การคุ้มครองเด็กจากอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไร้สาย |
|
|
|
อาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง
CPD Certificate in Environmental Law & Policy University of Brighton นักวิจัยประจำ สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต สหราชอาณาจักร อีเมลล์ pedithep.youyuenyong@email.dmu.ac.uk |
|
|
|
|
|
|
|
|
[1] บทนำ
การใช้โทรศัพท์ไร้สายหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถช่วยให้มนุษย์ติดต่อสื่อสารกันได้สะดวกและง่ายดายยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะอำนวยความสะดวกต่อผู้บริโภคหรือผู้ใช้งาน ทำให้ผู้ใช้งานโทรศัพท์สามารถเคลื่อนที่ไปยังที่ต่างๆ พร้อมๆกับสามารถใช้งานโทรศัพท์มือถือได้แล้ว การพัฒนาการขององค์ประกอบในโทรศัพท์มือถือยุคใหม่ยังประกอบไปด้วยเทคโนโลยีที่หลากหลายอันสามารถรองรับการใช้งานของผู้บริโภคให้สอดคล้องกับการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวันที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็ว เช่น เทคโนโยลีอินฟาเรด (Infrared) และเทคโนโลยีบลูทูธ (Bluetooth) ด้วยเหตุนี้ โทรศัพท์มือถือจึงการมาเป็นปัจจัยดำรงชีพประการหนึ่งของมนุษย์ทำให้มนุษย์ในฐานะที่เป็นผู้บริโภคของตลาดสามารถเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบความถี่ที่แตกต่างกัน เช่น ระบบความถี่ 800 เมกะเฮิรตซ์ ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 900 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และมาตรฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 (3rd generation mobile telecommunications - 3 G) เป็นต้น
อย่างไรก็ดี คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Radiation หรือ EMR) จากการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นมิตรต่อสุขภาพของประชาชน อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนได้ อนึ่ง แม้ว่าคลื่นความถี่ย่านต่ำ (Low Frequency Electromagnetic Field - ELF) บางประเภทหรือคลื่นความถี่ที่มีความแรงสนามแม่เหล็กไม่เกินประมาณ 2 mG (0.2 µT) ไม่สามารถทำอันตรายหรือก่อให้เกิดโทษภัยต่อมนุษยได้ ได้แก่ คลื่นความถี่จากเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปตามครัวเรือน เช่น ไฟฟ้าในบ้าน (0.3 mG)[1] ในทางตรงกันข้าม คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาจากโทรศัพท์มือถือที่ถูกส่งออกมาจากเสาส่งสัญญาณจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะอยู่ในช่วง ความถี่ 100 กิโลเฮิร์ต ถึง 300 จิกะเฮิร์ต อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตตั้งแต่ในระดับเซลล์ไปจนถึงระดับเนื้อเยื่อ โดยสัญญาณที่ส่งออกจากเสาส่งสัญญาณจากผู้ให้บริการโทรศัพท์ จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าสัญญาณจากโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากคลื่นที่ถูกส่งออกมาจากเสาส่งสัญญาณจากผู้ให้บริการโทรศัพท์ เป็นคลื่นที่ถูกปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ทำให้ร่างกายได้รับคลื่นตลอดเวลา ปริมาณคลื่นที่ได้รับขึ้นอยู่กับความเข้มของสัญญาณและระยะเวลาที่ได้รับคลื่น[2] นอกจากนี้ โทรศัพท์มือถือที่มีช่วงความถี่ระหว่าง 450 และ 2700 เมกะเฮิรตซ์ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ได้อีกด้วย ซึ่งองค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) ได้ระบุชัดเจนว่าคลื่นความถี่จากโทรศัพท์มือถืออาจสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษยช์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ ตัวอย่างเช่น[3] คลื่นแม่เหล็กจากโทรศัพท์มือถือสามารถกระทบต่อการทำงานคลื่นไฟฟ้าบริเวณผิวนอกของสมอง (brain electrical activity) การจดจำในระบบสมอง (cognitive function) และอัตราการเต้นของหัวใจ (heart rate) เป็นต้น
ดังนั้น หลายประเทศจึงได้พยายามแสวงหานโยบายและมาตรการทางกฎหมายป้องกันอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือต่อเด็กและเยาวชน เหตุที่หลายประเทศได้ตระหนักถึงอันตรายจากคลื่นความถี่จากโทรศัพท์มือถือที่สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กและเยาวชนนั้น ก็เพราะคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถืออาจทำให้เด็กและเยาวชนมีภาวะเนื้องอกในสมอง[4] รวมไปถึงความเสี่ยงทางด้านสุขภาพอื่นๆ จากการใช้โทรศัพท์มือถือที่มากกว่าผู้ใหญ่[5] เช่น มลรัฐเมน (Maine State) ในสหรัฐอเมริกา ได้จัดทำร่างกฎหมาย[6] ได้แก่ ร่างรัฐบัญญัติ Children’s Wireless Protection Act เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในป้องกันผลร้ายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือต่อเด็กและเยาวชน เป็นต้น
บทความฉบับนี้ ประสงค์ที่จะนำเสนอถึงผลกระทบกับอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือต่อเด็กและแนะนำแนวทางในการพัฒนากฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็กให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือในอนาคต รวมไปถึงประเด็นความท้าทายที่ว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอันเกิดมาจากการใช้งานเกินมาตรฐานที่เหมาะสม ใช้งานเกินไปกว่าความจำเป็นหรือใช้งานจนอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์อาจกลายมาเป็นมลภาวะเช่นเดียวกับมลภาวะประเภทอื่นๆได้หรือไม่
[2] คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไร้สายและผลกระทบต่อสุขภาพ
คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าถือเป็นคลื่นชนิดหนึ่งที่ไม่ต้องอาศัยตัวกลางในการเคลื่อนที่ ซึ่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าประเภทคลื่นความถี่ย่านต่ำได้รับการยอมรับและนำมาใช้ร่วมกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ผ่านเครื่องมือหรือนวัตกรรมต่างๆ ที่มนุษย์ได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น จนกลายมาเป็นอุปกรณ์ในการอำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุที่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไม่ต้องอาศัยตัวกลางในการเคลื่อนที่นี้เอง ทำให้ผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดการโทรคมนาคมและวิศวกรรมโทรคมนาคมได้นำลักษณะเด่นของการทำงานคลื่นชนิดนี้มาประยุกต์และปรับปรุงใช้กับเครื่องมือสื่อสารหลายประเภทจนนำไปสู่เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย แม้ว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไม่ต้องอาศัยตัวกลางในการเคลื่อน แต่ก็ต้องอาศัยคลื่นวิทยุเป็นพาหะ (radio carrier) เหตุนี้เองทำให้ผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดการโทรคมนาคมและวิศวกรรมโทรคมนาคมจำต้องแสวงหาแนวทางในการบริหารจัดการคลื่นวิทยุ (radio wave) จากการส่งผ่านเสาอากาศของสถานีส่งออกไปในอากาศไปยังเสาอากาศของโทรศัพท์มือถือให้สอดคล้องกับกลไกการทำงานขององค์ประกอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น โทรศัพท์ไร้สาย (mobile station) สถานีฐาน (base station) และชุมสายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (mobile station) เป็นต้น
ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่รับสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่จากรัฐจึงพยายามแสวงหาประโยชน์จากเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือไร้สายที่อาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นความถี่ในการดำเนินกิจกรรมแสวงหาประโยชน์ในทางธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ประชาชนทั่วไปในฐานะที่เป็นผู้รับบริการหรือลูกค้าของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ก็ย่อมได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นความถี่ในการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวันและการติดต่อสื่อสารเพื่อธุรกิจด้วย[7] ฉะนั้น ทั้งภาคธุรกิจผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือก็ดีและประชาชนผู้รับบริการจากภาคธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ต่างก็ได้รับประโยชน์จากการใช้งานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไร้สายเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ภาคธุรกิจผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือได้รับประโยชน์จากสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำกำไรให้บริษัทของตน ได้แก่ บริการระบบโทรศัพท์มือถือเติมเงินรายเดือน บริการมือถือระบบเติมเงิน บริการโทรทางไกลอัตโนมัติและบริการเสริมอื่นๆ ที่สามารถทำกำไรและผลประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจนั้น และประชาชนในฐานะผู้บริโภคก็สามารถอาศัยประโยชน์เพื่อการติดต่อสื่อสารหาคนที่รักและห่วงใย รวมไปถึงการติดต่อสื่อสารฉุกเฉินเมื่อกำลังประสบภัยทางธรรมชาติหรืออุบัติเหตุต่างๆ ที่ต่ออาศัยการติดต่อสื่อสารที่เร่งด่วนให้ทันกับการรับความช่วยเหลือ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี คลื่นโทรศัพท์มือถือที่ให้ประโยชน์ทั้งต่อผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและประชาชนทั่วไปในฐานะที่เป็นผู้รับบริการธุรกิจโทรศัพท์มือถือไร้สาย อาจกลายมาเป็นอันตรายที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต รวมไปถึงการใช้งานคลื่นความถี่ของอีกบุคคลหนึ่งอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญในด้านสุขภาพและอนามัยต่อผู้อื่นได้[8] ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆจึงได้ร่วมกันแสวงหาแนวทางในการค้นคว้าศึกษาวิจัยเพื่อพิสูจน์ว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไร้สาย สามารถกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ทั่วไปกับสุขภาพอนามัยของเด็กและเยาวชนที่อยู่ในวัยกำลังศึกษา ที่กำลังจะก้าวเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต
[2.1] ผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไร้สายต่อสุขภาพของบุคคลทั่วไปและเยาวชน
การใช้งานโทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวันในปัจจุบันมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้มีการคาดการณ์กันว่าในปี ค.ศ. 2011 มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก[9] เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารในชีวิตส่วนตัวและในธุรกิจการงาน แม้ว่าการใช้โทรศัพท์มือถือจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนทั่วโลกและสามารถเอื้อประโยชน์ต่อกิจกรรมการติดต่อสื่อสารให้มนุษย์สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว ในทางตรงกันข้าม การศึกษาวิจัยและผลงานทางวิชาการหลายฉบับสามารถพิสูจน์ได้ว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือ สามารถกระทบต่อกลไกการทำงานของร่างกายมนุษย์ที่ซับซ้อนได้[10] นอกจากนี้ สนามคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ (radio-frequency electromagnetic field (RF-EMF) from cell phone towers) ในพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่ใจกลางเมือง อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และระบบนิเวศได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว[11] ตัวอย่างเช่น ภาวะเนื้องอกในสมอง (brain tumors)[12] หรือภาวะก้อนเนื้อขยายตัวภายในกระโหลกศรีษะ อันทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบประสาทที่เชื่อมโยงระบบการทำงานของร่างกายในส่วนอื่นๆ หรือทำให้สมองของมนุษย์ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ[13] ภาวะที่โครงสร้างของตัวกรองกั้นระหว่างเลือดและสมอง (Blood Brain Barrier - BBB) ถูกทำลายโดยคลื่นโทรศัพท์มือถือ[14] และภาวะการทำงานของแม่เหล็กไฟฟ้าชีวภาพ (bioelectromagnetism) หรือพลังงานไฟฟ้า พลังงานแม่เหล็ก รวมไปถึงสนามแม่เหล็กที่อยู่ภายในร่างกายของมนุษย์ที่ผิดปกติ[15] เป็นต้น นอกจากนี้ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือยังอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์บางชนิดในระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมได้ จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หลายฉบับพบว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือกระทบต่อการดำรงชีวิตของผึ้ง นกกระจอกบ้าน ผีเสื้อ ค้างคาวและนกในบริเวณที่มีการติดตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เพราะนักวิทยาศาสตร์พบว่า ภายหลังจากการติดตั้งมีการติดตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ สัตว์เหล่านี้ได้หายไป (disappearance) จากบริเวณพื้นที่มีการติดตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ[16]
นอกจากนี้ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์หลายฉบับได้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือต่อสุขภาพเด็กและเยาวชน โดยรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐของหลายประเทศได้พิจารณาถึงผลกระทบดังกล่าวจนนำไปสู่การจำกัดการใช้งานโทรศัพท์มือถือในเด็กและเยาวชน อันเป็นมาตรการระวังภัยล่วงหน้า (precautionary measure) จากการใช้งานโทรศัพท์มือถือที่อาจเกิดต่อประชาชน[17] ตัวอย่างเช่น รายงาน Stewart Report ที่จัดทำโดย Sir William Stewart[18] ได้แนะนำว่ารัฐและหน่วยงานของประเทศอังกฤษที่เกี่ยวข้องควรตระหนักถึงภัยอันตรายจากผลกระทบของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือต่อสุขภาพเด็กและเยาวชน โดยเนื้อเยื่อในสมองของเด็กและเยาวชนอาจดูดซับคลื่นความถี่ดังกล่าวจนทำให้เกิดอันตรายต่อสมองและพัฒนาการของระบบประสาทของเด็ก รวมไปถึงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือยังอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงและผลกระทบต่อระบบการผลิตฮอร์โมน (cyclical hormonal systems) ในร่างกายของวัยรุ่นเพศหญิง[19] อนึ่ง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอาจมีความสัมพันธ์กับโรคเด็ก (childhood diseases) ตัวอย่างเช่น โรคหอบหืด (asthma) โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukemia) และมะเร็งในสมอง (brain cancer)[20] เป็นต้น
[2.2] การตอบสนองต่ออันตรายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไร้สาย
องค์กรระหว่างประเทศและรัฐบาลของหลายประเทศได้พยายามตอบสนองต่ออันตรายและความเสี่ยงที่อาจเกิดจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือ โดยสำนักงานภูมิภาคยุโรป ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization Regional Office for Europe) และสำนักสิ่งแวดล้อมยุโรป (European Environment Agency) ได้ร่วมกันจัดทำเอกสาร Children's health and environment: A review of evidence A joint report from the European Environment Agency and the WHO Regional Office for Europe [21] ที่ระบุถึงอันตรายและผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือต่อเด็กและเยาวชนในโลกนี้และในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป รวมไปถึงความกังวลต่อผลกระทบต่อสุขภาพเชิงลบที่เกิดจากการใช้งานระบบไร้สายต่างๆ เช่น โรคมะเร็งในเม็ดเลือกขาวในผู้ป่วยวัยเด็ก เป็นต้น อนึ่ง แม้ว่าในปัจจุบันได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางประการระบุไว้แล้วว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์ไร้สายอื่นๆ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนได้ แต่การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์บางประการก็ยังไม่อาจทดสอบสมมุติฐานได้ว่าการใช้งานโทรศัพท์มือถือมีความสัมพันธ์กับโรคภัยหรือปัญหาสุขภาพอื่นๆของมนุษย์อีกหรือไม่ จึงถือเป็นความท้าทายสำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่จะต้องอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือที่อาจกระทบต่อสุขภาพต่อไป
สมัชชารัฐสภาคณะมนตรียุโรป (Parliamentary Assembly of the Council of Europe) ยังได้จัดทำเอกสาร The potential dangers of electromagnetic fields and their effect on the environment[22] อันมีเนื้อหาเกี่ยวกับการรณรงค์ให้ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปตระหนักถึงโทษภัยจากการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือและคลื่นจากระบบไร้สายอื่นๆ ที่อาจมีผลร้ายต่อสุขภาพ โดยสมัชชารัฐสภาคณะมนตรียุโรปได้รณรงค์ให้รัฐสมาชิกหันมาระงับหรือถอนการติดตั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สาย (wireless internet networks) ในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา และรณรงค์ให้รัฐสมาชิกห้ามเด็กและเยาวชนใช้โทรศัพท์มือถือ โดยวางกรอบแนวทางให้รัฐสมาชิกสหภาพยุโรปกำหนดมาตรการในการป้องกันภัยจากความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปล่วงหน้า ตัวอย่างเช่น การกำหนดมาตรฐานหรือเกณฑ์ระดับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือ การกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้ค้าโทรศัพท์มือถือต้องติดป้ายที่มีรายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือและความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งาน การห้ามใช้งานโทรศัพท์มือถือและเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สายในห้องเรียนและโรงเรียน และการรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนหันมาตระหนักถึงความเสี่ยงจากการใช้โทรศัพท์มือถือที่อาจกระทบต่อสุขภาพ เป็นต้น
