หน้าแรก บทความสาระ
วิเคราะห์คำพิพากษาฎีกาที่ 2281/2555 :สถานะของพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบโดยเอกชน
อาจารย์ไกรพล อรัญรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, น.บ.(เกียรตินิยมอันดับ 1), น.บ.ท. (ลำดับที่ 1)
1 ธันวาคม 2556 21:05 น.
 
 ในทางกฎหมายพยานหลักฐานคดีอาญา บทบัญญัติที่ทำหน้าที่เป็นบทตัดพยานหลักฐาน (Exclusionary Rule) ที่สำคัญบทหนึ่งก็คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีความปรากฏแก่ศาลว่าพยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน…..” ซึ่งหากเราสังเกตก็จะพบว่าบทตัดพยานมาตรานี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ 2 ประการ คือ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน (Due Process) และการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม (Crime Control) โดยกฎหมายถือเอาประโยชน์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลัก และถือเอาประโยชน์ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นข้อยกเว้นให้รับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบได้ (Illegal Obtained Evidence) ดังนั้น หากคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลมีการนำเสนอพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ เช่น ตำรวจเข้าไปค้นบ้านของจำเลยโดยที่ไม่มีหมายค้น จากนั้นได้ของกลาง คือ เครื่องมือที่ใช้เล่นการพนันเช่นนี้ โดยหลักแล้วศาลจะรับฟังเครื่องมือที่ใช้เล่นการพนันไม่ได้ เพราะถือเป็นพยานหลักฐานที่ตำรวจได้มาโดยละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของจำเลย หากกฎหมายอนุญาตให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ตำรวจไปเอามาจากบ้านจำเลยโดยที่ไม่มีหมายค้นได้ ย่อมเท่ากับเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้วิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อันตรายต่อสังคมโดยรวมอย่างยิ่ง เว้นเสียแต่ศาลจะมองว่าการรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบชิ้นนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าเท่านั้น
                          อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ยังเป็นข้อถกเถียงทางวิชาการเกี่ยวกับบทตัดพยานในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 ก็คือ ถ้าหากการดำเนินคดีอาญานั้นเป็นคดีอาญาที่ผู้เสียหายดำเนินคดีเอง และในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย ผู้เสียหาย(เอกชน)ได้กระทำการบางอย่างอันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของจำเลย เป็นเหตุให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานที่พิสูจน์ความผิดของจำเลย ศาลจะต้องใช้บทตัดพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 ในการปรับบทแก่คดีหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ABC จำกัดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ได้สั่งให้ลูกจ้างของบริษัทบุกเข้าไปในบ้านของนายสมชายซึ่งเป็นพ่อค้าขายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ละเมิดลิขสิทธิ์ และยึดเอาแผ่นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์มาเป็นพยานหลักฐานในการฟ้องร้องคดีอาญาต่อนายสมชาย  เช่นนี้ ศาลจะรับฟังพยานวัตถุคือแผ่นโปรแกรมคอมพิวเตอร์เถื่อนในฐานะพยานวัตถุได้หรือไม่? เพราะข้อเท็จจริงที่ยกมานี้ก็แทบจะไม่มีความแตกต่างกับกรณีที่ตำรวจบุกเข้ายึดเครื่องมือเล่นการพนันในบ้านโดยไม่มีหมายค้นเลย ต่างกันเพียงแค่ “การได้มาโดยมิชอบกรณีหลังนี้เป็นการกระทำโดยตัวเอกชนผู้เสียหายเอง” เท่านั้น
                          ต่อประเด็นปัญหานี้ หากสังเกตจากแนวความคิดของนักวิชาการและแนวบรรทัดฐานของศาลฎีกาไทยที่ผ่านมาจะพบว่า บทตัดพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 น่าจะใช้บังคับเฉพาะการดำเนินคดีอาญาภาครัฐเท่านั้น[1] อีกทั้งถ้าหากสังเกตจากเหตุผลที่ศาลในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ให้เอาไว้ในทำนองที่ว่า “การห้ามรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบก็เพื่อเป็นการยับยั้งไม่ให้เจ้าพนักงานของรัฐกระทำการแสวงหาพยานหลักฐานด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายอีกครั้งในอนาคต…..”