หน้าแรก บทความสาระ
เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อสร้างมาตรการสนับสนุนการขี่จักรยานไปทำงานของประเทศอังกฤษ
อาจารย์ปีดิเทพ อยู่ยืนยง CPD Certificate in Environmental Law & Policy University of Brighton นักวิจัยประจำ สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต สหราชอาณาจักร อีเมลล์ pedithep.youyuenyong@email.dmu.ac.uk
10 มีนาคม 2556 21:07 น.
 
[1] เกริ่นนำ
       รัฐบาลของหลายประเทศได้ตระหนักถึงการแสวงหาแนวทางจัดการปัญหามลพิษหรือปัญหาอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดมลพิษอันอาจส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อม การแสวงหากลไกและเครื่องมือต่างๆ เพื่อแก้ปัญหามลพิษอันเนื่องมาจากปริมาณประชากรที่เพิ่มมากขึ้นกับการขยายตัวของพื้นที่ชุมชนเมืองเพิ่มขึ้นตามมา จึงกลายมาเป็นสิ่งสำคัญของรัฐที่จะกำหนดกลไกในการกำกับและควบคุมปัญหามลพิษหรือปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยเหตุนี้ หลายๆ ประเทศจึงได้พยายามอาศัยเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ (economic instruments)[1] มากำหนดมาตรการในการจัดการกับปัญหามลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อันอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน อนึ่ง เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ย่อมกลายมาเป็นกลไกสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและผู้ก่อผลกระทบในทางลบต่อสิ่งแวดล้อมปรับพฤติกรรมหรือเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติ ตามกลไกการสร้างแรงจูงใจให้ตระหนักถึงโทษภัยของของพฤติกรรมหรือการปฏิบัติที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน แรงจูงใจจากเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์อาจทำให้ผู้ก่อมลพิษหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ได้ประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจจากเครื่องมือดังกล่าวทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย เช่น เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่กำหนดกลไกทางภาษี เป็นต้น
       ประเทศอังกฤษถือเป็นประเทศหนึ่งที่นำเอาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการบังคับและควบคุม (Command and Control - CAC)[2] ปัญหาสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมอื่นๆ ของรัฐหรือเอกชนที่อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งนี้ การเดินรถสาธารณะโดยบริการสาธารณะด้านขนส่งที่รัฐเป็นผู้จัดทำขึ้นเองหรือให้เอกชนรับสัมปทานดำเนินการและการเดินทางโดยรถโดยสารหรือยานพาหนะส่วนตัวประเภทต่างๆ ย่อมอาจก่อให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ตัวอย่างเช่น มลภาวะทางอากาศ (air pollution) ที่กำเนิดมาจากยวดยานพาหนะสาธารณะและยานพาหนะส่วนตัวบนท้องถนนหรือเส้นทางคมนาคมขนส่งที่รัฐจัดให้ เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และสารประกอบไฮโดรคาร์บอน รวมไปถึงการใช้ยวดยานพาหนะสาธารณะหรือส่วนตัวในขณะที่มีการจราจรอย่างหนาแน่นในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองหรือใจกลางเมือง อันทำให้เกิดการหยุดตัวหรือการออกตัวของยวดยานพาหนะบ่อยครั้ง ใจทำให้เกิดการเผาผลาญของน้ำมันและการสันดาปของเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ที่ไม่สมบูรณ์ จนนำไปสู่การระบายก๊าซพิษที่กลายมาเป็นมลภาวะทางอากาศในเวลาต่อมา เป็นต้น
