หน้าแรก บทความสาระ
มองปัญหาชายแดนเขาพระวิหารอย่างสร้างสรรค์ภายใต้กรอบอาเซียน
อาจารย์ พัชร์ นิยมศิลป คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
17 พฤศจิกายน 2556 17:34 น.
 
1.     บทนำ
       นับตั้งแต่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิพากษาให้ปราสาทเขาพระวิหารตกเป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศกัมพูชา การสูญเสียเขาพระวิหารก็กลายเป็นความเจ็บแค้นทางประวัติศาสตร์ที่เกาะกินจิตใจชาวไทยอยู่ไม่น้อย ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 เมื่อองค์การยูเนสโก (United Nation Education, Scientific and Cultural Organisation: UNESCO)  ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารตามคำร้องขอจากรัฐบาลกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียว ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชากลับกลายเป็นบาดหมางถึงขั้นระดมพลทำสงครามย่อยๆ ต่อกัน แม้ว่าจะมีการเจรจากันระหว่างรัฐบาลสองประเทศในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึง เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 กระนั้นภายหลังการเจรจาหยุดยิงด้วยวาจาไม่นานก็จะมีการปะทะเกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า[1]  ข้อพิพาทดังกล่าวนอกจากจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ปัญหานี้ยังได้ปั่นทอนความเชื่อมั่นว่าอาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations: ASEAN) จะสามารถสร้างประชาคมอาเซียนได้สำเร็จตามเป้าหมายในปี พ.ศ. 2558  อนึ่งนับตั้งแต่ก่อตั้งอาเซียนขึ้นในปี พ.ศ. 2510 ไม่ปรากฎว่ามีเหตุการณ์ใดที่ประเทศสมาชิกใช้กำลังทหารเข้าทำสงครามระหว่างกัน เหตุการณ์ปะทะระหว่างทหารไทยและทหารกัมพูชาในช่วงระยะเวลาดังกล่าวอาจกลายเป็นเหตุการณ์ที่สร้างบรรทัดฐานใหม่ที่จะสั่นคลอนเสถียรภาพของอาเซียนในอนาคต
       บทความนี้เขียนขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นว่าอาเซียนมีกลไลระงับข้อพิพาทที่ทั้งประเทศไทยและประเทศกัมพูชาสามารถร่วมกันใช้เพื่อยุติข้อพิพาทบริเวณเขาพระวิหารได้ นอกจากนั้นยังประสงค์จะอธิบายให้เห็นว่าในขณะที่บริบทสังคมโลกได้เปลี่ยนไปสู่ลักษณะที่เป็นภูมิภาคนิยมมากขึ้นประเทศไทยก็ควรปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงนี้อย่างสันติและสร้างสรรค์ หากมองปัญหาชายแดนเขาพระวิหารในอีกมุมหนึ่งปัญหาที่ดูใหญ่โตบานปลายอาจกลายเป็นปัญหาแก้ไขได้โดยไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ
       
       ก.      ประวัติโดยสังเขป
       ประเทศไทยและกัมพูชามีพรมแดนทางบกติดต่อกันยาวถึง 800 กิโลเมตร จากสามเหลี่ยมมรกตที่จังหวัดอุบลราชธานีมาจนถึงอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนสองชนชาตินี้มีลักษณะ “ทั้งรักทั้งชัง” เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลี[2] หรือความสัมพันธ์ระหว่างอินโดนิเซีย มาเลเซียและสิงคโปร์  หากพิจารณาให้ดีแล้ววัฒนธรรมไทยเองนั้นก็ได้รับอิทธิพลจากขอม-เขมรอยู่มาก ยกตัวอย่างเช่น พระเพณีในราชสำนัก ราชาศัพท์ พระขรรค์ไชยศรี เป็นต้น ชาวขอมได้สร้างปราสาทอิฐและหินไว้มากมายไม่แต่เฉพาะในประเทศกัมพูชา ปราสาทหินเหล่านี้ยังพบได้มากในภาคอีสานของไทยและในประเทศลาวด้วย  ชาวขอมนิยมสร้างปราสาทหินเพื่อจรรโลงศาสนาพราหมณ์-ฮินดูซึ่งเป็นศาสนาหลักของอาณาจักรขอมอันยิ่งใหญ่[3] ปราสาทเขาพระวิหารก็เป็นหนึ่งในเทวสถานสำคัญหลายๆแห่งที่ชาวขอมสร้างทิ้งไว้
       ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรักบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาระหว่างจังหวัดศรีสะเกศของไทยและจังหวัดเปี๊ยะวิเฮียร์ของประเทศกัมพูชา ปราสาทพระวิหารสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 ตามความเชื่อของศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ปราสาทพระวิหารนับได้ว่าเป็นโบราณสถานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าชุมชนโบราณในพื้นที่มีเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจรวมกัน หลังจากที่เขมรเสียกรุงศรียโสธรปุระ (นครวัด-นครธม) ให้แก่กรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 1974 นับจากนั้นปราสาทพระวิหารก็ถูกทิ้งร้างไปเกือบ 500 ปี คนไทยและคนกัมพูชาต่างก็ลืมปราสาทแห่งนี้ไปจนกระทั้งฝรั่งเศสเข้ามายึดครองอินโดจีน (เวียดนาม ลาว กัมพูชา) เป็นอาณานิคมของตนใน ราวๆ พ.ศ. 2436  ปรากฎเป็นหลักฐานว่าในปี พ.ศ. 2472 สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ (เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ) ได้เสด็จทอดพระเนตรโบราณสถานทั้งปราสาทเขาพนมรุ้งและปราสาทเขาพระวิหาร โดยครั้งนั้นได้มีการขออนุญาตฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ[4] ทางผู้ปกครองอาณานิคมฝรั่งเศสก็จัดการต้อนรับอย่างเป็นทางการ ดังนั้นคนไทยในสมัยนั้นอาจไม่ได้คิดว่าปราสาทเขาพระวิหารเป็นของไทย ความรู้สึกนี้เพิ่งจะมาแน่ชัดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อไทยต้องตกที่นั่งลำบากเพราะเข้าด้วยกับกองทัพญี่ปุ่น ครั้นญี่ปุ่นแพ้สงครามไทยจึงจำต้องคืนดินแดนกัมพูชาที่ยึดครองไว้ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองให้แก่ฝรั่งเศส กระนั้นไทยก็มิได้คืนประสาทพระวิหารให้แต่อย่างใด ต่อมาเมื่อกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส กัมพูชาจึงได้ยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ณ กรุงเฮก ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 ซึ่งศาลได้ประทับรับฟ้องและมีคำพิพากษาในอีกเกือบสามปีต่อมา[5]   
       
       1)   คำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
       ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มีมติ 9 ต่อ 3 เสียง มีคำพิพากษาว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำการที่ปราสาทพระวิหารหรือในบริเวณใกล้เคียงอาณาเขตของกัมพูชา นอกจากนั้นศาลโดยมติ 7 ต่อ 5 เสียง มีคำสั่งให้ประเทศไทยคืนบรรดาโบราณวัตถุที่เจ้าหน้าที่ไทยอาจจะได้โยกย้ายออกไปจากปราสาทหรือบริเวณพระวิหารนับตั้งแต่ประเทศไทยได้เข้าครอบครองพระวิหารเมื่อ ค.ศ. 1954[6] อย่างไรก็ดีประเทศไทยได้ตีความคำพิพากษาว่าศาลยุติธรรมไม่ได้พิพากษาชี้ขาดเรื่องเส้นเขตแดนระหว่างประเทศทั้งสองว่าจะต้องเป็นไปตามระวางแผนที่ 1 : 200 000 ที่ศาลได้อ้างอิงในคำพิพากษานั้น[7] รัฐบาลไทยจึงกำหนดเขตบริเวณปราสาทพระวิหารโดยกำหนดเป็นรูปพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าครอบปราสาทพระวิหารเป็นเนื้อที่ประมาณหนึ่งส่วนสี่ตารางกิโลเมตร[8] ในขณะที่ฝ่ายกัมพูชาตีความว่าพรมแดนระหว่างไทย-กัมพูชาเป็นไปตามระวางแผนที่ 1 : 200 000 ดังนั้นจึงเกิดพื้นที่ทับซ้อนที่ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนดังกล่าว ฝ่ายไทยเห็นว่าปัญหาเรื่องพรมแดนนั้นหาได้เป็นที่ยุติตามคำพิพากษาไม่ เพราะฉะนั้นกัมพูชาและไทยจึงต้องไปเจรจาในคณะกรรมการปักปันเขตแดนฯ ต่อไป[9]
       
