หน้าแรก บทความสาระ
มองจีน มองอินเดีย แล้วมองไทย
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
7 เมษายน 2556 22:11 น.
 
ในช่วงระยะเวลาสองสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้ไปเยือนประเทศยักษ์ใหญ่สองประเทศคือจีนกับอินเดีย หลังจากที่ช่วงปลายปีที่แล้วได้มีโอกาสไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศยักษ์ใหญ่อีกประเทศหนึ่งคือสหรัฐอเมริกาซึ่งประธานาธิบดีโอบามาได้กำชัยชนะอีกครั้งหนึ่งเหนือคู่แข่งคือมิตต์ รอมนีย์
       
       ผมไปจีนคราวนี้ในฐานะผู้จัดการโครงการอบรมกฎหมายปกครองให้แก่ข้าราชการกระทรวงยุติธรรมของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเดินทางไปดูงานที่กรมยุติธรรมของยูนนาน ซึ่งได้รับความรู้เพิ่มเติมมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับยุติธรรมทางเลือก เช่น การไกล่เกลี่ย และรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับการเมืองการปกครองและระบบศาลของจีนที่มหาวิทยาลัยยูนนานที่มีความตกลงร่วมกันกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
       
       รูปแบบการเมืองการปกครองของจีนค่อนข้างจะเข้าใจยากสำหรับผู้ที่คุ้นชินกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยทั่วไป แต่ของจีนเขาก็เน้นย้ำว่าแม้ว่าเขาจะไม่เรียกระบอบการปกครองของเขาว่าประชาธิปไตยก็ตามแต่ผู้บริหารบ้านเมืองของเขาทุกระดับมาจากการเลือกตั้งของประชาชนซึ่งเลือกผู้แทนของเขาเข้าไปทำหน้าที่ในสภาประชาชน แล้วสภาประชาชนของเขาจะเป็นผู้ไปแต่งตั้งผู้บริหารตั้งแต่ระดับชาติจนถึงระดับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติหรือแม้กระทั่งตุลาการที่ถึงแม้ว่าจะมีการสอบคัดเลือกเข้ามาก็ตามแต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาประชาชนเสียก่อน
       
       การปกครองท้องถิ่นของจีนมี ๕ ระดับ คือ มณฑล นครหรือเมือง อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน นอกจากนั้นยังมีฮ่องกงและมาเก๊าซึ่งเป็นการปกครองรูปแบบพิเศษที่เรียกกันว่าหนึ่งประเทศสองระบบนั้นเอง แต่ระบบศาลมีเพียง ๔ ระดับเท่านั้น คือ ระดับชาติ มณฑล เมืองและอำเภอ และศาลชำนัญพิเศษ คือ ศาลทหาร ศาลทะเล และศาลกิจการขนส่ง/รถไฟ โดยไม่มีศาลในระดับตำบลหรือหมู่บ้าน แต่มีระบบการไกล่เกลี่ยแทน
       ระบบกฎหมายของจีนปัจจุบันค่อนข้างได้มาตรฐานกว่าแต่ก่อน มีการจัดทำประมวลกฎหมายที่สามารถค้นคว้าได้ง่ายกว่าเดิมเพียงแต่อัตราโทษค่อนข้างรุนแรงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ที่สำคัญยังมีการประหารชีวิตอยู่จำนวนมาก โทษของการครอบครองอาวุธปืนค่อนข้างสูง ฉะนั้น สถิติคดีเกี่ยวกับการใช้อาวุธปืนทำร้ายกันจึงต่ำ อย่างมากก็แค่ทะเลาะตบตีและทำร้ายร่างกายกันด้วยอาวุธอื่นที่พอหยิบฉวยได้
       
       การศึกษาด้านกฎหมายของจีนค่อนข้างสำคัญมากสำหรับนักศึกษาไทยเรา เพราะหากเราคิดจะค้าขายกับเขาแต่เราไม่รู้จักระบบกฎหมายเขาเลยย่อมเป็นการลำบาก ผมคิดว่าการศึกษากฎหมายจีนสำหรับคนไทยนั้นเป็นสิ่งจำเป็นมาก ที่สำคัญคือค่าเล่าเรียนค่อนข้างถูกและถูกว่าเมืองไทยเสียด้วยซ้ำ ในระดับปริญญาโทค่าเล่าเรียนเทอมละประมาณสองหมื่นบาทเท่านั้นเอง และหากไม่มีพื้นฐานด้านภาษาจีนเลยก็ลงทุนเรียนภาษาสักปีหนึ่งแล้วค่อยเรียนกฎหมายต่อ
       ส่วนอินเดียที่ผมได้ไปเยือนหลังจากกลับจากเมืองจีนได้เพียงวันเดียวนั้นเป็นการไปสัมมนาบรรณาธิการนิตยสารโรตารีภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก(Asia Pacific Regional Rotary Magazine Editors Seminar)ที่เมืองเชนไนหรือชื่อเดิมก่อนหน้านี้ที่ถูกยึดครองโดยอังกฤษเรียกว่ามัดราสหรือมัทราสนั่นเอง
        