[2] ย่อมสามารถอนุมานได้ว่าบทตัดพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบมีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแสวงหาพยานหลักฐานด้วยวิธีการอันมิชอบด้วยกฎหมายเป็นหลัก นอกจากนี้ ในประเทศเยอรมนียังมีแนวคิดเกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบโดยเอกชนว่า กฎเกณฑ์ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเกี่ยวกับวิธีการได้มาซึ่งพยานหลักฐานนั้น เป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับเฉพาะแต่บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น หากเป็นกรณีที่เอกชนเป็นผู้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานด้วยวิธีการที่ไม่ชอบย่อมไม่ต้องด้วยบทตัดพยานหลักฐาน เว้นแต่ว่าเอกชนจะได้พยานหลักฐานนั้นมาโดยละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเท่านั้น เช่น ได้พยานหลักฐานมาโดยการทรมานจำเลย เป็นต้น[3] ด้วยเหตุนี้ แนวคิดหลักกระแสหนึ่งจึงเชื่อว่าบทตัดพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 ใช้บังคับเฉพาะกับกรณีที่เจ้าพนักงานของรัฐแสวงหาและได้มาซึ่งพยานหลักฐานด้วยวิธีการที่มิชอบเท่านั้น หากเป็นกรณีที่เอกชนผู้เสียหายดำเนินคดีอาญาเอง และได้มาซึ่งพยานหลักฐานด้วยวิธีการที่มิชอบด้วยกฎหมายย่อมไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของบทตัดพยานมาตรา 226/1
                          อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการยุติข้อถกเถียงในทางปฏิบัติเกี่ยวกับสถานะของพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบโดยเอกชน ศาลฎีกาของประเทศไทยโดยคำพิพากษาฎีกาที่ 2281/2555 จึงได้วางบรรทัดฐานเกี่ยวกับสถานะของพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบโดยเอกชนผู้เสียหายเอาไว้ ดังรายละเอียดแห่งคดีที่ปรากฏต่อไปนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่ 2281/2555
                          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2542 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเบิก อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี กับพวกอีก 3 คนที่หลบหนีไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันบุกรุกเข้าไปภายในบ้านอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนายสมชาย เพียรแย้ม ผู้เสียหาย โดยไม่มีเหตุอันสมควร และโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วร่วมกันตรวจค้นจับกุมผู้เสียหายโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข จากนั้นจำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้หรือยอมจะให้เงิน 100,000 บาท แก่จำเลยที่ 2  โดยจำเลยกับพวกร่วมกันใส่กุญแจมือผู้เสียหายไขว้หลัง ทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกายจนยินยอมมอบเงินส่วนที่ขาด 30,000 บาท แก่จำเลยที่ 2 กับพวกผ่านจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีภูธรอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ในภายหลัง จำเลยที่ 1 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่จับกุมจำเลยที่ 2 กับพวก เมื่อพบเหตุดังกล่าว อันเป็นการมิชอบต่อหน้าที่เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 2 กับพวกในการกระทำความผิดดังกล่าวโดยพูดไกล่เกลี่ยให้จำเลยที่ 2 กับพวกรับเงิน 70,000 บาท จากผู้เสียหาย และต่อมาผู้เสียหายกับพวกนำเงิน 30,000 บาท มาชำระคืนแก่จำเลยที่ 1 อันเป็นการสนับสนุนจำเลยที่ 2 กับพวกในการกระทำความผิดต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 337, 337 ประกอบมาตรา 86, 362, 364, 365, 91 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
                          จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
                          ระหว่างพิจารณา นายสมชาย แย้มเพียร ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
                          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก, 365(1)(2) ประกอบมาตรา 362, 364 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 337 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้เงิน 100,000 บาทแก่โจทก์ร่วม ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง
                          จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
                          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และยกคำขอที่ให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้เงิน 100,000 บาท แก่โจทก์ร่วมด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
                          โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