       2)       ปัญหาสืบเนื่อง
       ในปี ค.ศ. 2001 กัมพูชาต้องการขึ้นทะเบียนบริเวณเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกต่อองค์การยูเนสโก  ในเบื้องแรกนั้นรัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนการขึ้นทะเบียนดังกล่าวเป็นอย่างดี ถึงขนาดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งไทยและกัมพูชา (ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และซก อัน) เห็นตรงกันว่าการพัฒนาเขาพระวิหารร่วมกันจะเป็นอนุสรณ์ที่แสดงให้เห็นถึงมิตรภาพที่ดีของทั้งสองประเทศ[10] นับเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองประเทศนำผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางสังคมมาสร้างเป็นแผนงานและเป็นแรงจูงใจในการแก้ปัญหาพรมแดน[11] อย่างไรก็ดีปรากฎในเวลาต่อมาว่าฝ่ายกัมพูชาปฏิเสธแผนที่จะขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารร่วมกับประเทศไทยเนื่องจากเห็นว่ากรรมสิทธ์ในตัวปราสาทนั้นเป็นของกัมพูชา ไทยได้เจรจาจนฝ่ายกัมพูชายอมถอดพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรที่ยังเป็นข้อพิพาทกันอยู่ออกจากคำขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยไทยตกลงว่าจะสนับสนุนกัมพูชาในการขึ้นทะเบียนดังกล่าว[12] ในขณะที่ทั้งสองประเทศลงนามในบันทึกความตกลงนั้น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (เสื้อเหลือง) ได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านข้อตกลงดังกล่าวพร้อมๆ กับปลุกกระแสชาตินิยมโดยอ้างว่าการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลไทยจะเป็นเหตุให้ไทยสูญเสียดินแดน[13]  
       เมื่อยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 ความตึงเครียดระหว่างแนวพรมแดนไทย-กัมพูชาได้ทวีความรุนแรงขึ้น มีการปะทะระหว่างทหารของทั้งสองฝ่ายบ้างเป็นระยะอันเป็นผลจากการลาดตระเวนในพื้นที่ทับซ้อน ต่อมาทหารของทั้งสองฝ่ายตั้งกำลังผลประจัญหน้ากันไปจนถึงเคลื่อนอาวุธหนักอย่าง รถถัง ปืนใหญ่สนาม รถยิงจรวดหลายลำกล้องเข้าไปในพื้นที่ การส่งยุโธปกรณ์หนักเข้าไปในพื้นที่พิพาทย่อมส่งผลให้เมื่อเกิดการปะทะจะมีความรุนแรงและมีความเสียหายมากขึ้นตามไปด้วย โดยการปะทะตั่งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เป็นผลให้ทั้งสองฝ่ายสูญเสียทหารทั้งสองฝ่ายไปแล้วกว่า 16 นาย การปะทะได้เข้าขั้นวิกฤติระหว่าง  22 เมษายน ถึง 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ส่งผลให้สูญเสียทหารอีก 18 นาย เป็นอย่างน้อย[14]   คำถามที่เกิดขึ้นคือในเมื่อไทยและกัมพูชาเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนเหมือนกันและอาเซียนก็กำลังจะก้าวเป็นประชาคมอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ อาเซียนมีกลไกใดหรือไม่ที่จะระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเพื่อลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อนบ้านอย่างไทย-กัมพูชามีทางเลือกอื่นหรือไม่ในการแก้ปัญหานี้แทนที่จะระดมสรรพกำลังเขาประหัดประหารกันให้เสียเลือดเนื้อ    
       
       2.     การสร้างสันติภาพและเสถียรภาพภายใต้ธงอาเซียน
       
       ก.      แนวคิดภูมิภาคนิยมในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
       
       1)    ภูมิภาคนิยมคืออะไร
       ภูมิภาคนิยม (regionalism) เป็นแนวคิดทางรัฐศาสตร์ หมายถึง กระบวนการที่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันรวมกลุ่มขึ้นเป็นองค์กรระหว่างประเทศ การรวมกลุ่มประเทศนี้อาจมีจุดประสงค์เพื่อร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ ทางทหาร รวมไปถึงความร่วมมือเพื่อพัฒนาสังคม[15] อย่างไรก็ดีนิยามของ “ภูมิภาคนิยม” นั้นยังหาได้ยุติเป็นอันหนึ่งอันใดไม่ ในภาพรวมอาจกล่าวได้ว่าภูมิภาคนิยมหมายรวมกิจกรรมต่างๆ ที่รัฐบาลหรือองค์เอกชนที่ไม่แสวงผลกำไร (NGOs) ตั่งแต่สามฝ่ายขึ้นไปตกลงกันร่วมมือกันดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดในระดับภูมิภาค[16] ความตกลงนี้โดยปรกติจะกำหนดเป้าหมายหลักการและแนวปฎิบัติไว้เพื่อเป็นแนวในการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างกัน จุดเด่นของแนวคิดภูมิภาคนิยมคือการที่ประเทศสมาชิกในกลุ่มทุกประเทศได้รับผลประโยชน์เสมอกัน (win-win) ทั้งนี้เนื่องจากเป้าหมายขององค์กรกำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ในระดับภูมิภาค ทุกประเทศต่างมีหน้าที่ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อไปสู่เป้าหมายร่วม ประโยชน์ของภูมิภาคจะเข้ามาคานและดุลกับประโยชน์ของชาติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน[17] Alagappa อธิบายว่าระดับของคำมั่นสัญญาว่าจะปฏิบัติตามเป้าหมายและหลักการที่กำหนดไว้นั้นจะเป็นปัจจัยกำหนดความมีประสิทธิภาพของกฎเกณฑ์ขององค์กรระดับภูมิภาคนั้นๆ ภูมิภาคนิยมอาจดำเนินการในลักษณะเฉพาะกิจ ตัวอย่างเช่น ความร่วมมือทางทหาร อาทิ องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) องค์กรข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) หรืออาจดำเนินการในลักษณะทั่วไป เช่น สหภาพยุโรป (European Union) สหภาพแอฟริกัน (African Union) สันนิบาตอาหรับ (Arab League)  และ อาเซียน (ASEAN) เป็นต้น  แนวคิดภูมิภาคนิยมได้ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มทางภูมิภาค (regional integration) ซึ่งเป็นการพัฒนารูปแบบการจัดการอำนาจของรัฐจากลักษณะรัฐชาติ (nation-state) ไปสู่ความร่วมมือระดับภูมิภาคที่รัฐชาติยอมสละอธิปไตยบางส่วนเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านต่างๆ   การร่วมกลุ่มทางภูมิภาคในปัจจุบันได้ขยายขอบเขตจากการร่วมมืองในภูมิภาคเพื่อรักษาความมั่นคงทางทหารและการเมืองไปสู่ความร่วมมือในด้านอื่นๆ เช่นเศรษฐกิจและสังคมโดยมีเป้าหมายสูงสุดคือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางการเมือง (political unity)[18]
       
       2)     ภูมิภาคนิยมสร้างสันติภาพได้อย่างไร
       กระแสโลกาภิวัฒน์ส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนาอาศัยการร่วมกลุ่มประเทศสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศที่พัฒนาแล้ว นอกจากนั้นการร่วมกลุ่มประเทศยังส่งผลดีทางเศรษฐกิจเนื่องจากทุน ทรัพยากรและวิทยาการในภูมิภาคจะสามารถไหลเวียนได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น[19] การร่วมกลุ่มประเทศจะก่อให้เกิดเสถียรภาพและสันติภาพขึ้นเพราะเมื่อแต่ละประเทศมีการติดต่อค้าขายกันมากขึ้นก็จะมีการแลกเปลี่ยนวัฒธธรรมประเพณีเรียนรู้และยอมรับความแตกต่างของกันและกัน การตระหนักรู้จุดแข็งจุดอ่อนของสมาชิกอื่นๆ ทำให้สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างสงบ หากย้อนไปพิจารณาประวัติศาสตร์ในสมัยที่ชาตินิยมเฟื่องฟูแต่ละประเทศมุ่งแต่จะสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่ชาติโดยมิได้คำนึงถึงภาพร่วมของภูมิภาคหรือสันติภาพของโลก แต่ละประเทศต่างแข่งกันทั้งทางเศรษฐกิจและทางทหารซึ่งนั้นก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสงครามโลกถึงสองครั้ง
       กล่าวโดยย่อการรวมกลุ่มทางภูมิภาคจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจเนื่องจาก ความร่วมมือในภูมิภาคจะขยายขอบความสามารถในการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐกิจได้ แต่ละประเทศสมาชิกก็สามารถพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (division of labour) ตลาดก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นและค่าใช้จ่ายในการจัดการทรัพยากร (transaction cost) ก็จะต่ำลง ในขณะที่อำนาจต่อรองกับคู่ค้าคู่แข่งนอกกลุ่มภูมิภาคก็เพิ่มขึ้นด้วย[20]   เมื่อภูมิภาคนิยมส่งผลให้เศรษฐกิจในภาพรวมของภูมิภาคเจริญขึ้น ผลพลอยได้คือเศรษฐกิจของแต่ละประเทศสมาชิกจะสานความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น โดยจะเป็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอันส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและยังช่วยลดความขัดแย้งทางการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ[21] ในประเด็นนี้ Polachek  ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการค้ากับความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศแล้วพบว่าการเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าของปริมาณการค้าระหว่างสองประเทศจะส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างประเทศลดลงเฉลี่ย ร้อยละ 15 ถึง ร้อยละ 19[22] กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การที่ประเทศเพื่อนบ้านหันมาค้าขายระหว่างกันจะทำให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นตัวนำนโยบายการต่างประเทศ ปัญหากระทบกระทั่งระหว่างเพื่อนบ้านในภูมิภาคก็จะค่อยๆ หมดไป หรือถูกจำกัดกรอบความขัดแย้งให้เล็กลงไม่ให้กระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้า เมื่อการรวมกลุ่มระหว่างประเทศพัฒนาขึ้นถึงระดับหนึ่ง ความสำคัญของพรมแดนตามแนวคิดอธิปไตยก็จะลดลงดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของสหภาพยุโรปที่การค้าการลงทุนสามารถข้ามพรมแดนได้อย่างเสรี ผู้คนสามารถติดต่อค้าขายรวมถึงย้ายภูมิลำเนาไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้โดยไม่ถูกพรมแดนของประเทศตนจำกัดไว้ ดังนั้นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปในวันนี้จึงเป็นหนังคนละม้วนกับทวีปยุโรปในคริสตวรรษที่ 20 ที่แต่ละชาติต่างยึดติดกับอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนแล้วก่อสงครามแย่งทรัพยากรจนเดือนร้อนกันไปทั้งโลก ดังนั้นแนวคิดภูมิภาคนิยมจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่เข้ามาจัดการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ดำเนินไปด้วยความมั่นคงและสันติ
       
