ระยะเวลาบังคับ (délai imperatif) และระยะเวลาเร่งรัด (délai indicatif) กับเงื่อนไขความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ระยะเวลาต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ ได้แก่ ภายใน....วัน นับแต่... หรือ ไม่เกิน....วันนับแต่... เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของสภาพบังคับตามกฎหมายของระยะเวลาที่กำหนดไว้ สามารถแบ่ง 2 ประเภท คือ ระยะเวลาเร่งรัด และระยะเวลาบังคับ การแบ่งแยกประเภทของระยะเวลาที่กำหนดในกฎหมายดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมากในการใช้เป็นหลักเกณฑ์พิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง เพราะระยะเวลาทั้งสองแบบมีผลต่อสภาพบังคับที่เป็นเงื่อนไขของความชอบด้วยกฎหมายของการกระทางปกครองที่แตกต่างกันในทางตรงกันข้ามกัน ทั้งนี้จะขออธิบายระยะเวลาบังคับก่อนเมื่อเข้าใจเรื่องระยะเวลาบังคับแล้วจะเข้าใจระยะเวลาเร่งรัดต่อไป
1. ระยะเวลาบังคับ
ระยะเวลาบังคับ (délai imperatif) หมายถึง ระยะเวลาที่กำหนดให้ผู้อยู่ใต้บังคับแห่งกฎหมายนั้นต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ภายในระยะเวลานั้น หากไม่กระทำการภายในกำหนดจะมีผลทางกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีผลกระทบต่อความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำนั้น กล่าวคือ การไม่ปฏิบัติตามระยะเวลาที่กำหนด กฎหมายได้กำหนดสภาพบังคับในเหตุความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการกระทำนั้น หากไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามระยะเวลาที่กำหนดจะส่งผลให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจไม่มีอำนาจตามกฎหมายได้อีกต่อไปหรือมีผลให้สิทธิต่างที่กำหนดไว้แก่บุคคลนั้นสูญสิ้นไปหรือไม่อาจก็ตั้งสิทธิได้
การกำหนดให้มีระยะเวลาบังคับตามกฎหมายนั้น มีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการคือ
วัตถุประสงค์ประการแรก เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการหรืองดกระทำการใดอย่างในระยะเวลาใดเวลาหนึ่งให้เสร็จเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้เพื่อให้มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจกระทำการใดตามกฎหมายที่กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพภายในกรอบระยะเวลานั้น ด้วยหลักการนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักความมั่นคงแน่นอนในนิติฐานะ ด้วยวัตถุประสงค์ในประการนี้ กฎหมายมักจะกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการใดหรืองดเว้นกระทำการใดภายในกำหนด ได้แก่ ออกคำสั่งทางปกครองภายในกำหนด หรือปฏิบัติการทางปกครองภายในกำหนด หากไม่กระทำการหรืองดกระทำการภายในกำหนดเวลาแล้วจะมีผลให้คำสั่งทางปกครองนั้นหรือการปฏิบัติการทางปกครองนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ให้ประโยชน์จะต้องเพิกถอนภายในกำหนดเวลา 90 นับแต่ได้รู้ถึงเหตุเพิกถอนนั้น ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 หากเพิกถอนเมื่อพ้นระยะเวลา 90 วัน คำสั่งทางปกครองดังกล่าวถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากกระทำโดยปราศจากอำนาจ เป็นต้น
ความเห็นคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ 331/2556 คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่แต่งตั้ง (เลื่อน) ข้าราชการ เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายซึ่งมีผลกระทบต่อสถานสภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ได้รับแต่งตั้ง จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง และโดยคำสั่งดังกล่าวได้ก่อตั้งสิทธิแก่ผู้ได้รับการแต่งตั้งที่จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ให้ประโยชน์แก่ผู้รับคำสั่ง การเพิกถอนจะต้องกระทำภายในเก้าสิบวันนับแต่ได้รู้ถึงเหตุเพิกถอนตามที่กำหนดในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แต่เมื่อนับระยะเวลาที่ผู้มีอำนาจเพิกถอนได้รู้เหตุความไม่ชอบด้วยกฎหมายจนถึงเวลาที่จะกระทรวงหมาดไทยทำการเพิกถอนเป็นเวลาล่วงเลยระยะเวลาเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ให้ประโยชน์แล้ว ประกอบกับไม่ปรากฏว่าผู้ได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งดังกล่าวได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความที่ควรบอกให้แจ้ง หรือข่มขู่หรือชักจูงใจโดยการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่มิชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้ได้รับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงไม่อาจเพิกถอนคำสั่งข้างต้นได้