                          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายสี่คนอ้างตนเองว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นจับกุมนายสมชาย แย้มเพียร โจทก์ร่วม โดยกล่าวหาว่าขายเมทแอมเฟตามีน แล้วเรียกเงิน 100,000 บาท เมื่อโจทก์ร่วมยินยอมจ่ายให้จึงปล่อยตัวโจทก์ร่วมอันเป็นการกรรโชกทรัพย์โจทก์ร่วม คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 ร่วมเป็นคนร้ายกรรโชกทรัพย์โจทก์ร่วมหรือไม่ ได้ความจากพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากนายสมชายซึ่งเป็นโจทก์ร่วมและนางกุล ชูเชิด ภริยาโจทก์ร่วมว่า หลังเกิดเหตุถูกคนร้ายกรรโชกทรัพย์ประมาณ 4 ถึง 5 วัน เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางพลีได้นำหมายค้นเข้าค้นบ้านโจทก์ร่วมแต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย และโจทก์ร่วมได้โวยวายว่าเพิ่งถูกตรวจค้นและเสียเงินไป 100,000 บาท เจ้าพนักงานตำรวจที่มาตรวจสอบถามว่าเสียเงินให้ใคร โจทก์ร่วมจึงแจ้งเรื่องที่ถูกกรรโชกทรัพย์ให้ทราบ เจ้าพนักงานตำรวจจึงนำโจทก์ร่วมและนางกุลไปสอบปากคำและให้ดูภาพถ่ายเจ้าพนักงานตำรวจของสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางพลี โจทก์ร่วมและนางกุลจำได้และชี้ภาพถ่ายจำเลยที่ 2 ตามบันทึกการชี้รูปและภาพถ่ายหมาย จ.2 จ.9 และ จ.10 ต่อมาจำเลยที่ 2 เข้ามอบตัวต่อสู้คดี พนักงานสอบสวนจัดให้โจทก์ร่วมและนางกุลชี้ตัวจำเลยที่ 2 ได้ถูกต้องตามบันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหาและภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.4 จ.12 และ จ.13 แต่กลับได้ความจากโจทก์ร่วมตอบโจทก์ว่า รู้จักกับจำเลยที่ 2 มาก่อนเนื่องจากเป็นญาติทางมารดา ก่อนเกิดเหตุเคยมาที่บ้านและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกัน หากเป็นจริงดังที่โจทก์ร่วมตอบโจทก์ เหตุไฉนเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรบางพลีสอบถามว่าใครเป็นคนกรรโชกทรัพย์ ในวันเกิดเหตุโจทก์ร่วมทำไมไม่ระบุชื่อจำเลยที่ 2 เลย หาจำต้องไปดูภาพถ่ายของเจ้าพนักงานตำรวจของสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางพลีไม่ ส่วนพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากนางชิด บัวทอง มารดาโจทก์ร่วมตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ว่า วันเกิดเหตุจำหน้าและลักษณะของคนร้ายทั้งสี่คนไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นญาติกันไม่ทราบชื่อและชื่อสกุลจริงเรียกจ่าน้อย ดังนั้น ในวันเกิดเหตุถ้าจำเลยที่ 2 อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย เชื่อว่านางชิดน่าจะจำหน้าได้ ที่นางชิดตอบทนายโจทก์ว่า ก่อนเกิดเหตุตาเป็นต้อกระจกไม่สามารถจำชายคนร้ายทั้งสี่คนได้ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวันประกอบกับนางชิดได้พูดเสนอให้เงินคนร้าย 100,000 บาท หากพยานมองไม่เห็นหน้าจะเจรจาต่อรองกับคนร้ายได้อย่างไร ไม่ปรากฏว่าคนร้ายทั้งสี่ได้อำพรางใบหน้าแต่อย่างใด เชื่อว่าถ้าพยานเคยเห็นหน้าหรือรู้จักกันมาก่อนก็ย่อมจำได้ว่าเป็นใคร นอกจากนี้โจทก์ร่วมตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ว่าหลังจากจำเลยที่ 2 ถูกดำเนินคดีแล้ว จำเลยที่ 2 เคยมาพูดคุยกับโจทก์ร่วมเกี่ยวกับคดีจะมีการบันทึกเสียงไว้หรือไม่ โจทก์ร่วมไม่ทราบ ทนายจำเลยที่ 2 ได้นำเทปบันทึกเสียงพร้อมกับบันทึกการถอดเทปมาประกอบการถามค้านโจทก์ร่วมและอ้างเป็นพยานวัตถุและพยานเอกสารตาม ว.ล.1 และ ว.ล.3 ซึ่งแสดงว่าการบันทึกเทปดังกล่าวเป็นการแอบบันทึกขณะที่มีการสนทนากันระหว่างโจทก์ร่วมกับพยานและจำเลยที่ 2 โดยที่โจทก์ร่วมและพยานไม่ทราบมาก่อน จึงเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังเป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกรณีที่เจ้าพนักงานของรัฐใช้วิธีการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ไม่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้นำไปใช้กับการแสวงหาพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดา แต่อย่างไรก็ตาม ระหว่างพิจารณาคดีได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 โดยมาตรา 11 บัญญัติให้เพิ่มเติมมาตรา 226/1 ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบได้ ถ้าพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 จึงต้องนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับในการรับฟังพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ดังนั้น เทปบันทึกเสียงรวมทั้งบันทึกการถอดเทปดังกล่าว แม้จะได้มาโดยมิชอบแต่เมื่อศาลนำมาฟังจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาจึงนำพยานหลักฐานดังกล่าวมารับฟังได้ เมื่อพิจารณาเนื้อหาจากบันทึกการถอดเทปดังกล่าว ได้ใจความว่าโจทก์ร่วมไม่สมัครใจและไม่มีความเป็นอิสระในการชี้ตัวจำเลยที่ 2 จึงมีข้อสงสัยตามสมควรว่าโจทก์ร่วมและนางกุลพยานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ชี้ภาพถ่ายจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ผิดตัวหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีเหตุอันควรแก่การสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรค 2 ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
                          พิพากษายืน
                          จากคำพิพากษาฎีกาที่ 2281/2555 สามารถทำการแยกวิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้
                         