       ข.      สันติภาพภายใต้กรอบอาเซียนด้านความมั่นคง
       อาจจะกล่าวได้ว่าอาเซียนก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2510 ด้วยจุดประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้เนื่องจากข้อพิพาทระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค เช่น นโยบายเผชิญหน้าระหว่างอินโดนิเซียกับมาเลเซียและสิงคโปร์ระหว่างปี 1962-1966 หรือที่รู้จักกันในนาม Konfrontasi ในขณะที่มาเลเซีย-ฟิลิปปินส์ก็มีกรณีพิพาทเหนือดินแดนซารบาร์ อาเซียนจึงกลายเป็นเวทีให้ผู้นำประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ยุติของพิพาทและสร้างความร่วมมือกันโดยสันติ[23] นอกจากนั้นแนวคิดเบื้องต้นในการตั้งอาเซียนคือให้อาเซียนเป็นองค์กรที่เข้าจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิกไม่ให้บานปลาย หากอาเซียนเองไม่สามารถระงับจัดการปัญหาได้ก็ค่อยส่งเรื่องสู่องค์การสหประชาชาติต่อไป[24] อาเซียนได้พัฒนากลไกระงับข้อพิพาทและพัฒนากรอบความร่วมมือต่างๆ มาตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ในเบื้องต้นเราสามารถแบ่งกรอบด้านความมั่นคงของอาเซียนได้เป็นสองประเภท กล่าวคือ กรอบลายลักษณ์อักษรและกรอบจารีตประเพณี
       
       1)  กรอบลายลักษณ์อักษร
        ปัจจุบันอาเซียนมีข้อตกลงที่วางกรอบด้านความมั่นคงจำนวน 9 ฉบับ ได้แก่ (1) The ASEAN Declaration 1967 (Bangkok Declaration) (2)The Zone of Peace, Freedom and Neutrality Declaration (ZOPFAN) (3) The Declaration of ASEAN Concord 1976 (4) The Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia 1976 (5) The Rules of Procedure of the High Council of the Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia 2001 (6) The Declaration of ASEAN Concord II 2003 (Bali Concord II) (7) The ASEAN Security Community Plan of Action (8) The ASEAN Charter and (9) the ASEAN Political-Security Community Blueprint อย่างไรก็ดีบทความนี้จะขออธิบายแต่ฉบับที่เกี่ยวข้องกับกรณีความขัดแย้งบริเวณเขาพระวิหารจำนวน 5 ฉบับ ดังต่อไปนี้
       
       (i.)   สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Corporation)[25]
       สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ TAC เป็นสนธิสัญญาฉบับแรกของอาเซียนที่จัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐสมาชิก สนธิสัญญานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความสมานฉันท์ระหว่างประชาชนในภูมิภาคเอเซียจะวันออกเฉียงใต้[26] หลักการพื้นฐานของสนธิสัญญาฉบับนี้คือ
       (1) เคารพอธิปไตย อิสรภาพ ความเสมอภาคและบูรณภาพแห่งดินแดนตลอดจนอัตลักณณ์ของทุก ๆ ชาติ
       (2) ทุกรัฐมีสิทธิที่จะดำรงอยู่โดยปราศจากการการแทรกแซงจากอำนาจภายนอก
       (3) ไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น
       (4) ยุติข้อพิพาทโดยสันติวิธี
       (5) ไม่คุกคามหรือข่มขู่โดยใช้กำลัง
       (6) ร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพ
                       TAC กำหนดให้รัฐภาคีที่เป็นคู่กรณีสามารถร่วมกันยื่นขอให้คณะมนตรีของสภาสูง (high council) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนระดับสูงจากรัฐภาคีของ TAC ทั้งหมดพิจารณาเสนอแนะแนวทางหรือมาตรการที่เหมาะสมเพื่อระงับข้อพิพาทในกรณีที่ภาคีคู่พิพาทไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจา นอกจากนั้นคณะมนตรีของสภาสูงอาจเสนอตัวทำหน้าที่ยุติข้อพิพาทโดยเป็นคนกลางที่หน้าเชื่อถือ (good offices) ประณีประนอม (mediation) ไต่สวน (inquiry) หรือไกล่เกลี่ย (conciliation)ได้[27]
       
       (ii.) ระเบียบวิธีพิจารณาของคณะมนตรีของสภาสูงตามสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ The Rules of Procedure of the High Council of the Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia
       อาเซียนได้ออกระเบียบวิธีพิจารณาของคณะมนตรีของสภาสูงตามสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี พ.ศ. 2544 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของ TAC และเป็นประกันว่ากลไลระงับข้อพิพาทภายใต้สนธิสัญญาดังกล่าวจะสามารถทำงานได้จริง ระเบียบนี้ประกอบขึ้นด้วย 10 ส่วน รวมทั้งสิ้น 25 ข้อ โดยในส่วนที่ 4 ได้กำหนดเงื่อนไขในการใช้กลไก TAC ไว้สองกรณี คือ
       (ก.) คณะมนตรีของสภาสูงฯ อาจยอมรับข้อพิพาทที่ระบุไว้ใน ข้อ 14-16 ของ สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
       (ข.) คู่พิพาทจะต้องมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงและเป็นภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
       อย่างไรก็ดีระเบียบฯ ได้กำหนดว่าการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะมนตรีของสภาสูงฯจะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานคณะมนตรีฯ และจะต้องได้รับความยินยอมจากคู่กรณีทุกฝ่าย  จากนั้นประธานจะทำหนังสือยืนยันจากคู่กรณีทุกฝ่ายอีกครั้ง เมื่อได้รับคำยืนยันแล้ว คณะมนตรีจึงสามารถนำเรื่องเข้าพิจารณาเพื่อสั่งให้ยุติข้อพิพาทตาม TAC ต่อไป[28]
       
       (iii.)   กฎบัตรอาเซียน ASEAN Charter
       กฎบัตรอาเซียนลงนามเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 มีจุดประสงค์เพื่อให้อาเซียนมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีฐานทางกฎหมาย กฎบัตรอาเซียนยืนยันสภาพนิติบุคคลระหว่างประเทศของอาเซียน อีกทั้งกำหนดสมาชิกภาพและสิทธิหน้าที่ของสมาชิก การจัดการองค์กร การตัดสินใจ กฎบัตรอาเซียนได้ระบุเรื่องการยุติข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างสมาชิกไว้ในหมวดที่ 8  โดย ข้อ 22 ระบุหลักการทั่วไปที่สมาชิกจะต้องพยายามระงับข้อพิพาทด้วยสันติวิธีผ่าน การสนทนา (dialogue) การปรึกษาหารือ (consultation) และการเจรจา (negotiation) ถัดมาในข้อที่ 23 กฎบัตรได้กำหนดวิธีการยุติข้อพิพาทที่อาศัยบุคคลที่สามเข้ามาทำหน้าที่ เช่น การใช้คนกลางที่น่าเชื่อถือ (good offices) การประนีประนอม (conciliation)  และการไกล่เกลี่ย (mediation) ทั้งนี้คู่กรณีทั้งหมดจะต้องให้ความยินยอมก่อน  อย่างไรก็ดี คู่กรณีอาจจะร้องขอให้ประธานอาเซียนหรือเลขาธิการอาเซียนเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าวได้[29] หากเป็นกรณีที่สมาชิกไม่สามารถระงับข้อพิพาทตามหมวด 8 ได้ กฎบัตรอาเซียน ข้อ 26 กำหนดให้เสนอข้อพิพาทนั้นไปยังที่ประชุม
       สุดยอดอาเซียนเพื่อดำเนินการตัดสิน
        
       (iv.)     แผนพิมพ์เขียวประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ASEAN Political-Security Community Blueprint
       แผนพิมพ์เขียวประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC) เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2550 เพื่อเป็นแผนดำเนินการสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงในปี พ.ศ. 2558 แผนพิมพ์เขียวฉบับนี้พัฒนาขึ้นจากเอกสาร 3 ฉบับ ได้แก่ กฎบัตรอาเซียน แผนปฏิบัติการประชาคมอาเซียน (the ASEAN Community Plan of Action) และ แผนเวียงจันทร์ (the Vientiane Action Programme)[30] แผนพิมพ์เขียวฯ นี้ได้กำหนดภาพลักษณ์ของประชาคมการเมืองและความมั่นคงไว้ ดังนี้
       (ก.) เป็นประชาคมที่มีฐานทางกฎหมายที่มีระบบการให้คุณค่าและบรรทัดฐานเสมอกัน
       (ข.) เป็นประชาคมที่มีความยืดหยุ่นแต่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความสงบร่มเย็นและร่วมกันรับผิดชอบต่อความมั่นคงของภูมิภาค
       (ค.)เป็นประชาคมเปิดที่ทันต่อความผันผวนของประชาคมโลกที่ต่างอาศัยพึ่งพากันและกัน  
       (v.)  พิธีสารของกฎบัตรอาเซียนว่าด้วยกลไลระงับข้อพิพาท Protocol to the ASEAN Charter on Dispute Settlement Mechanism
       
