หน้าแรก บทความสาระ
โค้งสุดท้ายก่อนเสนอร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานคร
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ Editor in Chief, Rotary Thailand Magazine, Vice Chair, Amnesty International,Thailand
8 กันยายน 2556 20:04 น.
 
ความเคลื่อนไหวที่คืบหน้ามาเป็นลำดับนับแต่ได้มีการยกร่าง พรบ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ....ขึ้นมาเมื่อเดือนมกราคม 2554 และได้มีการปรับปรุงพัฒนามาโดยตลอดจนได้เนื้อหาสาระที่คิดว่าครอบคลุมและสามารถตอบโจทย์แก่ผู้สงสัยได้ในระดับหนึ่ง หลังจากที่ได้มีการลงพื้นที่ใน 25 อำเภอ มากกว่า 40 เวที จึงได้มีการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มเพื่อเผยแพร่จนเป็นที่ฮือฮาไปทั่วประเทศ มีทั้งการสนับสนุนและแรงต้านด้วยเหตุเนื่องจากการที่ไปกระทบฐานอำนาจของตน
       แรงสนับสนุนที่ทรงพลังเป็นอย่างยิ่งในเบื้องแรกก็คือการมีข้อเสนอเมื่อ 18 เมษายน 2554 ในหนังสือปกสีส้ม “ข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ”ของคณะกรรมการปฏิรูป(คปร.)ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เสนอให้มีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคซึ่งสอดรับกับร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานครฯพอดี กอปรกับข่าวคราวการขับเคลื่อนเพื่อผลักดันร่าง พรบ.ฯนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศทั้งจากสิ่งพิมพ์และสื่อในรูปแบบต่างๆทั้งในสื่อกระแสหลักและนอกกระแสและที่ทรงพลังอย่างยิ่งก็คือสื่อโทรทัศน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานีไทยพีบีเอสและวอยส์ทีวีที่มีทั้งการเสนอข่าวและการจัดทำสารคดีเป็นระยะๆ
       ผลจากการริเริ่มครั้งนี้ได้มีแนวร่วมในการขับเคลื่อนแพร่กระจายไปมากกว่า 40 จังหวัดในรูปแบบของ “จังหวัดจัดการตนเอง”ที่เน้นไปในความเป็นอิสระในการจัดการชีวิตของตนเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกครองท้องถิ่นที่เกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง
       หลักการพื้นฐานของร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานครฯมี 3 หลักการใหญ่ๆ คือ
       1)ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคเหลือเพียงราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ โดยส่วนราชการส่วนท้องถิ่นจะแบ่งเป็น 2 ระดับ(tier) ระดับบนเรียกว่าเชียงใหม่มหานคร ระดับล่างเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิมแต่อาจเปลี่ยนชื่อเรียกเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับเทศบาลหรือ อบต.ของมหาดไทยโดยอาจเรียกว่า “นครบาล”ตามร่างแก้ไข พรบ.กรุงเทพมหานครฯที่เห็นพ้องกับร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานครฯซึ่งจัดการปกครองท้องถิ่นเป็น 2 ระดับแทนที่มีเพียงระดับเดียวแบบกรุงเทพมหานครในปัจจุบันที่ใหญ่โตและเทอะทะเกินไป โดย 2 ระดับนี้อยู่ในลักษณะของการแบ่งหน้าที่กันทำไม่ใช่ลักษณะของการบังคับบัญชา
       2)มีโครงสร้าง 3 ส่วน ประกอบไปด้วยผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานครที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง,สภาเชียงใหม่มหานครและสภาพลเมือง(Civil Juries) โดยเชียงใหม่มหานครนี้จะทำทุกเรื่องยกเว้นเรื่องที่เกี่ยวกับ การทหาร, การต่างประเทศ, การเงินการคลังระดับชาติและการศาล
       3)จัดแบ่งรายได้กับส่วนกลางในอัตราส่วน 70/30 คือ เก็บไว้ใช้ในท้องถิ่น 70 เปอร์เซ็นต์และส่งส่วนกลาง 30 เปอร์เซ็นต์
       ในระยะแรกๆที่ผู้คนได้รับทราบข่าวสารก็มักจะมีความเห็นว่าคงเป็นไปไม่ได้เพราะคิดว่าประชาชนคงยังไม่พร้อม แรงต้านจากหน่วยราชการต่างๆคงมีมาก แต่การณ์กลับกลายเป็นตรงกันข้าม แรงต้านก็ยังคงมีอยู่บ้างแต่น้อยกว่าที่คิดไว้มากนัก เพราะไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือตัวข้าราชการเองก็ต่างก็ประจักษ์ว่าโลกเราพัฒนาไปไกลแล้ว จะช้าหรือเร็ว จะมากหรือน้อย การจัดการกับชีวิตของตนเองที่เป็นสิทธิพื้นฐาน(self determination rights)นั้นจะต้องได้รับการยอมรับ และหนึ่งในสิทธิพื้นฐานที่ว่านี้ก็คือสิทธิในการจัดการตนเองหรือปกครองตนเอง(self governing)นั่นเอง
