หน้าแรก บทความสาระ
ขอบเขตของคำว่า “พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ในประมวลกฎหมายอาญา
ดร.ชัชพล ไชยพร รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
17 พฤศจิกายน 2556 17:53 น.
 
          การปกป้องคุ้มครองประมุขของรัฐ เป็นส่วนหนึ่งแห่งการปกป้องความเป็นอยู่ของชาติ (National defense) เป็นหลักการสากลที่ยอมรับกันเป็นการทั่วไป ดังนั้นผู้กระทำความผิดต่อประมุขของรัฐ จึงเกี่ยวเนื่องไปถึงความผิดอาญาทางการเมืองอันส่งผลร้ายต่อความมั่นคงและการดำรงอยู่ของรัฐ หลักการนี้ดำรงอยู่ในแทบทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการปกครองในรูปแบบใด และมีประมุขในลักษณะใด ไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์ ประธานาธิบดี ประธานประเทศ หัวหน้าพรรค ฯลฯ จึงทำให้การกระทำความผิดต่อประมุข เป็นความผิดที่มีการกำหนดโทษสูงกว่าการกระทำต่อบุคคลธรรมดาทั่วไป
                 ในทางนิติศาสตร์ การปกป้องคุ้มครองประมุขของรัฐเป็นพิเศษ จึงไม่เป็นเรื่องผิดแปลก และเป็นความถูกต้องสมควรจะมีบทบัญญัติในลักษณะเช่นว่านี้ด้วยซ้ำ
        ประเทศไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลักชัยของชาติมาตลอดชั่วระยะเวลาที่สืบประวัติศาสตร์แห่งความเป็นชนชาติไทยไปถึง ดังนั้น นับแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูประบบราชการยุติธรรมและกฎหมายไทยให้ดำเนินไปตามอารยวิถีอย่างตะวันตก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำกฎหมายลักษณอาญา ร.ศ.๑๒๗ เป็นประมวลกฎหมายอาญาฉบับแรกของสยาม เรื่อยมาจนถึงประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน จึงมีการกำหนดความผิดทางอาญาเป็นการเฉพาะต่อองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันประมุขไว้เป็นพิเศษ ในปัจจุบันปรากฏในประมวลกฎหมายอาญาภาค ๒ ความผิด ลักษณะ ๑ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด ๑ ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จำนวน ๖ มาตรา กล่าวคือ
       มาตรา ๑๐๗ เรื่อง ปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์
       มาตรา ๑๐๘ เรื่อง ประทุษร้ายต่อพระองค์/เสรีภาพพระมหากษัตริย์
       มาตรา ๑๐๙ เรื่อง ปลงพระชนม์พระราชินี รัชทายาท หรือฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
       มาตรา ๑๑๐ เรื่อง ประทุษร้ายต่อพระองค์หรือเสรีภาพของพระราชินี รัชทายาท หรือต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
       มาตรา ๑๑๑ เรื่อง การสนับสนุนการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๑๐
       มาตรา ๑๑๒ เรื่อง หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
        
       ประเด็นปัญหา
               ประเด็นปัญหาที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ ได้แก่ นิยามความหมายของคำว่า
       ๑.      พระมหากษัตริย์
       ๒.      พระราชินี
       ๓.      รัชทายาท
       ๔.      ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
       ในประมวลกฎหมายอาญา มีขอบเขตความหมายครอบคลุมเพียงใด ถึงท่านพระองค์ใดและบุคคลใดบ้าง
        