       พิธีสารของกฎบัตรอาเซียนว่าด้วยกลไลระงับข้อพิพาทอาศัยอำนาจตามความในกฎบัตรอาเซียน ข้อ 25 พิธีสารนี้จะยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าประเทศสมาชิกจะให้สัตยาบันจนครบ กระนั้นผู้เขียนเห็นว่าควรจะยกขึ้นมาพิจารณาไว้ ณ ที่นี้เนื่องจากจะเป็นส่วนสำคัญที่จะจัดการปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ในอนาคต พิธีสารฉบับนี้มีเนื้อหาสาระ คือ การส่งเสริมให้รัฐคู่กรณีระงับข้อพิพาทโดยวิธีปรึกษารือ (consultation) ในเบื้องต้น พิธีสารฯได้กำหนดวิธีระงับข้อพิพาททางเลือกอื่นๆ ได้แก่ การใช้คนกลางที่น่าเชื่อถือ (good offices) การไกล่เกลี่ย (mediation) การประนีประนอม (conciliation) และ อนุญาโตตุลาการ (arbitration)
       ทั้งนี้การระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลากการนั้นโดยปรกติจะอาศัยความยินยอมจากรัฐคู่กรณีทุกฝ่าย กระนั้นพิธีสารฉบับนี้เปิดช่องให้คู่กรณีฝ่ายที่ถูกปฏิเสธการให้ความยินยอมยื่นเรื่องขอให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ASEAN Coordinating Council) วินิจฉัยว่าจะให้รัฐคู่กรณีใช้วิธีใดระงับข้อพิพาท  ในกรณีที่คณะมนตรีประสานงานอาเซียนไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะให้คู่กรณีใช้วิธีใดระงับข้อพิพาทก็ได้ถือว่าข้อพิพาทที่ยกขึ้นมานั้นเป็น “ข้อพิพาทที่ไม่อาจระงับได้” (unresolved disputes) ตามกฎบัตรอาเซียน อันจะเป็นผลให้รัฐคู่กรณีสามารถนำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเพื่อพิจารณาได้ นอกจากนั้นหากเป็นกรณีที่รัฐคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินซึ่งเป็นผลจากกลไกระงับข้อพิพาท (non-compliance) รัฐคู่กรณีก็มีสิทธินำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเช่นกัน[31]
       
       2)  กรอบจารีตประเพณี วิถีอาเซียน
        อาเซียนได้พัฒนาวัฒนธรรมองค์กรหรือจารีตของตนเองจนเป็นที่รู้จักกันในนาม “วิถีอาเซียน” หรือ “The ASEAN Way” ซึ่งได้รับอิทธิพลจากหลักการปรึกษาหารือ (musyawarah) และหลักการใช้ฉันทามติ (mufakat) ตามคติของชาวอินโด-มาเลย์ กระนั้นหลักการดังกล่าวสามารถพบได้ทั่วไปในดินแดนอุษาคเนย์ ความหมายเฉพาะของ “วิถีอาเซียน” นั้นยังหาได้เป็นที่ยุติในทางวิชาการไม่ แต่ในภาพรวมอาจกล่าวได้ว่าคุณลักษณะของวิถีอาเซียนประกอบด้วย การไม่ยึดติดกับกฎระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นทางการ การอาศัยความร่วมมือร่วมใจ การบรรลุฉันทามติจะเป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า ดังนั้นวิถีอาเซียนจึงตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับจารีตที่ประเทศตะวันตกนิยมใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น การตัดสินใจด้วยมติเสียงข้างมาก การต่อรองอย่างถึงลูกถึงคน หรือการใช้กฎเกณฑ์แห่งกฎหมายในการตัดสินใจ[32] ในประเด็นนี้ Mohamad Ghazali Shafie เห็นว่าวิถีอาเซียนเป็นผลผลิตของวัฒนธรรมร่วมของชาวอุษาคเนย์ เช่นความรักบ้านเกิดเมืองนอน ความเป็นพี่น้องเครือญาติที่สร้างความสามัคคีในชุมชน กระนั้น Acharya ได้โต้แย้งว่าวิถีอาเซียนหาได้เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมอย่างเดียวไม่ แต่เป็นผลที่เกิดจากจารีต หากวัฒนธรรมสามารถก่อให้เกิดจารีตได้ จารีตก็สามารถก่อให้เกิดวัฒนธรรมได้เช่นกันและในกรณีนี้ Acharya เห็นว่าวิถีอาเซียนได้ก่อให้เกิดวัฒนธรรมอาเซียนขึ้นไปพร้อมๆ กัน[33]     
       วิถีอาเซียนได้กลายเป็นเครื่องมือในการจัดการข้อพิพาทในภูมิภาคอย่างไม่เป็นทางการ Mery Caballero-Anthony ได้สกัดองค์ประกอบของวิถีอาเซียนแล้วพบว่า วิถีอาเซียนประกอบด้วยแนวปฏิบัติ 5 ประการ ได้แก่ การทูตแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย การยึดมั่นในหลักการปรึกษารือและการใช้ฉันทามติ การสร้างเครือข่าย (networking) การลงมติว่าเห็นไม่ตรงกัน และการไกล่เกลี่ยโดยอาศัยบุคคลที่สาม[34]
       แนวปฏิบัติ “การทูตแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย” ประกอบด้วย หลักการ 3Rs ได้แต่ (1) ความอดทนอดกลั้น (restraint) สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสันติ อนทนที่จะไม่แทรกแซงในกิจการภายในของรัฐอื่น เป็นต้น  (2) การให้ความเคารพ (respect) กล่าวคือมีมารยาทและเคารพการตัดสินใจของผู้อื่น เคารพที่จะปรึกษาหารือขอความเห็นผู้อื่นก่อนตัดสินใจ และ (3) มีความรับผิดชอบ (responsibility)  หมายถึง การที่สมาชิกจะต้องมีความรับผิดชอบที่จะเรียนรู้จุดแข็งจุดอ่อนของสมาชิกอื่นๆ โดยเฉพาะผลประโยชน์ของชาติและประเด็นอ่อนไหวของชาติเหล่านั้น มีความรับผิดชอบในการกระทำของรัฐที่จะกระทบต่อประเทศอื่นๆในภูมิภาค[35] แนวปฎิบัติต่อมาคือ “การยึดมั่นในหลักการปรึกษารือและการใช้ฉันทามติ” หมายถึง การใช้กระบวนการตัดสินใจโดยไม่บังคับเข็นใจผู้ที่ไม่สงค์จะให้ความร่วมมือ การเจรจารในอาเซียนนั้นจะเน้นไปที่การเจรจานอกรอบอย่างไม่เป็นทางการเพื่อสร้างความมั่นใจว่าทุกประเทศเห็นด้วยกับแผนการดำเนินงานที่เสนอ[36] อย่างไรก็ดีกฎบัตรอาเซียนได้ปรับปรุงรูปแบบของการตัดสินใจในอาเซียนให้มีรูปแบบอื่นๆ ตัวอย่างเช่น สูตร ASEAN - X ในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ  อนุญาตให้ประเทศที่มีความพร้อมดำเนินการไปก่อนได้[37] แนวปฎิบัติที่สาม “การสร้างเครือข่าย” หมายถึง การสร้างความสัมพันธ์และความใกล้ชิดระหว่างผู้นำ ผู้ปฎิบัติงาน เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าอาเซียนแม้จะเป็นองค์กรที่จัดการประชุมมากกว่า 700 ครั้งต่อปี ในระหว่างการประชุมแต่ละครั้งก็จะมีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วมการประชุม การสร้างเครือข่ายจะส่งผลดีต่อกิจการของอาเซียนเพราะหากผู้ปฏิบัติงานมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน การติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลก็เป็นไปได้ง่ายขึ้นสะดวกขึ้น มีความรู้สึกว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกัน มีความรู้สึกว่าเป็น “ชาวอาเซียน” ที่เป็นพี่น้องในภูมิภาคเดียวกัน[38] แนวปฏิบัติที่สี่ “การลงมติว่าเห็นไม่ตรงกัน” หมายถึง การที่ประเทศสมาชิกเห็นพ้องกันว่าประเด็นที่พิจารณานั้นยังไม่ยุติเนื่องจากไม่สามารถหาฉันทามติได้จึงควรพักไว้ก่อน อย่างน้อยก็เป็นการสร้างจุดยืนร่วมกันระหว่างสมาชิกแม้ว่าจะเห็นไม่ตรงกัน การลงมติเช่นนี้จะเป็นการผลัดผ่อนให้สมาชิกมีเวลาที่จะไปคุยกันนอกรอบเพื่อจูงใจให้มีฉันทามติต่อไป[39] แนวปฏิบัติสุดท้าย “การไกล่เกลี่ยโดยอาศัยบุคคลที่สาม” หมายถึง การให้ประเทศสมาชิกที่ไม่ใช่คู่กรณีหรือมีส่วนได้เสียเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย การไกล่เกลี่ยดังกล่าวมักจัดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการและอาจไม่ปรากฎเป็นข่าวตามสื่อ โดยเฉลี่ยราวๆ ร้อยละ 65 ของข้อตกลงที่ทำขึ้นในอาเซียนจะมีบทว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ กระนั้นในทางปฏิบัติเมื่อมีข้อพิพาทสมาชิกจะอาศัยการเจรจาหรือไกล่เกลี่ยแทนที่จะเลือกยุติข้อพิพาทด้วยกลไกอย่างเป็นทางการที่กำหนดไว้[40]
       