       1. คดีนี้มีข้อเท็จจริงสำคัญที่เกี่ยวกับบทตัดพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 ก็คือ ทนายจำเลยที่ 2 ได้แอบนำเอาเครื่องบันทึกเสียงมาทำการบันทึกการสนทนาระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ร่วมและพยาน โดยที่โจทก์ร่วมและพยานไม่ทราบว่าขณะที่ตนกำลังสนทนาอยู่นั้น การสนทนาได้ถูกบันทึกลงไปในเครื่องบันทึกเสียงเรียบร้อยแล้ว และจากถ้อยคำที่ปรากฏในเทปบันทึกการสนทนานั้นก็ทำให้น่าสงสัยว่าจำเลยที่ 2 อาจไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ซึ่งหากเป็นจริงก็ย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม การได้มาซึ่งพยานหลักฐานชิ้นนี้ (บทสนทนา) มีปัญหาว่ามีความชอบธรรมมากน้อยเพียงใด เพราะการที่ทนายจำเลยที่ 2 แอบบันทึกเสียงของโจทก์ร่วมและพยานนั้นไม่มีกฎหมายให้อำนาจที่จะทำได้และเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ร่วมกับพยานอย่างชัดเจน ซึ่งหากศาลฟังว่าการได้มาซึ่งพยานชิ้นนี้มีความชอบธรรมแล้วก็ย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 ที่จะใช้อ้างเพื่อให้ตนพ้นผิด แต่ถ้าหากศาลเห็นว่าพยานหลักฐานชิ้นนี้ไม่มีความชอบธรรม โดยหลักแล้วศาลก็ย่อมต้องตัดพยานหลักฐาน (Exclude) ดังกล่าวออกจากการพิจารณาของศาลไปตามหลัก Exclusionary Rule
        