นอกจากนี้ กลุ่ม BioInitiative Working Group ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาผลกระทบจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือกับอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ได้ระบุแนวทางของการระวังภัยจากอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือล่วงหน้า ในเอกสาร BioInitiative: A Rationale for a Biologically-based Exposure Standard for Electromagnetic Radiation[23] กล่าวคือ ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำนโยบายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆควรทำการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ (effective decision-making) ในการกำหนดนโยบายและมาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากอุปกรณ์ไร้สายประเภทต่างๆ โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องประเมินการตัดสินใจผ่านการตัดสินบนบรรทัดฐานของสังคม เช่น การประเมินความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้ (acceptability of risks) ที่ทำให้เกิดอันตรายต่อเด็กและเยาวชนน้อยที่สุด ในขณะเดียวกัน ก็ไม่กระทบต่อบุคคลอื่นๆ ที่ยังคงต้องการใช้เทคโนโลยีไร้สาย ซึ่งแม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพในระยะสั้นหรือระยะยาวก็ตาม เป็นต้น
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น รัฐหรือองค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องจำต้องแสวงหานโยบายและมาตรการทางกฎหมายเฉพาะเพื่อรณรงค์และป้องกันภัยจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไม่ให้กระทบต่อเด็กและเยาวชนเป็นการล่วงหน้า เหตุที่รัฐจำต้องยื่นมือเข้ามากำหนดมาตรการและแนวทางในการป้องกันผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ก็เพราะเด็กและเยาวชนทุกเพศหรือทุกวัย[24] มีสิทธิที่จะมีสุขภาพดี (child's right to health) กล่าวคือ เด็กและเยาวชนควรได้รับความคุ้มครองด้านสุขภาพจากรัฐและควรได้รับการปัองกันภัยล่วงหน้าจากเหตุที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่ออันตรายหรือความเป็นอยู่ที่ดีโดยรัฐ[25] อนึ่ง แม้ว่าอันตรายของคลื่นโทรศัพท์มือถืออาจมีความเสี่ยงต่อโรคภัยหรือผลกระทบต่อร่างกายน้อยหรืออันตรายของคลื่นโทรศัพท์มือถืออาจเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายเด็กและเยาวชน แต่รัฐก็ควรแสวงหาแนวทางและมาตรการในการป้องกันความเสี่ยงนั้นด้วย เพื่อป้องกันภัยล่วงหน้าไม่ให้เด็กและเยาวชนได้รับอันตราย[26] สำหรับโทษภัยของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากอุปกรณ์ไร้สายประเภทต่างๆ รวมไปถึงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือนั้น ย่อมก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องของอนามัยสิ่งแวดล้อม (environmental health)[27] โดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถืออาจส่งผลร้ายต่อความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวมนุษย์หรือในระบบนิเวศ ฉะนั้น ภาครัฐจึงควรกำหนดมาตรการทางกฎหมายกำหนดให้ผู้ก่อมลพิษต้องมีหน้าที่รับผิดชอบจากผลที่ตนได้กระทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและอาจให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ในการป้องกันภัยล่วงหน้าหรือบริหารความเสี่ยงต่อภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นมาจากการกระทำของผู้มีส่วนร่วมกับปัญหาดังกล่าว
[3] ความท้าทายในการปฏิรูปกฎหมายคุ้มครองเด็กจากอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไร้สาย
อันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไร้สายจึงถือเป็นความท้าทายประการหนึ่งสำหรับนักกฎหมายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการปัญหาสุขภาพของเด็กที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม เพราะหากปล่อยให้การใช้โทรศัพท์มือถืออย่างเสรีโดยปราศจากการควบคุมของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมหรือหน่วยงานของรัฐที่กำกับและดูแลการจัดสรรคลื่นความถี่สาธารณะเพื่อประโยชน์สาธารณะแล้ว[28] คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือรวมไปถึงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากอุปกรณ์ไร้สายอื่นๆ ย่อมอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพภาพของเด็กและเยาวชนได้ แม้การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์บางอย่างทำให้ได้ข้อสรุปว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไร้สายสามารถกลายมาเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้และการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์บางอย่างอาจยังไม่สามารถให้ข้อสรุปได้ชัดเจนว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไร้สายสามารถส่งผลกระทบต่อมนุษย์ได้หรือไม่ แต่การป้องกันภัยล่วงหน้า (precautionary approach)[29] ต่อคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไร้สายที่กระทบสุขภาพเด็กได้ชัดเจนแล้ว ย่อมทำให้เป็นหลักประกันต่อสุขภาพเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาวว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไร้สายอันจะสามารถกลายมาเป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชนให้น้อยที่สุด (minimising health impact) รวมไปถึงการลดความเสี่ยงอื่นๆ จากการใช้งานโทรศัพท์มือถือที่สามารถกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยทั่วไปอีกด้วย (minimising public health risks)
