หน้าแรก บทความสาระ
การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งภายหลังการยุบพรรค
คุณสยาม ยิ่งทวีหยก นบ. , นม. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
4 พฤศจิกายน 2556 09:15 น.
 
บทวิเคราะห์
       พรรคการเมืองเกิดขึ้นจากการรวมกันของบุคคล ที่มีแนวความคิด อุดมการณ์ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง  การรวมกันของบุคคลเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในรัฐสภาและนอกรัฐสภา(1) พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด  เนื่องจากว่า   ในการบริหารปกครองประเทศชาติ  ต้องมีบุคคลเข้าไปดำเนินการบริหารงานราชการ และในการบริหารงานราชการไม่สามารถทำให้ทุกคนเข้ามาทำงานบริหารราชการได้   จึงจำเป็นที่จะต้องมีตัวแทนเข้ามา(การปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยผู้แทน)(2)  โดยที่บุคคลที่จะเป็นตัวแทนต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกสังกัดพรรคการเมือง  และพรรคการเมืองดำเนินการคัดเลือกรับสมัครเข้าเป็นสมาชิกของพรรค และจัดส่งเป็นตัวแทนของพรรคการเมือง  เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์    ในการลงสมัครรับเลือกตั้งของตัวแทนของพรรคย่อมมีผู้สมัครที่เป็นคู่แข่งต่างพรรคการเมือง 
       ดังนั้น  หากพรรคการเมืองใดมีตัวแทนที่ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์เกินกว่ากึ่งหนึ่ง   จึงมีสิทธิ์ที่จะจัดตั้งเป็นรัฐบาล  มีคณะรัฐมนตรี  โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี  ทำหน้าที่บริหารงานราชการ      กรณีเดียวกัน หากพรรคการเมืองใดที่ตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง และไม่สามารถจัดตั้งเป็นรัฐบาลได้  ก็จะต้องทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน  เพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล   ซึ่งไม่ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ที่เป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ตาม  ล้วนแล้วแต่มีความชอบธรรมเพราะได้รับการคัดเลือกจากประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้  เป็นการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง   และที่กล่าวว่าพรรคการเมืองมีความสำคัญและถือว่าเป็นสถาบันทางการเมือง  จะเห็นได้จากการที่ รัฐธรรมนูญ ยังได้บัญญัติ รับรองสิทธิเสรีภาพของบุคคล  ให้บุคคลมีสิทธิเสรีภาพ  ในการรวมกัน เพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง และดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แต่ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองอาจจะถูกเลิกหรือยุบพรรคการเมือง ด้วยสาเหตุต่าง ๆ กันไป(3)  เช่น   จุดประสงค์ในการตั้งพรรคการเมืองสำเร็จ   ราษฎร์ขาดความนิยม   การรวมกับพรรคการเมืองอื่น   และ   มีกฎหมายให้ล้มเลิก   
       อย่างไรก็ตาม  ในประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศไทยที่ผ่านมาในส่วนที่เกี่ยวกับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งภายหลังยุบพรรคการเมือง สามารถสรุปได้ดังนี้  
       การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังต่อไปนี้
                   1.การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540  ในระยะนี้การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีลักษณะเป็นโทษอุปกรณ์ของการกระทำความผิดอาญา อันเป็นมาตรการที่นำมาใช้เป็นบทบังคับ(sanction) แก่การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ตกเป็นจำเลยที่คดีอาญาดังกล่าวมีสิทธิที่จะต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาภายใต้เขตอำนาจศาลยุติธรรม หรือวิธีพิจารณาคดีอาญาของทหารภายใต้เขตอำนาจของศาลทหาร
                   2.การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540  ในระยะนี้การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งขึ้นมา ให้มีอำนาจในการควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องกระทำในรูปของคณะกรรมการนั้นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งพ.ศ. 2541 ได้บัญญัติให้องค์กรประชุมของคณะกรรมการจะต้องไม่น้อยกว่าสี่ในห้า และมติที่เกี่ยวกับการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ตลอดจนการออกเสียงประชามตินั้น จะต้องใช้คะแนนเสียงเอกฉันท์ นอกจากนี้ยังได้ให้อำนาจแก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการกำหนดให้ ใบแดง หรือ ใบเหลือง  แก่ผู้ที่กระทำความผิดฝ่าฝืนกฎหมายการเลือกตั้ง
                  3.การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในช่วงที่เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549   การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในระยะนี้  เป็นผลมาจากการเกิดรัฐประหาร และ การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมิได้มีลักษณะเป็นโทษของการกระทำความผิดอาญา  แต่การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในระยะนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการสลายขั้วอำนาจของรัฐบาลเก่า
                  4.การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ  การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในระยะนี้ ได้มีการกำหนดแบ่งอำนาจในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยในกรณีก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในกรณีเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์และสมาชิกวุฒิสภาและให้มีผลเป็นที่สุด  แต่หากปรากฏภายหลังการเลือกตั้ง  อำนาจในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เป็นอำนาจของศาลฎีกา และต่อมา  องค์กรที่มีอำนาจในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ที่ทำให้กรรมการบริหารพรรคต้องเว้นว่างจากการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ตามมาตรา 237 วรรคสอง หรือ มาตรา 68 ซึ่งได้นำเอาหลักการมาจาก  ในประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 21 กันยายน พุทธศักราช 2549 มาบัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญฯ ดังกล่าว คือ ศาลรัฐธรรมนูญ(4)
