หน้าแรก บทความสาระ
การรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นตามหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) (ตอนที่ 2)
อาจารย์ไกรพล อรัญรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เนติบัณฑิตไทย.
17 พฤศจิกายน 2556 17:26 น.
 
4. หลักการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่น (The Application of Issue Estoppel in a Criminal Prosecution)
                 ในหัวข้อก่อนหน้า เราได้ทราบถึงหลักการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งตามคำพิพากษาคดีอื่นมาแล้ว ในหัวข้อนี้ผู้เขียนจึงขอนำเสนอถึงหลักการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่นบ้างว่าจะมีลักษณะเหมือนหรือแตกต่างกับในคดีแพ่ง ศาลในคดีอาญาจำเป็นจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอาญาก่อนหน้าหรือคำพิพากษาคดีแพ่งก่อนหน้าหรือไม่ ซึ่งจากการศึกษาในเบื้องต้นพบว่า ศาลอาญาในประเทศไทยมีแนวโน้มเปิดรับการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งแตกต่างจากในสากลประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ (Common Law Countries) หรือประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ (Civil Law Countries) ต่างก็ไม่ยอมรับให้มีการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่นแต่อย่างใด ในหัวข้อนี้จะนำศึกษาถึงการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่นในประเทศไทย รวมถึงการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่นในต่างประเทศ และวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมของหลักการดังกล่าวด้วย ดังรายละเอียดต่อไปนี้
        
                 4.1 การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่นในประเทศไทย
                 ในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ศาลจำเป็นจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงอยู่บนพื้นฐานของพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบเข้ามาในสำนวนคดีเช่นเดียวกันกับคดีแพ่ง อย่างไรก็ตาม ถ้าปรากฏว่าข้อเท็จจริงที่ศาลในคดีอาญากำลังจะวินิจฉัยนั้น ได้เคยมีศาลในคดีอื่นไม่ว่าจะเป็นศาลแพ่งหรือศาลอาญาก็ตาม ได้เคยวินิจฉัยข้อเท็จจริงถึงที่สุดเอาไว้แล้วครั้งหนึ่ง ศาลที่กำลังจะวินิจฉัยคดีอาญาจำเป็นจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นหรือไม่ ในเรื่องนี้มีข้อสังเกตที่สำคัญอย่างมากประการหนึ่งก็คือ ในกรณีของคดีอาญา ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราใดกำหนดให้ศาลต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลคดีอื่นดังเช่นในคดีแพ่ง ที่มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 กำหนดให้ศาลแพ่งต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นเอาไว้ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาว่าศาลยุติธรรมในประเทศไทยมีบรรทัดฐานอย่างไรต่อการนำข้อเท็จจริงในคดีอื่นมาใช้ในคดีอาญา
                 สำหรับกรณีที่คำพิพากษาคดีก่อนหน้าเป็นคดีอาญานั้น จากการศึกษาพบว่า ในกรณีที่คดีอาญาเรื่องก่อนได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดเอาไว้แล้ว และต่อมามีการนำเอาคดีอาญาที่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกันมาฟ้องต่อศาลอีก โดยไม่ต้องด้วยบทบัญญัติว่าด้วยการฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) เพราะมีมูลคดีคนละอย่างกัน (Different Claim) ในกรณีเช่นนี้ แม้คู่ความและประเด็นแห่งคดีอาญาทั้งสองจะเป็นชุดเดียวกันก็ตาม (Same Parties and Same Issue) ย่อมไม่อาจมีผู้ใดกล่าวอ้างนำเอาข้อเท็จจริงในคดีอาญาก่อนหน้ามาใช้เป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญาที่กำลังพิจารณาอยู่ได้ ศาลจะต้องเปิดโอกาสให้มีการนำสืบข้อเท็จจริงด้วยพยานหลักฐานอย่างเต็มที่เพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลย ทั้งนี้เพราะว่าคำพิพากษาของศาลในคดีก่อนย่อมมีสถานะเป็นเพียงพยานบอกเล่าหรือพยานความเห็นในคดีอาญาที่กำลังพิจารณาอยู่เท่านั้น[1] ในประเด็นดังกล่าวนี้มีความแตกต่างกับคดีแพ่งที่ศาลจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นอย่างชัดเจน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ข้อเท็จจริงแห่งคดีในคดีอาญาก่อนหน้าไม่ถือเป็นบทตัดสำนวนตามหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) สำหรับคดีอาญาอื่น แม้ว่าคดีอาญาทั้งสองจะมีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวพันกันก็ตาม ดังที่คำพิพากษาฎีกาที่ 1453/2525 ได้วางหลักเอาไว้ว่า “ในการพิพากษาคดีอาญาหาได้มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาในคดีอื่นดังเช่นที่บัญญัติไว้สำหรับคดีแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ไม่ เพราะในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง จะไม่พิพากษาลงโทษจำเลยจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น”
                 เมื่อศึกษาต่อมาพบว่าศาลฎีกาในปัจจุบันมีแนวโน้มในการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากในประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) มาใช้ในคดีอาญาอยู่ด้วย โดยอ้างเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแห่ง มาตรา 145 เรื่องคำพิพากษาผูกพันคู่ความมาใช้ในคดีอาญาผ่านประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เพื่อนำเอาข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยแล้วในคดีอาญาก่อนหน้า มาใช้ผูกพันเป็นยุติในคดีอาญาอื่นที่มีประเด็นเกี่ยวพันกัน ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาฎีกาที่ 2396/2554 ซึ่งศาลกล่าวว่า “คำวินิจฉัยในคดีอาญาอีกคดีหนึ่งของศาลชั้นต้น ที่วินิจฉัยว่ารถแทรกเตอร์เป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. (จำเลยคดีนี้) เป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและไม่เป็นประเด็นโดยตรงในคดีนั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์รถแทรกเตอร์ว่าเป็นของจำเลย จึงไม่ผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 คดีนี้ศาลล่างทั้งสองจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนคดีเป็นสำคัญ จะถือเอาข้อเท็จจริงซึ่งยุติในคดีก่อนมาผูกมัดให้ศาลวินิจฉัยคดีนี้ตามนั้นหาได้ไม่ ข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวเป็นเพียงพยานหลักฐานส่วนหนึ่งซึ่งศาลอาจใช้ประกอบการพิจารณาคดีนี้เท่านั้น การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยคดีนี้โดยไม่ถือตามข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวจึงชอบแล้ว” จากคำพิพากษาฎีกานี้ทำให้เราทราบว่าศาลฎีกามีการอ้างอิงถึงการนำเอาหลักคำพิพากษาผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 มาใช้ในคดีอาญาผ่านประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ด้วย เพียงแต่ในคดีนี้ประเด็นที่ได้วินิจฉัยแล้วยังไม่เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาที่กำลังพิจารณาอยู่เท่านั้น หากประเด็นที่ได้วินิจฉัยแล้วเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาที่กำลังพิจารณาอยู่ ศาลน่าจะนำหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้ในคดีอาญาที่กำลังพิจารณาอยู่อย่างแน่นอน
                 เพื่อเป็นการสนับสนุนข้อสันนิษฐานของผู้เขียนข้างต้น ผู้เขียนจึงได้ทำการสัมภาษณ์ผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่เป็นองค์คณะ[2] ในคดีดังกล่าว เพื่อความชัดเจนของแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2396/2554 ซึ่งจากการสัมภาษณ์พอได้ใจความโดยสรุปว่า “เหตุที่ศาลในคดีอาญาดังกล่าวไม่ถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอาญาก่อนหน้าเป็นเพราะคำพิพากษาคดีอาญาก่อนหน้าไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นเดียวกันกับคดีนี้ อีกทั้งยังเป็นการวินิจฉัยเอาไว้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องซึ่งยังไม่มีความชัดเจนของข้อเท็จจริงอีกด้วย ในทางกลับกัน ถ้าหากข้อเท็จจริงเป็นประเด็นเดียวกันและศาลในคดีอาญาก่อนหน้าได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงเอาไว้ในชั้นพิจารณาแล้ว ศาลในคดีอาญาภายหลังจะต้องถือข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาก่อนหน้าอย่างแน่นอน ไม่สามารถที่จะทำการโต้แย้งข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นได้ ประเด็นจะต้องจบไปทันที เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการลักลั่นในการรับฟังข้อเท็จจริง และไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องความซ้ำซ้อนในการดำเนินคดี อีกทั้งการใช้คำพิพากษาคดีอาญาก่อนหน้าเป็นบทตัดสำนวนยังช่วยประหยัดต้นทุนในการดำเนินคดีอาญาที่พิจารณาในภายหลังอีกด้วย เพราะศาลที่พิจารณาคดีอาญาในภายหลังไม่ต้องมานั่งสืบพยานกันอีกครั้งหนึ่ง”
                 เมื่อพิจารณาจากคำพิพากษาฎีกาที่ 2396/2554 ประกอบกับบทสัมภาษณ์ของผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ตัดสินในคดีดังกล่าวแล้ว ทำให้เห็นแนวโน้มใหม่ที่ศาลฎีกาจะรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาของคดีอาญาอื่น หากคำพิพากษาคดีอาญาอื่นได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวพันกันเอาไว้ก่อนหน้าแล้ว ทั้งนี้ สาเหตุที่จะมีการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอาญาอื่นนั้น ก็เพื่อประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้ศาลคดีอาญาทั้งสองคดีวินิจฉัยข้อเท็จจริงขัดแย้งกัน รวมถึงป้องกันการดำเนินคดีอาญาซ้ำสองครั้งในการกระทำเดียวกัน (Double Jeopardy) ซึ่งเป็นต้นเหตุของความสิ้นเปลืองต้นทุนทั้งในแง่ของเวลาและค่าใช้จ่ายด้วย  
                 กล่าวโดยสรุปก็คือ แม้ในอดีตศาลฎีกาจะไม่ยอมให้มีการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอาญาอื่นที่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวพันกันเอาไว้ก่อนหน้าก็ตาม แต่ในปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มในการยอมรับให้นำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้ในคดีอาญาได้มากขึ้น หากปรากฏว่าคำพิพากษาคดีก่อนหน้าเป็นคำพิพากษาคดีอาญาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าคำพิพากษาที่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวพันกันเอาไว้ก่อนนั้น เป็นคำพิพากษาของศาลคดีแพ่ง ย่อมเกิดปัญหาขึ้นมาว่าศาลในคดีอาญาจำเป็นจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีแพ่งหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่นในคดียักยอกทรัพย์มรดก ถ้าหากมีทายาททำการยักยอกทรัพย์มรดกเอาไว้แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่บอกให้ทายาทคนอื่นทราบ เมื่อมีการดำเนินคดีอาญาฐานยักยอก และดำเนินคดีแพ่งเพื่อกำจัดมิให้ทายาทคนนั้นรับมรดก ทั้งสองคดีย่อมมีการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเดียวกันว่าจำเลยได้ทำการยักยอกทรัพย์มรดกหรือไม่ และในกรณีเช่นนี้ หากศาลในคดีแพ่งได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดก่อนคดีอาญา ศาลในคดีอาญาจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวตามคดีแพ่งหรือไม่ ซึ่งจากการศึกษาพบรายละเอียดที่น่าสนใจดังจะกล่าวต่อไปนี้
       