       3.  ข้อพิพาทเขาพระวิหารระหว่างปี 2551-2554 บรรเทาลงไปได้อย่างไร
       จากได้ที่อธิบายข้างต้นว่าอาเซียนมีกลไกที่จะระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่น่าเสียดายยิ่งที่ประเทศไทยและกัมพูชามองข้ามกลไกเหล่านี้ในการแก้ไขความขัดแย้งกรณีเขาพระวิหาร เมื่อปัญหาที่เรื้อรังประทุขึ้นทั้งสองประเทศต่างก็เพิ่มกำลังทหารตามแนวชายแดน ดังปรากฎเป็นหลักฐานว่าเมื่อปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในเดือน กรกฎาคมพ.ศ. 2551 กำลังทหารในพื้นที่มีสัดส่วน ทหารไทย 400 นาย ต่อ ทหารกัมพูชา 800 นาย ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552 จำนวนทหารในพื้นที่ได้เพิ่มเป็น ทหารไทย มากกว่า 3000 นาย ต่อ ทหารกัมพูชา มากกว่า5000 นาย[41] การเพิ่มขึ้นของจำนวนทหารและยุโธปกรณ์ในพื้นที่แสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติข้อพิพาทและแนวทางในการเจรจาที่ใช้อยู่ไม่สามารถบรรเทาความรุนแรงและความตรึงเครียดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้  อาจกล่าวได้ว่าเมื่อมีการเพิ่มกำลังพลในพื้นที่ส่งผลให้มีการใช้ความรุนแรงมากขึ้น มีความเสียหายมากขึ้น จากการปะทะระหว่างพลลาดตระเวณได้ขยายวงกว้างเป็นสมรภูมิย่อยๆ ที่ปะทะกันเป็นเวลาถึงสองสัปดาห์ติดต่อกัน ในระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ. 2554 ส่งผลให้ทหารหาญต้องพลีชีพถึง 18 นายเป็นอย่างน้อย และพลเรือนอีกกว่า 50,000 คน ต้องอพยบหนีออกจากพื้นที่พิพาท การปะทะในครั้งนั้นมีความสูญเสียมากกว่าเหตุปะทะที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2551-2553 รวมกันเสียอีก[42]
       หากย้อนกลับไปพิจารณาจุดยืนของทั้งสองประเทศจะพบว่าประเทศไทยในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาวีวะ (พ.ศ. 2551-2554) ดำเนินนโยบายมุ่งที่จะจำกัดการแก้ไขปัญหาเขาพระวิหารให้อยู่ในกรอบทวิภาคีเท่านั้น ในขณะที่กัมพูชาประสงค์ที่จะนำข้อพิพาทไปสู่เวทีระหว่างประเทศ เช่น อาเซียนหรือเวทีสหประชาชาติเนื่องจากเกรงว่าหากใช้กลไกทวิภาคีจะทำให้ประเทศไทยได้เปรียบทั้งในด้านการเมืองการทหารและด้านเศรษฐกิจ กระนั้นกัมพูชาก็หาได้ประสงค์จะใช้กลไกอาเซียนเสียเท่าไรเนื่องจากรู้ดีว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ร่วมก่อตั้งและมีอิทธิพลในอาเซียน[43] ดังจะเห็นได้จากการที่กัมพูชายื่นข้อพิพาทต่อสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติขอให้พิจารณาส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ (Peacekeepers) เข้ามาในพื้นที่พิพาท อีกทั้งยังยื่นคำร้องต่อศาลโลกให้ตีความคำพิพากษากรณีเขาพระวิหารในปี พ.ศ. 2505[44] 
       ปัจจัยหลักที่ทำให้ความขัดแย้งบริเวณเขาพระวิหารทุเลาลงหาได้เกิดจากกลไกของอาเซียนไม่ หากแต่เป็นเพราะปัจจัยการเมืองภายในของประเทศไทยที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลไปสู่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าสมเด็จฮุนเซ็นผู้นำกัมพูชากับพี่ชายของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้นมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน การเปลี่ยนรัฐบาลในประเทศไทยทำให้ความขัดแย้งระหว่างผู้นำประเทศไทยและกัมพูชาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจัยที่สองคือการที่ศาลโลกมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณาตีความคำพิพากษาปี พ.ศ. 2505 ศาลได้กำหนดให้เขตปลอดทหารที่กินพื้นที่เขาพระวิหารและพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร และมีคำสั่งให้ไทยและกัมพูชายุติปัญหาภายใต้กรอบอาเซียนซึ่งร่วมถึงการถอนทหารและการให้มีผู้สังเกตการณ์ในพื้นที่[45] ประเทศไทยแม้ได้เข้าร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ยที่อินโดนิเซียจัดให้โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนิเซีย(มาร์ตี นาตาเลกาวา) เป็นผู้ดำเนินการไกล่เกลี่ยจนได้ข้อสรุปว่าจะยอมถอนทหารและยอมให้ผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเขาไปในพื้นที่ กระนั้นประเทศไทยก็ยังคงถ่วงเวลาไม่ยอมให้ผู้สังเกตการณ์อินโดนิเซียเข้าพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่นกองทัพไทยอ้างว่าการมีผู้สังเกตการณ์ในพื้นที่จะเป็นการกระทบต่ออำนาจอธิปไตยของรัฐไทย หรือกองทัพไทยจะไม่ถอนทหารจนกว่ากัมพูชาจะถอนทหารจากพื้นที่พิพาทก่อน เป็นต้น[46] ปัจจัยที่สาม คือ ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2554 ที่ส่งผลกระทบทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา ทำให้กระแสการเมืองในประเทศต่อปัญหาเขาพระวิหารและการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงในประเทศไทยลดบทบาทลงไป อย่างไรก็ดีปัญหาข้อพิพาทเขาพระวิหารยังหาได้ยุติไม่ ปัญหานี้ยังคงเป็นแผลลึกที่สร้างความบาดหมางระหว่างชาวไทยและชาวเขมรต่อไป ทั้งยังเป็นปัญหาที่สั่นคลอนการสร้างประชาคมอาเซียนอีกด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าปัญหาเขาพระวิหารเป็นแผลเรื้อรังที่รอวันประทุอีกครั้ง หากเรายังไม่พัฒนาแนวคิดเรื่องชาตินิยมไปสู่ภูมิภาคนิยม ลดละความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของแล้วหันมาร่วมกันพัฒนาภูมิภาคของเรา
       
       4.    มองปัญหาเขาพระวิหารอย่างสร้างสรรค์ผ่านกรอบอาเซียน
       
       ก.      สาระสำคัญของการขึ้นทะเบียนมรดกโลก
       ยูเนสโก (UNESCO) เป็นทบวงชำนัญพิเศษขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ที่จัดตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยคำปรารภของธรรมนูญยูเนสโกได้ระบุว่าเมื่อสงครามเกิดขึ้นจากจิตใจมนุษย์ ดังนั้นการสร้างสันติภาพก็ต้องเริ่มจากจิตใจมนุษย์ หากย้อนกลับไปพิจารณาประวัติศาสต์ของมนุษย์ชาติจะพบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความบาดหมางกันระหว่างประเทศคือการละเลยที่จะย้อมรับความแตกต่างของกันและกัน  ดังนั้นภาคีจึงมีหน้าที่ที่จะเผยแพร่วัฒนธรรมการศึกษาด้านมนุษยธรรมด้านเสรีภาพและด้านสันติภาพเพื่อดำรงไว้ซึ่งความสงบสุขของโลกสันติภาพที่ยืนอยู่บนความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการค้าและความมั่นคงโดยอาศัยแรงสนับสนุนจากพลเมืองพลโลก[47] สันติภาพที่ยังยืนจึงต้องมีรากฐานอยู่บนความร่วมมือทางภูมิปัญญาและจิตสำนึกของมนุษชาติ ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้จึงได้มีองค์การยูเนสโกขึ้นเพื่อที่จะดำรงสันติภาพแก่มวลมนุษยชาติผ่านความร่วมมือของนานาชาติในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมโดยมุ่งหมายให้ประชาคมโลกมีนิติธรรมและเคารพสิทธิมนุษยชนตลอดจนเคารพสิทธิเสรีภาพพื้นฐานอันเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกโดยไม่ถือเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา ตามที่กฎบัตรองค์การสหประชาชาติบัญญัติไว้[48]
       เมื่อพิจารณาอนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์มรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ (Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage 1972) จะพบว่าจุดประสงค์ของพิธีสารฉบับนี้คือต้องการที่จะสร้างมาตรฐานและมาตรการในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของมนุษยชาติ ยูเนสโกต้องการที่จะเข้ามาเติมเต็มในด้านการอนุรักษ์มรดกเหล่านี้เพราะรัฐชาติไม่สามารถดำเนินอนุรักษ์มรดกของโลกได้อย่างเต็มที่เนื่องจากข้อจำกัดหลาย ๆ ประการ เช่น ขาดทรัพยากร ขาดความเชี่ยวชาญ ขาดเครื่องมือที่ทันสมัย เป็นต้น ดังนั้นในมุมของยูเนสโกจะไม่ได้ให้ความสำคัญว่ามรดกโลกนั้นๆ จะเป็นของใครหรือตั้งอยู่ที่ใด[49] หากสามารถพิสูจน์ได้ว่ามรดกโลกนั้นมีความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติยูเนสโกก็จะเข้ามาช่วยอนุรักษ์ โดยไม่ถือเป็นสาระว่าใครเป็นผู้ครอบครองมรดกนั้นๆ[50] ดังนั้นการยกโบราณสถานให้เป็นมรดกโลกคือการยอมรับว่าสิ่งนั้นๆ มีค่าควรแก่การอนุรักษ์ไม่ใช่แค่เป็นมรดกของชาติใดชาติหนึ่งหากแต่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้เป็นมรดกของมนุษยชาติทั้งปวง[51]
       ย้อนกลับมาดูกรณีเขาพระวิหาร อนุสัญญามรดกโลกฯ ข้อ 11 วรรคสาม ระบุไว้ชัดเจนว่าการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินใดที่ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณที่มีการอ้างสิทธิมากกว่าหนึ่งรัฐย่อมไม่ทำให้สิทธินั้นเสียไปแต่อย่างใด[52] นอกจากนั้นคณะกรรมการมรดกโลกยังได้มีมติ (WHC-09/33.COM/7B.Add Page 90) ยืนยันว่าพื้นที่บริหารจัดการของพระวิหารหมายรวมเฉพาะตัวทรัพย์สินที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกและพื้นที่กันชนเท่าที่ระบุไว้ในแผนผังที่ได้รับการปรับปรุงแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ทางกัมพูชาได้ระบุไว้ชัดเจนบนแผนผังดังกล่าวว่าทรัพย์สินที่ขอขึ้นทะเบียนคือตัวปราสาทและพื้นที่กันชนที่มิได้อยู่บนพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชาแต่อย่างใด[53] อย่างไรก็ดีหากพิจารณาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายใต้กรอบความตกลงระหว่างประเทศแล้วจะพบว่าการสาระสำคัญของการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกไม่ได้อยู่ที่ประเด็นว่าปราสาทพระวิหารหรือแม้กระทั้งเขาพระวิหารเองนั้นเป็นของใครเพราะจุดประสงค์ที่แท้จริงของทะเบียนมรดกโลกคือการอนุรักษ์ไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ด้วยเหตุที่จุดประสงค์ที่แท้จริงขององค์การยูเนสโกคือการสร้างความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างประเทศ ด้วยเหตุที่จุดประสงค์ที่แท้จริงของความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างประเทศคือการสร้างสันติภาพอันยั่งยืน คำถามจึงย้อนกลับที่รัฐบาลไทยและพลเมืองไทยว่าเมื่อประเทศไทยเป็นสมาชิกของประชาคมโลกและเป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียน เราจะยอมทิ้งคำมั่นสัญญาว่าจะรักษาสันติภาพแล้วทำสงครามกับเพื่อนบ้านเพื่อแย้งมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติไปเพื่ออะไร? 
       