                          2. ขณะที่มีการฟ้องร้องคดีนี้ ยังไม่มีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 ดังนั้น โจทก์จึงทำการกล่าวอ้างมาว่า ถ้อยคำที่จำเลยแอบบันทึกการสนทนาเอาไว้และนำเสนอต่อศาลเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 โดยโจทก์น่าจะหมายถึงว่า พยานหลักฐานที่เกิดจากการแอบบันทึกการสนทนาเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบประการอื่น ศาลจึงไม่สามารถรับฟังพยานหลักฐานชิ้นนั้นได้นั่นเอง (บทสนทนาที่แอบบันทึกมีผลทำให้พยานหลักฐานของโจทก์ที่มุ่งพิสูจน์ความผิดของจำเลยมีน้ำหนักน้อยลง โจทก์จึงพยายามจะกำจัดพยานหลักฐานชิ้นนี้ออกไปจากการพิจารณาของศาล) อย่างไรก็ตาม ระหว่างพิจารณาคดีได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 โดยมาตรา 11 บัญญัติให้เพิ่มเติมมาตรา 226/1 ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งใจความของมาตรา 226/1 มีดังนี้
                          “มาตรา 226/1 ในกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสีย อันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา หรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน
       ในการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ด้วย
       (1) คุณค่าในเชิงพิสูจน์ ความสำคัญ และความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น 
       (2) พฤติการณ์และความร้ายแรงของความผิดในคดี
                           (3) ลักษณะและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำโดยมิชอบ
                           (4) ผู้ที่กระทำการโดยมิชอบอันเป็นเหตุให้ได้พยานหลักฐานมานั้นได้รับการลงโทษหรือไม่เพียงใด
”
       หากสังเกตถ้อยคำที่บัญญัติเอาไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 จะพบว่า บทสนทนาที่ทนายจำเลยลักลอบบันทึกเอาไว้นั้นเข้าลักษณะของการเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาโดยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่กำหนดเอาไว้ในมาตรา 226/1 อย่างชัดเจน ปัญหาที่เกิดต่อมาก็คือว่า ในคดีอาญาที่พิพาทกันอยู่นี้ ศาลจะสามารถบังคับใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 ที่เพิ่งออกมาระหว่างการพิจารณาย้อนหลังมาบังคับใช้กับคดีนี้ได้หรือไม่ ซึ่งศาลก็ได้ให้คำตอบเอาไว้อย่างชัดแจ้งเกี่ยวกับประเด็นปัญหานี้ว่า “..…บทบัญญัติดังกล่าวเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2…..” จึงสามารถนำมาใช้บังคับย้อนหลังกับคดีนี้ได้ อนึ่ง ที่กล่าวว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ก็เพราะว่าบทบัญญัติตามมาตรา 226 เป็นบทตัดพยานหลักฐานเด็ดขาด ซึ่งถ้าหากศาลมองว่าบทสนทนาที่แอบบันทึกนั้นเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ ศาลก็จะตัดพยานดังกล่าวออกไปและมีผลให้จำเลยไม่สามารถทำลายน้ำหนักคำพยานฝ่ายโจทก์ได้เลย ในขณะเดียวกัน บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 แม้จะกำหนดว่าให้ตัดพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาโดยไม่ชอบออกไปจากคดีก็ตาม แต่บทบัญญัติในมาตรา 226/1 ยังได้วางข้อยกเว้นให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่เกิดโดยชอบแต่ได้มาโดยมิชอบได้ ถ้าหากเข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด จึงมีลักษณะที่เป็นคุณแก่จำเลยในคดีนี้มากกว่า เพราะแม้บทสนทนาที่แอบบันทึกจะเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ แต่หากศาลพิจารณาเห็นว่าการรับฟังบทสนทนาดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบของการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ศาลก็ยังสามารถรับฟังบทสนทนาที่มีการแอบบันทึกดังกล่าวได้ ทำให้น้ำหนักคำพยานฝ่ายโจทก์ถูกตัดทอนความน่าเชื่อถือลงไปมากเลยทีเดียว ด้วยเหตุที่บทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 มีลักษณะที่เป็นคุณแก่จำเลยตามที่กล่าวมานี้ ศาลจึงสามารถนำมาตรา 226/1 มาใช้บังคับย้อนหลังแก่คดีได้โดยไม่มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมแต่ประการใด
        
