หน้าแรก บทความสาระ
บันทึก เรื่อง การเยียวยาความเสียหายทางจิตใจ
ดร. ปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์ น.บ.เกียรตินิยมอันดับสอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, น.ม. กฎหมายเอกชนและธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน, Master 2 Droits fondamentaux และ Doctorat en droit public : mention très honorable จากมหาวิทยาลัย Auvergne แห่งประเทศฝรั่งเศส, พนักงานคดีปกครองชำนาญการ สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง
19 พฤษภาคม 2556 20:09 น.
 
การศึกษาเกี่ยวกับการเยียวยาความเสียหายทางจิตใจมีประเด็นที่ต้องพิจารณา ๕ ประเด็น คือ (๑) ความเบื้องต้น (๒) ที่มาของแนวคิดเรื่องการเยียวยาความเสียหาย (๓) พัฒนาการของแนวคิดเรื่องการเยียวยาความเสียหาย (๔) ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการเยียวยาความเสียหายทางจิตใจ (๕) การศึกษาค้นคว้าในประเทศไทยเกี่ยวกับการเยียวยาความเสียหายทางจิตใจ (๖) เอกสารอ้างอิง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
       ๑. ความเบื้องต้น
        การเยียวยาความเสียหาย (le préjudice) เป็นข้อพิจารณาที่ต้องศึกษาควบคู่ไปกับความเสียหาย (le dommage) โดยจะต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทุกกรณีไม่จำเป็นต้องได้รับการเยียวยา ประเด็นการพิจารณาในเรื่องการเยียวยาความเสียหายถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาเกี่ยวกับความรับผิดของฝ่ายปกครอง เอกสารทางวิชาการที่ถือเป็นเอกสารหลักในเรื่องการเยียวยาความเสียหายอันเนื่องมาจากความรับผิดของฝ่ายปกครองคือ วิทยานิพนธ์ของ René CHAPUS ในปี ค.ศ. ๑๙๕๔ เรื่อง “Responsabilité publique et responsabilité privée. Les influences réciproques des jurisprudences administratives et judiciaires” วิทยานิพนธ์เล่มนี้ได้ถูกอ้างอิงเป็นฐานข้อมูลในการศึกษาเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐและการเยียวยาความเสียหาย ดังที่ปรากฏในวิทยานิพนธ์ของ Maryse DEGUERGUE ในปี ค.ศ. ๑๙๙๔ เรื่อง “Jurisprudence et doctrine dans l’élaboration du droit de la responsabilité administrative” วิทยานิพนธ์ของ Marcel SOUSSE ในปี ค.ศ. ๑๙๙๔ เรื่อง “La notion de réparation de dommages en droit administratif français” และล่าสุดในวิทยานิพนธ์ของ Christine CORMIER ในปี ค.ศ. ๒๐๐๒ เรื่อง “Le préjudice en droit administratif français : Etude sur la responsabilité extra-contractuelle des personnes publiques” รวมทั้งเป็นเอกสารอ้างอิงในหนังสือคู่มือเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐอีกหลายเล่ม (โปรดดูเพิ่มเติมที่ข้อ ๖ ของบันทึกข้อความฉบับนี้)
        อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาเกี่ยวกับการเยียวยาความเสียหายอันเนื่องมาจากความรับผิดของฝ่ายปกครองปรากฏในวงการวิชาการฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๕๔ เป็นต้นมา โดยมีเหตุผลสนับสนุนในทำนองที่ว่า การเยียวยาความเสียหายอันเนื่องมาจากความรับผิดของฝ่ายปกครองถือเป็นเรื่องที่แยกเป็นเอกเทศออกจากกฎหมายอื่น ยิ่งไปกว่านั้น การเยียวยาความเสียหายของฝ่ายปกครองยังเป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำหลักกฎหมายแพ่งมาใช้ในกฎหมายปกครองซึ่งมีศาลปกครองเป็นผู้สร้างทฤษฎีเฉพาะของตนเพิ่มเติมอีกด้วย สภาวการณ์ดังกล่าวจึงส่งผลให้หลักกฎหมายในเรื่องการเยียวยาความเสียหายโดยฝ่ายปกครองมีลักษณะเฉพาะและเป็นเอกเทศ
       ๒. ที่มาของแนวคิดเรื่องการเยียวยาความเสียหาย