       ฉะนั้น รัฐบาลอังกฤษจึงได้กำหนดแผนการเดินทางสีเขียว (Green Transport Plan - GTPs) อันเป็นนโยบายสาธารณะด้านการเดินทางที่กำหนดแนวทางให้ผู้ตัดสินใจนโยบายจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมขนส่งตระหนักถึงปัญหาหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการเดินทางโดยยานพาหนะประเภทต่างๆ บนท้องถนน[3] โดยแผนดังกล่าวมุ่งจัดบริการสาธารณะด้านคมนาคมขนส่งให้สอดคล้องกับปัญหาสาธารณะจากการเดินทางหรือคมนาคมขนส่งที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลอังกฤษ หน่วยงานของรัฐและท้องถิ่นต่างๆ จำต้องกำหนดมาตรการหรือแสวงหาแนวทางต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการเดินทางโดยวิธีการต่างๆ ให้สอดคล้องกับแผนการเดินทางสีเขียวดังกล่าว[4]
       ดังนี้ รัฐบาลอังกฤษและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวกับการบริการสาธารณะด้านคมนาคมขนส่งจึงได้พยายามกำหนดมาตรการต่างๆ ให้สอดรับกับแผนการเดินทางสีเขียว รวมไปถึงการสร้างเครื่องมือทางกฎหมาย (regulatory instruments) ให้มีลักษณะสอดรับกับการระวังภัยล่วงหน้าและการป้องกันภัยต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต[5] เช่น การกำหนดมาตรการเพิ่มแรงจูงใจทางภาษี (environmental tax incentives) เป็นต้น
       [2] เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์กับการขนส่งสีเขียว
       ข้อแนะนำนโยบายด้านผังเมือง ฉบับที่ 13 ว่าด้วยการขนส่ง (Planning Policy Guidance 13: Transportation - PPG13) ของประเทศอังกฤษ อันเป็นนโยบายสาธารณะที่สำคัญว่าด้วยเรื่องการจัดการขนส่งสาธารณะและการจัดการคมนาคมขนส่งทั่วไป ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่สำคัญหลายประการอันเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้การจัดทำบริการสาธารณะของภาครัฐและการใช้ยานพาหนะโดยสารของประชาชนหรือภาคธุรกิจสามารถดำเนินไปได้ ในขณะเดียวกันรัฐก็ได้เสริมมาตรการเพื่อบังคับและควบคุมให้เกิดการลดจำนวนยานพาหนะที่สามารถปล่อยมลภาวะหรือมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมได้ รวมไปถึงการสร้างทางเลือกสำหรับการเดินทางรูปแบบอื่นๆ (alternative means of travel) ที่เป็นอันตรายหรืออาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้น้อยที่สุด[6]
       จากหลักเกณฑ์ตามข้อแนะนำด้านนโยบายขนส่งของประเทศอังกฤษดังกล่าว ทำให้ภาครัฐหรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องพยายามกำหนดวิธีการหรือแสวงหาแนวทางเฉพาะที่สนับสนุนการขนส่งสีเขียว ที่ไม่เพียงจะช่วยส่งเสริมการลดปริมาณมลพิษและผลกระทบในแง่ลบต่อสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคหรือในท้องถิ่นแล้ว วิธีการหรือแนวทางเฉพาะยังอาจช่วยกำหนดสร้างการพัฒนาเมือง (development) ที่สนับสนุนต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีในระยะยาวด้วย ตัวอย่างเช่น การวางแผนพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับสาธารณูปโภคด้านการคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืนต้องคำนึงถึงการลดการปล่อยคาร์บอนไดอ็อกไซด์ (CO2 emissions) การส่งเสริมมาตรฐานคุณภาพของอากาศในชุมชนเมือง (air quality standards) และการป้องกันภูมิทัศน์และสิ่งมีชีวิต (protection of landscape and habitats) เป็นต้น อนึ่ง การวางผังเมืองในด้านคมนาคมขนส่งจำต้องความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ที่ดินที่มีอยู่แล้วอย่างจำกัดและการพัฒนาคมนาคมขนส่งในอนาคต เหตุที่จำต้องกำหนดหรือพิจารณาความสัมพันธ์ดังนี้ ก็เพราะในพื้นที่ของภูมิภาคหรือท้องถิ่นย่อมมีเนื้อที่ พื้นที่หรืออาณาบริเวณที่จำกัด แต่ปริมาณความต้องการการใช้งานสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งหรือความต้องการในการใช้ยานพาหนะประเภทต่างๆ อาจมีมากขึ้นตามการเพิ่มจำนวนของประชากรหรือการขยายตัวของพื้นที่ชุมชนเมืองสมัยใหม่
       ดังนั้น รัฐหรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องของอังกฤษจึงจำต้องนำเอาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มากำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ในการวางแผนการใช้ที่ดิน (land use planning) ที่มีอยู่อย่างจำกัดตามลักษณะทางกายภาพหรือภูมิประเทศ[7] เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการเดินทางของมนุษย์ที่ต้องการการเดินทางโดยวิธีการเดินทางที่หลากหลายหรือการใช้ยวดยานพาหนะที่หลากหลาย ในขณะเดียวกัน รัฐหรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจำต้องคำนึงถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยการคมนาคมขนส่งสาธารณะและการคมนาคมขนส่งทั่วไปของประชาชนต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
       เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์จึงถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สามารถนำมาสร้างมาตรการบังคับและควบคุมให้เกิดการขนส่งสีเขียวในพื้นที่ชุมชนเมือง โดยเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์อาจสร้างแรงจูงใจหรือมาตรการจูงใจให้ผู้ใช้ยวดยานพาหนะหรือผู้ต้องการเดินทางโดยวิธีการต่างๆ ในชุมชนเมืองเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือกิจกรรมการใช้ยวดยานพาหนะหรือการเดินทางประเภทต่างๆ ให้เป็นมิตรต่อสิงแวดล้อมหรือลดมลภาวะให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่สนับสนุนการขนส่งสีเขียวอาจมีมากมายหลายประเภท ตัวอย่างเช่น เครื่องมือทางการเงินการคลัง (fiscal and financial tools) เครื่องมือทางการตลาด (marketable tools) และเครื่องมือเสริมสร้างแรงจูงใจ (subsidy tools) เป็นต้น
       [3] การนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ประเภทเสริมสร้างแรงจูงใจมากำหนดมาตรการสนับสนุนการขี่จักรยานไปทำงาน
