาการตามมาตรา 181 แห่งรัฐธรรมนูญ” แต่ก็เป็นเพียงการกล่าวสั้นๆ เพียงไม่กี่บรรทัด โดยสรุปแต่ใจความสำคัญเท่านั้น จึงอาจสร้างความยุ่งยากในการทำความเข้าใจสำหรับท่านผู้อ่านที่มิใช่นักกฎหมาย ตลอดจนนักกฎหมายที่มิได้คลุกคลีอยู่กับรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนจึงเห็นว่าควรมีการให้นิยามของคำๆ นี้ไว้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อช่วยในการทำความเข้าใจของผู้อ่านประการหนึ่ง และเพื่อให้บทความนี้มีความสมบูรณ์ขึ้นอีกประการหนึ่ง
        
                       คำว่า “คณะรัฐมนตรีรักษาการ” และ “นายกรัฐมนตรีรักษาการ”นั้น ไม่มีปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญ, กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน หรือแม้แต่ระเบียบใดๆ ของทางราชการ ยิ่งไปกว่านั้น ในทางปฏิบัติในการลงนามหรือการเรียกขานในการปฏิบัติราชการก็ไม่มีระเบียบปฏิบัติรองรับการใช้คำว่า “คณะรัฐมนตรีรักษาการ” คำว่า “นายกรัฐมนตรีรักษาการ”, “รองนายกรัฐมนตรีรักษาการ”, “รัฐมนตรีรักษาการ” หรือการใช้คำว่า “ผู้ปฏิบัติหน้าที่” นำหน้าตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ/ช่วยว่าการกระทรวงต่างๆ ก็ไม่มีปรากฎอยู่เช่นกัน[1] แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะตามมาตรา 180 และอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อตามมาตรา 181 นั้น ก็มักถูกเรียกขานจากสังคมว่า “คณะรัฐมนตรีรักษาการ” นายกรัฐมนตรีก็เรียกว่า “นายกรัฐมนตรีรักษาการ” ซึ่งแม้จะไม่มีกฎระเบียบรองรับ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นความเข้าใจที่ตรงกันของสังคมว่ามีนัยยะอย่างไร และคำๆ นี้ก็สร้างความชัดเจนในการจำแนกความแตกต่างของคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีว่าเป็นคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีที่ได้พ้นจากตำแหน่งแล้วแต่อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 181 มิใช่คณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีปกติ
       คำว่า “คณะรัฐมนตรีรักษาการ” และ “นายกรัฐมนตรีรักษาการ”ทั้งปวงที่ปรากฏอยู่ในบทความนี้ ก็มีความหมายเช่นเดียวกันกับที่กล่าวมาข้างต้น คือ หมายถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะตามมาตรา 180 (กรณีใดกรณีหนึ่งต่อไปนี้ คือ นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี, อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร, คณะรัฐมนตรีลาออกทั้งคณะ) แต่คณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 181 ซึ่งต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
        
       2. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (State of Emergency หรือ Emergency Situation)
                       ปัจจุบันมักมีความเข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้งโดยเรียกการที่นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินว่า “การประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน” อันที่จริงแล้ว พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า “พรก.ฉุกเฉิน” นั้นเป็นกฎหมายประเภทพระราชกำหนดที่ใช้บังคับอยู่แล้วในปัจจุบัน อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (State Emergency) เป็นของนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว สำหรับความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์อำนาจของนายกรัฐมนตรีรักษาการในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีดังต่อไปนี้[2]
       “สถานการณ์ฉุกเฉิน” หมายความว่า สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรืออาจทำให้ประเทศหรือ ส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือการสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะ อันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง[3]"
       เมื่อปรากฏว่ามีสถานการณ์ฉุกเฉิน (ตามนิยามข้างต้น) เกิดขึ้นและนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรใช้กำลังเจ้าหน้าที่ปกครอง ตำรวจ ทหาร เข้าแก้ไขปราบปราม นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักร หรือในบางเขตบางท้องที่ได้ตามความจำเป็น โดยช่วงเวลาของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นแล้วแต่นายกรัฐมนตรีกำหนด แต่ไม่เกินสามเดือน หากจำเป็นให้ขยายเวลาคราวละไม่เกินสามเดือน โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วย[4]
       เมื่อได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้[5]
       (1) ห้ามบุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด
       (2) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ
       (3) ห้ามการเสนอข่าวจำหน่ายหรือแพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ ในเขตพื้นที่ประกาศหรือทั่วราชอาณาจักร
       (4) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
       (5) ห้ามการใช้อาคารหรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ
       (6) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนด
        