                          3. สำหรับประเด็นคำถามที่สำคัญของบทวิเคราะห์คำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ก็คือ บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 เป็นบทตัดพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบจากการแสวงหาพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นหรือไม่? ถ้าหากเป็นคดีอาญาที่เอกชนผู้เสียหายดำเนินคดีเองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28(2) และเอกชนผู้เสียหายนั้นไปได้พยานหลักฐานมาโดยวิธีการที่ไม่ชอบขึ้นมา จะใช้บทตัดพยานหลักฐานมาตรา 226/1 บังคับแก่กรณีหรือไม่?
                          ในประเด็นนี้ คำพิพากษาฎีกาที่ 2281/2555 ได้อธิบายเอาไว้ว่า “แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกรณีที่เจ้าพนักงานของรัฐใช้วิธีการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ไม่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้นำไปใช้กับการแสวงหาพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดา…..” ในส่วนนี้ศาลฎีกาคงต้องการอธิบายว่าบทตัดพยานหลักฐานตามมาตรา 226 ใช้กับกรณีที่เอกชนผู้เสียหายเป็นผู้ทำให้พยานหลักฐานนั้นเกิดขึ้นโดยไม่ชอบด้วย ไม่ได้ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่เจ้าพนักงานของรัฐเป็นผู้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานโดยไม่ชอบเพียงประการเดียวแต่อย่างใด  นอกจากนี้ การที่ศาลได้กล่าวต่อมาว่า “…..แต่อย่างไรก็ตาม ระหว่างพิจารณาคดีได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 โดยมาตรา 11 บัญญัติให้เพิ่มเติมมาตรา 226/1 ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบได้ ถ้าพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา…..จึงต้องนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับในการรับฟังพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2…..”ดังนั้น แม้ในส่วนแรกศาลจะพูดถึงเพียงบทบัญญัติในมาตรา 226 เท่านั้น ว่าสามารถใช้บังคับกับกรณีที่เอกชนทำให้เกิดพยานหลักฐานที่มิชอบได้ด้วย แต่ในส่วนต่อมา ศาลก็ได้วางบรรทัดฐานให้เข้าใจได้ว่า ถ้าหากพยานหลักฐานนั้นเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาโดยการกระทำที่ไม่ชอบของเอกชนผู้เสียหาย ก็สามารถบังคับใช้บทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 ได้ดุจเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ในคดีนี้ที่ทนายของจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ใช่เจ้าพนักงานของรัฐเป็นผู้ลอบบันทึกการสนทนาอันถือเป็นการได้มาซึ่งพยานหลักฐานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ศาลก็นำเอาบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 มาปรับใช้เสมือนกับเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานของรัฐเป็นผู้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานโดยวิธีที่ไม่ชอบนั้นเช่นกัน
                          กล่าวโดยสรุป คำพิพากษาฎีกาที่ 2281/2555 ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 ที่ว่า “พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ” หมายความถึงกรณีที่เอกชนผู้เสียหายเป็นผู้ที่ได้มาจากการกระทำโดยมิชอบด้วย ไม่ได้ใช้บังคับเฉพาะกับกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐได้พยานหลักฐานมาโดยมิชอบเท่านั้นแต่อย่างใด
        