โดยหลักทั่วไปแล้ว ข้อเท็จจริงในคดีแพ่งไม่อาจนำไปใช้เป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญาได้ ไม่ว่าคู่ความและประเด็นแห่งคดีทั้งสองจะเป็นชุดเดียวกันหรือไม่ก็ตาม เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้สามารถทำได้ ดังเช่นที่ปรากฏในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ซึ่งบัญญัติให้นำเอาข้อเท็จจริงในคดีอาญาไปใช้เป็นบทตัดสำนวนในคดีแพ่งได้ อีกทั้งปัญหาเรื่องมาตรฐานการพิสูจน์ในคดีแพ่งที่เป็นเรื่องของการนำสืบน้ำหนักคำพยานที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่าฝ่ายตรงข้าม (Preponderance of Evidence) ซึ่งถือเป็นมาตรฐานการพิสูจน์ในระดับที่ต่ำกว่าในคดีอาญา ที่จะเป็นการพิสูจน์จนปราศจากเหตุอันควรสงสัย (Proof Beyond Reasonable Doubt)[3] ดังนั้น หากปล่อยให้มีการนำเอาข้อเท็จจริงในคดีแพ่งไปใช้เป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญาย่อมเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดอย่างมากเลยทีเดียว
       หากเราสังเกตหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วจะพบว่ามีแต่กฎหมายบัญญัติให้คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาต้องถูกผูกพันโดยข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46 และมีกฎหมายให้คำพิพากษาคดีแพ่งผูกพันคดีแพ่งได้ถ้าเป็นคู่ความชุดเดียวกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 แต่ไม่มีกฎหมายที่ให้คำพิพากษาคดีแพ่งไปผูกพันคดีอาญา ฉะนั้น ถ้าเป็นคดีอาญา ย่อมไม่มีกรณีที่จะไปอ้างเอาคำพิพากษาคดีแพ่งมาผูกพันคู่ความในคดีอาญาให้เป็นยุติได้ เช่นเดียวกันในระหว่างคดีอาญาด้วยกันเองแม้คู่ความเป็นชุดเดียวกัน และประเด็นจะพาดพิงเกี่ยวเนื่องทับซ้อนกันก็ไม่มีกฎหมายให้เอาคำพิพากษาในคดีอาญาเรื่องหนึ่งไปผูกมัดคดีอาญาอีกเรื่องหนึ่งเป็นการเด็ดขาดได้ เพราะในกรณีนี้ไม่อาจที่จะอนุโลมเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคหนึ่ง ไปใช้ในคดีอาญาโดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 เนื่องจากหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคหนึ่งเป็นหลักการที่ไม่สอดคล้องกับสภาพของคดีอาญา ด้วยเหตุที่สภาพและลักษณะเฉพาะของคดีอาญามีอยู่ว่าคู่ความทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงศาลมีหน้าที่ในการตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริงแห่งคดีให้ออกมาใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุด ตามหลักการดำเนินคดีอาญาแบบตรวจสอบ (Examination Principle) หาใช่ไปเอาคำพิพากษาในคดีเรื่องอื่นมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยไม่[4]
       

อนึ่ง สำหรับในปัญหาที่ว่าข้อเท็จจริงในคดีแพ่งไม่สามารถรับฟังผูกพันคดีอาญาได้นั้นได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 1446/2526 อธิบายเหตุผลเอาไว้อย่างชัดเจนว่า “..…แต่คดีนี้เป็นคดีอาญา ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ทั้งนี้เพราะหลักการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักคำพยานในคดีแพ่งและคดีอาญาไม่เหมือนกัน กล่าวคือในคดีแพ่งศาลจะชั่งน้ำหนักคำพยานว่าฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่ากัน แต่ในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจนกว่าจะแน่ใจว่าพยานโจทก์พอรับฟังลงโทษจำเลยได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 ฉะนั้น คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ 7426/2518 และคดีหมายเลขแดงที่ 117/2510 จึงเป็นเพียงพยานหลักฐานที่ศาลจะนำมาชั่งน้ำหนักประกอบกับคำพยานหลักฐานของโจทก์ในคดีนี้ว่า ข้อเท็จจริงมีน้ำหนักพอรับฟังว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่เท่านั้น ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งดังกล่าวเพียงอย่างเดียวมาวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้โดยมิได้สืบพยานโจทก์จำเลยให้สิ้นกระแสความเสียก่อนจึงเป็นการไม่ชอบ” จากคำวินิจฉัยของศาลฎีกาในคดีนี้[5] ทำให้เข้าใจได้ว่าคดีแพ่งที่ถึงที่สุดดังกล่าวแม้จะผูกพันโจทก์กับจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคแรกนั้น ก็เป็นการผูกพันเฉพาะในทางแพ่งเท่านั้น แต่คดีนี้เป็นการพิจารณาคดีอาญา หาได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบทใดให้อำนาจศาลในการถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาของคดีแพ่ง ด้วยเหตุนี้ จึงไม่อาจนำเอาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีแพ่งมารับฟังเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญาได้ ศาลอาญาจำต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่มีการนำสืบเข้ามาในคดีเท่านั้น[6]ตามหลักการดำเนินคดีอาญาแบบตรวจสอบ (Examination Principle)
       

เมื่อพิจารณาจากแนวคำพิพากษาฎีกาตามที่กล่าวมานี้ ทำให้สามารถสรุปบรรทัดฐานศาลฎีกาของประเทศไทยในเบื้องต้นได้ว่า โดยหลักแล้วการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาจะไม่รับฟังตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่ง กล่าวคือแม้ประเด็นและคู่ความในคดีแพ่งจะเป็นชุดเดียวกับในคดีอาญา แต่ข้อเท็จจริงในคดีแพ่งก็ไม่อาจรับฟังมาผูกพันให้คดีอาญาต้องถือตามได้ อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 2774/2546 วินิจฉัยว่า “โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 และบุตรสาวต่อศาลแพ่งว่าร่วมกันก่อสร้างรั้วคอนกรีตพิพาทรุกล้ำที่ดินของโจทก์ ศาลแพ่งวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยก่อสร้างรั้วคอนกรีตพิพาทรุกล้ำที่ดินของโจทก์ พิพากษายกฟ้อง คดีแพ่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาคดีแพ่งดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรค 1 การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้แม้จะเป็นคดีอาญา แต่คดีคงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่ารั้วคอนกรีตพิพาทรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์หรือไม่ อันเป็นประเด็นโดยตรงในคดีแพ่งดังกล่าว จึงต้องรับฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ก่อสร้างรั้วคอนกรีตพิพาทรุกล้ำที่ดินของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 และมีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 1 ด้วย และเมื่อรั้วคอนกรีตพิพาทมิได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ยักย้ายหรือทำลายเครื่องหมายเขตแห่งที่ดินเพื่อถือเอาที่ดินส่วนใดของโจทก์มาเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 363”
       

            เมื่อวิเคราะห์คำพิพากษาฎีกาที่ 2774/2546[7] แล้วจะพบว่า คดีดังกล่าวมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าคู่ความชุดเดียวกัน (Same Parties) พิพาทกันโดยดำเนินคดีเป็นทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ในคดีแพ่งมีการฟ้องละเมิดขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและขับไล่จากการที่จำเลยบุกรุกที่ดินของโจทก์ ส่วนในคดีอาญา โจทก์ฟ้องให้จำเลยคนเดียวกันนี้รับผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา ต่อมา ศาลในคดีแพ่งได้มีคำพิพากษายกฟ้องถึงที่สุดก่อนคดีอาญาว่า ที่ดินแปลงที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย จำเลยมีสิทธิอยู่ได้ จึงฟังมิได้ว่าจำเลยบุกรุกที่ดินของโจทก์โดยละเมิด จากนั้นไม่นาน ศาลในคดีอาญาที่พิพากษาคดีที่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกันนี้ก็ได้พิพากษาว่า การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาจะต้องรับฟังตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีแพ่งที่ได้พิพากษายกฟ้องถึงที่สุดไปก่อนหน้า การที่ศาลในคดีแพ่งได้วินิจฉัยถึงที่สุดว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ศาลในคดีอาญาจะต้องฟังว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเช่นเดียวกัน เพราะคดีทั้งสองมีข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกัน อีกทั้งมีคู่ความชุดเดียวกันอีกด้วย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา ศาลในคดีอาญาไม่สามารถรับฟังหรืออนุญาตให้โจทก์นำพยานหลักฐานเข้าสืบข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นได้ เพราะต้องถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีแพ่งในฐานะที่เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจโต้แย้งได้ (Undisputable Facts) ในคดีอาญานั่นเอง  ดังนั้น หลักวินิจฉัยที่ได้จากการพิจารณาคำพิพากษาฎีกาที่ 2774/2546 นั้นมีอยู่ว่า “คำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งนั้นเมื่อวินิจฉัยไว้เป็นคุณแก่จำเลย และเป็นที่สุดอย่างไรแล้ว คู่ความในคดีนั้นย่อมต้องถูกผูกพันเป็นการเด็ดขาด ไม่อาจจะโต้เถียงเป็นอย่างอื่นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรค 1 ดังนั้นเมื่อคู่ความชุดเดียวกันนี้มาพิพาทกันในเรื่องเดียวกันเป็นคดีอาญา ศาลในคดีอาญาก็ต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งโดยผลของมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15”
       

          เพื่อสนับสนุนคำอธิบายที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนจึงได้ดำเนินการสัมภาษณ์ผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ในการพิพากษาคดีดังกล่าว โดยผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่เป็นองค์คณะในคำพิพากษาฎีกาที่ 2774/2546 ได้กล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจ พอสรุปใจความได้ว่า[8] “การวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2774/2546 มีความจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีแพ่ง เพราะเมื่อศาลในคดีแพ่งได้ทำการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเอาไว้จนถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงก็ควรจะยุติไปในครั้งเดียว ศาลในคดีอาญาที่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเหมือนกันจะไม่ฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งได้อย่างไร อีกทั้งการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีแพ่งยังทำให้การวินิจฉัยข้อเท็จจริงของทั้งสองศาลไม่ขัดแย้งกันเอง ประหยัดต้นทุนทางเศรษฐกิจ และประหยัดเวลาไม่ต้องมาสืบพยานกันใหม่อีกด้วย หลักการดังกล่าวไม่ได้ใช้กับคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเท่านั้น ในความเป็นจริงที่เกิดในทางปฏิบัติแม้ไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาก็มีการฟ้องคู่ขนานกันทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งทั้งสองคดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเหมือนกัน ศาลก็ต้องนำหลักการรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคดีอื่นมาใช้อยู่เสมอๆ”
       

หากพิจารณาคำพิพากษาฎีกาที่ 2774/2546 และ 5175/2547 อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วจะพบว่าคำพิพากษาฎีกาทั้งสองมีความแตกต่างจากคำพิพากษาฎีกาที่ 1446/2526 , 4751/2539, 2836/2540 และ 1998/2553 เพราะคำพิพากษาฎีกาที่ 2774/2546 นั้นศาลในคดีส่วนแพ่งได้มีการวินิจฉัยว่า “ฟังไม่ได้ว่าจำเลยก่อสร้างรั้วคอนกรีตพิพาทรุกล้ำที่ดินของโจทก์ พิพากษายกฟ้อง” ซึ่งเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงในลักษณะที่เป็นคุณแก่จำเลยในคดีอาญา การนำเอาข้อเท็จจริงมาผูกพันคดีอาญาจึงมีแต่เอื้อประโยชน์แก่จำเลย หามีผลร้ายใดแก่จำเลยไม่ เช่นเดียวกันกับคำพิพากษาฎีกาที่ 5175/2547 ซึ่งศาลในคดีส่วนแพ่งได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในลักษณะที่เป็นคุณแก่จำเลยในคดีอาญา จึงมีการนำเอาข้อเท็จจริงในคดีแพ่งมารับฟังเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญา ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าจะมีข้อห้ามและผลร้ายใดๆที่จะนำเอาข้อเท็จจริงในคดีแพ่งมารับฟังเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญา[9]
       