วัตถุประสงค์ประการที่สอง เพื่อให้การบริหารงานภาครัฐมีประสิทธิภาพสำเร็จลุล่วงภายในระยะเวลาที่กำหนด ด้วยหลักการนี้กฎหมายมักจะกำหนดให้บุคคลหรือเอกชนกระทำการหรืองดเว้นกระทำอย่างใดหนึ่งภายในระยะเวลาที่กำหนด หากบุคคลนั้นไม่ได้กระทำการภายในกำหนดก็จะสูญสิ้นสิทธิที่มีอยู่หรือไม่อาจก่อตั้งสิทธิที่จะมีขึ้นได้ ซึ่งมีผลต่ออำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย หากบุคคลได้กระทำการล่วงเลยระยะที่กำหนดไว้แม้เจ้าหน้าที่ของรัฐจะรับไว้ก็ตาม แต่ก็ไม่มีอำนาจพิจารณา เช่น กรณีกฎหมายกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองภายในกำหนดกี่วัน การที่ผู้มีสิทธิอุทธรณ์ไม่ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด ส่งผลให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะได้การพิจารณาอุทธรณ์ ในกรณีที่ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดระยะเวลา เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ก็ไม่มีอำนาจจะทำการสั่งใดในอุทธรณ์ที่ยื่นมานั้นได้ หรือการที่กฎหมายกำหนดให้ยื่นคำขออนุญาตหรือยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ใดที่กฎหมายก่อตั้งให้ภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่ยื่นภายในระยะเวลาที่กำหนดส่งผลให้บุคคลนั้นไม่อาจได้รับสิทธิที่กฎหมายก่อตั้งได้ เป็นต้น
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 497/2551 โดยที่มาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนซึ่งไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในหกสิบวันนับจากวันได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนดังกล่าว ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงต้องอุทธรณ์เงินค่าทดแทนต่อผู้ถูกฟ้องคดีภายในวันที่ 25 กันยายน 2550 การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีหนังสือลงวันที่ 27 กันยายน 2550 อุทธรณ์ขอให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่งถึงผู้ถูกฟ้องคดีในวันที่ 28 กันยายน 2550 จึงเป็นการอุทธรณ์เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่ดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายตามที่กฎหมายกำหนดก่อนฟ้องคดีก็ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.23/2547 กรณีที่ข้าราชการที่มีสิทธิรับบำนาญถึงแก่ความตาย บุคคลที่ข้าราชการผู้ตายแสดงเจตนาระบุให้มีสิทธิรับเงินช่วยพิเศษจะต้องขอรับเงินช่วยพิเศษภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้แสดงเจตนาถึงแก่ความตายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 ประกอบมาตรา 42 แห่ง พ.ร.ฎ. การจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2535 ซึ่งแม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะไม่มีหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายในเรื่องการแจ้งสิทธิดังกล่าว แต่การที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้พยายามติดต่อผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับเงินช่วยพิเศษหลายครั้งผ่านทางญาติและทางโทรศัพท์ แต่ไม่อาจติดต่อผู้ฟ้องคดีได้ ถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้กระทำการโดยชอบตามสมควรแล้ว และมิใช่เป็นกรณีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าส่วนราชการที่ผู้ตายสังกัดอยู่จะสามารถผ่อนปรนเรื่องการขอรับเงินช่วยพิเศษเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายได้ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ตายถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2539 ผู้ฟ้องคดีได้ทราบถึงการตายดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2540 แต่เพิ่งมายื่นขอรับเงินช่วยพิเศษเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2543 ซึ่งล่วงพ้นระยะเวลาถึงสามปี จึงไม่มีเหตุอันควรผ่อนปรนให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับเงินช่วยพิเศษเป็นกรณีพิเศษได้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งไม่อนุมัติการจ่ายเงินช่วยพิเศษให้แก่ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยมากแล้วระยะเวลาบังคับที่กฎหมายกำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนั้นมักจะกำหนดให้มีวัตถุเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนควบคู่กับเพื่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการภาครัฐในการคุ้มครองประโยชน์มหาชนเสมอ จากเจตนามรณ์หรือวัตถุประสงค์ของระยะเวลาบังคับดังกล่าว จะส่งผลให้ระยะเวลาบังคับเป็นเงื่อนไขความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำนั้น