       สิ่งทีพบเห็นที่อินเดียในวันนี้แตกต่างจากเดิมมากไม่ว่าจะเป็นด้านตึกรามบ้านช่อง เทคโนโลยีต่างๆ รถรามีหลายยี่ห้อแทนของเดิมที่มีแต่รถเก๋งแอมบาสเดอร์และรถบัสทาทา(TATA)แต่วิถีชีวิตของประชาชนทั่วไปยังคงเดิม ผู้คนศรัทธาเลื่อมใสในศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งแม้ว่าศาสนาส่วนใหญ่ของประเทศนี้คือฮินดูแต่เมื่อ Great Friday ที่ผ่านมาก็มีผู้นับถือศาสนาคริสต์ออกไปโบสถ์กันอย่างมากมาย และมีผู้นับถือศาสนาอิสลามจำนวนมากกว่าอินโดนีเซียและปากีสถานซึ่งเป็นประเทศมุสลิมแท้ๆอีกด้วย
       
       ระบบการเมืองการปกครองของอินเดียนั้นขึ้นชื่ออยู่แล้วในเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าอินเดียจะมีอัตราผู้ไม่รู้หนังสือสูงกว่าไทยมากแต่ก็ไม่เคยมีการปฏิวัิติรัฐประหารเกิดขึ้น ประชาธิปไตยหยั่งรากไปทุกระดับตั้งแต่ระดับชาติลงไปในสถาบันการศึกษาจนถึงในระดับรากหญ้าที่แม้ว่าจะอ่านหนังสือไม่ออกแต่เขาก็ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยจดจำรูปภาพหรือสัญญลักษณ์ของพรรคการเมืองที่ตนเองจะเลือก ในเรื่องของการปกครองท้องถิ่นของอินเดียนั้นมีความเป็นอิสระสูงมาก เพราะแม้แต่หัวหน้าฝ่ายบริหารยังเรียกว่า Chief Minister หรือมุขมนตรีในภาคภาษาไทยเรานั่นเอง
       
       สิ่งที่เหมือนกันระหว่างจีนกับอินเดียคือจำนวนประชากรที่มีจำนวนมาก โดยจีนมี ๑,๒๐๐​ ล้านคน อินเดียมี ๑,๓๐๐ ล้านคน พลังของทรัพยากรมนุษย์จึงมีสูงมาก และที่เหมือนกันระหว่างจีน อินเดียและไทยก็คือการคอร์รัปชันที่มีในทุกระดับไม่จำเพาะแต่นักการเมืองเท่านั้น
       
       สิ่งที่แตกต่างระหว่างไทยกับอินเดียและจีนก็คือความเป็นอิสระของการปกครองท้องถิ่นที่ไทยเราเมื่อเทียบกับสองประเทศนี้เรานับได้ว่ายังไม่เข้าถึงชั้นอนุบาลเลย จีนมีการปกครองตนเองในหลายมณฑล เช่น ซินเกียง(อุยกูร์) ยูนนาน(สิบสองปันนา) ทิเบต ฯลฯ แต่ของไทยเราเพียงแค่คิดก็ผิดแล้ว ว่ากันไปถึงการแบ่งแยกดินแดนหรือนครรัฐไปโน่น ทั้งๆที่ตัวอย่างในประเทศต่างๆมีให้เห็นอย่างมากมายนอกเหนือจากจีนก็คือ มินดาเนาของฟิลิปปินส์ หรืออาเจะห์ของอินโดนีเชีย ซึ่งไม่เกี่ยวกับการแยกรัฐแต่อย่างใด
       ผู้บริหารบ้านเมืองที่มีวิสัยทัศน์เขาเข้าใจถึงปัญหาของการรวมศูนย์อำนาจว่าได้สร้างปัญหามากมายซึ่งรวมถึงการเป็นปัจจัยหนึ่งของสาเหตุของปัญหาความไม่สงบรายวันในภาคใต้ของเรา ตัวอย่างติมอร์ตะวันออกก็มีให้เห็นอยู่กดเขาไว้มากๆสุดท้ายก็เอาไม่อยู่
       
       มองเขา มองเรา แล้วนำสิ่งดีๆมาปรับปรุง บ้านเมืองก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง หากยังมัวแต่งมโข่งหรือหวงอำนาจอยู่เช่นพี่ไทยเราอย่างปัจจุบันนี้ ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตายอีกสักกี่ชาติก็ไม่มีทางไปถึงไหน
       ประชาชนเขาพร้อมตั้งนานแล้ว คนที่ไม่พร้อมมีแต่พวกที่ยังหลงอยู่ในเงาอดีตที่คิดว่าอำนาจนั้นต้องรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลางและทาสที่ปล่อยไม่ไปอีกบางส่วนเท่านั้น
       
       ทีคนกรุงเทพเลือกตั้งทุกช่องทุกสถานีและทุกสื่อพากันปั่นข่าว ทำเหมือนว่ากรุงเทพคือประเทศไทยไปแล้ว แต่พอคนจังหวัดอื่นออกมาบ่นว่าอยากเลือกผู้ว่าของเขาบ้าง กลับออกมาพร่ำคาถาว่ายังไม่พร้อมๆ เดี๋ยวนักเลงครองเมือง ฯลฯ สารพัดที่ออกมากล่าวอ้างกีดกัน ทำประหนึ่งว่าคนจังหวัดอื่นเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศนี้เสียกระนั้น
       
       มองจีน มองอินเดีย แล้วย้อนดูเรา อายเขาไหมครับ
       
       

       --------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544