       ๑.     ถ้อยคำตามต้นร่างภาษาอังกฤษในกฎหมายลักษณอาญา ร.ศ.๑๒๗
               หากจะทำความเข้าใจถ้อยคำอันเป็นประเด็นปัญหา ในความผิดหมวดนี้ให้กระจ่าง การศึกษากฎหมายลักษณอาญา ร.ศ.๑๒๗ ภาคภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นต้นฉบับแรกของคณะกรรมการร่าง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับใช้แปลเป็นภาษาไทย ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจ
                 ขอยกตัวอย่างมาตรา ๙๘ แห่งประมวลกฎหมายลักษณอาญา ร.ศ.๑๒๗ เพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้ “ผู้ใดทะนงองอาจ แสดงความอาฆาฏมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระมเหสีก็ดี มกุฎราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่าเจ็ดปีแลให้ปรับไม่เกินกว่าห้าพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”[๒]
                 ต้นร่างภาษาอังกฤษใช้ถ้อยคำว่า “Whoever threatens insults or defames the King, the Queen, the Crown Prince, or the Regent during the Regency, shall be punished with imprisonment not exceeding seven years and fine not exceeding five thousand ticals.”[๓]
                 ผู้เคยเรียนไวยากรณ์ภาษาอังกฤษได้ดีพอสมควรคงทราบชัดอยู่ว่าคำนำหน้าคำนามที่เรียกว่า Articles นั้นมีจำแนกเป็น a an และ the การใช้ the นำคำนามใดๆ ย่อมหมายถึงการจำเพาะเจาะจง ยิ่งเป็นคำนามเอกพจน์ด้วยแล้วย่อมหมายเป็นหนึ่งเดียวเฉพาะ ซึ่งความหมายตามต้นร่างภาษาอังกฤษของกฎหมายลักษณอาญา ร.ศ.๑๒๗ ใช้ article นำ King (พระมหากษัตริย์) Queen (สมเด็จพระมเหษี) Crown Prince (มกุฎราชกุมาร) และ Regent (ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน) ด้วย “The” เป็นการชี้ชัดเฉพาะลงไปว่าหมายถึงบุคคลนั้นๆ ในปัจจุบัน (เป็นเอกพจน์แต่เพียงผู้เดียว) เท่านั้น 
                 หากผู้ร่างมีเจตนารมณ์จะให้หมายถึงพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระมเหสี มกุฎราชกุมาร และผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (ปัจจุบันใช้คำว่า พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) ในอดีตด้วยแล้ว ต้นร่างภาษาอังกฤษพึงใช้คำว่า a king, a queen, a crown prince, a regent หรือ the kings, the queens, the crown princes, the regents
                 เมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ตามต้นร่างประกอบกับหลักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษธรรมดาสามัญทั่วไปจึงไม่อาจตีความเป็นอื่นไปได้นอกจากพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระมเหษี มกุฎราชกุมาร พระองค์ ณ ขณะปัจจุบันนั้น หรือผู้สำเร็จราชการแผ่นดินขณะสำเร็จราชการในเวลานั้น เท่านั้น
        