สำหรับรูปแบบของบทบัญญัติที่กำหนดสภาพบังคับของระยะเวลาบังคับนี้กฎหมายจะกำหนดผลสภาพบังคับไว้ใน 2 รูปแบบ คือ
รูปแบบแรก กฎหมายผลบังคับกำหนดไว้โดยชัดแจ้ง อาจจะกำหนดไว้ในมาตราเดียวกัน หรือมาตราอื่นในกฎหมายนั้น เช่น ระยะเวลาที่กฎหมายว่าด้วยสภาวิชาชีพ กำหนดนายกสภาพิเศษจะต้องให้ความเห็นชอบหรือยับยั้งมติของสภาวิชาชีพที่ให้พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพภายในกำหนด หากสภานายกพิเศษไม่ได้ยับยั้งหรือเห็นชอบด้วยระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าสภานายกพิเศษให้ความเห็นชอบ เป็นต้น
รูปแบบที่สอง กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้ง แต่จากการตีความตามวัตถุประสงค์และโครงสร้างระบบกฎหมาย เล็งเห็นได้ว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะกำหนดให้ระยะเวลาที่กำหนดไว้เป็นระยะเวลาบังคับ หากไม้กระทำการภายในกำหนดผลส่งผลต่อความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำนั้น เช่น กรณีการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ให้ประโยชน์ตามมาตรา 49 กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ชัดแจ้งว่า หากไม่เพิกถอนภายในกำหนด 90 วัน แล้วผลจะเป็นอย่างไร แต่มีพิจารณาจากเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งครองสิทธิเสรีภาพประชาชนตามหลักความมั่นคงแน่นอนในนิติฐานะแล้ว หากมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ให้ประโยชน์เกินระยะที่กำหนดจะส่งผลให้คำสั่งทางปกครองนั้นไม่ชอบด้วย หรือ กรณีการกฎหมายกำหนดว่าจะต้องอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองภายใน 15 วัน ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ชัดแจ้งว่า การที่ไม่ยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนดจะส่งผลเป็นเช่นใด หรือ กรณีที่พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2542 มาตรา 22 กำหนดให้ผู้เสียหาย ทายาท ยื่นขอรับสิทธิค่าตอบแทน ค่าทดแทนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้เสียหายได้รู้ถึงการกระทำความผิด กฎหมายก็ไม่ได้กำหนดไว้ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดจะส่งผลอย่างไร แต่เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งประสงค์ให้การบริหารงานภาครัฐมีประสิทธิภาพ การไม่อุทธรณ์หรือยื่นของรับสิทธิภายในกำหนดข้างต้น ย่อมส่งผลให้บุคคลนั้นหมดสิทธิที่ได้รับตามกฎหมาย
จะเห็นได้ว่า ระยะเวลาที่กำหนดไว้ แม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้เขียนไว้โดยชัดแจ้งว่าให้มีผลสภาพบังคับอย่างไร ก็มิได้หมายความว่าระยะเวลาที่กำหนดจะมิใช่เป็นระยะเวลาบังคับทุกกรณี จำต้องพิจารณาพิเคราะห์ถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นๆ ประกอบด้วยจึงจะชี้ชัดได้ว่า ระยะเวลาที่กำหนดไว้เป็นระยะเวลาบังคับหรือไม่
2. ระยะเวลาเร่งรัด
ระยะเวลาเร่งรัด (délai indicatif) หมายถึง ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดกำหนดให้ผู้อยู่ใต้บังคับแห่งกฎหมายนั้น กระทำการหรืองดกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่มิได้กำหนดผลว่าถ้าหากไม่กระทำหรืองดเว้นกระทำการใดภายในระยะเวลาที่กำหนดจะส่งผลต่อความชอบด้วยกฎหมายอย่างไร กล่าวคือ ไม่มีสภาพบังคับของกฎหมายใดๆ ว่า หากไม่กระทำหรืองดกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้แล้ว จะส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นไม่มีอำนาจกระทำการต่อไปหรือบุคคลนั้นสูญสิ้นสิทธิหรือไม่อาจก่อตั้งสิทธิได้
ระยะเวลาเร่งรัดในแง่ผลสภาพบังคับจึงมีความหมายตรงกันข้ามกับระยะเวลาบังคับนั้นเอง จากความหมายของระยะเวลาเร่งรัดดังกล่าว การที่กฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้เพื่อให้เกิดการเร่งรัดในกระบวนการดำเนินการตามกฎหมายระบุให้เสร็จภายในระยะเวลาที่รวดเร็วตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ แม้จะไม่กระทำการภายในกำหนดก็ไม่ส่งให้การกระทำนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลของโดยสภาพการบริหารงานภาครัฐหรือเพื่อโดยสภาพของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนตามที่กฎหมายกำหนดไม่อาจจะกระทำให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้