       การขับเคลื่อนมีความคืบหน้ามาเป็นลำดับ มีการรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ มีการรับสมัครและอบรมอาสาสมัครจิตอาสาที่ไม่มีค่าตอบแทนจำนวนนับพันเพื่อขับเคลื่อนโครงการฯกระจายไปเต็มพื้นที่ หน่วยงานต่างๆให้ความสนใจเข้ามาสอบถาม เช่น คณะกรรมาธิการปกครองของวุฒิสภาถึงกับลงทุนไปหาข้อมูลในพื้นที่เลยทีเดียว นอกจากนั้นยังมีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็ได้เชิญตัวแทนไปชี้แจงและให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ
       นอกจากนั้นในวงการการศึกษาก็มีความตื่นตัวยิ่งหย่อนไปกว่ากันตั้งแต่ระดับในโรงเรียนไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยแม้กระทั่งในการฝึกอบรมของนักศึกษาวิชาทหารก็มีการพูดถึง มีการทำรายงานของนักเรียนนักศึกษา การทำวิทยานิพนธ์ ภาคนิพนธ์ การค้นคว้าอิสระ ฯลฯ ตลอดจนมีการจัดเวทีวิชาการกันอย่างกว้างขวาง
       ที่น่าสนใจก็คือได้มีการจัดเวทีไปภูมิภาคต่างๆเพื่อร่วมกันยกร่างให้เป็นกฎหมายกลางโดยใช้หลักการพื้นฐานจากร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานครฯก็คือ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายซึ่งได้มีการจัดประชุมและสัมมนาอยู่เป็นระยะๆเพื่อที่ว่าต่อไปเมื่อมีกฎหมายกลางเกิดขึ้นแล้วจังหวัดอื่นๆก็ไม่ต้องไปล่ารายชื่อทีละจังหวัดๆอีก และล่าสุดก็มีการระดมนักวิชาการในด้านนี้โดยเฉพาะมาให้ความเห็นเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งน่าเสียดายที่ผมติดประชุมอยู่ต่างประเทศเลยไม่ได้ไปเข้าร่วมประชุมด้วย แต่คิดว่าแนวทางก็คงเป็นไปตามหลักการของการกระจายอำนาจหรือการปกครองท้องถิ่นของนานาอารยประเทศทั้งหลายนั่นเอง
       ในช่วงระยะนี้นับได้ว่าเป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเสนอชื่อเพื่อเสนอร่าง พรบ.ดังกล่าวโดยมีการรณรงค์เพื่อลงชื่อกันอย่างขะมักเขม้น โดยกำหนดหมุดหมายสุดท้ายในวันที่ 29 ตุลาคม 2556 ว่าจะเป็นการระดมพลครั้งใหญ่เพื่อยื่นเสนอร่าง พรบ.ต่อรัฐสภา โดยจะรวมตัวกันในทุกภาคส่วน ณ บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันกับที่มีการประกาศเจตนารมณ์เริ่มขับเคลื่อนอย่างเป็นทางการเมื่อ 24 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมานั่นเอง
       นับจากนี้ไปเชียงใหม่และจังหวัดต่างๆจะไม่เหมือนเดิมต่อไปอีกแล้ว ไม่มีใครรู้ปัญหาของท้องถิ่นดีกว่าคนท้องถิ่นอย่างแน่นอน ในส่วนของมายาคติและข้อสงสัยร่าง พรบ.นี้ เช่น เป็นการแบ่งแยกรัฐ, กระทบต่อความมั่นคง, รายได้ท้องถิ่นยังไม่เพียงพอ อบจ./อบต./เทศบาลยังอยู่หรือไม่,จะเอาข้าราชส่วนภูมิภาคไปไว้ไหน/นายอำเภอยังมีอยู่หรือไม่,เขตพื้นที่อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน จะหายไป,กำนันผู้ใหญ่บ้านยังคงมีอยู่หรือไม่  หากยังคงมีอยู่จะมีบทบาทอะไร,ประชาชนยังไม่พร้อม ยังไม่มีการศึกษาที่ดีพอประชาชนยังไม่พร้อม ยังไม่มีการศึกษาที่ดีพอประชาชนยังไม่พร้อม ยังไม่มีการศึกษาที่ดีพอ,นักเลงครองเมือง,ซื้อเสียงขายเสียง,ทุจริตคอร์รัปชัน/เปลี่ยนโอนอำนาจจากอำมาตย์ใหญ่ไปสู่อำมาตย์เล็กและสุดท้ายผิดกฎหมายหรือไม่สิ่งต่างๆเหล่านี้มีคำตอบไว้หมดแล้วในบทความของผม เรื่อง มายาคติและข้อสงสัยในการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค
        
       โลกต้องหมุนไปข้างหน้า บ้านเมืองต้องมีวิวัฒนาการ รูปแบบการบริหารราชการแผ่นดินแบบหนึ่งอาจจะเหมาะสมในระยะเวลาหนึ่ง หากไม่ปรับปรุงแก้ไข อย่าว่าแต่จะไปแข่งขันกับนานาอารยประเทศทั้งหลายเลย แม้แต่ฟิลิปปินส์ อินโด มาเลย์ในเรื่องการปกครองท้องถิ่นนี้เรายังตามก้นเขาอีกหลายก้าวครับ
        
       ----------------------
        
        


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544