แม้จะมีการอภิปรายกันในประเด็นของอันตรายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไร้สายและสนามคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ แต่การควบคุมกับป้องกันภัยล่วงหน้าจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือย่อมอาจส่งผลในทางลบต่อการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจโทรคมนาคมหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของภาคเอกชนที่รับสัมปทานตามสัญญาให้ใช้คลื่นความถี่จากรัฐและอาจกระทบต่อการแสวงหารายได้ของรัฐจากค่าสัมปทานที่รัฐได้รับจากเอกชนที่ใช้ประโยชน์คลื่นความถี่เพื่อดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจของตน เพราะหากประชาชนหวั่นวิตกเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือต่อสุขภาพ ก็อาจกระทบต่อบริการด้านต่างๆ ของภาคธุรกิจโทรคมนาคม เช่น ประชาชนอาจใช้บริการระบบรายเดือนลดลงหรือบริการระบบเติมเงินลดลง เพราะวิตกต่อปัญหาสุขภาพจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือที่ตามมา เป็นต้น
นอกจากนี้ การพัฒนาระบบเครือข่ายไร้สายสำหรับสถานศึกษาที่อาจส่งเสริมและสนับสนุนการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน เช่น แท็บเบล็ต (tablet) แต่การติดตั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สายในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาอื่นๆ ย่อมกระทบต่อพัฒนาการทางกายและสุขภาพของเด็กและเยาวชนได้ในอนาคตเช่นเดียวกันกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่สามารถส่งผลในแง่ลบต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชน ดังนี้แล้ว ภาคเอกชนที่รับบริการติดตั้งโครงข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สายในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาอาจเสียประโยชน์ หากภาครัฐหรือประชาชนต่อต้านการพัฒนาโครงข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สายเพือให้บริการในสถานศึกษา เพราะเกรงอันตรายจะเกิดต่อเยาวชนของชาติกับสุขภาพของประชาชนรุ่นอนาคต
ดังนี้ อาจเป็นการยากที่จะชั่งน้ำหนักว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ของรัฐและการดำเนินกิจกรรมด้านอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือเป็นประโยชน์สาธารณะด้านการสื่อสารโทรคมนาคมกับโทษต่อสาธารณะด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพราะหากไม่มีการบริการด้านโทรศัพท์มือถือของผู้รับสัมปทานจากการจัดสรรคลื่นความถี่หรือหากไม่มีการให้สัมปทานจากรัฐให้เอกชนสามารถประมูลคลื่นความถี่แล้ว ก็อาจทำให้ประชาชนหรือคนทั่วไปติดต่อสื่อสารกันในชีวิตประจำวันลำบากหรือไม่สะดวกรวดเร็วด้วยการใช้เทคโนโลยีจากโทรศัพท์มือถือ อันอาจส่งผลเสียต่อการประกอบธุรกิจและความสัมพันธ์ของผู้คนในชีวิตส่วนตัว ในทางตรงกันข้าม หากรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องปล่อยให้มีการใช้งานโทรศัพท์มือถือกันอย่างเสรีโดยที่ไม่เข้ามาศึกษาผลกระทบหรือกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับภัยด้านสุขภาพที่อาจคุกคามสวัสดิภาพของเด็กเยาวชนและประชาชนทั่วไป จากอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไร้สาย ย่อมอาจทำให้เกิดอันตรายต่อพัฒนาการและสุขภาพของเด็กและเยาวชนในรุ่นปัจจุบันและอนาคตได้ ดังนี้แล้ว การชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์สาธารณะด้านการสื่อสารโทรคมนาคมหรือโทษต่อสาธารณะด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจึงอาจกลายมาเป็นความท้าทายของนักกฎหมายมหาชนและนักกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่จะต้องทำการศึกษาผลกระทบรอบด้านก่อนที่จะมีการตัดสินใจเชิงนโยบายหรือกำหนดมาตรการทางกฎหมายขึ้นมาในทางหนึ่งทางใด เพื่อควบคุมหรือกำกับการใช้งานโทรศัพท์มือถือที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของบุคคลทั่วไป รวมทั้งเด็กและเยาวชนในอนาคต
[4] กฎหมายคุ้มครองเด็กจากอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไร้สายในปัจจุบัน
ในปัจจุบันได้มีแนวคิดในการจัดทำนโยบายและมาตรการทางกฎหมายคุ้มครองเด็กจากอันตรายของคลืนแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไร้สาย ตัวอย่างเช่น รัฐสภาสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้กำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมและระวังภัยล่วงหน้าจากอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไร้สายที่อาจส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ได้แก่ กฎหมาย LOI no 2010-788 du 12 juillet 2010 portant engagement national pour l’environnement[30] ที่กำหนดมาตรการที่สำคัญสามประการในการควบคุมและระวังภัยล่วงหน้าจากอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไร้สายที่อาจส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนสามมาตรการหลักด้วยกัน ได้แก่ มาตรการแรก มาตรการห้ามโฆษณาขายหรือจำหน่ายโทรศัพท์มือถือแก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี มาตรการที่สอง มาตรการห้ามใช้เด็กและเยาวชนใช้โทรศัพท์มือถือในระหว่างที่มีการเรียนการสอนในสถานอนุบาลเด็กเล็ก โรงเรียนประถมและโรงเรียนมัฐยมศึกษาตอนต้น และมาตรการที่สาม มาตรการกำหนดให้ผู้ค้าผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือต้องจัดหาอุปกรณ์แฮนด์ฟรีหรืออุปกรณ์เสริมอื่นๆ ที่ให้เด็กห่างและปลอดภัยจากคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือในขณะใช้งานโทรศัพท์มือถือ[31]