นอกจากนี้ เรายังอาจอธิบายเหตุผลสนับสนุนคำพิพากษาฎีกาที่ 2774/2546 และ 5175/2547 ได้อีกว่า การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งมาเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญาโดยหลักแล้วยังเป็นไปตามบรรทัดฐานของศาลฎีกาเดิม คือไม่สามารถทำได้ เว้นแต่กรณีที่คำพิพากษาในคดีแพ่งได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงเอาไว้ในลักษณะที่เป็นคุณแก่จำเลยในคดีอาญา ซึ่งการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีแพ่งในลักษณะนี้เป็นการรับฟังเพื่อผูกมัดโจทก์ในคดีอาญา หาใช่จำเลยไม่[10]  อีกทั้งตามที่ผู้เขียนได้ดำเนินการสัมภาษณ์ผู้พิพากษาซึ่งทำหน้าที่เป็นองค์คณะในคดีตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2774/2546 มานั้น ยังพบเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ว่า การถือข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่เป็นคุณแก่จำเลยนั้น นอกจากจะเป็นการรับฟังในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยแล้ว การรับฟังข้อเท็จจริงในลักษณะนี้ยังช่วยสร้างความเป็นเอกภาพในการรับฟังข้อเท็จจริงของศาลแพ่งและศาลอาญาให้เกิดขึ้น เพื่อป้องกันการรับฟังข้อเท็จจริงขัดแย้งกันของทั้งสองศาล อีกทั้งยังช่วยป้องกันความเปลืองเปล่าทางเศรษฐกิจ และเป็นการประหยัดเวลาในการดำเนินคดีของศาลอาญาอีกด้วย[11]  ซึ่งการอธิบายในลักษณะที่กล่าวมานี้ ยังพอเป็นเหตุผลสนับสนุนความชอบธรรมของการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้ในคดีอาญาได้อยู่บ้าง
       

อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาฎีกาที่ 2774/2546 และคำพิพากษาฎีกาที่ 5175/2547 นี้ นำมาซึ่งข้อถกเถียงทางวิชาการได้อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ เนื่องด้วยบรรทัดฐานที่คำพิพากษาดังกล่าวได้วางเอาไว้มีลักษณะที่ขัดแย้งต่อแนวคิดที่ปรากฏอยู่ในสากลประเทศอย่างสิ้นเชิง เพราะในต่างประเทศไม่มีการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) มาใช้ในคดีอาญาโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคำพิพากษาคดีก่อนหน้าเป็นคดีแพ่ง นอกจากนี้ ถ้าหากศึกษาถึงแนวคิดเรื่องหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีแล้วจะพบว่า เป็นหลักที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเท่านั้น หามีประเทศใดในสากลประเทศที่นำเอาหลักการดังกล่าวมาใช้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะในคดีอาญามีหลักการพื้นฐานที่สำคัญในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอยู่ว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต้องร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงแห่งคดีโดยปราศจากข้อผูกมัดใดๆทั้งสิ้น ตามหลักการดำเนินคดีอาญาแบบตรวจสอบ (Examination Principle) ด้วยเหตุนี้แล้ว จึงไม่มีความชอบธรรมที่จะอ้างนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้ในคดีอาญา ไม่ว่าคำพิพากษาของคดีก่อนหน้าจะเป็นคำพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาก็ตามที เพราะหลักการดังกล่าวไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือในสากลประเทศ ถือเป็นหลักที่ใช้กันอยู่ในกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเท่านั้น ยกตัวอย่างตามกฎหมายไทยก็เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ซึ่งล้วนแต่เป็นการบัญญัติให้นำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้ในคดีแพ่งทั้งสิ้น หามีตัวอย่างใดที่นำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีไปใช้ในคดีอาญาไม่ เพราะหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีไม่มีช่องทางที่จะนำมาบังคับใช้กับคดีอาญาได้เลย ดังเช่นที่นักนิติศาสตร์ในประเทศไทยหลายท่านได้ให้ความเห็นเอาไว้ดังนี้
       

ศาสตราจารย์ประมูล สุวรรณศร ได้กล่าวเอาไว้ในคำอธิบายกฎหมายลักษณะพยานหลักฐานว่า “สำหรับความผิดอาญานั้น ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดอ้างข้อเท็จจริงในคดีอื่นมาเป็นพยานหลักฐานให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญารับฟังตามนั้น ศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่ปรากฏแต่เฉพาะในสำนวนคดีนั้นเพื่อวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ หากมีการนำเสนอข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นเข้ามาในคดีอาญา ศาลจะรับฟังในฐานะที่เป็นพยานความเห็นหรือพยานบอกเล่าเท่านั้นเอง”[12]
       

นายโอสถ โกสิน ได้อธิบายเอาไว้ในคำอธิบายกฎหมายลักษณะพยานหลักฐานว่า “คำพิพากษาคดีอาญาไม่อาจเป็นบทตัดสำนวนในคดีแพ่ง และเช่นกันกับคำพิพากษาคดีแพ่งก็ไม่อาจเป็นบทตัดสำนวนของคดีอาญา[13]”
       

ศาสตราจารย์พิเศษ โสภณ รัตนากร ได้อธิบายเอาไว้ในหนังสือคำอธิบายกฎหมายลักษณะพยานว่า “ความผูกพันของคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 เป็นความผูกพันในคำพิพากษาหรือคำสั่งคดีแพ่งด้วยกันเท่านั้น หาได้ผูกพันศาลที่พิจารณาคดีอาญาให้ถือข้อเท็จจริงตามคดีแพ่งไม่[14]”
       

อย่างไรก็ตาม เมื่อคำพิพากษาฎีกาที่ 2774/2546 และคำพิพากษาฎีกาที่ 5175/2547 ได้วางแนวบรรทัดฐานเอาไว้ชัดเจนแล้วว่า ให้ศาลในคดีอาญาถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งเฉพาะในกรณีที่ข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งได้วินิจฉัยเอาไว้เป็นคุณแก่จำเลยในคดีอาญาเท่านั้น โดยอ้างเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรค 1 มาใช้ในคดีอาญา ตามช่องทางที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 ได้เปิดช่องเอาไว้[15] ก็มีความจำเป็นที่จะยึดถือตามแนวบรรทัดฐานของศาลฎีกากันต่อไปว่า ให้ศาลในคดีอาญาถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งเฉพาะในกรณีที่ข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งได้วินิจฉัยเอาไว้เป็นคุณแก่จำเลยในคดีอาญาเท่านั้น
       

กล่าวโดยสรุป ในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของประเทศไทยนั้น มีแนวโน้มว่าศาลฎีกาจะให้มีการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาก่อนหน้า ถ้าคดีอาญาก่อนหน้าได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวพันกันเอาไว้จนถึงที่สุดแล้ว นอกจากนี้ ในกรณีที่คำพิพากษาคดีก่อนหน้าเป็นคำพิพากษาของศาลในคดีแพ่ง ศาลฎีกาของไทยจะรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีแพ่งก่อนหน้าเฉพาะกรณีที่คำพิพากษาคดีแพ่งได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงไปในลักษณะที่เป็นคุณแก่จำเลยในคดีอาญาเท่านั้น โดยในการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้ในคดีอาญา ศาลจะใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เพื่อหยิบยืมเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 มาใช้บังคับแก่กรณีนั่นเอง
        
                 4.2 การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่นในต่างประเทศ
                 ในประเด็นเรื่องการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่นในต่างประเทศนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะมุมมองต่อการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้ในคดีอาญาของนักนิติศาสตร์ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ (Common Law Countries) หรือประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ (Civil Law Countries) ล้วนแต่มีมุมมองในเชิงปฏิเสธต่อการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้ในคดีอาญาทั้งสิ้น ในขณะที่ประเทศไทยมีแนวโน้มในการนำเอาหลักการดังกล่าวมาใช้ในคดีอาญาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้น ในบทนี้จะขอกล่าวถึงการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้ในคดีอาญาในต่างประเทศ โดยเริ่มศึกษาจากประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์คือ ประเทศอังกฤษ และประทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นจะศึกษาจากประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์คือ ประเทศฝรั่งเศส และประเทศเยอรมนี เพื่อประโยชน์ในการนำมาศึกษาเปรียบเทียบ (Comparative Study) ดังรายละเอียดต่อไปนี้
       

ในประเทศอังกฤษ ประเด็นเกี่ยวกับหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นในคดี (Issue Estoppel) เคยมีการหยิบยกขึ้นพิจารณาในชั้นศาล กล่าวคือ ศาลอังกฤษในคดี R. v. Hogan[16] ตัดสินว่า จำเลยเคยถูกฟ้องฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนบาดเจ็บสาหัสและศาลในคดีนั้นได้พิพากษาลงโทษจำเลย ต่อมาผู้เสียหายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากถูกจำเลยทำร้ายนั้น โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องจำเลยฐานฆ่าคนตายเป็นอีกคดีหนึ่ง ดังนั้น จำเลยย่อมถูกกฎหมายปิดปากห้ามไม่ให้ปฏิเสธข้อเท็จจริงในคดีแรกที่ว่าจำเลยเป็นผู้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งคำพิพากษาในคดีนี้แสดงให้เห็นว่า ในอดีตศาลอังกฤษเคยยอมรับว่าหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) สามารถนำมาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้
       

อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้มีคดี R. v. Humphrys[17] ซึ่งศาลสภาขุนนาง (House of Lords) ของอังกฤษได้วินิจฉัยและวางหลักว่า กฎหมายปิดปากโดยประเด็นในคดีไม่สามารถที่จะนำมาใช้ในคดีอาญาได้ (Issue Estoppel cannot lie in Criminal Proceeding) โดยในคดีนี้ จำเลยได้เคยถูกฟ้องเป็นคดีก่อนหน้าในความผิดฐานขับรถโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่ศาลในคดีก่อนยกฟ้องเพราะเห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยว่าจำเลยได้เบิกความเท็จในการพิจารณาคดีแรก โดยโจทก์นำพยานหลักฐานมาแสดงว่าจำเลยได้ขับรถโดยไม่ได้รับอนุญาตจริง ซึ่งศาลก็ได้พิพากษาลงโทษจำเลยฐานเบิกความเท็จ จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ได้นำพยานหลักฐานเดียวกันกับในคดีก่อนมาแสดง ฉะนั้นโจทก์จะอ้างพยานหลักฐานดังกล่าวไม่ได้เพราะถูกปิดปากโดยประเด็นในคดี (Issue Estoppel) โดยผลของคำพิพากษาในคดีแรกแล้ว ในที่สุดศาลสภาขุนนาง (House of Lords) ได้วินิจฉัยว่าหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีนี้ไม่สามารถที่จะนำมาใช้ในคดีอาญาได้ โจทก์จึงไม่ต้องห้ามที่จะกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น
       จะเห็นได้ว่าคำพิพากษาของศาลในคดี R. v. Humphrys นี้ได้กลับหลักในคำพิพากษาของศาลในคดี R. v. Hogan ดังนั้นจึงมีผลว่าตามหลักกฎหมายของประเทศอังกฤษ กฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) ไม่สามารถนำมาปรับใช้ในคดีอาญาได้ (Issue Estoppel does not apply in English criminal proceedings)[18] ศาลในคดีอาญาจึงไม่ผูกมัดที่จะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลในคดีอื่นไม่ว่าศาลในคดีอื่นจะเป็นศาลแพ่งหรือศาลอาญาก็ตามที และถ้าหากมีการนำเสนอข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นเข้ามาเป็นพยานหลักฐานชิ้นหนึ่งในคดีอาญา ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาดังกล่าวก็ย่อมมีสถานะเป็นเพียงพยานบอกเล่าที่ต้องห้ามไม่ให้รับฟังตามหลักพยานหลักฐานที่ดีที่สุด (The Best Evidence Rule) อีกด้วย ดังที่ Lord Goddard ได้อธิบายเอาไว้ในคำพิพากษาคดี Hollington v. Hewthorn ตามที่กล่าวมาแล้ว จึงสรุปในเบื้องต้นได้ว่า สำหรับประเทศอังกฤษแล้ว ศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะไม่รับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นโดยเด็ดขาด ไม่ว่าศาลในคดีอื่นจะเป็นศาลแพ่งหรือศาลอาญาก็ตาม
       สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา นับเป็นประเทศที่มีมุมมองต่อการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Collateral Estoppel) มาใช้ในคดีอาญาอย่างกว้างขวางมาก โดยมีการอภิปรายถึงเหตุผลและความเหมาะสมของหลักการดังกล่าวในคำพิพากษาของศาลสูงมาเป็นเวลานาน จนได้ข้อสรุปที่น่าสนใจ โดยการนำหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Collateral Estoppel) มาใช้ในคดีอาญาของประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีลักษณะที่แตกต่างจากในประเทศอังกฤษ กล่าวคือในประเทศอังกฤษจะไม่มีการนำเอาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นใดมาเป็นบทตัดสำนวนในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาเลย แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกากลับพบว่ามีการนำเอาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลคดีอื่นมาใช้ในคดีอาญาบ้างในบางลักษณะ ดังจะกล่าวต่อไปนี้
       

การนำหลักกฎหมายปิดปากในประเด็นแห่งคดี (Collateral Estoppel) มาใช้ในคดีอาญาของประเทศสหรัฐอเมริกา ในเบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่า การนำข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีอาญาก่อนหน้ามาใช้ผูกพันข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่กำลังพิจารณาอยู่นี้อาจเป็นไปได้สองลักษณะคือ นำเอาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอาญาก่อนหน้ามาใช้ในลักษณะที่เป็นโทษแก่จำเลยในคดีอาญาที่กำลังพิจารณาอยู่  (Offensive Collateral Estoppel) หรืออาจเป็นกรณีที่นำข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอาญาก่อนหน้ามาใช้ในลักษณะที่เป็นคุณแก่จำเลยในคดีอาญาที่กำลังพิจารณาอยู่ (Defensive Collateral Estoppel)[19] ซึ่งการนำมาใช้ในสองลักษณะตามที่กล่าวมานี้ต่างก็มีเหตุผลและความชอบธรรมที่แตกต่างกันออกไป
       

          ในการพิจารณาคดีอาญา หากปรากฏว่าข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นแห่งคดีที่กำลังพิจารณาอยู่ ได้เคยมีคำพิพากษาของศาลอาญาในคดีก่อนหน้าวินิจฉัยเอาไว้แล้วว่าจำเลยได้เคยกระทำความผิดจริง (Conviction) ย่อมเป็นธรรมดาที่โจทก์จะร้องขอต่อศาลให้วินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีก่อนหน้าทันทีตามหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษา (Offensive Collateral Estoppel) เพื่อบรรเทาภาระในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงของตน อย่างไรก็ตาม ศาลและนักนิติศาสตร์ในประเทศสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทางที่ว่า ศาลที่พิจารณาคดีอาญาไม่ควรนำเอาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของคดีอาญาก่อนหน้ามาใช้ในลักษณะที่เป็นโทษแก่จำเลย ทั้งนี้เพราะจำเลยควรจะต้องได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีโดยลูกขุน (Right to a Jury Trial) ซึ่งเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาได้รองรับเอาไว้อย่างชัดเจนในการแก้ไขครั้งที่หก (the Sixth Amendment)[20] หากให้มีการถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาที่ลงโทษจำเลยในคดีก่อนหน้าย่อมเป็นการปิดกั้นไม่ให้โอกาสลูกขุนในการใช้ดุลพินิจพิจารณาคดีดังที่ควรจะเป็น[21] นอกจากนี้ Tennessee Supreme Court ก็ได้ให้เหตุผลสนับสนุนหลักการดังกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจในคดี State v. Scarbrough (2005)[22] โดยศาลกล่าวในทำนองที่ว่า ถึงแม้การรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีก่อนหน้าจะเป็นการป้องกันการดำเนินคดีซ้ำซ้อนและป้องกันการสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจไปได้ แต่ในกรณีที่เป็นคดีอาญา สิทธิของจำเลยในการได้รับการพิจารณาโดยลูกขุน (Right to a Jury Trial) ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ จำเป็นจะต้องถูกนำมาชั่งน้ำหนักเพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมด้วย รวมถึง California State Court ก็ได้เคยให้เหตุผลสนับสนุนเอาไว้ในคดี Gutierrez v. Superior Court (1994)[23] ว่าในกรณีของคดีอาญา สิทธิของจำเลยในการเสนอพยานหลักฐานว่าตนไม่ได้กระทำความผิด (Right in Presenting a Defense) และสิทธิในการได้รับการพิจารณาโดยลูกขุน มีน้ำหนักที่ควรใส่ใจมากกว่าเหตุผลเรื่องการป้องกันการสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจ ดังนั้นศาลในคดีอาญาจะต้องเปิดโอกาสให้จำเลยนำพยานหลักฐานเข้าสืบต่อหน้าลูกขุนเพื่อพิสูจน์ว่าตนไม่ได้กระทำความผิด ถึงแม้ศาลในคดีอาญาก่อนหน้าจะได้เคยวินิจฉัยเอาไว้แล้วว่าจำเลยกระทำความผิดก็ตาม
       

          อนึ่ง the Ninth Circuit Court เคยตัดสินเอาไว้ในคดี Pena-Cabanillas v. United States (1968)[24] ว่า ให้นำเอาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอาญาก่อนหน้า (Prior Conviction) ที่ตัดสินว่าจำเลยเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มาใช้ในการพิจารณาคดีอาญาภายหลังด้วย ถ้าหากคดีมีประเด็นและคู่ความเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าศาลในคดีดังกล่าวนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้เป็นโทษแก่จำเลยในคดีอาญาอย่างชัดเจน (Offensive Use of Collateral Estoppel) อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาถึงนโยบายที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินคดีดังกล่าวแล้วพบว่า การที่ศาลในคดี Pena-Cabanillas v. United States (1968) นำเอาข้อเท็จจริงที่เป็นโทษแก่จำเลยในคดีอาญามาใช้นั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ในการบริหารกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Public Policy and Judicial Administration) กล่าวคือ ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการหลบหนีเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเยอะ เมื่อศาลพิพากษาลงโทษและขับออกนอกประเทศไปแล้ว จำเลยก็มักจะหนีกลับเข้ามาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกครั้ง หากปล่อยให้จำเลยคนเดิมสามารถยกข้อต่อสู้แบบเดิมได้อีกครั้งย่อมเป็นการเสียเวลาอย่างมาก ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการปราบปรามและควบคุมการหลบหนีเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงนำเอาข้อเท็จจริงในคดีอาญาก่อนหน้าที่ได้ตัดสินลงโทษจำเลยไปแล้ว มาใช้ผูกมัดจำเลยคนเดิมนั้นไม่ให้โต้แย้งข้อเท็จจริงเป็นประการอื่นอีกต่อไป[25] อย่างไรก็ตาม ศาลและนักนิติศาสตร์ส่วนใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกายังคงถือว่า หลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษา (Collateral Estoppel) จะไม่นำเอามาใช้ในลักษณะที่เป็นโทษแก่จำเลยในคดีอาญาอย่างเด็ดขาดอยู่นั่นเอง
       

ในประเด็นเกี่ยวกับการรับฟังคำพิพากษาในคดีอาญาก่อนหน้าที่ตัดสินลงโทษจำเลย (Conviction) นี้ มีข้อสังเกตว่าถ้าหากมีการนำเสนอคำพิพากษาคดีอาญาอื่นที่วินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกันเอาไว้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดมาเป็นพยานหลักฐานชิ้นหนึ่งในคดีอาญา ย่อมถือเป็นเพียงพยานบอกเล่าเท่านั้น ซึ่ง Federal Rules of Evidence ข้อที่ 609(a)[26] และข้อที่ 803(22[27]) ได้วางหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการรับฟังคำพิพากษาในคดีอาญาก่อนหน้าที่ตัดสินว่าจำเลยกระทำความผิด (Prior Conviction) เอาไว้ กล่าวคือ คำพิพากษาในคดีอาญาอื่นมีสถานะเป็นพยานบอกเล่า (Hearsay) ซึ่งโดยหลักแล้วศาลไม่สามารถรับฟังได้ แต่ด้วยความที่คำพิพากษาในคดีอาญาอื่นนั้น โดยลักษณะที่มามีความน่าเชื่อถือกว่าพยานบอกเล่าประเภทอื่นๆ Federal Rule of Evidence จึงได้วางข้อยกเว้นให้ศาลสามารถรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาอื่นที่วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิด (Prior Conviction) ได้ แต่จะต้องรับฟังในฐานะที่เป็นพยานหลักฐานชิ้นหนึ่งในคดีเท่านั้น หาใช่เป็นการนำมาผูกมัดให้ศาลในคดีอาญาต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามนั้นแต่อย่างใด
       

          ประเด็นต่อมาที่ต้องกล่าวถึงก็คือ ถ้าหากเป็นกรณีที่คำพิพากษาของศาลในคดีอาญาก่อนหน้าได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นเดียวกันนี้เอาไว้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด (Acquittal) เช่นนี้ย่อมเกิดปัญหาว่าศาลอาญาคดีหลังจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีก่อนหน้าโดยวินิจฉัยว่าจำเลยในคดีหลังนี้ไม่ได้กระทำความผิด (Defensive Collateral Estoppel) ทันทีหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ The United Supreme Court ได้เคยวินิจฉัยเอาไว้ในคดี Ashe v. Swenson (1970)[28] ว่า เมื่อศาลในคดีแรกได้วินิจฉัยเอาไว้อย่างชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดอาญา รัฐย่อมไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวอีกครั้งด้วยการดำเนินคดีอาญาภายหลังเป็นอีกคดีหนึ่ง ทั้งนี้เพราะประเด็นที่ว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ ถือเป็นหลักในการพิจารณาคดีทั้งสองคดี เมื่อศาลในคดีแรกได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดก็ต้องถือตามนั้น อีกทั้งในการพิจารณาคดีแรก รัฐก็ได้รับโอกาสอย่างเต็มที่และเป็นธรรม (Full and Fair Opportunity) ในการนำพยานหลักฐานเข้าพิสูจน์ความผิดของจำเลยแล้วด้วย ถ้ายอมให้มีการพิสูจน์ความผิดกันอีกครั้งหนึ่งในการดำเนินคดีอาญาภายหลัง ย่อมเป็นการขัดต่อสิทธิของจำเลยในคดีอาญาที่จะไม่ถูกดำเนินคดีสองครั้งในเรื่องเดียวกัน (Double Jeopardy) ซึ่งเป็นสิทธิที่ปรากฏอยู่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 5[29] และครั้งที่ 14[30] (the Fifth and Fourteenth Amendment) อย่างชัดแจ้งอีกด้วย ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ถ้าหากมีการอ้างอิงคำพิพากษาคดีอาญาก่อนหน้าในลักษณะที่เป็นคุณแก่จำเลยในคดีนี้ (Defensive Collateral Estoppel) ศาลอาญาในคดีนี้จำเป็นต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลอาญาคดีก่อนหน้าทันที หากโจทก์ขอนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยในคดีหลัง ศาลจะอนุญาตไม่ได้เพราะถูกกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษาในคดีก่อนหน้าแล้วนั่นเอง
       