       ๒.     คำอธิบายของนิติปูชนียาจารย์
               ปูชนียาจารย์ของวงวิชาการและวงวิชาชีพนิติศาสตร์ท่านสำคัญท่านหนึ่ง คือ ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ (๒๔๕๑-๒๕๓๘) อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานวุฒิสภา ประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๒๑ และองคมนตรีในรัชกาลปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๗ ถึง ๒๕๓๘ ได้อธิบายขอบเขตการตีความคำว่า “พระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ ๑ หมวด ๑ ไว้อย่างชัดเจน ในคำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค ๒ ตอน ๑ ว่า[๔]
                 “พระมหากษัตริย์ ตามมาตรานี้หมายความถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันในขณะมีการกระทำผิด มิฉะนั้น จะกลายเป็นความผิดต่อพระมหากษัตริย์ในประวัติศาสตร์ด้วยโดยไม่มีขอบเขต”
                 คำอธิบายอันชัดเจนนี้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของถ้อยคำตามร่างภาษาอังกฤษของกฎหมายลักษณอาญา ร.ศ.๑๒๗
                 ศาสตราจารย์ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อดีตศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนล่าสุด ยังได้ขยายความเพิ่มเติมในคำว่า พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ว่า[๕]
                 “พระราชินี” หมายถึง คู่อภิเษกสมรสของพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ขณะมีการกระทำความผิด ไม่ใช่พระราชินีในรัชกาลก่อน แม้ยังทรงพระชนม์อยู่ก็ตาม
                 “รัชทายาท” ตามนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.๒๔๖๗ ซึ่งรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๒๒ และ ๒๓ กล่าวคือเป็น “มกุฏราชกุมาร” หรือ “มกุฏราชกุมารี”[๖] เท่านั้น
                 “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” หมายถึง ผู้ทำหน้าที่ประมุขแทนพระมหากษัตริย์เป็นการชั่วคราวเมื่อพระองค์มิได้ประทับในราชอาณาจักร หรือทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ หรือในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและยังมิได้มีการอัญเชิญพระรัชทายาทหรือองค์ผู้สืบสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ หรือในกรณียังไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ได้แก่ประธานองคมนตรีนั่นเอง
                 จากคำอธิบายข้างต้นนี้ขยายความได้ว่า “พระราชินี” หมายถึงคู่อภิเษกของพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ซึ่งอาจอธิบายได้ว่าคือพระองค์ผู้ทรงสถิตในตำแหน่ง สมเด็จพระบรมราชินีนาถ หรือสมเด็จพระบรมราชินี หรือสมเด็จพระบรมราชเทวี พระองค์ซึ่งทรงจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงจดทะเบียนราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นคู่อภิเษก ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๓ และต่อมาได้ทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตามลำดับ ส่วนสมเด็จพระมเหสีพระองค์อื่นๆ หากมิใช่คู่อภิเษกสมรสของพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน เช่น สมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ซึ่งทรงดำรงพระชนมชีพมาตราบจนรัชกาลปัจจุบัน (เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗) ก็ไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามหมวดนี้
                 คำว่า “รัชทายาท” มีคำอธิบายกระจ่างว่าหมายถึงรัชทายาทตามนัยกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน อันหมายถึงพระองค์ผู้ทรงดำรงตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งพระมหากษัตริย์ได้ทรงสถาปนา (บางทีใช้คำว่า “สมมต” ซึ่งแปลว่า ตั้ง) ไว้ในตำแหน่งนั้นแล้วตามกฎหมาย หรือในกรณีมิได้ทรงสถาปนาสยามมกุฎราชกุมาร ก็หมายถึงพระองค์ผู้ทรงอยู่ในลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ลำดับแรก ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ซึ่งในรัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ไว้ในพระราชอิสริยยศที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร แล้ว
                 คำว่า “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ตามที่ศาสตราจารย์ ดร.ทวีเกียรติฯ อธิบายไว้นั้นก็ชัดแจ้งอยู่แล้ว จึงขอยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจ กล่าวคือ ในบางเวลาที่พระมหากษัตริย์มิอาจทรงบริหารพระราชภาระได้ เช่น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ยังทรงพระเยาว์ มิได้ประทับในราชอาณาจักรและยังไม่ทรงบรรลุราชนิติภาวะ ก็มีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ บริหารพระราชภาระแทนจนถึงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๘๘ อันเป็นวันที่ทรงบรรลุราชนิติภาวะ บุคคลในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้นย่อมได้รับความคุ้มครองตามหมวดนี้ แต่ก็เฉพาะในเวลาที่ดำรงตำแหน่ง ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ เพื่อทรงเจริญพระราชไมตรี ก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสำเร็จราชการแทนพระองค์ทุกครั้ง สมเด็จพระบรมราชชนนีก็จะทรงได้รับความคุ้มครองตามหมวดนี้ ตลอดระยะเวลาที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อยู่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินนิวัตประเทศไทยแล้ว ความคุ้มครองในหมวดนี้ย่อมมิได้ครอบคลุมถึงพระองค์ผู้ทรงสิ้นสุดพระราชภาระแห่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว
        