นอกจากนี้ เมืองซานฟรานซิสโก มลรัฐนอร์ท แคโลไรน่า สหรัฐอเมริกาได้ตราอนุบัญญัติท้องถิ่นขึ้น ได้แก่ กฤษฎีกาเมืองซานฟรานซิสโก Ordinance No. 165-11, Adopted July 11, 2011 ที่ได้วางหลักเกณฑ์ให้ผู้ค้าปลีกมือถือต้องเปิดเผยข้อเท็กจริงเกี่ยวกับสิ้นค้าในส่วนของอันตรายและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือ[32] โดยมาตรการในอนุบัญญัติดังกล่าวได้เสริมสร้างสิทธิที่จะรู้ (rights to know) ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายทีสามารถกระทบต่อสุขภาพอันเนื่องมาจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือ โดยผู้ค้าโทรศัพท์มือถือมีหน้าที่ต้องประชาสัมพันธ์หรือเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค อันเป็นการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้บริโภคทั่วไปและผู้บริโภคที่เป็นเด็กและเยาวชนที่ต้องใช้โทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ดี ในอีกหลายประเทศทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศที่ด้อยพัฒนา กลับไม่มีมาตรการทางกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองเด็กจากอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไร้สาย ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลของหลายประเทศได้กำหนดนโยบายสาธารณะในการรณรงค์ให้มีประชาสัมพันธ์โทษภัยและอันตรายจากโทรศัพท์มือถือต่อเด็กและเยาวชน เช่น รัฐบาลอังกฤษและสำนักบริการสุขภาพแห่งชาติของประเทศอังกฤษ (National Health Service - NHS) ได้ออกใบประชาสัมพันธ์มาเพียงแค่เตือนว่าการใช้โทรศัพท์มือถืออาจมีผลกระทบต่อสุขภาพได้ แต่ไม่ได้ชี้เฉพาะถึงโทษภัยเหมือนประเทศอื่นๆ แต่ประการใด[33] เป็นต้น
[5] แนวทางในการพัฒนากฎหมายคุ้มครองเด็กจากอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไร้สายในอนาคต
แม้ว่าองค์กรระหว่างประเทศบางองค์กรหรือรัฐบาลของประเทศบางประเทศได้วางหลักเกณฑ์ให้รัฐพัฒนากฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็กจากอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือ เช่น มาตรการกำหนดมาตรฐานหรือเกณฑ์ระดับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือ มาตรการบังคับให้ผู้ผลิตและผู้ค้าโทรศัพท์มือถือต้องติดป้ายที่มีรายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือและความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งาน การห้ามใช้งานโทรศัพท์มือถือและเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สายในห้องเรียนและโรงเรียน และมาตรการรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนหันมาตระหนักถึงความเสี่ยงจากการใช้โทรศัพท์มือถือที่อาจกระทบต่อสุขภาพ ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในข้างต้นแล้ว แต่มาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอต่อการคุ้มครองเด็กจากอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือ ดังนั้น รัฐหรือองค์กรระหว่างประเทศอาจวางหลักเกณฑ์เพื่อพัฒนากฎหมายคุ้มครองเด็กจากอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไร้สายในอนาคต ได้แก่ประการแรก คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ถูกปล่อยออกมาจากโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์ไร้สายอื่นๆ อาจก่อให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรืออาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนในรัฐได้ เฉกเช่นเดียวกับมลภาวะหรือมลพิษ (pollution) ประเภทอื่นๆ ซึ่งในบางตำราถือว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ถูกปล่อยออกมาจากโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์ไร้สายอื่นๆเป็นมลภาวะประเภทหนึ่งที่เรียกว่า มลภาวะทางคลื่น (electrosmog) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ถูกปล่อยออกมาในระดับที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น รัฐหรือหน่วยงานของรัฐอาจกำหนดวิธีการควบคุมการใช้งานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรืออาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับการนำหลักทั่วไปในกฎหมายสิ่งแวดล้อมสำหรับควบคุมมลภาวะประเภทอื่นๆ เช่น การนำหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) มาบรรจุในกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับที่ว่าด้วยคุ้มครองเด็กจากอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
ประการที่สอง รัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการโทรคมนาคม อาจร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดพื้นที่ควบคุมคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ (environmental zones for electromagnetic radiation control) โดยรัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือท้องถิ่นอาจกำหนดให้พื้นที่ตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือเป็นพื้นที่ปลอดผู้คนอาศัย เพื่อป้องกันอันตรายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือไม่ให้กระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ รวมไปถึงรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ควรอนุญาตให้มีการติดตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือในพื้นที่เขตอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ประการที่สาม รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ (economic instruments) ในการจัดการสิ่งแวดล้อมมาจูงใจให้เอกชนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือหน่วยงานที่มีการติดตั้งและใช้งานระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สาย เปลี่ยนพฤติกรรมและดำเนินการใดๆ เพื่อลดผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือหรือโครงข่ายระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สาย เช่น มาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจให้มีการลดการติดตั้งหรือใช้งานระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สายในสถาบันการศึกษาที่เด็กและเยาวชนศึกษาอยู่ เป็นต้น
[6] สรุป
การแสวงหานโยบายและมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและป้องกันภัยล่วงหน้าจากอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือต่อเด็กและเยาวชน รวมไปถึงการใช้งานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ย่อมเป็นการลดความเสี่ยงต่อสุขภาพและอนามัยของเด็กและเยาวชนที่กำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต อนึ่ง การพัฒนามาตรการเฉพาะเพื่อควบคุมและป้องกันภัยล่วงหน้าจากอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าย่อมถือเป็นความท้าทายของรัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรคลื่นความถี่และการดูแลธรรมาภิบาลกิจการโทรคมนาคม ซึ่งความท้าทายประการสำคัญอยู่ที่การชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์สาธารณะด้านการสื่อสารโทรคมนาคมกับโทษต่อสาธารณะด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพราะการสื่อสารโทรคมนาคมโดยอาศัยเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือไร้สายย่อมทำให้ประชาชนติดต่อสื่อสารได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้ามเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือไร้สายอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนได้ในอนาคต ฉะนั้น หลายประเทศ ตัวอย่างเช่นเช่น สาธารณรัฐฝรั่งเศสและบางท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกาได้กำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อควบคุมและป้องกันภัยล่วงหน้าจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือ เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนซึ่งแม้ในหลายประเทศได้ตระหนักถึงอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไร้สายและเทคโนโลยีไร้สายอื่นๆที่อาจมีต่อเด็กและเยาวชน
อย่างไรก็ดี รัฐบาลของบางประเทศกลับสนับสนุนให้มีการติดตั้งและขยายการใช้งานระบบเทคโนโลยีไร้สายในโรงเรียนและสถาบันการศึกษา โดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษา ตัวอย่างเช่น รัฐบาลไทยได้กำหนดโครงการพัฒนาระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สายสำหรับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มุ่งขยายการใช้ประโยชน์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตแบบไร้สาย ให้สอดคล้องกับการแจกคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) และการบริหารจัดการนำเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่หน่วยงานของรัฐได้ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแท็บเล็ตเครื่องใหม่ แต่รัฐบาลไทยหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่ได้ประเมินความเสี่ยงหรือศึกษาวิเคราะห์ถึงอันตรายจากการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือไร้สายหรือระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตแบบไร้สายในสถาบันการศึกษาที่อาจกระทบต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนในอนาคตแต่อย่างใด
ด้วยเหตุนี้ ความเสี่ยงต่อสุขภาพและอนามัยของเด็กและเยาวชนจากการใช้งานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของโทรศัพท์มือถือไร้สายและอุปกรณ์เครือข่ายไร้สายอื่นๆ ได้กลายมาเป็นปัญหาที่ท้าทายนักกฎหมายสิ่งแวดล้อมและนักกฎหมายมหาชน โดยนักกฎหมายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าวจึงควรร่วมกันแสวงหาแนวทางและพัฒนามาตรการทางกฎหมายเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในอนาคต
[1] สุเมธ วงศ์พานิชเลิศ. (2552). ผลกระทบต่อสุขภาพจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า. กรุงเทพฯ: สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม, หน้า 8.
[2] จุติพร สุดศิริ. (2554). ผลกระทบของคลื่นโทรศัพท์ต่อสุขภาพมนุษย์. สงขลานครินทร์เวชสาร, 29 (4), หน้า 183-193.
[3] World Health Organization. (2011). Electromagnetic fields and public health: mobile phones Fact sheet N°193 June 2011, Retrieved March 26, 2013, from http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs193/en/ โปรดดูเพิ่มเติมใน International Commission on Non-Ionizing Radiation Protection. (1998). Guidelines for limiting exposure to time-varying electric, magnetic, and electromagnetic fields. Health Physics, 74 (4), 494-522. และ Institute of Electrical and Electronics Engineers. (1998). IEEE standard for safety levels with respect to human exposure to radio frequency electromagnetic fields, 3 kHz to 300 GHz. New York: Institute of Electrical and Electronics Engineers, pp 1-30.
[5] Mobile Manufacturers Forum. (2010). Backgrounder Series Mobile Phone Safety and Use by Children. Brussels: Mobile Manufacturers Forum, p 11.
[6] นอกจากนี้ องค์กรของรัฐและองค์กรด้านสุขภาพหลายองค์กรในหลายประเทศได้ให้คำแนะนำว่า สถาบันการศึกษาต่างๆ ควรใช้เทคโนโลยีอื่นๆ ทดแทนเทคโนโลยีไร้สายบางประเภท เช่น เครือข่ายไร้สาย หรือ wifi (wireless fidelity) เพราะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าเทคโนโลยีอาจสร้างผลกระทบในด้านลบต่อนักเรียนในสถาบันการศึกษา โปรดดู คำอธิบายในประเด็นนี้เพิ่มเติมได้ใน Jamieson, I. (2012). Safe Schools 2012 Medical and Scientific Experts Call for Safe Technologies in Schools. London: Wifi in School Group, pp 1-15.
[8] Health Protection Agency. (2009). A Children’s Environment and Health Strategy for the UK. Didcot: Health Protection Agency, p 8.
[9] Narayanan, N. S. et al. (2010). Effect of radio-frequency electromagnetic radiations (RF-EMR) on passive avoidance behaviour and hippocampal morphology in Wistar rats. Upsala Journal of Medical Sciences, 115 (2), 91-96.
[10] Kumar, S. & Pathak, P. P. (2011). Effect of electromagnetic radiation from mobile phones towers on human body. Indian Journal of Radio & Space Physics, Vol. 40, December, 340-342.
[11] Sivani, S. & Sudarsanam, D. (2012). Impacts of radio-frequency electromagnetic field (RF-EMF) from cell phone towers and wireless devices on biosystem and ecosystem - a review, Biology and Medicine, 4 (4), 202-216.