       รัฐบาลอังกฤษจึงได้พยายามแสวงหาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์[8] ที่สามารถสร้างกลไกที่เอื้อประโยชน์ในการรณรงค์ให้ผู้คนหันมาขี่จักรยานไปทำงานและในขณะเดียวกันเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ดังกล่าวก็เอื้อต่อการควบคุมปัญหามลภาวะทางอากาศในชุมชนเมืองอีกด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษได้เลือกใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ในลักษณะที่เสริมสร้างแรงจูงใจ เพื่อก่อให้เกิดสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีต่อนายจ้างหรือภาคธุรกิจที่เป็นฝ่ายนายจ้าง ซึ่งหากนายจ้างหรือภาคธุรกิจที่เป็นฝ่ายนายจ้างให้การสนับสนุนการขี่จักรยานมาทำงานของลูกจ้างแล้ว นายจ้างหรือภาคธุรกิจที่เป็นฝ่ายนายจ้างดังกล่าวอาจได้รับการลดหย่อนภาษีหรือยกเว้นภาษี (tax allowances or exemptions)
       [4] เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่กำหนดกรอบการจูงใจของภาครัฐให้ลูกจ้างปั่นจักรยานมาทำงาน ภายใต้กฎหมายการคลังของประเทศอังกฤษ
       รัฐบาลอังกฤษได้กำหนดมาตรการทางภาษีโดยรัฐบาลตามพระราชบัญญัติ Finance Act 1999 ขึ้น อันเป็นกฎหมายที่ได้วางมาตรการในการยกเว้นภาษีรายปี (annual tax exemption for bicycles) ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้จูงใจให้นายจ้างหรือภาคธุรกิจผู้จ้างแรงงานจัดหาจักรยานหรืออุปกรณ์สนับสนุนความปลอดภัยในการขี่จักรยานให้ลูกจ้างยืม โดยนายจ้างสามารถได้รับประโยชน์ทางภาษี (tax-free benefit) ที่จูงใจให้นายจ้างสนับสนุนการขับขี่จักรยานของลูกจ้าง ในขณะเดียวกัน ลูกจ้างก็ได้ประโยชน์โดยตรงจากกรอบการจูงใจของภาครัฐให้ลูกจ้างปั่นจักรยานมาทำงาน (cycle to work scheme) รวมไปถึงใช้จักรยานเพื่อติดต่อธุรกิจของนายจ้าง[9]  อย่างไรก็ดี มาตรการจูงใจของภาครัฐให้ลูกจ้างปั่นจักรยานมาทำงานต้องเข้าหลักเกณฑ์สามประการสำคัญ ได้แก่[10] ประการแรก กรรมสิทธิของจักรยานหรืออุปกรณ์ส่งเสริมความปลอดภัยในการขี่จักรยานต่างๆ ของนายจ้างต้องไม่โอนไปยังลูกจ้างระหว่างการให้ยืมภายใต้กรอบการจูงใจของภาครัฐให้ลูกจ้างปั่นจักรยานมาทำงาน ประการที่สอง ลูกจ้างต้องใช้จักรยานหรืออุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย[11] สำหรับการขี่จักรยานเป็นหลักในการเดินทางภายใต้กรอบการจูงใจของภาครัฐให้ลูกจ้างปั่นจักรยานมาทำงาน เช่น การขี่จักรยานจากบ้านมายังสถานที่ทำงาน เป็นต้น ประการสุดท้าย นายจ้างจะตกลงเป็นอย่างอื่นนอกเหนือไปจากกรอบการจูงใจของภาครัฐให้ลูกจ้างปั่นจักรยานมาทำงานไม่ได้
       รัฐบาลอังกฤษได้กำหนดแผนการเดินทางสีเขียวและพระราชบัญญัติ Finance Act 1999 เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่สนับสนุนแนวคิดในการอาศัยระบบภาษีและระบบการประกันภัยแห่งชาติ มาจูงใจนายจ้างให้มีส่วนร่วมกับการสนับสนุนหรือรณรงค์ให้ลูกจ้างเดินทางด้วยรถประจำทางสาธารณะและการเดินทางโดยรถจักรยาน อนึ่ง ภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎหมายภาษีของประเทศอังกฤษนั้น นายจ้างต้องจ่ายภาษีในกรณีที่นายจ้างออกตั๋วน้ำมัน (petrol tickets) เพื่ออุดหนุนการเดินทางของลูกจ้างในทางการที่จ้างหรือเพื่อให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างในการเดินทางไปยังสถานที่ทำงานหรือเดินทางไปติดต่อธุรกิจของนายจ้าง[12]  อย่างไรก็ดี ภาครัฐได้เล็งเห็นว่าการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวย่อมเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรในแต่ละท้องถิ่นและปัญหาด้านพลังงานน้ำมันที่มีแนวโน้มจะกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต รวมไปถึงปัญหาจากมลภาวะทางอากาศในพื้นที่ใจกลางเมืองที่อาจก่ออันตรายต่อสุขภาพหรือระบบทางเดินหายใจของประชาชนในระยะยาว เพราะฉะนั้น การยกเว้นภาษีหรือให้สิทธิพิเศษทางภาษีให้กับนายจ้างที่สนับสนุนให้ลูกจ้างในสำนักงานของตน จึงเป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ดีอย่างหนึ่งที่สามารถสร้างระบบและกลไกในการสร้างมาตรการเชิงปฏิบัติที่ลดการใช้รถยนต์ (practical measures to reduce car use) สำหรับการเดินทางไปทำงานและติดต่อทางธุรกิจ
       แม้แผนการเดินทางสีเขียวภายใต้การบังคับใช้พระราชบัญญัติ Finance Act 1999 จะสร้างเครื่องมือจูงใจให้นายจ้างและลูกจ้างหันมาสนับสนุนการปันจักรยานไปทำงานหรือจูงใจให้มีการปั่นจักรยานมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่านโยบายสาธารณะและมาตรการทางกฎหมายดังกล่าวอาจเป็นการผลักภาระให้กับนายจ้างในการจัดเตรียมอุปกรณ์และจักรยาน รวมไปถึงจัดอุปกรณ์ในสำนักงานของตน ด้วยเหตุนี้เอง พระราชบัญญัติ Finance Act 1999 จึงได้วางหลักเกณฑ์ในการกรอบการจูงใจของภาครัฐให้ลูกจ้างปั่นจักรยานมาทำงาน ที่กำหนดให้นายจ้างที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงือนไขตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ในการสนับสนุนให้ลูกจ้างขี่จักรยานมาทำงาน สามารถตกลงกับลูกจ้างให้ลูกจ้างรับเงินเดือนในอัตราที่ต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจ้างแรงงาน (lower amount of salary) หรืออาจเรียกว่าเป็นการสละเงินเดือนบางส่วนของลูกจ้าง (salary sacrifice) (ซึ่งเป็นคนละกรณีกับ การลดเงินเดือน (salary deduction) และการปรับจากเงินเดือน (charge on salary) ตามกฎหมายแรงงานอังกฤษ) เพื่อเข้าร่วมและได้รับประโยชน์โดยตรงจากกรอบการจูงใจของภาครัฐให้ลูกจ้างปั่นจักรยานมาทำงาน อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติ Finance Act 1999 ได้กำหนดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอื่นๆ แก่ลูกจ้างเพื่อทดแทนการสละเงินเดือนบางส่วนของลูกจ้างเพื่อปฏิบัติตามกรอบการจูงใจของภาครัฐให้ลูกจ้างปั่นจักรยานมาทำงาน รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ในการลดการจ่ายเงินประกันสุขภาพแห่งชาติของนายจ้าง (National Insurance Contributions - NICs) ให้นายจ้างที่เข้าร่วมกรอบการจูงใจของภาครัฐให้ลูกจ้างปั่นจักรยานมาทำงานได้รับส่วนลดการจ่ายเงินประกันสุขภาพแห่งชาติตามอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนดเอาไว้
       [5] ความเป็นไปได้ในการนำเอาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ประเภทเสริมสร้างแรงจูงใจมากำหนดมาตรการสนับสนุนการขี่จักรยานไปทำงานในประเทศไทย
       ดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยมิได้ให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายสาธารณะที่สนับสนุนการใช้จักรยานในพื้นที่ชุมชนอย่างยั่งยืนหรือการริเริ่มสร้างวัฒนธรรมการขี่จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองมาแต่แรก รัฐบาลพยายามสร้างนโยบายประชานิยมเกี่ยวกับแนวทางสนับสนุนให้มีการใช้ยวดยานพาหนะอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างความนิยมในหมู่ประชาชนต่อรัฐบาล ตัวอย่างเช่น นโยบายโครงการรถยนต์คันแรก