                               ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ประเภทของการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง   มี 3 ประเภท มีลักษณะดังนี้  คือ
                               1.โทษอุปกรณ์ของคดีอาญา (เป็นความผิดเฉพาะตัวของบุคคลที่กระทำผิดเท่านั้น)
                               2.มาตรการ Sanction การสกัดกั้นผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ไม่สุจริตโดยให้อำนาจคณะกรรมการเลือกตั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง  (ออกใบเหลือง, ใบแดง) ได้  (การแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์และสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2543)
                               3.การล้างบาง หรือ การสลายขั้วอำนาจรัฐบาลชุดเก่า ในยุครัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 (ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 )   
       การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 237 วรรคหนึ่ง วางหลักไว้ว่า กรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งใดกระทำการ ก่อ หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการเลือกตั้งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม  ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าว และ มาตรา 237 วรรคสอง วางหลักไว้ว่า ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารของพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 68  ในกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าว มีกำหนดเวลา ห้าปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง นั้น     เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำในบทบัญญัตินี้แล้ว   จะต้องปรากฏว่า  มีผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง ได้กระทำความผิดฝ่าฝืนกฎหมาย  ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง  และหากการกระทำดังกล่าว  เชื่อได้ว่า  หัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็น  ปล่อยปละละเลย  ทราบถึงการกระทำนั้น   มิได้ยับยั้งหรือแก้ไข  กฎหมายรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาดไว้  ให้ถือว่าพรรคการเมืองกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ  จากการบัญญัติหลักกฎหมายเช่นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้   เมื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งได้กระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองบุคคลใด รู้เห็น ร่วม สนับสนุน หรือปล่อยปละ ละเลย ในการกระทำผิดฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง จึงส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่นที่มิได้มีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละ ละเลย  ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งด้วย   ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า บทบัญญัติของกฎหมายในลักษณะเช่นนี้  จึงเป็นการขัดต่อหลักการประชาธิปไตย เช่น
                   (1) ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน มีความเห็นว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและใช้อำนาจอธิปไตยเองในกิจการทั้งปวงโดยตรงหรืออาจจัดการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยอ้อม คือ ให้ประชาชนเลือกผู้แทนขึ้นทำการแทนตน  ทฤษฎีนี้ปรากฏในหนังสือชื่อ “สัญญาประชาคม”(5)
                    (2) หลักสิทธิและเสรีภาพ  กล่าวคือ สิทธิ(6)  หมายถึง อำนาจที่กฎหมายรับรองคุ้มครองให้แก่บุคคลในอันที่จะเรียกร้องให้บุคคลอื่นกระทำการแทนอย่างใดอย่างหนึ่ง สิทธิอาจก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอื่นด้วย   ส่วน เสรีภาพ(7)  หมายถึง สภาวะที่บุคคลมีอิสระในอันที่จะกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามความปรารถนาของตน โดยไม่ถูกแทรกแซงหรือครอบงำจากบุคคลอื่น   ดังนั้น การจำกัดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานได้นั้น จะกระทำได้โดยกฎหมายหรือต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายเท่านั้น
                   (3) หลักความเสมอภาค    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550  ได้บัญญัติรับรองหลักความเสมอภาคไว้อย่างชัดเจน เช่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง (มาตรา 4) , บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน....(มาตรา 30)   เป็นต้น
       การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งภายหลังการยุบพรรค  นอกจากเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลแล้ว  ยังขัดต่อหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง เนื่องจากว่า   หลักนิติรัฐ หลักนิติธรรมที่ดี  นั้น  ในการบัญญัติกฎหมายและมีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ต้องมีความสอดคล้องกับเงื่อนไข ดังต่อไปนี้  คือ
                   (1)หลักความเหมาะสม กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ (8) 
                   (2)หลักความจำเป็น กล่าวคือ มาตรการทางกฎหมาย นอกจากจะต้องบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว จะต้องมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลน้อยที่สุดมาบัญญัติเป็นกฎหมาย (9)
                   (3)หลักความได้สัดส่วน  กล่าวคือ มาตรการทางกฎหมายนั้น จะต้องก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าก่อให้เกิดความเสียหายแก่เอกชน (10)