       ข.      ประวัติศาสตร์เขาพระวิหารที่เลือนหายไป
       นักประวัติศาสตร์พบว่าตระกูลไทยกลับตระกูลเขมรมีบรรพชนร่วมกัน หลักฐานความสัมพันธ์ฉันเครือญาติปรากฎอยู่ในภาพสลัก “ขบวนแห่” บนระเบียงประวัติศาสตร์นครวัด ซึ่งแสดงพิธีกรรมถือน้ำพิพัฒน์สัตยาระหว่างกษัตริย์กัมพูชากับเครือญาติ สนิทชั้นสูง เช่น สยาม ละโว้[54] ปราสาทพระวิหารมีปรากฎอยู่ในตำนานตากุเหในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา โดยในครั้งนั้นชาวเขมรเรียกปราสาทพระวิหารว่า “พระวิหารสวรรค์”[55] ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวขอมซึ่งเป็นบรรพชนของอุษาคเนย์ทั้งไทย เขมร ลาวและเวียดนามได้สร้างขึ้น   ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ชี้ว่า “อาณาจักรขอม-เขมรอันรุ่งเรืองต้องสูญสลายลงก็ด้วยสงครามเสียกรุงศรียโสธรปุระ (นครวัด-นครธม) 3 ครั้งถูกพระเจ้าอู่ทองตีครั้งที่ 1 พระราเมศวรครั้งที่2 และครั้งที่ 3..1974พระเจ้าสามพระยาตีแตกย่อยยับนับแต่นั้นนครวัด-นครธมก็ล่มสลายเขมรต้องย้ายเมืองหลวงหนีไปให้ไกลจากไทยอยุธยาไปยังเมืองละแวกเมืองอุดงมีชัยและเมืองพนมเปญในที่สุดการเสียกรุงศรียโสธรปุระ พ.ศ. 1974 เปรียบได้รับการเสียกรุงศรีอยุธยา.ศ. 2310 แต่ประวัติศาสตร์ไทยไม่อยากกล่าวถึงไม่มีในตำราเรียนของกระทรวงศึกษาธิการเพราะทำให้คนไทยดูกลายเป็นคน “เลวร้าย” เฉกเช่นพม่า”[56]
       ชาญวิทย์ เกษตรศิริ มีความเห็นว่ารากเหง้าของปัญหาชายแดนเขาพระวิหารว่าเกิดจากผลผลิตของ “ลัทธิชาตินิยมแบบทหาร” หรือ “อำมาตยา-เสนาธิปไตย” ในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชาญวิทย์ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อศตวรรษที่แล้วอาจเป็นไปได้ว่าชาวสยามส่วนใหญ่มิได้รู้จักหรือไม่เคยได้ยินชื่อเขาพระวิหาร เขาพระวิหารก็หาได้มีความสำคัญในจิตใจของชาวสยามเสียเท่าไร ผู้ที่จะสนใจเขาพระวิหารก็อาจมีเพียงแต่ชนชั้นเจ้านายที่มีการศึกษาหรือมีความสนใจในด้านโบราณคดีเท่านั้น ดังหลักฐานที่ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเขาพระวิหาร ครั้งนั้นได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ข้าราชการอาณานิยมของฝรั่งเศสได้ทราบ ข้าราชการอาณานิยมเหล่านั้นจึงมาถวายการต้อนรับอย่างเป็นทางการ ปรากฎเป็นหลักฐานว่ามีการเชิญธงชาติฝรั่งเศสเหนือปราสาทพระวิหาร ชาญวิทย์จึงเห็นว่ารัฐบาลสยามในสมัยราชาธิปไตยยอมรับว่าเขาพระวิหารเป็นของอินโดนจีนฝรั่งเศส แต่ความรู้สึกว่าเขาพระวิหารเป็นของไทยเพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อลัทธิชาตินิยมแบบทหารเริ่มลงหลักปักฐานพร้อมๆ กับการมองแนวพรมแดนประเทศใหม่ใน “สกุลจอมพล ป.พิบูลสงครามและหลวงวิจิตรวาทการ” (พ.ศ. 2491-2500)[57] ในประเด็นนี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ มีความเห็นในทางเดียวกับ ชาญวิทย์ เกษตรศิริว่าชนชั้นนำในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะรู้จักเขาพระวิหารอยู่ไม่กี่คน/พระองค์ ทั้งนี้เนื่องจากในยามนั้นปัญหาที่น่าหนักใจกว่าในพื้นที่แถบนั้น คือ ความไม่แน่นอนว่าประเทศมหาอำนาจยอมรับว่าไทยมีอธิปไตยเหนือดินแดนแถบอีสาน หาพิจารณาให้ดีจะพบว่าอีสานเหนือเป็นเขตวัฒนธรรมลาวในขณะที่อีสานใต้ก็เป็นเขตวัฒนธรรมเขมร สยามก็วิตกว่าฝรั่งเศสที่ยึดครองเวียดนาม เขมรและลาวจะยกพลมายึดมลฑลอีสานไปผนวกกับอินโดจีน สุจิตต์ชี้ว่าการที่รัฐบาลสยามทำสนธิสัญญาเรื่องเขตแดนกับฝรั่งเศสซึ่มีพันธะให้ต้องยอมรับแผนที่แนบท้าย 1 : 200 000 ที่มีปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตของกัมพูชาของฝรั่งเศสเป็น “ความสำเร็จ” อันยิ่งใหญ่ เพราะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าสยามมีอธิปไตยเหนือดินแดนอีสานอย่างแน่ชัด[58]
       ต่อมาภายหลังได้มีการปลูกฝังความคิดว่าปราสาทเขาพระวิหารเป็นของไทยภายหลังที่รัฐบาลพิบูลสงครามตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สองตามญี่ปุ่นและต้องคืนดินแดนที่ยึดได้มาแก่เจ้าอาณานิคมเดิม แม้ไทยจะได้คืนพื้นที่ จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดพระตะบอง และจังหวัดจำปาศักดิ์ (เสียมเรียม พระตะบอง ศรีโสภณและจำปาศักดิ์) คืนแก่ฝรั่งเศส แต่ก็หาได้คืนปราสาทเขาพระวิหารไม่[59] ครั้นกัมพูชาได้รับเอกราชฝ่ายชาตินิยมของกัมพูชาก็ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เมื่อศาลพิพากษาให้กัมพูชาชนะคดี แทนที่ไทยจะยอมรับคำพิพากษาแล้วพลิกฟื้นพื่นที่สู่ความสงบอีกครั้ง ผู้นำไทยกลับปลุกระดมกระแสชาตินิยมและปลุกความรู้สึกว่าไทยเสียดินแดนโดยไม่เป็นธรรมโดยสร้างจิตสำนึกใหม่ว่าเขาและปราสาทเขาพระวิหารเป็นของไทยและสร้างความชอบธรรมในการครอบครองเขาพระวิหารโดยตีความประวัติศาสตร์ผ่านแนวคิดชาตินิยม[60]
       