กำหนดระยะเวลาเร่งรัดที่กฎหมายกำหนด ส่วนมากมักจะกำหนดกรอบระยะเวลาที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินกระบวนพิจารณาทางปกครองให้แล้วเสร็จภายในกำหนด เช่น กฎหมายกำหนดเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ ทำการพิจารณาอุทธรณ์ให้เสร็จภายในระยะเวลา 90 วัน แม้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะพิจารณาสั่งอุทธรณ์เกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด ก็ไม่ส่งให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือ แม่แต่ในกรณีการออก กฎ หรือกฎหมายลำดับรองที่ล่วงเลยระยะเวลาที่กฎหมายแม่บทกำหนดให้กฎภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็ไม่มีผลกระทบต่อความชอบด้วยกฎหมายของกฎนั้น เป็นต้น
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 547/2551 แม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งหกตามมาตรา 25 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และผู้ฟ้องคดีทั้งหกมิได้ฟ้องคดีต่อศาลภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับคำอุทธรณ์ก็ตาม แต่เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีได้วินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จสิ้นเมื่อพ้นระยะเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำ อุทธรณ์ซึ่งการวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลอันเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และเป็นการกระทำทางปกครองที่กระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้งหกอันทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ดังนั้น แม้มาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 จะเป็นกฎหมายเฉพาะแต่ก็มิได้บัญญัติเรื่องการฟ้องคดีในกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้วินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จสิ้นเมื่อพ้นระยะเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ ซึ่งถือเป็นคำสั่งทางปกครองที่เกิดขึ้นใหม่ว่าผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว จะต้องฟ้องคดีต่อศาลอย่างไรภายในกำหนดระยะเวลาเท่าใด เมื่อคำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้งหก ประกอบกับผู้ฟ้องคดีทั้งหกไม่พอใจคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีและได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยมีคำขอให้ศาลปกครองกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเพิ่มขึ้นอันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3)แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 1657/2556 ส่วนที่พระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ.2553 กำหนดให้สรรหาคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน เป็นเพียงระยะเวลาเร่งรัดให้คณะกรรมการสรรหาฯ ดำเนินการ มิได้เป็นระยะเวลาบังคับเด็ดขาดให้คณะกรรมการฯ จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.265/2555 มาตรา 46แห่งพระราชบัญญัติ วิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ. 2545 บัญญัติให้แจ้งผู้ถูกลงโทษภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ออกคำสั่ง ก็เป็นเพียงระยะเวลาเร่งรัดให้ผู้ออกคำสั่งปฏิบัติเท่านั้น หาได้เป็นเหตุทำให้คำสั่งดังกล่าวสิ้นผลตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.218/2552 บทบัญญัติตามมาตรา 49 แห่ง พระราชบัญญัติ ส่งเสริมฯ เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองผู้เสนอรายงาน โดยกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 พิจารณารายงานให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้นแล้วจะต้องถือว่าเป็นการให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าของโครงการหรือกิจการผู้เสนอรายงานได้ทราบเป็นที่แน่นอนว่า เมื่อใดขั้นตอนการพิจารณารายงานดังกล่าวจะแล้วเสร็จ ซึ่งเกิดประโยชน์ต่อการจัดเตรียมการอื่นๆ เพื่อให้กิจการนั้นสำเร็จตามวัตถุประสงค์และระยะเวลาที่ได้วางแผนไว้ อีกทั้งเพื่อป้องกันมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ถ่วงเวลาในการพิจารณาไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ใด อันมีจุดมุ่งหมายให้เกิดความสมดุลระหว่างการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมกับ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการประกอบกิจการของเอกชน ดังนั้น จึงได้มีการบัญญัติกำหนดระยะเวลาในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้