       3. บทวิเคราะห์ว่าด้วย “สถานะทางกฎหมายของคณะรัฐมนตรีรักษาการ”
                       ในเรื่องนี้มีบทบัญญัติสำคัญที่เป็นหลักอยู่ด้วยกันสองมาตราคือ มาตรา 180 และมาตรา 181 ซึ่งบัญญัติว่า
       มาตรา 180 รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
       (1)     ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182
       (2)     อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมาการยุบสภาผู้แทนราษฎร
       (3)     คณะรัฐมนตรีลาออก
       ...
       มาตรา 181 คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่ในกรณีการพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 180 (2) คณะรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ดังต่อไปนี้
       (1)     ไม่กระทำการอันเป็นการใช้อำนาจแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
       (2)     ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
       (3)     ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป
       (4)     ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
       จากบทบัญญัติสองมาตราข้างต้น สามารถอนุมานได้ว่า คณะรัฐมนตรีที่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
       จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ หรือที่เราเรียกว่าคณะรัฐมนตรีรักษาการนั้น สามารถจำแนกได้ 2 ลักษณะ กล่าวคือ คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะตามมาตรา 180 (1) และ (3) และที่พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะตามมาตรา 180 (2) ซึ่งมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ กรณีเป็นคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุตามมาตรา 180 (1) คือกรณีที่นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 182 หรือกรณีที่คณะรัฐมนตรีลาออกทั้งคณะนั้นไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติจำกัดอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่เมื่อคณะรัฐมนตรีนั้นต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่หากเป็นกรณีคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดเพราะเหตุตามมาตรา 180 (2) นั้น มาตรา 181 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าให้ปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไข 4 ข้อในมาตราเดียวกัน[6]
                       โดยเหตุที่กฎหมาย คือมาตรา 181 กำหนดชัดเจนว่าคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เมื่อคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อตามมาตรานี้ ฉะนั้น หากจะว่ากันตามหลักการทางกฎหมายแล้วก็ต้องถือว่าสถานะความเป็นคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อนั้นไม่มีความแตกต่างไปจากคณะรัฐมนตรีปกติ เพราะมาตรา 181 ใช้คำว่า “ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป…” จึงต้องตีความว่า ต้องอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ตามเดิมก่อนพ้นจากตำแหน่ง เพียงแต่มีเงื่อนไขสำหรับคณะรัฐมนตรีรักษาการที่มีที่มาจากการเป็นคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 180 (2) ว่าให้ปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขดังระบุไว้ในอนุมาตราทั้ง 4 ของมาตรา 181
       และเมื่อกฎหมายใช้คำว่า “ต้อง” จึงเป็นการชัดเจนอยู่แล้วในตัวว่ามาตรา 181 นี้เป็นบทบังคับให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีทางเลือกอื่น ดังนั้น เมื่อพิจารณามาถึงตอนนี้ คำตอบสำหรับคำถามที่ว่าคณะรัฐมนตรีรักษาการจะสามารถลาออกจากการเป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการได้หรือไม่ มาตรา 181 นี้คงเป็นคำตอบที่ชัดเจนและตรงประเด็น ชนิดที่ว่าไม่สามารถตีความเป็นอย่างอื่นได้เลย
        