และการกำหนดสิทธิรับเงินภาษีคืนจากรัฐบาลตามโครงการนี้ ในกรณีที่เป็นไปตามคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการหรือเงื่อนไข่ที่รัฐไดกำหนดขึ้นไว้ ซึ่งแม้ว่านโยบายนี้รัฐได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการคืนภาษีสำหรับผู้ซื้อรถใหม่คันแรกที่เป็นรถยนต์รุ่นที่เป็นรถอีโคคาร์ รถเก๋ง (ไม่เกิน 1,500 ซีซี) รถกระบะ 2 ประตูและ รถกระบะ 4 ประตู โดยรัฐได้กำหนดราคาของรถแต่ละรุ่นที่ผู้ซื้อหรือผู้เช่าซื้ออาจได้รับเงินภาษีคืนเอาไว้ ซึ่งดูเหมือนว่านโยบายดังกล่าวจะจูงใจให้ประชาชนที่ต้องการมีรถยนต์คันแรก สมัครเข้าโครงการเพื่อซื้อรถยนต์อีโคคาร์ที่อาจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ารถยนต์ประเภทอื่นๆ รวมถึงเป็นการเอื้อต่อผู้มีรายได้จำกัดให้สามารถมีรถเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันได้ อย่างไรก็ดี รัฐมิได้กำหนดนโยบายอื่นๆ ด้านสิ่งแวดล้อมและผังเมือง มารองรับนโยบายโครงการรถยนต์คันแรกแต่ประการใด อนึ่ง แม้ว่านโยบายโครงการรถยนต์คันแรกจะส่งผลดีต่อผู้ที่ต้องการมีรถยนต์คันแรกในชีวิตหรือผู้ที่ต้องการใช้สิทธิตามโครงการรถยนต์คันแรกได้เปิดช่องให้ใช้สิทธิเอาไว้ รวมไปถึงได้กำหนดกรอบของเวลาในการใช้สิทธิและคุณสมบัติหรือหลักเกณฑ์ของผู้ที่สามารถใช้สิทธิได้ แต่นโยบายดังกล่าวไม่ได้จำกัดแน่ชัดว่าจำนวนรถยนต์ที่จะได้รับสิทธิจะสอดคล้องกับขนาดหรือจำนวนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทางบกหรือไม่ เป็นต้น
       นอกจากนี้ รัฐยังไม่มีนโยบายชัดเจนในเรื่องของการสนับสนุนการใช้จักรยานในพื้นที่ชุมชนอย่างยั่งยืนหรือการริเริ่มสร้างวัฒนธรรมการขี่จักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง โดยรัฐมิได้จัดหาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (cycling facilities) ให้ผู้ที่ต้องการสัญจรโดยจักรยานบนท้องถนน สามารถเลือกใช้งานจักรยานบนท้องถนนได้อย่างปลอดภัยเฉกเช่นเดียวกับการใช้ยวดยานพาหนะหรือการเข้ารับบริการสาธารณะด้านคมนาคมที่รัฐจัดขึ้นประเภทอื่นๆ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วรัฐควรเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเลือกใช้ยานพาหนะประเภทต่างๆ โดยมีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เหมาะสมกับการใช้งานยวดยานพาหนะประเภทนั้นๆ ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเท่าเทียมกัน (equality in transportation)[13] เช่น คนพิการที่ประสงค์จะขึ้นรถประจำทางสาธารณะควรได้รับปฏิบัติที่ดีเท่าเทียมกับคนทั่วไป โดยรัฐหรือผู้รับสัมปทานเดินรถของรัฐต้องจัดหาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการด้วยและคนที่ต้องการใช้จักรยานในการปั่นไปทำงานในระยะทางสั้นๆ ในพื้นที่ชุมชน รัฐควรจัดทางจักรยานที่มีมาตรฐานความปลอดภัยให้เพื่อสร้างความเท่าเทียมในโอกาศที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้จักรยานบนถนนด้วย เป็นต้น
