หน้าแรก บทความสาระ
ข้อคิดบางประการ : กฎหมายการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
คุณเลิศศักดิ์ ต้นโต ผู้ช่วยนักวิชาการปฏิรูปกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย.
26 มกราคม 2557 17:57 น.
 
ภายหลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในช่วงเย็นของวันที่  21 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา ผู้เขียนในฐานะที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองและกฎหมายฉบับนี้ในระดับหนึ่ง มิอาจนิ่งเฉยต่อการให้ความรู้และความเห็นได้ จึงขอนำเสนอสิ่งที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจใคร่รู้ดังนี้
       ภารกิจสำคัญที่สุดของรัฐคือการรักษาความสงบภายในประเทศและการป้องกันภัยจากภายนอกประเทศ ภารกิจการรักษาความสงบนี่เองได้ส่งผลให้รัฐต้องมีโครงสร้างมีองค์กรที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อการรักษาความสงบโดยเฉพาะ อันได้แก่ องค์กรฝ่ายปกครอง องค์กรตำรวจ และองค์กรทหาร โดยรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจสูงสุดของฝ่ายบริหารเป็นผู้บังคับบัญชา องค์กรเหล่านี้ก็จะต้องอาศัยอำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ หากพิจารณากฎหมายทั้งหลายจะพบว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงเป็นกฎหมายที่มีลักษณะพิเศษกว่าบรรดากฎหมายอื่น กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารอย่างมากเพื่อที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติในกรณีที่ประเทศตกอยู่ในสภาวการณ์ไม่ปกติมีเหตุฉุกเฉินและมีความร้ายแรงถึงขนาดที่กฎหมายบังคับใช้ในยามปกติก็ไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์นั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
       รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยอมให้มีการล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อยู่ 3 กรณี คือ จะต้องเป็นสถานการณ์รบหรือสงคราม การประกาศใช้กฎอัยการศึก และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งต้องเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ที่จะต้องเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์[1] ในประเทศไทยมีกฎหมายพิเศษเกี่ยวกับความมั่นคงอยู่ 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 กฎหมายทั้งสามฉบับข้างต้นต่างก็มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ โดยเป็นกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ออกมาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้เพื่อเป็นการควบคุมให้สภาวการณ์ที่ไม่ปกติกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็ว
                     กฎหมายการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศไทยบังคับใช้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2495 ในชื่อที่ว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2495  ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2547-2548 สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความรุนแรงขึ้น มีการก่อการร้ายในหลายพื้นที่ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของทั้งทางราชการและเอกชน รัฐบาลขณะนั้นจึงได้ตราพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ขึ้น ในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 อยู่ในช่วงสมัยปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร เย็นวันเดียวกันก็ได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และมีผลในวันถัดมา คือวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 และมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งแรก หลักการสำคัญของพระราชกำหนดดังกล่าว คือ เพื่อที่จะทดแทนกฎหมายที่ยกเลิกไป นั่นคือพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2495 เพราะได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน และไม่สามารถที่จะนำมาใช้ในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นฉุกเฉินคับขันได้ทันท่วงที รวมทั้งมาตรการบางอย่างที่ปรากฏในพระราชบัญญัติก็อาจล้าสมัย หรือไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ หรือมิฉะนั้นก็อาจมีปัญหาในเชิงความหมาย หรือการตีความ โดยประมวลเอามาตรการบางมาตรการในพระราชบัญญัติดังกล่าว ในพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และในพระราชบัญญัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือแม้แต่ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และหลักการใหม่ ๆ บางหลักการเพิ่มเติมนำมาประมวลไว้ในพระราชกำหนดนี้ ซึ่งรัฐบาลได้เสนอให้มีการตราพระราชกำหนดนี้โดยอาศัยอำนาจตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 218
        
                     ประเด็นปัญหาที่น่าขบคิดบางประการต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีดังนี้
        
       1. ฐานของเหตุผลและความจำเป็นในการประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีทั้งสิ้น 19 มาตรา โดยให้ความหมายของ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ตามมาตรา 4 ว่า สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรืออาจจะทำให้ประเทศหรือส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันหรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือการสงคราม ซึ่งจำเป็นต้อมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกภาพและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง[2]  เพราะฉะนั้นการที่ฝ่ายบริหารจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบต่อบริบทและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะกฎหมายการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก หากมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพต้องกระทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น[3] เพราะทันทีที่ประกาศใช้บังคับแล้วย่อมเป็นการบั่นทอนสิทธิและเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ด้วยเหตุนี้หากปรากฏว่าบริบทและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่เพียงพอที่ใช้เป็นฐานของเหตุผลและความจำเป็นในการอ้างอิงเพื่อประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินได้ ฝ่ายบริหารสมควรใช้กฎหมายในสภาวะปกติเท่านั้น และเท่าที่สังเกตจากอดีตจนถึงปัจจุบัน การประกาศใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินของฝ่ายบริหารมักจะประกาศใช้กับสถานการณ์การชุมนุมของประชาชนโดยละเลยที่จะทำความเข้าใจในบริบทอื่น เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เหมือนอย่างในต่างประเทศ
        
       2. การควบคุมตัวบุคคลในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นมาตรการทางกฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เนื่องจากกรณีการจับและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยตามมาตรา 11 (1)[4] ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งหากพิจารณาตามความเป็นจริงแล้วจะเห็นได้ว่าอำนาจในการจับกุมและควบคุมตัวนั้น กฎหมายใช้คำว่า “บุคคลที่สงสัย” เท่านั้น มิใช่ “ผู้ต้องหา” ดังนั้นการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยมาอยู่ในอำนาจรัฐตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การปฏิบัติต่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัวดังกล่าวจึงต้องแตกต่างไปจากบุคคลที่มีสถานะของการตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา และจะให้สิทธิของบุคคลนั้นในกระบวนการยุติธรรมต่ำกว่าบุคคลที่มีสถานะเป็นผู้ต้องหาย่อมกระทำไม่ได้
                  เมื่อปรากฏว่ามีการใช้อำนาจจับกุม มาตรา 12[5] ให้เจ้าหน้าที่ที่จะจับกุมและควบคุมตัวได้ก็ต่อเมื่อขออนุญาตจากศาลเสียก่อน โดยควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน ขยายได้อีกคราวละไม่เกิน 7 วัน แต่รวมแล้วทั้งหมดต้องไม่เกิน 30 วัน หากจำเป็นต้องควบคุมตัวต่อให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 87  กำหนดให้ในกรณีความผิดอาญาศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติด ๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 84 วัน จะเห็นได้ว่าในเมื่อระยะเวลาสูงสุดในการควบคุมตัวตามที่พระราชกำหนดนี้กำหนด คือ 30 วัน และระยะเวลาสูงสุดในการควบคุมตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ 84 วัน เมื่อรวมระยะเวลากฎหมายทั้งสองฉบับเข้าด้วยกันก็เท่ากับว่าผู้ต้องสงสัยอาจถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 114 วัน อันเป็นระยะเวลาค่อนข้างยาวนานและเกิดการซ้ำซ้อนของกฎหมาย ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า ระยะเวลาในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยภายหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องระยะเวลาการควบคุมตัวบุคคลระหว่างพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สมควรที่จะใช้กฎหมายในสถานการณ์ปกติคือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยมีระยะเวลาของการควบคุมตัวได้ไม่เกิน 84 วัน[6]
        
       3. ปัญหาการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในสถานการณ์ฉุกเฉิน กฎหมายการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มาตรา 16 กำหนดว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง และตามมาตรา 17 พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปกระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในฐานะที่ไม่เท่าเทียมกันนั้นเป็นเรื่องทางปกครองอย่างแท้จริง โดยหลักแล้วการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง แต่บทบัญญัติกฎหมายข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการตรวจสอบการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นถูกผลักออกจากการตรวจสอบโดยผลของมาตรา 16 ทันที มีผลทำให้การกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ในส่วนที่เป็นเรื่องการกระทำทางปกครองตามพระราชกำหนดนี้ไม่ตกอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง กล่าวคือ เป็นการปฏิเสธอำนาจของศาลปกครองนั่นเอง ส่วนมาตรา 17 ก็เป็นเรื่องยากมากที่จะทราบได้ว่าการใช้อำนาจของรัฐบนความขัดแย้ง วุ่นวายนั้นเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็นถึงขนาดให้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย ดังนั้นเมื่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน การบังคับใช้กฎหมายต้องตีความอย่างเคร่งครัดที่สุด จำต้องมีองค์กรที่มีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายกรณีการใช้อำนาจรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือใช้อำนาจเกินขอบเขตตามที่กฎหมายกำหนดไว้
                     ข้อสังเกต พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นกฎหมายที่
       ถือกำเนิดโดยฝ่ายบริหารเฉพาะครั้งสมัยที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้ เมื่อปี 2547-2548 โดยปราศจากการรับรู้ตามครรลองที่จะต้องอาศัยเหตุผลอย่างมากเฉกเช่นกฎหมายทั่วไปที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของประชาชนเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ที่ฝ่ายบริหารในอดีตจนถึงปัจจุบันได้นำกฎหมายนี้เข้ามาสู่วังวนของความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ โดยอาจมิได้ทันคิดว่า
       “การชุมนุมของประชาชนนั้นมิได้มาพร้อมกับการประกาศใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินเสมอไป และกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินก็ไม่ได้เป็นตอบเดียวของการสร้างความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมือง”
                    
        
       

       
       

       

       [1]  คำอธิบายพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยวิษณุ เครืองาม
        http://www.prachathai.com/2005/07/4923  
        
       

       

       [2]  พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
          มาตรา 4 “สถานการณ์ฉุกเฉิน” หมายความว่า สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันหรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือการสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง
       

       

       [3]  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
          มาตรา 29 วรรคหนึ่ง การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้.
       

       

       [4]  พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
          มาตรา 11 วรรค 1 (1) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ เท่าที่มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลนั้นกระทำการหรือร่วมมือกระทำการใด ๆ อันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง หรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง.
       

       

       [5] พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
         มาตรา ๑๒ ในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยตามประกาศในมาตรา ๑๑ (๑) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจหรือศาลอาญาเพื่อขออนุญาตดำเนินการ เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวได้ไม่เกินเจ็ดวัน และต้องควบคุมไว้ในสถานที่ที่กำหนดซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ โดยจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องควบคุมตัวต่อเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอต่อศาลเพื่อขยายระยะเวลาการควบคุมตัวต่อได้อีกคราวละเจ็ดวัน แต่รวมระยะเวลาควบคุมตัวทั้งหมดต้องไม่เกินกว่าสามสิบวัน เมื่อครบกำหนดแล้ว หากจะต้องควบคุมตัวต่อไป ให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
       ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำรายงานเกี่ยวกับการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลนั้นเสนอต่อศาลที่มีคำสั่งอนุญาตตามวรรคหนึ่ง และจัดสำเนารายงานนั้นไว้ ณ ที่ทำการของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ญาติของบุคคลนั้นสามารถขอดูรายงานดังกล่าวได้ตลอดระยะเวลาที่ควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้
       การร้องขออนุญาตต่อศาลตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการขอออกหมายอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม
       

       

       [6]  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, มาตรา 87.
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544