                          4. อนึ่ง ศาลฎีกาเคยยอมรับว่า การที่เอกชนผู้เสียหายเป็นผู้ทำให้พยานหลักฐานเกิดขึ้นโดยมิชอบ ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่พยานหลักฐานนั้นเกิดขึ้นโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 เช่นเดียวกัน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานของรัฐทำให้พยานหลักฐานเกิดโดยมิชอบเท่านั้น โดยคำพิพากษาฎีกาคดีดังกล่าว คือคำพิพากษาฎีกาที่ 4301/2543 ซึ่งมีรายละเอียดโดยย่อดังนี้
                          “เมื่อมีการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญาซึ่งมีวิธีพิจารณาคดีและการรับฟังพยานหลักฐานที่แตกต่างกัน เมื่อโจทก์เลือกดำเนินคดีอาญาจึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนี้ ในการที่ศาลจะลงโทษจำเลยตามคำฟ้องนั้น นอกจากโจทก์จะต้องนำสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามคำฟ้องแล้ว ยังต้องได้ความว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้ด้วย
                          บริษัทไมโครซอฟท์โจทก์จ้างนักสืบเอกชนไปล่อซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์จำพวกโปรแกรมไมโครซอฟท์วินโดว์ 95 จากผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่บริษัทจำเลยที่ 1 ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรหรือฮาร์ดดิสก์อยู่ก่อนที่สายลับของโจทก์ไปล่อซื้อ แต่สายลับของโจทก์ไปติดต่อซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์จากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทจำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 3 ต้องแถมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ให้แก่สายลับด้วย และได้กำหนดนัดส่งมอบสินค้ากันภายใน 7 วัน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ทำการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์เสร็จแล้วมีการทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์หรือฮาร์ดดิสก์แล้วส่งมอบให้แก่สายลับตามเวลาที่นัดไว้ สายลับจึงส่งสัญญาณให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 3 และดำเนินคดีแก่บริษัทจำเลยที่ 1 ด้วย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์หรือฮาร์ดดิสก์ของจำเลยที่ 1 นั้น เกิดขึ้นเนื่องจากการล่อซื้อของสายลับ มิใช่ทำซ้ำโดยผู้กระทำมีเจตนากระทำผิดอยู่แล้วก่อนการล่อซื้อ เท่ากับโจทก์เป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำผิด โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้…..”
                          คำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ได้วินิจฉัยประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 และแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กรณีที่พยานหลักฐานเกิดขึ้นโดยมิชอบและต้องถูกตัดพยานออกไปโดยเด็ดขาดนั้น เอกชนผู้เสียหายอาจเป็นผู้ทำให้พยานหลักฐานนั้นเกิดขึ้นโดยมิชอบก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าพนักงานของรัฐทำเท่านั้น โดยคำพิพากษาฎีกาที่ 4301/2543 นี้ ไม่ได้กล่าวถึงว่าถ้าเป็นกรณีที่พยานหลักฐานเกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาจากการกระทำของเอกชนผู้เสียหายที่มิชอบ ตามมาตรา 226/1 นั้น ผลจะเป็นอย่างไร จนกระทั่งมีคำพิพากษาฎีกาที่ 2281/2555 ซึ่งได้กล่าวมาแล้ว
        