        การศึกษาเกี่ยวกับการเยียวความความเสียหายโดยฝ่ายปกครองจะเริ่มจากการพิจารณาถึงที่มาของแนวคิดเรื่องการเยียวยาความเสียหายของฝ่ายปกครอง วิทยานิพนธ์ของ Christine CORMIER ได้กล่าวถึงที่มาของแนวคิดเรื่องการเยียวยาความเสียหายของฝ่ายปกครองไว้ว่ามีที่มาจาก ๓ แหล่งด้วยกัน กล่าวคือ ที่มาจากอนุสัญญา (la source conventionnelle) ที่มาจากประชาคมยุโรป และที่มาจากรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสเอง
        ที่มาจากอนุสัญญา นั้น มีความหมายถึง อนุสัญญายุโรปว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน จากการศึกษาพบว่าคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับเรื่องการเยียวยาความเสียหายนั้นยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก มาตราที่มักถูกนำมาใช้อ้างอิงคือ มาตรา ๖ อนุมาตรา ๑ ว่าด้วยการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม
        ที่มาจากประชาคมยุโรป นั้น ค่อนข้างจะชัดเจนกว่าที่มาจากอนุสัญญา ทั้งนี้ เนื่องมาจากสาเหตุว่าคำพิพากษาของศาลสหภาพยุโรปได้มีการกล่าวถึงการเยียวยาความเสียหายเอาไว้ใน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ ประการแรก หากมีการละเมิดกฎหมายประชาคมยุโรปแล้ว ผู้นั้นจะต้องได้รับการเยียวยาความเสียหาย และประการที่สอง การเยียวยาความเสียหายย่อมมีหลากหลายรูปแบบให้ศาลเป็นผู้นำมาปรับใช้
        ที่มาจากรัฐธรรมนูญ นั้น พบว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสไม่ค่อยจะหยิบยกแนวคิดเรื่องการเยียวยาความเสียหายมาอ้างถึงในการจัดทำคำวินิจฉัยของตนเท่าใดนัก และหากมีการจัดทำคำวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องความรับผิดแล้ว มักพบว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวจะเน้นไปที่ความรับผิดทางแพ่งมากกว่าความรับผิดทางปกครอง แต่หากเป็นเรื่องความรับผิดของฝ่ายปกครองแล้ว พบว่าคดีที่มักขึ้นสู่การวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมักเป็นคดีเกี่ยวกับงานโยธาสาธารณะที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ (l’ouvrage public) หรืองานโยธาสาธารณะที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง (le travaux public) โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญถือว่าการเยียวยาความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของฝ่ายปกครองเป็นการเยียวยาความเสียหายตามหลักว่าด้วยความเท่าเทียมกัน (le principe d’égalité) โดยไม่ได้หยิบยกหลักว่าด้วยการเยียวยาความเสียหายมาอ้างถึงโดยตรง อย่างไรก็ดี คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในคดี Démocratisation du secteur public ในปี ค.ศ. ๑๙๘๓ กล่าวถึงหลักว่าด้วยการเยียวยาความเสียหายว่าเป็นหลักที่มีคุณค่าเทียบเท่ารัฐธรรมนูญซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายอันเนื่องมาจากความผิดที่เกิดขึ้นนั้นมีสิทธิได้รับการเยียวยาความเสียหายไม่ว่าจากผู้กระทำความผิดนั้นหรือจากบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดดังกล่าว อนึ่ง พบว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้หยิบยกกฎหมายแพ่งมาอ้างอิงคำวินิจฉัยลักษณะดังกล่าวด้วย
       
       ๓. พัฒนาการของแนวคิดเรื่องการเยียวยาความเสียหาย
        ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ศาลปกครองได้พัฒนาหลักกฎหมายว่าด้วยความรับผิดในลักษณะที่เป็นเอกเทศ ซึ่งเป็นการผสมผสานจากแนวการทำคำพิพากษาของศาลยุติธรรมประกอบกับการตีความของตนเอง ลักษณะความเป็นเอกเทศของการเยียวยาความเสียหายของฝ่ายปกครองที่โดดเด่นเริ่มมาจากคำพิพากษาของศาลชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลในคดี Blanco ในปี ค.ศ. ๑๘๗๓ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดให้ศาลปกครองได้พัฒนาแนวคิดในเรื่องการเยียวยาความเสียหายเรื่อยมาโดยมีอิทธิพลมาจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
        อาจกล่าวได้ว่าคำพิพากษาของศาลปกครองในประเด็นการเยียวยาความเสียหายมีลักษณะเด่น ๒ ประการ คือ ประการแรก คำพิพากษาของศาลปกครองได้มีการจำแนกประเภทของความเสียหายที่อาจเยียวยาได้เป็นหลายกรณี (1) โดยศาลปกครองยอมรับการเยียวยาความเสียหายอันเนื่องมาจากความทุกข์ทรมานทางร่างกาย (une souffrance physique) การเยียวยาความเสียหายอันเนื่องมาจากการเสียโฉม (le préjudice esthétique) และการเยียวยาเสียหายอันเนื่องมาจากความทุกข์ทรมานทางด้านจิตใจ (le douleur moral) ประการที่สอง พบว่าศาลปกครองยอมรับความหลากหลายของการแบ่งประเภทความเสียหาย รวมทั้งยังเปิดกว้างในเรื่องการเยียวยาความเสียหายบางประเภทมากยิ่งขึ้น ดังที่จะเห็นได้ชัดเจนจากการยอมรับการเยียวยาความเสียหายทางจิตใจ จากเดิมซึ่งมีหลักการว่า “น้ำตาไม่อาจตีราคาเป็นเงินได้” (les larmes ne se monnayent pas) โดยได้รับการสนับสนุนแนวความคิดนี้โดยตุลาการผู้แถลงคดี Fougère จากคำแถลงการณ์ในคดี sieur Bondurand ในปี ค.ศ. ๑๙๕๔ จนมาเป็นการยอมรับว่าอาจมีการเยียวยาความเสียหายทางจิตใจได้หากเข้าตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
        ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าการเยียวยาความเสียหายมีความผันแปรไปตามสภาพสังคม แนวคิดในเรื่องการเยียวยาความเสียหายก็ได้เปลี่ยนแปลงไปในทำนองที่เป็นยอมรับว่า การเยียวยาความเสียหายย่อมถือเป็นการชดใช้ความเสียหาย อนึ่ง ปัจจุบันในเชิงวงการวิชาการของฝรั่งเศสได้มีการพิจารณาถึงการทำประกันความเสียหายโดยฝ่ายปกครอง ประเด็นดังกล่าวนี้ได้มีการหยิบยกมาพิจารณาในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๙๔ โดยเริ่มมาจากวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับการชดใช้ความเสียหายอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด แนวคิดดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานที่ว่าฝ่ายปกครองย่อมต้องรับผิดหากเกิดความผิดขึ้น ซึ่งการรับผิดดังกล่าวจะเป็นภาระของผู้รับประกันหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขตามที่ฝ่ายปกครองและผู้รับประกันตกลงกันไว้ ยิ่งไปกว่านั้น พบว่าฝ่ายนิติบัญญัติมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากการที่ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาความเสียหายอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ดังที่ปรากฏในการตรารัฐบัญญัติออกมาเพื่อเยียวยาความเสียหายอันเนื่องมาจากการก่อการร้าย หรือรัฐบัญญัติเพื่อเยียวยาความเสียหายอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ หรือรัฐบัญญัติว่าด้วยการเยียวยาความเสียหายอันเนื่องมาจากการติดเชื้อไวรัสที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เป็นต้น
       ๔. ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการเยียวยาความเสียหายทางจิตใจ
        สำหรับการเยียวยาความเสียหายทางจิตใจ นั้น พบว่าเป็นการเยียวยาความเสียหายในกลุ่มความเสียหายที่ไม่เป็นตัวเงิน โดยอาจจำแนกการเยียวยาความเสียหายทางจิตใจออกเป็น ๓ กรณี คือ