          อนึ่ง ในการพิจารณาคดีอาญา ถ้าหากข้อเท็จจริงในประเด็นเดียวกันเคยได้รับการวินิจฉัยเอาไว้โดยคำพิพากษาคดีแพ่งก่อนหน้าแล้ว จากการศึกษาไม่พบว่าศาลในคดีอาญาของประเทศสหรัฐอเมริกา รับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ไม่ว่าจะเป็นการรับฟังในทางที่เป็นคุณ (Defensive Collateral Estoppel) หรือเป็นโทษ (Offensive Collateral Estoppel) ทั้งนี้ เพราะโดยหลักแล้วจำเลยในคดีอาญามีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาจากลูกขุน และมีสิทธิที่จะได้เผชิญหน้ากับพยานในคดีอาญา (Right to Confrontation of Witnesses) หากปล่อยให้มีการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีแพ่งก็จะเป็นการละเมิดต่อสิทธิของจำเลยตามรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน[31]
       กล่าวโดยสรุป ศาลอาญาในประเทศสหรัฐอเมริกาจะนำหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Collateral Estoppel) มาใช้ในคดีอาญาเฉพาะกรณีที่คำพิพากษาคดีอาญาก่อนหน้าได้วินิจฉัยเอาไว้ในลักษณะที่เป็นคุณแก่จำเลยเท่านั้น ถ้าหากคำพิพากษาคดีอาญาก่อนหน้าได้วินิจฉัยเอาไว้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดย่อมไม่ผูกพันให้ศาลอาญาในคดีหลังต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามนั้น รวมถึงในกรณีที่คำพิพากษาในคดีก่อนเป็นคำพิพากษาของศาลคดีแพ่ง ก็ไม่มีผลผูกพันให้ศาลในคดีอาญาที่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกันต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีแพ่งนั้นแต่อย่างใด
       ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่น ตามที่ปรากฏในประเทศคอมมอนลอว์ ซึ่งโดยหลักแล้วจะไม่มีการนำเอาข้อเท็จจริงในคดีอื่นมาใช้ในคดีอาญาเลย ไม่ว่าจะเป็นประเทศอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกา เว้นแต่กรณีเดียวที่ศาลในประเทศสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้นำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้ในคดีอาญาได้ คือกรณีที่ศาลในคดีอาญาก่อนหน้าได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงเอาไว้เป็นคุณแก่จำเลยในคดีอาญาเท่านั้น ในประเด็นต่อไปจะนำศึกษาถึงแนวคิดเกี่ยวกับการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่นตามที่ปรากฏในกลุ่มประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์อันได้แก่ ประเทศฝรั่งเศส และประเทศเยอรมนี ซึ่งจากการศึกษาพบว่าในประเทศซีวิลลอว์ไม่ค่อยมีพัฒนาการของหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมากเท่าไรนัก แต่ก็พอจะมีแนวคิดดังกล่าวปรากฏอยู่ในระบบกฎหมายของประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์อยู่บ้าง ดังจะกล่าวในรายละเอียดต่อไปนี้
       ในประเทศฝรั่งเศสไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดให้ศาลในคดีอาญาจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลคดีอื่นดังเช่นในประเทศคอมมอนลอว์ แม้จะปรากฏว่าศาลฎีกาในประเทศฝรั่งเศสได้สร้างบรรทัดฐานของการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นเอาไว้ในปี ค.ศ.1855[32] ว่า ศาลในคดีแพ่งต้องยึดถือข้อเท็จจริงที่ศาลอาญาได้ทำการวินิจฉัยเอาไว้แล้ว (L’autorite de la chose jugee au criminal sur le civil)[33] โดยมีเจตนารมณ์ต้องการให้ศาลชั้นต้นสองศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้เหมือนกันก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องของคดีแพ่งที่จะต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีอาญา หาได้ตอบคำถามว่ากรณีคดีอาญาจะต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีอื่นหรือไม่ ทั้งนี้ อาจด้วยเหตุผลที่ว่า ในประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ และหลักในการพิจารณาคดีของประเทศฝรั่งเศสก็ยึดระบบไต่สวน (Inquisitorial System) เป็นสำคัญ ศาลยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลอาญาจึงมีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดีอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องคำนึงว่าคำพิพากษาของศาลในคดีก่อนหน้าจะวินิจฉัยเอาไว้ว่าอย่างไร
       สำหรับประเทศเยอรมนีที่ถือเป็นประเทศต้นแบบของระบบกฎหมายซีวิลลอว์อีกประเทศหนึ่งนั้น ปรากฏว่าเคยได้รับอิทธิพลของหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษา (Res Judicata) มาจากกฎหมายของโรมันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ประเทศอังกฤษเริ่มมีพัฒนาการเกี่ยวกับหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษา อย่างไรก็ตาม ในภายหลังราวคริสต์ศตวรรษ 18 -19 ซึ่งเป็นช่วงที่แนวคิดการจัดทำประมวลกฎหมาย (Codification) ในยุโรปกำลังเฟื่องฟู กลับปรากฏว่าแนวคิดการถือข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลคดีอื่นเสื่อมความนิยมลงไปในระบบกฎหมายของประเทศเยอรมนี ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีการถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาการถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นอย่างกว้างขวางในวงการนิติศาสตร์ โดยผู้ที่เสนอให้มีการนำหลักการดังกล่าวมาใช้ในระบบกฎหมายของประเทศเยอรมนีก็คือ Von Savigny[34] ซึ่งภายหลังจากการอภิปรายปัญหาดังกล่าว ฝ่ายที่ต่อต้านทฤษฎีของ Von Savigny ได้รับชัยชนะในการอภิปราย ทำให้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งของประเทศเยอรมนี ที่ร่างในปี คริสต์ศักราช 1877 จำกัดบทบาทของหลักการถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลคดีอื่นอย่างมาก กล่าวคือโดยหลักแล้วศาลไม่จำเป็นต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลคดีอื่น แม้ประเด็นเดียวกันนั้น (Identical Issue) จะได้รับการวินิจฉัยโดยศาลคดีอื่นที่มีอำนาจแล้วก็ตาม[35] 
       ต่อประเด็นปัญหาที่ว่า ศาลในคดีอาญาของประเทศเยอรมนีในปัจจุบันจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นหรือไม่นั้น จากการศึกษาพบว่าหลักกฎหมายปิดปากในประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) ไม่ปรากฏในระบบกฎหมายของประเทศเยอรมนีและประเทศในภาคพื้นทวีปยุโรปส่วนใหญ่[36]ดังนั้น ศาลที่พิจารณาคดีอาญาในประเทศเยอรมนีจึงไม่ต้องถือข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลคดีอื่น เพียงแต่สามารถนำข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลในคดีอื่นมาเป็นพยานหลักฐานของศาลได้เท่านั้น และถึงแม้จะเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงมีความเกี่ยวพันกันระหว่างคดีแพ่งกับคดีอาญา (Sachzusammenhang) หรือที่เรียกว่าคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา (Das Adhaesionsverfahren)ก็ตาม[37] ก็ไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดให้ศาลที่พิจารณาคดีแพ่งต้องถือข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลคดีส่วนอาญาดังเช่นในประเทศฝรั่งเศส และในทางกลับกันก็ไม่ปรากฏว่าศาลที่พิจารณาคดีอาญาต้องถือข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลคดีส่วนแพ่ง ซึ่งในประเด็นนี้ ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่า[38]ศาลในประเทศเยอรมนีไม่มีการถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลคดีอื่น เพราะในประเทศเยอรมนีถือว่าศาลแต่ละคดีมีความเป็นอิสระจากกันนั่นเอง นอกจากนี้ อาจด้วยเพราะในประเทศเยอรมนีถือหลักว่าการดำเนินคดีอาญาจะต้องเป็นไปตามหลักการดำเนินคดีแบบตรวจสอบ (Examination Principle) ซึ่งศาลแต่ละคดีจะต้องค้นหาข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่โดยปราศจากการผูกมัดจากคำพิพากษาคดีอื่นด้วย
       กล่าวโดยสรุป ในสากลประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ หรือระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ ล้วนแต่ยึดถือเป็นหลักว่าจะไม่มีการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้ในคดีอาญาโดยในแต่ละประเทศก็มีการให้เหตุผลของการปฏิเสธไม่รับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่นที่แตกต่างกันออกไปตามที่เราได้ศึกษากันมาแล้ว ในหัวข้อต่อไปจะวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมว่าในประเทศไทยควรจะมีการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาของศาลคดีอื่นหรือไม่
        