       นอกจากในเรื่องของนโยบายสาธารณะของรัฐและการขาดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในการสนับสนุนการใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง จะเป็นอุปสรรคต่อการใช้เพื่อขี่จักรยานไปทำงานหรือใช้งานเพื่อการอื่นๆ แล้ว สภาพภูมิอากาศของประเทศไทยก็ย่อมเป็นอุปสรรคประการหนึ่งต่อการขี่จักรยานไปทำงาน ตัวอย่างเช่น สภาพอากาศร้อนในพื้นที่ชุมชนเมืองที่สร้างโอกาสเสี่ยงต่อภาวะการขาดน้ำของผู้ขี่จักรยานที่ต้องเผชิญกับความร้อนในชุมชนเมืองขณะทำการปั่นจักรยาน (risks of dehydration) สภาพอากาศในชุมชนเมืองย่อมสร้างโอกาสเสี่ยงต่ออันตรายจากมลภาวะทางอากาศ ที่อาจกระทบต่อระบบทางเดินหายใจหรือระบบร่างกายอื่นๆ (risks from air pollution) และผู้ขับขี่จักรยานอาจเผชิญต่อภาวะน้ำท่วมที่อาจกระทบต่อการปั่นจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมือง (flood risk) เป็นต้น
       ด้วยเหตุนี้ จึงอาจเป็นการยากที่จะนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ประเภทเสริมสร้างแรงจูงใจมากำหนดมาตรการสนับสนุนการขี่จักรยานไปทำงาน เพราะนอกจากรัฐไม่ได้กำหนดนโยบายสาธารณะและวางโครงสร้างขั้นพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้งานจักรยานแล้ว บริบทอื่นๆ อาจก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการใช้งานจักรยานในพื้นที่ชุมชนเมืองหรือการขี่จักรยานไปทำงาน ในทางเดียวกัน อุปสรรคทางด้านนโยบายสาธารณะและโครงสร้างขั้นพื้นฐานอาจกลายมาเป็นอุปสรรคที่สำคัญมากกว่าในเรื่องของสภาพภูมิอากาศหรือบริบทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขี่จักรยานโดยทั่วไปหรือการขี่จักรยานไปทำงานก็เป็นได้ เช่น แม้ว่าประเทศอังกฤษจะมีสภาพอากาศที่หนาวเหน็บในฤดูหนาวที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้สัญจรโดยจักรยานในขณะปั่นจักรยานหรือในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองมหานครใหญ่ๆ ในประเทศอังกฤษก็ประกอบไปด้วยมลภาวะทางอากาศที่อาจส่งผลร้ายต่อผู้สัญจรโดยจักรยานเช่นกัน รวมไปถึงประเทศอังกฤษก็ประสบปัญหาอุทกภัยบ่อยครั้งอันเป็นอุปสรรคสำหรับนักปั่นจักรยานในบางสภาพอากาศที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน แต่การที่ภาครัฐ หน่วยงานด้านขนส่งของรัฐและท้องถิ่นได้ส่งเสริมและสนับสนุนการขี่จักรยานไปทำงานและการเสริมเสร้างวัฒนธรรมการปั่นจักรยานในชีวิตประจำวันอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ย่อมทำให้ประชาชนหันมาขี่จักรยานไปทำงานหรือใช้จักรยานเพื่อการอื่นในชีวิตประจำวัน
       [6] สรุป
       การนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ประเภทเสริมสร้างแรงจูงใจมากำหนดมาตรการสนับสนุนการขี่จักรยานไปทำงาน ย่อมก่อให้เกิดกลไกที่เอื้อประโยชน์ในการรณรงค์ให้ผู้คนหันมาขี่จักรยานไปทำงานและในขณะเดียวกันเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ดังกล่าวก็เอื้อต่อการควบคุมปัญหามลภาวะทางอากาศในชุมชนเมือง รวมไปถึงการลดหย่อนภาษีที่ส่งผลดีทั้งต่อฝ่ายของนายจ้างและลูกจ้างที่สนับสนุนหรือปฏิบัติตามกรอบการจูงใจของภาครัฐให้ลูกจ้างปั่นจักรยานมาทำงาน ภายใต้กฎหมายการคลังของประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ กรอบการจูงใจของภาครัฐให้ลูกจ้างปั่นจักรยานมาทำงานของประเทศอังกฤษดังกล่าวยังสามารถช่วยสนับสนุนในการลดผลกระทบในทางลบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนเมืองและก่อให้เกิดการใช้ที่ดินพื้นที่ชุมชนเมืองที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
       