        
       4. บทวิเคราะห์ “อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของคณะรัฐมนตรีรักษาการ”
                       จากการศึกษามาตรา 180 และ 181 ของรัฐธรรมนูญฯ สามารถสรุปได้ว่า คณะรัฐมนตรีรักษาการมีสถานะทางกฎหมายไม่ต่างไปจากคณะรัฐมนตรีปกติ เพียงแต่มีการกำหนดข้อจำกัดและเงื่อนไขในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีรักษาการที่มีที่มาจากการเป็นคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 180 (2) คือ การที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ข้อจำกัดที่ว่านี้คือ การกำหนดให้ปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็นภายใต้เงื่อนไข 4 ประการในมาตรา 181
                       ซึ่งเมื่อพิจารณาสภาพของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วเห็นว่า โดยปกติการประกาศดังกล่าว จะกระทำต่อเมื่อเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ดังนั้น คณะรัฐมนตรีรักษาการในฐานะฝ่ายบริหารและนายกรัฐมนตรีรักษาการในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร (ได้วิเคราะห์แล้วในช่วงที่ 3 ว่า คณะรัฐมนตรีรักษาการมีสถานะทางกฎหมายไม่ต่างจากคณะรัฐมนตรีปกติ ดังนั้น นายกรัฐมนตรีรักษาการก็ควรต้องมีสถานะทางกฎหมายไม่ต่างไปจากนายกรัฐมนตรีในกรณีปกติด้วยเช่นกัน) โดยที่ไม่มีบทกฎหมายใดกำหนดห้าม (เห็นว่าไม่เข้าข่ายต้องห้ามมาตรา 181 คือ ตามปกติการประกาศดังกล่าวย่อมใช้เฉพาะกับกรณีร้ายแรงที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และกรณีนี้ก็มิใช่เรื่องที่กำหนดไว้ใน 4 อนุมาตราของมาตรานี้) ย่อมมีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้
       สำหรับที่มีนักกฎหมายบางท่านให้ความเห็นในทำนองว่า นายกรัฐมนตรีรักษาการและคณะรัฐมนตรีรักษาการที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบันไม่มีอำนาจประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะเป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการ จึงไม่มีอำนาจเช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรีธรรมดานั้น ผู้เขียนไม่เห็นพ้องด้วย เหตุผลก็เป็นเพราะว่า มาตรา 181 อันเป็นมาตราที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปนั้น ใช้ถ้อยคำว่า “...ให้อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป...” จึงจะตีความเป็นประการอื่นไปไม่ได้ นอกจากให้อยู่ในตำแหน่งเดิมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป การอยู่ในตำแหน่งในกรณีนี้จึงเป็นการอยู่ในสถานะเดิมก่อนพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าการตีความในลักษณะนี้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 181 นี้ คือ การรักษา (Maintain) ความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน ผู้เขียนจึงเห็นว่าการที่นายกรัฐมนตรีรักษาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยมีคณะรัฐมนตรีรักษาการให้ความเห็นชอบ จึงไม่มีทางเป็นการกระทำที่เข้าข่ายต้องห้ามตามมาตรา 181 ได้
        
       5. บทส่งท้าย
       แม้ผู้เขียนจะเห็นว่าการที่คณะรัฐมนตรีรักษาการประกาศใช้ พรก. ฉุกเฉิน จะไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 181 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยเงื่อนไขในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีรักษาการ แต่ก็เห็นว่าการประกาศดังกล่าวต้องพิจารณาตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจว่าสถานการณ์ต่างๆ ในขณะที่รัฐบาลตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเข้าข่ายตามที่บทบัญญัติว่าด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วหรือไม่ ทั้งยังต้องคำนึงถึงความจำเป็นและความชอบธรรมด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตามข้อเท็จจริงว่าเข้าลักษณะเป็นเหตุฉุกเฉินเร่งด่วนและมีความร้ายแรงถึงขั้นที่จำเป็นจะต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วหรือไม่ โดยผู้เขียนจะไม่แสดงความเห็นไว้ในบทความนี้ เพราะประสงค์จะให้เป็นบทความวิชาการมากกว่าจะเป็นข้อเขียนทางการเมือง และขอยกหน้าที่ในการวินิจฉัยความชอบธรรมของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพุทธศักราช 2557 ให้แก่ท่านผู้อ่านทุกท่าน
       

       
       

       

       [1] กรณีคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะตามมาตรา 180 และต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 181 นั้น เคยมีการยืนยันไว้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า กรณีเช่นนี้ ตำแหน่งต่างๆ ยังคงเรียกว่า “คณะรัฐมนตรี” “นายกรัฐมนตรี” “รองนายกรัฐมนตรี” และ “รัฐมนตรี” ตามปกติ โดยไม่เรียกว่า “รักษาการ” และไม่ใช่การ “รักษาราชการในตำแหน่ง” ---โปรดดู หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0204/ว 164 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2543 เรื่อง แนวทางปฏิบัติของคณะรัฐมนตรีหลังยุบสภา ข้อ 1. และหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0503/ว 219 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2556 เรื่อง แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภา ข้อ 2.2.1 สถานะของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี
       

       

       [2] สำหรับข้อมูลในเชิงลึกและรายละเอียดเกี่ยวกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นั้น มีผู้เขียนและเผยแพร่ไว้เป็นจำนวนมากแล้วในปัจจุบัน ผู้อ่านที่สนใจสามารถค้นคว้าได้โดยสะดวก จึงไม่จำเป็นต้องนำมาอธิบายไว้ในบทความนี้อีก
       

       

       [3] มาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
       

       

       [4] มาตรา 5 วรรคสอง แห่งพระราชกำหนดเดียวกัน
       

       

       [5] มาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดเดียวกัน
       

       

       [6] สำหรับรายละเอียดเงื่อนไขทั้ง 4 อนุมาตรานั้น จะไม่ขอกล่าวซ้ำอีก ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถพิจารณารายละเอียดเรื่องนี้ได้จากบทความเรื่อง “ข้อจำกัดอำนาจของคณะรัฐมนตรีรักษาการตามมาตรา 181 แห่งรัฐธรรมนูญฯ” ของผู้เขียน
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544