                 4.3 วิเคราะห์ความเหมาะสมของการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่น
                 เราได้ทราบมาแล้วว่าในประเทศไทยมีแนวโน้มในการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่นอยู่ 2 ลักษณะ คือ รับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอาญาก่อนหน้า และรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีแพ่งที่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงเอาไว้เป็นคุณแก่จำเลยในคดีอาญา ในขณะที่ในต่างประเทศจะยึดถือเป็นหลักทั่วไปว่าศาลในคดีอาญาไม่มีความจำเป็นจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่น
                 ในความคิดเห็นของผู้เขียนนั้น การที่ศาลฎีกาของประเทศไทยมีแนวโน้มในการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอื่นโดยอาศัยบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เพื่อนำเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 มาใช้บังคับกับคดีอาญานั้น เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและไม่สมควรนำเอาหลักการดังกล่าวมาใช้ในคดีอาญาของประเทศไทย ทั้งนี้เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ซึ่งที่มาหลักของกฎหมายมาจากกฎหมายลายลักษณ์อักษร เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติในลักษณะที่ให้นำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้เฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ก็แสดงให้เห็นว่าประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจนิติบัญญัติมองว่าหลักการดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในคดีแพ่ง แต่ไม่เหมาะสมที่จะนำเอามาใช้ในคดีอาญา การที่ศาลฎีกาสร้างบรรทัดฐานในการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้ในคดีอาญาโดยพลการย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น อีกทั้งการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอื่นอาจก่อให้เกิดปัญหาทั้งในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติตามมาดังนี้
                 1. การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่น ขัดต่อหลักการดำเนินคดีอาญาแบบตรวจสอบ (Examination Principle) กล่าวคือ ในคดีอาญา เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่ายรวมถึงศาลมีหน้าที่ต้องร่วมมือกันแสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดีโดยปราศจากข้อผูกมัดใดๆ เพื่อให้ข้อเท็จจริงที่ได้มีความใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ดังนั้น การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่นจึงเป็นการจำกัดบทบาทของศาลในการแสวงหาข้อเท็จจริง และผูกมัดให้ศาลต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีก่อนหน้าเท่านั้น ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการดำเนินคดีแบบตรวจสอบ
                 2. การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่น ขัดต่อหลักการรับฟังพยานบอกเล่า (Hearsay) ด้วยเหตุที่คำพิพากษาของศาลคดีอื่น ย่อมมีสถานะเป็นข้อความซึ่งเป็นการบอกเล่าที่พยานบุคคลนำมาเบิกความต่อศาลแล้วศาลก็บันทึกไว้ในเอกสารเพื่ออ้างเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความจริง จึงเข้าลักษณะของพยานบอกเล่า และในเรื่องนี้ก็ได้มีปรมาจารย์ทางด้านกฎหมายพยานหลักฐานกล่าวเอาไว้ดังนี้
       ศาสตราจารย์ ประมูล สุวรรณศร กล่าวว่า[39] “ในคดีอาญานั้นย่อมจะถือได้เสมอว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาของคดีอื่นนั้น ศาลย่อมจะถือว่าเป็นแต่เพียงพยานความเห็นหรือพยานบอกเล่าเท่านั้น ซึ่งรับฟังไม่ได้”
       ศาสตราจารย์(พิเศษ) เข็มชัย ชุติวงศ์ กล่าวว่า[40] “คำพิพากษาในคดีเรื่องก่อนถือเป็นพยานบอกเล่าและพยานความเห็นรวมกัน คือ เป็นความเห็นของผู้พิพากษาที่รับฟังคำบอกเล่าของพยานที่มาเล่าให้ฟังแล้วชี้ขาดลงไปว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร โดยผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีเรื่องปัจจุบันไม่มีโอกาสได้ฟังการสืบพยานข้อเท็จจริงที่ปรากฏเลย และตัวผู้พิพากษาในคดีก่อนก็ไม่ได้มาเป็นพยานเพื่ออธิบายเหตุผลว่าเหตุใดตนจึงสรุปข้อเท็จจริงออกมาตามที่ปรากฏในคำพิพากษา ดังนั้น จึงไม่อาจนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีปัจจุบันได้…”
       การที่ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นถือเป็นพยานบอกเล่าในคดีอาญา ย่อมทำให้ต้องด้วยบทตัดพยานบอกเล่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 ศาลไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ และถึงแม้จะเข้าข้อยกเว้นที่ให้รับฟังได้ ศาลก็จะต้องชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานชิ้นนี้ด้วยความระมัดระวังตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 ได้กำหนดหลักเกณฑ์เอาไว้ ดังนั้น การที่ศาลในคดีอาญาจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอื่นในฐานะของบทตัดสำนวน (Undisputable Fact) จึงถือว่าขัดต่อหลักการรับฟังพยานบอกเล่า หรืออาจกล่าวได้ว่า ลำพังกฎหมายจะอนุญาตให้ศาลอาญารับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นเป็นพยานชิ้นหนึ่ง กฎหมายยังต้องกำหนดเงื่อนไขเอาไว้ตั้งมากมาย จึงไม่มีเหตุผลใดๆที่จะอนุญาตให้นำเอาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นมาเป็นบทตัดสำนวนไม่ให้ศาลอาญาวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น
       3. ในกรณีที่จะให้ศาลคดีอาญารับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีแพ่ง แม้จะเป็นการรับฟังเฉพาะในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยในคดีอาญาก็ตาม ย่อมก่อให้เกิดปัญหาความเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาข้อเท็จจริงของภาครัฐ กล่าวคือ ในคดีอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดอำนาจพิเศษในการแสวงหาพยานหลักฐานให้แก่เจ้าพนักงานของรัฐ เช่น หมายเรียก หมายอาญา เป็นต้น ในขณะที่ในการดำเนินคดีแพ่งของเอกชนไม่มีกฎหมายกำหนดอำนาจพิเศษในการแสวงหาพยานหลักฐานแก่เอกชนผู้เป็นโจทก์ ดังนั้น ความสามารถในการแสวงหาพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่รัฐในคดีอาญาย่อมมีมากกว่าความสามารถในการแสวงหาพยานหลักฐานของเอกชนผู้เป็นโจทก์ในคดีแพ่งอย่างแน่นอน การที่ศาลในคดีอาญาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามคดีแพ่งในฐานะบทตัดสำนวน ย่อมทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในคดีอาญาไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีอาญาเป็นอย่างอื่นได้ แต่จะต้องถูกผูกมัดโดยคำพิพากษาในคดีแพ่งที่ยกฟ้องจำเลย ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว หากปล่อยให้เจ้าพนักงานของรัฐแสวงหาพยานหลักฐานโดยใช้อำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อาจจะพิสูจน์ความผิดของจำเลยในคดีอาญาได้ก็เป็นได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคดีแพ่ง แม้จะเป็นการรับฟังในทางที่เป็นคุณก็ย่อมเป็นอุปสรรคแก่การรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหนักงานภาครัฐอยู่นั่นเอง
       4. ในกรณีที่จะให้ศาลคดีอาญารับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีแพ่ง แม้จะเป็นการรับฟังเฉพาะในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยในคดีอาญาก็ตาม ย่อมอาจก่อให้เกิดปัญหาการดำเนินคดีแพ่งโดยสมยอมกันเพื่อล้มคดีอาญาได้ ทั้งนี้ เพราะในการดำเนินคดีแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ได้มีบทบัญญัติป้องกันการดำเนินคดีโดยสมยอมกันเอาไว้ดังเช่นในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากจำเลยใช้อิทธิพลข่มขู่โจทก์ในคดีแพ่งให้ดำเนินคดีโดยสมยอมและให้ศาลแพ่งพิพากษายกฟ้องจำเลยเพื่อนำไปผูกพันคดีอาญาตามหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี ย่อมทำให้การดำเนินคดีอาญาไม่บรรลุผลในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมได้[41]
       5. ในกรณีที่จะให้ศาลคดีอาญารับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีแพ่ง แม้จะเป็นการรับฟังเฉพาะในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยในคดีอาญาก็ตาม ย่อมอาจก่อให้เกิดปัญหาในแง่ของความแตกต่างระหว่างมาตรฐานการพิสูจน์ในคดีอาญาและคดีแพ่งได้ กล่าวคือ ในคดีอาญาใช้มาตรฐานการพิสูจน์โดยปราศจากเหตุอันควรสงสัย (Prove Beyond Reasonable Doubt) ซึ่งเป็นมาตรฐานการพิสูจน์ที่สูงที่สุดในระบบกฎหมายพยานหลักฐานปัจจุบัน ในขณะที่คดีแพ่งใช้มาตรฐานการพิสูจน์เพียงว่าฝ่ายใดนำสืบพยานหลักฐานได้มากกว่ากันเท่านั้น (Preponderance of Evidence) ด้วยเหตุนี้ ข้อเท็จจริงที่ได้จากการวินิจฉัยของศาลในคดีอาญาย่อมมีความถูกต้องและใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากกว่าข้อเท็จจริงที่ได้จากการวินิจฉัยของศาลในคดีแพ่ง และด้วยลักษณะของคดีอาญาเป็นการดำเนินคดีที่ต้องสร้างความสมดุลระหว่างการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้มีความใกล้เคียงกับความจริงที่เกิดขึ้นมากเป็นพิเศษ ดังนั้น การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีแพ่งย่อมเป็นการเอาคดีอาญาไปเสี่ยงกับความไม่แน่นอนของข้อเท็จจริงในคดีแพ่ง จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง
       ที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นว่า การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่นเป็นเรื่องที่ไม่มีความเหมาะสม เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้นำเอามาใช้ อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดปัญหามากมายหลายประการตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้อีกด้วย และเมื่อเราได้ทราบถึงข้อดีข้อเสียและความเหมาะสมของการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นในประเทศไทยแล้ว ในหัวข้อต่อไปจะสรุปให้เห็นภาพรวมของหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นอีกครั้งหนึ่ง และเสนอแนะว่าควรจะมีการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีในประเทศไทยในลักษณะใดบ้าง
        
       5. บทสรุปและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่น
                 โดยภาพรวม หลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่น (Issue Estoppel) ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาลยุติธรรมในประเทศไทย กล่าวคือ ในคดีแพ่งก็มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติให้ศาลในคดีแพ่งต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลคดีอื่น ไม่ว่าศาลคดีอื่นนั้นจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาก็ตาม หากมีคู่ความและประเด็นที่วินิจฉัยเกี่ยวเนื่องกันแล้ว (Same Parties and Same Issue) ศาลในคดีแพ่งจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นทั้งสิ้น ในส่วนของคดีอาญา ศาลฎีกาในประเทศไทยก็มีแนวโน้มที่จะรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่นเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ 2396/2554 และบทสัมภาษณ์ขององค์คณะในคดีดังกล่าว ที่แสดงให้เห็นแนวโน้มในการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอาญาก่อนหน้า รวมถึงคำพิพากษาฎีกาที่ 2774/2546 และ 5175/2547 ที่วางบรรทัดฐานให้ศาลในคดีอาญาจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีแพ่ง หากศาลในคดีแพ่งได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงเอาไว้ในลักษณะที่เป็นคุณแก่จำเลยในคดีอาญา จึงอาจกล่าวได้ว่าศาลในประเทศไทยนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) มาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาเลยทีเดียว
                 สำหรับในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ (Common Law Countries) เช่นประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกา โดยหลักแล้วจะนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้เฉพาะในคดีแพ่ง เพื่อให้การวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาลแพ่งทั้งสองคดีมีความเป็นเอกภาพ ไม่ขัดแย้งซึ่งกันและกัน อีกทั้งเป็นการป้องกันการดำเนินคดีซ้ำซ้อนในข้อเท็จจริงเดียวกัน (Re-Litigation) อันเป็นบ่อเกิดของความสิ้นเปลืองต้นทุนทางเศรษฐกิจทั้งในแง่ของเวลาและค่าใช้จ่ายด้วย (Judicial Economy) อย่างไรก็ตาม หลักการดังกล่าวมีความเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเป็นเรื่องของคดีอาญา กล่าวคือทั้งในประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกา ต่างมีมุมมองในเชิงปฏิเสธต่อการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่น โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษที่มีหลักอยู่ว่า “Issue Estoppel does not Apply in English Criminal Proceedings” เลยทีเดียว ด้วยเหตุที่ว่าในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญา สิทธิของจำเลยในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Due Process Right) ที่จะนำเสนอพยานหลักฐานต่อศาล (Right in Presenting Evidence) มีความสำคัญมากกว่าเหตุผลเรื่องการประหยัดต้นทุนทางเศรษฐกิจ (Judicial Economy) ซึ่งมุมมองในเชิงปฏิเสธต่อการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้ในคดีอาญาของประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกานี้ ก็ถือว่าสอดคล้องกับในกลุ่มประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ เช่น ประเทศฝรั่งเศส และประเทศเยอรมนี ด้วยเหตุที่ในประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนี ถือเป็นหลักสำคัญว่าการดำเนินคดีอาญาจะต้องเป็นการดำเนินคดีแบบตรวจสอบ (Examination Principle) ศาลในแต่ละคดีควรจะมีอิสระในการค้นหาข้อเท็จจริงแห่งคดีอย่างเต็มที่โดยไม่ถูกผูกมัดโดยคำพิพากษาของศาลอื่น ซึ่งแนวคิดนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ของระบบการค้นหาความจริงแบบไต่สวน (Inquisitorial System) ที่ใช้กันอยู่ในประเทศซีวิลลอว์เลยทีเดียว
        