        (๑) การเยียวยาความเสียหายอันเนื่องมาจากการเสื่อมเสียชื่อเสียง (une atteinte à la réputation) หรือการเสื่อมเกียรติ (une atteinte à l’honneur) ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Manceaux ในปี ค.ศ. ๑๘๗๑
        (๒) การเยียวยาความเสียหายทางจิตใจอันเนื่องมาจากเสรีภาพของตนถูกละเมิด (une atteinte à une liberté) ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Abbé Perpère ลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๒ ซึ่งมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเยียวยาความเสียหายทางจิตใจแก่พระ Perpère อันเนื่องมาจากเสียงระฆังอันเนื่องจากการฝังศพไปรบกวนการทำศาสนกิจ
        (๓) การเยียวยาความเสียหายทางจิตใจอันมีผลมาจากการถูกละเมิดทางร่างกาย (une atteinte à l’intégralité corporelle) ซึ่งการเยียวยาความเสียหายในกลุ่มนี้มีด้วยกัน ๓ ประเภท คือ (๓.๑) ความเจ็บปวดทุกข์ทรมานทางกาย (les souffrances physiques) (๓.๒) การเสียโฉม และ (๓.๓) ความเสียหายทางจิตใจอันเนื่องมาจากบุคคลอันเป็นที่รัก (la perte d’un être cher)
        การเยียวยาความเสียหายอันเนื่องมาจากความเจ็บปวดทุกข์ทรมานทางกาย นั้น เป็นความเสียหายที่เดิมศาลปกครองไม่ถือเป็นความเสียหายที่ต้องได้รับการเยียวยา (ซึ่งแตกต่างจากศาลยุติธรรมที่ยอมรับการเยียวยาความเสียหายประเภทดังกล่าว) แนวคิดดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนไปนับตั้งแต่สภาแห่งรัฐมีคำพิพากษาคดี Ville d’Aix-en-Provence c/ Sieur Espitalier ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๔ ยอมรับว่าฝ่ายปกครองย่อมมีอำนาจกำหนด “pretium doloris” (le prix de la douleur-ราคาของความเจ็บปวด) ได้ หรือดังที่ปรากฏในคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (ที่ประชุมใหญ่) คดี Morelle ลงวันที่ ๒๔ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๒ ซึ่งวางหลักไปในทางเดียวกัน
        การเยียวยาความเสียหายอันเนื่องมาจากการเสียโฉม นั้น มีความหมายถึงการที่ผู้เสียหายได้รับการละเมิดทางร่างกายอันส่งผลถึงความเสียหายทางจิตใจ เช่น แผลเป็น (cicatrice) การผิดรูปร่าง (déformation) การเปลี่ยนตำแหน่งจนทำให้เสียโฉม (la mutilation) เป็นต้น สภาแห่งรัฐได้มีคำพิพากษา คดี Sieur et dame Perret ลงวันที่ ๑๒ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๐ ยอมรับการเยียวยาความเสียหายอันเนื่องมาจากเหตุดังกล่าว อย่างไรก็ดี สภาแห่งรัฐยืนยันว่าความเสียหายอันเนื่องมาจากการเสียโฉมนั้นจะต้องเป็นความเสียหายที่อยู่บนพื้นฐานของการถูกละเมิดทางร่างกาย ดังที่ปรากฏในคำพิพากษา Epoux Michellet ลงวันที่ ๗ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๔
        การเยียวยาความเสียหายอันเนื่องมาจากการบุคคลอันเป็นที่รัก นั้น ถือเป็นความเสียหายอันเนื่องมาจากการความเสียหายทางร่างกายเช่นเดียวกัน (ซึ่งก็คือความตายของบุคคลอันเป็นที่รักนั่นเอง) โดยต่อมาศาลปกครองได้ตีความคลอบคลุมถึงการบาดเจ็บและการพิการด้วย สภาแห่งรัฐได้ยืนยันในคำพิพากษาคดี Assistance Publique-Hôpitaux de Paris ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๘ ยอมรับการเยียวยาความเสียหายทางจิตใจอันเนื่องมาจากการวินิจฉัยผิดพลาดว่าเป็นผู้ได้รับเชื้อไวรัสเอดส์ (un séropositive) อย่างไรก็ดี การเยียวยาความเสียหายประเภทนี้ยังต้องพิจารณาไปถึงความเกี่ยวข้องระหว่างผู้เสียหายกับเหตุแห่งความเสียหายดังกล่าวด้วย ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (ที่ประชุมใหญ่) คดี Letisserand (ซึ่งเป็นคำพิพากษาที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือ Les grands arrêts de la