       ๓.     ผลประหลาดที่อาจเกิดขึ้นในกรณีขยายขอบเขตของถ้อยคำไปถึงบุคคลในอดีต
       ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ได้ให้เหตุผลว่าว่าการจำกัดขอบเขตไว้เพียงพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบันเมื่อขณะกระทำความผิดตามหมวดนี้เนื่องจากถ้าขยายขอบเขตครอบคลุมกว้างไปถึงพระมหากษัตริย์ในประวัติศาสตร์ จะกลายเป็นการ “หาขอบเขตอันเป็นองค์ประกอบความผิดมิได้” 
       การขยายขอบเขตจนหาองค์ประกอบความผิดมิได้ อาจก่อผลร้ายแก่สังคม เช่น การกล่าวถึง การศึกษา และการวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ การทำความเข้าใจสภาพสังคมในอดีต การแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ ตลอดจนการละเล่นและขนบประเพณีเชิงศิลปวัฒนธรรม จะกลายเป็นความสุ่มเสี่ยงต่อความผิดในหมวดนี้ เป็นความเบี่ยงเบนของบรรทัดฐานสำคัญที่สุดของสังคมและมีสภาพบังคับรุนแรงที่สุดคือ คือ “กฎหมาย” อันจะส่งผลต่อ “จารีตประเพณี” และ “วิถีประชา” ไปในเวลาเดียวกัน ซ้ำร้ายอาจส่งผลในเชิง “ปฏิภาค” ต่อสถาบันอันเป็นที่เคารพบูชาของมหาชนทั้งปวง 
       มาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นเรื่องของการดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งหากลองจินตนาการดูว่าคำว่า “พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ครอบคลุมไปถึงพระองค์หรือบุคคลที่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่นั้นๆ แล้ว หรือหาพระองค์ไม่ หรือวายชนม์ไปแล้ว จะเกิดผลเช่นไร  และส่งผลต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรอันเป็นคุณธรรมทางกฎหมาย (Legal interest) ตามเจตนารมณ์หรือไม่
       การกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ในอดีตของคนไทย มีนัยที่หลากหลายในเชิงพระราชสมัญญาหรือคำเรียกขานตามภาษาปาก เช่น ขุนหลวงหาวัด ขุนหลวงขี้เรื้อน จนแม้กระทั่งการกล่าวถึงสมเด็จพระมเหสีหรือคู่อภิเษกของพระมหากษัตริย์ เช่น แม่หยัวศรีสุดาจันทร์ พระนางเรือล่ม เรื่อยไปจนถึงการหาข้อสรุปเชิงประวัติศาสตร์ว่าบุคคลผู้มีพฤติกรรมอย่างใดๆ ในพระราชพงศาวดารเป็นพระมหากษัตริย์ไทยหรือไม่ มี ขุนวรวงศาธิราช เป็นอาทิ จะกลายเป็นภาวะพึงวิตกว่าดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือไม่ หากคำว่า “พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท” ตามหมวดนี้ ขยายไปจนถึงอดีตสมัย
       การดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายอดีตพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท อาจทำได้ในหลายทางในวงวิชาการ วงวิชาชีพ และวงการบันเทิง ทั้งยังมีการทำเช่นว่าแล้วอยู่เนืองๆ เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชวิจารณ์ตำหนิพระราชอัธยาศัยบางประการของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง, การที่ผู้คนกล่าวตำหนิสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ พระมหากษัตริย์รัชกาลสุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา, การวิเคราะห์ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี, การกล่าวถึงวิธีจารีตนครบาลที่ทรมานผู้ต้องหาที่มีในสมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕, การวิเคราะห์ประวัติศาสตร์การเสวยราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนการเล่นละครที่มีบทบาทด่าทอต่างๆ เช่น บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ เรื่องพระร่วง (พ่อขุนศรีอินทราทิตย์) เป็นต้น
       หากจะอธิบายในเชิงว่าบุคคลเหล่านี้ มีสายสัมพันธ์สืบเนื่องถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน การกระทำใดๆ จึงส่งผลกระทบต่อพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ยิ่งน่าพิจารณาให้ไกลไปถึงเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นบุพการีของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) บรรพชนของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) พระชนกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งทรงเป็นต้นแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ แต่ยังดีที่บุคคลเช่น เจ้าแม่วัดดุสิต เจ้าพระยาโกษาปาน และสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนั้น มิได้สถิตในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่อาจเข้าองค์ประกอบได้เป็นแน่แท้
       อนึ่ง มีข้อพึงปรารภไว้ ณ ที่นี้ว่า ถ้อยคำบางคำเช่น “แผ่นดิน” “รัชสมัย” และ “รัชกาล” นั้น มีความหมายถึงชั่วระยะสมัยแห่งการปกครองหรือการทรงราชย์ของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง มิใช่หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ เช่น แผ่นดินพระจุลจอมเกล้า รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และรัชกาลที่ ๕ เป็นความหมายของ the Reign of King Chulalongkorn หรือ the Fifth Reign ไม่ใช่พระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หากจะหมายถึงพระองค์แล้วอาจใช้ในหลายถ้อยคำ เช่น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕, พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕, ในหลวงรัชกาลที่ ๕, พระปิยมหาราช ฯลฯ แต่ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่า “รัชกาลที่ ๕” หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดแบบทั้งทางหลักภาษาและราชประเพณี ดังนั้น การเอ่ยถึงเหตุการณ์ที่ไม่ดี ไม่พึงปรารถนา ในช่วงรัชสมัยของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดๆ เช่น ในรัชกาลที่ ๑ นั้น ทาสมีความเป็นอยู่ลำบากยากแค้น, ยุคพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ผู้คนที่อยากจะกินปลาตะเพียนก็กินไม่ได้เลย เพราะมีกฎหมายห้าม ดังนี้ ย่อมไม่อาจเข้าข่ายแห่งการดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ในอดีตได้แม้แต่น้อย
       ยิ่งไปกว่านั้น ต้องไม่ลืมว่าความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย ในลักษณะ ๑ หมวด ๑ นี้ รวมถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย หากว่ารวมไปถึงอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จะเกิดผลประหลาดอย่างไม่อาจรับได้ เพราะจะไม่สามารถวิเคราะห์วิพากษ์บุคคลบางท่านที่อาจเป็นประเด็นพิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ได้โดยเสรีภาพทางวิชาการ เช่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ ๕, นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ ๘ เป็นต้น
        