                    (4)หลักความเสมอภาค  กล่าวคือ พฤติการณ์ หรือ ข้อเท็จจริงที่มีสาระสำคัญเช่นเดียวกัน ย่อมจะต้องได้รับการปฏิบัติในลักษณะที่เท่าเทียมกัน แต่หาก พฤติการณ์หรือข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันในสาระสำคัญ ย่อมจะได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกันมิได้ (11)
                     (5)หลักความรับผิดเฉพาะบุคคลผู้กระทำ กล่าวคือ บุคคลซึ่งมีสิทธิเสรีภาพอยู่แล้วตามสภาพธรรมชาติและตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่ต้องรับผิดทางกฎหมายในการกระทำของบุคคลอื่น ซึ่งตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการกระทำดังกล่าว(12)
       ดังนั้น  ผู้เขียน จึงมีความเห็นว่า  บุคคลใดกระทำความผิด  บุคคลนั้นย่อมสมควรที่จะได้รับการลงโทษตามสิ่งที่ตนเองได้กระทำลงไป  แต่การบัญญัติกฎหมายให้บุคคลที่มิได้มีส่วนรู้เห็น หรือ ก่อ ร่วม กระทำความผิดด้วย  ต้องมาถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเพราะเกิดจากการกระทำความผิดของบุคคลอื่น เพียงเพราะตนเองมีสถานะเป็นกรรมการบริหารพรรค  จึงเป็นการบัญญัติที่ขัดต่อหลักนิติธรรม  ดังนั้นจึงสมควรที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติความรับผิดของกรรมการบริหารพรรคตามมาตรา 237 วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
                     
        ข้อเสนอแนะ
       แนวทางการแก้ไขปรับปรุง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 237 วรรคสอง
        เพื่อให้การแก้ปัญหาเรื่องการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งภายหลังการยุบพรรคของกรรมการบริหารพรรค  ให้มีความเหมาะสม  และสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย  หลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม  ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
       1.การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งภายหลังการยุบพรรคของกรรมการบริหารพรรค   ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช  2550  มาตรา 237 วรรคสอง  ควรแก้ไขบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มีลักษณะดังนี้
       เดิม  “หากการกระทำของบุคคลดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง เชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองใดมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้น แต่มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 68     ในกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าว มีกำหนดเวลา ห้าปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง
        ใหม่  “หากการกระทำของบุคคลดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง เชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองใดมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้น แต่มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 68     ในกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น”  
       กล่าวคือ ให้ยกเลิกความในมาตรา 237 วรรคสอง ในประเด็นการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทุกคน(แบบเหมารวมยกเข่ง) นอกนั้นให้บัญญัติไว้ตามเดิม และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเฉพาะบุคคลที่กระทำความผิด (เป็นความผิดเฉพาะบุคคลเท่านั้น)
       2..นอกจากนี้ควรแก้ไข  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550  มาตรา 68  วรรคสี่  เพื่อให้สอดรับกับการแก้ไข รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550  มาตรา  237 วรรคสอง   และมาตรา  98  แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 , มาตรา 103 มาตรา  111 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550  เป็นต้น
       ____________________________
       เชิงอรรถ
       (1) วิทยา นภาศิริกุลกิจ ,พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ , 2522.โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง หน้า 40
       (2) บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ,กฎหมายรัฐธรรมนูญ พิมพ์ครั้งที่ 4 แก้ไขเพิ่มเติม โครงการตำราเอกสารประกอบการสอนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หน้า 330
       (3) หยุด แสงอุทัย ,พรรคการเมือง.กรุงเทพ โรงพิมพ์พิฆเนศ, 2517 หน้า 8
       (4) กมลชัย  รัตนสกาวงศ์, เอกสารประกอบคำบรรยาย,  “การสังคายนาการใช้มาตรการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรม” , 3 สิงหาคม 2554:คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
       (5) มานิตย์ จุมปา,ถาม-ตอบ กฎหมายรัฐธรรมนูญ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย2553,พิมพ์ครั้งที่1หน้า 15
       (6) วรพจน์  วิศรุตพิชญ์, สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. พิมพ์ครั้งที่ 2: กรุงเทพมหานคร. สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2543 หน้า 21
       (7) บรรเจิด สิงคะเนติ, หลักพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์: พิมพ์ครั้งที่ 3 : กรุงเทพมหานคร.สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2552 หน้า 49
       (8) บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ อ้างแล้ว หน้า 20
       (9)บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ อ้างแล้ว หน้า 20
       (10)ณรงค์เดช สุรโฆษิต , แนวทางการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง, กรุงเทพ, สถาบันพระปกเกล้า 2554 หน้า 254
       (11) ณรงค์เดช สุรโฆษิต อ้างแล้ว หน้า 262
       (12) ณรงค์เดช สุรโฆษิต อ้างแล้ว หน้า 257
        


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544