       5.1 ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงหลักการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งตามคำพิพากษาคดีอื่น
                 สำหรับข้อเสนอแนะในการปรับปรุงหลักการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งตามคำพิพากษาคดีอื่นนั้น จะเห็นได้ว่าในประเทศไทยมีบทบัญญัติและได้ถือปฏิบัติในลักษณะที่สอดคล้องกับหลักการสากลอยู่แล้ว กล่าวคือศาลในคดีแพ่งจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีแพ่งอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 รวมถึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ด้วย เพื่อความเป็นเอกภาพในการรับฟังข้อเท็จจริงของศาลสองคดี อย่างไรก็ตาม มีข้อพิจารณาอยู่ประการหนึ่งสำหรับการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 กล่าวคือ ในกรณีที่คดีอาญามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย เช่นนี้ศาลในคดีแพ่งจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคดีอาญาอย่างเคร่งครัดโดยไม่มีปัญหาอะไร เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าจำเลยกระทำผิดอาญาได้ถูกวินิจฉัยโดยปราศจากเหตุอันควรสงสัย (Beyond Reasonable Doubt) แล้ว อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ศาลที่พิจารณาคดีอาญาได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิด เพราะโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์จนปราศจากเหตุอันควรสงสัยให้ศาลเห็นว่าจำเลยกระทำผิดได้นั้น ศาลในคดีแพ่งไม่ควรจะต้องถือข้อเท็จจริงตามนั้น เพราะการที่โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์จนปราศจากเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดอาญา ไม่ได้หมายความว่าโจทก์จะไม่สามารถพิสูจน์จนน่าเชื่อถือว่าจำเลยมีความรับผิดทางแพ่งได้ ด้วยเหตุที่มาตรฐานการพิสูจน์ (Standard of Proof) ของคดีแพ่งและคดีอาญามีความแตกต่างกันดังที่ได้กล่าวมาแล้ว หากเปรียบว่าการพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัย (Proof Beyond Reasonable Doubt ) ซึ่งเป็นมาตรฐานการพิสูจน์ในทางอาญา คือการพิสูจน์ให้ศาลเห็นความจริง 90% และการพิสูจน์จนน่าเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น (Preponderance of Evidence) ซึ่งเป็นมาตรฐานการพิสูจน์ในทางแพ่ง คือการพิสูจน์ให้ศาลเห็นความจริงเกินกว่า 50% แล้ว จะเห็นว่า ถ้าหากโจทก์ในคดีอาญานำสืบข้อเท็จจริงให้ศาลเห็นได้ 70% ก็ยังไม่เพียงพอที่ศาลจะฟังว่าจำเลยกระทำผิด ศาลในคดีอาญาย่อมพิพากษายกฟ้อง ในกรณีเช่นนี้หากตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 46 ตามตัวอักษร ศาลในคดีแพ่งก็จะต้องรับฟังว่าจำเลยไม่มีความรับผิดทางแพ่งเช่นกัน ทั้งๆที่ในความเป็นจริง โจทก์สามารถพิสูจน์ให้ศาลเห็นตามที่ตนกล่าวอ้างว่าจำเลยมีความรับผิดได้ถึง 70% ซึ่งเพียงพอต่อการรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีความรับผิดในทางแพ่งแล้ว ด้วยเหตุนี้ หากศาลในคดีอาญาพิพากษายกฟ้องจำเลยเพราะโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ความผิดได้ ผู้เขียนจึงเห็นควรเสนอให้ศาลในคดีแพ่งมีอิสระและมีดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน เพื่อวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่โดยปราศจากข้อผูกมัดจากคำพิพากษาคดีอาญาได้เลย แต่ถ้าหากศาลในคดีอาญาพิพากษาลงโทษจำเลย ก็ให้เป็นไปตามหลักเดิมที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 นั่นเอง
        
        5.2 ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงหลักการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่น
                 ในส่วนของข้อเสนอแนะในการปรับปรุงหลักการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่นนั้น จะเห็นได้ว่าศาลฎีกาของประเทศไทยมีแนวโน้มในการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) มาใช้ในการพิพากษาคดีอาญาด้วย เพื่อส่งเสริมให้การรับฟังข้อเท็จจริงของศาลสองคดีมีความเป็นเอกภาพ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าได้วิเคราะห์แล้วว่าหลักการดังกล่าวมีความไม่เหมาะสม ด้วยอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมายหลายประการดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้
                 1. ขอเสนอให้ศาลยุติการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) มาใช้เพื่อผูกมัดให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาต้องถือข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอื่นโดยอ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ไม่ว่าคำพิพากษาคดีอื่นจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา และได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในลักษณะที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่จำเลยในคดีอาญาก็ตาม แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จะเปิดโอกาสให้ศาลนำเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ในคดีอาญาเท่าที่จะสามารถใช้บังคับได้ก็ตาม แต่การจะนำเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 มาใช้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลเอง เมื่อหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี ซึ่งเป็นหลักที่สะท้อนอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 มีลักษณะที่ขัดแย้งต่อหลักการขั้นพื้นฐานของคดีอาญาหลายประการ ศาลก็ไม่ควรนำเอาหลักดังกล่าวมาใช้ในคดีอาญาแต่อย่างใด นอกจากนี้ หากพิจารณาในเชิงโครงสร้างของกฎหมายแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ซึ่งยึดถือเอากฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นที่มาหลักของกฎหมาย การที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติเพียงให้ศาลที่พิจารณาคดีแพ่ง ยึดถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาก่อนหน้าตามลำดับ ย่อมแสดงให้เห็นว่าประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจนิติบัญญัติยังไม่เห็นว่าศาลในคดีอาญาควรยึดถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอาญาก่อนหน้า ดังนั้น ศาลจึงไม่ควรสร้างบรรทัดฐานให้มีการนำเอาข้อเท็จจริงในคดีอื่นมาใช้ในคดีอาญาที่กำลังพิจารณาอยู่ เพราะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม และเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของจำเลยในคดีอาญาบางประการอย่างชัดเจน ในทางกลับกัน ศาลควรเปิดโอกาสให้คู่ความในคดีอาญาได้มีโอกาสนำพยานหลักฐานเข้าพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความกล่าวอ้างอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุด อันเป็นหลักสำคัญของหลักการดำเนินคดีอาญาแบบตรวจสอบ (Examination Principle) นั่นเอง
                 2. ขอเสนอให้ศาลในคดีอาญารับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่น ในฐานะที่เป็นพยานบอกเล่าชิ้นหนึ่งในคดีเท่านั้น กล่าวโดยละเอียดก็คือ เมื่อคดีอาญาที่กำลังพิจารณาอยู่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกับคำพิพากษาคดีอื่นที่ได้วินิจฉัยถึงที่สุดไว้แล้ว หากมีการเสนอคำพิพากษาคดีอื่นเข้ามาในสำนวนคดีในฐานะเป็นพยานหลักฐานชิ้นหนึ่ง คำพิพากษาในคดีอื่นย่อมอยู่ในสถานะที่เป็นพยานบอกเล่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา มาตรา 226/3[42] เพราะข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยเอาไว้ในคดีอื่นนั้น เมื่อมีการนำเสนอเข้ามาเป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาแล้ว ย่อมมีลักษณะเป็นข้อเท็จจริงหรือข้อความซึ่งเป็นการบอกเล่า ที่พยานบุคคลในคดีอาญาก่อนหน้านำมาเบิกความต่อศาลแล้วศาลในคดีอื่นได้บันทึกเอาไว้ในคำพิพากษา เมื่อมีการนำเสนอเข้ามาในคดีอาญาที่กำลังพิจารณาอยู่เพื่อพิสูจน์ว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำพิพากษาคดีอื่น ย่อมเข้าลักษณะของการเป็นพยานบอกเล่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 อย่างชัดเจน โดยหลักเกณฑ์ในการรับฟังพยานบอกเล่านั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 ได้บัญญัติห้ามไม่ให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่าตามหลักการตัดพยาน (Exclusionary Rule) แต่ข้อห้ามดังกล่าวไม่ได้มีลักษณะที่เป็นข้อห้ามเด็ดขาด เพราะถ้าหากพยานบอกเล่านั้น ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะสามารถใช้ในการพิสูจน์ความจริงได้ ศาลที่พิจารณาคดีอาญาก็สามารถรับฟังพยานบอกเล่านั้นได้ ทั้งนี้ เพราะคำพิพากษาคดีอื่นถือว่าเป็นพยานบอกเล่าที่ตามสภาพ ลักษณะ และแหล่งที่มามีความน่าเชื่อถือและมีคุณค่าในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้เป็นอย่างดี เพียงแต่ในการชั่งน้ำหนักพยาน ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 วางหลักเกณฑ์เอาไว้นั่นเอง
                 3. ขอเสนอให้ศาลที่พิจารณาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญากำหนดแนวปฏิบัติร่วมกันว่า ในการพิจารณาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาให้ศาลรอการพิจารณาคดีส่วนแพ่งเอาไว้ก่อนโดยการจำหน่ายคดีชั่วคราว จากนั้นเมื่อคดีอาญามีการวินิจฉัยข้อเท็จจริงจนถึงที่สุดแล้ว ก็ให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาแถลงต่อศาลขอให้ศาลที่พิจารณาคดีแพ่งยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป ซึ่งศาลที่พิจารณาคดีแพ่งก็จะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลในคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ด้วย หากมีการกำหนดแนวปฏิบัติเช่นนี้แล้วย่อมเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ในคดีอาญาซึ่งมีมาตรฐานการพิสูจน์และกระบวนการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยมากกว่าคดีแพ่ง อีกทั้งยังเป็นการประหยัดต้นทุนในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่ง (Judicial Economy) และป้องกันการรับฟังข้อเท็จจริงขัดแย้งกันของศาลแพ่งและศาลอาญาอีกด้วย ถ้าหากไม่มีการกำหนดแนวปฏิบัติร่วมกันเช่นนี้ อาจเกิดกรณีที่ศาลในคดีแพ่งวินิจฉัยข้อเท็จจริงถึงที่สุดก่อนคดีอาญา และเกิดการพิจารณาข้อเท็จจริงที่ซ้ำซ้อนกัน เพราะศาลในคดีอาญาไม่สามารถถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีแพ่งได้นั่นเอง ศาลในคดีอาญาจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงใหม่ทั้งหมด ทำให้เกิดความสิ้นเปลืองทางต้นทุนทางเศรษฐกิจขึ้นโดยไม่จำเป็น (Judicial Economy)
                 ที่กล่าวมาทั้งหมดในบทความนี้คือปัญหาเกี่ยวกับการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่น ซึ่งเป็นผลของหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) อย่างแท้จริง โดยในอดีตที่ผ่านมายังไม่เคยมีการศึกษาในประเด็นนี้กันอย่างจริงจัง ผู้เขียนจึงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะได้ทำการศึกษาประเด็นปัญหานี้เพื่อความกระจ่างแจ้งทางวิชาการ หากบทความนี้มีข้อผิดพลาดประการใด ผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ ทีนี้ด้วย
        
       


       
       

       

        [1] ประมูล สุวรรณศร, คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยาน, พิมพ์ครั้งที่ 8, หน้า 160.    
       