       ค.      มองปัญหาเขาพระวิหารผ่านกรอบอาเซียน
       ประชาคมอาเซียนเป็นเป้าหมายที่สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมกันตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2546 ตามข้อตกลงบาหลี 2 (Declaration of ASEAN Concord II)[61] โดยกำหนดให้ประชาคมอาเซียนประกอบด้วยสามเสาหลักคือ ประชาคมความมั่นคงและการเมือง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม จุดประสงค์ของการตั้งประชาคมก็เพื่อที่จะสร้างความั่นคง ความมั่งคั่งตลอดจนเสถียรภาพและสันติภาพผ่านการสานความเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ประชาคมอาเซียนจะสร้างความได้เปรียบเหนือความเป็นพลวัตรของกระแสโลกเนื่องจากความหลากหลายปรากฎอยู่ในภูมิภาค[62]
       การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนจะส่งผลให้แนวคิด “อธิปไตย” ที่ยึดโยงอยู่กับูรณภาพแห่งดินแดนเปลี่ยนไป ประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศต่างก็จะต้องปรับตัวเพื่อเข้าสู่ยุคใหม่ ระบบใหม่ เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่งอกงามยิ่งกว่า ปรากฎการณ์นี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ หากมองไปยังทวีปต่างๆ ทั่วโลกจะพบว่าเกิดการร่วมกลุ่มประเทศในทุกทวีป ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนารูปแบบการจัดการภูมิภาคของตนเอง ยังมีองค์กรที่พัฒนาในระดับที่ใกล้เคียงกับอาเซียน เช่น สหภาพแอฟริกา ประชาคมแคริเบียน องค์การสันนิบาตอาหรับ สมาคมเอเชียใต้ เป็นต้น  หาพิจารณาบทบาทของประเทศไทยก็จะพบว่าประเทศไทยนั้นเคยเป็นผู้นำอาเซียนที่วาดฝันไว้ว่าประชาชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดจะรวมตัวกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ภายใต้ธงอาเซียน ประเทศไทยเป็นผู้ที่ผลักดันให้อาเซียนรับสมาชิกใหม่ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ในการสร้างประชาคมอาเซียนนั้นประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนได้คาดหวังให้ไทยมีบทบาทนำร่วมกับอินโดนิเซียเนื่องด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่ประเทศไทยเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกใหม่และเก่า อย่างไรก็ดีปัญหาการเมืองภายในของไทยและกรณีข้อพิพาทเขตแดนกับกัมพูชาได้ส่งผลให้ประเทศไทยเปลี่ยนจากบทบาทผู้นำกลายเป็นภาระของอาเซียน[63] การมองเขาพระวิหารหากมองผ่านเลนส์ของชาตินิยมจะเห็นว่ามันเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดความชัดเจน แต่หากมองผ่านเลนส์ของภูมิภาคนิยมจะเห็นว่าปราสาทเขาพระวิหารได้ “กลับ” มาเป็นของเราอีก แต่ในฐานะสมาชิกอาเซียนที่มีอัตลักษณ์มีความใกล้ชิดกันดั่งญาติพี่น้องบ้านเดียวกัน เมื่อนั้นเราจะพบว่าปราสาทพระวิหารมีคุณค่าแก่ชนรุ่นหลังผ่านความเป็นประชาคมของอาเซียนหาใช่ผ่านแสนยานุภาพกองทัพไทย[64]
       
       5.    บทส่งท้าย
       ปราสาทเขาพระวิหารเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งโรจน์ของบรรพชนคนอีสานและสองฝั่งแม่น้ำโขงที่ต่างเรียกตัวเองต่างกันไป เช่น เสียม ไทย ลาว เขมร ส่วย ข่า จาม ฯลฯ แต่ก็ร่วมกันเป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรมบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ[65] ชื่อ “สุวรรณภูมิ” นี้เป็นชื่อเก่าแก่ทีปรากฎในคัมภีร์โบราณของชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น มหาวงศ์พงศาวดารลังกาของชาวสิงหล ชาดกพุทธศาสนาของชาวอินเดีย นิทานเปอร์เชียในอิหร่าน แม้กระทั้งชาวฮั่นในจีนก็เรียกพื้นที่นี้ว่า จินหลิน หรือกิมหลินซึ่งแปลว่าแผ่นดินทอง อาจกล่าวได้ว่าสุวรรณภูมิไม่ใช่ชื่อรัฐหรืออาณาจักร หากแต่เป็นชื่อเรียกภูมิภาคที่เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนค้าขายระหว่างอินโด-เปอร์เชียและอาหรับกับอาณาจักรจีนโบราณ[66]  เมืองสุรินทร์ เมืองบุรีรัมย์และเมืองศรีสะเกษก็อยู่ในเขตเครือญาติของวงศ์กษัตริย์ผู้สร้างปราสาทเขาพระวิหาร ดังจะเห็นได้จากปราสาทหินที่มีอยู่ทั่วไปในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล เช่นปราสาทพนมวัน ปราสาทพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเหล่านี้แสดงได้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของวัฒนธรรมขอมซึ่งเกิดขึ้นและเสื่อมไปก่อนจะเกิดประเทศไทยหรือประเทศกัมพูชาเสียอีก ในเมื่อปัจจุบันทั้งไทยและกัมพูชาต่างก็เป็นสมาชิกอาเซียนเหมือนกัน เพราะเหตุผลกลใดจึงจะต้องมารบกันเพื่อแย้งมรดกทางประวัติศาสตร์ที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้ คุณค่าของเขาพระวิหารและปราสาทเขาพระวิหารในวันนี้มิได้จำกัดอยู่แค่เส้นพรมแดนที่กำกวมระหว่างไทยและกัมพูชา หากแต่เขาพระวิหารและตัวปราสาทนั้นเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติแล้วว่าสมควรแก่การอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นมรดกของมวลมนุษยชาติ เพื่อเป็นมรดกของคนทั้งโลก
       คนไทยและคนกัมพูชาควรย้อนกลับไปดูเจตนารมณ์ขององค์การยูเนสโก ย้อนกลับไปดูเจตนารมณ์ของอาเซียนที่จะก้าวไปข้างหน้าสู่แนวคิดภูมิภาคนิยม กลไกยุติข้อพิพาทตลอดจนข้อตกลงต่างๆของอาเซียนที่ทั้งสองประเทศเป็นภาคีก็มีอยู่แต่หาได้ถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ อันที่จริงแล้วข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชาในครั้งนี้ควรที่จะเป็นตัวอย่างของการบังคับใช้กฎบัตรอาเซียนและกระบวนการยุติข้อพิพาทในภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกระงับข้อพิพาทตามสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และระเบียบวิธีพิจารณาของคณะมนตรีของสภาสูงตามสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งถือว่าเป็นกลไกหลักที่ออกแบบมาเพื่อยุติข้อพิพาทด้านการเมืองและความมั่นคงของภูมิภาค หากไทยและกัมพูชาสามารถระงับข้อพิพาทผ่านกลไกอาเซียนได้ อาเซียนก็จะมีบรรทัดฐานใหม่ๆมาปรับใช้กับข้อพิพาทที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากเรามองไปข้างหน้าคำถามที่ท้าทายยิ่งกว่าการสร้างประชาคมอาเซียนก็คือ เราจะทะนุบำรุงรักษาประชาคมอาเซียนและภูมิภาคของเราอย่างไรให้อยู่รอดปลอดภัยและมีประสิทธิภาพแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆได้
       นอกจากนั้นทั้งไทยและกัมพูชาควรจะชำระประวัติศาสตร์ร่วมกันเนื่องจากประวัติศาสตร์ไทยที่แพร่หลายในทุกวันนี้เป็นชุดประวัติศาสตร์ที่แฝงไปด้วยอคติของลัทธิชาตินิยมที่ดูถูกและสร้างความบาดหมางกับเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นพม่า มอญ เขมร ลาว ญวน แขกมาเลย์ ว่าชาติเหล่านี้ต่างต่ำต่อยด้อยค่ากว่าไทยทั้งสิ้น สมควรหรือไม่ที่เราจะสร้างประวัติศาสตร์ของภูมิภาคขึ้นมาพร้อมๆ กับประวัติศาสตร์ของชาติ ประชาคมอาเซียนคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากเราสอนคนรุ่นถัดไปให้จงเกลียดจงชังเพื่อนบ้านของเรา สงครามโลกทั้งสองครั้งชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของทั้งลัทธิล่าอาณานิคมและลัทธิชาตินิยมที่มีรากฐานจากการถือเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ เป็นนายเป็นบ่าว ความปราชัยย่อยยับของประเทศในยุโรปเป็นบทเรียนสำคัญให้ชาติที่เคยเป็นอริหันมาจับมือและพัฒนาร่วมกันจนเป็นสหภาพยุโรปที่นำพาทวีปยุโรปสู่ความเจริญรุ่งโรจน์อีกครั้ง เพื่อนบ้านอย่างประเทศเวียดนามก็เป็นหนึ่งประเทศที่เราควรจะเรียนรู้และยอมรับความสามารถในการปรับตัวเข้าสู่โลกอาเซียน เวียดนามเรียนรู้ที่จะให้อภัยสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรที่เคยเป็นศัตรูกันสมัยสงครามเย็น ทั้งๆ ที่ลูกระเบิดนับไม่ถ้วนที่กองทัพสหรัฐอเมริกาไปทิ้งในประเทศเวียดนามก็บินมาจากประเทศไทยเสียส่วนใหญ่ กระนั้นเวียดนามสามารถที่จะละทิ้งความโกรธแค้นที่เจ็บปวดสมัยสงครามเวียดนามและหันหน้ามาคบค้ากับชาติอาเซียนเพื่อก้าวต่อไป  ในอดีตเมื่อครั้งประเทศไทยเผชิญกับการล่าอาณานิคมจากชาวตะวันตกประเทศไทยดำเนินวิเทศโยบายที่จะเสียส่วนน้อยเพื่อพิทักษ์ส่วนใหญ่ไว้ วันนี้เมื่อปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศได้ยกระดับไปสู่การตั้งประชาคมอาเซียนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาคและสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันในหมู่เพื่อนบ้าน คำถามที่สำคัญในวันนี้คือเรามีวิสัยทัศน์และมีความกล้าที่จะยอมละทิ้งบาดแผลในอดีตและก้าวไปข้างหน้าหรือไม่
       

       
       

       
       

       [1] Martin Wagener, 'Lessons from Preah Vihear: Thailand, Cambodia, and the Nature of Low-Intensity Border Conflicts' (2011) 30(3) Journal of Current Southeast Asian Affairs 27.