jurisprudence administrative) ลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๖๑ ยอมรับความเสียหายทางจิตใจระหว่างบิดาและบุตรอันเนื่องมาจากการเสียชีวิตของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คำพิพากษาของสภาแห่งรัฐในคดี Letisserand นี้เป็นไปในทางเดียวกับคำพิพากษาของศาลยุติธรรมที่ยอมรับการเยียวยาความเสียหายอันเนื่องมาจากการสูญเสียสิ่งอันเป็นที่รัก (un préjudice d’affection) เช่น การที่สัตว์เลี้ยงของตนหายไป ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลจังหวัดแห่งเมือง Lille คดี Mlle Pavy ลงวันที่ ๒๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๖
        อนึ่ง ในปี ค.ศ. ๒๐๐๔ สภาแห่งรัฐได้มีคำพิพากษา คดี M. Francis M ลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๐๔ ซึ่งมีผลเป็นการวางหลักเกี่ยวกับการพิจารณากำหนดค่าเสียหายทางจิตใจแนวใหม่ สภาแห่งรัฐได้ตัดสินคดีนี้โดยถือตามความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี (นาย Terry OLSON) โดยวางหลักว่าผู้เสียหายที่อยู่ในสภาพผัก (l’état végétatif) อันเนื่องมาจากสภาวะสมองตาย ย่อมมีสิทธิเรียกร้องความเสียหายทางจิตใจอันเนื่องมาจากการขาดไปซึ่งการใช้ชีวิตอย่างปกติ (le préjudice d'agrément) คำพิพากษาดังกล่าวได้รับการวิจารณ์อย่างมากเนื่องจากมีผลเป็นการกลับแนวคำพิพากษาของสภาแห่งรัฐที่มีอยู่เดิม โดยมีข้อถกเถียงในประเด็นที่ว่า ผู้เสียหายซึ่งไม่มีสัมปชัญญะ (เนื่องจากอยู่ในสภาพผักอันเนื่องมาจากภาวะสมองตาย) นั้นจะถือเป็นผู้เสียหายอันมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายทางจิตใจดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งสภาแห่งรัฐก็ได้พิพากษาคดีนี้โดยถือตามความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีที่ว่า สิทธิของผู้เสียหายในการเรียกร้องค่าเสียหายต่างๆย่อมมีอยู่เสมอแม้ว่าผู้ใช้สิทธิจะไม่อยู่ในสภาวะที่มีสัมปชัญญะก็ตาม คำพิพากษานี้ลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๐๔ จึงถือเป็นแนวการตัดสินคดีแนวใหม่ของสภาแห่งรัฐ ซึ่งก็ได้รับการวิจารณ์ต่อมาว่าเป็นการแสดงถึงอำนาจของตุลาการในการวางหลักใหม่ที่คุ้มครองผู้เสียหายให้มากที่สุดอันสอดคล้องกับปรัชญาเรื่องการเยียวยาความเสียหาย อย่างไรก็ดี สภาแห่งรัฐไม่ถือว่าการกำหนดค่าเสียหายให้กับผู้ป่วยที่ตกอยู่ในสภาพผักอันเนื่องมาจากสภาวะสมองตายนี้จะต้องดำเนินไปในทิศทางเดียวกันทุกคดี แต่จะต้องมีการพิจารณาเป็นรายคดีโดยประกอบกับการศึกษาข้อมูลจากรายงานของผู้เชี่ยวชาญด้วย
       ๕. การศึกษาค้นคว้าในวงการวิชาการไทยเกี่ยวกับการเยียวยาความเสียหายทางจิตใจ
        พบว่าการศึกษาเกี่ยวกับการเยียวยาความเสียหายโดยส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การเยียวยาความเสียหายในคดีแพ่ง ดังที่ปรากฏในเอกสารวิชาการส่วนบุคคล (ตามหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง, ๒๕๕๒) ของ นิพัฒนกุศล อัศวชิน เรื่อง “ปัญหาการกำหนดค่าเสียหายทางจิตใจ” วิทยานิพนธ์วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตของจักรินทร์ โกเมศ เรื่อง “ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายทางจิตใจตามกฎหมายลักษณะละเมิด” (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๔)
        สำหรับในส่วนของการเยียวยาความเสียหายโดยศาลปกครอง นั้น พบว่ามีการศึกษาประเด็นเรื่องการเยียวยาความเสียหายไว้ในวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตของ ร้อยตำรวจเอก สุเทพ ลุนหล้า เรื่อง “การกำหนดค่าสินไหมทดแทนในคดีละเมิดที่รัฐต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก” (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๘) ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ทางกฎหมายมหาชนเพียงเล่มเดียวที่ศึกษาในเรื่องดังกล่าว