       ๔.     บทสรุป
       ผู้ที่เรียนกฎหมายทุกคนคงกระจ่างแก่ในในหลักการตีความกฎหมาย อันเป็นพื้นฐานของการเรียน ว่าการตีความนั้นต้องตีความตามตัวอักษรก่อนหากตัวอักษรมีถ้อยคำชัดเจนก็ใช้กฎหมายไปตามนั้น แต่หากตัวอักษรไม่ชัดเจนหรือมีปัญหา จึงมาพิจารณาความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น ไปพร้อมๆ กัน นี่เป็นหลักการตีความกฎหมาย แต่กฎหมายอาญา ซึ่งมีหลักเกณฑ์พิเศษเนื่องจากเป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดและโทษจึงต้องตีความเคร่งครัดจะตีความโดยขยายความให้เป็นการลงโทษหรือเพิ่มโทษผู้กระทำผิดให้หนักขึ้นไม่ได้ ยิ่งการตีความโดยเทียบเคียง ยิ่งไม่สามารถทำได้ในการตีความกฎหมายอาญา
       เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำ เจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมาย บรรพตุลาการ และปูชนียาจารย์ทางนิติศาสตร์ จะพบว่าถ้อยคำว่า “พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ในกฎหมายอาญา ภาค ๒ ลักษณะ ๑ หมวด ๑ มีความหมายที่ชัดเจนและเป็นที่เข้าใจของนักกฎหมายมาช้านานแล้วว่าหมายถึงท่านพระองค์ผู้ทรงดำรงพระราชสถานะนั้นๆ หรือบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนั้นๆ ในขณะปัจจุบันแห่งการกระทำความผิด ผู้เขียนจึงขอแสดงความนับถือต่อผู้ร่างกฎหมาย บรรพตุลาการ และปูชนียาจารย์ ผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาคุณและความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และหลักนิติศาสตร์อันเป็น “หลักเมือง” ด้วยความเคารพอย่างสูง
       ผู้เขียนขอยืนยันว่าตามความคิดเห็นของผู้เขียน การคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในประมวลกฎหมายอาญาเป็นพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป เป็นสิ่งจำเป็น และพึงมีไว้ ผู้เขียนไม่เคยเรียกร้องให้แก้ไขยกเลิกมาตราใดๆ และยังเห็นด้วยที่จะให้ดำรงคงไว้ดังเดิม แต่ผู้เขียนปรารถนาสูงสุดด้วยสัตยาธิษฐานตั้งมั่นโดยน้ำใจจงรักภักดี ให้ราชอาณาจักรไทย มีสถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงเป็นหลักชัยไว้ชั่วกัลปาวสาน
       ปรารภเหตุดังนี้ การธำรงรักษาสถาบันนั้นๆ ด้วยความจงรักภักดี ต้องกอปรด้วยวิจารณปัญญาอย่างรอบคอบและแยบคาย เพื่อภักดีจิตอันตั้งอยู่ด้วยสุจริตธรรมจรรยา จะส่งผลคือความสวัสดีของประชาชนภายใต้พระบรมโพธิสมภารอันประเสริฐของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ตามครรลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สถาพรสถิตประดิษฐานสมรรถภาพอันประเสริฐ เป็นบ่อเกิดแห่งความผาสุกสันติคุณวิบุลราศีสืบไป เป็นนิจนิรันดร
        
                                                                          ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
        
        
        
        
        
              
                
       

       
       

       

       [๑] รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       

       

       [๒]คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กฎหมายลักษณอาญา รัตนโกสินทรศก ๑๒๗, หน้า ๔๖
       

       

       [๓] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๘
       

       

       [๔] จิตติ ติงศภัทิย์, กฎหมายอาญา ภาค ๒ ตอน ๑ หัวข้อ ๔๙๘, หน้า ๒.
       

       

       [๕] ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคความผิดและลหุโทษ, หน้า ๒๙.
       

       

       [๖] โปรดสังเกต “มกุฏราชกุมารี” (Crown Princess) หมายถึง เจ้านายราชนารีที่พระมหากษัตริย์ทรงสมมตขึ้นเป็นรัชทายาท ซึ่งในอดีตกาลของประเทศไทยตราบจนปัจจุบัน ยังไม่เคยมี
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544