       
       

       [2]  ชาญวิทย์ เกษตรศิริ,“เขาพระวิหาร: มรดกโลกของกัมพูชา ข้ามเขมร ขึ้นเขาพระวิหาร” (2534) 6 (17) สารคดี, 140-154.

       
       

       [3] เรื่องเดียวกัน.

       
       

       [4] ขนิษนาฎ รัตนพฤกษ์, กนกกร วีระประจักษ์, บรรยายพิเศษ “ความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชา กรณีปราสาทเขาพระวิหาร” จัดโดยกองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์ ฝ่ายศึกษา โรงเรียนนายเรือ 17 ธันวาคม 2551 ณ ห้องประชุม อาคาร 10.

       
       

       [5] Martin Wagener, 'Lessons from Preah Vihear: Thailand, Cambodia, and the Nature of Low-Intensity Border Conflicts' (2011) 30(3) Journal of Current Southeast Asian Affairs 27, 31.

       
       

       
       [6] Temple of Preah Vihear (Cambodia v Thailand)(Merits) [1962] ICJ 6.
       

       
       

       [7] กระทรวงการต่างประเทศ, ข้อมูลที่ประชาชนไทยควรทราบเกี่ยวกับกรณีปราสาทเขาพระวิหารและการเจรจาเขตแนดไทย-กัมพูชา, ธันวาคม 2554,17.

       
       

       [8] หนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ 11467/2505 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2505.

       
       

       [9] กระทรวงการต่างประเทศ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 8, 39.

       
       

       [10] International Crisis Group, Waging Peace: ASEAN and the Thai-Cambodian Border Conflict (2011)  , 4 cited The Meeting on Thailand-Cambodia Joint Development of Preah Vihear Temple, press statement, Thai Foreign Ministry, 25 March 2004.

       
       

       [11] Ibid.

       
       

       [12] Joint Communiqué of Thailand, Cambodia and UNESCO, 18 June 2008.

       
       

       [13]  International Crisis Group, above n 11, 4.

       
       

       [14] Wagener, above n 6, 32.

       
       

       [15] Laurence Henry, 'The ASEAN Way and Community Integration: Two Different Models of Regionalism' (2007) 13(6) European Law Journal 857.

       
       

       [16] Muthiah Alagappa, 'Regionalism and Conflict Management: A Framework for Analysis' (1995) 21(4) Review of International Studies 359, 362.

       
       

       [17] Ibid 364.

       
       

       [18] ภูวิน บุณยะเวชชีวิน, “อาเซียนในศตวรรษที่ 21: จากทัศนะภูมิถภาคนิยมใหม่” (2553) 1(1) วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ 23, 28.

       
       

       [19] Pantelis Sklias, 'Globalism Versus Regionalism? The International Political Economy of Regional Cooperation in the Third World' (2010) 14(3/4) European Journal of Social Science 489, 491.

       
       

       [20] Kathleen J Hancock, Regional integration; Choosing plutocracy (Basingstoke, Palgrave Macmillan, 2009)25-7.

       
       

       [21] Lolette Kritzinger-van Niekerk, Regional Integration: Concepts, Advantages, Disadvantages and Lessons of Experience (2005)  , 3.

       
       

       [22] S W Polachek, 'Conflict and trade: An economics approach to political international interactions' (1999) 5(2) Peace economics, peace science, and public policy 295

       
       

       [23] พัชร์ นิยมศิลป, ‘กลไกระงับข้อพิพาทในอาเซียนกับการเป็นองค์กรที่มีฐานทางกฎหมาย (Rule-based Organisation)’ (2552) 4(2) วารสารกระบวนการยุติธรรม 111, 112-3.

       
       

       [24] Mely Caballero Anthony, Regional security in Southeast Asia : beyond the ASEAN way (Institute of Southeast Asian Studies, 2005) 15.

       
       

       [25] Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia, Indonesia, signed on 24 February 1976.

       
       

       [26] Ibid art 1.

       
       

       [27] Ibid art 15.

       
       

       [28] The Rules of Procedure of the High Council of the Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia, Vietnam, 23 July 2001, rules 7-9.

       
       

       [29] ASEAN Charter arts 22-3.

       
       

       [30] ASEAN Political-Security Community Blueprint [5].

       
       

       [31] เอกสารประกอบการสัมมนา เรื่อง “กลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียนและกฎสำหรับการเสนอเรื่องการไม่ปฏิบัติตามให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนตัดสิน” จัดโดย สำนักงาน ก.พ.ร.  24 มกราคม 2555 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพมหานคร.

       
       

       [32] Amitav Acharya, Constructing a security community in Southeast Asia (Routledge, 2001) 64.

       
       

       [33]  Acharya, above n 33, 71-2.

       
       

       [34] Caballero Anthony, above n 25.

       
       

       [35] Ibid 65-6.

       
       

       [36]  Acharya, above n 33, 58.

       
       

       [37] The ASEAN Charter art 21 para 2.

       
       

       [38] Caballero Anthony, above n 25,74-5.

       
       

       [39] Ibid 76.

       
       

       [40] Geoffrey Cockerham, 'Regional Integration in ASEAN: Institutional Design and the ASEAN Way' (2010) 27(2) East Asia: An International Quarterly 165, 178.

       
       

       [41] International Crisis Group, above n 11, 6 cited WikiLeaks ‘Thai-Cambodian border dispute: Thai army assesses no reduction in Cambodian troop at Preah Vihear’, U.S. embassy Bangkok cable (28 August 2009).

       
       

       [42]Reuters, ‘Thai, Cambodia troops clash again with heavy artillery’ 26 April 2011’; Reuters, ‘Thai and Cambodian troops exchange fire near ancient temple’ 26 April 2011 < http://www.reuters.com/article/2011/04/26/us-thailand-cambodia-idUSTRE73O0BH20110426>.

       
       

       [43] The National Institute for Defense Studies (ed), Southeast Aisa: Challenges in Creating an "ASEAN Political-Security Comminity", East Asian Srategic Review 2012 (The Japan Times, 2012) 129.

       
       

       [44] Temple of Preah Vihear (Cambodia v Thailand) (Request for interpretation of the Judgment) [2011] < http://www.icj-cij.org/docket/files/151/16584.pdf>.

       
       

       [45] International Court of Justice, Request for interpretation of the judgement of 15 June 1962 in the case concerning the Temple of Preah Vihear (Cambodia v Thailand) 18 July 2011 .

       
       

       [46]  International Crisis Group, above n 11, ii, 27.

       
       

       [47] UNESCO Constitution, adopted in London 16 November 1945, Preamble.

       
       

       [48] Ibid art 1.

       
       

       [49]  Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage 1972, Preamble: “Considering that protection of this heritage at the national level often remains incomplete because of the scale of the resources which it requires and of the insufficient economic, scientific, and technological resources of the country where the property to be protected is situated”

       
       

       [50] Ibid :“Considering that the existing international conventions, recommendations and resolutions concerning cultural and natural property demonstrate the importance, for all the peoples of the world, of safeguarding this unique and irreplaceable property, to whatever people it may belong”

       
       

       [51]  Ibid: “Considering that parts of the cultural or natural heritage are of outstanding interest and therefore need to be preserved as part of the world heritage of mankind as a whole”

       
       

       [52]  Ibid art 11: “The inclusion of a property in the World Heritage List requires the consent of the State concerned. The inclusion of a property situated in a territory, sovereignty or jurisdiction over which is claimed by more than one State shall in no way prejudice the rights of the parties to the dispute”

       
       

       [53] พวงทอง ภวัครพันธุ์, “ลาออกจากมรดกโลก : บนความสูญเสียของใคร?” มติชนออนไลน์ 28 มิถุนายน 2554 < http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1309247610&grpid=01&catid=01>.

       
       

       [54] สุจิตต์ วงษ์เทศ, “ไทยกับเขมร พี่น้องท้องเดียวกัน” บอกเล่าเก้าสิบ 13 กุมภาพันธ์ 2554 .

       
       

       [55] สุจิตต์ วงษ์เทศ, “ปราสาทสวรรค์ บนพนมสวรรค์ของอาเซียน” มติชนรายวัน 25 กรกฎาคม 2554.

       
       

       [56] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 3.

       
       

       [57] เรื่องเดิม.

       
       

       [58] สุจิตต์ วงษ์เทศ, “หัวอกลาว กรณีปราสาทพระวิหาร” มติชนรายวัน 1 กรกฎาคม 2554.

       
       

       [59] ขนิษนาฎ รัตนพฤกษ์, กนกกร วีระประจักษ์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 5.

       
       

       [60] เรื่องเดิม.

       
       

       [61] Declaration of ASEAN Concord II < http://www.aseansec.org/15159.htm>.

       
       

       [62] Ibid paras 1-4.

       
       

       [63] “สุรเกียรติ์ เสถียรไทย วิเคราะห์อาเซียนห่วงไทย จาก ผู้นำ พลิกเป็น ตัวฉุด” ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 4 กันยายน 2555.

       
       

       [64] สุจิตต์ วงษ์เทศ, “ปราสาทพระวิหารในอดีตและอนาคต” มติชนออนไลน์ 31 พฤษภาคม 2554 .

       
       

       [65] สุจิตต์ วงษ์เทศ, ปราสาทพระวิหาร ทำไม? มาจากไหน (เรือนแก้วการพิมพ์, 2551) 50-1.

       
       

       [66] เรื่องเดิม 58.

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544