        อนึ่ง พบว่ามีการกล่าวถึง “ความเสียหายทางจิตใจ” ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดบางคดี เช่น คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๗๐๓/๒๕๕๕ โดยกำหนดให้ผู้ฟ้องคดีได้รับการเยียวยาความเสียหายอันเนื่องมาจากการที่ตนต้องรอและติดตามผลการสอบสวน ซึ่งสร้างความคับข้องใจและความทุกข์ใจให้กับผู้ฟ้องคดี หรือกรณีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ. ๘๖/๒๕๕๕ ซึ่งในคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดไม่ได้กำหนดค่าเสียหายทางจิตใจตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอ โดยอ้างเหตุผลว่าค่าเสียหายทางจิตใจที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างมานั้น ไม่ถือเป็นความเสียหายโดยตรงจากการที่ผู้ฟ้องคดีต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน หรือกรณีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๔๑๔/๒๕๕๓ ซึ่งเป็นคดีพิพาททางวินัยและศาลปกครองสูงสุดกำหนดค่าเสียหายทางจิตใจให้แก่ผู้ฟ้องคดีอันเนื่องมาจากความเสียหายในเกียรติยศชื่อเสียง
       ๖. เอกสารอ้างอิง
        -CORMIER Christine, Le préjudice en droit administratif français : Etude sur la responsabilité extra-contractuelle des personnes publiques, thèse, L.G.D.J, 2002
        - DEGUERGUE Maryse, Jurisprudence et doctrine dans l’élaboration du droit de la responsabilité administrative, thèse, L.G.D.J, 1994
        - GUETTIER Christophe, La responsabilité administrative, L.G.D.J, 1996
        - MOMAS Jérôme, Le dernier avatar de la prise en charge du pretium doloris et du préjudice d’agrément par les juges administratifs : sa reconnaissance pour les victimes en état végétatif, online Available from : www.sciencedirect.com  ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๖
        - PIERRE Philippe, L’indemnisation du préjudice moral en Droit français, online Available from : www.fondation-droitcontinental.org  ๒๔ มกราคม ๒๕๕๖
        - SOUSSE Marcel, La notion de réparation de dommage en droit administratif français, L.G.D.J, 1994
        - http://fr.jurispedia.org คำสืบค้น “Préjudice dans la responsabilité administrative (fr)”  ๒๔ มกราคม ๒๕๕๖
        - http://www.dictionnaire-juridique.com คำสืบค้น “préjudice”  ๒๔ มกราคม ๒๕๕๖
        - ปิยะศาสตร์ ไขว้พันธุ์ และพนมดา หลิมสกุล, เอกสารประกอบการประชุม staff ศูนย์ศึกษากฎหมายมหาชน สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง (๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖)
       
       _______________________________
       
       เชิงอรรถ
       
       (1) เช่น การแบ่งประเภทการเยียวยาความเสียหายเป็นความเสียหายที่เป็นตัวเงิน (un dommage patrimoine) และ การเยียวยาความเสียหายที่ไม่เป็นตัวเงิน (extra-patrimoine) สำหรับการเยียวยาความเสียหายทางจิตใจนั้นอยู่ในประเภทของการเยียวยาความเสียหายที่ไม่เป็นตัวเงิน โดยจะต้องมีพื้นฐานจากความเสียหายที่เกิดกับร่างกาย (un dommage corporel) เสียก่อน


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544