       

       [2]  สัมภาษณ์ ประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล, ประธานศาลอุทธรณ์, 6 สิงหาคม 2556
       

       

       [3] บัญญัติ สุชีวะ, “การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอื่น,” ดุลพาห 13 (เมษายน 2509): 38.
       

       

       [4] จรัญ ภักดีธนากุล,  กฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน, พิมพ์ครั้งที่ 7, หน้า 113.
       

       

       [5] ภายหลังได้มีคำพิพากษาออกมายืนยันบรรทัดฐานของคำพิพากษาฎีกาที่ 1446/2526 ได้แก่ คำพิพากษาฎีกาที่ 4751/2539, 2836/2540 และ 1998/2553
       

       

       [6] เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์,  คำอธิบายหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วย การดำเนินคดีในขั้นตอนก่อนการพิจารณา, พิมพ์ครั้งที่ 7 (กรุงเทพมหานคร: พลสยาม พริ้นติ้ง, 2553), หน้า 289.
       

       

       [7]  ต่อมาได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 5175/2547 ออกมายืนยันแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาฎีกาที่ 2774/2546
       

       

       [8]  สัมภาษณ์ ประพันธ์ ทรัพย์แสง, ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์, 19 สิงหาคม 2556
       

       

       [9] เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์,  คำอธิบายหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วย การดำเนินคดีในขั้นตอนก่อนการพิจารณา, พิมพ์ครั้งที่ 7, หน้า 290-291.
       

       

       [10] จรัญ ภักดีธนากุล,  กฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน, พิมพ์ครั้งที่ 7, หน้า 116.
       

       

       [11]  สัมภาษณ์ ประพันธ์ ทรัพย์แสง, ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์, 19 สิงหาคม 2556
       

       

       [12] ประมูล สุวรรณศร, คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยาน, พิมพ์ครั้งที่ 8 (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แสวงสุทธิการพิมพ์, 2525), หน้า 160.
       

       

       [13] โอสถ โกสิน,  คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพมหานคร: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ กระทรวงยุติธรรม, 2538), หน้า 299.
       

       

       [14] โสภณ รัตนากร,  คำอธิบายพยาน, พิมพ์ครั้งที่ 10 (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์นิติบรรณาการ, 2553), หน้า 224.
       

       

       [15] จรัญ ภักดีธนากุล,  กฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน, พิมพ์ครั้งที่ 7, หน้า 115.
       

       

       [16] R. v. Hogam (1974) 2 All E.R.142. cited in R.J.Walker and M.G.Walker, The English Legal System, 5th ed. (London: Butterworths, 1980), p.569.
       

       

       [17] R. v. Humphrys (1977) 2 All E.R.497. cited in R.J.Walker and M.G.Walker, The English Legal System, 5th ed. (London: Butterworths, 1980), p.569.
       

       

       [18]  Rupert Cross and Colin Tapper, Cross on Evidence,  7th Edition (London: Butterworths, 1990), p.91.
       

       

       [19] Ray B.Schlegel,  “Zinger v. Terrel: The Collateral Effect of Criminal Judgment in Subsequent Civil Litigation: New Law in Arkansas and the Question Unanswered,” Arkansas Law Review (2001): 3.
       

       

       [20] The Sixth Amendment of the United State Constitution: In all criminal prosecutions, the accused shall enjoy the right to a speedy and public trial, by an impartial jury of the State and district wherein the crime shall have been committed, which district shall have been previously ascertained by law, and to be informed of the nature and cause of the accusation; to be confronted with the witnesses against him; to have compulsory process for obtaining witnesses in his favor, and to have the Assistance of Counsel for his defense.
       

       

       [21]  Donald L.Catlett, Charles D.Moreland, Janet M.Thompson,  “Collateral Estoppel in Criminal Cases: How and Where Does It Apply?,” Journal of Missouri Bar (November-December 2006): 7.
       

       

       [22]  State v. Scarbrough (2005) cited in Donald L.Catlett, Charles D.Moreland, Janet M.Thompson,  “Collateral Estoppel in Criminal Cases: How and Where Does It Apply?,” Journal of Missouri Bar (November-December 2006)
       

       

       [23] Gutierrez v. Superior Court (1994) cited in Donald L.Catlett, Charles D.Moreland, Janet M.Thompson,  “Collateral Estoppel in Criminal Cases: How and Where Does It Apply?,” Journal of Missouri Bar (November-December 2006)
       

       

       [24] Pena-Cabanillas v. United States (1968) cited in Donald L.Catlett, Charles D.Moreland, Janet M.Thompson,  “Collateral Estoppel in Criminal Cases: How and Where Does It Apply?,” Journal of Missouri Bar (November-December 2006)
       

       

       [25] Donald L.Catlett, Charles D.Moreland, Janet M.Thompson,  “Collateral Estoppel in Criminal Cases: How and Where Does It Apply?,” Journal of Missouri Bar (November-December 2006): 5.
       

       

       [26] Federal Rule of Evidence. Rule  609(a)
       In General. The following rules apply to attacking a witness’s character for truthfulness by evidence of a criminal conviction: (1) for a crime that, in the convicting jurisdiction, was punishable by death or by imprisonment for more than one year, the evidence: (A) must be admitted, subject to Rule 403, in a civil case or in a criminal case in which the witness is not a defendant; and (B) must be admitted in a criminal case in which the witness is a defendant, if the probative value of the evidence outweighs its prejudicial effect to that defendant; and  (2) for any crime regardless of the punishment, the evidence must be admitted if the court can readily determine that establishing the elements of the crime required proving — or the witness’s admitting — a dishonest act or false statement.
       

       

       [27] Federal Rule of Evidence. Rule  803(22)
                   The following are not excluded by the rule against hearsay, regardless of whether the declarant is available as a witness:
                   …(22) Judgment of a Previous Conviction. Evidence of a final judgment of conviction if:(A) the judgment was entered after a trial or guilty plea, but not a nolo contendere plea;(B) the conviction was for a crime punishable by death or by imprisonment for more than a year;(C) the evidence is admitted to prove any fact essential to the judgment; and (D) when offered by the prosecutor in a criminal case for a purpose other than impeachment, the judgment was against the defendant. The pendency of an appeal may be shown but does not affect admissibility…
       

       

       [28] Ashe v. Swenson (1970) cited in Donald L.Catlett, Charles D.Moreland, Janet M.Thompson,  “Collateral Estoppel in Criminal Cases: How and Where Does It Apply?,” Journal of Missouri Bar (November-December 2006).
       

       

       [29] The Fifth Amendment of the United State Constitution : No person shall be held to answer for a capital, or otherwise infamous crime, unless on a presentment or indictment of a Grand Jury, except in cases arising in the land or naval forces, or in the Militia, when in actual service in time of War or public danger; nor shall any person be subject for the same offense to be twice put in jeopardy of life or limb; nor shall be compelled in any criminal case to be a witness against himself, nor bedeprived of life, liberty, or property, without due process of law; nor shall private property be taken for publicuse, without just compensation.
       

       

       [30] The Fourteenth Amendment of the United State Constitution : All persons born or naturalized in the United States, and subject to the jurisdiction thereof, are citizens of the United States and of the State wherein they reside. No State shall make or enforce any law which shall abridge the privileges or immunities of citizens of the United States; nor shall any State deprive any person of life, liberty, or property, without due process of law; nor deny to any person within its jurisdiction the equal protection of the laws…
       

       

       [31]Edward W.Cleary and others,  Mccormick on Evidence, 3rd ed.(St.Paul,Minn: West Publishing, 1984), p.894.
       

       

       [32] Cass. Civ.,7 mars 1855, affaire Quertier, D., 1855.I.81, อ้างถึงใน ปกป้อง ศรีสนิท, “ศาลที่พิจารณาคดีแพ่งจำต้องถือตามคำพิพากษาคดีอาญาเพียงใด,” วารสารนิติศาสตร์ 37, ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2551): 374.
       

       

       [33] จิ๊ด เศรษฐบุตร,  หลักกฎหมายแพ่งลักษณะละเมิด, พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพมหานคร: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550), หน้า 27-28.
       

       

       [34] Ibid., p.7.
       

       

       [35] Ibid.
       

       

       [36] Budak, A.C., “Res Judicata in Civil Proceedings in Common Law and Civillian Systems with Special Reference to Turkish and English Law,” Civil Justice Quarterly (1992) : 1-2.
       

       

       [37] สุรสิทธิ์ แสงวิโรจนพัฒน์, “ การมีส่วนร่วมของผู้เสียหายในกระบวนพิจารณาคดีอาญาตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเยอรมัน,” ดุลพาห 58 เล่มที่ 2: 104.
       

       

       [38] รายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ครั้งที่ 407-17/2515 วันอังคารที่ 6 มิถุนายน 2515 , สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา.
       

       

       [39] ประมูล สุวรรณศร, คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยาน, พิมพ์ครั้งที่ 8 (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แสวงสุทธิการพิมพ์, 2525), หน้า 160.  
       

       

       [40] เข็มชัย ชุติวงศ์,  คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยาน, พิมพ์ครั้งที่ 8 (กรุงเทพมหานคร: นิติบรรณาการ, 2551), หน้า 180-181.
       

       

       [41] อนึ่ง อาจมีผู้โต้แย้งว่าปัญหาเรื่องการดำเนินคดีแพ่งโดยสมยอมกันเพื่อนำมาผูกพันคดีอาญานั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เพราะมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6446/2547 ได้วางหลักเกณฑ์ป้องกันเอาไว้แล้วว่า “หลักการของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ที่บัญญัติให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง อันเป็นหลักการห้ามดำเนินคดีซ้ำสองแก่จำเลยนั้น จะต้องปรากฏว่าคดีก่อนเป็นกรณีที่จำเลยถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างแท้จริงด้วย ถ้าหากความปรากฏแก่ศาลว่าคดีก่อนเป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างสมยอมกัน แม้ว่าจะเป็นการกระทำกรรมเดียวกันก็ถือไม่ได้ว่าการกระทำกรรมนั้นจำเลยได้เคยถูกฟ้องและศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด อันจะมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดกรรมนั้นระงับไปไม่” อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 6446/2547 นี้ ก็เป็นเพียงการวางมาตรการป้องกันไม่ให้มีการหยิบยกคำพิพากษาในคดีอาญาที่มีการดำเนินคดีโดยสมยอมกันมาตัดอำนาจฟ้องของโจทก์ในคดีอาญาที่ดำเนินคดีกันภายหลังว่าเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) เท่านั้น ไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการดำเนินคดีแพ่งโดยสมยอมกันเพื่อนำมาผูกพันข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีแต่อย่างใด ดังนั้น ปัญหาเรื่องการดำเนินคดีแพ่งโดยสมยอมกันเพื่อนำมาผูกพันคดีอาญา จึงยังอาจเกิดขึ้นได้เสมอ
       

       

       [42]  มาตรา 226/3  ข้อความซึ่งเป็นการบอกเล่าที่พยานบุคคลใดนำมาเบิกความต่อศาล หรือที่บันทึกไว้ในเอกสารหรือวัตถุอื่นใดซึ่งอ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาล หากนำเสนอเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความนั้น ให้ถือเป็นพยานบอกเล่า
            ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่
           (1) ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้
           (2) มีเหตุจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น…
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544