[14] Leszczynski, D. (2013). Effect of GSM mobile phone radiation on blood-brain barrier. Retrieved March 26, 2013, from http://www.ursi.org/Proceedings/ProcGA02/papers/p1043.pdf และโปรดดูเพิ่มเติมใน Dubey, B. R., Hanmandlu, M. & Gupta, K. S. (2010). Risk of Brain Tumors From Wireless Phone Use. Journal of Computer Assisted Tomography, 34 (6), 799-807.
[15] Lang, S. (2006). Recent Advances in Bioelectromagnetics Research on Mobile Telephony and Health - An Introduction, Progress In Electromagnetics Research Symposium 2006, Cambridge, USA, March 26-29, pp 192-196.
[16] Kaur, J. & Dhami, K. A. (2012). Orientation studies of a cell-phone mast to assess electromagnetic radiation exposure level. International Journal of Environmental Sciences, 2 (3), 2285 - 2294.
[17] Kwan-Hoong, N. (2003). Radiation Mobile Phones, Base Stations and Your Health. Selangor Darul Ehsan: Malaysian Communications and Multimedia Commission (Suruhanjaya Komunikasi dan Multimedia Malaysia), p 16.
[21] European Environment Agency & WHO Regional Office for Europe. (2002). Children's health and environment: A review of evidence A joint report from the European Environment Agency and the WHO Regional Office for Europe. Copenhagen: WHO Regional Office for Europe, p 172.
[24] Broughton, F. (2012). An invisible judgment for invisible children? What the High Court decision in HSE v F (2010) says about health care rights for pre-natal children. Medico-Legal Journal of Ireland, 18 (2), 76-83.
[25] มาตรา 24 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989 (Convention on the Rights of the Child 1989) ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า รัฐต้องจัดหาการการดูแลสุขภาพที่ดี (good quality health care) และสิ่งแวดล้อมที่สะอาด (clean environment) เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีสุขภาพอนามัยที่ดี ด้วยเหตุนี้ รัฐหรือองค์กรของรัฐจึงควรแสวงหาแนวทางหรือมาตรการในการป้องกันภัยล่วงหน้าจากภาวะความเสี่ยงต่ออันตรายจากคลืนแม่เหล็กไฟฟ้าของโทรศัพท์มือถือที่อาจกระทบต่อสุขภาพเด็กและเยาวชน โปรดดุเพิ่มเติมใน Unicef United Kingdom. A summary of the UN Convention on the Rights of the Child. Retrieved March 26, 2013, http://www.unicef.org.uk/Documents/Publication-pdfs/betterlifeleaflet2012_press.pdf
[26] Tobin, J. (2009). The international obligation to abolish traditional practices harmful to children’s health: what does it mean and require of states?. Human Rights Law Review, 9 (3), 373-396.
[27] Spady, et al. (2008). Governance instruments that protect children’s environmental health: is enough being done?. Environmental Law Review, 10 (3), 200 - 217.
[28] อนึ่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจเข้ามามีบทบาทในการควบคุมการใช้โทรศัพท์มือถือหรือการป้องกันผลกระทบจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือต่อระบบนิเวศในพื้นที่ชุมชนและสุขภาวะของผู้คนในพื้นที่ชุมชนในอนาคต (การกระจายอำนาจด้านสุขภาพ) โปรดดู Griffin, A. (1996). Health and Children. Child Care Forum, 1996, 9 (January), 17.
[29] กระบวนการยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรมทางปกครองอาจเข้ามามีบทบาทในการกำหนดแนวทางการป้องกันภัยล่วงหน้าของการใช้งานโทรศัพท์มือถือในอนาคตได้ โปรดดูเพิ่มเติมจาก Simms, M. (1988). The health surveillance of children in care - are there serious problems?. Adoption & Foresting, 12 (4), 20-23. (แม้บทความนี้ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องของการสำรวจผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานโทรศัพท์มือถือโดยตรง แต่การตรวจตราด้านสิ่งแวดล้อม (environmental surveillance) จากปัญหาอันตรายของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือไร้สาย ย่อมอาจทำให้ทราบถึงภัยอันตรายที่อาจเกิดต่อเยาวชนได้ในอนาคต)
[31] โปรดดูรัฐกฤษฎีกาของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้แก่ Décret n° 2010-1207 du 12 octobre 2010 relatif à l'affichage du débit d'absorption spécifique des équipements terminaux radioélectriques ที่กล่าวถึงอันตรายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ใน Legifrance. (2010). Décret n° 2010-1207 du 12 octobre 2010 relatif à l'affichage du débit d'absorption spécifique des équipements terminaux radioélectriques. Journal Officiel de la République Française, 13 juillet 2010, Texte 1 sur 126. Retrieved March 26, 2013, http://www.legifrance.gouv.fr/jopdf/common/jo_pdf.jsp?numJO=0&dateJO=20100713&numTexte=1&pageDebut=12905&pageFin=12989# นอกจากนี้ โปรดศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายฝรั่งเศสและการบังคับใช้ได้ใน Ministère des Affaires sociales et de la Santé - Ministère du Redressement productif & Ministère de l’Ecologie, du Développement durable et de l’Energie. (2011). Antennes-relais de téléphonie mobile. Retrieved March 26, 2013, http://www.radiofrequences.gouv.fr/IMG/pdf/Fiche_antennes-relais.pdf และโปรดศึกษาเพิ่มเติมจาก Ministère des Affaires sociales et de la Santé - Ministère du Redressement productif & Ministère de l’Ecologie, du Développement durable et de l’Energie. (2012). Téléphones mobiles, santé et sécurité. Retrieved March 26, 2013, http://www.radiofrequences.gouv.fr/IMG/pdf/Telephones_mobiles.pdf
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|