หน้าแรก บทความสาระ
ประชาธิปไตยกำลังทำงานอยู่ (Democracy is Working)
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
15 ธันวาคม 2556 21:04 น.
 
ขณะที่กำลังเขียนบทความชิ้นนี้ผมอยู่ในต่างประเทศและสถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นคือนายกรัฐมนตรีจะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตขอพระราชทานถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ สว.คืนและพรรคประชาธิปัตย์มีมมติว่า ส.ส.ในสังกัดประกาศจะลาออกยกพรรคโดยให้เหตุผลว่าลาออกเพื่อรักษาระบบสภาฯและจี้รัฐบาลยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน ซึ่งมีพรรคพวกหลายคนที่เดินทางด้วยกันและรวมถึงเพื่อนชาวต่างประเทศที่พบเจอต่างก็สอบถามว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยขณะนี้
       
       คำตอบของผมก็คือหากจะตอบสั้นๆก็คือประชาธิปไตยกำลังทำงานอยู่ หรือ Democracy is working ตราบใดที่ที่ไม่มีคนบ้าลุกขึ้นมาปฏิวัติหรือมีใครลุกขึ้นมาใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกันเหมือนในอดีตก็คิดว่าคงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะการเดินขบวนเป็นเรื่องปกติในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
       
       แต่หากจะตอบยาวๆก็คือเป็นการต่อสู้ของคนสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต่อสู้กับ “ระบอบทักษิณ”ซึ่งคือระบอบอะไรก็ไม่รู้แต่พูดสั้นๆว่าคือระบอบทุนนิยมสามานย์ ผูกขาดตัดตอนเอื้อผลประโยชน์ให้แก่หมู่พวกของตนเอง อีกฝ่ายกำลังจะลุกขึ้นมาต่อสู้กับ “ระบอบสุเทพ”ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าคือระบอบอะไร มีแต่ที่ฮิตติดปากว่าต้องมีการจัดตั้งสภาประชาชนขึ้นมารื้อระบอบการปกครองประเทศเสียใหม่เพื่อนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนที่มาที่ไปหรือองค์ประกอบเป็นอย่างไรค่อยว่ากันทีหลัง
       
       แต่ที่ผมอยากให้ข้อสังเกตว่าที่ลุกขี้นมาต่อสู้ว่าไอ้ที่สู้ๆ กันอยู่น่ะ ระบอบเดียวกันหรือไม่ เพราะเท่าที่ดูแล้วไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะก็ล้วนแล้วแต่เป็นระบอบที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ที่ส่วนกลาง ระบอบที่ไม่ว่ายิ่งลักษณ์หรือสุเทพหากชนะแล้วก็กินรวบทั้งประเทศ ระบอบที่คอร์รัปชั่นคำโตจากงบประมาณแผ่นดิน ๒.๔ ล้านล้านบาทและจะมากขึ้นเรื่อยๆ
       
       ระบอบการเมืองแบบตัวแทนที่ทำได้ทุกอย่าง กระทั่ง ‘ลักหลับ’ ประชาชนทั่วประเทศ หรือมีมมติคณะรัฐมนตรีภายในวันเดียวกันกว่า ๒๐๐ มติก่อนหมดวาระ เพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง 
       
       หรือว่าเป็นระบอบการเมืองแบบที่เห็นประชาชนเป็นเพียงเบี้ยในกระดานการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ เสร็จงานแล้วถีบหัวทิ้ง ตอนแรกบอกว่าชุมนุมเพื่ออย่างหนึ่งแล้วพอจุดติดแล้วก็ยกระดับไปเรื่อยๆจนมวลชนโดดลงรถแทบไม่ทันหรือตอนแรกบอกจะนิรโทษเฉพาะคนตัวเล็กๆแต่มาตอนหลังก็ฉวยโอกาสนิรโทษยกเข่งดื้อๆโดยเชื่อกุนซือห่วยๆที่ว่า "ไม่ทำตอนนี้แล้วจะทำตอนไหน"จนพังกันเป็นแถบๆในตอนนี้
       
       อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นระบอบทักษิณหรือสุเทพก็ตามหากยังครองอำนาจในโครงสร้างแบบเดิมที่รวมศูนย์อำนาจมายาวนานนี้ คอร์รัปชั่นไม่มีทางจะลดลง มีแต่จะรุนแรงขึ้น เช่นเดียวกับความเกลียดชัง ความแตกแยกของคนในบ้านเมืองที่นับวันยิ่งสูงขึ้นจนน่ากลัว กระทั่งนาทีนี้กำลังหมิ่นเหม่ต่อการเกิดสงครามกลางเมือง ระหว่างประชาชนด้วยกันเองที่ถือหางผู้นำคนละฝ่าย
       