       
       

       

       [1] Potter, Stephen and Rye, Tom. (2003). Economic instruments and traffic restraint. In: Hine, J. and Preston, J. eds. Integrated futures and transport choices: UK transport policy beyond the 1998 White Paper and Transport Acts. Transport and Society. Aldershot: Ashgate, pp. 287-304.
       

       

       [2] World Bank Group. (2013). Getting to Green: A Sourcebook of Pollution Management Policy Tools for Growth and Competitiveness. Washington, DC: International Bank for Reconstruction and Development, The World Bank, p 9.
       

       

       [3] Bradshaw, B., Lane, R. & Tanner, G. (1998). Levels of Activity Relating to Safer Routes to School Type Projects and Green Transportation Plans. London: Transport Studies Group University of Westminster, p 18.
       

       

       [4] นอกจากนี้ ในบางตำราหรือเอกสารบางฉบับ ยังได้อภิปรายในเรื่องเกี่ยวกับการสร้างแนวทางการคมนาคมขนส่งที่ดี (best practice) ให้สอดคล้องกับการรณรงค์ด้านสาธารณสุขควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้มีการขนส่งสีเขียว Transport for London. (2013). Transport planning for healthier lifestyles: A best practice guide. London: Transport for London, p 6.
       

       

       [5] การอาศัยเครืองมือทางกฎหมาย (Regulatory and Legislative Instruments) มาพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยผ่านการปรับปรุงการขนส่งในท้องถิ่นให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รัฐย่อมต้องให้อำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบูรณาการการคมนาคมขนส่งกับการวางผังเมืองสำหรับการใช้ที่ดิน อนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางกฎหมายภาษีหรือมาตรการทางกฎหมายอื่นๆ อาจสามารถส่งเสริมการรณรงค์ให้มีการเดินทางสีเขียวซึ่งกันและกันตามสภาพบริบทของแต่ละท้องถิ่น โปรดศึกษาเพิ่มเติมใน Skinner, I. & Fergusson, M. (1999). Instruments for Sustainable Transport in Europe Potential, Contributions and Possible Effects: A report from the Swedish Euro-EST project. Stockholm: Swedish Environmental Protection Agency, p 12.
       

       

       [6] Institution of Civil Engineers. (2013). Planning Policy Guidance 13: Transportation. London: Institution of Civil Engineers, p 1-4. Retrieved March 5, 2013, from http://www.ice.org.uk/getattachment/42fd0f44-a93a-4cbc-bacb-d904727ece87/Planning-Policy-Guidance-13--Transportation-(PPG13.aspx
       

       

       [7] Passenger Transport Executive Group. (2011). Thriving Cities: Integrated land use & transport planning. Leeds: Passenger Transport Executive Group, p 4.
       

       

       [8] Royal Society. (2002). Economic instruments for the reduction of carbon dioxide emissions Policy document 26/02. London: Royal Society, p 3.
       

       

       [9] Department for Transport. (2011). Cycle to Work Scheme implementation guidance. London: Department for Transport, p3.
       

       

       [10] HM Revenue & Customs. (2013). EIM21667a - Particular benefits: bicycles: simplified approach to valuing cycles sold to employees after end of loan period. Retrieved February 25, 2013, from http://www.hmrc.gov.uk/manuals/eimanual/eim21667a.htm
       

       

       [11] ตัวอย่างเช่น หมวกกันน็อกสำหรับขี่จักรยานที่ได้มาตรฐานการผลิตตามข้อบังคับของสหภาพยุโรป (Cycle helmets which conform to European standard EN 1078) การดิ่งหรือแตรจักรยาน (Bells and bulb horns) ไฟจักรยานและกลไกไดนาโมที่ใช้สำหรับเปลี่ยนพลังงานกลให้เป็นพลังงานไฟฟ้า (Lights, including dynamo packs) เครื่องปั๊มลมและชุดอุปกรณ์ปะยางสำหรับซ่อมยางจักรยาน (Pumps, puncture repair kits, cycle tool kits and tyre sealant to allow for minor repairs) และชุดสะท้อนแสงสำหรับขี่จักรยานในเวลาฟ้าสลัวหรือในเวลายามค่ำคืน (Reflective clothing along with white front reflectors and spoke reflectors) เป็นต้น
       

       

       [12] HM Revenue & Customs. (2013). A Fact Sheet for Employers setting up Green Travel Plans. Retrieved February 25, 2013, from http://www.hmrc.gov.uk/green-transport/travel-plans.htm
       

       

       [13] Organisation for Economic Co-operation and Development. (2011). Economic Perspectives on Transport and Equality Discussion Paper 2011 / 09. Paris: International Transport Forum, pp 26-27.
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544