ระยะเวลาเร่งรัดนอกจากจะพบในกฎหมายที่กำหนดไว้แล้ว ยังอาจพบได้จากคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของผู้มีบังคับบัญชากำหนดให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคำสั่ง หรือคำสั่งคณะกรรมการให้ดำเนินงานอย่างใดอย่างหนึ่งภายในกำหนด เช่น คำสั่งให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยทำการสอบสวนวินัยข้าราชการภายในระยะเวลา 180 วัน หากทำการสอบสวนวินัยแล้วเสร็จเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดในกำหนด ก็ไม่ส่งผลต่อความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางวินัยข้าราชการนั้น จะเห็นได้ว่า ระยะเวลาเร่งรัดไม่ได้เป็นเงื่อนไขความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.210/2552 ประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล จังหวัดขอนแก่น เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไข ในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ ลงวันที่ 3 เมษายน 2545 คำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกง ที่ 13/2546 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ลงวันที่ 26 มีนาคม 2546 แก้ไขโดยคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกง ที่ 53/2546 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2546 จึงชอบด้วยกฎหมาย ประเด็นที่สอง ระยะเวลาการดำเนินการของคณะกรรมการสอบสวนตามที่กำหนดในประกาศดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงระยะเวลาเร่งรัดเพื่อมิให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการล่าช้าจนทำให้ผู้ถูกสอบสวนเดือดร้อนเสียหายหรือสิทธิของบุคคลดังกล่าวถูกกระทบกระเทือนเกินควรแก่กรณีเท่านั้น
แต่การกระทำการใดหรือการดำเนินการตามระยะเวลาเร่งรัด แม้ว่าจะล่วงเลยระยะเวลาที่กำหนดไว้ก็ตามก็จะต้องดำเนินการภายในระยะเวลาอันสมควร (délai raisonnable) ด้วย หากเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการใดหรือดำเนินการใดล่วงเลยระยะเวลาอันสมควรก็จะเป็นเงื่อนไขก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้อยู่ใต้บังคับของกฎหมายหรือกระบวนการพิจารณาทางปกครองนั้นฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาหรือดำเนินการให้เสร็จภายในกำหนดระยะเวลาได้ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
ในกรณีที่มีการกระทำทางปกครองที่เกินระยะเวลาอันสมควร และกระทบสิทธิต่อบุคคลอยู่ตกภายใต้บังคับของการกระทำทางปกครองนั้น ก็อาจเป็นเหตุให้เพิกถอนการกระทำทางปกครองได้ ถ้าการกระทำทางปกครองได้ดำเนินการด้วยความล่าช้าอันส่งผลให้เป็นการสร้างชั้นตอนเกินความจำเป็นหรือสร้างภาระเกินสมควร โดยเฉพาะอย่างการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการล่วงเลยระยะเวลาเร่งรัดที่เกินระยะอันสมควรไปมากย่อมแสดงให้เห็นได้เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต เช่น กฎหมายสภาวิชาชีพให้สภาวิชาชีพยื่นยันมติเดิมที่ถูกสภานายกพิเศษยับยั้งไว้ภายใน 30 วัน แต่ไม่ดำเนินการปล่อยเวลาให้ล่วงเลยระยะเวลาออกไปเป็น 2- 3 ปี แล้วจึงหยิบยกเรื่องขึ้นมายื่นยันมติ โดยไม่มีเหตุพิเศษรองรับย่อมถือว่าเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต เป็นต้น จะเห็นได้ว่า แม้ว่าระยะเวลาเร่งรัดจะมิได้เป็นระยะเวลาบังคับที่เป็นเงื่อนไขความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง แต่การไม่ดำเนินการตามระยะเวลาเร่งรัดจนล่วงเลยระยะเวลาพอสมควรก็ส่งให้การกระทำทางปกครองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยเหตุเป็นการสร้างขั้นตอนหรือภาระเกินสมควรแก่ประชาชนหรือไม่สุจริต
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 260/2546 (ประชุมใหญ่) แม้การอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ก.ตร. ซึ่งเป็นขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายของฝ่ายปกครองตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจฯ ประกอบกับ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ แม้พระราชบัญญัติดังกล่าว มิได้มีบทบัญญัติใดที่กำหนดระยะเวลาบังคับให้ ก.ตร. ต้องพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยของผู้ฟ้องคดีให้แล้วเสร็จเมื่อใดก็ตาม แต่การที่ ก.ตร. มิได้พิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในเวลาอันสมควร ผู้ฟ้องคดีย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|