       ลองคิดกันสักนิด กลับมาตรึกตรองกันสักหน่อย ก่อนแต่ละคนจะเดินหน้าตามผู้นำเข้าสู่การนองเลือดเพื่อพิทักษ์ระบอบเดียวกันแต่เรียกคนละชื่อ นั่นคือระบอบรวมศูนย์อำนาจที่โกงกินอย่างสะดวก ฉ้อฉลง่าย ตรวจสอบยาก เทอะทะและซับซ้อน
       
       ทางที่ดี เรามาช่วยกันเรียกร้องการปฏิรูปโครงสร้าง เรียกร้องการการกระจายอำนาจที่แท้จริง ลดอำนาจส่วนกลาง เพิ่มอำนาจท้องถิ่น ให้แต่ละชุมชนแต่ละจังหวัดจัดการตนเอง ไม่ดีกว่าหรือ
       
       ถ้ากระจายอำนาจจากส่วนกลางได้สำเร็จ ก็เท่ากับเราได้ช่วยกันทำลายระบอบทักษิณ และระบอบสุเทพที่กำลังจะถูกตั้งขึ้นอย่างแท้จริง กลัวแต่ว่าไอ้ระบอบดังกล่าวที่ต่างฝ่ายต่างเรียกคนละชื่อ จะผลักดันและปั่นหัวให้คนที่ร่วมขบวนทั้งสองฝ่าย ต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บมากกว่าเดิม จึงจะยอมกลับมาเจรจาหาทางประนีประนอมกันอีกครั้ง
       
       หากยังไม่ปฏิรูปจนสุดซอย ไม่ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจด้วยการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ไม่ปฏิรูประบบให้เจริญก้าวหน้าและเป็นธรรม จำนวนศพและผู้บาดเจ็บจาก การเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจเป็นพิษก็จะเพิ่มมากขึ้นไม่รู้จบ
       
       สถานการณ์ในปัจจุบันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของทักษิณกับสุเทพเท่านั้น ปัญหาคือวิกฤตของการบริหารบ้านเมืองที่ไม่สามารถตอบสนองปัญหาที่ซับซ้อนได้ ประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน สุเทพกับทักษิณเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้นเอง ถ้าจบโดยไม่มีการแก้ไขปฏิรูปประเทศไทย ใครมาเป็นนายกฯ ก็จะเกิดการต่อต้านอีกเหมือนเดิม
       
       ประเด็นที่สำคัญในวันนี้ก็คือเราจะต้องร่วมกันปฏิรูปประเทศไทยที่มีปัญหาอยู่ขณะนี้คือผู้ที่อยู่ในเกมแห่งอำนาจไม่ได้ตระหนักถึงปัญหานี้เลย เราต้องยืนยันยุทธศาสตร์ของเราภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นระบอบทักษิณหรือสุเทพหากจะครองอำนาจก็ต้องปฏิรูปประเทศไทย ไม่ใช่ทำเพื่อพวกพ้องตนเอง
       
       สถานการณ์ในปัจจุบันนี้ทำให้คนหลายคนกลัดกลุ้ม เครียด วิตกกังวลว่าจะจบลงอย่างไร ต่างฝ่ายต่างก็โทษกันและกัน แต่ผมกลับมองตรงกันข้าม ผมมองว่าในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ บ้านเมืองใดที่สงบเรียบร้อยเชื่อฟังคำสั่งของผู้ปกครองอย่างว่านอนสอนง่ายบ้านเมืองนั้นไม่ใช่บ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแน่นอน แต่เป็นบ้านเมืองที่อยู่ในระบอบเผด็จการที่มีปากกระบอกปืนจี้หลังประชาชนอยู่ แต่บ้านเมืองเราในปัจจุบันนับได้ว่าเป็นโอกาสอันดีที่เราได้ให้บทเรียนไม่ว่าใครก็ตามที่ถือครองอำนาจรัฐอยู่จะทำอะไรตามอำเภอใจเหมือนที่ผ่านๆมาไม่ได้แล้ว
       `
       สำหรับผมแล้วไม่ว่าจะเป็นระบอบทักษิณหรือสุเทพ หากมาตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ สามารถตรวจสอบได้ ถ่วงดุลได้ ประชาชนมีสิทธิมีเสียงในการปกครองตนเอง ลดการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง หนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่ากัน ประชาชนเสมอภาคภายใต้กฎหมายเดียวกัน ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ฯลฯ ไม่ใช่ปากว่าตาขยิบเหมือนในปัจจุบันหรือในอดีตที่ผ่านมาก็โอเคทั้งนั้นแหล่ะครับ
        
       ---------------
        


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544