                          5. สรุปแนวบรรทัดฐานของศาลฎีกาเกี่ยวกับบทตัดพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบหรือได้มาโดยมิชอบโดยเอกชน ได้ดังนี้
                                    5.1 กรณีพยานหลักฐานนั้น “เกิดขึ้น” โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีการจูงใจ ให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่นใด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 แม้สาเหตุที่ทำให้พยานหลักฐานนั้นเกิดขึ้นโดยมิชอบจะเกิดจากเอกชนผู้เสียหายเป็นต้นเหตุ ก็ยังคงต้องบังคับใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 อยู่นั่นเอง ทั้งนี้ ตามที่คำพิพากษาฎีกาที่ 4301/2543 วางบรรทัดฐานเอาไว้ และคำพิพากษาฎีกาที่ 2281/2555 ได้ยืนยันบรรทัดฐานดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งด้วย
                                    5.2 กรณีพยานหลักฐานนั้นเกิดขึ้นโดยชอบแต่ “ได้มา” โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 แม้การได้มาโดยมิชอบนั้นจะเป็นการกระทำของเอกชนผู้เสียหายก็ตาม ก็ยังคงต้องบังคับใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 อยู่นั่นเอง ซึ่งหลักนี้ถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ศาลฎีกาได้วางเอาไว้ในคำพิพากษาฎีกาที่ 2281/2555
                          อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 ยังมีกรณีที่จะต้องพิจารณาอีกประการหนึ่งก็คือในกรณีที่พยานหลักฐานนั้นเกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ยกตัวอย่างเช่น เจ้าพนักงานตำรวจใช้วิธีการทรมานร่างกายผู้ต้องหา จนผู้ต้องหายินยอมบอกที่ซ่อนของอาวุธปืนของกลาง เช่นนี้ หากพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 แล้วจะพบว่าอาวุธปืนเป็นพยานหลักฐานที่มีอยู่แล้วโดยชอบ แต่การที่เจ้าพนักงานตำรวจไปหาอาวุธปืนจนเจอนั้นเกิดขึ้นจากการที่ผู้ต้องหายอมบอกเพราะถูกทรมานร่างกาย ซึ่งถือเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ(ทรมาน) ในการได้มาซึ่งพยานหลักฐาน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 จึงตัดพยานหลักฐานดังกล่าวออกจากการพิจารณาของศาลเสียตามหลัก “ผลไม้ของต้นไม้พิษ” (Fruit of the Poisonous Tree) ในกรณีเช่นนี้มีข้อพิจารณาว่าถ้าหากการทรมานร่างกายดังกล่าวเป็นการกระทำของเอกชนผู้เสียหาย ไม่ใช่เจ้าพนักงานตำรวจ จะถือว่าอยู่ภายใต้หลักผลไม้ของต้นไม้พิษ (Fruit of the Poisonous Tree) หรือไม่? ยังคงเป็นปัญหาที่จะต้องรอคำพิพากษาฎีกามาวางแนวบรรทัดฐานต่อไป แต่ผู้เขียนเชื่อว่า เพื่อให้การวางบรรทัดฐานของคำพิพากษาฎีกามีความสอดคล้องกันไป ก็ควรกำหนดให้ กรณีที่พยานหลักฐานนั้นเกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบโดยเอกชน ตกอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 เช่นเดียวกัน
        
                          กล่าวโดยสรุป คำพิพากษาฎีกาที่ 2281/2555 ได้วางบรรทัดฐานใหม่เอาไว้อย่างชัดเจนว่า พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาโดยการกระทำที่ไม่ชอบโดยเอกชน ย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 อันเป็นบทตัดพยานหลักฐาน (Exclusionary Rule) ที่สำคัญบทหนึ่งเลยทีเดียว
        
        
                          
        
       

       
       

       

       [1] คณิต ณ นคร,  กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, พิมพ์ครั้งที่ 7(กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2549), หน้า 220.
       

       

       [2] เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, “หลักการไม่ยอมรับฟังพยานวัตถุ พยานเอกสาร ซึ่งได้มาโดยการจับ การค้น การยึด ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในสหรัฐอเมริกา,” นิติศาสตร์ ฉบับที่ 3 ปีที่ 9 (2521), หน้า 120-136
       

       

       [3] สุรสิทธิ์ แสงวิโรจนพัฒน์, “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเยอรมันและพยานหลักฐาน,” ดุลพาห เล่มที่ 2 ปีที่ 55  หน้า 173
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544